MOB TYPE หนังสือบันทึกการต่อสู้แด่ทุกคนที่ใช้ศิลปะเรียกร้องประชาธิปไตย

หากจะพูดว่าหนังสือ MOB TYPE เป็นหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะการเมืองร่วมสมัย เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างครบถ้วน

อธิบายอย่างคร่าวๆ นี่คือหนังสือรวมศิลปะตัวอักษรที่ใช้ในการประท้วง เขียนโดย PrachathipaType นักออกแบบที่เรียกร้องเรื่องการเมืองผ่านการออกแบบตัวอักษร ร่วมกับ Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต พร้อมคำนิยมที่เขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ในแง่ของเนื้อหา หน้ากระดาษกว่า 70 หน้าในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมผลงานการออกแบบตัวอักษรไทยที่เต็มไปด้วยการต่อต้านอำนาจรัฐและเสียดสีทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ประเทศทวย, คณะราษฎร, 33712, หัวหาย, ทางม้าลาย และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึง 2565 เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย

แน่นอนว่าสิ่งที่เราสนใจในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ความสวยงามของตัวอักษรเหล่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังของผลงานแต่ละชิ้นด้วย การเดินทางของหนังสือ MOB TYPE เป็นอย่างไร เขามีอุดมการณ์แบบไหน เราไปฟังคำตอบจาก PrachathipaType พร้อมๆ กัน  

ศิลปะกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง          

อย่างที่รู้กันว่าศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ศิลปินหลากหลายแขนงก็ออกมาเคลื่อนไหวเพราะความไม่พอใจสภาพบ้านเมืองอย่างที่เราได้เห็นกันมาตลอด 

บางคนเลือกวาดรูป บางคนเลือกทำเพลง บางคนเลือกไปแสดงออกด้วยการลงถนน บางคนรอแสดงพลังในวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ PrachathipaType ที่เลือกออกแบบอักษรเพื่อสื่อสารประเด็นการเมือง เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในประเทศไทย

“จริงๆ ผมเริ่มทำงานศิลปะการเมืองด้วยเครื่องมืออื่นมาก่อน แต่ว่าตัวอักษรก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถนัด งานวาดเราก็ไม่ได้เก่งมากคนก็ทำไปแล้ว งานหนังก็มีคนทำแล้ว ศิลปะการละครก็ออกมาแล้ว แม่งเหลืออะไรอีกวะที่เราทำแล้วมันจะไม่เหมือนใคร เราเคยดูงานต่างชาติที่ทำ typography ในการประท้วง มันมีอะไรเจ๋งๆ มากมาย ทำไมไม่เกิดขึ้นในซีนของประเทศเราบ้าง เออ งั้นกูทำ (หัวเราะ)”

การเดินทางของ PrachathipaType ที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มเปิดเพจจนถึงตอนนี้นับเป็นเวลาสองปีกว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายจากกระทำของรัฐ ทำให้เขาผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจรวบรวมผลงานทั้งหมดเพื่อเก็บบันทึกไว้ 

ก่อนที่จะมาเป็นรูปแบบหนังสือ ความตั้งใจแรกของเขาคืออยากทำเป็น Type specimen book อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือสิ่งพิมพ์ที่จะโชว์ลักษณะของฟอนต์นั้นๆ บางครั้งก็กลายเป็นสิ่งสะสมสำหรับคนรักสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกัน

“ผมคิดว่า PrachathipaType เป็นงานอดิเรกมาตลอด พอเราคิดจะทำเป็น Type specimen book ก็เกิดความคิดขึ้นมา อย่างแรกคือ เชี่ย ทำแล้วใครจะซื้อวะ อย่างที่สองคือเราอยากปล่อยของ แต่ส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าเรากำลังทำสิ่งที่มีความหมาย หลายๆ อย่างเราทำเพื่อให้คนฉุกคิด

“ในฐานะนักออกแบบ ผมพยายามผลักดันความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการใช้ตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งมันไม่ค่อยเกิดขึ้นใน commercial environment การที่เรามาทำ PrachathipaType แล้วได้ให้ exercise ตัวเอง ได้ให้สังคม รวมถึง design industry ในประเทศไทย ถ้าทำ Type specimen book เรารู้สึกว่ามันแค่ celebrate สิ่งที่ตัวเองทำ แต่ว่ามันไม่ได้ให้อะไรกับสังคม”

ด้วยการงานอาชีพนักออกแบบกราฟิกที่พ่วงด้วยตำแหน่งอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ทำให้เขาเห็นว่าคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องการใช้ศิลปะตัวอักษรมากขึ้น 

“อาจารย์ผมไปงานหนังสือมา หนังสือไทโปฯ มีขายน้อยเนอะ” ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาบ่นให้ฟัง

“ใช่ มันไม่ใช่ฟีลที่แมสในประเทศเรา” 

“แล้วหนังสือภาษาไทยก็ไม่เห็นมีเลย” คำพูดของลูกศิษย์ทำให้เขาฉุกคิดขึ้น

ทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีหนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับศาสตร์นี้ออกเล่มใหม่มาเลยด้วยซ้ำ หากให้นึกเร็วๆ หนังสือที่ใช้ graphic design ไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมก็มีแค่ซีรีส์หนังสือ ‘ดีไซน์ + คัลเจอร์’ ของประชา สุวีรานนท์ ซึ่งเล่มที่ 3 เล่มสุดท้ายก็ผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้เขาเปลี่ยนรูปแบบจาก Type specimen book เป็นหนังสือที่รวม typography แทน

หยิบสิ่งที่มีมาดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่               

เมื่อตั้งต้นไอเดียแล้วว่าจะทำเป็นหนังสือ เขาตั้งใจอยากให้เนื้อหาในเล่มมีความสั้นกระชับ สรุปประเด็นเข้าใจง่ายเหมือนโพสต์โซเชียลมีเดีย บวกกับกรอบเวลาที่มีอย่างจำกัด ทำให้เขาตัดสินใจร่วมงานกับ ‘Design for life ออกแบบเพื่อชีวิต’

“Design for Life เป็นเพจที่เราต้องยอมรับว่าเขาปากจัดกว่าเรา เขามีลีลาในงานออกแบบและงานเขียนที่จัดจ้านถูกใจมาก บางอย่างที่เขาเคยเขียนไว้แล้วมันเจ๋งมาก มันควรจะถูกดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่ ตอนที่ไปชวนเขาก็ยินดีที่จะช่วยอย่างเต็มที่และไม่เอาผลตอบแทนใดๆ เลย เพราะเขารู้สึกว่างานแบบนี้รอให้มีใครสักคนทำมานานแล้วก็เลยเป็นการร่วมมือที่สนุกดี”

ด้วยความที่เขาออกทุนพิมพ์เองทั้งหมด ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเส้นตายอยู่ที่ Bangkok Art Book Fair ด้วยเหตุผลหลักๆ สองอย่าง

อย่างแรกคือ Bangkok Art Book Fair เป็นพื้นที่ที่เหมาะที่สุดในการปล่อยหนังสือเล่มนี้ 

อย่างที่สองคือ ถ้ารอถึงปีหน้าคนอาจจะไม่ซื้อแล้ว เพราะความสนใจของผู้คนก็คงไปอยู่ที่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ก่อนจะเล่าถึงผลงานแต่ละชิ้น เขาอธิบายว่า ‘MOB TYPE’ มีธีมหลักคือรวมตัวอักษรที่ตอบสนองประเด็นการเมืองหรือความคับแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายในเล่มจะพูดถึงงานฟอนต์หลากหลายแบบที่จิกกัดและเสียดสีการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ ยกตัวอย่างเช่น

‘หัวหาย’ ฟอนต์ที่หยิบเอา TH Sarabun New มาตัดหัวออก ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่ ilaw รณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่าแสนชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับถูก 250 สว. ปัดตกเมื่อเดือนกันยายน 2563 เหตุผลที่ดัดแปลงให้ไม่มีหัวเพื่อสื่อถึงการกระทำของรัฐที่ไม่เห็นหัวประชาชน

‘33712’ ได้แรงบันดาลใจมาจากวงกลมอภิปรายของพรรคก้าวไกลในปี 2565 ที่แสดงสัดส่วนงบประมาณสถาบันกษัตริย์ จำนวน 33,712 ล้านบาท 

‘ทางม้าลาย’ เกิดจากการร่วมงานออกแบบระหว่าง PrachathipaType กับ Headache Stencil ที่ต้องการสื่อถึงทางม้าลายอันเป็นสัญลักษณ์จราจรสากล ที่มอบความปลอดภัยให้กับผู้เดินถนน โดยมีนัยถึงรัฐว่า ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะหรืออำนาจใดๆ ก็ควรเคารพสวัสดิภาพของประชาชนด้วยการหยุดเพื่อให้ประชาชนได้ไปต่อ        

นอกจากฟอนต์แล้วก็ยังมีโปรเจกต์ทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน ก-ฮ ที่เขาทุ่มแรงกายและเวลาเยอะมากในปีที่แล้วแต่โดนปฏิเสธอย่างกะทันหัน รวมถึง Performance ของนักเรียนเลว และเพลงของวง RAD ที่ไม่ได้เกิดนิทรรศการขึ้นก็ได้รวมบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน

ม็อบเป็นพื้นที่รวมผลงานของเหล่าครีเอทีฟ         

ย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ของม็อบคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘ม็อบสามนิ้ว’ ด้วยรูปแบบสันติวิธีตามสถานที่ต่างๆ นำมาสู่ผลงานครีเอทีฟมากมาย เราสงสัยว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

“การที่มีอะไรเจ๋งๆ เกิดขึ้นในม็อบเยอะแยะผมไม่ได้รู้สึกดีใจ เราอาจจะชื่นใจที่เห็นอะไรอย่างนั้น แต่มันทำให้กลับมาตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้แทนที่มันจะถูก express ออกมาในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นปกติวิสัย มันเสือกต้องมาอั้นกันแล้วมาโผล่ในม็อบ

“แทนที่เราจะมองว่าม็อบเป็นพื้นที่ให้เขาปล่อยของ ควรจะตั้งคำถามว่าแล้วทำไมเขาต้องไปปล่อยของในม็อบวะ ก็เพราะว่าสภาพสังคมปกติแม่งเหี้ยไง ผมรู้สึกว่ามันเป็นสันติวิธีมากเลยนะที่หลายๆ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เลือกที่จะมาปล่อยในม็อบ แต่มันอดคิดไม่ได้ว่าถ้าบ้านเมืองเรามีประชาธิปไตย และมีรัฐที่เข้าใจในบทบาทที่ควรจะเป็นในการคอยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เราก็เจริญได้

“ในพื้นที่ของม็อบเราเห็นความต้องการของสังคมจริงๆ พอเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ แค่ทำประชามติแม่งยังทำไม่ได้โดยอิสระเลย บางคนอาจจะมาด้วยความแค้น บางคนอาจจะมาด้วยความหวัง บางคนอาจจะมาเพราะอยากสังเกตการณ์ แต่สุดท้ายเราหวังว่ามันจะมีภาพรวมของสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม หากการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เราเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือมีอุดมการณ์แบบไหนก็สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ 

สำหรับบุคคลทั่วไป อย่างน้อยก็อาจจะจุดประกายทำให้เห็นว่า typography ก็เป็นศาสตร์ศิลปะประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้คนเห็นถึงคุณค่าของตัวอักษรไทยมากขึ้น 

สำหรับนักกิจกรรม อาจจะเห็นว่าตัวอักษรก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองที่สามารถใช้ได้ 

สำหรับนักประวัติศาสตร์ อาจจะทำให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่บันทึกความเป็นไปทางการเมืองในห้วงเวลาหนึ่งของสังคมไทยเช่นกัน  

“ในทุกยุคทุกสมัยใครก็ตามที่ทำหนังสือออกมาเขาต้องเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในม็อบ พื้นที่ชุมนุม หรือโซเชียลมันเป็นสิ่งที่ชั่วคราวมากเลย ถ้ามันมี physical objects อยู่ มันคือหลักฐาน เราไม่รู้หรอกว่าทำออกมาแล้ววันหนึ่งใครจะได้มาค้นพบมันในอนาคต 

ถึงตอนนั้นถ้าสิ่งนี้มันจะเป็นเรื่องน่าหัวเราะ ก็ให้ประวัติศาสตร์เป็นผู้ตัดสินแล้วกัน” 

สามารถสั่งซื้อหนังสือ MOB TYPE ทางออนไลน์ได้ที่เพจ PrachathipaType