หมอนรถไฟ (Railway Sleepers) : ตีตั๋วขึ้นรถไฟสายยาวที่สำรวจรากเหง้าของสังคมไทย

Director: สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์
Region: ไทย
Genre: Documentary

ก่อนตีตั๋วดูหนังเรื่อง หมอนรถไฟ (Railway Sleepers) ผมมีโอกาสนั่งคุยกับผู้กำกับ โบ๊ต-สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ เขาเล่าว่าลงแรงแบกกล้อง Mini DV และงบประมาณพอใช้จ่ายขึ้นรถไฟไปกับ ภีม อุมารี ผู้ช่วย เพื่อเดินทางขึ้นรถไฟไปทั่วประเทศไทย โดยใช้เวลาบันทึกภาพยาวนานถึง 8 ปี บนเส้นทางจากเหนือล่องลงใต้ ย่างกรายสู่แดนอีสาน นั่งรถไฟมาทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นหนึ่งยันชั้นสาม ก่อนสำเร็จออกมาเป็นหนังที่เดินทางฉายอวดโฉมตามเทศกาลหนังทั่วโลก โบ๊ตและภีมได้เห็นผู้คนหลากเพศ หลายช่วงวัย ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และมีระดับชนชั้นมากมาย หนังเรื่องนี้จึงเป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ผู้กำกับเลือกมานำเสนอให้เราได้ชมกันเพียงบางส่วน

หมอนรถไฟ มีความยาวให้รับชมกันอย่างเต็มอิ่ม 102 นาที เมื่อนั่งชมในโรงหนัง ผู้ชมจะมีสถานะเหมือนเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งที่นั่งดูเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นบนขบวนตลอดเวลา เรื่องที่ต้องชื่นชมมากๆ คือโบ๊ตบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ อาจเป็นเพราะเขาใช้เวลาทำความรู้จักกับคนบนตู้รถไฟ จนคุ้นเคยก่อนตั้งกล้องถ่ายวิดีโอไว้นิ่งๆ เราเลยได้เห็นอิริยาบถของการกิน นั่ง นอน เดิน ของผู้คนหลากมุมมอง เสมือนเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์บนรถเที่ยวนั้นจริง

หนังเรื่องนี้ไม่ได้ติดตามถ่ายใครเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าใครเป็นพระเอกของเรื่อง ผมคิดว่าคือช่วงเวลา ถ้าเราสังเกตเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ จะพบว่าช่วงเวลาการเดินทางของรถไฟ เป็นตัวดำเนินเรื่องที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

ระยะเวลาที่ว่าคือช่วง 2 วัน 2 คืน ตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น จนถึงกลางคืน คล้ายว่าเราผ่านเวลาจริงที่ถูกร่นด้วยการตัดต่อให้เล่าเรื่องได้อย่างกระชับที่สุด ฉะนั้นผมขอเตือนไว้ก่อนว่านี่ไม่ใช่สารคดีที่มีประเด็นชัดเจนอย่างที่คนคุ้นเคยกันทั่วไป แต่เป็นสารคดีซึ่งทำหน้าที่แทนสายตาของผู้เห็นภาพสิ่งตรงหน้าไปเรื่อยๆ และให้ประสบการณ์อีกทางเลือกกับคนดู

หนังของโบ๊ตนั้นแสนเรียบง่าย และด้วยความที่ไม่ได้วางเส้นเรื่องหรือกำหนดทิศทางให้คนดูมากนัก ผลลัพธ์ที่ได้ บางคนอาจผล็อยหลับไป แต่สำหรับผม แม้หนังเรื่องนี้จะเนิบนิ่ง ไม่มีจุดไคลแมกซ์ทำหน้าที่กระชากอารมณ์คนดูอย่างหนังทั่วไป แต่แทนที่ด้วยการแต่งแต้มสีสันแห่งชีวิตจริงที่น่าสนใจอยู่เป็นระยะ เช่น มุกตลกใสซื่อที่คนพูดไม่ได้ตั้งใจให้ตลก การขายของต่างๆ บนขบวน ความสนุกของวงเหล้าบนรถไฟในสมัยที่ยังดื่มกินบนรถไฟได้ หรือการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดจากการแย่งที่นั่งรถไฟฟรี เป็นต้น

ฟุตเทจที่บันทึกมา 8 ปีเหล่านี้ถูกคัดสรรออกมาเล่าให้กลายเป็นเนื้อเดียวภายในระยะเวลาที่โบ๊ตกำหนดไว้ได้อย่างกลมกลืน ถ้าเราดูไปเฉยๆ แล้วไม่คิดตาม หนังเรื่องนี้จะธรรมดามาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณช่างคิดและช่างสังเกต หนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยมุมมองและของดีซ่อนเอาไว้ระหว่างทาง ทั้งคำพูดและการกระทำของคนบนรถไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นดีที่สะท้อนโครงสร้างวิธีคิด ความเชื่อ และระบบค่านิยมแบบไทยๆ ไว้ บางฉากเรียกเสียงหัวเราะดังๆ บางฉากเราขำแห้งๆ อย่างจนมุมในวัฒนธรรมแบบไทยๆ บางทีนี่อาจเป็นภาพสะท้อนความหย่อนยานของสังคม จนบางเรื่องกลายเป็นปัญหาเรื้อรังยากต่อการแก้ไข

เมื่อรถไฟกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหนสักแห่งเรื่อยๆ (เราจะไม่มีทางรู้ว่ารถไฟไปไหนบ้าง เพราะโบ๊ตเอาฟุตเทจจากทุกสถานที่ที่เขาถ่ายมารวมกันเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเวลาของหนัง) ขณะนั่งดูเพลินๆ หนังจะพาเราฟุ้งฝันไปถึงซีนจบ ที่จะตลบเสื่อที่คุณนั่งดูนิ่งๆ มาทั้งเรื่อง เป็นการขมวดและแทรกวิธีคิดอันเกินคาดเดา พาเราย้อนไปสำรวจรากตัวตนของสังคมผ่านรถไฟ ซึ่งจะทำให้คุณต้องกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์ของระบบขนส่งสาธารณะลำดับแรกของเราที่ถูกแช่แข็งมาหลายปี (ปีนี้รถไฟไทยมีอายุครบรอบ 120 ปี) ซีนจบเป็นซีนที่ผมชื่นชอบมากที่สุด แม้จะยังคงงงงันเหมือนอยู่ในฝัน แต่นั่นแหละ เราทุกคนกำลังนั่งรถไฟสายที่ไม่รู้ทิศทางขบวนนี้ไปด้วยกัน อยู่ที่ว่าทุกคนจะใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเพียงแค่ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป แล้วต่างคนต่างแยกย้ายเมื่อได้สิ่งที่ตัวเองต้องการจากปลายทางมาครอบครองแล้ว

หมอนรถไฟ (Railway Sleepers) เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema และ SF Maya Chiangmai ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้ ดูรายละเอียดรอบฉายได้ที่ Documentary Club

AUTHOR