ถ้าผีมีภาษา?​ Mori Language โปรเจกต์ดีไซน์ภาษาผีที่ใช้ได้ทั้งคนตายและคนเป็น

Mori Language

พอร์ตโฟลิโอของ เปรมพร บุญอินทร์

ชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชื่อผลงาน Mori Language

Mori Language
Mori Language

ลองจินตนาการว่าคุณเดินทางไปยังต่างประเทศ เช็กอินเข้าห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี กระทั่งคุณล้มตัวลงนอนและปิดไฟหัวเตียง ทันใดนั้น ร่างกายของคุณก็แข็งทื่อ

คุณโดนผีอำเข้าให้แล้ว!

แน่นอน คุณคงยื้อยุด พยายามฉุดกระชากร่างกายให้เคลื่อนไหว พร้อมเปล่งคำพูดอะไรบางอย่าง

แต่จะให้พูดอะไร? ผีเมืองนอกฟังภาษาไทยออกไหม?​ ถ้าท่องนะโมตัสสะผีจะเข้าใจหรือเปล่า?

จังหวะนั้นเอง คุณรู้ตัวว่าคงจะดีถ้าตัวเองมีสกิลภาษาผีไว้คุยกับสิ่งลี้ลับเสียหน่อย

ครั้งหน้าที่เจอเหตุการณ์หลอนเช่นนี้ Mori Language ผลงานของ ตูน–เปรมพร บุญอินทร์ อาจช่วยคุณได้

Mori Language หรือแปลตรงตัวได้ว่าภาษาแห่งความตาย คือโปรเจกต์ที่ตูนออกแบบตัวอักษรและระบบภาษาเขียนสำหรับ ‘ผี’ ขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจเป็นความหลงใหลและความสงสัยในโลกหลังความตาย

อ้อ! ยังมีอีกแรงบันดาลใจคือเดดไลน์ส่งงานวิชาประวัติศาสตร์กราฟิกด้วย

“ตอนอยู่ปี 2 เราต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์กราฟิก ตอนนั้นอาจารย์สอนเรื่อง typography หรือเรื่องตัวอักษร เขาเลยให้โจทย์ออกแบบภาษาของตัวเอง” นักศึกษากราฟิกดีไซน์ชั้นปีที่ 3 เล่าย้อนถึงวิชาเรียนในปีการศึกษาก่อนหน้า

“โจทย์คือการดีไซน์ตัวอักษรให้สวย มีกิมมิก และมีแกรมมาร์พร้อมใช้งาน หลักๆ คือเขาอยากสอนเรื่อง logic และการสร้างระบบในงานดีไซน์ อาจารย์ให้ลองไปศึกษาว่าระบบของภาษาต่างๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และดูว่าเราจะหยิบระบบอะไรมาเล่นได้บ้าง แล้วก็ให้ไปคิดคอนเซปต์มาว่าอยากทำภาษาอะไร

“ตูนเป็นคนชอบเรื่องผีโดยพื้นฐาน เลยคิดว่าไหนๆ ก็ต้องออกแบบภาษาแล้ว ถ้าทำภาษาผีมันจะออกมาเป็นยังไง”

Mori Language
Mori Language

ประตูสู่โลกแห่งความตาย

คำว่าชอบเรื่องผีอาจจะน้อยไป เพราะตูนมักใช้เรื่องผีเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน ตั้งแต่โจทย์ในชั้นปีที่ 1 ที่ให้ทำบุ๊กเล็ตเรื่องไอดอลซึ่งตูนเลือก Tim Burton ผู้กำกับหนังสยองขวัญตลกร้าย และ Patrick McHale ผู้สร้างการ์ตูนลึกลับเรื่อง Over the Garden Wall ไม่นานมานี้เธอเพิ่งทำหนังสือนิทานเด็กว่าด้วยเรื่องของผีที่อยากมีเพื่อนไปหมาดๆ และแน่นอนว่าโปรเจกต์ที่เธอภูมิใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งอย่างภาษาผีก็มีความตายเป็นหัวข้อ

“ถ้าถามว่าเราเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องผีไหม มันเหมือนเรามีชีวิตอยู่กับคอนเซปต์เรื่องนี้มาตลอด เราชอบทิม เบอร์ตัน โตมากับ Scooby-Doo อ่านนิยายผีทั้งฝรั่งทั้งไทย ของครูเหม เวชกร ตูนก็อ่าน ชอบฟังเรื่องผีแบบรายการ The Ghost Radio และ The Shock หรืออย่างรายการ Untitled Case ตูนก็เป็นแฟนคลับเขา พยายามเสพเรื่องผีหลายๆ แบบ

“อีกอย่างคือแม่เห็นผีบ่อยด้วย” ตูนเฉลยความลับ

“แม่จะมาเล่าว่าผีที่เจอมาในฟอร์มไหน สื่อสารด้วยวิธีอะไรบ้าง ถ้าเล่าทั้งหมดวันนี้ก็จะไม่จบเพราะว่ามันเยอะมาก เล่าเป็นพอดแคสต์ได้เลย กลายเป็นว่าตูนก็ไม่ใช่คนที่กลัวอะไรขนาดนั้น ฟังเหมือนเป็นเรื่องเล่าทุกวันไปแล้ว แบบ อ๋อ วันนี้ก็เจอเหรอ

“เพื่อนที่เห็นผีก็มี เป็นเพื่อนสนิทในเอกเดียวกันนี่แหละ ไปไหนเขาก็จะเจอตลอดแล้วก็จะมาเล่าให้ฟัง หรือน้องชายก็เจอ เหมือนคนใกล้ตัวเจอหมดเลย ตูนเป็นคนเดียวที่ไม่เจอ (หัวเราะ) เราเลยเก็บอินไซต์มาทำงาน”

แพสชั่นก็มีแล้ว อินไซต์ก็มีแล้ว ขาดเพียงอย่างเดียวคือระบบภาษาที่ตูนต้องไปศึกษาระบบการเขียนภาษาจีนและภาษาอังกฤษเพื่อมาพัฒนาภาษาสำหรับเหล่าผีต่อ สุดท้ายเธอก็เลือกใช้ระบบตัวอักษรเหมือนภาษาจีนที่เป็นอักษรภาพ หรือการเอารูปภาพมาประกอบกันเพื่อสร้างความหมาย เมื่อแน่วแน่ว่าจะทำอักษรภาพ สิ่งที่ตูนทำต่อสรุปได้เป็นขั้นตอนประมาณนี้

Mori Language

ขั้นตอนที่ 1–อินไซต์ในใจผี

แรกเริ่มตูนตั้งต้นจากอินไซต์ของผีว่าถ้าเป็นผี เธอจะอยากสื่อสารอะไรบ้าง จากนั้นก็ลิสต์ถ้อยคำออกมาและหาสัญลักษณ์ที่แทนค่าคำนั้นได้ เริ่มจากคำง่ายๆ เช่น คำแทนสรรพนามหรือคำว่าตายที่ผีได้ใช้แน่นอน

“ตูนได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการดีไซน์ตัวอักษรจากตัวอักษรเก่าๆ อย่างอักษรภาพบนเสาโอเบลิสก์ ทีนี้เราก็มาคิดว่าในจักรวาลผีมีองค์ประกอบอะไรให้เล่นบ้าง มีธูป มีโลงศพ มีหัวกะโหลก นั่งลิสต์ออกมา

“เราเริ่มจากสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง แทนค่าด้วยหัวกะโหลก แล้วสรรพนามบุคคลที่สองอย่างคำว่า ‘เธอจะทำยังไงดี’ มันก็ควรจะเป็นหัวกะโหลกเหมือนกัน งั้นพลิกด้านไหม เหมือนคนพูดคุยกัน ส่วนพอเป็นพหูพจน์ก็เพิ่มเป็นหัวกะโหลกสามหัว ใช้วิธีคิดแบบนี้

“ส่วนคำว่า ‘ตาย’ พอเป็นผี ยังไงก็หนีการพูดคำว่าตายไม่พ้นแน่ๆ พอคิดถึงคำว่าตาย เราก็นึกถึงยมทูต เลยทำอักษรเป็นรูปเคียว”

เมื่อได้ชุดคำศัพท์ตั้งต้นพร้อมตัวอักษรภาพที่แทนค่าคำนั้นๆ ตูนก็ลงมือผสมอักษรเข้าด้วยกันเป็นคำใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น จากอักษรที่แปลว่าตาย เมื่อผสมกับคำว่าฉันจึงได้คำว่า ‘ฆ่าตัวตาย’ ผสมกับคำว่าเธอได้คำว่า ‘ฆาตกรรม’ หรือผสมกับอักษรรูปเทียนที่แปลว่าความคิดก็ได้ผลลัพธ์เป็นคำว่า ‘ฆ่าปิดปาก’ ขึ้นมา

ด้วยวิธีการแบบนี้ ภายในเวลาไม่นานตูนจึงได้ชุดคำศัพท์อื่นๆ ขึ้นมามากมายพร้อมนำไปประกอบเป็นประโยคเพื่อสื่อสารกับเหล่าภูตผีทั้งหลาย

Mori Language
Mori Language
Mori Language

ขั้นตอนที่ 2–อินสไปร์จากหลุมศพ

อย่าเพิ่งใจเร็วรีบเขียนประโยคลงกระดาษ! ก่อนที่จะไปผสมประโยค ในฐานะที่นี่เป็นงานในวิชากราฟิก ตูนบอกว่าขั้นตอนที่ขาดไม่ได้คือเธอต้องจัดการออกแบบรูปลักษณ์ตัวอักษรทั้งหมดให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียก่อน

“ตัวอักษรมันต้องมีระบบกริดของมัน (ระบบตารางที่ใช้เป็นแม่แบบในการออกแบบ) ไม่อย่างนั้นประกอบกันออกมาแล้วจะไม่สวย เราเลยใช้ผ้าหลุมศพมาออกแบบระบบกริด โดยให้เชปด้านบนของตัวอักษรทุกตัวโค้งเหมือนป้ายหลุมศพ มันก็จะ adapt ค่อนข้างง่ายแล้ว”

ขั้นตอนที่ 3–ประกอบเป็นประโยค

ในที่สุดตัวอักษรของตูนก็พร้อมนำไปใช้สื่อสาร ฟังดูแล้วเหมือนจะเหลืองานไม่มาก แต่ตูนบอกว่าตอนเริ่มต้นเขียนเป็นประโยคนี่แหละที่ยากสุด

“เราเริ่มจากการออกแบบตัวอักษรก่อน แล้วผสมเป็นคำ นั่งตีตารางว่าถ้าคำนี้ประกอบกับคำนี้จะแปลว่าอะไรได้บ้าง จากนั้นก็ค่อยมาคิดเรื่องวิธีเขียนประโยค

“ตอนแรกเราวางเรียงเหมือนภาษาอังกฤษ คือเรียงตัวอักษรจากซ้ายไปขวา มีประธาน กริยา แล้วก็กรรม แต่พอไปส่งแล้วอาจารย์บอกว่ามันธรรมดาไป ทำแบบแปลกๆ สิ ไหนๆ ก็ทำทั้งที”

เพราะคอมเมนต์นั้นตูนเลยต้องกลับมาทบทวนภาษาผีของเธอใหม่ ก่อนจะตัดสินใจเขียนประโยคจากบนลงล่าง โดยมีประธานหรืออักษรรูปหัวกะโหลกอยู่ด้านบนสุด เหมือนป้ายหลุมศพบางแห่งที่มีรูปหัวกะโหลกด้านบน จากนั้นจึงเขียนอักษรที่แสดงถึงกริยาและกรรมต่อลงมาด้านล่าง เมื่อจบประโยคก็เริ่มต้นประโยคใหม่ทางขวาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบใจความ

Mori Language
Mori Language

โลกหลังความตายที่ถูกใจคนเป็น

หลังจากโปรเจกต์เสร็จสิ้น นอกจากนำไปส่งอาจารย์แล้วตูนยังโพสต์ลงในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองและได้รับผลตอบรับดีมากในหมู่คนที่ชอบเรื่องผีๆ แถมยังมีนักภาษาศาสตร์สนใจมาขอสัมภาษณ์

“ตอนที่โพสต์งานนี้ออกไปใหม่ๆ ในทวิตเตอร์มีเด็กที่เรียนภาษาศาสตร์มาขอสัมภาษณ์เอาไปเขียนเปเปอร์ตัวจบของเขา เราก็อึ้งว่า โห มันได้ขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ)

“เขาน่ารักมากค่ะ เหมือนเขาเอาไปรีเสิร์ชต่อและบอกว่าภาษาของตูนอาจมี error ทางภาษาศาสตร์บ้าง เช่น ตอนที่อักษรแต่ละตัวผสมกันเป็นคำใหม่บางตัวยังมีความคลุมเครือ หรือข้อจำกัดในเรื่อง tense ซึ่งทำให้เราอาจจะยังสื่อสารใจความที่ละเอียดมากไม่ได้ แต่เขาก็บอกว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่เอาไป adapt ต่อได้ 

“สมมติว่ามันอาจจะไม่ใช่ภาษาที่ผีใช้ แต่อาจจะเป็นภาษาของคนที่เขียนเรื่องผีหรืออยู่ในนิยายไหม อย่างนิยายเรื่อง The Lord of the Rings ก็มีภาษาของเขา เราก็เลยคิดว่าถ้าจะทำต่อคงต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางภาษามาช่วยแล้วล่ะ”

ในขณะที่ตอนนี้ตูนยังไม่ได้พัฒนาโปรเจกต์ภาษาผี Mori Language ต่อ แต่เธอก็ยังทำงานเรื่องผีๆ อย่างต่อเนื่อง และคงไม่หยุดทำในเร็วๆ นี้แน่

“ตูนค่อนข้างหมกมุ่นกับเรื่องผี เราชอบทำเรื่องโจทย์เกี่ยวกับผี อยากลองทำงานเรื่องผีหลายๆ แบบ บางทีเพื่อนก็บอกว่าตูนมันทำโจทย์เรื่องผีอีกแล้ว โจทย์มันซ้ำนะ อาจารย์ก็จะพูดว่ามันจะคลิเช่หรือเปล่า แต่ตูนอยากลองไปเรื่อยๆ ว่าเราจะทำงานนี้ไปได้ถึงขั้นไหน

“ตูนรู้สึกว่ามันทำได้ แต่ต้องทำให้ไม่เหมือนเดิม ทำให้เห็นว่าเราสามารถตีความอะไรจากโจทย์เดิมๆ ได้บ้าง การทำโจทย์ซ้ำมันไม่ได้ผิด บางทีเราอาจจะเจอมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างตูนทำเรื่องผีมาหลายงานแต่โปรเจกต์นี้เป็นครั้งแรกที่ตูนได้คิดว่าผีก็อาจจะมีภาษาหรือเปล่า ตูนไม่คิดมาก่อนว่าจะสร้าง visual แบบนี้ได้ พอลองทำปรากฏว่าผลตอบรับมันดี สนุก ต่อยอดได้ บางทีโจทย์ซ้ำมันอาจจะหมายถึงโจทย์ที่เราชอบ ถ้าเรามีความสุขก็ให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ดีกว่า”

ท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะคนที่ชอบเรื่องผีถึงขั้นที่หนีงานหัวข้อนี้ไม่พ้น เราถามตูนว่าอยากเจอผีสักครั้งในชีวิตไหม

“อยากลองเจอเหมือนกันค่ะ” ตูนตอบทันที

“แม่บอกว่าตูนเป็นคนจิตแข็งเลยไม่เจอสักที แต่ใจเราอยากเจอเหมือนกันจะได้เอาอินไซต์มาทำงาน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี