ย้อนกลับไปปี 2008 ในรอบออดิชั่นรายการประกวดร้องเพลง Music Idol มีสาวชาวบัลแกเรียนผู้ประกวดคนหนึ่งแนะนำตัวเองว่าเธอชื่อ Valentina Hasan เธอบอกกรรมการอย่างมั่นใจว่า วันนี้เธอจะมาร้องเพลง ‘Ken Lee’ ของ Mariah Carey ซึ่งกรรมการทั้งหลายหน้าเหวอเพราะไม่เคยได้ยินชื่อเพลงนี้ของมารายห์ แครีย์ มาก่อนเลย ทำหน้างงไปตามๆ กัน อุ๊ย เพลงอะไรนี่ไม่เคยรู้จัก
เมื่อเธอเริ่มเปล่งเสียงร้อง ทำนองคุ้นหูก็ดังขึ้นมา สรุปว่าเธอร้องเพลง Without You
แต่ด้วยไม่ใช่ภาษาหลัก เธอที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษฟังผิดจาก ‘can’t live without you’ เป็น ‘เคน ลี ทูลิบู ดิบู ดาวชู’ และอุตส่าห์ไปตั้งชื่อใหม่ให้กับเพลงต้นฉบับเขาด้วยความไม่รู้
‘Ken Leeeeeeeeeeeeee
Tulibu dibu dauchuu’
‘I can’t live.
If living is without you.’
เมื่อมีคนนำเทปออดิชั่นนี้ไปลงยูทูบ ยอดวิวก็ถล่มทลาย คนทั่วโลกร่วมกันขำขันเธอที่ร้องเพลงเพี้ยนจนกลายเป็นอีกเพลงเลยทีเดียว Ken Lee จึงกลายเป็นมีมอินเทอร์เน็ตชั้นดีขึ้นหิ้งคลาสสิก มีคนแซวว่าดีกว่าเวอร์ชั่นออริจินอล และมารายห์ควรร้องคัฟเวอร์อีกทีหนึ่ง
เมื่อมีสื่อไปสัมภาษณ์ย้อนหลัง ฮาเซนก็อธิบายว่าเธอไม่ถนัดภาษาอังกฤษ นักร้องต้นแบบมารายห์ แครีย์ ก็เคยโพสต์ถึงมีมเพลง Ken Lee ด้วยความเอ็นดู
จริงๆ คนเราฟังเพลงเพี้ยนและผิดกันตลอดเวลามานานแล้ว ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ เพลงไทยเองก็มีคนไทยฟังผิด จากเนื้อเพลงต้นฉบับกลายเป็นคำใหม่ ความหมายใหม่ไปเฉย เช่น มีคนไทยฟังเพลง Rihanna เนื้อที่ร้องว่า ‘shine bright like a diamond’ กลายเป็น ‘เชนไดร้ท์ไลก์กะไบกอน’ หรือกับเพลงไทยก็มีคนไทยฟังเนื้อเพลง ‘ใส่โอ่งหินฝังดินเอาไว้’ กลายเป็น ‘ใส่อมยิ้มฝังดินเอาไว้’ ผู้เขียนเดาว่า ‘โอ่งหิน’ อาจไม่ได้เป็นสิ่งของที่ผู้ฟังบางกลุ่มคุ้นเคย
กระทั่งเพลง Kill This Love ของ BLACKPINK ก็ได้กลายเป็นเพลงชื่อเล่นว่า รปภ. เพี้ยนมาจากท่อน ‘rum, pum, pum, pum, pum, pum, pum’ เมื่อเพลงถูกนำไปทำเป็นเพลงสามช่าแดนซ์สายย่อ
mondegreen เราฟังเพี้ยนไปจากเนื้อเพลงกันตั้งแต่ยุค 50s
in other words สัปดาห์นี้เลยขอเสนอคำว่า mondegreen อ่านว่า มอน-เดอะ-กรีน ใช้เรียกคำหรือวลีที่ถูกฟังผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับในเพลงหรือบทกวี
คำว่า mondegreen ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1954 ในเรียงความของนักเขียนนามว่า Sylvia Wright ที่มาเกิดจากเธอจากฟังเพลงบัลลาดสกอต The Bonny Earl of Moray ในสมัยเด็ก โดยฟังเพี้ยนไปจากวลีเดิมว่า ‘laid him on the green’ กลายเป็น ‘Lady Mondegreen’ ทำให้ความหมายผิดไปมาก
NME ได้ลิสต์เพลงจำนวนมากที่คนฟังผิดกันบ่อยจนเนื้อหาผิดเพี้ยนไป และหลายเพลงก็เป็นเพลงดังที่เราคุ้นๆ กัน เช่น
- ‘spare him his life from this monstrosity’ ฟังผิดเป็น ‘saving his life from this warm sausage tea’ จากเพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen
- ‘papa don’t preach’ ฟังผิดเป็น ‘poppadom peach’ จากเพลง Papa Don’t Preach ของ Madonna
- ‘lucy in the sky with diamonds’ ฟังผิดเป็น ‘blue seal in the sky with diamonds’ จากเพลง Lucy in the Sky with Diamonds ของ The Beatles
- ‘excuse me, while I kiss the sky’ ฟังผิดเป็น ‘excuse me while I kiss this guy’ จากเพลง Purple Haze ของ Jimi Hendrix
ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์ mondegreen ขึ้นได้
ภาษาอังกฤษนั้นเต็มไปด้วย homophone หรือคำพ้องเสียง คำที่ออกเสียงคล้ายๆ กัน ซึ่งผู้ฟังต้องดูบริบทประกอบ แต่บางครั้งในเพลงก็อาจแต่งให้ไพเราะ เข้าจังหวะ และทำนอง จนเราเผลอฟังผิดเพี้ยนไปด้วย
และไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น การฟังเสียงใดก็ตามประกอบไปด้วย 2 ส่วน
ส่วนแรก คือส่วนเสียงที่หูเราได้รับมา เมื่อคลื่นเสียงส่งมาถึงประสาทหูและสมองของเรา
ส่วนที่สอง คือส่วนสร้างความหมาย เมื่อสมองของเราแปลงเสียงทางฟิสิกส์ที่ได้ยินเป็นความหมายที่ได้ฟัง สมองเกิดความเข้าใจบางอย่าง เกิดการสื่อสาร เราอาจได้ยินเสียงเดียวกับคนอื่น แต่การตีความอาจพลาดไปจากเนื้อเพลงจริงๆ
สมองได้รับเสียงมาเป็นก้อน จากนั้นก็พยายามหาความหมายที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด เหมือนเราได้แทรกไปฟังกลางบทสนทนา เลยจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงประมวลเนื้อเพลงผิด
แน่นอนว่าเมื่อคนอื่นพูดด้วยสำเนียงที่เราไม่คุ้นเคย มีทำนองหรือการเน้นคำต่างจากเรา ความหมายที่เราได้ยินเลยเพี้ยนไป ยิ่งหากเพลงนั้นไม่ใช่ภาษาที่เราคุ้นเคย เนื้อเพลงอาจพูดถึงบริบทหรือวัฒนธรรมที่ต่างไป เราจึงฟังออกเท่าที่เราจะนึกออกได้
อย่าไปรู้สึกอับอายถ้าเราฟังผิดมาตลอด เพราะสมองของเราพยายามทำดีที่สุดแล้วที่จะกลั่นกรองคำจนได้ความหมายบางอย่างออกมา แม้มันจะไม่ตรง แต่เบื้องต้นก็ฟังดูเข้าท่า บางครั้งเราก็เชื่อและจดจำในสิ่งที่เราได้ยิน จนกระทั่งมาร้องคาราโอเกะกับคนอื่น หรืออ่านเจอเนื้อเพลงจริงๆ ถึงรู้ว่าตัวเองเข้าใจและจำเนื้อผิดมาตลอด
ตั้งแต่ยุค 90s ก็มีเว็บไซต์ชื่อ kissthisguy.com ซึ่งตั้งชื่อมาจากเนื้อเพลง Purple Haze ท่อนที่คนมักฟังผิดของเฮนดริกซ์นั่นแหละ เว็บนี้ให้คนส่งท่อน mondegreen ของตัวเองมารวมกันไว้จำนวนมาก และพบว่า 77 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ฟังผิดคิดว่าเนื้อเพลงของตัวเองนั้นดีกว่าเนื้อเพลงที่ถูกต้องจริงๆ เสียอีก สำหรับบางคนบางเนื้อเพลงที่เขาเข้าใจผิดมาหลายปีนั้นติดหูติดสมองจนคุ้นชินไปแล้วและยากที่จะสลัดออกไปได้ กลายเป็นเรื่องขำขันไว้แลกเปลี่ยนกัน
mondegreen เป็นความตลกและความน่ารักของสมองและเสียงในภาษา ไม่จำเป็นต้องรู้สึกอับอายเพราะ mondegreen เกิดได้ตลอดเวลาและมีมานานแล้ว และทำให้เราได้แอบเห็นกระบวนการทำงานของภาษาอันซับซ้อน การสื่อสาร และการฟัง ที่ต้องฝึกฝนกันไป ลองนึกเพลงสักเพลงแล้วไปเสิร์ชเนื้อร้อง อาจพบว่าเราฟังผิดมาตลอดก็ได้
บางครั้งความผิดเพี้ยนของผู้ฟังก็ทำให้เพลงเกิดความหมายและมิติใหม่ๆ ที่ขยับขยายนอกเหนือไปจากความตั้งใจของผู้สร้าง กลายเป็นความสนุกสนานของการสื่อสารผ่านเสียง เปลี่ยนถ่ายความเป็นเจ้าของเพลงจากผู้ร้องสู่มวลชนอย่างแท้จริง
อ้างอิง
Excuse Me While I Kiss This Guy
newyorker.com
Know Your Meme: Ken Lee
knowyourmeme.com
Mondegreen
merriam-webster.com
Sweet Slips Of the Ear: Mondegreens By Pamela Licalzi O’Connell
nytimes.com
‘We Built This City On Sausage Rolls’ And More Of The Most Commonly Misheard Song Lyrics
nme.com