โอ๊ต–คมกฤช เจ้าของ ‘เสียงเพลงของโมไร’ คนทำเทปผู้เชื่อว่าแอนะล็อกยังไม่ตาย

Highlights

  • ‘เสียงเพลงของโมไร’ คือเพจที่ผลิต ขายแผ่นเสียงและเทปคาสเซตศิลปินไทยที่มักทำออกมาในจำนวนจำกัดผ่านการทำตามออร์เดอร์ บางอัลบั้มเป็นอัลบั้มที่หายาก ชนิดที่ว่าหากวางขายหนึ่งครั้ง อาจมีการนำมาขายต่อกันในหมู่คนฟังเป็นมูลค่าหลายหมื่นบาท
  • ผู้อยู่เบื้องหลังเพจคือ โอ๊ต–คมกฤช คุณวัฒนา ชายหนุ่มผู้ผันตัวเองจากการเป็นพนักงานบริษัทออกมาทำตามสิ่งที่ใจรัก พร้อมกับทีมงานคนรักเสียงดนตรีของเขาภายใต้บริษัทที่ชื่อ ‘โอ๊ตคุณแอนด์โมไร’
  • ปัจจุบัน เสียงเพลงของโมไร ยังคงผลิตเทปคาสเซตและไวนิลอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งซื้อ-ขายที่นิยมกันสำหรับนักฟังเพลงและนักสะสม และพร้อมต้อนรับนักฟังหน้าใหม่ทุกท่านอยู่เสมอ

“หากเราคิดทำตามฝันไป แม้จุดหมายฝันนั้นไกลห่าง หากเราคิดจะเป็นผู้สร้าง ล้มกี่ครั้งฉุดกายขึ้นยืน”

ข้อความข้างต้นมาจากเพลง โมไร บทเพลงที่ 14 จากอัลบั้ม 1st Time ของวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟไทยนาม Sickchild ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจลาออกจากงานประจำออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยความหลงใหลในการฟังเพลง ความตั้งใจของเขาจึงก่อเกิดเป็นธุรกิจผลิตและขายแผ่นเสียง เทปคาสเซต และซีดี 

ซึ่งเขาตั้งชื่อความฝันนี้ว่า ‘เสียงเพลงของโมไร’

โอ๊ต–คมกฤช คุณวัฒนา คือชายผู้อยู่เบื้องหลัง เพจ ‘เสียงเพลงของโมไร’

ปัจจุบันเพจนี้มียอดผู้ติดตามกว่า 6,000 คน และร่วมผลิตเทปคาสเซตและแผ่นเสียงมามากกว่า 40,000 ตลับ รวมแล้วกว่า 40 อัลบั้ม ตั้งแต่ศิลปินอย่างอภิรมย์, เขียนไขและวานิช, Scrubb, Paradox ไปจนถึงวงที่เป็นส่วนหนึ่งของจุดกำเนิดธุรกิจนี้อย่าง Sickchild

รูปแบบในการผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นเสียงและเทปของ ‘เสียงเพลงของโมไร’ นั้นมีตั้งแต่ทำอัลบั้มแบบทั่วไป ไปจนถึงอัลบั้มที่เป็นตำนานของศิลปินหลายๆ คน หรือแม้กระทั่งนำอัลบั้มที่ไม่ผลิตอีกแล้วมาผลิตใหม่จนยิ่งทวีคูณความแรร์เข้าไปอีก เช่น อัลบั้ม แค้นผีนรก ของ Paradox ที่นำกลับมาผลิตเป็นเทปอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี หรือแม้กระทั่งการนำผลงานของศิลปินโฟล์กอย่างอภิรมย์และเขียนไขและวานิชมาผลิตเป็นเทป กลายเป็นของสะสมหายากสำหรับแฟนเพลงไปโดยปริยาย

แต่กว่าจะปรากฏผลงานทั้งหมดนี้ การเดินทางของ ‘เสียงเพลงของโมไร’ เป็นยังไงบ้าง

โอ๊ตเล่าให้เราฟังผ่านบทเพลงชีวิตที่เริ่มต้นบรรเลงในบรรทัดต่อจากนี้

Intro

ในยุคสมัยที่การฟังเพลงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบาย บริการสตรีมมิงเพลงมีหลายๆ เจ้าเป็นผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็น Apple Music, Spotify, Joox หรือ TIDAL แต่ในอีกฟากหนึ่งก็ยังมีกลุ่มคนที่ชอบฟังเพลงด้วยวิธีการแบบเก่าเพื่อเพิ่มอรรถรส อารมณ์ และความรู้สึก

และโอ๊ต หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังเพจ ‘อัลเทอร์เนทีฟไทย: ยุครุ่งเรือง’ และเจ้าของ ‘เสียงเพลงของโมไร’ คือหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น

“เราชอบฟังเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเริ่มฟังจากรูปแบบนี้แหละ เพราะเป็นคนที่อยู่ไม่ค่อยนิ่ง การฟังเพลงจากแผ่นเสียงเลยช่วยทำให้เรานิ่งขึ้น มีสมาธิขึ้น เราโตมาแบบนั้น และมันทำให้เวลาฟังเพลง เราจะอยากหยิบบุ๊กเล็ตมาดูว่าใครแต่งคำร้องและทำนองโดยปริยาย หรืออย่างการเห็นอารมณ์จากปก สำหรับเรา มันสื่อไปถึงอารมณ์เพลงด้วย เราได้จินตนาการตามความคิดของเรา มันส่งผลจนถึงทุกวันนี้ที่บางทีถ้าเราเหนื่อย แค่เรามาหยิบปกเหล่านี้ขึ้นมาดูแล้วเปิดเพลง ความเหนื่อยนั้นหายไปเฉยเลย จากที่นั่งฟังก็ลุกขึ้นมาขยับได้ ของพวกนี้มีเสน่ห์ในตัว” 

“แล้วจากความชอบเปลี่ยนมาเป็นอาชีพได้ยังไง” เราถามถึงจุดเริ่มต้นของ ‘เสียงเพลงของโมไร’ 

“เราเริ่มต้นทำแผ่นเสียงมาตั้งแต่ปี 2017 เริ่มผลิตด้วยตัวเอง การทำแผ่นเสียงตอนนั้นเป็นแค่งานอดิเรก วันธรรมดาเราเป็นพนักงานบริษัท เข้าออฟฟิศปกติ แต่พอเสาร์-อาทิตย์เราจะสะพายกระเป๋าใบหนึ่ง มีแผ่นเสียงที่เราผลิตเองไปเสนอขายตามร้านขายแผ่นเสียงต่างๆ จนตอนหลังเรารู้สึกว่าอยากทำสิ่งที่ชอบเป็นอาชีพมากกว่า 

“ตอนเราเป็นพนักงานประจำ เราแทบไม่มีความสุข ตั้งคำถามกับตัวเองตลอด ตื่นแต่เช้าขับรถไปออฟฟิศสองชั่วโมง กลับบ้านอีกสองชั่วโมง ถ้าเราออกมาทำอะไรเป็นของตัวเองจะดีกว่าไหม ตอนตัดสินใจจะออกจากบริษัทที่บ้านก็ไม่เห็นด้วย พ่อกับแม่คัดค้านหนัก คุยอยู่นานเหมือนกันกว่าพวกเขาจะเข้าใจ สุดท้ายก็ตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร”

โอ๊ตเล่าย้อนให้เราฟังว่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางอาชีพธุรกิจขายแผ่นเสียงนั้นต่อยอดมาจากความชอบส่วนตัวที่มีต่อวง ‘Sickchild’ ความสนใจและความรักที่มีต่อวงดนตรีนี้ของเขาเป็นเหมือนประตูเปิดโลกและได้นำพาเขาเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตอย่างเต็มตัว

“เราเริ่มสนใจอยากทำ เพราะเราคิดว่าไม่มีศิลปินยุคอัลเทอร์เนทีฟของไทยที่เราชอบคนไหนออกแผ่นเสียงอีกแล้ว มีแค่วงพราว, อรอรีย์, สี่เต่าเธอ แค่สามวง ณ ตอนนั้น ดังนั้นถ้าอยากให้มีก็ต้องทำเอง ยิ่งตอนหลังได้มีโอกาสรู้จักกับพี่โอ วง Sickchild ผ่านรุ่นพี่อีก แผ่นเสียงแผ่นแรกที่ได้ทำเลยเป็นของวง Sickchild ที่เราเคารพก่อนเลย ซึ่งจากการที่เรารู้จักเรื่องราวของพวกเขาอยู่แล้ว เราก็เอาเรื่องราวเหล่านั้นมานำเสนอผ่านแผ่นเสียงได้ง่าย 

“ยิ่งมีเรื่องราว ผลงานชิ้นแรกนี้เลยยิ่งมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเรา”

Verse & Pre-Chorus

คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะบอกว่าแผ่นเสียงและเทปคาสเซตกำลังกลับมาเป็นที่นิยมในยุคนี้

ปัจจุบันศิลปินทั้งในไทยและต่างประเทศต่างนิยมออกอัลบั้มในฟอร์แมตนี้กันมากขึ้น แม้เครื่องเล่นอาจหายาก แต่จุดประสงค์ของแฟนเพลงที่ซื้อนั้นแตกต่างกันไป บางคนซื้อเพื่อสะสมหรือบางคนก็ซื้อเพื่อต้องการฟังเพลงคุณภาพเสียงระดับสูง หลายปัจจัยที่ประกอบรวมกันนี้ทำให้แผ่นเสียงและเทปคาสเซตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“เราคิดว่าทุกอย่างมีเวลาหวนคืนนะ” โอ๊ตเริ่มเล่าความคิดของเขาให้เราฟัง

“ถ้าลองสังเกต ทุกอย่างมีอายุในตัวและส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 7 ปี พอหมดไปก็วนกลับมาใหม่ เช่นเด็กรุ่นใหม่บางคนอาจไม่เคยสัมผัสกับเทปคาสเซตในยุคคุณพ่อ แต่พอเขาได้สัมผัสม้วนเทปที่เป็นเพลงที่เขาฟัง เราเชื่อว่าเขาจะยิ่งสนใจมันมากขึ้นจนนำมันกลับมาใหม่

“หรืออย่างวงดนตรียุคใหม่อย่าง The 1975 หรือ Cigarettes After Sex แผ่นเสียงและเทปคาสเซตของเขาขายได้กระจายเลย นั่นเพราะแฟนคลับที่ติดตาม พอเขาเห็นสิ่งนี้เขาก็จะตามไปฟังและทำความรู้จัก บวกกับช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แฟนเพลงก็ยิ่งหาซื้อได้ง่ายขึ้นอีก”

“ต่างกับเวลาคุณซื้อไหม”

“เราซื้อเพื่อรำลึกอดีต เพราะเราโตมากับคาสเซต ยังจำได้เลยว่าตอนเด็กเคยแอบขโมยตังค์แม่ไปซื้อเทปฝันดี-ฝันเด่น เราชอบเทปมากเป็นทุนเดิมและมีความหลังเกี่ยวกับเทปเป็นพิเศษ”

และความหลงใหลของโอ๊ตนี้เองที่นำพาให้เขาเริ่มศึกษาและสร้าง ‘เสียงเพลงของโมไร’ ให้เติบโตยิ่งขึ้นจนทำเป็น ‘งานหลัก’ ได้ในตอนนี้

“ปัจจุบันเราทำงานกับโรงงานที่ต่างประเทศ เพราะที่เมืองไทยไม่มีโรงงานผลิตเทป หรืออาจหลงเหลืออยู่บ้างแต่วัสดุอุปกรณ์ในการผลิตไม่พร้อมเท่าต่างประเทศอยู่ดี หรือแม้กระทั่งคนทำ เขาอาจไม่ได้มีความรู้หรือความชำนาญมากเหมือนคนยุคเก่า ดังนั้นทางเลือกของเราคือผลิตที่โรงงานต่างประเทศเพราะมีอะไรให้เราเลือกเยอะกว่า

“ส่วนขั้นตอนการทำงาน ทางที่ดีคือควรมีการ mastering ที่เฉพาะเจาะจงก่อนเพราะไฟล์ที่ใช้ในการมิกซ์จะมีความต่างกันออกไป เช่น master file ที่ใช้แผ่นเสียง ก็ต้องถูก mastering ให้เหมาะกับแผ่นเสียง เทปคาสเซตก็ต้องถูก mastering ให้เหมาะกับเทปคาสเซต หลังจากนั้นเราจะประสานงานกับโรงงานที่เมืองนอก เจรจากันให้เรียบร้อย ทั้งไฟล์ อาร์ตเวิร์ก ไปจนถึงการบาลานซ์เพลง หน้า A-B ต้องดีและเหมาะสม ไม่มีเดดแอร์ เรียกได้ว่าแทบประกบติดกับเมืองนอก ยกหูคุยกันเพื่อป้องกันความผิดพลาดให้มากที่สุด เราต้องดูรายละเอียดทั้งหมดนี้ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนขาย

“ในกรณีที่เราจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ทุกอย่างถูกต้องทั้งหมด การทำแผ่นเสียง 300 แผ่นจะเท่าทุนตอนขายได้ประมาณ 230-250 แผ่น ดังนั้นสำหรับเรื่องราคาและมูลค่าเป็นอะไรที่พูดยากเหมือนกัน ตั้งแต่ที่เราทำมา มีทั้งราคาแผ่นที่ขึ้นสูงมาก บางอัลบั้ม 30,000-40,000 บาทก็มี แต่พอถึงวันหนึ่ง พอคนเบื่อราคาจะลงมาเอง สิ่งเหล่านี้แปรผันไปเรื่อย คาดเดายาก”

“พอเอาความชอบมาเป็นธุรกิจ คุณลำบากใจบ้างหรือเปล่า” เราแย้งเพื่อให้โอ๊ตคิดสรุปความ

“เราว่าจะขายก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ในแง่หนึ่งเราก็ได้เก็บ เวลาหยิบมาดูก็เป็นความภาคภูมิใจที่มีเรื่องราว กว่าจะได้มา นี่คือคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้ และยิ่งการทำ ‘เสียงเพลงของโมไร’ ไม่ได้ตอบโจทย์เราแค่เพียงคนเดียว มันซัพพอร์ตคนเยอะแยะเลย ทั้งในทีมเราเองรวมถึงร้านค้าที่ได้กำไร ดังนั้น 4 ปีที่ผ่านมา จากการทำแผ่นเสียงมาแล้ว 23 อัลบั้มกับเทป 40 อัลบั้มรวมกว่า 45,000 ตลับ เราว่าตัวเองได้เห็นอะไรต่างๆ ที่กว้างขึ้นมากเลย”

Chorus

หากพูดถึงการฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซต ในแง่ดี สิ่งที่หลายคนมักจะนึกถึงก่อนคุณภาพของเสียงที่มีความคมชัดที่แตกต่างอย่างชัดเจน แต่ในแง่ตรงกันข้าม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในยุคนี้คือความยุ่งยากในการฟัง 

เครื่องเสียงชิ้นยักษ์หรือลำโพงคุณภาพที่มาพร้อมกับราคาระดับกลางไปถึงสูงทำให้หลายคนคิดว่า การฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซตเป็นเรื่องที่ไกลตัวและดูจะจับต้องยากเกินไป

กับเรื่องนี้ โอ๊ตได้แนะนำผ่านเราไว้เหมือนกัน

“ทุกวันนี้มีให้หาซื้อเครื่องได้ง่ายขึ้น หลักร้อยก็มีแล้ว มือสองมีขายเยอะแยะเลย เราว่าค่อยๆ เริ่มไปได้ เพราะอย่างช่วงแรกที่เริ่มฟังเราซื้อของมือสองทุกอย่างเลย ลำโพงมือสอง turntable มือสอง หัวเข็มยังใช้มือสองเลย

“ในความเป็นจริง งบแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเริ่มแพงกว่าเรา บางคนอาจจะเริ่มต้นหลักพันนิดๆ ค่อยๆ พัฒนาไป ดูก่อนว่าชอบหรือไม่ชอบ อย่าไปซื้อทีแพงๆ แล้วมารู้ตัวตอนหลังว่าไม่ได้ชอบสิ่งเหล่านี้เลย”

Outro

“คุณคิดว่าจะทำสิ่งนี้ไปได้ไกลถึงขนาดไหน เพราะถ้าว่ากันตามตรง จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้ก็เหมือนจะหายไปตามกาลเวลาแล้ว” เราถามคำถามสุดท้ายให้เขาสรุปความ

โอ๊ตผู้นั่งอยู่ท่ามกลางความฝันของตัวเองตอบเราพร้อมกับเสียงดนตรีที่คลอเป็นฉากหลัง

“เราอยากทำไปเรื่อยๆ เท่าที่ยังทำได้ เพราะถ้าคิดกันจริงๆ จากตอนแรกที่เราทำเทปขายอัลบั้มละ 100 ม้วน, 200 ม้วน, 300 ม้วน ตอนนี้มันไต่ระดับไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงขั้น 3,000-4,000 ม้วนต่ออัลบั้มแล้ว ยิ่งทุกวันนี้ราคาก็ดาวน์ลงมาจนเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราก็อยากพยายามทำให้อยู่ในระนาบทั้งคุณภาพและราคาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อขอบคุณทุกคนที่มั่นใจในคุณภาพงานของเรา 

“หรือต่อให้ขาดทุน เราก็เชื่อว่าสิ่งนี้จะไปต่อได้ เพราะวันหนึ่งเดี๋ยวก็มีคนกลับมาตามหาเอง”

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน