“เราอยากทำเพลงของเราให้มีหัวใจ” การกลับมาซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองของ ‘มอร์ วสุพล’

Highlights

  • มอร์ วสุพล คือนักร้องนำวง Ten To Twelve วงอินดี้ป๊อปร็อกในยุค 2010 ที่มีเพลงดังอย่าง ภาวนา ชิด เบลอ ยิ่งเบื่อยิ่งรัก​ ฯลฯ
  • วันนี้มอร์เปลี่ยนบทบาทเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม Morvasu หนุ่มมาดเซอร์คนนี้บอกเราว่า ไม่เคยซื่อสัตย์กับตัวเองเท่านี้มาก่อน
  • ซิงเกิลใหม่อย่าง Melbourne คือเพลงที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าการนั่งเฉยๆ​ ที่ชายหาดช่างเป็นความรู้สึกที่ดีเอามากๆ​

บทเรียนจากเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางการเติบโตของแต่ละคน ล้วนเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของคำตอบที่ว่า ‘เราเหมาะสมกับเส้นทางนั้นจริงๆ หรือเปล่า’ บางบทเรียนอาจให้คำตอบที่ชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง แต่อย่างน้อยประสบการณ์ดี-ร้ายเหล่านั้นก็ทำให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

แต่กับบางคน อาจหมายถึงการกลับไปเจอตัวตนเดิมของตัวเองที่เผลอทำหล่นหายในกาลเวลาที่ผ่าน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 วงอินดี้ป๊อปร็อกอย่าง Ten To Twelve ได้ถือกำเนิดขึ้นในฐานะวงที่มีลวดลายทางดนตรีน่าจับตา ด้วยท่วงทำนองที่สนุกและเนื้อหาของบทเพลงที่มีความซนของวัยรุ่นไฟแรง รวมทั้งน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของ มอร์–วสุพล เกรียงประภากิจ นักร้องนำที่หลายคนจดจำเจ้าตัวในคาแร็กเตอร์ชายหนุ่มมาดเซอร์

เรื่องที่แฟนๆ รู้กันดีคือช่วงชีวิตวัยหนุ่มของมอร์ นอกจากแวดวงดนตรีอินดี้แล้วเจ้าตัวยังวนเวียนอยู่ในแวดวงของคนทำหนังอีกด้วย มอร์เริ่มต้นอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับในวัย 22 และวันนี้มอร์เติบโตเป็นผู้กำกับเต็มตัว ทำทั้งมิวสิกวิดีโอให้เพื่อนนักดนตรีในวงการ หนังโฆษณา และหนังสั้น เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่ชายหนุ่มตรงหน้าเราคนนี้โลดแล่นอยู่ในโลกทั้งสองใบอย่างไม่มีทีท่าว่าจะวางมือ

ทว่ากาลเวลาผ่านไป, ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

การห่างหายจากงานเพลงกว่าสี่ปีของวงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นในยุคหนึ่งคือสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง สมาชิกวง Ten To Twelve ตัดสินใจร่วมกันว่าอยากขอพักเบรกจากงานเพลงอย่างไม่มีกำหนด

วันนี้มอร์เลือกที่จะกลับมาทำตามหัวใจของตัวเองในฐานะศิลปินเดี่ยวนามว่า ‘Morvasu’

เส้นทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร มาฟังเจ้าตัวเล่าพร้อมกันดีกว่า

จำได้ไหมว่าตัวเองหลงใหลดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะมาจากตอนเด็กๆ แม่ชอบเปิดเพลง The Beatles ให้ฟังเวลานั่งรถ พวก Elvis Presley หรือเพลงคลาสสิกทั้งหลายอย่าง Leaving On A Jet Plane หรือ Country Roads แต่ถ้าอยากทำเพลงจริงๆ คือช่วง ม.5 ไปแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ที่อเมริกา เพื่อนที่นั่นมีอิทธิพลกับเรา เขาช่วยสอนกีตาร์เรา

เริ่มหัดเล่นกีตาร์แล้วก็รวมวงกับญาติที่อยู่ที่โน่น การรวมวงที่นั่นเป็นเรื่องปกติมากเหมือนชวนกันไปเตะบอล รวมวงแล้วทำเพลงตัวเอง เราเรียนรู้เรื่องการแต่งเพลงจากที่นั่น ที่อเมริกาเขาจะไม่ cover เพลงคนอื่นแต่จะเล่นเพลงตัวเอง ถึงแม้ว่าวงของเขาจะห่วยแค่ไหนแต่ก็ยังทำเพลงของตัวเองอยู่ดี เล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันแปลกจากที่นี่

นอกจากเรื่องดนตรียังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก นั่นคือการดูมิวสิกวิดีโอ อิทธิพลจากภาพและเพลง ภาพและเสียงในตอนนั้นส่งผลให้เราเป็นทั้งนักร้องและผู้กำกับในตอนนี้ ตอนนั้นเราดูเอ็มวีทั้งวันจน host dad เรียกเราว่า mr.MTV บ้าง MTV man บ้าง (หัวเราะ) เราดูทั้งวันจนรู้สึกว่าการทำเพลงและมิวสิกวิดีโอมันเจ๋งมาก

 

กระบวนการทำงานเพลงตอนที่ยังอยู่ในวงกับตอนเป็นศิลปินเดี่ยวแตกต่างกันยังไง 

ข้อดีของการทำงานกับวงคือมันเป็นงานกลุ่ม เราไม่ถนัดเลข มาฉันคิดให้ เราไม่ถนัดทำพาวเวอร์พอยต์ มาๆ เดี๋ยวเราทำให้ ทุกคนในกลุ่มจะช่วยกัน ส่วนศิลปินเดี่ยวเราต้องคุยกับตัวเองเยอะมาก ช่วงแรกจะเหวอๆ นิดหนึ่งเพราะไม่มีใครมาช่วยดูให้ สนุกกันคนละแบบ

 

คิดแบบนี้มาตั้งแต่แรกเลยไหม

จริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะโตมาในเวย์นี้ แต่ว่าเราเรียนรู้จากข้อเสียของตัวเอง เนื่องจากเราเป็นคนทำงานค่อนข้างหนัก ตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยสิ่งต่างๆ คนรอบๆ ตัว โลก อายุที่รันไป แล้วก็ตัวเราเอง เราไม่อยากโกหกตัวเองว่าเป็นคนแบบเพลง ชิด (เพลงจากอัลบั้มแรก) อยู่ ยอมรับว่าเมื่อก่อนก็เคยพยายามทำเพลงในรูปแบบที่อิงจากเพลงที่ดังมาแล้ว มันก็เวิร์กในระดับหนึ่งแต่มันไม่ได้พาเราไปข้างหน้า

เหตุผลในการเขียนเพลงในช่วงแรกๆ คืออะไร

เริ่มต้นแต่งเพราะอกหัก (หัวเราะ) มันแน่นอนอยู่แล้ว เราไม่ได้คิดว่าจะต้องแต่งยังไง เรื่องไหนที่เรารู้สึกเราก็คิดว่าคนอื่นน่าจะรู้สึก สมัยก่อนเคยคิดว่าต้องไปที่ไหนสักแห่งเพื่อเขียนเพลง ตอนหลังก็บันทึกเก็บๆ ไว้เพื่อให้พอจำได้ บางครั้งเราหาเพลงจะเขียน เปิดมาดูก็จะเจอความรู้สึกบางอย่างที่ตอนนี้เราลืมไปแล้ว แล้ววันหนึ่งมันจะออกมา เหมือนสะสมให้มันเกิดขึ้นในหัว เรื่องที่เกิดขึ้นกับเราหรือเรื่องที่คิดว่าเราน่าจะเข้าใจ

 

หมายถึงให้ตัวเองรู้สึกก่อนหรือเปล่า

ใช่ เราเป็นมนุษย์ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้ติสท์มากแต่ก็ไม่ได้แมสมาก แค่คิดว่าสิ่งที่เรารู้สึกน่าจะเชื่อมโยงกับคนบางคน อาจไม่ใช่ทุกคน เลยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก มนุษย์เราก็รัก โลภ โกรธ หลง

 

เรียกได้ว่าเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองมากขึ้นไหม

(นิ่งคิด) ก็เคยไม่ซื่อสัตย์มาก่อนครับ จนเรารู้สึกว่าต้องซื่อสัตย์กับตัวเองเสียที

คุณเป็นทั้งนักร้องและผู้กำกับในเวลาเดียวกัน ทั้งสองอาชีพนี้มันเอื้อกันยังไงบ้าง

การเป็นนักร้องทำให้เราได้ยินเสียงละเอียดขึ้น ซึ่งมันช่วยในเรื่องการเป็นผู้กำกับ เรารู้สึกว่าเสียงมีผลกับภาพ มีคนบอกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของหนังมีแต่เสียงไม่ใช่ภาพ พอรู้อย่างนี้เราเลยให้ความสำคัญกับเสียงในการทำโฆษณาเพราะว่ามันช่วยดึงอารมณ์ เช่น การอ่านเสียงโฆษณาส่วนใหญ่เราจะอ่านเอง เพราะไม่รู้จะถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างให้คนมาพูดได้ยังไง มันมีความละเอียดอ่อนบางอย่าง พูดคำนี้ ตอนนี้ ด้วยน้ำเสียงแบบนี้ ทำให้คนรู้สึกแบบนี้ เลยให้ความสำคัญมากๆ เหมือนที่ทุกคนให้ความสำคัญกับการร้องเพลง

อาชีพผู้กำกับทำให้เราได้ทดลองเรื่อยๆ ทั้งด้านภาพ เสียง​ และการเล่าเรื่อง เหมือนซ้อมปั่นจักรยานแล้วมาซ้อมวิ่ง อาจจะไม่ตรงมากแต่มันก็คือการออกกำลังกายเหมือนกัน

 

มอร์ในฐานะนักดนตรีกับมอร์ในฐานะผู้กำกับ ถือว่าเป็นคนๆ เดียวกันไหม

สมัยก่อนรู้สึกว่าไม่เหมือนกันเลย ตอนที่ทำงานเป็นผู้กำกับเราจะเป็นคนหัวร้อน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าการเป็นนักร้องกับผู้กำกับไม่ค่อยต่างกัน เหมือนตอนนี้เดินทางอยู่ใน sweet spot สำหรับเรานะ มันอาจจะไม่ดีก็ได้ (หัวเราะ) แต่รู้สึกว่ามันใกล้เคียงกัน

คนเป็นผู้กำกับจะต้องมีความ perfectionist ในระดับหนึ่ง คุณเป็นแบบนั้นไหม

ไม่มีเลย เรามีภาพไว้แต่ตั้งใจว่าอยากปรับเปลี่ยนทุกๆ ขั้นตอนอิงตามความเหมาะสม สำหรับผู้กำกับบางคนภาพในสตอรีบอร์ดกับภาพจริงๆ ตอนเซตต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เป๊ะ เราโคตรอยากกราบเลย พี่แม่งใจแข็งมาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นคนแม่นเท่าเขา สมมติไปดูโลเคชั่นเราก็เปลี่ยนแล้ว ตอนถ่ายเจออะไรตรงหน้าแล้วชอบเราก็หยิบไปไว้ในหนัง ตอนตัดเราก็ชอบรื้อ ชอบรื้อโฆษณาตัวเอง ช่วงมิกซ์เสียงเราก็เปลี่ยนอีก เหมือน adjust ไปเรื่อยๆ อยากให้หนังมันดีที่สุดในรูปแบบของมัน งานเพลงก็เหมือนกัน บางทีรู้สึกว่าท่อนนี้แม่งเจ๋ง เปลี่ยนอย่างนี้ก็ได้ เราหมุนไปได้เรื่อยๆ

การเป็นผู้กำกับที่ตั้งใจหรือเป๊ะกับงานมากๆ มันจะทำให้เราได้งานที่ดีออกมาเสมอ แต่กับสายตาคนทั่วไปเขาอาจจะมองว่าไม่ค่อยน่ารัก แต่ว่าเพลงไม่ได้เลย สมมติเราเครียด เราร้องเพลงไม่ได้ ทางวิทยาศาสตร์คือกล้ามเนื้อบีบกันแล้วทำให้ร้องเพลงไม่ได้ ร้องเพลงต้องมีความสุข ต้องตั้งใจแบบไม่ตั้งใจ

 

คุณนิยามตัวเองว่าเป็นผู้กำกับหรือนักแต่งเพลง

ความจริงเรามีคำตอบจะตอบแต่อาจจะดูน่าหมั่นไส้หน่อย เป็นอาร์ทิสต์ครับ (หัวเราะ) มีคำอธิบายนะเพื่อไม่ให้น่าหมั่นไส้เกินไป เรารู้สึกว่างานโฆษณาที่เรามีโอกาสได้ทำ เราอยากให้มันไม่เป็นโฆษณาที่ฮาร์ดเซลอย่างชัดเจน เหมือนต้องมีความบันเทิงบางอย่างกลับไปให้คนดู หรือมีเมสเสจซ่อนเร้นบางอย่าง หรือว่าปรับไอเดียให้มีแอตติจูดบางอย่าง อยากให้โฆษณามีหัวใจเหมือนเพลงที่เราทำ ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่มันเป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามอยู่

แล้วซิงเกิลล่าสุดอย่าง Melbourne คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

ได้มาจากไป road trip กับแฟนที่ Melbourne เราทำงานหนักมาก เหมือนชีวิตเราอยู่กับอนาคตตลอด ตอนนั้นตัดสินใจไม่รับงานไปทำระหว่างทาง ทริปนั้นไปหลายวันมาก มันทำให้เราได้อยู่กับปัจจุบัน ขับรถไปตามหาดช้าๆ หัดเล่นเซิร์ฟ นั่งเล่นริมหาด มันดีจังเลยว่ะ เราไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นมาก่อน เหมือนที่ผ่านมาเราพยายามตามหาอะไรบางอย่างมาตลอด จนกระทั่งรู้ว่าการได้ใช้เวลาแบบนั้นมันดีมากๆ

 

คุณเคยบอกว่าคุณใช้ชีวิตเป็น routine ที่เป๊ะมากๆ ตอนนี้ยังเป็นอยู่ไหม

ยังเป็นอยู่ แต่น้อยลงเพราะว่าทำงานน้อยลง ไม่ได้ทำตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน ช่วงนั้นที่ทำงานเยอะๆ ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดอะไรไม่ออกแล้ว ก็ต้องถอยออกมาบ้าง จุดที่ไม่ไหวคือจำได้ว่าเราทำงานชิ้นหนึ่ง ตอนนั้นกลับมาจากไหนไม่รู้แล้วต้องคิดงานให้ออกภายในคืนนั้น มันเหมือนเรารีดเค้นตัวเอง ตอนนั้นไม่ไหวแล้ว หลังจากทำงานนั้นเราคิดอะไรไม่ออกเลยประมาณสามเดือน เหมือนใช้ทุกอย่างที่เราประสบมาหมดแล้ว สามสิบปีแรกในชีวิตแม่งเกลี้ยงเลย

ช่วงนี้เราเลยพยายามลดงานตัวเองเรื่อยๆ หมายถึงว่าทำงานหนักนะ แต่ว่าจำนวนของชิ้นงานน้อยลง ไม่ใช่ว่าทำงานน้อยแล้วไม่ทำเลย พอรับงานน้อยลงเราก็โฟกัสกับมันมากขึ้น ละเอียดขึ้น

ปีที่แล้วเราเรียกมันว่า gap year คือทำงานน้อย คือทำแค่ 8-9 ชิ้น หารายได้ให้ตัวเองพออยู่ได้ แล้วก็รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบ้าง ไม่งั้นงานก็จะไม่ไปไหน  

เราเคยเห็นตัวเองในเวอร์ชั่นไม่น่ารัก เป็นเวอร์ชั่นขี้หงุดหงิดซึ่งมันไม่ค่อยดี เราก็มาเรียนรู้ว่าความว่างมันคือ privilege อย่างหนึ่ง สมัยก่อนเราถูกปลูกฝังมาว่าต้องทำงานเยอะ ยิ่งทำงานเยอะก็จะยิ่งเก่ง จะยิ่งเป็นคนเจ๋ง เมื่อถึงเวลาหนึ่งเราไม่ต้องเก่งขนาดนั้นก็ได้นี่ เป็นเราแบบนี้ก็มีความสุขนะ (พูดเสียงเบา)

มองกลับไปตัวเราตอนนั้นรู้สึกขอบคุณหรือดีใจกับตัวเองไหมที่ผ่านช่วงหนักๆ มา

พูดอย่างนี้โลกสวยหรือเปล่า จริงๆ แล้วผ่านอะไรมามันได้เรียนรู้บางอย่าง ถ้าเราไม่ทำงานหนักวันนั้น เราก็อาจไม่มีหน้าที่การงานอย่างวันนี้ก็เป็นได้ เพราะ 7-8 ปีแรกในการทำงานเป็นช่วงที่เราทำงานหนักมาก มันก็อาจช่วยให้เรามีที่ยืนตอนนี้

 

คุณมองเป้าหมายต่อไปยังไง

ไม่ได้คิดเลย หมายถึงมันต้องนิยามว่าความสำเร็จคืออะไร อย่างบางคนต้องมีคอนเสิร์ตที่อิมแพกต์ เราแม่งแค่เดินไปแอร์พอร์ตแล้วมีคนมาบอกว่า ‘เราชอบเพลงนายมาก’ เราคิดว่าสำเร็จละ มันแล้วแต่ ไม่ได้หมายความว่าคนคิดแบบนั้นผิดนะ แค่เราไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้มั้ง

เราแค่อยากทำเพลง ถ้ามีคนมาชอบแล้วมันจะพาเราไปถึงจุดไหน ไปไกลกว่านี้เราก็จะดีใจ ก็จะขอบคุณ ไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้เลย อาจเป็นเพราะเราไม่ต้องพึ่งเพลงอย่างเดียวมั้งเลยไม่เหมือนคนที่ต้องแบกสิ่งนี้สิ่งเดียว เราว่ามันไม่มีถูกมีผิด แต่ละคนก็มีทางของตัวเอง มีคนเคยพูดว่า ‘ยิ่งอยากทำเพลงให้ดังมันยิ่งไม่ดัง’ เหมือนถอดรูตสิ่งที่ทำมาประกบกัน ซึ่งมันไม่ค่อยมีหัวใจ ก็รู้สึกว่ามีเพลงหลายเพลงที่ไม่มีหัวใจแต่มันก็ดังเหมือนกันนะ แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรถูกต้อง เราก็คงอยากทำเพลงของเราให้มีหัวใจมั้ง แค่นั้นแหละ อย่างอื่นเราไม่รู้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone