Sapporo Waterworks Museum การประปาพาเพลิน

เรามีเวลาว่าง 3 ชั่วโมงในเมืองซัปโปโรก่อนจะต้องแจ้นไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับโตเกียว

สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ก็เคยไปหมดแล้ว มิวเซียมกรุบที่อยากไปก็ไกลเกิน เลยเปิด Google Maps จิ้มดูแบบมั่วๆ ให้โชคชะตานำพา และแล้วนิ้วชี้มือขวาก็พาเราไปที่ Sapporo Waterworks Museum หรือ ‘พิพิธภัณฑ์การประปาเมืองซัปโปโร’ นั่นเอง

ถ้าให้พูดแบบจริงใจก็ไม่คิดว่ามันจะสนุก แต่หนึ่งคือใกล้ สองคือรูปที่อยู่ในกูเกิลแมปส์มีความจิบลิอ่อนๆ และสาม-สำคัญมาก เข้าฟรี!

แต่สิ่งที่กูเกิลไม่ได้บอกคือ เดินขึ้นเนินสูงมาก เหนื่อยมาก และท่อประปาที่ทำเป็นประตูเท่ๆ มีกลิ่นอายจิบลิ (ที่คิดเองเออเอง) นั้นก็คือตั้งอยู่เหงาๆ หน้าลานที่มีน้ำพุและเด็กเล็กๆ มาวิ่งเล่นมากมาย

ตอนแรกใจแป้ว อา ฉันโดนหลอกมาลานน้ำพุพารากอนของซัปโปโร แต่พอเข้าไปข้างในอาคาร มันดีมาก สนุกมาก โลกของการประปาพาเพลินได้ขนาดนี้เลยเหรอ

Sapporo Waterworks Museum เป็นอาคาร 3 ชั้นที่ตั้งอยู่บนเชิงเขา Moiwa อยู่ในพื้นที่เดียวกับสำนักงานของการประปา มีลานน้ำพุและสวนกรุบกริบที่เชิญชวนให้ผู้คนพาลูกมาเที่ยวเล่น หรือจะพกเบนโตมานั่งกินข้าวชมวิวเมืองสวยๆ ก็ได้ แน่นอนว่าหัวใจของที่นี่คือตัวพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ด้านใน หลังจากรีโนเวทใหม่ในปี 2007 ที่นี่ก็มีคนมาเยี่ยมชมครบ 1 ล้านคนไปเมื่อปี 2017 เฉลี่ยมีคนมาปีละประมาณ 100,000 คน ถือว่าแจ่มมากสำหรับพิพิธภัณฑ์น้ำประปาที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของการท่องเที่ยว

คอนเซปต์ของที่นี่คือ การเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับระบบน้ำประปา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และน้ำ อย่างสนุกสนานผ่านการมีประสบการณ์ร่วมกัน ใช้ตัวอักษรอธิบายให้น้อยที่สุดแต่ให้ความสนุกนำมาซึ่งความอยากรู้อยากเห็น

ขอบอกเลยว่าเก่งมาก

ตัวฉันซึ่งไม่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ การจ่ายน้ำประปาใดๆ เดินวนเวียนเล่นสนุกอยู่ในนั้นถึง 2 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำน้ำประปาตั้งแต่แหล่งน้ำไปจนถึงการเดินท่อส่งน้ำให้ถึงบ้านเรือน การตรวจสอบคุณภาพน้ำ การเช็กท่อน้ำรั่ว มิเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ

เขาฉลาดมากที่เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่ความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ ความสำคัญของแม่น้ำในเมืองซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนแล้วค่อยๆ ขยับสู่เรื่องวิทยาศาสตร์ผ่านการเล่นสนุกจากเกมต่างๆ ที่ทำให้รู้จักคุณสมบัติของน้ำได้ดียิ่งขึ้น จากนั้นถึงเข้าโหมดจริงจังแบบแบ๊วๆ เช่น การจำลองกระบวนการกรองน้ำ-ปรับคุณภาพน้ำประปาแบบแบ่งแต่ละขั้นตอนเป็นห้องเล็กๆ ให้เด็กๆ เข้าไปสำรวจข้างในเหมือนเล่นเกมตะลุยด่าน ทำพื้นใสให้เห็นระบบการเดินท่อ อธิบายหน้าที่ของข้อต่อและอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีโรงหนังแบบมินิ ฉายการ์ตูนและหนังสั้นที่เล่าเรื่องราวของน้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย และด้วยความญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีเรื่องการประปากับแผ่นดินไหว เขาโชว์ให้ดูว่าท่อสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างไร โดยให้เราลองสั่นท่อได้จริงเพื่อให้เห็นภาพสุดๆ (และสร้างความอุ่นใจให้ชาวเมือง) แม้แต่โซนที่เรามักง่วงอย่างประวัติศาสตร์ความเป็นมาคือเท่มาก เขาบอกว่าพยายามทำไม่ให้น่าเบื่อด้วยการเล่าเรื่องผ่านสิ่งของ เราเลยได้เห็นมิเตอร์วินเทจเท่ๆ มากมาย ยูนิฟอร์ม รถประจำตำแหน่ง อุปกรณ์ในการทำงานต่างๆ ซึ่งชวนให้คิดว่าช่างประปานี่โคตรคูล

Sapporo Waterworks Museum ตั้งใจเน้นการเล่นสนุกในการเล่าเรื่องที่จริงจังเพราะว่าเขาอยากให้เด็กๆ และคนทั่วไปมีความคุ้นเคยและตื่นเต้นไปกับน้ำ เผื่อจะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น และถ้าสนใจจริงจังขึ้นมา เขาก็มีห้องสมุดเข้าฟรีไว้ให้ค้นคว้าเพิ่มเติม สำหรับวัตถุประสงค์นี้ โซนการใช้น้ำในครัวเรือนเด็ดมาก เขาจำลองบ้านเล็กๆ แล้วนำขวดน้ำไปวางให้ดูว่าเราใช้น้ำในแต่ละวันมากขนาดไหน เช่น แปรงฟัน 6 ลิตร ซักผ้า 54 ลิตร แช่น้ำในอ่างใช้ 200 ลิตร โดยที่ฝั่งตรงข้ามเป็นเรื่องการประปาในต่างประเทศว่าเขาลำบากยังไง เห็นแล้วก็ต้องมีจุกๆ อยากใช้น้ำอย่างประหยัดกันบ้างล่ะ

อวยมาขนาดนี้ จริงๆ แล้วที่ทำของดีให้เข้าฟรี ทางพิพิธภัณฑ์เขาแอบมี hidden agenda (อันดีงาม) อยู่นิดหน่อย นั่นคือ ภารกิจการสร้างบุคลากรและการส่งต่อองค์ความรู้ทั้งในและนอกประเทศ

การประปาของซัปโปโรเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1937 ซึ่งตอนนั้นยังมีคนใช้น้ำแค่ 9 หมื่นกว่าคน แต่ตอนนี้ (ข้อมูลปี 2021) มีเกือบ 2 ล้านคนแล้ว จากโรงงานและสำนักงานเล็กๆ ก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงพัฒนาเทคนิคต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศด้วย เขาร่วมมือกับทาง JICA จัดเทรนนิ่งให้ช่างประปาในประเทศกำลังพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ส่วนงานในประเทศ เขาบันทึกวิดีโอเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ เพื่อใช้สอนพนักงานรุ่นต่อไป ความรู้จะได้ไม่ตกหล่นหายไปเมื่อรุ่นใหญ่เกษียณ

ความพยายามสร้าง awareness ให้คนสนใจงานประปามากขึ้นก็น่าสนใจ เช่น จัดอีเวนต์เผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึกและความประทับใจ เช่น งานชิมน้ำที่ Sapporo Aqua Garden ให้คนที่มางานชิมรสน้ำประปาฮอกไกโดเทียบกับน้ำแร่ และกิจกรรมให้เด็ก ป.3-ป.4 มาลองฝึกทำงานประปาอย่างง่ายๆ เช่น เช็กมิเตอร์ ซ่อมท่อที่รั่ว เป็นต้น แน่นอนว่าความสนุกใน Sapporo Waterworks Museum ก็มีเป็นส่วนสำคัญ

เชื่อว่าเด็กๆ ที่ไปเที่ยวมิวเซียมในวันนี้ ต้องมีสักคนกลับไปทำงานในการประปาในวันหน้า

AUTHOR