บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
คล้ายว่าช่วงเวลาก่อนหน้าที่หายนะจะโรยตัวมาเยือนนั้นงดงามเสมอ หลังการขึ้นแสดง Ruben (Riz Ahmed) มือกลองวงเฮฟวี่เมทัลและ Lou (Olivia Cooke) นักร้องนำผู้เป็นแฟนสาวกลับมาพักผ่อนในรถบ้านหลังเล็กๆ ของทั้งคู่ บทสนทนาสั้นๆ พอจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าพวกเขาคบหากันมาสี่ปี ส่วนร่องรอยนับไม่ถ้วนบนข้อมือของลูบอกเป็นนัยๆ ว่าเธออาจผ่านเรื่องร้ายแรงมาแล้วก่อนหน้านี้
ระหว่างคู่รักทั้งสอง รูเบนเป็นคนที่ตื่นเช้ากว่า เขาลุกขึ้นมาต้มกาแฟจากกาใบน้อย เงี่ยหูฟังเสียงหวีดของไอน้ำขณะที่โยนผักเข้าเครื่องปั่นเพื่อทำอาหารเช้าง่ายๆ เขารื่นรมย์กับเสียงดังลั่นของผักที่โดนบดจนละเอียด เทใส่แก้ว ยกไปวางไว้ให้ลู ถือเป็นการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ก่อนออกเดินทางเพื่อไปแสดงในเมืองอื่นในค่ำคืนที่กำลังจะมาถึงนี้–โดยไม่รู้เลยว่ามันคือเช้าวันสุดท้ายที่เขาจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่คุ้นเคยมาโดยตลอด
รูเบนก็เป็นเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ เขาใช้ชีวิตอิงแอบกับเสียงในชีวิตประจำวันซึ่งหมายรวมถึงบทบาทของเขาในฐานะมือกลองของวงอินดี้ที่มีแฟนสาวเป็นนักร้องนำ ความสำคัญของการได้ยินนั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตที่แยกออกจากกันไม่ขาด โลกของรูเบนจึงเอียงวูบเมื่อเช้าวันหนึ่งเขาพบว่าเสียงของการต้มกาแฟนั้นอื้ออึงกว่าที่เคย เสียงของแฟนสาวก็คล้ายว่าดับหายไปดื้อๆ นั่นเป็นสาเหตุให้รูเบนแอบไปพบแพทย์เพียงเพื่อจะได้คำตอบซึ่งเป็นเสมือนฝันร้ายที่สุดของเขาว่า ในอีกไม่นานหูของเขาจะดับสนิท หนทางเดียวที่จะประคองความสามารถในการได้ยินไว้ได้คือการหลีกเลี่ยงพื้นที่เสียงดัง รวมถึงเข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมราคาสูงลิ่วเกินกว่าที่รูเบนจะฝันถึง โศกนาฏกรรมของรูเบนเริ่มขึ้นจากตรงนั้นเอง ตรงที่เขาตระหนักได้ว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ร่างกายที่ทรยศนี้กำลังจะแยกเขาห่างออกจากตัวตนและสิ่งที่เขารักจนกลายเป็นชีวิตอย่างการเป็นนักดนตรี
Sound of Metal (2019) คืองานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ Darius Marder ภายหลังจากที่กำกับ Loot (2008) สารคดีว่าด้วยช่วงเวลา 60 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นายทหารสองคนหวนกลับไปยังสมรภูมิเพื่อขุดเอาสมบัติที่ฝังไว้กลับมา และเขียนบทร่วมเป็นครั้งแรกใน The Place Beyond the Pines (2012) ซึ่งส่งให้มาร์เดอร์กลายเป็นที่รู้จักในฐานะคนเขียนบทหน้าใหม่ทันที ทว่าหลังจากผลงานสองเรื่องนั้น เขาก็เว้นว่างไปนานและหวนกลับคืนสังเวียนอีกครั้งกับ Sound of Metal หนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา รวมถึงสาขาเขียนบทยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
หนังขับเน้นให้เห็นว่าภาวะหูหนวกที่รูเบนค่อยๆ เผชิญนั้นคุกคามเขาหลายระดับด้วยกัน ระดับแรกคือการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งเขาต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แม้แต่การสื่อสารกับลูที่ต้องผ่านการเขียนหวัดๆ บนกระดาษโน้ตหรือผ่านโทรศัพท์ที่สุดท้ายแล้วก็มีประโยชน์แค่ใช้ส่งข้อความ ระดับต่อมาคือความหวาดหวั่นว่าเขาอาจกลับไปประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีไม่ได้อีก นำไปสู่การคุกคามระดับสุดท้าย คือการที่ความหมายของชีวิตที่สั่งสมมา สิ่งที่เขานิยามตัวเองว่าเป็นนักดนตรี เรื่องราวต่างๆ ที่เคียงคู่ร่วมวงกับลูอาจกลายเป็นแค่อดีตที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป และนั่นอาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะสั่นสะเทือนไปจนถึงระดับฐานรากของชีวิตรูเบน เพื่อจะแก้ไขปัญหานี้ ลูจึงส่งรูเบนไปอยู่กับชุมชนคนหูหนวกในป่ากว้าง ซึ่งแม้จะคัดค้านวิธีการนี้หัวชนฝา แต่รูเบนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำยอมเข้าร่วมไปอยู่กับชุมชนดังกล่าว เฝ้ามองแฟนสาวที่ต้องแยกห่างเพื่อกลับไปใช้ชีวิตกับพ่อและครอบครัวเดิมของเธอ
ในชุมชนแห่งนั้น รูเบนได้เจอกับ Joe (Paul Raci) ชายสูงวัยที่เป็นเสมือนผู้นำชุมชนและสมาชิกที่บกพร่องทางการได้ยินอีกจำนวนหนึ่ง โจบอกว่าเขาเสียการได้ยินไปจากการออกรบในสงครามเวียดนามก่อนที่จะโดนเมียบอกเลิกพร้อมหอบลูกน้อยหนีหายไปจากชีวิต “แต่ไม่ใช่เพราะฉันหูหนวกหรอกนะ” โจบอก “เธอจากไปเพราะฉันติดเหล้าต่างหาก”
ในขณะที่รูเบนรังเกียจเดียดฉันท์ภาวะหูหนวกราวกับมันเป็นโรคร้ายของชีวิต โจ–และอาจจะรวมถึงคนอื่นๆ ในชุมชนกลับเปิดใจยอมรับจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกันกับภาวะนี้ พวกเขาใช้ภาษามือในการสื่อสาร พบปะสังสรรค์ และร่วมไปโบสถ์ด้วยกันทุกสุดสัปดาห์เพื่อแสดงความขอบคุณพระเจ้าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต แน่นอนว่ารวมถึงอาการหูหนวกด้วย สวนทางกับรูเบนที่ต้องดิ้นรนต่อต้านทุกลมหายใจ และแม้ว่าจะเรียนรู้ภาษามือได้คล่องแคล่ว สนิทสนม และเป็นที่รักของคนในชุมชนแล้วก็ตาม แต่เป้าหมายเดียวที่เขาเก็บงำไว้ไม่บอกใครคือการเข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม
มีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือหลังการเรียนภาษามือหรือสังสรรค์กับคนอื่นๆ ในชุมชน รูเบนก็ว่างจนหอบเอาอุปกรณ์ช่างออกมานอกอาคารไปยืนซ่อมหลังคาเพียงลำพังเพื่อฆ่าเวลาทิ้ง ในตอนนั้นเองโจได้เดินมาบอกเขาว่า “นายไม่จำเป็นต้อง ‘ซ่อม’ อะไรหรอก” ก่อนจะออกคำสั่งว่า นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป รูเบนต้องไปใช้เวลาช่วงเช้านั่งนิ่งๆ ในห้องที่โจจัดเตรียมไว้ให้ พร้อมสมุดบันทึกหนึ่งเล่มที่รูเบนจะเขียนหรือวาดอะไรลงไปก็ได้ “ไม่มีใครอ่านหรอก” โจบอก “แต่คุณจงเขียนเถอะ” ในวันแรก รูเบนจึงต้องเผชิญกับ ‘ความเงียบ’ ที่ถั่งโถมเข้าหาเมื่อเขานั่งอยู่ลำพังในห้องเล็กๆ จนต้องระเบิดอารมณ์อย่างกราดเกรี้ยว ไม่อาจยอมรับความเงียบสงัดสุดขีดที่เกิดขึ้นในห้องนั้นได้แม้ตัวเองจะอยู่ในภาวะหูหนวกก็ตามที
‘พระยาห์เวห์จึงตรัสกับโมเสสว่า ใครเล่าสร้างปากมนุษย์หรือทำให้เป็นใบ้ หูหนวก ตาดี หรือตาบอด? เรา ยาห์เวห์ เป็นผู้ทำไม่ใช่หรือ?’ อพยพ 4:11
สิ่งที่น่าสนใจคือ สำหรับโจและคนอื่นๆ ภาวะหูหนวกนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้และไม่ส่งผลอันใดต่อความพินาศต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมียทิ้งหรือลูกหนีหายก็ตาม สิ่งที่สร้างความพินาศนั้นคือสิ่งที่ ‘มนุษย์’ เป็นคนลงมือทำเองอย่างการติดเหล้าต่างหาก ในมุมกลับกัน รูเบนซึ่งไม่ได้เชื่อในพระเจ้ามาตั้งแต่ต้น เล่าให้โจฟังว่าเขาเคยติดเฮโรอีนอย่างหนักก่อนจะเลิกขาดเมื่อสี่ปีก่อนสมัยที่เริ่มคบกับลู และชีวิตก็เริ่มไปได้สวยในเส้นทางดนตรีหรือแม้แต่มิติอื่นๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะพังพินาศต่อหน้าเมื่อวันหนึ่ง ร่างกายของเขาก็ทรยศขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่รูเบนไม่อาจยอมรับได้จนต้องดั้นด้นเอาทรัพย์สินที่มีไปจำนำเพื่อเอาเงินก้อนไปผ่าตัด
ประโยค “นายไม่จำเป็นต้อง ‘ซ่อม’ อะไรหรอก” ของโจจึงไม่ได้หมายถึงแค่หลังคาหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ เท่านั้น แต่มันยังหมายรวมถึงสิ่งที่รูเบนนิยามว่าเป็นความบกพร่องของชีวิต นั่นคือสภาวะหูหนวก สำหรับโจและคนอื่นๆ ในโบสถ์ ความเงียบงันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้และมนุษย์ไม่มีสิทธิใดไปเอื้อมมือเปลี่ยนแปลงมัน เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับว่ามนุษย์ปฏิเสธพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนสิ่งที่พระองค์อยากให้มนุษย์ได้เรียนรู้ “ทุกเช้าที่นายไปนั่งในห้องนั้นตามที่ฉันแนะนำ นายได้เรียนรู้ถึงความสงบเงียบ (stillness) บ้างไหม เพราะอันที่จริงแล้วนายพูดถูกเลย รูเบน” โจกล่าว “โลกนี้มันขยับไปเรื่อยๆ และมันก็อาจกลายเป็นพื้นที่อันโหดร้ายก็ได้ แต่สำหรับฉัน ช่วงเวลาแห่งความสงบนั้น พื้นที่แห่งนั้น คืออาณาจักรของพระเจ้า อันเป็นพื้นที่ซึ่งจะไม่มีวันทอดทิ้งนายเป็นอันขาด”
แต่ถึงที่สุดแล้ว รูเบนก็ตัดสินใจเดินออกจาก ‘อาณาจักรของพระเจ้า’ ด้วยการเข้ารับการผ่าตัดและนั่นทำให้เขาอยู่ในชุมชนผู้พิการทางการได้ยินไม่ได้อีกต่อไป
‘พวกเขาพาชายหูหนวกพูดติดอ่างคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ และทูลขอให้พระองค์วางพระหัตถ์บนคนนั้น พระองค์จึงทรงพาคนนั้นออกห่างจากฝูงชนไปอยู่ตามลำพัง แล้วทรงเอานิ้วพระหัตถ์แยงเข้าที่หูทั้งสองของชายคนนั้น และทรงบ้วนน้ำลาย เอานิ้วพระหัตถ์จิ้มแตะลิ้นของคนนั้น แล้วพระองค์แหงนพระพักตร์ดูฟ้าสวรรค์ ถอนพระทัยและตรัสกับคนนั้นว่า เอฟฟาธา แปลว่า จงเปิดออก แล้วหูของคนนั้นก็ปกติ สิ่งที่ขัดลิ้นนั้นก็หลุดและเขาพูดได้ชัด’ มาระโก 7:32–36
สำหรับหลายคน การพยายามแก้ไข ดัดแปลงสภาวะบางอย่างของร่างกายนั้นถือเป็นการท้าทายธรรมชาติและอาจหมายถึงการล้ำเส้นความสามารถของพระผู้เป็นเจ้าอย่างที่เคยเป็นข้อถกเถียงกันว่าการทำศัลยกรรมนั้นถือว่าผิดหลักศาสนาคริสต์หรือไม่ หากเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้สร้างมนุษย์ มนุษย์มีสิทธิให้มนุษย์ด้วยกัน (แพทย์) ดัดแปลงร่างกายเราหรือไม่ ใครคือเจ้าของอภิสิทธิ์เหนือร่างกายเราอย่างแท้จริง
สำหรับโจ การที่รูเบนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อจะกลับไปยังโลกใบเดิมของเขาอีกครั้งจึงเท่ากับการไม่ยอมรับสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ และทำให้เขาจำต้องขับรูเบนออกจากชุมชนผู้บกพร่องทางการได้ยินอย่างขมขื่น ฟากรูเบนนั้นก็ได้รู้ว่าแม้จะเข้ารับการผ่าตัดแล้ว แต่เสียงที่เขาได้ยินนั้นไม่ใช่เสียงเดิมอีกต่อไป และโลกใบเก่าของเขาก็ไม่อาจกลับมาได้อีกตลอดกาล
หากเราจะมองมันผ่านสายตาของโจผู้เคร่งครัดในศาสนา เราอาจบอกได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ไม่มีทางทัดเทียมพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าจะในแง่ของการดัดแปลงหรือแก้ไขสิ่งใด และก็อาจจะบอกได้อีกเช่นกันว่าในภาวะช่วงเวลาแห่งการดิ้นรนต่อสู้กับความเงียบงันที่พระเจ้ามอบให้นั้น ที่สุดแล้วรูเบนก็ได้พบกับความสงบเงียบอย่างที่โจพยายามพร่ำบอกเขามาโดยตลอด เมื่อเขาดั้นด้นไปหาคนรักถึงฝรั่งเศสเพียงเพื่อจะพบว่าไม่มีอะไรจะกลับมาเหมือนเดิมอย่างที่เขาปรารถนาอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินของตัวเอง วงดนตรี หรือลู
ฉากสุดท้ายที่เขาตัดสินใจปล่อยมือจากโลกที่ ‘ขยับไปเรื่อยๆ และมันก็อาจกลายเป็นพื้นที่อันโหดร้าย’ ด้วยการปลดอุปกรณ์ผ่าตัดที่แนบติดอยู่กับหูออกแล้วปล่อยตัวเองล่องลอยอยู่ในความเงียบสงัดและนิ่งสงบ นั่นจึงอาจหมายถึงการที่เขาได้พบกับอาณาจักรของพระเจ้าที่โจเคยเอ่ยถึงแล้วก็เป็นได้