Moonlight ความลับของสองเราในคืนเหงาที่มีดวงจันทร์เป็นพยาน

ในเดือนแห่งการส่งเสริมความเท่าเทียมและร่วมฉลองความหลากหลายทางเพศ จึงอยากหยิบยกภาพยนตร์ Moonlight (2016) ขึ้นมาพูดถึงกันสักหน่อย หนึ่งในภาพยนตร์ LGBTQ ร่วมสมัยที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเพศสภาพหรือเพศวิถีใดก็สามารถสัมผัสได้ถึงความเปล่าเปลี่ยว เคว้งคว้าง ของเด็กชายผิวดำ ไชรอน (ฉายาลิตเติ้ลหรือแบล็ก) ที่เกิดและเติบโตในย่านคนจนของไมอามี ต้องเผชิญชีวิตด้วยตัวเองอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เป็นหนังชายรักชายที่ไม่โฉ่งฉ่างหรือมีฉากร่วมรักเร้าร้อน เล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายตามช่วงเวลา แต่ก็ชวนรันทดใจ

Moonlight (2016) กำกับภาพยนตร์โดย แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins) ที่รับหน้าที่เขียนบทร่วมกับ 

ทาเรลล์ อัลวิน แม็กเครนีย์ (Tarell Alvin McCraney) เจ้าของบทละครต้นฉบับ นำแสดงโดยนักแสดงผิวดำทั้งหมดเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีอคาเดมี อวอร์ส ประกอบด้วย นาโอมี แฮร์ริส (Naomie Harris) ในบทแม่, อังเดร ฮอลแลนด์ (André Holland) ในบทเควินตอนโต, มาเฮอร์ชาลา อาลี (Mahershala Ali) ในบท ฮวน, (เจเนลล์ โมเน) Janelle Monáe ในบทแม่บุญธรรม, เทรเวนต์ โรดส์ (Trevante Rhodes) ในบท ไชรอนตอนโต, แอชตัน แซนเดอร์ส (Ashton Sanders) ในบท ไชรอนวัยรุ่น และ จาร์เรล เจอโรม (Jharrel Jerome) ในบทเควินวัยรุ่น 

ด้วยทุนสร้างอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอดรวมรายรับทั่วโลกอยู่ที่กว่า 65 ล้านดอลลาร์ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ สร้างชื่อให้กับสตูดิโออินดี้ A24 ให้เป็นที่รู้จักขึ้นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ เจนกินส์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้กำกับผิวดำคนแรกที่ได้รางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ จากสถาบันนักวิจารณ์แห่งชาติอเมริกา (National Board of Review) ไปครอง

ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์ดราม่าเรื่องราวของคนผิวดำจึงอาจไม่ใช่ทางที่จะทำเงินในตลาดคนไทยได้มากนัก แต่ถ้าบอกว่าใครที่ชอบแนวทางของผู้กำกับฮ่องกงขวัญใจชาวไทยอย่าง หว่อง กา ไว แล้วจะต้องชอบเรื่องนี้เช่นกัน อาจพอเห็นมู้ดอารมณ์และงานภาพที่ผู้กำกับ เจนกินส์ กล่าวว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากผู้กำกับคนดังไม่ว่าจะเป็นจากภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love (2000), Chunking Express (1994) และที่ขาดไม่ได้อย่างภาพยนตร์ต้นแบบความรักของชายรักชายฝั่งเอเชียอย่าง Happy Together (1997) ซึ่งผู้กำกับภาพของเรื่อง ‘เจมส์ แลกซ์ตัน’ (James Laxton) เปิดเผยว่าใช้เป็นแบบอย่างในการจัดแสงของภาพยนตร์

ฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ Moonlight (2016) จึงมีการเล่นกับสีและแสงที่ขับเน้นถึงความรุนแรงกดดันที่อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำของเด็กชาย ‘ไชรอน’ (แอชตัน แซนเดอร์ส) ในแต่ละช่วงวัย ด้วยความที่ถูกกดทับจากทั้งสภาพสังคมแวดล้อม การเป็นเด็กตัวเล็กผอมแห้งท่ามกลางเด็กผิวดำนักกีฬารอบตัว และความสับสนกับตัวตนภายในที่ไม่รู้จะระบายกับใคร ที่ยิ่งบีบให้เขาเจียมเนื้อเจียมตัว สงบปากสงบคำ จำนนกับสิ่งรุมเร้าที่มาจากครอบครัว โรงเรียน และสังคม

การที่เด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยถูกยอมรับและได้รับการแสดงความรักอย่างที่ควรจะได้มาตั้งแต่ยังเด็ก จึงต้องค้นหาสิ่งเหล่านั้นด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การมี ‘เควิน’ ที่เป็นเพื่อนสนิทและคนที่ทำให้เขาได้เป็นตัวเอง ช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันของทั้งคู่จึงมีมวลแห่งความเสน่หารักใคร่ที่เรารับรู้ได้โดยไม่ต้องเล่าด้วยฉากรักที่เปิดเผยให้เห็นเนื้อหนังมังสา มีแค่เพียงแสงจันทร์และหาดทรายที่สร้างบรรยากาศใกล้ชิดและเปิดเปลือยตัวตนของกันและกัน

อีกหนึ่งตัวละครที่มีอิทธิพลต่อ ไชรอน ไม่แพ้กันคือการได้มามาพบกับ ‘ฮวน’ ที่นำแสดงโดย มาเฮอร์ชาลา อาลี รับบทบาทเป็นดีลเลอร์ค้าขายผู้มีน้ำใจที่มาเปิดโลกทางความคิดและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับเขาที่ถูกรังแกจากแม่ของตัวเองและเพื่อนรอบตัว แต่ก็กลายเป็นว่าคนๆ เดียวกันนี้เองกลับมีส่วนทำให้ชีวิตเขาและแม่ต้องพังทลายเช่นกัน ความใจดีโอบอ้อมนี้ไม่ว่าจะมาจากความสำนึกผิดหรือความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อมนุษย์คนหนึ่งก็ตาม กลับช่วยให้ ไชรอน หยัดยืนต่อเสียงที่เขาไม่อยากได้ยิน 

ฉากที่ ไชรอน และ ฮวน เล่นน้ำในทะเลด้วยกัน เป็นหนึ่งในฉากน่าจดจำของเรื่อง เสมือนเป็นช่วงเวลาของการชำระล้างจิตใจให้กับ ไชรอน ได้เข้าสู่การค้นหาตัวตนที่เขาเองก็ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองอย่างแน่ชัดได้เปิดใจทำความเข้าใจตัวเอง

ความยาว 111 นาทีของภาพยนตร์ดูจะสั้นไปเพราะผู้ชมยังดื่มด่ำไปกับการติดตามชีวิตของ ไชรอน ที่กำลังเดินทางมาถึงจุดคลี่คลายกับเพื่อนสนิทในวัยเด็ก เควิน ที่โคจรมาเจอกันอีกครั้งในรูปลักษณ์ภายนอกและสถานะทางสังคมที่สลับขั้วกัน แต่ความรู้สึกเร่าร้อนภายในใจยังคงคุกรุ่นรอวันที่จะมีคนมาไขกุญแจนี้อีกครั้ง

หญิงแท้แบบเราที่ชมเรื่องนี้แม้เป็นครั้งที่สองแต่เราก็ยังอิ่มเอมกับวิธีการเล่าเรื่องที่นุ่มนวล แม้เนื้อหาจะชวนให้ดิ่งได้ในทุกช่วงชีวิตของตัวละครนำ การที่ผู้กำกับเลือกใช้ภาพคัตน้อยๆ ปล่อยเราได้ซึมซับกับความรู้สึกตัวละครได้อย่างไม่สะดุด ร้อยเรียงออกมาสวยงามและจับใจ แม้จะไม่บีบคั้นให้เสียน้ำตา แต่เราก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยให้ ลิตเติ้ล หรือ ไชรอนคนนี้ได้ค้นพบที่ทางของตัวเองและคนที่เข้าใจในตัวเขา เชื่อว่าถ้าได้ทิ้งช่วงไปอีกสักสามสี่ปีข้างหน้าเราก็ยังจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต่างจากเดิม

ใบประกาศยืนยันว่า Moonlight (2016) เป็นชื่อที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีอคาเดมี อวอร์ดส

เกร็ดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ 

  • นาโอมี แฮร์ริส ในบทแม่ ‘พอลลา’ เป็นบทบาทสมทบที่อยู่ในทั้งสามช่วงวัยของ (ตลอดระยะเวลา 15 ปี) ไชรอน แต่ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมดเพียง 3 วัน
  • คาแรกเตอร์ ไชรอน ทั้งสามช่วงวัย ไม่เคยเจอหน้ากันตลอดระยะเวลาการถ่ายทำ ทั้งนี้ผู้กำกับตั้งใจให้ทั้งสามคน อเล็กซ์ อาร์. ฮิบเบิร์ต (Alex R. Hibbert), แอชตัน แซนเดอร์ส และ เทรเวนต์ โรดส์ ได้ตีความบทนี้ในแบบของตัวเอง ซึ่งเขาก็ทำเช่นเดียวกับคาแรกเตอร์ เควิน ทั้งสามคนที่ต้องเติบโตไปพร้อมกับ ไชรอน ในเรื่อง
  • ในฉากสำคัญของเรื่องคาแรคเตอร์ ฮวน สอน ลิตเติ้ล (ไชรอน) ว่ายน้ำเป็นการสอนให้ อเล็กซ์ อาร์. ฮิบเบิร์ต นักแสดงที่รับบทนี้ว่ายน้ำจริงๆ เป็นครั้งแรก

ตัวอย่างภาพยนตร์ Moonlight (2016)

ช่องทางรับชม Moonlight (2016) ใน Netfilx 

https://www.netflix.com/th-en/title/80121348?source=35


ที่มา

https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/happy-together-hk-movie-1997/

https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/moonlight-movie/


เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา

AUTHOR