The Trial of the Chicago 7 ว่าด้วยศาลที่เอียงไม่เป็นท่าและอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่หายไป

the trial of the chicago 7 ภาพยนตร์

บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

1.

สำหรับสหรัฐอเมริกา ปี 1968 มีนัยสำคัญทั้งในระดับการเมืองและในระดับวัฒนธรรม มันเป็นปีที่สงครามเวียดนามซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1955 (และสิ้นสุดลงในปี 1975) ได้ถูกจดจำในฐานะสงครามที่ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เป็นปีที่ Martin Luther King Jr. ถูกลอบสังหาร และเป็นปีที่ Lyndon B. Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 36 และตัวแทนจากพรรคเดโมแครตประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยถัดไปอีก

Lyndon B. Johnson

ภายหลังจากคำประกาศของจอห์นสัน Robert F. Kennedy อดีตอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและน้องชายของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้ตัดสินใจลงแข่งหวังชิงเก้าอี้ตัวแทนพรรคเดโมแครตเพียงเพื่อจะถูกลอบสังหารในเดือนเมษายน ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พรรคเดโมแครตก็จัดงานประชุม Democratic National Convention (DNC) ที่เมืองชิคาโก เพื่อกำหนดตัวแทนพรรคที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป สหรัฐอเมริกาในเวลานั้นปกคลุมไปด้วยความตึงเครียด ทั้งต่ออนาคตที่ไม่รู้จะยังไงดีของการเมืองภายในประเทศ และต่อความพิพักพิพ่วนทางศีลธรรมจากการรบราฆ่าฟันในต่างแดน ไม่มีใครสามารถตอบได้เลยว่าพญาอินทรีควรจะสยายปีกไปในทิศทางใด

ท่ามกลางความวุ่นวายและเอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ กลุ่ม National Mobilization Committee to End the War in Vietnam (MOBE) ขบวนการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม และกลุ่ม Youth International Party (YIP) หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า Yippies กลุ่มพลังคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าที่ก่นด่าระบบ ความเหลื่อมล้ำ และศรัทธาในการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้ร่วมกันวางแผนว่าจะใช้วาระการประชุม DNC ที่เมืองชิคาโกในการป่าวประกาศถ้อยคำต่อต้านสงครามเวียดนามตลอดจนเหล่าผู้มีอำนาจและชนชั้นนำ พร้อมกับแผนของกลุ่มพลังเยาวชนอีกสองกลุ่มคือ Black Panther Party กลุ่มพลังทางการเมืองของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และกลุ่ม Southern Christian Leadership Conference ที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติก็หวังจะใช้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีในการอ่านแถลงการณ์ของพวกเขาต่อหน้าสาธารณชน

เป็นปี 1968 ที่เมืองชิคาโกนี่เองที่เรื่องราวของ The Trial of the Chicago 7 ได้เริ่มต้นขึ้น

2.

The Trial of the Chicago 7 คือภาพยนตร์ที่กำกับและเขียนบทโดย Aaron Sorkin ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยผลงานในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์มากกว่าจากผลงาน The Social Network (2010) และซีรีส์เรื่อง The Newsroom (2012-2014) ถึงอย่างนั้น The Trial of the Chicago 7 ก็ไม่ใช่ผลงานการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของซอร์กิน ก่อนหน้านี้เขาเคยกำกับภาพยนตร์ดราม่า-อาชญากรรมเรื่อง Molly’s Game (2017) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของ Molly Bloom นักสกีชาวอเมริกันผู้ได้รับบาดเจ็บกะทันหันก่อนจะได้คัดตัวไปแข่งโอลิมปิก ผลงานการกำกับครั้งแรกของซอร์กินกวาดคำชื่นชมไปไม่น้อย เช่นเดียวกับ The Trial of the Chicago 7 ที่ก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างพร้อมเพรียงทั้งจากเหล่าคนดูและบรรดานักวิจารณ์ 

The Trial of the Chicago 7

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ความเก่งกาจของซอร์กินยังคงปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครในเรื่องที่ฉับไว ลื่นไหล และคมคาย ยิ่งเมื่อฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ของศาลด้วยแล้ว ‘คำพูด’ จึงไม่เพียงสะท้อนทัศนคติของตัวละครในเรื่องมากกว่าการกระทำ แต่ยังเป็นพลังสำคัญที่คอยขับเคลื่อนภาพยนตร์เรื่องนี้

The Trial of the Chicago 7 เล่าเรื่องราวของ 7 ชีวิตที่โดนตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำในการก่อจลาจลระหว่างการประชุม DNC จนนำมาซึ่งความวุ่นวายใหญ่โต 7 ชีวิตที่ว่านี้ประกอบด้วย Tom Hayden (Eddie Redmayne) จากกลุ่ม Students for a Democratic Society (SDS), Rennie Davis (Alex Sharp) กับ David Dellinger (John Carroll Lynch) จากกลุ่ม MOBE, Abbie Hoffman (Sacha Baron Cohen) กับ Jerry Rubin (Jeremy Strong) จากกลุ่ม Yippies และ Lee Weiner (Noah Robbins) กับ John Froines (Daniel Flaherty) ที่เป็นผู้ร่วมชุมนุม

The Trial of the Chicago 7

พ้นไปจากบุคคลทั้ง 7 Bobby Seale (Yahya Abdul-Mateen II) จากกลุ่ม Black Panther ซึ่งอ้างว่าเขาไม่ได้อยู่ในชิคาโกระหว่างการจลาจลด้วยซ้ำกลับโดนหางเลข ถูกจับรวบมาพิจารณาคดีร่วมกับแกนนำทั้ง 7 ด้วย The Trial of the Chicago 7 จึงเป็นเรื่องราวการฟาดฟันระหว่างผู้ต้องหา 8 คนกับ Julius Hoffman (Frank Langella) ผู้พิพากษาที่แสดงอคติอย่างชัดเจนว่ายืนอยู่คนละฝั่งกับผู้ต้องหาและต้องการจะเอาผิดพวกเขาให้ได้

The Trial of the Chicago 7 นั้นตัดสลับอยู่ระหว่างช่วงเวลาที่แกนนำทั้ง 7 กำลังถูกดำเนินคดีบนชั้นศาลและเหตุการณ์จลาจลระหว่างการประชุม DNC โดยที่ซอร์กินพยายามฉายภาพให้เห็นว่าตำแหน่งแห่งที่ของตัวละครทั้ง 7 อยู่ตรงไหน ตลอดจนกำลังทำอะไรอยู่ก่อนหน้า และในจังหวะการปะทะกันระหว่างมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอ้างว่ามาดูแลรักษาความปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นชนวนสำคัญที่ปลุกให้การประท้วงอย่างสันติกลายเป็นการจลาจลขึ้นมา

ว่ากันตรงๆ ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือท่าทีของซอร์กินซึ่งดูจะเข้าอกเข้าใจผู้ชุมนุมประท้วงและยืนอยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขามากกว่าจะเลือกวางตัวเป็นกลาง ตัวละครในเรื่องต่างยืนยันชัดเจนว่าการพิพากษาครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องของความยุติธรรม ซึ่งซอร์กินแสดงให้เห็นท่าทีเลือกปฏิบัติของศาลอย่างแจ่มชัด ไม่พยายามจะหาเหตุผลมาสนับสนุนความเอียงกระเท่เร่ของศาลแต่อย่างใด เช่นนี้แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนชั้นศาลจึงชัดเจนในตัวมันเองนับตั้งแต่นาทีแรกจนกระทั่งนาทีสุดท้ายว่าไม่มีความยุติธรรมอยู่ในพื้นที่ของศาล สิ่งที่พอจะมีก็เพียงแค่ผู้พิพากษาที่ตีฆ้องร้องเต้นไม่ต่างอะไรกับจำอวด โอ้อวดอำนาจที่อันตรธานหายไปจากสายตาคนดูแทบจะในทันทีที่ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์

The Trial of the Chicago 7

ในแง่นี้ The Trial of the Chicago 7 จึงเป็นภาพยนตร์ที่น่าพึงพอใจอย่างที่สุดเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศของสังคมในปัจจุบันที่ผู้พิพากษา อำนาจศาล และความยุติธรรมไม่เพียงแต่จะโดนตั้งคำถาม หากยังถูกสบถและด่ากราดไม่เว้นวัน แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายภาพความเน่าหนอนผุพังของความยุติธรรมในสหรัฐอเมริกาอย่างเข้าอกเข้าใจ แต่กลับมีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ซอร์กินเลือกจะบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่พาดเกี่ยวอยู่กับเหตุการณ์

3.

อย่างที่ได้เกริ่นไว้คร่าวๆ ว่าแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน คือตัวแทนจากกลุ่ม Yippies ซึ่งศรัทธาในอุดมการณ์มาร์กซิสต์ และปฏิเสธที่จะประนีประนอมกับระบบ ในหลายฉากซอร์กินพยายามแสดงให้เห็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างเฮย์เดนจากกลุ่ม Students for a Democratic Society หรือกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยกับฮอฟฟ์แมนอยู่บ่อยๆ ด้วยเพราะฝ่ายหนึ่งดูจะยังศรัทธาในระบบและการเลือกตั้งอยู่บ้าง ในขณะที่อีกฝั่งกลับหมดศรัทธาต่อระบบการปกครองอันเน่าหนอนและมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากการปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้น

ในฉากหนึ่ง เฮย์เดนตอกกลับฮอฟฟ์แมนว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เขาพร่ำพูดซ้ำๆ นี้เป็นเพียงแค่การ ‘ไขว้เขวไปจากการปฏิวัติที่แท้จริง (real revolution)’ แน่นอนว่าความขัดแย้งกันทางความหมายของการปฏิวัติในลักษณะนี้น่าสนใจและชวนให้อยากติดตามต่อไปว่าซอร์กินจะฉายภาพนิยามของการปฏิวัติที่แตกต่างกันของตัวละครทั้งสองยังไง แต่มันกลับเป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อหนังไม่ได้อธิบายให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าการปฏิวัติที่เฮย์เดนกับฮอฟฟ์แมนยึดถือต่างกันคืออะไรกันแน่ 

The Trial of the Chicago 7

มากไปกว่านั้น เรื่องราวของหนังกลับคลี่คลายในทิศทางที่สับสนไปกันใหญ่ เมื่อในฉากสุดท้ายก่อนที่หนังจะจบลง ฮอฟฟ์แมนผู้ประกาศตนว่ามุ่งมั่นจะโค่นล้มระบบกลับอธิบายกับศาลว่า ‘การโค่นล้มรัฐบาล’ ที่เขาหมายถึง แท้ที่จริงแล้วคือกระบวนการที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปีอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ‘การเลือกตั้ง’ ฮอฟฟ์แมนยืนยันว่า “ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยของเราเป็นเรื่องอัศจรรย์ แต่ตอนนี้กลับถูกหยิบใช้โดยคนน่ารังเกียจ” พูดอีกอย่างคือในท้ายที่สุดแล้ว อุดมการณ์ของฮอฟฟ์แมนได้พลิกกลับมาสมาทานระบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยก่นด่าอย่างเกลียดชัง มิหนำซ้ำ นอกจากหนังจะไม่อธิบายว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ฮอฟฟ์แมนพร่ำบ่นตลอดเรื่องคืออะไรแล้ว ซอร์กินยังเลือกจะขยำทิ้งอุดมการณ์ของตัวละครที่ไม่เคยจะอธิบายให้เข้าใจนี้ทิ้งไปอย่างไม่ใยดีเพื่อบทสรุปที่ ‘ประนีประนอมพอ’

เราอาจแยกความน่ากังขาของฉากนี้เป็น 2 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือความไม่แน่ชัดทางความคิดของตัวละครฮอฟฟ์แมนที่อยู่ดีๆ ก็พลิกกลับมาสมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาปฏิเสธอย่างแข็งขันแทบจะตลอดเรื่อง ส่วนในระดับที่สองซึ่งสอดคล้องกับระดับแรกคือตัวละครฮอฟฟ์แมนที่ซอร์กินเขียนขึ้นนี้แตกต่างจากฮอฟฟ์แมนในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

อย่างที่รู้กันว่า The Trial of the Chicago 7 สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ นั่นจึงทำให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องล้วนมีตัวตนจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่ฮอฟฟ์แมน ซึ่งกว่าครึ่งค่อนเรื่องซอร์กินก็ดูจะถ่ายทอดชีวิตและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวละครนี้ออกมาอย่างซื่อสัตย์และตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ทว่าเป็นในฉากท้ายๆ เรื่องที่ฮอฟฟ์แมนดูจะเลิกศรัทธาในการปฏิวัติวัฒนธรรมและการโค่นล้มระบอบเอาเสียดื้อๆ นี่เองที่ขัดแย้งกับตัวตนของฮอฟฟ์แมนในความเป็นจริงอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ Ben Burgis คอลัมนิสต์ประจำ Jacobin นิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐอเมริกาเขียนว่าฮอฟฟ์แมนตัวจริงไม่มีทางที่จะพูดทำนองว่าเขาศรัทธาในการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาออกมาแน่ๆ “สำหรับฝ่ายซ้ายแล้ว ฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความรำคาญใจต่อการที่ซอร์กินนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในชิคาโกผ่านมุมมองใหม่ที่ประนีประนอมความเห็นอกเห็นใจของเขาต่อผู้ประท้วงกับทัศนคติที่ ‘เป็นกลาง’ (centrist) ของเขา”

The Trial of the Chicago 7

สำหรับเบอร์กิสแล้ว คำว่าเป็นกลางที่เขาหมายถึงคืออุดมการณ์ทางการเมืองของซอร์กินที่จัดวางตัวเองอยู่ระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษนิยม มุ่งหวังว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากการประนีประนอมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ทว่าฮอฟฟ์แมนในความเป็นจริงไม่ใช่บุคคลที่จะสมาทานการประนีประนอมอย่างที่ซอร์กินนำเสนอแต่อย่างใด และการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่เขาหมายถึงก็ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่คือการปฏิวัติจริงๆ มันคือการถอนรากถอนโคนระบบและโค่นล้มชนชั้นนำอย่างถึงแก่น ไม่ใช่การพูดลอยๆ ว่า ‘ที่ระบบมีปัญหาเป็นเพราะคนเลวไม่กี่คน’ อย่างที่หนังพยายามเล่า

น่าเสียดายว่า ในขณะที่ The Trial of the Chicago 7 พยายามจะแสดงความเข้าอกเข้าใจอุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย แต่กลับเป็นความเข้าอกเข้าใจต่ออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่สูญหายไปจากความจริง แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะถึงที่สุดแล้วนี่คือภาพยนตร์ที่มีเป้าหมายคือการฉายภาพความอยุติธรรมในสหรัฐอเมริกาผ่านการฟาดฟันกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่าง ‘ธรรมะ’ ในนามของปวงประชากับ ‘อธรรม’ ในฉากหน้าของความยุติธรรม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนบรรยากาศของโลกในปัจจุบันที่ผู้คนต่างพากันก่นด่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจได้อย่างแม่นยำ ถึงอย่างนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าซอร์กินเลือกจะนำเสนออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายอย่างไม่สลักสำคัญและเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของฮอฟฟ์แมนให้แตกต่างไปจากความเป็นจริงกลับแสดงให้เห็นความคิดทางการเมืองของซอร์กินได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับซอร์กินแล้วระบบไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือตัวบุคคลต่างหาก ซึ่งต่อให้วัยรุ่นเลือดร้อนบางคนจะมองว่าการที่ประเทศจะก้าวต่อไปข้างหน้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบอย่างถอนรากถอนโคน ซอร์กินก็เพียงแต่จะตบไหล่พวกเขาเบาๆ และบอกให้นั่งลงก่อน ใจเย็นไว้ อดใจรอแค่เพียง 4 ปีแล้วความผุพังของประเทศในตอนนี้ก็อาจถูกซ่อมแซมรักษา บูรณะขึ้นมาใหม่ สำหรับซอร์กินแล้วการพร่ำพูดถึงการปฏิวัติไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฮอฟฟ์แมนหรือวัยรุ่นเลือดร้อนคนไหน ทุกคนก็เพียงแต่จะต้องสะดุ้งตื่นจากฝันเพื่อก้าวเดินเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง

กามันไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น พลางเฝ้าฝันว่าสักวันเราจะได้คนดีๆ มาเป็นผู้นำประเทศสักที

สำหรับสหรัฐอเมริกา ปี 1968 มีนัยสำคัญทั้งในระดับการเมืองและในระดับวัฒนธรรม มันเป็นปีที่สงครามเวียดนามซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1955 (และสิ้นสุดลงในปี 1975) ได้ถูกจดจำในฐานะสงครามที่ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เป็นปีที่ Martin Luther King Jr. ถูกลอบสังหาร และเป็นปีที่ Lyndon B. Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 36 และตัวแทนจากพรรคเดโมแครตประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยถัดไปอีก
สำหรับเบอร์กิสแล้ว คำว่าเป็นกลางที่เขาหมายถึงคืออุดมการณ์ทางการเมืองของซอร์กินที่จัดวางตัวเองอยู่ระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษนิยม มุ่งหวังว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากการประนีประนอมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ทว่าฮอฟฟ์แมนในความเป็นจริงไม่ใช่บุคคลที่จะสมาทานการประนีประนอมอย่างที่ซอร์กินนำเสนอแต่อย่างใด และการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่เขาหมายถึงก็ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่คือการปฏิวัติจริงๆ มันคือการถอนรากถอนโคนระบบและโค่นล้มชนชั้นนำอย่างถึงแก่น ไม่ใช่การพูดลอยๆ ว่า ‘ที่ระบบมีปัญหาเป็นเพราะคนเลวไม่กี่คน’ อย่างที่หนังพยายามเล่า
น่าเสียดายว่า ในขณะที่หนังพยายามจะแสดงความเข้าอกเข้าใจอุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย แต่กลับเป็นความเข้าอกเข้าใจต่ออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่สูญหายไปจากความจริง แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะถึงที่สุดแล้วนี่คือภาพยนตร์ที่มีเป้าหมายคือการฉายภาพความอยุติธรรมในสหรัฐอเมริกาผ่านการฟาดฟันกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่าง ‘ธรรมะ’ ในนามของปวงประชากับ ‘อธรรม’ ในฉากหน้าของความยุติธรรม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนบรรยากาศของโลกในปัจจุบันที่ผู้คนต่างพากันก่นด่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจได้อย่างแม่นยำ ถึงอย่างนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าซอร์กินเลือกจะนำเสนออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายอย่างไม่สลักสำคัญและเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของฮอฟฟ์แมนให้แตกต่างไปจากความเป็นจริงกลับแสดงให้เห็นความคิดทางการเมืองของซอร์กินได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับซอร์กินแล้วระบบไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือตัวบุคคลต่างหาก ซึ่งต่อให้วัยรุ่นเลือดร้อนบางคนจะมองว่าการที่ประเทศจะก้าวต่อไปข้างหน้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบอย่างถอนรากถอนโคน ซอร์กินก็เพียงแต่จะตบไหล่พวกเขาเบาๆ และบอกให้นั่งลงก่อน ใจเย็นไว้ อดใจรอแค่เพียง 4 ปีแล้วความผุพังของประเทศในตอนนี้ก็อาจถูกซ่อมแซมรักษา บูรณะขึ้นมาใหม่ สำหรับซอร์กินแล้วการพร่ำพูดถึงการปฏิวัติไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฮอฟฟ์แมนหรือวัยรุ่นเลือดร้อนคนไหน ทุกคนก็เพียงแต่จะต้องสะดุ้งตื่นจากฝันเพื่อก้าวเดินเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง
กามันไปเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น พลางเฝ้าฝันว่าสักวันเราจะได้คนดีๆ มาเป็นผู้นำประเทศสักที

AUTHOR