‘ในวัยที่สับสนและไร้เดียงสา การดูเรื่องนี้ทำให้เรากล้าเป็นตัวเอง’ 5 หนังและซีรีส์แนะนำจาก 5 ผู้กำกับ LGBTQ+

ในฐานะคนที่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ หนึ่งในเรื่องตลกร้ายที่สุดในวัยเด็กของเราคือการเห็นกลุ่มคนที่เหมือนเราในทีวีแล้วรู้สึกกระอักกระอ่วน

ถ้าไม่เป็นตัวตลกก็ติดโรคร้าย ไม่ก็ประสบชะตากรรมไม่สมหวังในความรักจนจบที่การตาย ภาพของพวกเขาเป็นอย่างนั้น

แทบทุกครั้งจะมีประโยคจากผู้ใหญ่คอยเตือนว่า ‘อย่าเลียนแบบ’

เราเติบโตมากับภาพในสื่อที่ลดทอนคุณค่าของกลุ่ม LGBTQ+ จนคิดว่าสิ่งที่เป็นคือเรื่องผิด ไม่แม้แต่จะเอะใจตั้งคำถามว่ามันผิดจริงไหม กว่าจะรู้ตัววัยเยาว์ก็ผ่านพ้นไปนานแล้ว

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มันคงดีเหมือนกันถ้ามีคนมาบอกเราว่า ภาพในสื่อเหล่านั้นคือการเหมารวมที่ไม่ได้นิยามสิ่งที่เราเป็นได้ทั้งหมด เราไม่จำเป็นต้องตลก ติดโรค หรือผิดหวังในความรัก เรามีสิทธิเลือกว่าจะมีรสนิยมแบบไหน มันมีความเป็นไปได้มากมายเกินกว่าที่เราจะนึกออก และจริงๆ แล้วยังมีสื่อบนโลกอีกมากมายที่ไม่ได้เล่าเรื่องชาวเราแบบภาพจำ เพียงแค่เรายังไม่เคยดูมันเท่านั้น

ในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ เราชวน 5 ผู้กำกับผู้นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ มาบอกเล่าความประทับใจในหนังและซีรีส์ที่เขาเคยดูในช่วงเวลาสับสน บางเรื่องส่งผลต่อตัวตนและการมองโลกของพวกเขา ในขณะที่บางเรื่องมีอิทธิพลต่อการสร้างงานใหม่เพื่อทลายภาพเดิมๆ ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในสื่อ

แต่เหนืออื่นใด เรื่องราวที่พวกเขาแบ่งปันทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ๆ และล้วนตอกย้ำว่าหากไม่ได้เสพเรื่องราวเหล่านี้ในวันนั้น เขาคงไม่ได้เป็นตัวเองแบบทุกวันนี้

LGBTQ+

แคลร์–จิรัศยา วงษ์สุทิน

กำกับ ONE YEAR 365 วันบ้านฉัน บ้านเธอ

แนะนำซีรีส์เรื่อง The L Word (2004-2009, 6 Seasons)

The L Word เป็นซีรีส์เกี่ยวกับกลุ่มเลสเบี้ยนในลอสแอนเจลิสที่เราเคยดูตอน ม.ปลาย ตั้งแต่เข้าโรงเรียนหญิงล้วน เรารู้สึกว่าตัวเองเริ่มชอบผู้หญิงก็เลยอยากดูคอนเทนต์ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเรา ซึ่งเวลานั้นเรื่องนี้แทบจะเป็นซีรีส์เรื่องเดียวที่พูดถึงเพศทางเลือกแบบเต็มๆ 

“ซีรีส์เรื่องนี้เกี่ยวกับกลุ่มเพื่อนคล้ายๆ Sex and the City แต่เป็นเวอร์ชั่นเลสเบี้ยน ความสนุกของมันคือตัวละครทุกตัวมีเสน่ห์ คาแร็กเตอร์ชัด บรรยากาศของแอลเอที่น่าตื่นตาตื่นใจ แล้วมันเล่าเรื่องมิตรภาพที่ดี ที่สำคัญมันเปิดโลกเรามาก เพราะไม่ได้เล่าแค่เรื่องเลสเบี้ยน แต่ความหลากหลายในเพศในเรื่องนั้นมันกว้างและไม่มีขีดจำกัด 

“ตอนเด็กๆ เราจะเห็นแต่ทอมดี้และเข้าใจว่าถ้าผู้หญิงชอบกันต้องมีคนหนึ่งแมน คนหนึ่งไม่แมน แต่ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่าความรักไม่จำเป็นต้องให้คนหนึ่งแมน แล้วอีกคนเป็นผู้หญิง ผู้หญิงทั้งคู่ก็รักกันได้ กะเทยรักผู้หญิงก็ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าสุดท้ายความรักก็เป็นแค่ความรู้สึกที่เรามีต่อใครอีกคนหนึ่ง เรื่องเพศไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เราก็เลยโตมาด้วยความที่ไม่เคยติดเรื่องอะไรแบบนี้เลย

whats-on-netflix.com

The L Word ยังส่งผลให้มุมมองด้านความสัมพันธ์ของเราเปลี่ยนไป เรารู้สึกว่าการที่จะรักใครไม่ได้มีกรอบ ไม่ได้คิดว่าชีวิตรักของตัวเองหรือใครก็ตามต้องเดินไปในเส้นทางแบบจีบกัน เป็นแฟนกัน มีลูก แต่งงาน เหมือนซีรีส์เรื่องนี้เปลี่ยนมุมมองเราไปตั้งแต่ได้ดู

“ด้านการทำงานก็เหมือนกัน เราคิดว่าสื่อมีผลมากในการสร้างค่านิยมบางอย่างต่อคนดู การดู The L Word ทำให้เราอยากทำคอนเทนต์ที่สอดแทรกเรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อให้คนรู้สึกว่ามันคือเรื่องธรรมดา อย่างใน ONE YEAR 365 วันบ้านฉัน บ้านเธอ เราก็พูดเรื่องคู่รักหญิง-หญิง เพราะอยากให้เด็กผู้หญิงดูแล้วรู้สึกว่ามันโอเคที่จะมีความรู้สึกนี้โดยที่ไม่ต้องดราม่าอะไรขนาดนั้น อยากให้พ่อแม่มาดูแล้วเห็นว่า โอเคนะที่ลูกมีแฟนเป็นผู้หญิง คบกันเหมือนผู้ชายคบผู้หญิงปกติ ทุกอย่างคือเรื่องปกติเลย”

LGBTQ+

โจโจ้–ทิชากร ภูเขาทอง

กำกับ GAYOK BANGKOK, 3 Will Be Free

แนะนำหนังเรื่อง Trick (1999)

Trick เป็นเรื่องของชายหนุ่มนักเขียนบทละครขี้อายคนหนึ่งที่ไปเที่ยวกลางคืน เขาพบหนุ่มอะโกโก้อีกคน ปิ๊งกันและพยายามหาที่เอากันในคืนนั้น แต่ทั้งคืนกลับต้องเจออุปสรรคมากมายที่ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับตัวเองและความสัมพันธ์ 

“เราดูเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัด ดูช่วงที่ยังเป็นวิดีโอ เรื่องนี้สำคัญกับเราในแง่ว่ามันเป็นหนัง LGBTQ+ แนวโรแมนติก-คอเมดี้เรื่องแรกที่ดู ก่อนหน้านั้นเราเคยดูหนังรอมคอมยุค 90s ที่ตัวหลักเป็นชาย-หญิง เวลาดูก็มักเอาตัวเองไปแทนตัวละครของ Meg Ryan หรือ Julia Roberts แต่อยู่ดีๆ มีหนังเรื่องหนึ่งที่เราสามารถแทนตัวเองลงไปได้เลย คือเป็นเกย์ เป็นเพศเรา มันทำให้เรารู้สึกว่า นี่ไง เราเห็นชีวิตเราที่สามารถโรแมนติกได้ 

imdb.com

“หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าเรื่องราวของเกย์สามารถเอามาเล่าในมุมมองแบบรอมคอม เพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดความแตกต่าง เราเอาตัวละครหลักที่เป็นตัวเอกออกมาแล้วแทนด้วย Sandra Bullock หรือเม็ก ไรอัน ก็ยังเป็นเรื่องเดิม และจริงๆ งานของ LGBTQ+ ไม่จำเป็นต้องเศร้าสลด สั่งสอน หรือพูดถึงสังคมขนาดนั้น ในมุมหนึ่งมันควรมีอะไรที่พาฝันได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยเห็นกัน

“มีอีกเรื่องที่ส่งผลให้เราอยากทำ GAYOK BANGKOK โดยตรงเลยคือ Weekend มันคล้ายๆ Trick ตรงที่ว่าผู้ชายสองคนมาเจอกันในช่วงสุดสัปดาห์และตกหลุมรักกันในช่วงนั้น คอนฟลิกต์ไม่ได้มีอะไรใหญ่โต ตัวละครตัวหนึ่งจะไปเรียนต่อ อีกตัวไม่เปิดเผยตัวตน เขาเลยใช้สุดสัปดาห์นี้เรียนรู้กัน มันเรื่อยๆ แต่กลายเป็นหนังที่เราอินกับมันมาก ถ้า Trick โดดเด่นเพราะมัน remind ชีวิตในวัยรุ่นของเรา Weekend ก็พูดกับเราในวัยที่โตขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องราวของเกย์ไม่จำเป็นต้องดราม่าหรือมีคอนฟลิกต์ต่างๆ มากมาย ก็แค่เรื่องราวของคนสองคนที่เจอกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน คุยกันเรื่องสังคม ศาสนา coming out แค่นั้นเลย”

LGBTQ+

นุชชี่–อนุชา บุญยวรรธนะ

กำกับ มะลิลา, อนธการ

แนะนำหนังเรื่อง Farewell My Concubine (1993) 

Farewell My Concubine เป็นเรื่องของนักแสดงอุปรากรจีนหรืองิ้วโบราณในปักกิ่ง ซึ่งการแสดงอุปรากรที่นั่นจะใช้ผู้ชายเล่นทั้งหมดคล้ายละครนอกของไทย ผู้ชายคู่พระ-นางก็ต้องอาศัยอยู่ด้วยกัน นางเอก (รับบทโดย Leslie Cheung) เล่นเป็นมเหสี ส่วนพระเอกเล่นเป็นแม่ทัพ เมื่อได้ใช้ชีวิตด้วยกันทั้งคู่ก็สนิทกันมาก พอเล่นไปนางเอกก็เกิดอินกับเรื่อง แยกศิลปะกับชีวิตจริงไม่ออกและตกหลุมรักพระเอกจริงๆ แต่พระเอกกลับไปได้เมียอยู่ในซ่องนางโลม เลยกลายเป็นรักสามเส้า

“ไม่ได้มีแต่เรื่องรัก แต่ Farewell My Concubine ยังเป็นหนังฟอร์มใหญ่ที่พูดถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมจีนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม คนดูจะได้เห็นงิ้วในช่วงรุ่งโรจน์จนถึงช่วงเสื่อมสลาย เพราะงิ้วถือเป็นวัฒนธรรมเก่า มีความเป็นศักดินา เมื่อเกิดการปฏิวัติก็ต้องถูกกำจัดออกไป 

mubi.com

“เราดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกช่วงมัธยมปลาย ในยุคนั้นถ้าเราเป็นกะเทยจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้ารักผู้ชายคนหนึ่งเราจะคบกับเขายังไง เพราะภาพที่มีในหัวตอนนั้นเป็นลักษณะว่ากะเทยต้องถูกผู้ชายทิ้ง ไม่มีรักจริง ไม่ถูกยอมรับ เราไม่เคยเห็นภาพที่สวยงามเลยจนกระทั่งได้มาดู Farewell My Concubine โอเค มันอาจจะไม่ได้สมหวัง จบด้วยโศกนาฏกรรม แต่มันก็เป็นโศกนาฏกรรมที่สวยงาม เปี่ยมศิลปะ ตัวละครมีความหยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเอง ถึงแม้ฉันจะไม่ได้ครองรักกับผู้ชายที่รัก แต่ฉันก็ได้แสดงเป็นมเหสีของเขา เป็นความสัมพันธ์ที่สวยงามที่พอจะเห็นได้ในยุคนั้น

“เหตุผลที่เราชอบไม่ใช่แค่มันมีเรื่องความรักของ LGBTQ+ เท่านั้น หนังยังฉายภาพชะตากรรมของคนที่ต้องอยู่ในสังคมที่มีความผันผวนเปลี่ยนผ่าน และแม้หนังจะมีความเป็นเมโลดราม่ายุคเก่า แต่โปรดักชั่นมันอลังการมาก ได้รางวัลปาล์มทองคำ ได้ชิงออสการ์ เรื่องคุณภาพไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว 

“หนังไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตการเป็น transgender ของเรา แต่ที่มีอิทธิพลแน่ๆ คือเรื่องของการงาน Farewell My Concubine เป็นหนังว่าด้วยศิลปะกับความสัมพันธ์ จะมีความแช่มช้อย วิจิตร ตัวละครในเรื่องก็ไม่ได้มีลักษณะแมนๆ ที่เป็นผู้ชายทั้งคู่ แต่คนหนึ่งจะมีความเป็นผู้ชายอยู่มาก ในขณะที่อีกคนสวย มีลักษณะของผู้หญิง ซึ่งเหมือนหนังที่ว่าด้วยบายศรีกับความสัมพันธ์ของคู่รัก LGBTQ+ อย่าง มะลิลา

LGBTQ+

เติ้ล–กิตติภัค ทองอ่วม

กำกับ ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค, ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์

แนะนำซีรีส์เรื่อง Queer as Folk (2000-2005, 5 Seasons) American-Canadian Version

“เรารู้จัก Queer as Folk จากคำแนะนำของเพื่อนเก้ง ตอนดูครั้งแรกเรายังเป็นตุ๊ดตอยตะนอยเด็ก ประสบการณ์น้อย ไม่ค่อยได้เข้าสังคมหรือมีไลฟ์สไตล์เกี่ยวข้องกับกลุ่มเกย์ ไม่เคยไปเที่ยวเฉพาะกลุ่ม การดูเรื่องนี้เลยสร้างความตะลึงพรึงเพริดให้เรามาก

“ซีรีส์เรื่องนี้รีเมกจากเวอร์ชั่นอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน เนื้อเรื่องว่าด้วยเรื่องของเพื่อน 4 คนที่คาแร็กเตอร์ต่างกันโดยสิ้นเชิง ความโดดเด่นคือมันพาคนดูไปสำรวจโลกของ LGBTQ+ ฝั่งตะวันตกที่มีพื้นที่สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ อารมณ์สีลมแต่ดาร์กกว่านั้น หลายซีนทำให้เราต้องอุทานว่า คุณพระคุณเจ้า ทำไมสังคมเขาถึงมีสีสันได้ขนาดนี้ และท่ามกลางฉากน่าตื่นตาตื่นใจ Queer as Folk ยังมีความดราม่าระหว่างทาง ทั้งเรื่องเพื่อน ความรัก ความสัมพันธ์ การตั้งคำถามกับความสำเร็จของเกย์ ซึ่งทำได้ถึงมาก

tvline.com

“พูดตามตรงซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีผลถึงขนาดเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนชีวิตของเราขนาดนั้น แต่พอได้ดูแล้วมันตอกย้ำสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดว่า สิ่งที่เราเป็นไม่ใช่เรื่องผิดปกติตรงไหน เราคือมนุษย์โลกคนหนึ่ง ก่อนหน้านั้นเราอาจยังคิดแบบนี้ไม่ได้เพราะคาแร็กเตอร์ LGBTQ+ ในสื่อไทยไม่ได้กลมรอบด้านและดูเป็นคนจริงๆ แบบเขา

Queer as Folk ยังส่งผลต่อ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ ของเราในแง่การเล่าเรื่องด้วยภาพที่แอบดึงบางฉากมาเป็น reference นั่นคือฉากในผับที่กล้องจะพุ่งเข้าหน้าตัวละครทีละคน ซึ่งตอนถ่ายเราจำไม่ได้หรอกว่าเคยดูฉากแบบนี้มาจากไหน แต่มานึกได้ทีหลังว่า อ๋อ มีแบบนี้ใน Queer as Folk นี่หว่า”

LGBTQ+

กอล์ฟ–ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

กำกับ แมลงรักในสวนหลังบ้าน, It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก 

แนะนำหนังเรื่อง Moonlight (2016)

“ปกติถ้าเราพูดถึงความรัก LGBTQ+ เราก็จะคิดถึงความรักโรแมนติกแนวเจ้าหญิง-เจ้าชาย เพราะเราเติบโตมากับเรื่องแบบนั้น แต่พอได้ดู Moonlight มันเปิดโลกเรามาก เพราะนอกจากจะพูดเรื่องความรักของเกย์ผิวดำ มันยังพูดถึงสังคมของคนระดับล่างและปัญหาครอบครัว 

“สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือการกำกับเพราะเนื้อเรื่องไม่ได้แปลกใหม่ แต่ผู้กำกับเลือกถ่ายทอดภาพชีวิตมนุษย์โดยใช้งานภาพ การแสดง ควบคุมทุกอย่างให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นหนังที่เกินคาด ไม่เคยคิดว่าความรักแมนๆ จะโรแมนติกได้ขนาดนั้น มันมีเสน่ห์ สมจริงแบบไม่รู้จะติอะไร เพราะสิ่งที่ผู้กำกับเลือกมันดีทุกอย่าง

shangay.com

Moonlight ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการทำหนัง ส่วนตัวมีโปรเจกต์ที่อยากเล่าเรื่อง LGBTQ+ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน ชื่อเรื่อง ‘สวรรค์ในอก’ เป็นโปรเจกต์ที่ได้ทุนจากคานส์ แต่พักไว้เพราะมาลง ส.ส. เสียก่อน เรื่องนี้ก็ได้ Moonlight เป็นแรงบันดาลใจในแง่ของการเล่าชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกสังคมบีบบังคับ ต้องต่อสู้กับความเชื่อของสังคม เชื้อชาติ สภาพเศรษฐกิจ แต่เขาก็ยังมีความรัก ความฝัน มีตัวของตัวเองอยู่

“สำหรับเรา การฉายภาพคนกลุ่มน้อยที่เป็นเพศหลากหลายสำคัญมากนะ นี่คือเหตุผลที่เราทำหนังแบบ แมลงรักในสวนหลังบ้าน เพราะอยากเล่าชีวิต LGBTQ+ ที่ไม่ใช่ในแบบที่สังคมสร้างภาพจำให้เกินมนุษย์ เล่าเรื่องพ่อที่เป็นกะเทย มีลูก ตั้งคำถามว่าการเลี้ยงลูกของกะเทยในฐานะพ่อเป็นยังไง เราต้องการให้ทุกคนเห็นถึงความลื่นไหลทางเพศ ขยายขอบเขตว่าคนเพศหลากหลายมันไม่ได้มีแบบเดียวตามสเตอริโอไทป์ เพราะฉะนั้นเราถึงเห็นความสำคัญของคาแร็กเตอร์ที่อาจไม่ได้นำเสนอในหนังที่เคยเห็นทั่วไป แต่นี่คือคนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่จริงในสังคม”

netflix.com

AUTHOR