เบื้องหลังการสร้างนิทรรศการพร้อมเอ็มวีครั้งแรกจากเพลงของ BOWKYLION โดยพล หุยประเสริฐ

Highlights

  • The Forest Exhibition คือนิทรรศการที่ยกป่ามาไว้ในฮอล Lido Connect ออกแบบโดยนักออกแบบคอนเสิร์ตอย่าง พล หุยประเสริฐ ที่หันมาจับทางงานศิลปะครั้งแรก และหยิบเอาเพลง เจ้าป่า ของ BOWKYLION มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้
  • ความพิเศษของงานนี้คือทุกพื้นที่ในนิทรรศการจะใช้ถ่ายทำเอ็มวีเพลง เจ้าป่า ซึ่งเป็นเพลงจากอัลบั้มแรกของโบกี้ โดยพลตีความเนื้อเพลงทั้งหมดออกมาเป็น 7 ฉากความรู้สึกด้วยตัวเอง พร้อมชวน บอล–นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ มาช่วยเหลือเรื่องการจัดดอกไม้ในงานนี้ด้วย
  • นิทรรศการ The Forest Exhibition จะจัดระหว่างวันที่ 10-20 กันยายน 2563 ที่ Lido Connect Hall 3 

‘ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่ง สิ่งที่เธอเผชิญช่างยิ่งใหญ่’ 

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง เจ้าป่า จากอัลบั้ม Lionheart ของ BOWKYLION หรือ โบกี้–พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ อาจเป็นบทสรุปของนิทรรศการ The Forest Exhibition ที่สร้างสรรค์โดย พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ตได้เป็นอย่างดี

ถ้าใครเป็นแฟนตัวยงของโบกี้ คงรู้ดีว่าเธอเป็นคนตั้งใจทำเพลงด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน หรือบางเพลงเธอก็มีส่วนร่วมในการทำเอ็มวีด้วย แต่สำหรับเพลงเปิดตัวอัลบั้มอย่างเจ้าป่า โบกี้ได้ชวนพลมาทำเอ็มวีผ่านการตีความหมายในแบบของพลเอง

“โบกี้อยากให้ทำเพราะบอกว่าเราเข้าใจโบกี้ดี ตอนแรกจะไม่ทำแล้วเพราะไม่เคยทำเอ็มวีมาก่อนแล้วกังวล โบกี้ก็บอกว่าทำเถอะ อยากให้ลอง เราเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอทำแบบที่เราอยากทำได้ไหม” 

เมื่อโบกี้โอเค เราจึงได้เห็นเธอยืนอยู่ท่ามกลางหมู่แมกไม้ในฉากที่พลออกแบบไว้ในเอ็มวีเพลงนี้

“แล้วก่อนหน้านี้เราเคยดูเอ็มวีศิลปินต่างประเทศ เห็นฉาก line sync เอ็มวีแล้วเขาลงทุนมากเลย คนออกแบบต้องคิดนานแน่ๆ กว่าจะเซตสิ่งนี้ขึ้นมาได้ แล้วจะให้มันหายไปหลังจากถ่ายเอ็มวีจบเหรอ ถ้าเกิดยังตั้งอยู่คนต้องบินไปดูแน่นอน มันเลยเกิดเป็นไอเดียว่าทำไมเราไม่ลองทำเป็นสิ่งนี้ดูล่ะ พอโบกี้ขอให้ทำเอ็มวี ก็เลยขอผูกไอเดียนี้ไปด้วยเลย”

นิทรรศการ The Forest Exhibition จึงมีจุดเริ่มต้นจากตรงนี้ และนั่นหมายความว่าถ้าหากเราก้าวเท้าเข้ามาในงานนี้เราจะได้อยู่ในฉากเดียวกันกับเอ็มวีเพลง เจ้าป่า  

เบื้องหลังการออกแบบป่าในวิธีของนักออกแบบคอนเสิร์ตอย่างพลจะเป็นยังไง เดินเข้าป่าแห่งความรู้สึกไปด้วยกันตอนนี้เลย

The Forest Exhibition

เมื่อนักออกแบบคอนเสิร์ตต้องออกแบบนิทรรศการ

แม้ว่าพลจะมีประสบการณ์ในเรื่องงานออกแบบคอนเสิร์ตให้กับศิลปินมากว่าสิบปี แต่เมื่อเป็นงานศิลปะ เขาออกตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ใช่งานถนัดมือของเขาเท่าไหร่ และยังเป็นงานแรกๆ ที่ทำให้เขาก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนบางอย่างของตัวเอง

“พอทำคอนเสิร์ตมาเป็นสิบปีบนความเข้าใจในตัวศิลปิน สุดท้ายเราถามตัวเองว่า พล แล้วมึงชอบอะไรวะ ถ้าเป็นศิลปินเองจริงๆ ชอบอะไร” เขาเริ่มต้นเล่า 

“มันเลยยากมากที่ต้องเริ่มทำงานนี้ เริ่มต้นไม่ค่อยถูก และไม่อยากไปดูงานตัวอย่างของคนอื่นๆ ด้วย เพราะว่าถ้าพูดกันจริงๆ สุดท้ายเราอาจจะเอาภาพจำอะไรบางอย่างของเขามาทำก็ได้ มันก็จะเหมือนการก๊อปกันอีก”

The Forest Exhibition

แต่เมื่องานนี้เขาต้องทำเอ็มวีให้โบกี้ด้วย เขาจึงเริ่มกระบวนการทุกอย่างด้วยการเอาเพลงเจ้าป่าของโบกี้มาฟัง แล้วค่อยๆ ตีความเนื้อหาเพลงไปเรื่อยๆ โดยตัดภาพเจ้าของเพลงออกไป เพื่อให้เพลงเป็นเนื้อเดียวกันกับความรู้สึกของเขา

“เราเอาเพลงนี้ไปร้องที่กระจกเลย มีคลิปด้วย เหมือนสะกดจิต พยายามเอาเนื้อเพลงมาให้ตัวเอง interpret ว่าเราฟังแล้วรู้สึกอะไร ตอนนั้นเรารู้สึกถึงคนที่ไม่มั่นใจ แล้วพยายามจะเล่าชีวิตตัวเองว่ามันเหนื่อยยังไง แล้วก็มาจบที่บทสรุปว่ามึงเก่ง มึงทำได้ ทำไมจะทำไม่ได้  มึงเป็นเจ้าป่าไอ้พล จะกลัวอะไร มันเป็นความรู้สึกนี้” 

The Forest Exhibition

เมื่อเพลงนี้เล่าความรู้สึกของคนคนหนึ่ง จึงเป็นไอเดียตั้งต้นให้เขาใส่รายละเอียดความเป็นตัวเองเข้าไปทีละน้อย อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องหยิน-หยางหรือกายเนื้อกับกายจิตที่อยู่ร่วมกัน

“เรามองว่าเพลง เจ้าป่า คือการบาลานซ์ร่างกายกับความรู้สึกไปพร้อมๆ กัน ถ้าฟังเนื้อเพลงเขาจะเขียนเลยว่าถ้าล้มลงเมื่ออ่อนล้าก็นอน หายเหนื่อยก็แค่ลุกขึ้นมาทำต่อไป พูดเรื่องความไม่ฝืนจนเกินไป ดังนั้นคอนเซปต์งานนี้จะเล่าถึงคนที่ผ่านอารมณ์หลายๆ อย่างจนมาถึงตอนจบ แล้วก็เข้าใจว่าจงบาลานซ์ตัวเอง”

“ทีนี้เรารู้ว่าโบกี้ชอบดอกไม้ เราก็อยากทำงานที่เกี่ยวกับคนและสิ่งของ มันเลยมารวมกันพอดี แล้วตั้งชื่อว่า The Forest เปรียบให้ป่าโดยรอบเป็นกายเนื้อแล้วห่อความรู้สึกต่างๆ เอาไว้ โดยชิ้นงานแต่ละชิ้นก็จะแทนความรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ แล้วใช้ดอกไม้มาเป็นวัสดุหลักในงานนี้”

The Forest Exhibition

Body and Soul กับ 7 ความรู้สึกในนิทรรศการและเพลง เจ้าป่า

การตีความเพลงเจ้าป่าของพลทำให้เขาวางไอเดียของนิทรรศการไว้ 7 ห้อง 7 ความรู้สึก โดยเขารีเสิร์ชชาร์ตความรู้สึกออกมาเพื่ออธิบายแต่ละเนื้อเพลงของโบกี้ จากนั้นจึงตีความความรู้สึกออกมาเป็นภาพ

“ตารางแสดงอารมณ์มีเยอะมาก ต่างประเทศแยกไว้ 8 แบบบ้าง 12 แบบบ้าง บางที่แยกไว้เป็นร้อย ตอนแรกเลือกได้ 12 แบบ แต่เราเลือกที่มันชัดเจนแล้วเอาไปร้องกับเพลง เจ้าป่า ได้ 7 อารมณ์ เพื่อให้อยู่ในกรอบของเพลงนี้”

“แล้วก็คิดว่าอยากให้ภาพของอารมณ์ออกมาเป็นรูปฟอร์ม โดยสเกตช์ออกมาว่าเวลาพูดถึงความรู้สึกนี้เรานึกถึงภาพอะไร เช่น ความสุขเราเห็นเป็นจุด ความเศร้าเป็นเส้นตรงๆ ที่กดทับ ความทรมานเห็นเป็นเส้นแตกๆ เราวัดจากความรู้สึกตัวเองล้วนๆ ไม่ได้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยามาเป็นฐานเลย”  

ระหว่างที่ออกแบบฟอร์มเหล่านี้ พลได้ติดต่อกับ บอล–นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ให้มาช่วยเรื่องจัดดอกไม้และให้คำปรึกษาเขาในการเลือกพันธุ์ไม้มาประกอบกับโครงสร้างงานเพื่อให้ได้อารมณ์ตามที่ต้องการ

“ตอนแรกสเกตช์ออกมาแล้วไม่มั่นใจเลยส่งให้บอลดู เขาเดินมาบอกว่าชอบไอเดียมากเลย นั่นทำให้เราเดินต่อได้”

หลังจากแปลความรู้สึกออกมาเป็นรูปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกดอกไม้มาประกอบร่างให้งานสมบูรณ์ บอลชวนพลเดินปากคลองตลาด 2 วันเพื่อดูดอกไม้ โดยมีโจทย์สำคัญคือจะไม่เลือกดอกไม้ตามภาพจำทั่วไปที่คนส่วนใหญ่รับรู้ และยึดตามความรู้สึกของพลเป็นหลัก

“บอลก็ไม่ชอบการแปะป้ายภาพจำดอกไม้เหมือนกัน แต่มันก็ไม่ง่ายเพราะเราโตขึ้นมากับภาพจำเหล่านั้นตั้งแต่เด็ก อย่างดอกทานตะวัน ก็อดคิดไม่ได้ว่ามันคือความสุข เราเลยพยายามใช้ฟอร์มที่ออกแบบเป็นตัวตั้ง เช่น ฟอร์มของความสุขกระจายออกไป หาดอกไม้ที่กลีบกระจายๆ สีเหลืองแบบเช้าวันใหม่ ซึ่งก็คือดอกทานตะวัน หรือความรู้สึกเติบโต เราเลือกดอกลิลลี่เพราะมีเส้นดอกพุ่งขึ้นฟ้า”

The Forest Exhibition

จุดสำคัญอีกอย่างในงานของพลคือการผสมผสานระหว่างวัสดุที่เป็นธรรมชาติและวัสดุที่ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของเขาที่อยากให้วัสดุเหล่านี้แทนความรู้ของกายและใจหรือแนวคิดหยิน-หยางแบบที่พลต้องการ

“อะไรที่เป็นส่วนของบอดี้อย่างภาพรวมห้องที่เป็นป่าเราใช้อะลูมิเนียมและกระดาษเข้ามาทำ ส่วนอะไรที่เป็นเรื่องของจิตใจเราจะใช้ของที่ออร์แกนิกอย่างดอกไม้ ดังนั้นดอกไม้จะเป็นของจริงทั้งหมด ใบไม้แห้งที่อยู่บนพื้นเราก็ไปกวาดมาจากสวนลุมนะ” พลเล่าอย่างติดตลก ก่อนจะพูดต่อ

“ทีนี้การใช้ดอกไม้สดทั้งหมดมันต้องคิดโครงสร้างของงาน เพราะจำเป็นต้องใส่โอเอซิสเข้าไปให้ดอกไม้อยู่ได้นานที่สุด มันเป็นงาน installation ด้วยการวางแผนงานก็ต้องรัดกุม ซึ่งเราก็ใช้วิธีการคือทดลองทำที่ออฟฟิศก่อน” 

The Forest Exhibition

เมื่อได้รูปร่างของความรู้สึกที่ประกอบไปด้วยดอกไม้มาแล้ว ส่วนต่อไปของงานคือภาพรวมการจัดวางทั้งหมด พลออกแบบให้แต่ละซีนความรู้สึกมีพื้นที่ให้คนเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย เพราะงานนี้ต้องใช้เป็นฉากในเอ็มวี การจัดวางจึงมีจุดสนใจเอาไว้ในแต่ละส่วน พร้อมแสงสีและเพลงประกอบที่เขาตัดสินใจไม่ใช้เพลงของโบกี้ แต่ออกแบบให้เป็นซาวด์ที่ช่วยทำให้คนดูรู้สึกไปถึงห้วงอารมณ์ของแต่ละฉากมากกว่า

“เราเอาเพลงเจ้าป่าเป็นตัวตั้งก็จริง แต่เราอยากได้กลิ่นของเพลงเท่านั้นเพื่อทำให้เป็นบรรยากาศป่าในมุมของเรา พอเราพูดเรื่องอารมณ์ด้วย เราเลยพยายามให้ซาวด์มีอารมณ์ต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งช่วงสงบ เศร้า โกรธ หรือ noise เพิ่มเข้ามาบ้าง แต่ไม่ให้รบกวนคนดูมาก ไม่อย่างนั้นเขาจะโฟกัสที่เพลงมากกว่าดูงานของเรา 

“แสงเราก็จะไม่ใส่เยอะจัด ให้มีคิวได้ว่าแต่ละช่วงจะเป็นไฟแบบไหน แต่ไม่รบกวนเวลาคนดูงานแล้วคิดตาม คือให้แสงช่วยเสริมกับอารมณ์และกลมกลืนไปกับงานพอ” 

The Forest Exhibition

เมื่อเดินดูรอบๆ งานเราจึงได้เห็น 7 อารมณ์ความรู้สึกที่เขาตีความออกมา โดยฉากแรกคือความสุข เป็นภาพจุดที่กระจายจากศูนย์กลาง มีดอกไม้ที่ทำให้รู้สึกเบ่งบาน เช่น ดอกทานตะวัน ฉากที่ 2 คือการเติบโต จะมีกราฟเส้นพุ่งขึ้นพร้อมดอกลิลลี่ เพื่อให้รู้สึกถึงการเติบโตที่เข้าใจทุกอย่างแล้ว

The Forest Exhibition

The Forest Exhibition

ส่วนที่ 3 คือความเศร้า พลมองเห็นภาพของคนเศร้าที่ยืนกลางสายฝนจึงเลือกเส้นที่หล่นลงมากดทับพร้อมดอกสแตติสที่มีหน้าแห้ง จากนั้นก้าวเข้าสู่ส่วนที่ 4 คือความเจ็บปวด ซึ่งมีเส้นแตกกระจายของกระจก และต้นไทรซึ่งเหมือนก้านไม้ที่ตายแล้วอยู่เบื้องหลัง

The Forest Exhibition

The Forest Exhibition

“พอมาถึงส่วนที่ 5 อารมณ์โกรธตัวเองมันยากนิดหนึ่ง เพราะความรู้สึกค่อนข้างคอนทราสต์กับดอกไม้ที่สื่อถึงความสดใส เบ่งบาน เราจึงใช้ฟอร์มเป็นกล่องสี่เหลี่ยมกักขังความโกรธตัวเองไว้ เพราะเราตีความอารมณ์โกรธนี้เป็นการทรมานตัวเองเหมือนจะระเบิด เลือกต้นมอนสเตอร่ามาใส่เพราะมีรูปร่างใบคล้ายๆ ไฟ แล้วน้ำรอบๆ ก็จะรีเฟลกซ์คนที่ติดอยู่ในกล่อง

The Forest Exhibition

The Forest Exhibition

“ส่วนที่ 6 จะเป็นความรู้สึกปลอบใจ ตามเนื้อเพลงที่บอกว่า ‘ไม่ต้องทรมานมาก ถ้าเหนื่อยก็หลับ ตื่นมาก็ลุกขึ้นมาทำงานใหม่’ เราก็เลือกว่าอยากให้มีดอกไม้หลายชนิด เลือกสีที่เป็นสีชมพูหรือสีสดใสเพื่อปลอบโยน แล้วก็ส่วนสุดท้ายจะเป็นกระจกที่จะถามว่าเราบาลานซ์ความรู้สึกพอหรือยัง” 

The Forest Exhibition

The Forest Exhibition

จะดีหรือไม่ดี ลงมือทำไปก่อน

เมื่อเทียบกับการออกแบบคอนเสิร์ต นี่อาจจะเป็นสนามทดลองใหม่ของพล เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คิดเอาไว้จะได้คำตอบที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะเป้าหมายในการสื่อสารและผลลัพธ์ที่ต้องการก็แตกต่างกัน และทำให้เทคนิคและวิธีการทำงานแตกต่างกันด้วย 

“ถ้าเป็นคอนเสิร์ตจะวางมาเลยว่าช่วงไหนเราอยากให้คนดูรู้สึกยังไง มันเหมือนต้องบังคับคนดูนิดๆ เราสามารถกำหนดได้ว่าปล่อยเดดแอร์ 5 นาที หรือดับไฟเข้าโซนสองเลย แต่งานอาร์ตเหมือนต้องเปิดประตูที่กว้างกว่า เราไปบังคับให้คนดูรู้สึกไม่ได้ มันเหมือนมีประตูที่ให้คนดูได้เข้ามาใส่ความคิดเขาลงไปด้วย

“เรารู้สึกว่ามันสนุก เพราะมันทำให้เราอยากรู้ว่าคนมาดูเขาคิดอะไร เข้าใจงานเราไหม หรือถ้าเข้าใจจะถึงตรงไหน อย่างในฉากความสุข เขาตีความมันออกมาแบบไหน ในงานเราจะเดินดูด้วยว่าใครเลือกมุมถ่ายภาพยังไง เพราะเขาอาจจะไม่เลือกถ่ายแบบที่เห็นในเอ็มวีก็ได้ เราอยากเห็นความคิดของคนที่เข้ามาดู”

The Forest Exhibition

The Forest Exhibition

แม้พลจะดูเข้าใจกระบวนการออกแบบที่แตกต่างกันระหว่างศิลปะและคอนเสิร์ตเป็นอย่างดี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การตัดสินใจทำงานนี้ออกมาง่าย เขาบอกว่าตัวเองต้องวนเวียนคิด ออกแบบ และรื้อความคิดตัวเองหลายรอบ เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำจะมีคำตอบที่ใช่หรือเปล่า

“รู้สึกกังวลมากเพราะทำไม่เป็น กดดันตัวเองมากว่ามันจะต้องออกมาดี แต่ก็ไม่รู้คำตอบว่าดีในการทำงานนี้คืออะไร พอคิดไปคิดมาก็บอกตัวเองว่า ช่างมันก่อน แต่จะต้องช่างมันแค่ไหนถึงจะพอล่ะ เราวนเวียนคิดอยู่อย่างนี้จนทำให้งานเดินช้ามาก มันมีคำถามที่ว่างานนี้ดีหรือเปล่าตลอดเวลา จนบอลมาบอกว่าถ้าพี่ไม่เคาะก็จะจัดดอกไม้ไม่ทันแล้วนะ เราเลยบอกว่า เออๆ งั้นเอาแบบที่คิดไว้ตอนแรกนี่แหละ ดังนั้นอาจจะบอกได้ว่าเวลามาช่วยตัดสินงานให้เรา” เขาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ 

“สุดท้ายเราได้รู้ว่าดีไม่ดีก็ทำไปก่อนแล้วถึงจะได้รู้คำตอบ การทำงานของเราเหมือนที่เราตีความเพลง เจ้าป่า ของโบกี้เลย เรากำลังเดินหลงป่า ตามหาแสง ไม่รู้ใช่คำตอบหรือเปล่า แต่ในที่สุดเราก็บอกตัวเองว่าใช่ไม่ใช่ก็วิ่งไปเหอะ มันทางออกหรือเปล่าไม่รู้ สุดท้ายเรากลับได้รู้ว่ามันไม่ต้องมีทางออกนะ จะวนอยู่ในงานอาร์ตกับดีไซน์แบบนี้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ทำงานวิ่งหาแสงใหม่ ดูซิจะเป็นยังไงต่อไป เราเดินถนนนี้แล้วจะเก่งและแกร่งขึ้นไหม” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย