Tokyo Idols : ไอดอลข้า ใครอย่าแตะ

Director: Kyoko Miyake
Genre: Documentary
Region: Japan

“อยากจะได้พบ อยากจะได้พบ อยากจะได้พบ yes!~”

เสียงเพลงดังจากลำโพงระหว่างที่เราขับรถกลับบ้าน คือเพลงของสาวๆ ไอดอลวง BNK48 ที่เพิ่งจะเดบิวต์ได้ไม่นาน จริงๆ แล้วคำว่า โอตาคุ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าโอตะนั้น เราได้ยินมานานแล้วในแง่ของการเรียกขานกลุ่มคนที่คลั่งไคล้สิ่งต่างๆ เช่น กันดั้ม หรือมังงะ แต่ในบริบทของไอดอลสาว โดยเฉพาะการบุกเข้ามาของวงแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น AKB48 อย่างวง BNK48 นั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยมากทีเดียว (อย่างน้อยก็เราคนนึงนะ) การเข้ามาของวง BNK48 สร้างความเปลี่ยนแปลงจากที่เคยมองโอตะว่าเป็นพวกเนิร์ด ประหลาด ให้กลายเป็นเรื่องในกระแสหลักขึ้นมา และใครๆ ก็สามารถเลือกโอชิ (คนที่เราชื่นชอบ) น้องๆ สมาชิกในวงได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจทั้งนั้น

Tokyo Idols คือสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของไอดอล Rio สาวน้อยอายุ 19 ปี และแฟนบอยเดนตายของเธออบ่าง Koji หนุ่มโสดอายุ 43 ปี อดีตมนุษย์เงินเดือนที่หลังจากถูกแฟนทิ้งเขาก็ออกจากงาน โดยตัดสินใจทำธุรกิจส่วนตัว และในขณะเดียวกันเขาก็ใช้เงินมากมายไปกับการสนับสนุนริโอะ ทั้งสองคนเป็น subject หลักของเรื่องนี้ เราจะได้เห็นชีวิตของริโอะในฐานะไอดอลที่ต้องร้องต้องเต้นเพื่อเอาใจเหล่าโอตะของเธอ หรือที่มีชื่อเรียกว่า RioRio Brothers ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ตามไปดูริโอะขึ้นโชว์ ทุ่มเงินซื้อสินค้าของเธอ และตามไปพูดคุย ทักทาย ในงานจับมือ (งานนี้ก็เสียเงินนะจ๊ะ) เรียกง่ายๆ ว่า มีให้เปย์ได้ทุกทาง

เพื่อไม่ให้น่าเบื่อเกินไป หนังแทรกฟุตเทจกิจกรรมของไอดอลและแฟนคลับวงอื่นๆ มาบ้าง ซึ่งที่เราว่ามาข้างบนนั้น ถ้าใครได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่นดูหนังหรืออ่านมังงะก็น่าจะเข้าใจวิถีโอตะและคิดว่าพล็อตในหนังมันธรรมดาจนชวนง่วงเป็นพักๆ แต่ความพิเศษของสารคดีเรื่องนี้คือการแทรกฟุตเทจของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ออกมาอธิบายปรากฎการณ์นี้ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงทฤษฎีสังคมวิทยา!

ใช่แล้ว! มีการอธิบายปรากฎการณ์ไอดอลในเชิงสังคมวิทยาเหมือนกัน กล่าวคือในสังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ มักเป็นสังคมตัวคนเดียว ผู้คนต่างเย็นชาและอยู่แบบตัวใครตัวมัน ผู้ชายบางคนก็เลือกที่จะปวารณาตนเป็นโอตะ ดูแลน้องๆ ให้ไปถึงฝั่งฝันอย่างงดงาม เป็นความสุขง่ายๆ ที่ใช้แค่เงินของคุณผู้ชายเหล่านี้ แต่อีกมุมหนึ่งก็แย้งขึ้นมาว่า สาเหตุที่ผู้ชายเหล่านี้เลือกจะเป็นโอตาคุ แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนขี้ขลาด อยากได้สาวๆ ที่ควบคุมได้มาแบบง่ายๆ ไม่คิดจะจีบสาวเพราะไม่กล้า กลัวความผิดหวัง ไอดอลเหล่านี้จะไม่ทำให้หนุ่มๆ เจ็บช้ำน้ำใจ เนื่องจากไอดอลนั้นมาในภาพลักษณ์ที่สดใส ไอดอลจะไม่สามารถประพฤติไปในเชิงชู้สาวและทางที่ไม่ดีได้เพื่อรักษาความนิยม ส่วนแฟนบอยเองถึงจะคิดกับโอชิตัวเองไปในทางชู้สาวแค่ไหน ในทางปฏิบัติเขาก็รู้ตัวดีว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการที่มีเหล่าแฟนบอยมารวมกลุ่มกัน เหมือนเป็นพื้นที่ในการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง แม้ในขณะที่โลกของการใช้ชีวิตปกติ ผู้คนจะมองว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ก็ตาม

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สารคดีเรื่องนี้ทิ้งไว้คงเป็นข้อความที่บอกให้เรากล้าทำอะไรซักอย่างที่เรารัก อย่างริโอะที่ฝันอยากเป็นศิลปิน และการเป็นไอดอลก็คือระหว่างทางที่เธอจะสามารถฝึกฝนทักษะการร้องและเต้น หรือโคจิ หนุ่มใหญ่แฟนบอยที่คนอื่นอาจคิดว่าเขาทำตัวไร้สาระอย่างการติดตามไอดอลที่เขาชื่นชอบ แต่สิ่งที่ผู้กำกับอยากจะสื่อคือการที่คนคนหนึ่งกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย นั่นคือการออกจากงานประจำมาเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวเพื่อที่จะพยายามยืนบนแข้งของตัวเอง มันก็เป็นแง่งามที่คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ

แต่เราเข้าใจตัวเองก็พอแล้วนี่นา

AUTHOR