Mim Pawarat : From BKK to USA

02

Mim – Pawarat Klaiamorn

From Thailand to United States of America

“เปลี่ยนไม่ได้ ก็ไปเอง”
หญิงสาวผิวบ่มแดดร่างเล็กตรงหน้าบอกผมปนถอนใจ เธอไม่ได้เกรี้ยวกราดหรือคับแค้นใจ
เปล่าเลย เธอกลับยิ้มให้มันด้วยความปลดปลง

เธอชื่อ ‘มิ้ม’

มิ้ม
คือหญิงสาวธรรมดาจากครอบครัวชนชั้นกลาง

ผ่านประสบการณ์รถเฉี่ยวชนสนุกสนานจากท้องถนนที่ไม่ได้ออกแบบมาให้คนเดินได้จริง

ผ่านประสบการณ์การรักสิ่งที่สังคมพร่ำบอกให้รักสุดหัวใจ
แต่เธอกลับพบว่านั่นเป็นเพียงรัก…รักข้างเดียว

ผ่านประสบการณ์การอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมกอซซิปที่สังคมไทยบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เธอมองเห็นคนรอบตัวหลายคนพลาดโอกาสทางสังคมเพราะเรื่องธรรมดาเหล่านั้น

ประสบการณ์ของเธอไม่ได้แปลกใหม่
คนไทยหลายคนอาจเคยเจอเรื่องราวแบบเดียวกับเธอแล้วยอมรับสภาพได้ไม่มีงอแง

หลังออกเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศและกระโดดไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ติดตามของหนุ่มไทยคนเดียวในทีมบริษัทออกแบบนวัตกรรมชื่อดังก้องโลก
เธอทุ่มเทเวลาชีวิตไปกับการเรียนรู้ชีวิตใหม่ในรัฐ Seattle ทดลองรับผิดชอบชีวิตในประเทศมหาอำนาจที่มอบสวัสดิการและความปลอดภัยในชีวิตที่เธอพึงใจอย่างที่บ้านเกิดให้ไม่ได้ แม้จะต้องแลกกับการทิ้งสายงานที่รักในไทย
รับผิดชอบภาษีที่เข้มข้นเอาจริงเอาจังกว่าบ้านเกิดเท่าตัว

ส่วน ‘ซอล’ แฟนหนุ่ม

ย้ายไปตามฝันฉายแววสดใสในสังคมการทำงานที่สหรัฐอเมริกา
เขาทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานในดินแดนสตาร์ทอัพ เขตแดนที่ทุกไอเดียไม่ถูกฆ่าทิ้ง
แต่แตกหน่อไม่รู้จบจากวัฒนธรรมการถกเถียงซึ่งๆ หน้า

เรื่องเล่าของมิ้มและแฟนหนุ่มไม่ได้ทำให้เราสงสัย แต่ทำให้เราเชื่ออีกครั้งว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่อยากไปให้ไกลจากบ้านเกิด
และคำว่า
บ้านมันกินความหมายกว้างกว่าที่พักอาศัย
และไปไกลกว่าสถานที่มอบชีวิตให้เราเมื่อลืมตาดูโลก
.

แต่ถ้าหากคุณเองก็สงสัย

บรรทัดต่อจากนี้ไป
คือเหตุผลในในใจที่ทำให้เธอไม่อยากกลับบ้านเกิด

รู้มาว่าภาษีโหดไม่ใช่เล่น
ชีวิตที่นู่นก็หนักไม่เบา
ทำไมถึงเลือกสหรัฐอเมริกาเป็นบ้าน
สาเหตุที่ทำให้เราอยากมาใช้ชีวิตที่นี่
ไม่ใช่แค่เรื่องแฟน (แฟนที่คบมาตั้งแต่สมัยมัธยมมาทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา)

เอาจริงๆ
เรื่องการทำงานที่ไทย ระบบอาวุโส การใช้ชีวิตอยู่ในฐานะผู้หญิง เพศที่สามารถตกเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ
เพศที่ถูกสังคมไทยพร่ำบอกให้ดูแลตัวเอง อย่าแต่งตัวโป๊ อย่าใส่ขาสั้น
อย่ากลับบ้านดึก อย่าเที่ยวกลางคืน ทั้งๆ ที่ฝ่ายผู้ล่าไม่ได้รับการสอนหรือห้ามปราบอะไรเลย เกิดเรื่องปุ๊บ ผู้หญิงผิด งงไหม

แล้วก็อีกอย่างที่ทำให้เราอยากลองไปใช้ชีวิตตอนนั้นก็คือความเจริญ
สังคม สวัสดิการของเขาที่ค่อนข้างอุ้มคนครอบคลุม

อันนี้ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า…ขีดเส้นใต้
ไม่รู้คิดเองหรือเปล่า เราคิดว่าการที่คนไทยถูกปลูกฝังค่านิยมดูแลพ่อแม่จนแก่ก็เพราะว่ารัฐไม่สามารถอุ้มได้หรือเปล่า แต่ในขณะที่ต่างประเทศ
อย่างสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเขาอุ้มคนแก่ในประเทศเขาได้ เลยอาจจะไม่จำเป็นต้องปลูกฝังเด็กๆ
รุ่นต่อมากันหนักว่าต้องดูแลคนแก่เท่าบ้านเราหรือเปล่า อันนี้เราไม่รู้นะ
เราแค่คิดเอง

ประเด็นเรื่องสวัสดิการ เรามองว่าสถานการณ์ที่บ้านเกิด
มันมาจากการที่รัฐไม่ได้เข้ามาอุ้มเราทางใดทางหนึ่ง เหมือนเรารับภาระอยู่ลำพัง

จากจุดที่มันโดดเดี่ยว มัน unsecure
เราก็มองย้อนไปว่า โอเค ตั้งแต่เกิดมาเราถูกสอน
ถูกบอกว่าต้องรักประเทศไทย ต้องรักชาติ ศาสนา แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ
เรารู้สึกว่าเรารักเขา แต่เขาไม่รักเราอ่ะ แม่งโคตรรักข้างเดียวเลย

เริ่มไม่เข้าใจ สงสัย
ตั้งคำถามกับบ้านเกิดตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนแรกอาจจะยังไม่ตั้งคำถาม
เพราะเรารู้สึกว่าทุกประเทศก็คงเหมือนๆ กันหมด ต้องระวังตัวเองทุกประเทศแหละ แต่เมื่อเรากลับมาจากการเดินทาง
เราเริ่มเกิดความสงสัยว่าทำไมในต่างประเทศ บ้านเมืองเขาถึงช่วยระมัดระวังให้เราระดับหนึ่ง
ทำไมกับบ้านเราแท้ๆ เราต้องระวังตัวทุกอย่างทุกเวลา ชีวิตมันก็จะยากๆ หน่อย
อย่างเดินฟุตปาธก็ยังมีมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขี่ มาเฉี่ยวชน ยอมแซงคันข้างหน้า
ปาดเพื่อจะได้แทรกขึ้นฟุตปาธเพื่อไปชนคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่

เราต้องการความปลอดภัย
แต่กลายเป็นว่าไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถเป็นตัวเองได้
เพราะอาจเกิดอันตราย

กลายเป็นว่าอยู่ไกลบ้านกลับปลอดภัยกว่าอยู่ประเทศบ้านเกิดตัวเอง
ด้วยความที่เราเป็นลูกสาว เวลาอยู่บ้านพ่อแม่เราก็มักจะห่วงว่าไปไหนไกลบ้านเราระวังตัวด้วยนะลูก
เดี๋ยวเจอคนที่นู่นฉุดไป เราก็มักจะบอกที่บ้านไปว่า อยู่ไทยอันตรายกว่า (หัวเราะ)
อันตรายกว่าเยอะ แม่ไม่ต้องห่วง

นอกจากเรื่องความไม่ปลอดภัย
มีอะไรบ้างไหมที่ทำให้รู้สึกไม่อยากกลับบ้านเกิด
อย่างที่บอกว่าไทยมีเรื่องระบบผู้อาวุโสที่แข็งแรงมาก
เคสนี้ต้องดูที่แฟนเรา ประเด็นนี้จะชัดเจนมาก คือเขาต้องทำงานกับคนที่สหรัฐอเมริกา แล้วคนอเมริกันเขาไม่มานั่งแบ่งว่าคุณเด็กกว่าต้องเคารพเขานะ เวลาซอลเล่าเรื่องที่ทำงานให้เราฟัง จะรู้สึกว่าซอลสนุกมากกับวัฒนธรรมการเถียง ใช่ ในไทยเรียกว่าการเถียง แต่ที่นู่นเขาเรียกว่าพูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การเถียง

สมมติว่ามีประเด็นหนึ่งที่ไม่โอเค ซอลสามารถเถียงหัวหน้าได้ เถียงได้ว่าผิดตรงไหน
เราเคยเห็นเขาเถียงกันจนเหมือนทะเลาะกัน ในฐานะคนไม่เคยทำงานที่นู่นก็ เห้ย นี่ไปเถียงหัวหน้าได้ยังไง สุดท้ายงานจบ ซอลทำถูก ผลออกมาดี ไม่มีใครโกรธหรือมาคิดว่าเห้ย ทำไมวันก่อนมาพูดจาแบบนี้
คือที่นู่นเถียงเรื่องงานคือเรื่องงาน จบเป็นงานไป เพื่องาน แล้วเขาไม่กลัวด้วยเรื่องตำแหน่งใหญ่กว่าจะด่าไม่ได้ ถ้าผิดก็ยอมรับกันได้เพื่อผลงานที่โอเค ในไทยเรารู้สึกว่าคนโตกว่าถูกเสมอ มันเหนื่อยนะ

เรื่องเจเนอเรชันเกี่ยวป่ะ
เหมือนเจเนอเรชันเราจะซวยๆ หน่อย
ถ้าพูดเรื่องเจเนอเรชัน ทุกเจเนอเรชันซวยหมด
แต่เจเนอเรชันเรามันดันเป็นเจนที่ได้เปิดหูเปิดตา มีอินเทอร์เน็ตเข้ามา
พ่อแม่เราอาจจะเจอปัญหามาแบบเดียวกัน แต่เขาไม่ได้รู้มาว่าโลกเป็นยังไง

เราเปิดหูเปิดตาเลยเริ่มรู้สึกว่าตัวเองซวย
ตัวเองโชคไม่ดี ดันไปรู้มาเยอะเลยมีปัญหา
มีคำถาม มีความอยากเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเราอยากเปลี่ยนแต่น่าจะเปลี่ยนยาก
ยกเว้นแต่ว่าเจนเราจะขึ้นไปอยู่จุดท็อปๆ ในสังคม แล้วใช้อำนาจนั้นเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นให้เจนต่อมา
แต่ก็ยากนะ เพราะระหว่างทางไม่มีใครรู้เลยว่าพวกเราจะยังมีอุดมการณ์พออยู่หรือเปล่า
ไม่ใช่โดนหลอมไปกับเจเนอเรชันเก่าก่อน เพราะมันยากมากเลยนะที่จะทำเพื่อตัวเองและเพื่อส่วนรวมไปด้วย

เราเองก็เคยคุยกับแฟนประเด็นนี้
แฟนเราบอกว่าเราไม่มีแรงพอ ขอไปอยู่ประเทศอื่นดีกว่า ในเมื่อเปลี่ยนไม่ได้ก็ไปเอง พูดไปก็เท่านั้น ลงแรงไปก็เท่านั้น
เราเองก็ไม่ได้มีความเสียสละมากพอด้วยที่จะเปลี่ยนประเทศขนาดนั้น ก็คือไปเอง

อยากเปลี่ยนอะไรที่สุดในไทย และถ้ากลับมาไทยตอนรวยแล้ว เมืองไทยยังเหมือนเดิมอยู่ ไม่เปลี่ยนอะไรเลย จะทำยังไงต่อ
อันดับแรก
อยากให้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเพศหญิงก่อน อยากให้มองอย่างเท่าเทียมกัน

สอง สวัสดิการทุกสิ่งอย่างที่ขึ้นชื่อเรื่องสาธารณะควรเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์จริงๆ
ไม่ใช่สร้างอะไรที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ เช่น ฟุตปาธคุณสร้างมา
แต่คนกลับใช้งานไม่ได้จริง เดินไม่ได้ งงดิ

สาม คือเรื่องการเหยียด ประเทศไทยชอบคิดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่คนเหยียดผิว
เหยียดเอเชีย แต่ประเทศไทยนี่ตัวพีกเลย โคตรเหยียด
เหยียดได้ทุกอย่างที่สามารถเหยียดได้ ขนาดเรื่องไอโฟนยังเหยียดกัน เราไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเหยียดจริงๆนะ
ไม่รู้เขาเอาความมั่นใจในตัวเองมาจากไหน เช่น กูมีแบบนี้ใครไม่มีแบบกูคือไม่ดี สังคมเราสอนให้คนหัดเหยียดกันไปมาตั้งแต่เด็กยันโต
ขนาดในบริษัทก็ยังเหยียดกัน ในมหาวิทยาลัยอาจารย์ก็เหยียดกันเอง

สี่ คือเรื่องวัฒนธรรมการกอซซิป โดยเฉพาะองค์กรที่มีผู้หญิงเยอะๆ
การนินทาเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วเราว่ามันน่ารำคาญ ไปอยู่นู่น เราเห็นเลยว่าคนที่นั่นเขาทำงานของเขา
ทำหน้าที่ของตัวเองกันไป ไม่มีการมาแบ่งทีมกันลับหลัง แฟนเราทำงาน
แฟนเราก็ไม่ได้เจอเรื่องนินทากัน คนเขาพูดกันตรงๆ
เลยไม่มีเรื่องต้องมานินทากัน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น วันนี้เจอคนหนึ่งทำตัวไม่โอเคมาก
เขาก็พูดกันตรงๆ เลย ไม่มีการหาพวก แต่คนไทยแม่งชอบหาพวกตลอดเวลาอ่ะ
เช่น เห็นว่าคนนี้ไม่โอเคอ่ะ แต่ไม่กล้าพูดว่ะ ไปหาพวกก่อน เห้ยๆ
แกว่าคนนี้ทำแบบนี้ไม่โอเคป่ะ เออเขาแปลกๆ เนอะ เออๆ คิดเหมือนกันเลยอะ แล้วก็กลายเป็นกลุ่มลับที่เจ้าตัวไม่มีทางได้รู้เลยถ้าไม่มีใครพูดขึ้นมา

คำถามคือ ทำไมไม่คุยกับเขา ว่าเขาตรงๆ ล่ะ

แล้วสังคมบ้านเรามันโหดตรงที่ถ้าเราออกตัวหรือแย้งความเห็นของกลุ่มที่นินทา เราจะโดนนินทาเอง
เหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เวลามันเกิดขึ้น คนที่ตัวเล็กๆ ต้องทำมาหากินอยู่ วัฒนธรรมการกอซซิปพวกนี้มันสามารถทำร้ายคนๆ หนึ่งได้เลย

ถามจริงไม่คิดจะกลับเลยเหรอ
ซอลไม่มีแพลนเลย
ถ้าจะมีก็คือเก็บเงินให้ได้เยอะๆ กลับมาใช้ชีวิตแบบแก่ๆ ที่ประเทศไทย
เรายังคิดถึงอากาศที่นี่ อาหารที่นี่ เพื่อนเรา ครอบครัวเราที่นี่ ที่ผ่านมาเรากับซอลคุยกันตลอดนะว่าประเทศไทยน่ะอยู่ได้…ถ้ารวยพอ

อยากรู้จังว่า ‘บ้าน’ ในมุมมองของมิ้มจริงๆ มีหน้าตาเป็นยังไง
เวลาอยู่ไทยเรารู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยแหละ แต่ที่นี่เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น

สำหรับเราบ้านมันไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง
บ้านของเราคือ home บ้านคือคน คนที่เราอยากอยู่แล้วปลอดภัย
สำหรับเรา แฟนเราคือบ้านของเรา คือคนที่เราอยากกลับไปหาเวลาเหนื่อย เวลาต่อสู้กับข้างนอก กลับไปแล้วได้นอนพักพิง
สำหรับเราบ้านคือการได้อยู่กับคนที่เรารัก ทำให้เรารู้สึกว่าที่ซีแอตเทิลเป็นบ้าน

เพราะว่าบ้านของเราคือคน

ภาพ คณิตติน เขมะวิชานุรัตน์

AUTHOR