9 พื้นที่ความทรงจำของหัวลำโพง

ถ้าพูดถึงสถานีรถไฟในประเทศไทย ภาพแรกที่ลอยเข้าหัวมาน่าจะไม่พ้นอาคารสุดคลาสสิกมีหลังคาโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกบข้างด้วยตึกรูปสี่เหลี่ยมทั้งสองข้าง พร้อมเสาธงไซส์มินิอยู่บนยอด

ใช่ครับ เรากำลังพูดถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันมานานโขว่าหัวลำโพง ความแมสของหัวลำโพงนอกจากจะเป็นสถานีรถไฟหัวใจหลักของประเทศไทยแล้ว ก็ยังกลายเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างสำคัญของกรุงเทพที่เรียกได้ว่าใครๆ ก็รู้จักจนถูกบรรจุลงไปในเพลงของ BNK48 

ที่นี่ทำหน้าที่เป็นสถานีหลักของรถไฟที่วิ่งไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่นั้น มันยังตั้งอยู่ในย่านที่เรียกได้ว่าใกล้กับย่านธุรกิจการค้าและที่อยู่อาศัยที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อสถานีกลางบางซื่อว่าที่สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ที่ใหญ่โตมโหฬารจะเปิดใช้งาน สถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพงก็จะต้องลดบทบาทลงและไม่ได้มีหน้าที่คอยโบกธงส่งรถไฟออกต่างจังหวัดอีกแล้ว พอมีข่าวแบบนี้ออกมาก็มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาที่สถานีเพื่อเก็บความทรงจำ เก็บภาพเป็นที่ระลึกเอาไว้ว่าครั้งนึงที่นี่ก็เคยเป็นสถานีรถไฟ

เพื่อให้การเดินทัวร์สถานีรถไฟกรุงเทพเป็นไปอย่างรื่นรมย์ มีอรรถรส และเก็บความทรงจำได้ครบไม่ตกหล่น นี่คือ 9 พื้นที่ความทรงจำของสถานีรถไฟกรุงเทพ

ส่วนด้านนอกอาคาร

พื้นที่ที่ 1 : ที่นี่กรุงเทพ—ไม่ใช่หัวลำโพง

ที่นี่สถานีกรุงเทพ ไม่ใช่หัวลำโพง เกริ่นมาแบบนี้เชื่อว่าต้องมีคนสงสัย เพราะเกิดมาก็เรียกว่าหัวลำโพงมาโดยตลอดแล้ว ซึ่งตรงนี้แหละที่อยากให้สังเกตที่ด้านหน้าสถานีใต้หลังคาโค้งนั้น เราจะเห็นตัวอักษรนูนต่ำเขียนว่า ‘สถานีกรุงเทพ’ 

แล้วสถานีหัวลำโพงอยู่ตรงไหน?

ในยุคเริ่มต้นของรถไฟไทยนั้น มีรถไฟสองสายเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน สายแรกคือรถไฟเอกชนสายปากน้ำ เริ่มต้นจากสถานีหัวลำโพงไปสุดที่สมุทรปราการ ส่วนอีกสายคือรถไฟรัฐบาลสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งเริ่มต้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ สถานีทั้งสองนั้นอยู่ตรงข้ามกัน อารมณ์สถานีรถไฟพี่น้อง 

พอเวลาผ่านไปรถไฟสายปากน้ำหมดสัมปทาน และยุติการให้บริการไปในปี 2503 ก็เหลือแค่สถานีกรุงเทพที่เดียวโดดเดี่ยวในย่านจนถึงปัจจุบัน แต่คนก็นิยมเรียกว่าหัวลำโพงอยู่ เพราะหัวลำโพงนั้นเป็นชื่อย่านไปซะแล้ว

ส่วนตำแหน่งของสถานีรถไฟหัวลำโพงที่หายไป ก็กลับชาติมาเกิดใหม่กลายเป็นสถานี MRT หัวลำโพง ตำแหน่งเดียวกันเป๊ะ แค่ย้ายจากบนดินไปอยู่ใต้ดิน

หัวลำโพง

พื้นที่ที่ 2 : น้ำพุช้างสามเศียร

สวนน้ำพุเล็กๆ ด้านหน้าสถานีนั้นมีที่มา การระดมทุนข้าราชการรถไฟเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนในการดื่มใช้น้ำประปาจากก๊อก เราเรียกมันว่า ‘อุทกทาน’ 

ลักษณะน้ำพุช้างสามเศียรนั้นโดดเด่นอยู่บนยอดที่เป็นรูปช้างสามเศียรหล่อด้วยโลหะรมดำ มีภาพสลักนูนต่ำของรัชกาลที่ 5 และส่วนล่างก่อด้วยหินอ่อน

พอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หน้าที่ของน้ำพุได้เปลี่ยนเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ มีการต่อเติมโดมครอบเอาไว้เพื่อให้เป็นที่กำบัง เพราะสถานีรถไฟนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีผู้คนอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงเยอะ รวมถึงสถานีรถไฟกรุงเทพเองก็เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ระเบิดเองก็เล็งเป้าไว้อยู่ เดชะบุญที่ระเบิดก็พลาดเป้าทำให้สถานีอยู่รอดและปลอดภัยจนสงครามสิ้นสุด หลุมหลบภัยก็ปรับสถานะกลับมาเป็นน้ำพุแบบเดิม

พื้นที่ที่ 3 : ของเก่าเล่าเรื่อง

อาคารด้านหน้าสถานีกรุงเทพบริเวณปีกซ้ายหากเราหันหน้าเข้าหาตัวสถานีมีมิวเซียมเล็กๆ ซ่อนอยู่ 

ที่นี่คือมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟที่รวบรวมอุปกรณ์เครื่องใช้เก่าแก่สมัยกรมรถไฟจนถึงยุคการรถไฟมาให้ได้ชมได้สัมผัสกัน ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ จำนวน 2 ชั้นอัดแน่นไปด้วยของเก่าที่เล่าเรื่องราวอดีตที่ผ่านมาของรถไฟไทย บางชิ้นอาจจะอยู่มาตั้งแต่แรกเริ่มเลย 

ของเด่นที่จัดโชว์อยู่ที่เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมชนิดใครมาก็ต้องมาดู นั่นคือตั๋วรถไฟรุ่นเก่าหลากสีสันที่เรียงเป็นตับอยู่ในตู้ไม้บานกระจก ของที่เคยใช้เป็นกิจวัตรก็กลายมาเป็นของโบราณเมื่อตั๋วรถไฟถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ถ้าใครอยากได้ไปสะสมก็มีขายใบละ 30 บาท 

นอกจากนั้นก็ยังมีเครื่องตราทางสะดวกสีเขียวเข้มหนักอึ้งที่ทำให้การเดินรถไฟปลอดภัยไม่ชนกัน ตะเกียงโบราณที่สลับกระจกแก้วให้ส่องเป็นสีเขียวและสีแดงให้สัญญาณกับรถไฟในยามค่ำคืน ป้ายเตือนวาดด้วยมือสุดโหดชนิดที่เห็นแล้วต้องขยาด 

หรือแม้แต่เครื่องใช้กระเบื้องและทองเหลืองที่เคยถูกใช้งานจริงในรถเสบียงและโรงแรมรถไฟ มาเยี่ยมชมกันได้ทุกวันอังคารถึงวันเสาร์ 10 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ฟรี ไม่มีค่าเข้าชม

พื้นที่ที่ 4 : หน้าปัดนาฬิกา

นาฬิกาบานใหญ่ที่เห็นได้จากทั้งด้านนอกและด้านในสถานีประดับอยู่บนหลังคาทรงครึ่งวงกลมรายล้อมไปด้วยกระจกสีที่มองจากด้านนอกจะเห็นเป็นสีมืดทึบ แต่ถ้ามองจากในสถานีก็จะเห็นสีสันเป็นลูกเล่นอยู่บนโค้งหลังคานั้น

นาฬิกาบานใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ทำหน้าที่บอกเวลาให้กับสถานีมาเกือบร้อยปี สถานีรถไฟหลายๆ แห่งเองก็มีนาฬิกาประดับเอาไว้ด้วยจนเหมือนเป็นพิมพ์นิยมของสถานีรถไฟทั่วโลก แม้ว่าในยุคนี้ใครต่อใครจะมีนาฬิกาพกพาส่วนตัวแล้วนาฬิกาเรือนใหญ่ก็ยังทำหน้าที่คอยบอกเวลาอยู่จากที่ไกลๆ แม้แต่สถานีกลางบางซื่อเองก็ยังคงเก็บเอกลักษณ์นี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน

หัวลำโพง

ส่วนโถงสถานี

พื้นที่ที่ 5 : สถาปัตยกรรมยุคคลาสสิก

สถานีรถไฟกรุงเทพนับเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าด้านศิลปกรรม ถ้าในยุคนั้นมันก็คงเด่นมากด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตตั้งเด่นอยู่กลางทุ่ง และในยุคนี้ก็ยังโดดเด่นแม้จะถูกรายล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่เจริญเติบโตพรวดๆ มาตามยุคตามสมัย 

ตัวสถานีถูกออกแบบสถาปัตยกรรมโดยสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อมาริโอ ตามัญโญ ผู้ที่ฝากฝีมือเอาไว้แทบจะทั้งกรุงเทพ เรียกได้ว่าตึกเก่าหลายๆ ที่ก็ฝีมือพ่อมาริโอคนนี้นี่แหละ ซึ่งทั้งนอกและในสถานีเต็มไปด้วยความสวยที่เรียกได้ว่างานดีและคลาสสิกทีเดียว ตัวอาคารหลักนั้นประกอบด้วยอาคารขนาบสองข้าง  ตรงกลางเป็นโครงหลังคาขนาดใหญ่ตีโค้งเป็นครึ่งวงกลมรับน้ำหนักด้วยเหล็กถักแบบ Truss ด้วยจุดประสงค์คือไม่ต้องมีเสารับน้ำหนักตรงกลางเพื่อมีพื้นที่ให้รถไฟเข้ามาจอดรับคนสวยๆ ใต้ร่มเงาหลังคามหึมานั้น ซึ่งรูปแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสถานีรถไฟหลักหลายๆ แห่งในยุโรปที่เรียกได้ว่าพิมพ์นิยมมากๆ ไปเมืองไหนที่ไหนก็เจอ

เข้ามาด้านในจะแอบเห็นปูนปั้นตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกไม้ ใบหน้าหญิงสาวที่มีผมสยาย หรือแม้แต่ลวดลายตามเสา ตามบานประตู ส่วนยอดบนสุดของหลังคาเป็นช่องระบายอากาศประกอบกระจกสีให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาถึงในสถานีได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวัน

หัวลำโพง

พื้นที่ที่ 6 : อดีตโรงแรมรถไฟ

หากตัวสถานีรถไฟคลาสสิกแล้ว เรามีอีกที่จะนำเสนอ นั่นคืออดีตล็อบบี้ของโรงแรมราชธานี โรงแรมรถไฟที่เคยตั้งอยู่ในสถานีกรุงเทพแห่งนี้ 

แล้วโรงแรมเกี่ยวอะไรกับรถไฟ?

ในสมัยที่รถไฟไม่ได้เดินทางข้ามคืน ในสมัยที่ไม่มีรถไฟตู้นอน มันไม่ได้ง่ายอย่างเดี๋ยวนี้ รถไฟแต่ละขบวนจะวิ่งซอยสั้นๆ ตามรอบหนึ่งวันและผู้โดยสารที่ยังเดินทางไม่ถึงปลายทางนั้นจะโยกย้ายมานอนที่บ้านพักกรมรถไฟ หรือโรงแรมรถไฟ ซึ่งจุดประสงค์แรกคือการพักเพื่อต่อรถนั่นแหละ กระทั่งเริ่มมีตู้นอนเข้ามาให้บริการและเริ่มมีรถไฟข้ามคืนเกิดขึ้น โรงแรมที่เคยเป็นแค่ที่พักต่อรถก็กลายเป็นธุรกิจใหม่ของกรมรถไฟที่ใช้สำหรับพักผ่อนด้วย

ที่นี่ก็เช่นกัน โรงแรมราชธานีเรียกได้ว่าหรูหรามากในสมัยนั้น มีทั้งห้องมาตรฐาน ห้องสวีท ระบบน้ำร้อนน้ำเย็น ภัตตาคารและห้องอาหาร รวมถึงที่ทำการไปรษณีย์และศุลกากร และจนเมื่อธุรกิจโรงแรมอื่นๆ เริ่มเติบโตขึ้น และเริ่มมีรถไฟตู้นอนเพิ่มขึ้นจนการพักระหว่างทางไม่จำเป็นแล้ว โรงแรมรถไฟจำเป็นต้องปิดตัวลง

ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ก็คือบันไดกลางที่เคยอยู่ในล็อบบี้โรงแรม หากไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนให้เดินไปตรงห้องน้ำ บันไดหินอ่อนราวเหล็กดัดรอต้อนรับเราอยู่ ความคลาสสิคนั้นประดับอยู่ตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดานที่มีความวิกตอเรียนิดๆ จีนหน่อยๆ รวมถึงเสาทรงกระบอกหินอ่อนที่หัวเสาสลักลวดลาย และพื้นที่ปูกระเบื้องลายเอกลักษณ์ชวนให้มอง

ส่วนชานชาลา

พื้นที่ที่ 7 : ชานชาลาสถานี

เมื่อเดินเข้ามาจากโถงสิ่งแรกที่เห็นก็คงเป็นทางรถไฟที่อยู่ภายใต้หลังคาทรงโค้ง มีบานกระจกสีขาวสลับเหลืองส่งแสงธรรมชาติเข้ามาจนรู้สึกว่ามันเป็นแสงที่สวยสำหรับการถ่ายรูปมากจริงๆ 

ชานชาลาที่นี่มี 14 ชานชาลา แต่ชานชาลาที่สวยที่สุดและมีเรื่องเล่าที่สุดคือชานชาลาที่ 3 4 5 และ 6 ซึ่งอยู่ในโค้งหลังคาของสถานีกรุงเทพ และมันก็เป็นชานชาลาดั้งเดิมตั้งแต่มีสถานีรถไฟนี้มา รถไฟขบวนสำคัญๆ เช่น รถด่วนพิเศษ รถนำเที่ยวเขื่อนป่าสัก รถนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ หรือขบวนรถไฟที่เป็น flagship ก็จะมาจอดอยู่ตรงนี้นี่แหละ 

ด้วยความดำขลับของชานชาลานั้นมันสะท้อนกับแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านกระจกของหลังคาสถานี หากวันไหนที่แดดจัดมาก จะมองเห็นหลังคาครึ่งวงกลมและเงาสะท้อนบนพื้นจนกลายเป็นวงกลมขนาดใหญ่ทำให้ภาพถ่ายของชานชาลาโดดเด่นขึ้นมาและทรงมนตร์ขลังความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมสถานีขึ้นมาอีกเป็นกอง

หัวลำโพง
หัวลำโพง
หัวลำโพง

พื้นที่ที่ 8 : เสาเอกของบ้าน

จากโถงชานชาลาลองเปลี่ยนทางเดินกันบ้าง เท้าของเราก้าวฉับๆ ไปตามชานชาลาที่ 9 

ที่ปลายชานชาลานั้นเป็นพื้นที่พิเศษอีกที่เพราะเมื่อเราเดินไปจนสุดแล้วนั้นจะเห็นแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่อยู่ด้านซ้ายมือพร้อมรถจักรไอน้ำโบราณอีก 1 คันที่จอดเอาไว้เป็นอนุสรณ์

นี่คือ ‘อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง’ สถานที่ที่เคยเป็นจุดที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เสด็จฯ มาทรงประกอบพระราชพิธีปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือปี 2440) และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพหลังแรกที่มีรูปแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ ก่อนที่จะสร้างใหม่ในที่ใหม่ให้เป็นอาคารคลาสสิกใหญ่อลังอย่างที่เราเห็นในตอนนี้ 

ว่ากันตรงๆ ที่นี่เป็นเสาเอกของสถานีกรุงเทพเลยก็ว่าได้ 

และก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟในประเทศไทย

พื้นที่ที่ 9 : สู่กลางใจเมือง

พื้นที่สุดท้ายที่เราพาทุกคนมาถึงมันคือพื้นที่สุดท้ายที่มีค่ามากๆ ให้มองย้อนไปทางตัวอาคารสถานีที่เราเดินมา ทุกคนจะเห็นตึกสูงของกรุงเทพ มีหลายตึกที่เรารู้จักเลยล่ะ ไม่ว่าจะเป็น State Tower ย่านสาทร ตึกสูงปรี๊ดของไอคอนสยาม และโรงแรม Hilton จากฝั่งธน  ตึก CAT ย่านบางรัก ตึกมหานครย่านสีลม 

ตึกพวกนี้มันทำไมกันน่ะเหรอ? ลองหลับตานึกแล้วจะเห็นภาพ เพราะที่นี่คือใจกลางกรุงเทพมหานครอย่างที่เราบอกไว้ตอนต้น 

สถานีรถไฟกรุงเทพแห่งนี้ถูกตั้งอยู่ในย่านที่สำคัญ แต่เดิมเลยมันก็แค่ทุ่งที่อยู่ชายขอบพระนครข้ามคลองมาจากเยาวราช แต่เมื่อสถานีรถไฟไปอยู่ที่ไหนเมืองก็ย่อมเจริญตามมาด้วย ย่านที่อยู่มาก่อนแล้วและชุมชนที่เกิดขึ้นตามหลังมาและรายล้อมสถานีกรุงเทพก็ได้เติบโตขึ้นจนเป็นย่านสำคัญที่เราต่างรู้จักและคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็นวัดดวงแข สามย่าน สีลม สุรวงศ์ สี่พระยา ตลาดน้อย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจริญกรุง ทรงวาด ยศเส นั่นคือคีย์สำคัญที่ว่าสถานีรถไฟกรุงเทพคือศูนย์กลางการเดินทางในทุกยุคทุกสมัย มันคือใจกลางของการเดินทางด้วยรถไฟที่เข้าถึงกรุงเทพชั้นในจริงๆ 

หัวลำโพง
หัวลำโพง

แม้ว่าก้าวต่อไปของรถไฟไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานีกลางบางซื่อที่รวบรวมระบบรถไฟไว้หลากหลายทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟในเมือง และรถไฟความเร็วสูง แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้วสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพงของทุกคนก็ยังคงเป็นสถานีที่ผู้คนจดจำ เป็นสัญลักษณ์ของรถไฟไทย มันไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานีรถไฟ แต่มันยังเป็นเรื่องเล่า เป็นความทรงจำ และเป็นพื้นที่ของทุกๆ คน ไม่ใช่แค่คนที่ขึ้นรถไฟ แม้ในวันที่รถไฟไม่ได้เข้ามาที่นี่เลยก็ตาม

AUTHOR