Pop Aye : ความฝันอันหล่นหายของมนุษย์เรา

Director: Kirsten Tan
Region: Singapore
Genre: Drama

หลังได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Sundance Film Festival เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
Pop Aye หนังยาวเรื่องแรกของ Kirsten Tan ผู้กำกับหญิงชาวสิงคโปร์ก็ได้เดินทางกลับมาฉายยังประเทศไทย
อันเป็นฉากหลังของเหตุการณ์ในเรื่องเป็นครั้งแรก
ที่งานเปิดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok ASEAN
Film Festival 2017) เมื่อคืนวันพุธที่ 26 เมษายน 2560

Pop Aye เริ่มต้นด้วยภาพชายวัยใกล้เกษียณคนหนึ่งเดินคู่ไปกับช้างกลางแดดร้อนบนถนนที่ดูห่างไกลจากเมือง
เขาพยายามโบกหารถเพื่อพาทั้งตัวเองและช้างเดินทางไปที่ไหนสักแห่งอยู่พักใหญ่

“กรุงเทพฯ อะ
แรกๆ ก็ดี…เผลอแป๊บเดียว
เป็นหมาตัวนึง” คือประโยคที่ชายเจ้าของช้างคนนี้บอกกับคนขับรถบรรทุกหนุ่มที่รับเขาขึ้นมาเพียงชั่วคราว
ก่อนมีเหตุให้ทั้งสองต้องถูกไล่ลงจากรถไปอย่างไม่ไยดี

ทั้งหมดนี้คือซีนเปิดเรื่องซึ่งช่วยบอกใบ้ถึงประเด็นที่หนังกำลังจะพูดถึงต่อไป

แม้จะถูกเล่าผ่านสายตาผู้กำกับชาวสิงคโปร์
แต่เหตุการณ์ทั้งหมดในหนังล้วนเกิดขึ้นที่ไทย
ผ่านตัวละครที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร และทีมงานของหนังก็แทบจะเป็นคนไทยทั้งหมด

Kirsten Tan เคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ
ถึง 2 ปี และเริ่มต้นทำหนังเรื่องนี้ขึ้นจากความรู้สึกของเธอที่มีต่อประเทศไทย
ผ่านตัวละครอย่าง ‘ธนา’ (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์)
สถาปนิกรุ่นเก่าซึ่งกำลังถูกคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่
อีกทั้งความสัมพันธ์กับภรรยาของเขาก็กำลังเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา
ธนาได้พบกับช้างตัวหนึ่งซึ่งกำลังถูกจูงอยู่บนถนน เขาจำได้ทันทีว่านั่นคือ ‘ป๊อปอาย’
ช้างที่เขาเคยดูแลในวัยเด็กก่อนจะพลัดพรากจากกันไป
ธนาตัดสินใจซื้อมันกลับมา และนั่นเองได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางจากกรุงเทพฯ
กลับจังหวัดเลย บ้านเกิดของทั้งธนาและป๊อปอาย

ความรู้สึกเหนือจริงเล็กๆ
เมื่อเราเห็นธนาตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในชีวิต เพื่อพาป๊อปอายกลับบ้านรวมถึงตัวละครอื่นๆ
อย่างคนไร้บ้านกับความฝันว่าอยากพาคนรักที่ไม่ได้เจอกันนานซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกไปเที่ยว
คู่หูตำรวจที่เข้ามาขัดขวางการเดินทางกับแตงโมที่ตกเกลื่อนถนน
สาวประเภทสองที่น้อยใจในความรัก หรือแม้แต่พระเฝ้าเมรุที่ยินดีรับบัตรเครดิต
เป็นเสน่ห์ที่ทำให้รสชาติของประเทศไทยในหนังดูแปลกตา

ในขณะเดียวกัน สีสันฉูดฉาดเหล่านี้
รวมถึงบทที่หลายครั้งก็รวบรัดตัดความกับเหตุผลการตัดสินใจของตัวละครมากเกินไป
ก็ทำให้เราเลือกที่จะทรีตหนังเรื่องนี้เป็นนิทานเสียมากกว่าเรื่องราวของตัวละครที่สมจริงสมจัง
หนังเลยหมิ่นเหม่ว่าจะตั้งอยู่บนสูตรสำเร็จของทั้งการเล่าเรื่อง
และทำให้ความเป็นไทยในหนังดูแบนๆ อยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการแสดงของธเนศ วรากุลนุเคราะห์
ที่ห่างหายจากวงการไปพักใหญ่ และผมเองก็พอจะคุ้นเคยกับธเนศแต่ในฐานะนักร้องเท่านั้น
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการแสดงของธเนศบนจอใหญ่
และพบว่าการแสดงของเขาคือความเพลิดเพลินของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้
ความเป็นธรรมชาติและลีลาในการพูดที่ไม่เหมือนใครของเขา
คอยควบคุมจังหวะของหนังทั้งเรื่องไว้ให้น่าสนใจได้อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ ทั้ง เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ในบท ‘โบ’ ภรรยาของธนา
และสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากนี้ ก็มีทั้งโมเมนต์ที่ลื่นไหล
และโมเมนต์ที่หากขยับให้ลงตัวอีกเล็กน้อยจะดูสมบูรณ์มากทีเดียว
แทบทุกฉากที่ป๊อปอายปรากฏตัวในหนัง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่แอบย่องเข้าไปในบ้าน
หรือทุกฉากที่ป๊อปอายมีปฏิสัมพันธ์กับธนา ก็ชวนให้ทึ่งในการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับช้าง
ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงความปลอดภัยของนักแสดงอยู่พอๆ กัน (แต่ผมก็ดึงตัวเองกลับมาสู่หนังได้เมื่อคิดว่าการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
และคุณธเนศเองก็นั่งอยู่ในโรงรอบนี้กับเราอย่างปลอดภัย)

ซีนที่ประทับใจที่สุดหนีไม่พ้นสองซีนที่ตัวละครในหนังกลับมาพบกันอีกครั้ง
ซีนแรกเป็นซีนที่สองตัวละครรองในหนังได้กลับมาเจอกันในสถานะที่น่าใจหาย
แต่อบอวลไปด้วยความคิดถึงอย่างอบอุ่น อีกซีนคือช่วงท้ายเรื่องบนตึกร้าง
ซึ่งทั้งหวานและเท่ที่สุดซีนหนึ่งที่เคยได้เห็นในหนังไทยเลยทีเดียว

Pop Aye เป็นหนังที่ทั้งแปลกประหลาด
สวยงาม จนบางครั้งก็เกือบๆ จะสวยงามเกินไป รสชาติปะแล่มๆ
นี้เองที่พูดถึงความอบอุ่น ความรัก ความฝันในวันเก่าที่อยากหวนกลับไปหา
และชวนตั้งคำถามว่า เมื่อสิ่งที่เคยเป็นอยู่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เราจะอยู่กับมันอย่างไรต่อไป

Pop Aye จะมีฉายอีก 2 รอบคือในวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2560 ในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร
(Bangkok
ASEAN Film Festival 2017) ที่ SF World Cinema นอกจากยังมีภาพยนตร์อาเซียนที่น่าสนใจเรื่องอื่นๆ
อีกมากมาย ติดตามรอบฉายได้ที่
Bangkok ASEAN Film Festival ก่อนเข้าโรงปกติที่ไทยเร็วๆ นี้

AUTHOR