‘หากบอกคนลาวว่าเห็นผี เขาจะไม่คิดว่าคุณโกหกหรอก’ Mattie Do ผู้กำกับหญิงคนแรกและคนเดียวของลาว

ว่ากันตรงๆ พ้นไปจาก สะบายดี หลวงพะบาง (2008) ภาพยนตร์ที่ประเทศไทยร่วมสร้างกับประเทศลาวเมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้ว เราไม่ค่อยจะได้เห็นภาพยนตร์จากประเทศลาวมากนัก

กระทั่งเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เมื่อ น้องฮัก (2016) หนังผีสายเลือดลาวที่เดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลกได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทย กระแสภาพยนตร์ลาวก็กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ชื่อของ Mattie Do ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนแรกของลาว

แม้ว่าจะมีพ่อกับแม่เป็นคนลาวแท้ๆ ทว่าแมตตี้ก็ไม่ได้เกิดและเติบโตในลาวแต่อย่างใด หากเป็นสหรัฐอเมริกาต่างหากที่หล่อหลอมเธอขึ้นมาเป็นช่วงเวลาใหญ่ๆ ถึงอย่างนั้นแมตตี้ก็ผูกพันกับผู้คน สังคม และวัฒนธรรมลาวในฐานะคนลาวคนหนึ่ง

เมื่อ The Long Walk หรือ บ่มีวันจาก (2019) ผลงานเรื่องล่าสุดของเธอกำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทย เราตัดสินใจติดต่อแมตตี้ซึ่งปัจจุบันย้ายกลับมาลงหลักปักฐานที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อสนทนากับเธอ ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังรวมถึงชีวิตของเธอกว่าจะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนแรกและคนเดียวของประเทศลาว

เล่าเรื่องราวก่อนที่คุณจะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ให้ฟังได้ไหม รู้มาว่าคุณเป็นนักเต้นบัลเลต์มาก่อนด้วย

ฉันไม่ได้เป็นนักเต้นบัลเลต์ที่เก่งเลยนะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการเข้ามาอยู่ในวงการภาพยนตร์เป็นเรื่องบังเอิญล้วนๆ เลย คุณมักจะได้ยินเรื่องราวของใครสักคนที่อินกับหนังมากๆ ใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้กำกับ มุ่งมั่นจนได้เข้าไปเรียนโรงเรียนภาพยนตร์ แต่ชีวิตของฉันไม่ใช่อะไรแบบนั้น เพราะเมื่อคุณเป็นนักเต้นบัลเลต์ชีวิตของคุณจะวนเวียนอยู่แค่การไปสตูดิโอเพื่อฝึกซ้อม ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นหรอก

ประสบการณ์ครั้งแรกของฉันในกองถ่ายเกิดขึ้นที่อิตาลี ตอนนั้นสามีของฉัน (Chris Larson–นักเขียนบทชาวอเมริกัน) ทำงานอยู่กับโรงเรียนภาพยนตร์ที่นั่น วันหนึ่งสามีของฉันก็บอกว่าที่โรงเรียนกำลังมองหาช่างแต่งหน้ากองถ่าย ฉันเคยเรียนแต่งหน้ามาบ้างและมีใบอนุญาตอยู่กับตัวเลยได้ไปช่วยงานที่นั่น ปรากฏว่าการเป็นช่างแต่งหน้าในกองถ่ายสอนอะไรฉันเยอะมากๆ ฉันได้เรียนรู้ว่านักแสดงทำงานกันยังไง ยิ่งพอพวกเขารู้ว่าสามีของฉันเป็นคนเขียนบทด้วยแล้วพวกเขาก็เลยยิ่งชอบมาคุยกับฉัน แม้ว่าฉันจะได้เรียนรู้การทำงานในกองถ่ายมากขึ้นก็จริง แต่ฉันก็ยังไม่สนใจการกำกับภาพยนตร์อยู่ดี

ทีนี้พอฉันอายุ 25 คุณแม่ก็ด่วนจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง ฉันกับสามีเลยต้องเดินทางกลับลาวเพื่อไปดูแลคุณพ่อที่ต้องอยู่ตามลำพัง

แปลว่าก่อนหน้าที่คุณจะเดินทางกลับมาลาว คุณก็ยังไม่ได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เลยเหรอ

ไม่เลย จริงๆ พอเห็นว่าพ่อสบายดีฉันกับสามีเลยวางแผนว่าจะอยู่ลาวแค่ช่วงสั้นๆ ด้วยซ้ำ แต่แล้วสามีของฉันก็เริ่มเอะใจว่านอกจากภาพยนตร์เรื่อง สะบายดี หลวงพะบาง แล้วก็แทบจะไม่มีหนังลาวเรื่องอื่นๆ เลย ตอนนั้นคือปี 2010 และหนังลาวทุกเรื่องล้วนผลิตภายใต้บริษัท Lao Art Media สามีของฉันเลยตัดสินใจว่าจะลองติดต่อบริษัทนี้ดูเผื่อว่าจะได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ไปๆ มาๆ เราเลยได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ในเทศกาลภาพยนตร์หลวงพระบางและได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่จาก ‘กรมฮูปเงา’ (กรมภาพยนตร์) พอได้คุยกับพวกเขาเลยพบว่าการจะทำภาพยนตร์สักเรื่องในลาวมันยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาทุนและเทคโนโลยีต่างๆ

Mattie Do

กระทั่งเจ้าหน้าที่จากกรมภาพยนตร์ยังยอมรับเองเลยเหรอ

ใช่ การจะสร้างหนังสักเรื่องในลาวมีอุปสรรคเยอะมากๆ อย่างผู้กำกับลาวที่พอจะมีอยู่บ้างก็อยู่ในวัย 50-60 กันหมด ไม่มีใครอยากกำกับภาพยนตร์แล้ว แต่พวกเขายังอยากเห็นหนังลาวใหม่ๆ อยู่นะ พอพูดคุยกันไปสักพักพวกเขาเลยได้รู้ว่าสามีของฉันเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ เขาเลยถามสามีฉันตรงๆ ว่าสนใจอยากมาช่วยพวกเราไหม แน่นอนว่าสามีของฉันตอบตกลงทันที วันต่อมาพวกเราเดินทางไปเจอพวกเขาที่ออฟฟิศและพบว่าพวกเขาจัดหาออฟฟิศว่างๆ พร้อมเครื่องปรับอากาศและไวไฟให้สามีฉันเรียบร้อยแล้ว บอกก่อนว่าลาวเมื่อสิบปีก่อนน่ะไวไฟยังเป็นอะไรที่หายากมากๆ เรายังต้องไปอินเทอร์เน็ตคาเฟ่กันอยู่เลย สามีฉันเลยตื่นเต้นมากๆ พอได้รู้ว่าเขากำลังจะได้ออฟฟิศใหม่พร้อมไวไฟ (หัวเราะ)

พอคุยๆ กันไป ปัญหาคือแม้ว่าสามีของฉันจะเขียนบทภาพยนตร์ได้จริงแต่การจะกำกับภาพยนตร์น่ะเป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งเมื่อเขาไม่สามารถพูดภาษาลาวได้ด้วยแล้ว ไปๆ มาๆ หวยเลยมาลงที่ฉันเพราะพูดภาษาลาวได้ และพอจะมีประสบการณ์กับ performance art อยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะฉันเป็นนักเต้นบัลเลต์ มันแรนด้อมมากๆ คนจากกรมฮูปเงาก็เห็นดีเห็นงามด้วย พวกเขาบอกว่าฉันอาจจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ลาวเลยนะ

ตอนนั้นคุณรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองบ้างไหมว่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ได้จริงๆ 

ทั้งรู้สึกแล้วก็ไม่รู้สึก แน่นอนว่าฉันรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองเพราะฉันไม่เคยกำกับภาพยนตร์มาก่อน แต่สามีของฉันก็เก่งมากๆ ที่สอนให้ฉันเข้าใจศาสตร์ของภาพยนตร์ผ่านมุมมองแบบบัลเลต์ เขาบอกว่าในบัลเลต์น่ะ ถ้าการแสดงเริ่มขึ้นแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นระหว่างทางฉันก็จะต้องแสดงต่อไปรวดเดียวจบ และหากทำพลาดขึ้นมาเท่ากับว่าทุกคนจะเห็นหมด โอกาสของฉันมีแค่เทคเดียวเท่านั้น แต่กับภาพยนตร์ฉันจะเริ่มใหม่กี่เทคก็ได้ อีกอย่างคือด้วยความที่เวทีบัลเลต์เป็นเวทีใหญ่ เท่ากับว่าคนดูจะเห็นภาพรวมแค่กว้างๆ จากระยะไกล แต่กับภาพยนตร์ฉันสามารถแสดงให้คนดูเห็นจากระยะที่ใกล้ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่างๆ เช่น อารมณ์ของนักแสดงที่จะไม่ถูกมองเห็นในบัลเลต์ก็จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านเทคนิคทางภาพยนตร์อย่างการ close-up และ medium shot

สามีของฉันและเจ้าหน้าที่จากกรมฮูปเงาพยายามบอกอยู่เรื่อยๆ ว่าอย่ากังวลไป คิดว่าเป็นการฝึกฝนก็พอ แล้วถ้าหนังออกมาไม่โอเคเราก็แค่โยนมันลงแม่น้ำโขงให้จบๆ ไป (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายของฉันขอแค่ได้ฉายให้กับนักแสดงและทีมงานดูก็พอแล้ว เพื่อที่พวกเขาจะรู้สึกภูมิใจกับผลงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่า Chantaly (2012) ผลงานการกำกับเรื่องแรกของฉันไม่เพียงจะได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลวงพระบาง แต่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันคนหนึ่งยังเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จนกลายเป็นว่าหนังของฉันได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

Mattie Do

คุณได้ชื่อว่าเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ของวงการภาพยนตร์ลาว สำหรับคุณแล้ว อะไรคือนิยามของคลื่นลูกใหม่นี้

สำหรับฉัน ไม่ว่าใครก็ตามที่กำกับภาพยนตร์อยู่ในตอนนี้ก็ล้วนแต่เป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ทั้งหมดนั่นแหละ (หัวเราะ) เพราะวงการภาพยนตร์ลาวเล็กมากๆ ฉันไม่แน่ใจว่าประเทศไทยสร้างภาพยนตร์ปีละกี่เรื่อง แต่สำหรับเราแค่มีหนังปีละ 1-2 เรื่องก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว บางปีเราไม่มีหนังสักเรื่องเลยด้วยซ้ำ ฉันคิดว่าทุกวันนี้เรายังไม่สามารถนิยามวงการภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจนเลย ฉะนั้นฉันจึงพยายามจะสร้างภาพยนตร์ที่ทำขึ้นเพื่อคนลาวจริงๆ และสื่อสารกับคนลาวโดยเฉพาะ ไม่ใช่การพยายามไปเลียนแบบภาพยนตร์ของประเทศอื่น 

พูดถึง The Long Walk ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคุณบ้าง อะไรคือแรงบันดาลให้คุณสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

The Long Walk คือการเชื่อมโยงหลายๆ จุดในชีวิตฉันเข้าด้วยกัน ในแง่ที่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากประสบการณ์ที่ใกล้ตัวฉันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความตาย ความสูญเสีย และความรู้สึกผิด อย่างที่บอกว่าฉันสูญเสียแม่ไปในวัย 25 แต่อีกความสูญเสียหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งกับฉันและสามีผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสูญเสีย ‘แมงโก้’ สุนัขตัวโปรดของเราไป ความสูญเสียทั้งสองครั้งนี้ทำให้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันตัดสินใจถูกจริงๆ หรือเปล่า ถ้าหากว่าฉันพาแม่ไปตรวจร่างกายแต่เนิ่นๆ แทนที่จะนิ่งนอนใจว่าแม่คงไม่เป็นอะไรหรอก ทุกวันนี้แม่จะยังอยู่กับฉันไหม แต่สุดท้ายฉันก็ได้แค่นั่งมองแม่หมดลมหายใจลงไปช้าๆ เช่นเดียวกับสุนัขของเราที่ค่อยๆ ตายจากไป

ประเด็นสำคัญของ The Long Walk จึงเป็นเรื่องราวเหล่านี้กับความไม่อาจรู้ได้เลยว่าเราตัดสินใจถูกต้องแล้วจริงๆ หรือเปล่า หรือถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปได้เราจะกลับไปแก้ไขอะไรในอดีตไหม แต่ด้วยความที่ฉันเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เมื่อคุณได้ดูหนังคุณจะพบว่ายิ่งตัวละครในเรื่องย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงอดีตเพื่อยกระดับชีวิตของเขาในปัจจุบันมากเท่าไหร่ เขากลับยิ่งสูญเสียอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความพยายามของเขาในการจะเปลี่ยนแปลง ‘ผลของกรรม’ ที่พอถึงจุดหนึ่งผลของกรรมที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลงกลับยิ่งคืนสนองเป็นเท่าทวี

คำถามของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ถ้าคุณสามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงอดีตได้ ใครกันล่ะที่จะยืนยันได้ว่าการกระทำนี้คือสิ่งที่ดีจริงๆ

Mattie Do

ในทางหนึ่ง เรื่องราวของ The Long Walk ว่าด้วยผลของกรรมซึ่งเป็นแนวคิดแบบศาสนาพุทธ แต่ขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสอดแทรกความเป็นไซ-ไฟผ่านเรื่องราวของการย้อนเวลาซึ่งเป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย คุณเชื่อมโยงสองแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้เข้าด้วยกันได้ยังไง

เพราะฉันอาศัยอยู่ในสังคมพุทธ และไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรก็ตามแต่แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดคือส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับประเด็นเหนือธรรมชาติอย่างเรื่องผีและวิญญาณ คนลาวมักจะพูดถึงการพบเจอดวงวิญญาณอยู่เสมอ โดยเฉพาะเหล่าดวงวิญญาณที่ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้และจำเป็นต้องพึ่งใครสักคนที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้น

อย่างที่รู้กันว่าเงื่อนไขของการจะไปผุดไปเกิดได้คือการสะสมบุญให้เพียงพอ ซึ่งแนวคิดที่ว่าคุณจะเวียนว่ายอยู่เรื่อยๆ หมุนวนอยู่ตลอด โดยที่ในการเกิดใหม่แต่ละครั้งก็อาจสร้างผลกระทบที่ส่งต่อไปถึงชีวิตใหม่ในชาติถัดไป สำหรับฉันมันฟังดูไซ-ไฟ สอดคล้องไปด้วยกันมากๆ ฉันอยากจะแสดงภาพของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เพราะเมื่อพูดถึงเอเชีย คนมักจะนึกถึงซามูไร พิธีชงชา หรืออาหารเกาหลี แต่ทวีปเอเชียมันใหญ่มากนะ ทำไมพวกเราถึงไม่ถูกมองเห็นล่ะ หรืออย่างผีในลาวก็ต่างไปจากภาพของผีตะวันออกที่ชาวตะวันตกรับรู้ เพราะผีของเราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไม่ใช่ประเภทที่จะกระโดดมาบีบคออย่างที่เห็นในหนังหลายๆ เรื่อง

อีกประเด็นหนึ่งคือ เวลาที่ฉันไปเทศกาลภาพยนตร์ ฉันมักจะเจอฝรั่งมาถามว่า ‘ทำไมไม่สร้างหนังที่ดูบริสุทธิ์ (authentic) สักหน่อยล่ะ’ ถ้าเป็นคุณได้ยินแบบนี้จะรู้สึกยังไง มันงี่เง่ามากนะกับการที่ผู้หญิงเอเชียอย่างฉันต้องมาได้ยินผู้ชายผิวขาวบอกให้สร้างหนังที่ ‘ดูบริสุทธิ์’ กว่านี้ นี่มันเป็นวิธีคิดแบบจักรวรรดินิยม (imperialism) ชัดๆ ฉะนั้นนอกจาก The Long Walk จะเป็นหนังที่ส่วนตัวมากๆ สำหรับฉันหนังเรื่องนี้ยังเป็นการตอกหน้ากลับไปยังวิธีคิดแบบคนขาวที่อยากให้ฉันทำหนังที่ดูบริสุทธิ์กว่านี้ด้วย ถ้าอยากได้บริสุทธิ์นักงั้นฉันจัดให้หนักๆ ด้วยเรื่องราวของชายยากจนคนหนึ่งในหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงที่ชีวิตพาดเกี่ยวอยู่กับผลกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นวิธีคิดที่โคตรจะศาสนาพุทธ โคตรจะบริสุทธิ์อย่างที่คุณต้องการจะเห็นในหนังลาว แต่ควบคู่ไปด้วยกัน หนังของฉันก็จะนำเสนอเรื่องราวการเดินทางข้ามมิติเวลาที่โคตรจะไซ-ไฟด้วย เอาให้เหวอกันไปเลย ประเด็นของฉันคือฝรั่งพวกนั้นคิดว่าตัวเองเป็นใครกันถึงคิดว่าตัวเองมีสิทธิจะมาบอกว่าหนังของฉันควรเป็นยังไง

ในแง่นี้ คนดูชาวตะวันตกจะเข้าใจภาพยนตร์ของคุณแตกต่างไปจากคนดูชาวเอเชียไหม

แน่นอน เพราะฉันสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปในหนังที่หากเป็นคนเอเชียจะสังเกตเห็นได้ไม่ยาก ฉันแอบสังเกตพฤติกรรมของคนดูชาวเอเชียกับคนดูชาวตะวันตกแล้วพบว่าพวกเขามีความรู้สึกต่อหนังต่างกันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตอนจบของหนัง คนดูชาวเอเชียส่วนใหญ่จะเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอเป็นคนดูชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ก็ตีความไปคนละทิศละทางกันเลย

สังเกตว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องของคุณล้วนเป็นหนังผี ทำไมคุณถึงชอบทำหนังผีล่ะ

ส่วนตัวแล้วฉันชอบเรื่องผีมาก คนลาวเองก็เชื่อเรื่องผีมากๆ เหมือนกันเพราะผีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน หากคุณบอกคนลาวว่าเห็นผีพวกเขาจะไม่คิดว่าคุณโกหกหรอก แต่ทุกคนจะเชื่อทันทีว่าคุณเห็นผีจริงๆ เพียงแต่ในระดับเดียวกันฉันก็เป็นคนอเมริกันด้วยซึ่งสำนึกของคนอเมริกันต่อเรื่องผีจะแตกต่างออกไป คนอเมริกันจะไม่ถึงกับเชื่อเรื่องผีโดยทันที แต่เราก็อยากรู้ว่าผีมีอยู่จริงไหม เพราะฉะนั้นความเชื่อในเรื่องผีของฉันจึงเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสำนึกของคนอเมริกันที่มักจะสงสัยใคร่รู้ในเรื่องเหนือธรรมชาติกับสำนึกของคนลาวที่มองว่าเรื่องผีเป็นเรื่องงดงามมากๆ ที่เราสามารถใกล้ชิดกับชีวิตหลังความตายได้ในระดับนี้

พ้นไปจากประเด็นที่ว่า The Long Walk มาจากประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตของคุณแล้ว คุณมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการวิพากษ์ประเด็นใดๆ ในสังคมลาวด้วยไหม

ฉันมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นการวิจารณ์สังคมลาวต่อประเด็นการพัฒนา ด้วยฉากหลังของหนังเรื่องนี้คือหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่แม้ว่าในทีแรกจะดูไกลปืนเที่ยง แต่จริงๆ แล้วหมู่บ้านนี้กลับอยู่ใกล้เวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาวมากๆ ฉันคิดว่าเมื่อกระแสการพัฒนาเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาว แม้ว่าในแง่หนึ่งสังคมของเราก็ดูจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ขณะเดียวกันกลับยังมีผู้คนและพื้นที่อีกมากที่ยังถูกหลงลืมและถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง ในหนังเรื่องนี้ฉันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่แห่งหนึ่งที่พัฒนาแล้วกับพื้นที่อีกแห่งที่ยังไม่ถูกพัฒนา ถนนหนทางยังเป็นดินแดงอยู่ด้วยซ้ำ มันเป็นข้อเท็จจริงของลาวที่น่าเศร้ามากนะ

คนดูที่ลาวรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้บ้าง

ไม่ค่อยชอบกันเท่าไหร่ (หัวเราะ) พวกเขาคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าเบื่อ คือมันเป็นหนังผีไม่ใช่เหรอ ถ้าอย่างนั้นก็ควรจะมีฉากตกใจสิ ทำไมหนังผีของฉันถึงไม่สนุกเหมือน ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) หรือหนังหลายๆ เรื่องของ GDH ล่ะ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ภูมิใจกับการมีอยู่ของหนังเรื่องนี้นะ เพราะถึงแม้บางคนจะมองว่ามันห่วยแต่พวกเขาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่เจ๋งมากๆ ที่ฉันทำให้เรื่องราวของลาวเป็นที่รับรู้ในระดับโลก

เปรียบเทียบกับสิบปีก่อนที่คุณกลับมาประเทศลาวใหม่ๆ กับทุกวันนี้ คุณคิดว่าวงการภาพยนตร์ลาวเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ทั้งในมิติของเพศภาวะและการสนับสนุนของรัฐบาล

ในประเด็นเพศภาวะ ฉันคิดว่าวงการภาพยนตร์ลาวยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ รัฐบาลเอ็นดูฉันนะ และประเด็นหนึ่งที่ฉันชื่นชมรัฐบาลมากๆ คือมีผู้หญิงทำงานอยู่ในกรมฮูปเงาเยอะทีเดียว เรียกได้ว่าสัดส่วนแทบจะเป็นครึ่งต่อครึ่งกับผู้ชาย เพียงแต่ฉันก็ยังคงเป็นผู้กำกับผู้หญิงคนเดียวของลาวอยู่ดี แต่เรื่องหนึ่งที่ฉันคิดว่าเปลี่ยนแปลงไปมากๆ คือรัฐบาลดูจะเชื่อในพลังของภาพยนตร์มากขึ้น พวกเขายินดีที่จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน แล้วก็ค่อนข้างจะให้อิสระฉันในการทำงาน ไม่ค่อยจะเข้ามาก้าวก่ายสักเท่าไหร่

Mattie Do

มีประเด็นอะไรบ้างไหมที่รัฐบาลลาวมองว่าไม่เหมาะสม และไม่สามารถนำเสนอได้ในภาพยนตร์

มีนะ มันก็คล้ายๆ กับประเทศไทยนั่นแหละ คือเราไม่สามารถวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลและวิจารณ์ประเด็นการเมืองได้อย่างชัดเจนนัก และพวกเขาก็ไม่ชอบเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศสักเท่าไหร่ อีกเรื่องคือเราไม่ควรจะไปวิพากษ์ประเทศอื่นๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ฟังดูเหมือนจะน่ารักดี (หัวเราะ)

คุณมองอนาคตของวงการภาพยนตร์ลาวยังไง รู้สึกมีความหวังกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ลาวขึ้นไหม

ฉันไม่แน่ใจเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโควิด-19 ทั้งที่จริงๆ แล้วตอนนี้ที่ลาวไม่มีการระบาดของโควิด-19 นะ นั่นเท่ากับว่าเราสามารถถ่ายหนังได้ปกติ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงความช่วยเหลือจากทีมงานที่มักจะเดินทางมาจากต่างประเทศได้ อีกเรื่องคือเมื่อทุกประเทศในโลกไม่ใช่แค่เฉพาะลาวต่างได้รับผลกระทบด้านการเงินกันหมด การจะหาทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศเล็กๆ อย่างลาวจึงไม่น่าจะเป็นอะไรที่ง่ายนัก ฉันคิดว่าเราโชคดีที่ยังสามารถถ่ายหนังในประเทศได้อย่างอิสระภายใต้สถานการณ์โลกทุกวันนี้ แต่ในขณะเดียวกันฉันก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่ามองเห็นอนาคตที่สดใสของวงการภาพยนตร์ลาว

AUTHOR