If I Were a Carpenter : ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าสุดเท่ของคนรุ่นใหม่

เมื่อขับรถเลี้ยวเข้ามาตามซอยแยกย่อยของสุขุมวิท
71 สักพัก
จะพบกับตู้คอนเทนเนอร์สีเงินที่รอบบริเวณมีท่อนไม้ ตอไม้ วางเรียงราย นี่คือโชว์รูมและที่ทำงานของ
If I Were a Carpenter แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์เรียบ ดิบ
เท่ ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ น็อต-วชิร ทองหล่อ กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มที่หันมาเอาดีทางด้านงานไม้
และดูแลกิจการนี้ให้อยู่มาตลอดรอดฝั่งได้หลายปี
ทั้งที่ไม่เคยเรียนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือทักษะงานช่างไม้เลย

เราเปิดประตูตู้คอนเทนเนอร์เข้าไป
กวาดตามองเฟอร์นิเจอร์ไม้สวยเก๋รอบตัว ก่อนจะเริ่มต้นบทสนทนากับวชิร ถึงเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สุดเท่แบรนด์นี้

ชอบแล้วก็ลุยเลย

“แบรนด์ If I Were a Carpenter เปิดมาได้ 3 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากสมัยเราไปเรียนกราฟิกดีไซน์ที่อังกฤษ
เราได้ไปช่วยเพื่อนที่เรียนด้านออกแบบภายในทำงานไม้ แล้วรู้สึกชอบ
เริ่มจากชอบลายไม้ พื้นผิวของไม้
ติดใจพวกไม้เก่าเพราะชอบที่มันมีเรื่องราวในตัวเอง ผสมกับที่ชอบความดิบของมันอยู่แล้ว
แล้วแต่ละชิ้นก็จะไม่ซ้ำกันด้วย หลังจากนั้นก็ค่อยๆ มาศึกษาดูงานเอาเอง
ทำเวิร์กช็อปไม้ที่บ้าน ลองผิดลองถูกเอง ไม่เคยเรียนเลย
เราว่างานไม้สนุกตรงเป็นงานที่ได้สัมผัสวัสดุจริงๆ
อย่างงานกราฟิกดีไซน์อาจจะอยู่ในคอมเป็นหลัก แต่งานแบบนี้ได้ทดลอง ได้ออกไปหาวัสดุ
แล้วก็ขึ้นเป็นงานจริง ได้ทดลอง เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชัน เอามานั่งกินข้าวได้
เอามานอนได้”

ต่อยอดเป็นธุรกิจ

“ตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าจะเอาดีทางด้านนี้เลยหรือเปล่า
คือมันเริ่มจากความชอบ แต่พอจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำชิ้นตัวอย่าง
ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็มีฟีดแบ็กจากเพื่อนๆ เยอะ จนมีคนขอซื้อเรา
ก็เลยเริ่มคิดที่จะเปิดร้าน ที่จริงเราศึกษาเรื่องธุรกิจไม่เยอะ
คือชอบแล้วก็อยากจะทำ แต่ก็ดูประมาณนึงว่ามันไม่ได้ลงทุนเยอะ
เอาที่เราควบคุมอยู่ เราก็เปิดร้านตรงเอกมัยซอย 10 เป็นร้านแรก แต่ข้อจำกัดของเอกมัยคือมันเล็ก แล้วเราวางโต๊ะได้แค่ 2 ตัวก็เต็มร้านแล้ว
เลยย้ายมาอยู่ตรงนี้ซึ่งเป็นที่ที่เอาไว้เก็บของ เป็นเวิร์กช็อปอยู่แล้ว ทุกอย่างของที่นี่จะใช้วัสดุรีไซเคิล
เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตัวร้านก็เป็นตู้เก่า แผ่นสังกะสีก็เคยเป็นแคมป์คนงานเก่า”

เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราว

“สิ่งสนุกที่สุดในการทำ
If I Were a
Carpenter คือการเดินทางไปหาไม้เก่า ได้ไปต่างจังหวัดบ่อยๆ แรกๆ เราก็ไปตามร้านขายไม้ แต่ตอนนี้เราไปรื้อบ้านไม้เองเลยเพื่อเอาไม้มา
คือจะมีบ้านเก่าที่เขาขายไม้อย่างเดียว เราก็ไปซื้อแล้วก็จ้างทีมไปรื้อ ได้มาทั้งหลังเลย เราก็จะเลือกเฉพาะไม้ที่ชอบคือไม้เต็ง
ตะแบก ไม้แดง ประดู่ อย่างอื่นเราไม่เอา ส่วนที่ไม่ใช้ไม้สักนี่ไม่ใช่ไม่ชอบ
แค่เห็นคนใช้ค่อนข้างเยอะเลยอยากจะทดลองสีไม้อย่างอื่นบ้าง พอไปรื้อบ้านเอง เราก็ได้ความรู้ว่าไม้แต่ละที่ที่ได้มาเคยเป็นอะไรมาก่อน ทำให้เห็นคุณค่าของวัสดุที่เราชอบอยู่แล้วมากกว่าเดิม สมมติได้ไม้แผ่นยาวๆ มา เราก็ไม่อยากตัดมันทิ้ง
อยากเก็บให้มันอยู่สภาพเดิมแล้วค่อยมาดีไซน์อะไรเข้าไป รักษารูปแบบเดิมเอาไว้อย่างที่คุณนั่งอยู่
ไม้ด้านบนมาจากแผ่นกระบะหลังรถบรรทุกสมัยก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้มันอาจใช้เหล็กหมดแล้ว”

“จุดเด่นของ If I Were a Carpenter คือเราให้ความสำคัญกับเรื่องราว ตั้งแต่ไปรื้อบ้าน คัดไม้ แล้วก็มาดีไซน์แบบจนจบมาเป็นโปรดักต์ของเรา
เราจะเล่าเรื่องตลอด มีถ่ายรูปให้คนเห็นกระบวนการเราตลอด
ไม่ได้เปิดร้านแล้วมีแค่ของมาตั้งเฉยๆ เราสนใจว่าเราเอาไม้มาจากไหน
ก็อยากให้ลูกค้ารู้ด้วยว่าไม้นี้มาจากจังหวัดหนองบัวลำภูนะ อยากเล่าเรื่องตรงนี้ให้คนได้รู้ว่าเราไปได้ไม้มายังไง”

เรียบง่ายแต่มีสไตล์

“จริงๆ แล้วดีไซน์เราค่อนข้างง่าย
แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปดูตามเวิร์กช็อปไม้ของชาวบ้าน เห็นวิธีการทำ ในความง่ายของเขาที่ถ้าต้องการทำโต๊ะตัวนึง
ก็แค่ตอกมันขึ้นมาง่ายๆ เราไปดูแล้วสนใจตรงนั้น เลยประยุกต์แล้วถอดความออกมา
เอามาใส่รายละเอียดให้เป็นงานดีไซน์ อย่างการเข้าไม้ ชาวบ้านอาจจะแค่ตอกตะปู
แต่เราก็อาจจะเอาเดือยเสียบประกอบเข้าไป แต่พอมองแล้ว มันก็ยังมีความเรียบง่ายอยู่
ไม่ได้โค้งงอแบบโมเดิร์น แล้วเราก็เน้นที่ลายไม้เป็นหลัก อย่างส่วนหน้าของโต๊ะ
เราก็จะเรียงไม้มาเลยให้สีมันเข้ากัน”

สร้างงานตามใจลูกค้า

“เรามีงานวางขายบางส่วน
แต่ค่อนข้างน้อย เพราะงานส่วนมากเราเป็น made to order ถ้าลูกค้าอยากได้ชิ้นที่พอดีกับบ้าน
เราก็จะไปที่บ้าน ไปวัดขนาด คุยกันว่าเขาชอบแบบไหน
ต้องดูด้วยว่าบ้านเขาอารมณ์ประมาณไหน เราจะทรีตลูกค้าแบบไม่เป็นทางการมาก
บางทีก็ไปนั่งฟังเพลงกับเขา (หัวเราะ) กินกาแฟ แล้วก็จะได้รู้จักกัน ช่วยให้ออกแบบให้เขาได้ง่าย นึกภาพออกประมาณนึง”

 

เติบโตขึ้นในทุกวัน

“ตอนแรกเราทำโปรเจกต์เล็กๆ
อย่างทำเฟอร์นิเจอร์ให้ห้องคอนโดฯ ตอนนี้เราเริ่มรับโปรเจกต์ใหญ่
อย่างทำเฟอร์นิเจอร์ให้คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์อาหาร แต่งร้านได้ ทำบิลต์อินได้นิดหน่อยถ้าสเกลไม่ใหญ่
เมื่อก่อนเราทำเป็นชิ้นไปวางอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีทีมที่เข้าไป customize ที่บ้านได้
เหมือนเป็นกึ่งงานอินทีเรียแต่สเกลไม่ใหญ่ก็ทำได้เหมือนกัน นี่คือการเติบโตขึ้นจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว”

อยู่กับสิ่งที่มั่นใจแล้วว่าชอบ

“3 ปีที่ผ่านมา นอกจากเราชอบที่ได้เดินทางไปเลือกไม้
การที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็เป็นเรื่องที่ชอบ การได้เจอลูกค้าที่เข้าใจเราก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้อยากทำต่อ
แล้วเราก็ได้มีสตูดิโอทำงานที่นั่งออกแบบหรือไปเลื่อยไม้ข้างหลังก็ได้ เจอเพื่อนๆ
น้องๆ ที่มาฝึกงานด้วย ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ”

“ถ้าคนอยากเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์แบบนี้
เขาต้องมั่นใจก่อนว่าชอบสิ่งนี้จริงๆ แล้วก็รู้ว่าอยากได้อะไรจากมัน
ไม่ใช่แค่ชอบเพราะสวย แล้วอยู่กับมันได้แค่ปีเดียวก็เบื่อ และควรมองระยะยาวด้วยว่าการทำสิ่งนี้จะมั่นคงมั้ย
หมายถึงเราจะทำมันไปได้ยาวๆ เลยหรือเปล่า เพราะมันเป็นงานค่อนข้างหนัก ไม่ใช่งานที่ง่าย
ทั้งหาไม้ สร้างเป็นโต๊ะ ขายมัน แล้วก็อยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

“ถ้าคนอยากเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ เขาต้องมั่นใจก่อนว่าชอบสิ่งนี้จริงๆ แล้วก็รู้ว่าอยากได้อะไรจากมัน ไม่ใช่แค่ชอบเพราะสวย แล้วอยู่กับมันได้แค่ปีเดียวก็เบื่อ และควรมองระยะยาวด้วยว่าการทำสิ่งนี้จะมั่นคงมั้ย หมายถึงเราจะทำมันไปได้ยาวๆ เลยหรือเปล่า เพราะมันเป็นงานค่อนข้างหนัก ไม่ใช่งานที่ง่าย ทั้งหาไม้ สร้างเป็นโต๊ะ ขายมัน แล้วก็อยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

If I Were a Carpenter

ประเภทธุรกิจ: ร้านเฟอร์นิเจอร์
คอนเซปต์: ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ขายเฟอร์นิเจอร์จากไม้เก่า
เจ้าของ: น็อต-วชิร ทองหล่อ (28 ปี)
เว็บไซต์: facebook.com l ifiwereacarpenter
cargocollective.com/ifiwereacarpenter

ภาพ ชนพัฒน์
เศรษฐโสรัถ

AUTHOR