คุยกับ ‘ฝน วรรษชล’ ผู้ป่วยไบโพลาร์ที่ใช้ความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยกัน

Highlights

  • ใครว่ามีแต่คนไม่ป่วยเท่านั้นที่จะให้กำลังใจคนป่วยได้ ฝน–วรรษชล ศิริจันทนันท์ เห็นต่างออกไป เพราะเธอคือผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ที่แม้จะยังไม่หายขาดก็ลุกขึ้นมาก่อตั้ง Moody Twenties เว็บไซต์ที่แบ่งปันประสบการณ์การรักษาและเทคนิคการรับมือกับอาการของโรคให้กับผู้ป่วยด้วยกัน
  • ฝนมองว่าเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง แต่ก็สามารถช่วยกันแบ่งเบาความทุกข์ในใจได้ ขอเพียงเห็นอกเห็นใจกันก็พอ

ในฐานะผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง ฉันพอจะไล่เรียงได้ว่า นับตั้งแต่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ มีขั้นตอนไหนบ้างที่ยากเย็นเหลือเกิน วรรษชล ศิริจันทนันท์

 หนึ่ง–ทำความเข้าใจว่าโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่เป็นได้หายได้ไม่ต่างจากความเจ็บป่วยอื่นๆ และสอง–บอกกล่าวให้คนใกล้ตัวเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไร

สังเกตว่าการไปพบจิตแพทย์ กินยา และรับการบำบัด ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ฉันลิสต์ออกมาว่ายาก แต่สิ่งที่ยากล้วนเป็นเรื่องการทำความเข้าใจ ทั้งการทำความเข้าใจตัวเอง และการทำให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา

ฉันหอบหิ้วประเด็นหนักอึ้งนี้มาคุยกับ ฝน–วรรษชล ศิริจันทนันท์ ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Moody Twenties เว็บไซต์ที่บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการรักษา รวมทั้งแบ่งปันเทคนิคการรับมืออาการที่เกิดขึ้นให้กับเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ 

ฝนนิยามตัวเองว่า ‘โชคดี’ ที่สามารถติ๊กช่อง ‘เข้าใจ’ ให้กับทั้งสองข้อที่ฉันลิสต์ออกมาได้ง่ายๆ เบื้องต้นเธอให้เครดิตคุณแม่ซึ่งเคยเป็นพยาบาลมาก่อน เมื่อเธอเริ่มมีอาการแปลกแปร่งครั้งแรกสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คุณแม่จึงพาไปหาหมอได้อย่างทันท่วงที

“เรามีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แต่พอตรวจแล้วพบว่าร่างกายปกติ หมอก็เลยส่งไปทางจิตเวช ปรากฏว่าเรามีอาการเครียดและกังวล ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางร่างกายแบบนั้น 

“มันคือความโชคดีของเราที่แม่เข้าใจว่ามีโรคจิตเวชอยู่ พอแม่เปิดกับหมอ เราก็เลยเปิดกับหมอ และมีทัศนคติที่อยากหาย ซึ่งเราว่าเป็นทัศนคติที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่อยากหายมันจะไม่หาย”

ฝนบอกว่าครั้งนั้นเธอเพียงมีอาการเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรค กระนั้นการไปหาหมอก็ทำให้เธอรู้ตัวเร็ว รักษาได้เร็ว รวมทั้งทำให้เธอมีความโชคดีอีกอย่างเพิ่มขึ้นในชีวิต นั่นคือการได้เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีเช่นนี้

เข้าใจครั้งหนึ่ง เข้าใจตลอดไป

เมื่อเริ่มมีอาการแปลกๆ ช่วงเรียนปริญญาตรี ฝนรู้ทันทีว่าเป็นเรื่องสุขภาพจิต และไม่ลังเลที่จะไปขอความช่วยเหลือจากแพทย์

“เรามีอาการร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล รู้สึกตัวเองไม่มีค่า จุดพีคคือเห็นภาพตัวเองโดดตึกวนซ้ำๆ อยู่ในหัว เลยตัดสินใจไปหาหมอด้วยทัศนคติเดิมคืออยากหาย หลังจากไปหาหมอครั้งแรกก็ใช้เวลาหลายเดือนเหมือนกันที่หมอทยอยสังเกตและให้ยา กว่าจะสรุปได้ว่าเราเป็นไบโพลาร์”

  ฝนไปหาหมอได้ 2-3 ครั้งก่อนจะตัดสินใจบอกคุณแม่ว่าป่วย แน่นอนว่าที่ไม่บอกตั้งแต่แรกไม่ใช่เพราะกลัวคุณแม่ไม่เข้าใจ แต่เป็นเพราะกลัวคุณแม่เป็นห่วงมากกว่า

“สรุปผลตอบรับจากคุณแม่เป็นยังไง”​ เราสงสัย

“ก็ไม่ยังไง” ฝนตอบเร็ว “เขาเป็นห่วงในระดับปานกลาง แต่แสดงออกว่ามันเป็นเรื่องปกติ มันเกิดขึ้นได้ เดี๋ยวก็ดีขึ้นนะ แล้วก็ไปหาหมอเป็นเพื่อน เป็นความโชคดีของเราอีกแล้วที่แม่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ตัวประหลาด เราเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง มีคำหนึ่งที่แม่จะพูดบ่อยๆ คือ ‘เกิดที่ไหน แก้ตรงนั้น เดี๋ยวก็หาย’ ดังนั้นสำหรับเรามันสำคัญมากๆ ที่คนดูแลควรนิ่ง ไม่ตื่นตระหนกไปกับคนป่วย

“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราเจอคือสิ่งที่ดีที่สุด และจริงๆ การที่ผู้ป่วยจะดีขึ้นได้ก็มีหลายๆ ปัจจัยรวมกัน แต่ความนิ่งของแม่ดีสำหรับเรา อีกทั้งจากประสบการณ์เราเคยเห็นคนดูแลตื่นตระหนกไปพร้อมกับคนป่วย ตื่นตระหนกในที่นี้มีทั้งแบบโอ๋มากเกินไป หรือแบบไม่กล้าช่วยเลยเพราะกลัวผิดพลาด เราว่าการปฏิบัติกับคนป่วยเหมือนคนทั่วไปจะช่วยได้มาก”

เธอนิ่งคิดก่อนเสริมว่า หากมองในภาพใหญ่ การที่ผู้คนไม่รู้วิธีดูแลหรือรับมือกับผู้ป่วย แปลว่าสังคมเรายังมีความรู้เรื่องสุขภาพจิตน้อยเกินไป 

และเป็นจุดนี้เองที่ Moody Twenties เข้ามามีบทบาทสำคัญ

แบ่งปันความเข้าใจให้ผู้อื่น

ในฐานะผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง ฉันเคยมีช่วงเวลาโดดเดี่ยวหลังจากตัดสินใจเปิดอกกับคนในครอบครัวแต่พวกเขาไม่เข้าใจ ฉันยิ่งไม่กล้าบอกเพื่อนฝูง ทางออกในตอนนั้นคือเก็บตัว ไม่พูดไม่จากับใคร

ในโมงยามแห่งความเปลี่ยวดาย และในวันเวลาที่สังคมเรายังพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตในวงแคบกว่านี้มากนัก ฉันเจอเว็บไซต์ Moody Twenties โดยบังเอิญ แม้อาการป่วยของฉันและเจ้าของเว็บไซต์จะเป็นคนละประเภท แต่แค่ได้รู้ว่ามีเพื่อนที่กำลังฝ่าฟันสถานการณ์แบบเดียวกันอยู่บนโลกใบนี้ เพื่อนที่ยืนยันว่าฉันไม่ใช่สัตว์ประหลาด เพื่อนที่ยืนยันว่าฉันจะหายดีได้ เพียงเท่านี้ใจก็อุ่นขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ฉันจึงดีใจที่มีโอกาสได้เจอกับฝน ผู้อธิบายจุดตั้งต้นของ Moody Twenties ให้ฟังอย่างตั้งใจ

“เรารักษาอยู่ 4 ปีกว่าอาการจะนิ่ง ระหว่างนั้นเราอาศัยหาข้อมูลตามแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ อาศัยเรียนรู้จากคนอื่นๆ ว่าเขาดูแลตัวเองยังไง หมอดูแลเราเรื่องยาและการพูดคุย ส่วนเราก็ดูแลตัวเองด้วยการหาเคล็ดลับจากเว็บบอร์ด ซึ่งเราอิงวิทยาศาสตร์มากๆ มันคือการแก้ปัญหาบนฐานของข้อมูล และฐานของความเข้าใจโรคโรคนี้”

เพราะเห็นประโยชน์ในประสบการณ์และเทคนิคที่ได้จากผู้ป่วยด้วยกัน แต่ยังไม่เห็นเนื้อหาเหล่านี้ในแบบฉบับภาษาไทย ฝนจึงเขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งเพื่อบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการรับมือกับโรคไบโพลาร์ของตัวเอง  

“ตอนแรกกะว่าจะเอาไปลงพันทิปเป็นแค่กระทู้เดียวยาวๆ แต่ตอนที่เขียนเสร็จเรารู้สึกว่ายังมีเรื่องจะพูดอีกเยอะมาก” เธอย้อนความ 

“บวกกับเราสนิทกับโน้ต (ปวเรศ วงศ์เพชรขาว–ผู้ร่วมก่อตั้ง Moody Twenties) ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โน้ตเขียนบล็อกเพื่อเก็บไว้อ่านส่วนตัว แต่มีคนเสิร์ชเจออยู่เรื่อยๆ เราเลยแลกเปลี่ยนกันว่า ลองเปิดเพจและทำเว็บไซต์ไหม ก็เลยเอาบทความชิ้นนั้นที่เราเขียนมาลงเป็นชิ้นแรกๆ จากนั้นก็เขียนมาเรื่อยๆ”

ฝนแจกแจงว่า คอนเซปต์ของ Moody Twenties คือ mental health and teenage sanity ดังนั้นแต่ละบทความจึงปราศจากโทนเสียงสอนสั่ง กลับกันบทความจะมีน้ำเสียงสบายๆ เหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง รวมถึงหัวข้อในเว็บไซต์ยังแตะถึงเรื่องสุขภาพจิตที่ดีในองค์รวม ไม่ใช่แค่การรักษาอาการป่วยเพียงอย่างเดียว

“เราอยากให้ทั้งคนที่ป่วยและคนทั่วไปมาอ่านแล้วรู้สึกว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ อาการป่วยทางจิตเวชก็เป็นเรื่องปกติ เป็นได้หายได้ ที่สำคัญสำหรับคนที่ป่วย เราอยากให้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีเพื่อน” 

“การมีเพื่อนสำคัญยังไง” ฉันโยนคำถาม ทั้งที่ในใจลึกๆ ก็รู้คำตอบ

“เราว่าลึกๆ คนจำนวนมากไม่อยากเป็นคนส่วนน้อย การรู้สึกว่ามีคนที่ป่วยแบบเราอีกสิบคน ร้อยคน พันคน ยังไงมันก็ดีกว่า 

“แต่ก็อย่างที่บอกว่า การที่ผู้ป่วยจะดีขึ้นได้มีหลายๆ ปัจจัยรวมกัน นอกจากรู้สึกมีเพื่อนแล้ว ยังไงคนป่วยก็ต้องไปหาหมอ กินยา ต้องมีทัศนคติที่อยากจะหาย ต้องเอาตัวออกจากสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ และจะดีถ้ามีครอบครัวที่เข้าใจ มันต้องพยายามทำให้ทุกอย่างไปด้วยกัน” 

ฝนย้ำความสำคัญของการไปหาหมอ เพราะตั้งแต่เธอเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา ก็มีคนเข้ามาปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตกับเธอเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จักกันในชีวิตจริง หรือคนที่ตามอ่านเนื้อหาใน Moody Twenties

“มีความเข้าใจผิดๆ อยู่ว่าทุกเคสต้องเหมือนกันและมีสูตรสำเร็จในการจะหาย ซึ่งมันไม่มี เรามักบอกทุกคนที่เข้ามาถามเสมอว่า เราทำได้แค่ให้ความรู้เบื้องต้นและแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว แต่เราวินิจฉัยไม่ได้ เราไม่ใช่หมอ คุณต้องไปหาหมอนะ” 

แม้ตัวฝนเองจะไม่เคยนับว่าแนะนำให้คนไปหาหมอมาแล้วกี่คน แต่ในฐานะที่ฉันและฝนมีคนรู้จักร่วมกันอยู่ประมาณหนึ่ง ฉันได้ยินอยู่เรื่อยๆ ว่าเธอมักอาสาพาเพื่อนที่เพิ่งพบว่ามีอาการผิดปกติไปหาหมอในครั้งแรกเพื่อความอุ่นใจ 

ไม่แน่ว่ามันอาจจะทำให้นึกถึงตอนที่แม่พาเธอไปหาหมอครั้งแรกก็ได้ 

ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ แต่ต้องเห็นอกเห็นใจ

ในวงเพื่อน ฝนเป็นคนที่เพื่อนมักจะมาหาเมื่อไม่สบายใจ เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ตอนที่เธอยังไม่หายขาดจากโรคไบโพลาร์ แต่เธอก็ไม่ได้คิดว่าการทำเช่นนี้จะเข้าข่าย ‘เตี้ยอุ้มค่อม’ แต่อย่างใด

“อย่างตอนที่ทำ Moody Twenties นั่นก็เพิ่งเข้าปีที่ 3 ของการรักษา เราเชื่อว่าไม่มีใครเพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเข้มแข็งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครสามารถหายป่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่มีเศษอาการเหลืออยู่เลย เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่า ถ้าพอมีกำลัง เราก็จะใช้กำลังส่วนนั้นสนับสนุนคนอื่น”

ซึ่งสำหรับฝน การซัพพอร์ตที่ง่ายที่สุดและสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญใดๆ คือการรับฟัง 

“เราจะเริ่มต้นจากการฟัง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ปัญหาไม่เหมือนกัน ระดับอาการไม่เหมือนกัน ให้เขาได้ระบายความรู้สึกออกมา ซึ่งพอเขาได้เรียบเรียงความคิดออกมาเป็นคำพูด เขาจะนิ่งขึ้น แล้วเราค่อยพูดปลอบใจอย่างจริงใจ และคิดว่าจะทำยังไงต่อ”

ฝนพูดเหมือนง่าย แต่ฉันคิดว่า ‘การทำยังไงต่อ’ นี่ยากมากๆ เพราะมันต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องราวของแต่ละคนในระดับลึกซึ้งมากพอ 

“ไม่จำเป็นนะ” เธอเห็นต่าง  

“ลึกๆ เราเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์ การจะเข้าใจลึกซึ้ง เข้าใจทุกเม็ด มันยากมาก เพราะเราไม่ได้มีประสบการณ์เดียวกัน

“เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าปมในชีวิตเขาคืออะไร เราไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าปมวัยเด็กของเขาคืออะไรที่ทำให้เขาโตขึ้นมาแบบนี้ แต่เราสามารถเริ่มจากความเห็นอกเห็นใจได้ มันคือการเห็นความทุกข์ในแววตาคนอื่นแล้วรู้สึกไปกับเขา เชื่อเขา แล้วมีความหวังอยากให้เขาดีขึ้น”

“แต่จะทำยังไงถ้าคนป่วยต้องปลอบคนป่วยด้วยกัน” ฉันยังคงสงสัย

ฝนนิ่งคิดก่อนตอบ “ในบทสนทนาระหว่างคนที่อ่อนแอกันทั้งคู่ ถ้าตกลงที่จะนั่งฟังและคุยกันแล้ว มันมักจะมีคนหนึ่งที่ต้องเสียสละ ซึ่งจะเสียสละแค่ในสถานการณ์นั้นก็ได้ ไม่ต้องเสียสละตลอด

“เราว่ามันคือการช่วยกันไปช่วยกันมา สมมติวันนี้เพื่อนแย่กว่า เราก็จะนิ่งและค่อยๆ ตะล่อมมัน แต่ในบางวันที่เราแย่กว่า เพื่อนก็จะสลับบทบาทมาปลอบเรา ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการประเภทไหน มันคือการสลับกันเข้มแข็งและอ่อนแอ สลับกันให้และรับ สลับกันช่วยและรับความช่วยเหลือ ในปริมาณที่สมดุลมากพอที่เราจะไม่รู้สึกอึดอัด”  

คนหนึ่งคนไม่อาจแบกรับความทุกข์ของใครได้

แม้จะเปิดกว้างและยินดีให้เพื่อนและผู้อ่านมาปรึกษาเสมอๆ กระนั้นฝนก็บอกว่า เธอคนเดียวไม่สามารถช่วยทุกคนได้ และในทางกลับกัน ลำพังแค่คุณแม่หรือเพื่อนสนิทเพียงคนสองคนก็ไม่สามารถแบ่งเบาเธอจากความทุกข์ก้อนโตได้ทั้งหมด ฝนจึงสร้างโครงข่ายความช่วยเหลือ (support system) ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนใกล้ตัวที่พร้อมจะช่วยเหลือกันและกัน มันจึงไม่ใช่การผลัดกันให้และรับกำลังใจในหนึ่งความสัมพันธ์ หากเป็นการผลัดกันให้และรับกำลังใจในหลายๆ ความสัมพันธ์ที่จะช่วยสลายให้ทุกข์ก้อนโตเล็กลงๆ จนทุกคนในเครือข่ายสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือได้

“บางคนคิดว่าแค่แฟนเข้าใจก็โอเคแล้ว แต่คนคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างหรอก และการโยนใส่เขาคนเดียว เขาอาจรู้สึกว่ามันมากเกินไปจนกลายเป็นหน้าที่ มันจะหนักเขา และสุดท้ายก็จะหนักเราด้วย เพราะเมื่อเรายึดติดกับความสัมพันธ์เดียว เมื่อเขาไม่ไหว เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว 

“โครงข่ายความช่วยเหลือคือการแชร์ความหนักอึ้งนั้นออกไป และเป็นการเปิดสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่ามันมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราเต็มไปหมด”​

เป็นอีกครั้งที่ฝนนิยามตัวเองว่าโชคดี เธอโชคดีที่มีโครงข่ายความช่วยเหลือที่แข็งแรง แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีแบบเธอ

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีคนรู้จักของเราฆ่าตัวตายไป 2 คน เราสะเทือนใจ แต่ก็รู้ตัวว่าทำอะไรไม่ได้ เราไม่ใช่พระเจ้า เราแค่รู้สึกว่าคงจะดีถ้าเขามีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุน เข้าใจ ให้กำลังใจ และได้ไปหาหมอ

เธอเสริมด้วยว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ผู้อ่าน Moody Twenties ทักเข้ามาปรึกษาเยอะสุดคือเรื่องพ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อว่ามีโรคจิตเวชอยู่จริง ซึ่งสุดท้ายต่อให้เธอพยายามหยิบยื่นความหวังดีไปให้ผู้อ่านเหล่านั้น ความหวังดีนั้นก็อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่ได้มาจากคนสำคัญในชีวิต

“การที่เราเห็นอกเห็นใจและพยายามช่วยคนคนหนึ่ง มันอาจจะสำคัญน้อยมากถ้าเราไม่ใช่คนสำคัญของเขา ถ้ารู้ว่าเป็นคนสำคัญของใคร อยากให้เริ่มต้นที่รับฟังและเห็นอกเห็นใจเขา” 

สังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้คนอ่อนแอ

แม้จะเน้นพูดในมุมคนตัวเล็กที่ช่วยเหลือกันเอง แต่ฝนก็ตระหนักดีถึงภาพกว้างของสังคมปัจจุบันที่ยังมีสิ่งกีดขวางและช่องว่างอยู่อีกมาก ทุกวันนี้แม้ผู้คนจะเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตกันมากขึ้น แต่ความเข้าใจนั้นก็ยังไม่ออกไปสู่วงกว้างเท่าที่ควร และที่สำคัญสถานพยาบาลหรือระบบที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้มีอาการก็ยังคงมีน้อยและเข้าถึงค่อนข้างยาก 

“ถ้าผู้ป่วยไม่มีโครงข่ายความช่วยเหลือของตัวเอง อย่างน้อยเขาควรมีที่ให้ไปขอความช่วยเหลือ เพราะการมีชีวิตอย่างสงบสุขคือปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ

“แต่สังคมตอนนี้ยังมองไม่เห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่มีมือยื่นออกไปให้เขาจับ และยังเป็นสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้ความอ่อนแอ ทั้งที่ทุกคนทั้งเข้มแข็งและอ่อนแอในตัวคนเดียว เราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ ไม่มีใครเข้มแข็งตลอดเวลา ไม่มีใครอ่อนแอตลอดเวลา แต่พอความอ่อนแอถูกตั้งค่าให้เป็นแง่ลบเสมอ หลายคนจึงรู้สึกว่าการไปหาหมอคือการแสดงความอ่อนแอและเป็นความล้มเหลวในชีวิต ทำให้คนไม่อยากไปหาหมอ” 

นั่นเป็นสาเหตุที่เธอให้ความสำคัญกับการสร้างโครงข่ายความช่วยเหลือที่คนตัวเล็กๆ สามารถช่วยกันและกันได้ เพราะทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“ตอนนี้เราทำได้แค่ช่วยตัวเอง ช่วยคนใกล้ตัว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้แล้ว”

มีค่าและควรค่า

ฉันตั้งต้นไปคุยกับฝนด้วยคิดว่าเธอเป็นผู้ให้ แต่เธอออกตัวว่าในโครงข่ายความช่วยเหลือนี้เธอเองก็เป็นผู้รับเหมือนกัน และสิ่งที่เธอคิดว่าได้รับมามากที่สุดคือความสัมพันธ์ที่ดี

“เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเราและเพื่อนแน่นแฟ้นขึ้น เราเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น และต่อให้เราหรือเพื่อนมีปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโรค เราก็ยังหวังดีต่อกันและอยากช่วยกัน

“สุดท้ายการทำแบบนี้ทำให้อาการเราดีขึ้นด้วย เพราะอาการของโรคทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ควรค่าแก่สิ่งดีๆ แต่การผลัดกันให้และรับกำลังใจทำให้เรารู้สึกว่า เราสมควรได้รับความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งมันมีค่ามาก”

ฉันร่ำลาฝนด้วยใจที่เบาขึ้น คล้ายว่าเธอรับฉันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายความช่วยเหลือของเธอ ที่ซึ่งฉันได้รู้ว่า เราทุกคนมีค่าและควรค่า เราทุกคนช่วยกันได้ อาจไม่เข้าใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์​ แต่เห็นอกเห็นใจกันล้านเปอร์เซ็นต์


ขอบคุณสถานที่ Bar Storia Del Caffè Ploenchit

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #กำลังใจที่เข้าใจ กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยการส่งต่อกำลังใจถึงคนรอบข้างด้วยความเข้าใจผ่านทาง bit.ly/2N43scM
วรรษชล ศิริจันทนันท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย