โจเซฟ ซามูดิโอ นักดนตรีบำบัดที่เชื่อว่าดนตรีใช้สื่อสารความรู้สึกถึงกันและกันได้

Highlights

  • โจ–โจเซฟ ซามูดิโอ คือชาวลูกครึ่งไทย-โคลัมเบีย ที่มีอาชีพหลักเป็นนักดนตรีบำบัด เพราะตอนเด็กเขามีดนตรีอยู่รายล้อมรอบตัว และด้วยความใฝ่ฝันที่อยากเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือคน เขาจึงเลือกนำความชอบและความฝันมาผสมผสานกันจนเป็นอาชีพในปัจจุบัน
  • สำหรับโจดนตรีคือเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกชั้นดี แม้จะเรียกว่าการบำบัดแต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาหาเขาจะสามารถหายจากปัญหาสุขภาพจิตได้ทันที แต่เพลงจะทำให้พวกเขาเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพวกเขามากขึ้น
  • ในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ โจได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในศิลปินที่จะมาแสดงสดในสภาวการณ์จำลองห้องศิลปะบำบัด ในงาน Art of Element and Therapy ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เรารู้จัก โจ–โจเซฟ ซามูดิโอ ครั้งแรกจากรายการร้องเพลงอย่าง The Voice Thailand Season 5 ในรอบ Blind Audition เขาหยิบเพลงภาษาสเปนขึ้นมาร้องบนเวที และด้วยเสียงร้องที่นุ่มและมีเสน่ห์คลอเคล้าไปกับภาษาที่เราไม่คุ้นเคย นั่นทำให้โจเป็นที่จดจำในฐานะศิลปินได้ไม่ยาก

แต่นอกจากการเป็นนักร้อง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เขาเลือกใช้ความสามารถทางด้านดนตรีมาสื่อสารและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นผ่านอาชีพที่เรียกว่า ‘นักดนตรีบำบัด’ 

ด้วยความใฝ่ฝันในวัยเด็กที่อยากจะเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือคนผสมผสานกับความชอบในดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ชายลูกครึ่งไทย-โคลัมเบียคนนี้จึงตัดสินใจศึกษาด้านดนตรีบำบัดเมื่อตอนอยู่สหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบและทำอาชีพนักดนตรีบำบัดอยู่นานกว่า 6 ปี เขาจึงตัดสินใจบินลัดฟ้ามาประเทศไทยในยุคที่สังคมยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องสุขภาพจิตในวงกว้าง เพื่อใช้ดนตรีช่วยเหลือและทำงานไปกับเด็กพิเศษ นับได้ว่าตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ดนตรีเป็นสิ่งที่โจใช้สื่อสารและเข้าใจความรู้สึกของผู้คนมานานกว่า 10 ปีแล้ว

โจเซฟ

เมื่อไม่นานมานี้ โจได้รับการเชิญชวนให้เป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในงานศิลปะแห่งการบำบัด Art of Element and Therapy ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการแสดงสดเพื่อจำลองสภาวการณ์ในห้องศิลปะบำบัดเพื่อให้คนดูได้เห็นกระบวนการในการนำดนตรีเข้ามาช่วยเหลือบำบัดคนไข้ในกรณีต่างๆ 

ก่อนที่เขาจะแสดงงานดนตรีบำบัดรอบสุดท้าย เราจึงชวนโจมาคุยกันถึงศาสตร์แห่งดนตรีในการสื่อสารและทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้คนที่เขาเชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอะไร ดนตรีก็สามารถสื่อสารถึงความรู้สึกของเราได้

ในระหว่างนี้ หากคุณอยากจะเปิดเพลงที่ชอบฟังคลอเคล้าไปด้วยก็ไม่ว่ากัน

ทำไมถึงเริ่มต้นมาเป็นนักดนตรีบำบัด

“ตั้งแต่เด็กผมมีดนตรีรอบกาย ในบ้านมีดนตรีตลอด พ่อแม่ผมไม่ได้เป็นนักดนตรี แต่ชอบเปิดเพลงร้องเพลงก่อนนอนให้ผมฟัง จำได้ว่ามีวิดีโอตอนผมสองสามขวบ เล่นกีตาร์แล้วแต่งเพลงแบบมั่วๆ พ่อแม่ก็เลยส่งให้ผมไปเรียนดนตรีตอน 4 ขวบ ตอนนั้นผมเรียนกีตาร์ แต่ว่ามันใหญ่มาก เล่นยาก ไม่ชอบ ก็เลยหยุดเรียนดนตรีไปสักพัก จนถึงช่วงวัยรุ่น พ่อแม่ก็เชิญครูมาสอนเปียโนที่บ้าน แล้วตอนเรียนไฮสคูลโรงเรียนบังคับให้เรียนดนตรี ผมเลือกเรียนแซ็กโซโฟน อยู่ในวง orchestra band jazz ตอนนั้นชอบ รู้สึกว่าดนตรีมันง่าย อีซี่หมด ดนตรีมันเลยค่อยๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน”

“แต่ความฝันจริงๆ ของผมคืออยากเป็นหมอเด็ก เพราะอยากจะช่วยเหลือคน แต่ว่าเกรดผมมันไม่ได้สูงถึงขั้นนั้น คิดว่าถ้าเรียนหมอต้องได้เกรดมากกว่านี้ เพราะการแข่งขันมันสูง ต้องไปสู้กับคนที่เก่งจริงๆ จำได้ว่าช่วง ม.4-5 ไม่รู้จะทำไรกับชีวิต พยายามหาตัวเอง เป็นนักดนตรีดีไหม แต่อาชีพจะมั่นคงเหรอ หรือเป็นหมอดีไหม แต่ต้องทำงานหนักแน่ๆ ชีวิตต้องลำบากมาก พอช่วง ม.6 ที่ต้องสมัครมหาวิทยาลัยก็ลองไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตดูว่ามันมีอาชีพอะไรเกี่ยวกับดนตรีบ้าง บังเอิญเจอ music therapy พอดี ดูข้อมูลแล้วก็คิดว่ามันสามารถรวมการช่วยเหลือคนอื่นอย่างที่เราอยากทำด้วยสิ่งที่เรารักก็คือดนตรีได้ ผมเลยสมัครเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในลอสแอนเจลิสเลย” 

 

พอได้เข้าไปเรียนแล้วเป็นยังไงบ้าง

“เล่าก่อนว่าช่วงที่ผมเรียนแรกๆ คนอเมริกามองว่าการบำบัดไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาจะคิดว่าพวกศิลปะบำบัด คือพวกดูดกัญชา เป็นฮิปปี้ รักธรรมชาติ เวลาเล่าให้ใครฟังรู้สึกว่ามันยากเหมือนกันนะที่จะต้องอธิบายวิชาเราตลอด อย่างตอนที่มาไทยคนไทยยังคิดว่าเราเหมือนเป็นหมอ แต่ที่นู่นคือไม่ใช่เลย คิดว่าสิ่งที่เราเรียนต้องไปร้องเพลงให้ต้นไม้ฟังเหรอ (หัวเราะ)” 

“คนเลยเข้าใจว่าเรียนดนตรีบำบัดอาจจะเหมือนง่าย แต่จริงๆ มันยากมากครับ เพราะมีวิชาเรียนหลักๆ 3 อย่างคือ เมเจอร์ดนตรี ซึ่งเราต้องเรียนดนตรี เรียนไวโอลิน เรียนดนตรีทุกอย่าง ทฤษฎีดนตรีคลาสสิก ประวัติดนตรี แล้วเมเจอร์จิตวิทยาเราต้องไปที่คณะจิตวิทยา เรียนแนวคิด subconcious, concious อีกเมเจอร์หนึ่งคือ music therapy คือการเรียนดนตรีผสมผสานกับจิตวิทยา”

“ยิ่งตอนเรียนลึกขึ้นๆ ผมเลยรู้ว่า จริงๆ ผมบำบัดตัวเองตั้งแต่เด็ก ช่วงวัยรุ่นตอนเครียด ช่วงดึกๆ ผมจะแต่งเพลงอิมโพรไวส์ไปเรื่อยๆ บนเปียโน คือไม่ได้มีโน้ต แต่จะสร้างเพลงไปเรื่อยๆ ตอนเล่นเสร็จจะรู้สึกโล่ง สบายขึ้น แต่ตอนนั้น ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แค่รู้สึกว่าเออเสียงนี้ใช่ เหมาะกับความรู้สึกตอนนี้” 

 

แล้วทำไมถึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย

“หลังเรียนจบผมทำงานเป็นนักดนตรีบำบัดอยู่ที่อเมริกาประมาณ 6 ปี รู้สึกเบื่อเลยอยากหาอะไรแอดเวนเจอร์เพิ่มขึ้น เลยอยากลองหาที่ทำงานใหม่ๆ ตอนแรกก็แอบกลัวเหมือนกันว่าที่ไทยจะคิดว่านักดนตรีบำบัดเป็นฮิปปี้เหมือนที่อเมริกาคิดหรือเปล่า แต่พอดีเพื่อนบ้านบอกว่าคลินิกที่ไทยต้องการนักดนตรีบำบัด ผมเลยคิดว่าดีเลย ก็เลยตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ตอนปี 2012 ตอนนั้นยังพูดไทยไม่ได้เลย เพราะตอนเด็กแม่พูดแต่ภาษาอังกฤษด้วย ส่วนพ่อพูดภาษาสเปน”

“ตอนมาไทยแรกๆ จำได้ว่ามีแค่ผมกับผู้หญิงนักดนตรีบำบัดอีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ในไลน์กรุ๊ปนักดนตรีบำบัดมีเกือบห้าสิบคนแล้ว โดยเฉพาะใน 2-3 ปีที่แล้ว art therapy เริ่มบูมมาก ทำให้มีคนหันมาเรียนและสนใจมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเคส depression ก็เยอะมากขึ้นเหมือนกัน ผู้ปกครองหลายคนก็เข้าใจ art therapy มากขึ้น เมื่อก่อนต้องอธิบายตลอดว่ามันคืออะไร จริงๆ ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่วงการ art therapy ที่เติบโตขึ้น แต่วงการ therapy การบำบัดทั้งหมด คนไทยเริ่มเข้าใจและยอมรับมากขึ้น”

พูดถึงวงการบำบัดแล้วก็มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป แล้วดนตรีบำบัดมีวิธีการทำงานร่วมกับคนไข้ยังไงบ้าง

“คือต้องอธิบายก่อนว่าในวงการจิตวิทยาก็จะมีการศึกษาหลายรูปแบบ เช่น psychodynamic จะเกี่ยวกับเรื่อง subconscious จิตใต้สำนึกที่เราซ่อนไว้ข้างในลึกๆ ส่วนผมเรียนมาจาก behavior model ซึ่งจะใช้กับการเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิด แล้วเราจะเข้าใจว่าอารมณ์หรือพฤติกรรมของเราทำไปเพราะเราเรียนรู้ที่จะทำมัน เช่น เด็กๆ อยากได้ขนม ร้องไห้ พอร้องไห้แม่จะให้ขนม อย่างนี้เรียกว่า behavioral”

“ตัวอย่างการนำดนตรีมาใช้บำบัดในกรณี behavioral ผมจะใช้เกมช่วยปรับพฤติกรรมของเด็ก ทำยังไงให้เขาเพิ่มอายคอนแทกต์กับผมมากขึ้น หรือฝึกพูด อะไรง่ายๆ เช่น ผมมีเคสหนึ่งซึ่งเป็นเด็กออทิสติก คือเวลาเขาตื่นเต้นจะชอบตบหน้า แต่เขาไม่ได้ตั้งใจ ผมก็พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเขาแทนที่จะตบหน้าทุกครั้งที่เขาตื่นเต้นก็ให้ตบกลองแทน”

“ถ้าเป็นทาง psychodynamic อย่างเคส selective mutism ซึ่งเป็นอาการของคนที่เขาจะไม่พูด คือจะเลือกพูดแค่ตามสถานการณ์ เช่น อยู่ที่บ้านพูดกับพ่อแม่ นอกบ้านไม่พูดกับใครเลย อาการแบบนี้มาจาก anxiety ซึ่งเราอาจจะไม่แต่งเพลง แต่จะเล่นอิมโพรไวส์ เล่นดนตรีสดตามอารมณ์ ให้เขา express ตัวเองผ่านเครื่องดนตรี เวลาเขา express ผมก็จะสะท้อนกลับเขา ไม่ได้มีเนื้อเพลง แค่สร้างเพลงจากฟีลลิ่ง”

“หรือบางเคสในทาง psychodynamic เราจะชวนเขามาแต่งเนื้อเพลง หรือให้เขาเอาเพลงมาแล้วเราก็จะคุยเรื่องเนื้อเพลง ผมจะถามสตอรีคนที่อยู่ในเพลงนี้กับเขา เช่น ทำไมถึงเลือกร้องเพลงนี้ ใครจะเป็นคนร้อง เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์แต่ละเพลงบ้าง ซึ่งผมจะได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของคนไข้ รูปแบบนี้มันจะไม่ใช่การถามตรงๆ แต่ทุกอย่างมันจะผ่านเพลงนี้ ซึ่งเคสจะรู้สึกปลอดภัยกว่าเพราะสามารถเล่าผ่านสตอรี สร้างสตอรีอะไรก็ได้ ทุกอย่างที่เขาเล่ามันก็มาจากอินเนอร์ มาจากประสบการณ์ของเขา ข้อมูลตรงนี้เราก็จะเอามาใช้ได้”

“ดังนั้นดนตรีบำบัดไม่ใช่แค่เล่นดนตรีให้คนไข้ฟังอย่างเดียว แต่จะมีอื่นๆ ด้วย เช่น เราจะแต่งเพลง เล่นเพลงด้วยกัน ซึ่งมันจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เราสร้างอยู่ในแต่ละเซสชั่น และเราจะไม่ได้ใช้แค่ดนตรีเดียว แต่จะมีเปียโนบ้าง กลองบ้าง หรือแม้กระทั่งโปรแกรมแต่งเพลงด้วย ซึ่งมันจะมีความเป็นยุคสมัยใหม่ เนื่องจากผมเป็นนักดนตรีด้วยเลยคิดว่าถ้าใช้โปรแกรมมาช่วยเด็กแต่งเพลงน่าจะมีประโยชน์ ผมเลยเอาคอมฯ มาด้วย ซึ่งตอนนี้เด็กๆ ก็กำลังนิยมพวกเพลง EDM เพลงแรปด้วย”

แสดงว่ากระแสความนิยมในตลาดเพลงก็มีส่วนเข้ามาบำบัดได้เหมือนกัน

“ใช่ครับ ยิ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ จะชอบแนว EDM ป๊อปๆ ผมก็เลยใช้เครื่องแต่งเพลงด้วย อย่างเคสล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาบำบัด เด็กเขาชอบเพลงแนวเอนิเมชั่นการ์ตูนญี่ปุ่น ร็อกแบบญี่ปุ่น ผมก็ต้องเข้าใจเขา แล้วก็เอากีตาร์ไฟฟ้ามาช่วยแต่งเพลงตามที่เขาชอบ ดังนั้นการมีเครื่องดนตรีที่เราเล่นได้เยอะ หรือเรียนรู้แนวเพลงได้เยอะ มันก็จะดีในการทำงาน นักดนตรีบำบัดเลยจำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีและสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย เพราะเราต้องใช้ดนตรีคู่กับทฤษฎีดนตรีในการบำบัดด้วย เช่น เวลาเราแต่งเพลงกับคนไข้ เขาแต่งเมโลดี้แบบโดเรมี เราก็ต้องรู้ว่าคอร์ดไหนที่เหมาะกับอารมณ์ของเขา หรือโทน มู้ดในเพลงแบบไหนที่เขาอยากได้” 

 

อย่างนี้ดนตรีประเภทไหนก็สามารถบำบัดเราได้

“ใช่ครับ ยกตัวอย่างว่าวันนี้เราเศร้า depressed อกหัก มันเป็นพฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหาเพลงเศร้า เพราะเราไม่ได้พร้อมที่จะฟังเพลงแฮปปี้ ดนตรีที่ผมใช้ในแต่ละเซสชั่นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ผมจะเลือกดนตรีหรือหาเพลงที่เข้ากับอารมณ์ของคนไข้ในวันนั้น เพราะว่าคนเรามัน different feelings everyday ไม่ใช่ว่าเพลงคลาสสิกจะมีประโยชน์กับทุกคน มันเลยไม่มีสูตรและไม่มีแค่สไตล์เดียว เพราะว่ามัน It’s up to everyone’s feeling.”

อย่างการแสดงที่จะจัดขึ้นในงาน Art of Element and Therapy คนดูจะได้เห็นและรู้จักเกี่ยวกับดนตรีบำบัดยังไงบ้าง

“จริงๆ ต้องบอกว่าผมไม่เคยทำการแสดงสดแบบนี้มาก่อน ซึ่งมันน่าสนใจ และถือว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้โชว์ว่าดนตรีบำบัดคืออะไร เคสที่เลือกเข้ามาแสดง เช่น dealing with loss, anger management อีกอันที่ผมเลือก คือ selective mutism เพราะว่าในสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะ art หรือ dance เขาจะใช้ภาษา แต่เนื่องจาก selective mutism เขาไม่พูดเราเลยต้องใช้ดนตรีแทน เลยคิดว่าอันนี้น่าสนใจดี เพราะช่วงนี้เคสของอาการ selective mutism ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย” 

“โดยปกติเป้าหมายของการบำบัดอาการ selective mutism คืออยากให้เด็กรู้สึกเซฟที่จะพูด ไม่ต้องกังวล แต่ว่าในห้องการแสดงนี้ผมจะไม่สนว่าเด็กพูดหรือไม่พูด เป้าหมายคืออยากจะให้เด็กสื่อสารกับผมด้วยดนตรีเท่านั้น อาจจะใช้การเคาะดนตรีเป็นจังหวะตอบกลับมาก็ได้ เขาอาจจะไม่มีโอกาสพูดที่โรงเรียนหรือที่บ้านเพราะเขาไม่อยากพูด แต่ในห้องนี้เขาเล่นเกมกับเราด้วยดนตรี เขาอาจจะคิดว่านักดนตรีบำบัดอาจจะเป็นคนเดียวในโลกที่ไม่ได้สนใจว่าเขาพูดหรือไม่ อาจจะเป็นคนเดียวในโลกที่สร้างความสัมพันธ์ด้วยการไม่ใช้ภาษา all of this ก็จะรู้สึกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น” 

“ซึ่งในการแสดงผมจะไม่ได้พูดชื่อเคส และจะมีนักแสดงมาแสดงเพื่อบอกพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคนที่มีโรคนี้ จะเป็นแบบนี้ ซึ่งเราก็จะมีการซ้อมเล็กน้อย คือพยายามทำให้เหมือน therapy session จริงๆ เลย” 

แล้วในแต่ละเคส คุณรู้ได้ยังไงว่าวันนี้คนไข้ต้องการดนตรีแบบไหน

“จริงๆ ทุกคนก็จะมี goal ของเขา แรกๆ ผมจะดูอารมณ์เขาตอนที่เขาเข้ามาในห้อง ชวนเขาคุย พอคุยไปเรื่อยๆ อาจจะสังเกตเห็นมู้ดของเขาว่าอยู่ตรงไหน เขาอาจจะบอกก็ได้ว่าวันนี้อยากแต่งเพลงแรป อยากด่าแฟนเก่า ถ้าจะอธิบายแบบสั้นๆ ดนตรีบำบัดคือการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ไม่ใช่ว่ามาหาผมแล้วฟังเพลงนี้ แต่งเพลงนี้แล้วจะหาย สมมติคนไข้ depressed ผมจะแต่งเพลงเพื่อให้เขาเข้าใจอารมณ์ของเขามากขึ้น วิธีนี้ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เวลาเราแต่งเพลง ระบายความรู้สึกออก เพลงมันจะสะท้อนอารมณ์ของเรา อย่างเช่นหลายๆ ครั้งเวลาเราหงุดหงิดเราอาจไม่รู้เหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าเราให้ตัวเองเขียนลงไปในกระดาษ เหมือนเราบังคับให้ตัวเองคิด เออ อันนี้ไม่ใช่ พอเขียนๆ ลงไปบนกระดาษจะทำให้เราเห็นชัดๆ ว่ามันคือแค่นี้ สิ่งอื่นมันไม่เกี่ยว เขาก็จะอยากใส่คอร์ดเศร้า ๆ พอมีเพลงของเขา เขาก็จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพิ่มความเข้าใจในตัวเอง รู้สึกว่าควบคุมตัวเองเหนือสิ่งที่ทำให้เขาเศร้าหงุดหงิดได้ พอระบายมันออกมาอยู่ในกระดาษทำให้รู้สึกได้ controll over the feeling ไม่ใช่ in controlled.”

 

แสดงว่าคุณต้องคอยปรับอารมณ์ของตัวเองให้ตรงกับคนไข้ตลอดเลยใช่ไหม

“ใช่ครับ มันเป็นพื้นฐานของการบำบัด เราต้อง push ความรู้สึกเพื่อจะได้อยู่ในสเปซกับเคส ในวิชาดนตรีบำบัดเราจะเรียกว่า ISO Principle ก็คือการแมตช์อารมณ์กับเคส ถ้าสมมติเคสเข้ามาแล้วดีเพรสอยู่ ไม่อยากจะพูด แต่ถ้าผมคุยกับเขาอย่างร่าเริง เฮ้ย วันนี้เราจะแต่งเพลง EDM กัน เขาจะปิดใจและไม่เชื่อใจเรา ยิ่งทำให้เขาไม่อยากจะพูด รู้สึกรำคาญ เหมือนเขาไม่พร้อม อย่างเคส depression เราต้องดร็อปอารมณ์เราไปเจอกับเขาก่อน ถ้าอารมณ์เราแมตช์กันแล้วเราถึงจะซัพพอร์ตกันได้”

 “ผมคิดว่าอันนี้ไม่ใช่แค่ในเรื่องการบำบัด แต่ในความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเรา เวลาอยู่กับใครก็ตาม เวลาเพื่อนอกหัก ถ้าเราเข้าไปคุยด้วยความรู้สึกที่ร่าเริง หรืออารมณ์ที่ไม่แมตช์กัน เขาก็จะไม่รู้สึกเซฟหรืออยากจะพูดด้วย คนที่ไม่สามารถแมตช์กับคนอื่น คนอื่นจะไม่มาหาเขา”

 

การทำงานที่ต้องคอยปรับความรู้สึกของเราด้วยตลอดอย่างนี้ ทำให้คุณเหนื่อยหรือเปล่า

“มันมีวันที่เหนื่อยครับ วันที่เรารู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว หลายครั้งที่ผมรู้สึกเหนื่อย แต่พอเจอเด็กที่เข้ารับการบำบัด ผมต้องสร้าง energy ซึ่งมาจากไหนไม่รู้เพื่อพยายามแมตช์กับเด็ก แต่แม้ว่าเหนื่อยยังไงก็ยังเป็นอาชีพของเรา ใจยังรักอยู่ อีกอย่างเวลาเจอเคสที่เด็กมีฟีดแบ็กบอกเราว่าไม่อยากกลับบ้านเลย อยากอยู่กับครูโจต่อ หรือคำพูดอะไรที่มาเติมกำลังใจเรา สิ่งเล็กๆ ที่มันเกิดขึ้นทำให้ผมรู้สึกหายเหนื่อยเหมือนกันนะ”  


การแสดงสดสภาวการณ์ในห้องศิลปะบำบัดในงาน Art of Element and Therapy จะจัดระหว่างวันที่ 7 กันยายนถึง 13 ตุลาคม 2562 ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สามารถเช็ครอบการแสดงได้ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย