ตามไปดูงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่จี้จุดคนกรุงเทพฯ ในนิทรรศการ Bangkok Objects

ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดกิจกรรมให้เหล่าคนรักงานสร้างสรรค์ได้เสพคอนเทนต์เจ๋งๆ ผ่านผลงานออกแบบของเหล่าดีไซเนอร์ไทยและต่างประเทศ อัดแน่นชนิดที่ว่ามีเวลาว่าง 3 วันยังไงก็ตามไปเก็บได้ไม่หมด

หนึ่งกิจกรรมที่เราไม่อยากพลาด (และไม่อยากให้ทุกคนพลาดเหมือนกัน) คือการเดินดูนิทรรศการ ‘Bangkok Objects’ ที่รวมงานออกแบบไอเดียจี้ใจคนกรุงฝีมือนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง

ทันทีที่เดินเท้าไปถึงโกดังของบ้านเลขที่ 1 ตรอกกัปตันบุช เราพบ หมี-พิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Plural Designs หนึ่งในสตูดิโอออกแบบที่เป็นสมาชิก Design Plant ทีมจัดนิทรรศการนี้ยืนต้อนรับเราอยู่ที่ประตูทางเข้าโกดังวินเทจที่ด้านในบรรจุงานดีไซน์ 29 ไอเดียที่รอเราและเหล่าคนรักงานเฟอร์นิเจอร์เข้าไปเยี่ยมชม

แต่ก่อนที่จะไปเพลิดเพลินกับไอเดียสุดสนุก เราอยากให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักกับกลุ่ม Design Plant พร้อมไถ่ถามถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาต้องหยิบวัตถุแบบกรุงเท้พกรุงเทพมาออกแบบใหม่

รวมกลุ่มดีไซเนอร์ที่เชื่อว่าถ้าไปด้วยกัน เราจะไปได้ไกล

Design Plant เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2013 จากการรวมตัวของ 5 สตูดิโอออกแบบ ได้แก่ THINKK Studio, Dots Design Studio, Atelier2+, PDM Brand และ Plural Designs ฟอร์มทีมเพื่อไปแสดงงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ครั้งแรกในงาน Thailand International Furniture Fair (TIFF) 2013 โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการผลักดันคุณภาพให้กับแวดวงอุตสาหกรรมออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไทย

“การรวมตัวกันมีข้อดีหลายอย่าง ถ้าเราแพ็กกันเป็นก้อนไปจัดนิทรรศการหรือโชว์สินค้าในงานแฟร์ การรวมตัวของเราจะทำให้งานมีอิมแพกต์มากกว่าการไปแบบกระจัดกระจาย เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะแชร์กัน หรืออย่างเรื่องการผลิต เราก็จะแชร์ resource แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน”

“เราพยายามรวมกลุ่มไปออกแฟร์ให้ได้ทุกปี ระหว่างปีก็จัดนิทรรศการร่วมกันในนาม Design Plant ชวนดีไซเนอร์คนอื่นมาร่วมด้วยเรื่อยๆ ปี 2014 ก็มีโปรเจกต์ชื่อ Emerging Plant เปิดพื้นที่ให้น้องๆ นักศึกษาที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเองได้เอาผลงานมาแสดงในงานด้วย ซึ่งปกติงานแฟร์บ้านเราจะเน้นขายของมากๆ แต่ความตั้งใจของเราคืออยากสมดุลให้งานแสดงสินค้ามี approach จากทางดีไซเนอร์เข้ามา คือต้องทำทั้ง 2 พาร์ตสลับกัน ถ้าเราโฟกัสไปที่งานขายเพียงอย่างเดียว บางทีวงการออกแบบก็อาจจะไม่เกิดอะไรใหม่เลย” อดีตสถาปนิกเล่าสิ่งที่เขาอยากเห็นในตลาดงานออกแบบให้ฟัง

โชว์เคสที่ไม่ได้มีดีแค่โชว์ของ

29 ทีมดีไซเนอร์ที่จัดแสดงงานออกแบบในนิทรรศการทั้งหมดเป็นทีมที่เคยร่วมงานกับ Design Plant มาก่อน หรืออาจจะเป็นน้องๆ นักศึกษาที่เคยร่วมโปรเจกต์ Emerging Plant ขั้นแรกทุกคนจะต้องส่ง proposal เข้ามาและพูดคุยกับทีมงานว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารประเด็นที่น่าสนใจ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้เสมอไป

“หลายแบรนด์ใน Design Plant มีโอกาสเข้าร่วมเทศกาล Design Week ในต่างประเทศ เราได้แรงบันดาลใจกลับมามากมายและได้เห็นว่าเทศกาลงานออกแบบคือการแสดงศักยภาพและพลังของอุตสาหกรรมงานออกแบบในแต่ละประเทศ ในไทยเองก็มีนักออกแบบเก่งๆ เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ individual แรงขับเคลื่อนในวงการออกแบบบ้านเราก็อาจจะมีไม่มากพอ แต่พอเรามี Bangkok Design Week สตูดิโอในทีม Design Plant ส่วนใหญ่มีพื้นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะงั้นเราก็ต้องแสดงความเป็นเจ้าบ้านและเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ ต่อไป”

ตั้งโจทย์ถามอดีตเพื่อตามหาอนาคต

“เราตั้งคำถามกลับไปยังธีมหลักของงาน ‘The NEW-ist Vibes’ ว่าการมุ่งให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และการก้าวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวจะเวิร์กจริงมั้ย ถ้าเราไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักจุดยืนของตัวเองหรือความเป็นตัวเราดีพอ ฉะนั้นพวกเราควรจะนิยามเรื่องนี้กันยังไง ถ้าให้โฟกัสแคบลงมาอีก เรานึกถึงสิ่งของในกรุงเทพฯ เพราะสิ่งของแต่ละอย่างที่เราเห็นกันล้วนมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับที่อื่น เราเลยให้โจทย์ทีมดีไซเนอร์ไปว่าอยากให้ลองหยิบวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมาตั้งคำถาม ตีความหมายหรือหยิบมาออกแบบใหม่จนเกิดเป็นนิทรรศการ Bangkok Objects นี้ขึ้นมา”

“อย่างงานจาก Plural Designs เราสนใจเรื่องโครงสร้างชั่วคราวง่ายๆ ที่คนทำขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากร้านขายของตอนกลางคืนในย่านพัฒน์พงษ์ที่เขาต้องต่อและรื้อโครงเหล็กร้านตัวเองทุกวัน เราว่าความชั่วคราวนี่แหละเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของกรุงเทพฯ” ผู้ก่อตั้ง Plural Designs เล่าถึงงานดีไซน์ที่ตนนำมาจัดแสดงพร้อมๆ กับพาเราเดินสำรวจชิ้นงานอื่นๆ ที่จัดแสดงในโกดังวินเทจแห่งนี้

เราสะดุดตากับบล็อกปูพื้นที่เห็นตามฟุตปาธถูกเอามาแขวนติดผนังดีไซน์ให้เป็นที่เก็บเครื่องเขียนที่ดูยังไงก็น่าใช้

จ่าเฉยที่มักจะถูกสังคมมองว่าไม่มีประโยชน์ ดีไซเนอร์เจ้าของผลงานนี้เลยจับจ่าเฉย (และผองเพื่อนของจ่า) มายืนตะเบ๊ะท่าเป็นที่เปิดขวดสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่หยุดมอง

นิทรรศการที่อยากบอกว่างานออกแบบคือเรื่องรอบตัว

“การที่นักออกแบบลุกมาทำอะไรบางอย่างกับวัตถุพวกนี้ เราอยากให้คนที่มานิทรรศการได้เห็นไอเดียใหม่ๆ จากสิ่งของที่พวกเขาเห็นในชีวิตประจำวัน เราอยากสื่อสารเรื่องง่ายๆ ว่างานออกแบบมีอยู่รอบตัวเรา บางทีคุณไม่ได้เรียนออกแบบมา แต่งานออกแบบก็เป็นสิ่งที่คุณทำได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายธรรมชาติของการออกแบบคือการแก้ปัญหา อย่างชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบ แต่สิ่งที่เขาทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขอะไรบางอย่างก็เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

นอกจากโชว์เคสแล้ว Design Plant ยังมีการจัด Exhibition Talk ให้ 29 ทีมดีไซเนอร์เจ้าของผลงานมาเล่าไอเดียสร้างสรรค์ของตัวเองในวันเสาร์ที่ 27 มกราคม และวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็นคิวของวิทยากรที่อยู่ในแวดวงงานสร้างสรรค์ ได้แก่ ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการกรมส่งเสริมการส่งออก (DITP), อัครา นักทำนา ช่างภาพสตรีทชื่อดัง, วนัส โชคทวีศักดิ์ และณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก 2 ดีไซเนอร์จาก ease studio, ศรัณย์ ภิญญรัตน์ CEO จากฟังใจ และนัฐพงษ์ พัฒนโกศัย สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สนใจการออกแบบพื้นที่สาธารณะและเมืองด้วย Design Thinking

ใครที่ชอบงานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เจ๋งๆ หรืออยากเสพไอเดียสนุกๆ อย่าลืมตามไปดูนิทรรศการ ‘Bangkok Objects’ ของทีม Design Plant ที่โกดังบ้านเลขที่ 1 ตรอกกัปตันบุช และติดตามรายละเอียดกิจกรรม Talk เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Design-PLANT-141504359340956/ ถ้าพลาดขึ้นมา ระวังจะเสียใจ !

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงษ์

AUTHOR