การร่ายรำหรือการทำพิธีบวงสรวงขอฝนจากเทพเจ้าเป็นสิ่งที่พบเห็นในท้องถิ่นของหลายประเทศ ที่ไทยมีแห่นางแมว ญี่ปุ่นก็มีรำขอฝน แต่เราเพิ่งได้รู้เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นมีทำพิธีขอให้ฝนหยุดด้วย! แถมยังใช้การสาดน้ำใส่กันที่ดูเผินๆ แล้วคล้ายเทศกาลสงกรานต์ในบ้านเราเหลือเกิน
พิธีที่ว่านี้คือการร่ายรำที่เรียกว่า Mizudome no Mai ซึ่งแปลว่า การเต้นขอให้ฝนหยุด ตรงตัวตามจุดประสงค์ของงาน แม้จะเป็นงานเล็กๆ ที่เมือง Ota ในโตเกียว แต่สืบทอดกันมายาวนานจนจะครบรอบ 700 ปีใน ค.ศ. 2023 นี้ Mizudome no Mai เป็นเทศกาลที่สำคัญของท้องถิ่นที่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนมากมาย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโตเกียวด้วย
เทศกาลนี้จัดทุกเดือน ก.ค. ของทุกปี น่าเสียดายที่กว่าจะรู้จัก ปีนี้เขาก็จัดไปแล้วอย่างเงียบๆ ไม่โปรโมตเพราะกลัวคนมาเยอะ เกรงใจยอดคนติดโควิด ถึงจะไม่ได้ดูของจริง แต่เราได้คุยกับ Hiroshi Narushima เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์เทศกาล Mizudome no Mai ผู้ใจดีเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของเทศกาลที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็แทบไม่รู้จักนี้ให้เราฟัง
แห่ครั้งแรกเมื่อ 700 ปีก่อน…
ในปี 1321 (บางทฤษฎีบอกว่า 1429) แถบคันโต (โตเกียวและจังหวัดอื่นๆ ข้างเคียง) เกิดหน้าแล้งยาว เจ้าอาวาสวัด Gonshoji เลยนำฟางมามัดเป็นรูปมังกรถวายเทพเจ้า ฝนจึงตกลงมาให้ชาวบ้านดีใจ แต่หลังจากนั้น 2 ปี กลายเป็นว่าฝนตกยาวไม่หยุดสร้างความเสียหายให้ไร่นา ชาวบ้านเลยแอบโทษพิธีกรรมเมื่อ 2 ปีก่อน ร้อนถึงเจ้าอาวาสที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาเอาใจคนในชุมชนอีกครั้ง คราวนี้พระท่านเลยทำหน้ากากหน้าสิงโต (shishi) ขึ้นมา 3 อัน คำว่า ชิชิ หมายถึงสิงโตหรือสิงห์ที่ปกป้องศาลเจ้า ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าชิชิ ที่แปลว่าน้ำหยุดพอดี ดูเป็นมงคล หน้ากากนี้ทำมาให้ชาวนาใส่เต้นขอพรจากเทพมังกรให้ฝนหยุดตก แน่นอนว่าฝนหยุดตกดังใจหวัง ชาวบ้านแสนยินดีเลยร่ายรำถวายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แห่มังกรให้ฝนตก แห่สิงโตให้ฝนหยุด
พิธีกรรมของเทศกาลในปัจจุบันจะเริ่มตั้งแต่การจำลองเหตุการณ์ตอนขอฝน จวบจนการเต้นขอให้ฝนหยุด พาร์ตแรกเรียกว่า Michiyuki เริ่มต้นตั้งขบวนกันที่ด้านนอกวัด ห่างไปประมาณ 200-300 เมตร ชายฉกรรจ์ 2 คนจะเข้าไปอยู่ในเชือกถักซึ่งทำจากฟางเพื่อรับบทเป็นมังกร ทีมงานคนอื่นๆ จะอยู่รอบๆ ช่วยกันยกร่างมังกรนี้ไปตามทาง ปิดท้ายด้วยกลุ่มเด็กๆ ถือแท่งไม้ไผ่เคาะพื้น ถือพัดลายดอกโบตั๋น ยืนเป็นการ์ดป้องกัน
เมื่อพิธีเริ่มต้นขึ้นทีมงานจะยกร่างมังกรมุ่งหน้าสู่วัด โดยจะหยุดเป็นระยะให้เด็กๆ ในท้องถิ่นนำน้ำมาสาดแล้วค่อยเดินหน้าต่อ ทีม 2 หนุ่มเจ้ามังกรงานหนักหน่อยต้องรับมือกับน้ำไปพลาง เป่าหอยสังข์ในมือไปด้วยเป็นระยะเพื่อแสดงความยินดีปรีดา เมื่อทั้งลากทั้งสาดกันมาจนถึงวัด จะถือว่าท่านเทพมังกรบินกลับสวรรค์เรียบร้อย ฝนเลยหยุดตก เข้าสู่โหมดเต้นระบำสิงโตขอบคุณกันไป เป็นอันจบพิธี
แห่แหนกันมาด้วยความผูกพัน
เทศกาลนี้มีความ DIY สูงมาก คนที่รับบทเป็นเทพมังกรเอย คนรำขอบคุณ คนเล่นดนตรี คนทำเวที ส่วนมากคือคนในชุมชนนี้ทั้งนั้น เชือกที่ถักเป็นเทพมังกรก็ถักกันใหม่เองทุกปี เด็กๆ ที่เดินขบวนและทำหน้าที่สาดน้ำก็มาจากโรงเรียนอนุบาลในท้องถิ่นและเหล่าลูกเสือในพื้นที่ สถานที่จัดงาน สถานที่ซ้อมรำ ซ้อมดนตรี ก็ใช้พื้นที่วัดซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับคนในชุมชน ข้าวของใช้เสร็จก็เก็บไว้ที่วัดสแตนด์บายรอใช้ใหม่ปีหน้า ของกรุบกริบอย่างหน้ากากสิงโต ชุดที่ใส่รำก็นำจัดใส่ตู้โชว์สวยๆ ทำมุมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้คนที่ไม่ได้มาร่วมงานดูย้อนหลังได้ เรียกได้ว่าทำกันเองทุกอย่างเท่าที่ทำไหว คนละไม้คนละมือ
“เมื่อก่อนกำหนดวันที่จัดงานชัดเจน แต่ว่าเปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. แทนตั้งแต่ปีที่แล้วเพราะว่าทีมงานไม่สะดวก ส่วนมากลางานวันธรรมดาลำบาก เพราะต่างก็มีงานทำกันทั้งนั้น เช่น หนึ่งในพี่ผู้ชายที่รับบทเป็นเทพมังกร จริงๆ แล้วอาชีพหลักคือช่างไม้ แต่รับบทเป็นมังกรนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ ทำต่อเนื่องมา 16-17 ปี หนึ่งในคนที่รำก็เป็น ผ.อ.โรงเรียนประถม นอกจากนี้ก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัย มีพนักงานออฟฟิศด้วย ผมเองก็เป็นคนขับรถบัสมาก่อน เวลาออกงานต่างถิ่นก็เอารถมาพาทุกคนไปด้วยกัน แต่ละคนทำงานต่างสายกันมาก แต่ยังไงก็กลับมารวมตัวกันทุกปี”
คนที่มาชมเทศกาลนี้ก็เช่นกัน มีทั้งคนในชุมชน คนในสมาคม และคนย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วแต่ก็กลับมาทุกปีด้วยความผูกพัน บางคนไม่ได้กลับมาดูเฉยๆ กลับมาช่วยงานด้วยก็มี ดูความสัมพันธ์แนบแน่นมากๆ
“คนจากชุมชนข้างเคียง หรือเพื่อนของเพื่อนชวนกันมาอีกทีก็มีนะ ผมว่าคนอยากมาร่วมงานนี้เพราะว่าเป็นเทศกาลที่มีความเป็นมายาวนาน อย่างผมเองก็อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก ได้เห็นมาตลอด โตขึ้นมาก็อยากมีส่วนร่วม ตอนนี้พวกเด็กๆ ก็สนใจอยากฝึกเป่าขลุ่ยและร่ายรำกันหลายคนเลยล่ะ”
แห่ต่อไปจะได้ไม่ลืมกัน
ฟังดูเหมือนพิธีง่ายๆ สาดน้ำกันสนุกๆ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสานต่อวัฒนธรรมในชุมชนเล็กๆ ต่อเนื่องมาได้ถึง 700 ปี จริงๆ แล้ววัดนี้ยังมีการร่ายรำเก่าแก่อีกอย่างชื่อเหมือนวัดเป๊ะๆ ว่า Gonshoji-mai แต่คนที่เต้นได้เสียชีวิตไปหมดแล้วสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่เหลือผู้สืบทอดมายังปัจจุบัน
Mizudome-mai เองก็เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะว่าคนที่เต้นได้และรู้จักเทศกาลนี้เสียชีวิตระหว่างสงครามเกือบหมด คนที่เหลืออยู่เลยรวมตัวกันรื้อฟื้นเทศกาลนี้ขึ้นมาใหม่หลังสงครามจบในปี 1954 ยิ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโตเกียวเลยได้โอกาสตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้นมาและพัฒนาเป็นสมาคมอนุรักษ์ที่จริงจังยิ่งขึ้น ทุกวันนี้จึงมีทีมงานคอยดูแลทั้งเรื่องการจัดงาน การหางบประมาณ การทำกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมและที่สำคัญที่สุด การฝึกสมาชิกรุ่นใหม่เพื่อสานต่อการร่ายรำนี้ต่อไป
“โควิดทำให้เราไม่ได้จัดมา 2 ปี ถ้าปีนี้ไม่จัดอีก คนน่าจะลืมวิธีรำ วิธีเตรียมงานต่างๆ แน่ๆ เลยขอจัดแบบระมัดระวังและไม่โปรโมตเยอะ คนจะได้ไม่มามากจนเกินไป ประจวบกับปีนี้มีคนอยากเข้าร่วมเยอะพอดี น่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้เผยแพร่และดึงดูดคนรุ่นใหม่มารับช่วงต่อ คนมาดูอาจจะน้อยกว่าทุกปีแต่ก็ยังถือว่าเยอะเลยล่ะ”
แม้จะเป็นงานฟรีที่ใครก็สามารถอาสามาช่วยกันได้ แต่บทบาทสำคัญของงานที่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษอย่างบทเทพมังกร บทคนร่ายรำและเล่นดนตรีส่วนมากจะเป็นอาสาสมัครขาประจำที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี เพราะกว่าจะฝึกจนทำได้คล่องต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี
“บทเทพมังกรนี่หายากเพราะรับบทหนักมาก ทั้งโดนม้วน โดนสาดน้ำ ต้องเป่าหอยอีก บางคนอยากทำนะ แต่เป่ายังไงก็ไม่มีเสียงออกมา (หัวเราะ) จังหวะก็สำคัญ ต้องรู้จักออมแรงให้เป่าได้จนถึงหน้าวัดด้วย
อย่างพี่ช่างไม้ที่เป็นเทพมังกรก็ทำมา 17 ปีแล้ว เขาก็บ่นอยู่ว่าหาคนรับช่วงต่อยาก งานจัดแค่ปีละครั้ง โอกาสสอนและฝึกซ้อมก็น้อย แต่ละคนมีงานประจำอื่นอีก”
จริงๆ แล้วคนอยากมาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ก็มีไม่น้อย ตอนที่มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายงานเทศกาลแล้วพี่เทพมังกรมีโอกาสได้หยอดออกอากาศว่า ‘หาคนมารับช่วงต่ออยู่นะครับ’ วันรุ่งขึ้นก็มีคนส่งอีเมลมาสมัครทันที แต่ปัญหาอยู่ที่ความถี่ในการจัดงานที่ส่งผลต่อระยะเวลาในการฝึกซ้อม การจัดงานปีละครั้ง และการฝึกซ้อมแค่ 2-3 เดือนก่อนเริ่มงาน ในขณะที่ชีวิตก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบอื่นๆ อีกยิ่งทำให้การส่งต่อวิชาเป็นไปได้อย่างช้าๆ
“อย่างผมเองก็อยากพักแล้ว ทำมา 54 ปีแล้ว แต่หาคนมาทำแทนไม่ได้ แต่ก็ยังดีนะที่เด็กๆ ในชุมชนหลายคนสนใจ พอเห็นคนอื่นๆ ในชุมชนทำก็อยากจะมีส่วนร่วมบ้าง มาฝึกเป่าขลุ่ยตั้งแต่เด็ก ตอนนี้อาจจะยังไม่ได้เข้าร่วมแสดงวันจริง แต่ก็ได้มาฝึกร่วมกันทุกปี ลูกชายของพี่ช่างไม้ก็เหมือนจะพูดว่าอยากทำเหมือนพ่อนะ” ฮิโรชิเล่าด้วยสายตาที่มีความหวัง
เราเองก็คิดว่าแม้เทศกาลนี้จะไม่แมส แต่ก็มีแฟนคลับกลุ่มย่อยสนใจอยู่ไม่น้อยเลยนะ ถึงขนาดที่ปีนี้เริ่มทำเชือกท่านมังกรสำหรับโชว์โดยเฉพาะเป็นปีแรก เพราะมีคนมาที่วัดแล้วรู้สึกเสียใจที่ไม่มีให้ดู (ปกติใช้แล้วต้องแกะทิ้งไปทุกปีเพราะสภาพเยินเกินกว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่หรือตั้งโชว์)
“พูดตรงๆ เลย ใครที่มาดูเทศกาลแล้วเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม รู้สึกว่าฉันก็ทำได้นะ หรือแค่อยากลอง อยากเรียนรู้เพิ่มเติมก็แวะมาได้เลย เราเปิดรับทุกคน”
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างเราก็ขอให้คนแห่กันมาสมัครไม่หยุด พวกเราจะได้ชมเทศกาลเก่าแก่กันต่อไปนานๆ