เมื่อสังคมนี้ไม่มีที่ให้คนก้าวพลาด จาก Into the Wild สู่การร่อนเร่สุดท้ายใน Nomadland

nomadland

คุณเคยมีความรู้สึกอยากจะหนีไปจากทุกอย่างในชีวิตบ้างไหม หนีไปจากงานที่กองท่วมหัว จากความจำเจของชีวิต ออกไปผจญภัยในโลกกว้าง ไปสู่อิสระ

นั่นคือความรู้สึกของผมเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วขณะที่ต้องกักตัวนานนับเดือนในช่วงล็อกดาวน์ที่เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก มียอดคนติดเชื้อนับพัน ผู้เขียนขังตัวเองอยู่ในบ้าน ออกจากบ้านเพียงเพื่อซื้อของกินประทังชีวิตจากซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ส่วนโรงหนัง พิพิธภัณฑ์ และห้างร้านทุกแห่ง ถ้าไม่ปิดตัวก็กลายเป็นสถานที่ความเสี่ยงสูงลิ่ว 

หลังตื่นมาเจอผนังเดิมๆ ห้องเดิมๆ รูมเมตคนเดิมๆ เป็นเวลาห้าเดือนผมก็ถึงจุดที่ทนไม่ไหวอีกต่อไป

ผมชวนเพื่อนคนไทยหนึ่งคน (ที่ซักประวัติแล้วว่าป้องกันตัวเองจากโควิดอย่างเข้มงวดพอกัน) หนีไปให้ไกลจากแอลเอหนึ่งวัน

ว่าแต่จะไปไหนดี

แล้วอยู่ดีๆ ภาพกลุ่มรถบ้านในทะเลทรายของเหล่าฮิปปี้หน้าใสใจจริงผู้หนีจากระบบทุนนิยมสกปรกมาสร้างชุมชนอุดมคติใกล้ทะเลสาบ Salton Sea ทางใต้ของแอลเอในภาพยนตร์เรื่อง Into the Wild (2007) ที่เคยดูเมื่อหลายปีก่อนก็แล่นเข้ามาในหัว

จะมีที่ไหนเหมาะกับการหนีคนเท่าทะเลทรายอีก

Into the Wild (2007)

ค่อนวันและ 260 กว่ากิโลเมตรต่อมา ผมและเพื่อนพบตัวเองอยู่ที่ตีนของเนินเขาลูกเล็กหลากสีกลางทะเลทราย ทุกพื้นผิวบนเขาเต็มไปด้วยคำสอนต่างๆ จากคัมภีร์ไบเบิล มีซากรถ เรือ และสิ่งของต่างๆ รายล้อมทั่วบริเวณ นี่คือ Salvation Mountain ผลงานศิลปะของชายนาม Leonard Knight ผู้ต้องการเผยแผ่ความรักของพระเจ้าผ่านงานศิลป์ชิ้นยักษ์กลางทะเลทราย

ภูเขาแห่งนี้ตั้งอยู่หน้าทางเข้าของ Slab City ชุมชนรถบ้านที่ผมคิดว่าจะได้เห็นความเกื้อกูลนอกระบบสังคมเมือง ได้เห็นดินแดนของฮิปปี้ที่ออกตามหาความจริงของชีวิตเหมือนในหนัง แต่ตลอดทางผมกลับเจอแต่รถบ้านบุโรทั่งจอดเรียงรายกลางซากเมืองเก่าริมทะเลสาบ สภาพแต่ละคันไม่ต่างจากเมืองเก่าที่ผุพังอยู่รายล้อม บ้านสังกะสีพังมิพังแหล่ว่างโหวงไร้ผู้อยู่อาศัย ภายในเต็มไปด้วยขยะ ถุงยางเก่าๆ และซากเข็มฉีดยา คนที่ยังอยู่ล้วนแต่ผิวหยาบกร้านด้วยแดดทะเลทราย แววตาฝ้าฟาง สะโหลสะเหลไปมาจากรถบ้านคันหนึ่งสู่อีกคันด้วยแววตาไม่เป็นมิตร

เมื่อบวกกับอุณหภูมิร้อนระอุทะลุ 40 องศาเซลเซียสเมื่อตอนเที่ยงวัน ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าภาพอันสวยหรูของสวรรค์ฮิปปี้อาจจะมีแค่ในหนัง

Salvation Mountain ใน Into the Wild (2007)
nomadland
Salvation Mountain ของจริงในปี 2020 © Abhichoke Chandrasen

ทำไมคนเหล่านี้ถึงได้เลือกที่จะมาลำบากลำบนในทะเลทรายกันดารห่างไกลผู้คน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีตำรวจ ไม่มีโรงพยาบาล 

คำตอบของคำถามนี้อาจจะหาได้จากภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ Chloé Zhao ที่เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวที Golden Globes และเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา 

คำตอบที่ว่าแท้จริงแล้วคนกลางทะเลทรายเหล่านี้หลายคนอาจจะไม่ได้ ‘เลือก’ มาอยู่ที่นี่ด้วยความสมัครใจ แต่กลับเป็นสังคมอเมริกันในศตวรรษที่ 21 ที่บีบให้ชีวิตห่างไกลความเจริญกลายเป็นทางเลือกสุดท้ายของพวกเขา 

Nomadland (2020)

อเมริกา ดินแดนแห่งการร่อนเร่

ด้วยอะไรบางอย่าง ผืนแผ่นดินที่ต่อมากลายมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาดูเป็นดินแดนที่ถูกกำหนดมาให้เป็นดินแดนของคนเร่ร่อน นับแต่ชาวอินเดียนแดงผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐานดั้งเดิมที่อพยพและกระจายตัวไปทั่วแดน ใช้ชีวิตท่ามกลางขุนเขาและทุ่งหญ้าบนหลังม้า ไปจนถึงผู้อพยพเชื้อสายสเปนและผู้อพยพชาวยุโรปอื่นๆ ที่ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจนมาถึงโลกใหม่

ผู้อพยพในยุคแรกหลายคนมาที่นี่เพื่ออิสรภาพทางศาสนา อีกมากมายข้ามทะเลมาเพื่อจับจองพื้นที่บน ‘โลกใหม่’ เป็นของตัวเอง (จนหลายครั้งแลกมาด้วยชีวิตของชนพื้นเมืองอย่างน่าอดสู) แต่อีกเหตุผลสำคัญที่ดึงให้หลายคนมาที่นี่ก็เพื่อหนีจากสังคมเมืองสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบและระบบเศรษฐกิจเอารัดเอาเปรียบในบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อกลับสู่โลกธรรมชาติแท้ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร จนเกิดเป็นตัวละครนักบุกเบิก คาวบอย และโจรป่าที่เราเห็นในภาพยนตร์ตะวันตกต่างๆ

แต่แล้วโลกอารยะก็ยึดประเทศสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในระหว่างที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งหน้าเข้าสู่ชีวิตอารยะในเมืองใหญ่ คนบางกลุ่มยังรู้สึกว่าความปลอดภัยและสะดวกสบายของชีวิตอารยะทำให้มนุษย์ยุคใหม่ใช้ชีวิตอย่างไร้จิตวิญญาณและโหยหาชีวิตนอกสังคมท่ามกลางธรรมชาติ เกิดเป็นวิถีชีวิตของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 จนหลายเหตุการณ์ในช่วง 30s ผลักให้คนอเมริกันนับล้านกลับสู่ชีวิตเร่ร่อนเป็นประวัติการณ์

nomadland
© Abhichoke Chandrasen
nomadland
© Abhichoke Chandrasen

ปลายเดือนกันยายนปี 1929 ตลาดหุ้นอเมริกันตกหนักที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินสหรัฐฯ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ร้ายแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผู้คนนับล้านตกงานและเสียบ้าน บวกกับภัยแล้งผิดธรรมชาติก่อให้เกิดพายุฝุ่นทั่วประเทศหลายปีจนอุตสาหกรรมการเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง ชาวอเมริกันนับล้านร่อนเร่ไปทั่วประเทศเพื่อหางานนับสิบปีจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถึงได้ฟื้นฟูสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

นับแต่นั้น การเร่ร่อนก็กลายเป็นวัฏจักรของสังคมอเมริกันที่ผูกกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจของประเทศมั่นคง ระบบทุนนิยมทำงาน ชาวอเมริกันก็จะลงหลักปักฐาน เช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในยุค 80s จนเมื่อระบบทุนนิยมเจริญถึงขีดสุดก็จะเกิดกลุ่มคนที่กังขากับความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุและเศรษฐกิจ รู้สึกว่าชีวิตขาดจิตวิญญาณจนอยากออกร่อนเร่ตามหา ‘ความจริงของชีวิต’ เช่น กลุ่มนักเขียน beatnik ในยุค 50s อย่าง Jack Kerouac ที่ออกเดินทางข้ามอเมริกาและเขียนประสบการณ์ออกมาเป็นหนังสือเลื่องชื่ออย่าง On the Road หรือชาวบุปผาชนบางกลุ่มในปลายยุค 60s และต้น 70s ที่หนีออกจากเมืองเข้าป่าไปตั้ง ‘คอมมูน’ หรือชุมชนของตัวเองเพื่อหนีจากระบบทุนนิยมและการเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามเวียดนาม ดังเห็นได้จากภาพยนตร์ Easy Rider (1969) หรือ Zabriskie Point (1970)

nomadland
© Abhichoke Chandrasen

ถึงอย่างนั้นชีวิตสมบุกสมบันนานปีกลางป่าเขาก็ผลักให้บางคนหันกลับสู่อ้อมกอดของชีวิตสะดวกสบายในสังคมเมือง คืนสู่ชีวิตอารยะ และเข้าสู่วัฏจักรทุนนิยมอีกครั้ง เหลือเพียงนักเร่ร่อน ‘ตัวจริง’ ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในชายขอบของสังคมอารยะอย่างสมัครใจทั่วอเมริกาในรถบ้าน ฟาร์ม หรือชุมชนเล็กๆ ตามป่าเขาและทะเลทรายต่างๆ จนคนรุ่นใหม่พบเจอความว่างเปล่าของโลกทุนนิยมอีกครั้ง วัฏจักรของคนเร่ร่อนถึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งในคนรุ่นใหม่เหล่านั้นคือชายหนุ่มนาม Christopher McCandless ตัวละครเอกของหนังสือและภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันในนาม Into the Wild

Into the Wild ทางเลือกของนักผจญภัยยุค 2000s

คริสโตเฟอร์ แม็กแคนด์เลสส์ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวอเมริกันมีฐานะ หลังเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Emory University ในปี 1990 เขาบริจาคเงินเก็บจำนวน 24,000 ดอลลาร์สหรัฐให้องค์กรการกุศลและออกเร่ร่อนไปในอเมริกา

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมคริสถึงตัดสินใจทิ้งชีวิตสะดวกสบายไปเผชิญโลก แต่เพื่อนๆ และครูมัธยมของเขาสังเกตว่าคริส ‘ใช้ชีวิตเหมือนอยู่คนละคลื่นกับคนอื่น’ และบอกว่าเขาเคยบอกกับทีมวิ่งวิบากของโรงเรียนซึ่งเขาเป็นกัปตันทีมว่า ที่พวกเขาวิ่งก็เพื่อ ‘ต่อสู้กับความชั่วร้ายและความเกลียดชังในโลกใบนี้’

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คริสออกจากบ้านไปในปี 1990 และไม่กลับไปบ้านอีกเลย เขาขับรถดัตสันคู่ใจผ่านรัฐแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และเซาท์ดาโคตา หาเลี้ยงชีพจากงานรับจ้างตามเรือกสวนไร่นาระหว่างทางและเรียกตัวเองว่า ‘Alexander Supertramp’ หรือ ‘อเลกซ์ ยอดนักพเนจร’

Into the Wild (2007)

เขาเดินทางไปเรื่อยๆ จนไปถึงรัฐอะแลสกาในปี 1992 ท่ามกลางหิมะท่วมสูงเดือนเมษายน คริสเดินทางเข้าอุทยานแห่งชาติ Denali พร้อมปืนไรเฟิล อุปกรณ์ใช้ชีวิตเพียงเล็กน้อย และความมั่นใจเต็มเปี่ยมเพื่อใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในป่าสนของอะแลสกา 

ศพของเขาถูกพบหกเดือนให้หลังในซากรถบัสกลางป่าโดยหนักเพียง 30 กิโลกรัม ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าเขาตายเพราะอดอาหารและสารพิษจากเมล็ดเบอร์รีมีพิษที่เขากินเข้าไปด้วยความไม่รู้ 

เรื่องราวของคริสได้รับการถ่ายทอดเป็นหนังสือขายดีระดับโลกในปี 1993 หลายคนเห็นว่าความตายของคริสคือตัวอย่างของคนที่เพ้อฝันว่าการใช้ชีวิตชายขอบในป่าห่างไกลเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้จนตัวตาย แม้แต่คริสเองก็รู้ตัวว่าเขาทำผิดพลาดมหันต์ ไดอารีของเขาเผยว่าหลังจากที่เข้าป่ามาเพียงไม่กี่เดือน เขาป่วยหนักและต้องการเดินทางออกจากป่ากลับสู่สังคมมนุษย์ แต่เคราะห์ร้ายลำธารเล็กๆ ที่เขาข้ามในขามา เมื่อจะเดินทางกลับ มันกลับกลายเป็นแม่น้ำเชี่ยวกรากจากน้ำแข็งที่เพิ่งละลายจนเขาไม่มีทางเลือก ต้องอยู่ที่รถบัสต่อไปและถูกพบเป็นศพในเวลาต่อมา

Chris McCandless ตัวจริง

แต่ด้วยการที่ทั้งหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง Into the Wild นำเสนอภาพการเดินทางเร่ร่อนของคริสให้ดูเป็นการเดินทางแสนวิเศษ ระหว่างทางเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและหอมหวาน ผู้คนที่พานพบล้วนช่วยเหลือให้เขาไปถึงจุดหมาย เมื่อรวมกับภูมิทัศน์อันหลากหลายสวยงามของอเมริกา ไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะยกให้คริสเป็นสุดยอดนักพเนจรผู้หาญกล้าฉีกกฎสังคมสมัยใหม่แม้ต้องแลกมาด้วยชีวิต เขากลายเป็นฮีโร่ผู้จุดประกายให้ใครหลายๆ คนออกไปพเนจรในยุค 2000 ต้นๆ (นับแต่ปีที่คริสตาย นักเดินป่าจำนวนมากฝ่าฟันป่าอะแลสกาไปยังรถบัสที่คริสเสียชีวิตเพื่อเคารพสถานที่จนหลายคนตายระหว่างทาง ทำให้ทางการนำเฮลิคอปเตอร์ไปยกรถบัสออกจากพื้นที่ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา)

น่าสังเกตว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานของ Sean Penn นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังผู้มีชีวิตแสนสบายในสังคมเมืองไม่ต่างจากคริสก่อนออกเดินทาง และภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยทุนของแผนกหนังอินดี้ของสตูดิโอ Paramount จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ที่พูดเรื่องชีวิตนอกระบบทุนนิยมเรื่องนี้กลับถูกผลิตออกมาด้วยท่าที่ฝันหวานเพื่อดึงดูดคนดูเข้าโรงหนัง เพื่อให้ได้กำไรให้มากที่สุดตามระบบทุนนิยมอย่างสมบูรณ์ 

Into the Wild (2007)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 2007 ในสมัยของประธานาธิบดี George W. Bush ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกว่าเป็นประเทศมหาอำนาจอันแข็งแกร่งด้วยสงครามอิรักและนโยบายต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศกลับค่อยๆ ชะลอตัวจนเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ปี 2008 ที่ส่งผลกระทบไปทั้งประเทศอย่างรุนแรง

เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อยุค 1930 เศรษฐกิจทั่วประเทศสะดุดกึก ชาวอเมริกันจำนวนมากตกงาน และ Fern ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ก็เป็นหนึ่งในชาวอเมริกันนับล้านคนที่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

Nomadland ทางออกสุดท้ายของผู้แพ้ในโลกทุนนิยม

Nomadland เล่าเรื่องราวของเฟิร์น อดีตพนักงานวัยกลางคนของโรงงาน US Gypsum ที่ปิดตัวลงในปี 2011 จากผลพวงของวิกฤษเศรษฐกิจปี 2008 เธอเสียงาน เสียบ้านที่บริษัทเป็นเจ้าของ และร้ายที่สุด เสียสามีที่รักไปในเวลาใกล้ๆ กัน อายุวัยกลางคนของเธอทำให้โอกาสเริ่มใหม่ในระบบทุนนิยมดูยากเต็มทน เฟิร์นเลยลงเงินก้อนสุดท้ายซื้อรถตู้บุโรทั่งหนึ่งคันแล้วออกเร่ร่อนไปในอเมริกาเพื่อหางานทำประทังชีวิต 

nomadland
Nomadland (2020)

ในปี 2011 แทนที่ท้องถนนจะมีเพียงวัยรุ่นผู้เสาะหาความหมายของชีวิตอย่างในสมัยของคริส เฟิร์นกลับพบว่าคนเร่ร่อนส่วนมากเป็นคนวัยเดียวกันกับเธอ หรือแม้แต่เป็นคนสูงวัยอายุแตะเลขแปด แต่ละคนมีเหตุผลที่ออกร่อนเร่แตกต่างกัน หลายคนเป็นโรคร้ายแรงระยะสุดท้ายและเลือกออกไปเผชิญโลกแทนการนอนตายคาเตียงโรงพยาบาล แม้หลายคนจะเลือกชีวิตไร้บ้านด้วยความรักในเสรีภาพ แต่สุดท้ายแล้วกลุ่มผู้เร่ร่อนส่วนมากที่เฟิร์นได้เจอคือคนที่ถูกระบบสังคมอเมริกันยุคใหม่ที่ไม่มีที่ให้คนที่ก้าวพลาดผลักออกมา

ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินและระบบความน่าเชื่อถือ หรือ ‘เครดิต’ ที่กำหนดทุกอย่างในชีวิตคนอย่างเข้มข้น ทุกคนต้องเข้าระบบธนาคารเพื่อสร้างเครดิตด้วยการจ่ายบัตรเครดิตและหนี้สินถูกต้องตามเวลา เครดิตนั้นจะถูกนำไปพิสูจน์กับสถาบันต่างๆ ว่าคุณมีความน่าเชื่อถือทางการเงินเพียงพอ นั่นแหละคุณถึงจะดาวน์รถ เช่าบ้าน หรือลงทุนได้ นั่นแปลว่าถ้าคนคนหนึ่งเกิดถูกไล่ออกจากงานกะทันหันและไม่มีเงินเก็บพอจ่ายหนี้สิ้นก่อนได้งานใหม่ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน คะแนนเครดิตของเขาก็จะทิ้งดิ่งจนไม่สามารถเช่าบ้านหรือแม้แต่จะซื้อรถบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัยได้อีกต่อไป

เมื่อบวกกับระบบครอบครัวของชาวอเมริกันที่เป็นระบบครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่และลูกๆ แยกบ้านกันอย่างชัดเจน น้อยครอบครัวนักที่พร้อมรับสมาชิกครอบครัวที่ตกระกำลำบากให้มาอยู่อาศัยด้วยกัน ก็ทำให้คนที่ก้าวพลาดในระบบทุนนิยมไม่สามารถพึ่งใครได้นอกจากตัวเอง และถ้าไม่จบลงที่ข้างถนนก็ต้องออกร่อนเร่อย่างเฟิร์นและคนอื่นๆ

nomadland
nomadland
Nomadland (2020)

ถ้าการเร่ร่อนในยุค 90s คือ ‘ทางเลือก’ ของหนุ่มสาวที่อยากจะหนีออกจากระบบ การเร่ร่อนในช่วง 2010 กลับกลายเป็น ‘ทางเลือกสุดท้าย’ ของคนที่ตกร่องระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะคนในวัยกลางคน 

ในโลกที่ระบบทุนนิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอย่างลึกซึ้งจนการวิ่งหนีจากมันเป็นไปได้ยาก โลกชนบทของอเมริกาอย่างฟาร์มวัว ทุ่งข้าวโพด และเหมืองชุมชนของลุงป้าที่เคยเป็นช่องทางหาเงินประทังชีวิตของคนเร่ร่อนในอดีตถูกกลืนกินโดยเครื่องจักรทางการเกษตรและสายพานหุ่นยนต์ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่นที่เฟิร์นต้องไปทำงานแพ็กกล่องสินค้าให้บริษัท Amazon อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์

น่าสนใจว่า Chloé Zhao ผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยตัวละครอเมริกันผิวขาวกลับเป็นชาวจีนที่ใช้ชีวิตร่อนเร่ไม่ต่างจากตัวละครในภาพยนตร์ของเธอ จากบ้านเกิดที่ประเทศจีน พ่อแม่ส่งไปเรียนมัธยมที่อังกฤษ ก่อนจะข้ามมาเรียนภาพยนตร์ในอเมริกา ภาพยนตร์สองเรื่องที่เธอทำก่อนหน้าล้วนเกี่ยวกับคนชายขอบกลางทะเลทรายของอเมริกา ทั้งภาพยนตร์ชีวิตอินเดียนแดง Songs My Brothers Taught Me (2015) และ The Rider (2017)

ด้วยเหตุนี้ เราอาจพูดได้ว่าถ้าภาพยนตร์ Into the Wild คือการวาดภาพการใช้ชีวิตร่อนเร่ให้สวยหวานโดยคนมีโอกาสและสตูดิโอทุนหนา Nomadland ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการนำเสนอภาพจริงของการใช้ชีวิตบนท้องถนนในยุคปัจจุบัน จากคนที่เคยผ่านชีวิตนั้นมาด้วยตัวเองด้วยเงินทุนอิสระนอกระบบจนเกิดเป็นผลงานชิ้นโบแดงเรื่องนี้

nomadland
Nomadland (2020)

คืนนั้น ขณะที่ผมขับรถกลับจาก Salton Sea กลับแอลเอด้วยรถฮอนด้า CR-V ของตัวเอง ผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดชะตากรรมของคนเร่ร่อนที่ผมได้พบเห็นเกิดขึ้นกับตัวผมเองในอเมริกา ถ้าสิ่งสุดท้ายที่ผมมีคือรถคันนี้ ผมจะทำอย่างไร และเมื่อได้ดู Nomadland ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าในโลกที่เชื้อโรคร้ายอย่างโควิด-19 สามารถแพร่สะพัดไปทั่วโลกได้ในไม่กี่เดือน ทำลายระบบเศรษฐกิจทั่วโลกให้ราบคาบ โลกที่ภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นและน้ำทะเลสูงขึ้นทุกปีจากน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ โลกอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าอาจไม่ใช่โลกที่การร่อนเร่เป็นเพียงตัวเลือกอย่างใน Into the Wild แต่เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดอย่างใน Nomadland

โลกที่การออกสู่ท้องถนน สู่ป่า สู่ธรรมชาติอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายของการใช้ชีวิต

AUTHOR