“จะไม่มีวันให้ใครมาพรากเสรีภาพไปอีก” ณัฏฐิกา จากผู้ต้องหาในไทยสู่ผู้ลี้ภัยในอเมริกา

ต่อให้ไม่ได้อินการเมือง แต่คุณคงไม่ปฏิเสธที่จะบอกว่า ‘เสรีภาพ’ เป็นคำสำคัญในชีวิตมนุษย์ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

ไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงออกทางอุดมการณ์ แต่ยังรวมไปถึงทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน เดินไปซื้อของที่ตลาด นั่งทานอาหารในร้าน อ่านหนังสือที่สนใจ เสพภาพยนตร์ที่อยากดู พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ที่ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

ชีวิตประจำวันของ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ เมื่อ 16 ปีก่อนดำเนินไปด้วยเสรีภาพตามปกติอย่างที่เราพูดถึง เป็นมนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ พูดคุยพบปะกับเพื่อน เสพความบันเทิงผ่านละครหรือรายการทีวี ถ้าให้นึกถึงชีวิตตอนนั้น เธอบอกว่าสงบสุขดี

จนวันหนึ่งในปี 2549 มีประกาศรัฐประหาร คนที่ไม่สนใจการเมืองอย่างณัฏฐิกากลับสงสัยว่าอะไรทำให้บ้านเมืองเดินมาถึงจุดนี้ เมื่อตามหาคำตอบ กลับได้เปิดโลกกับข้อมูลทางการเมืองมากมาย จนกระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมขบวนกับคนเสื้อแดง ทั้งในฐานะผู้ร่วมชุมนุมและแอดมินเพจการเมืองที่คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหว แม้ปี 2553 เสียงของณัฏฐิกาและใครหลายคนถูกทำให้เงียบด้วยเสียงปืน แต่เธอก็ออกมาส่งเสียงต่อสู้โดยตลอด โดยไม่ได้คิดว่าการแสดงออกเหล่านี้จะทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไป

ตลอดกาล

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

ปี 2557 ณัฏฐิกาออกมาต่อต้านการยึดอำนาจ ทั้งบนท้องถนนและบนโลกดิจิทัลอย่างที่เคยทำ เธอสร้างเพจเสียดสีผู้นำรัฐประหารอย่าง ‘เรารักพลเอกประยุทธ’ ขึ้นมาในช่วงนั้น แต่ใครจะไปคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนสถานะจากแอดมินเพจการเมืองสู่นักโทษคดีการเมือง 

จากสถานการณ์หลายอย่างที่พบเจอ ประเทศที่เธอเรียกว่าบ้านอาจไม่ใช่บ้านที่เหมาะกับณัฏฐิกาในวัย 45 อีกแล้ว เธอจึงตัดสินใจพาตัวเองออกไปหาที่อยู่ใหม่ สถานที่ที่จะทำให้เธอไม่ต้องคุยกับใครผ่านกรงขัง ไม่ต้องขออนุญาตมีเสรีภาพจากใครในดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพอย่างอเมริกา

เรานัดพูดคุยผ่านวิดีโอคอลกับเธอในเช้าวันหนึ่งตามเวลาไทย หลังจากเธอออกจากประเทศไทยไปยังอเมริกาได้ 3 ปีกว่า และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหลังการขึ้นมาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน 

การพูดคุยนานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากให้เกิดในชีวิตตัวเองเพียงเพราะการแสดงตัวว่าเห็นต่างจากรัฐ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ การอยู่ห่างจากบ้านเกิดไปหลายพันไมล์เป็นสิ่งที่เธอบอกกับเราว่าคิดถูกแล้ว ก่อนจะย้ำด้วยประโยคที่ว่า

“จะไม่มีวันให้ใครมาพรากเสรีภาพออกไปจากเราอีก”

1

เปรียบกับคำพูดของคนยุคนี้ คำนิยามอย่าง ‘ผู้มาก่อนกาล’ น่าจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกคนเสื้อแดงอย่างณัฏฐิกา แต่คำถามคือในสังคมที่หล่อหลอมคนด้วยเรื่องเล่าเพียงไม่กี่แบบ และเสริมด้วยมายาคติที่ทำให้คนห่างไกลจากการเมือง อะไรทำให้เธอตื่นตัวทางการเมืองได้

“ตั้งแต่เด็กเราก็ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรมากมาย” เธอยอมรับตามตรง

“พ่อเราสนใจการเมืองนะ ดูข่าวบางทีก็มาคุยกับแม่ วิจารณ์กันไป ส่วนตัวเราก็ฟัง บางทีก็มีความคิดตั้งคำถามบ้าง” 

เธอเป็นลูกสาวคนกลาง เติบโตในครอบครัวที่พ่อเป็นตำรวจผู้ไม่ได้ฝักใฝ่ความก้าวหน้าจากสินบนหรือเส้นสาย จึงเป็นสาเหตุที่ทำงานได้ไม่นานก็ต้องโดนย้าย เธอจึงต้องติดตามไปด้วยทุกที่  

“เราเคยย้ายไปเรียนในโรงเรียนในอำเภอเล็กๆ นอกตัวเมืองในต่างจังหวัด ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโรงเรียนในพื้นที่แบบนั้นถึงไม่สามารถพัฒนาได้สักที ทุกอย่างมันก็ยังไม่พร้อมอยู่อย่างนั้น

“พ่อเราเคยอธิบายให้ฟังว่างบประมาณมันไม่ค่อยลงมาในโรงเรียนแบบนี้หรอก ซึ่งเราก็คิดว่าแปลกเนอะ งบประมาณมันควรจะไปลงในที่ที่ยังไม่พัฒนาสิ นี่คือความคิดของเราตั้งแต่สมัยเด็กๆ” 

แต่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของการตั้งคำถามไม่อาจต่อสู้กับเรื่องเล่าขนาดใหญ่ที่สังคมไทยพยายามสร้างมายาคติให้คนในสังคมได้ แนวคิดอย่าง ‘ใครมาเป็นผู้นำ เราก็ต้องทำมาหากินด้วยตัวเองอยู่ดี’ จึงอยู่ในความคิดของณัฏฐิกายาวนาน จนกระทั่งเรียนจบ ได้ทำงาน และใช้ชีวิตตามปกติ วันหนึ่งช่วงใกล้เลือกตั้ง เพื่อนสนิทณัฏฐิกาไปฟังปราศรัยของผู้ลงสมัครแล้วจึงมาเล่าให้เธอฟัง

“มันเป็นมิติใหม่ว่ะแก ฉันเห็นความหวังในตัวทักษิณ” คือคำบอกเล่าจากปากของเพื่อน “เขาพูดถึงนโยบายที่เราคิดว่าถ้าเกิดขึ้นมันน่าจะดี”

ประกอบกับครอบครัวเธอไม่ได้นิยมในพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้หนึ่งคะแนนเสียงจากณัฏฐิกาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจนอยู่ครบวาระครั้งแรก

“มันเป็น 4 ปีที่เรารู้สึกว่าบ้านเมืองดี ประเทศเริ่มไปได้ดี เศรษฐกิจก็ดี ตอนนั้นเราทำงานในบริษัทเยอรมันที่มาตั้งสาขาลูกในไทย มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนสิงคโปร์และฮ่องกง เขาก็มองว่าไทยเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง เป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย เพราะเศรษฐกิจมันกำลังไปได้ดีจริงๆ”

แต่การรัฐประหารในเช้าวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้เปลี่ยนทุกอย่างไปตลอดกาล และกลายเป็นคำถามในใจของพนักงานบริษัทคนหนึ่งอย่างณัฏฐิกาที่ไม่ได้พาตัวเองเข้ามาคลุกคลีกับถนนการเมืองอย่างจริงจังมาก่อน

“เรารู้สึกว่ามันแปลกประหลาด” เธอว่า “ทำไมนายกฯ ที่ดีที่สุดในความคิดเราถึงได้ถูกรัฐประหารง่ายดายขนาดนี้ และเหตุการณ์ที่ตามมามันก็ทำให้เราตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ อย่างเรื่องการยุบพรรค มันยุบกันง่ายๆ อย่างนี้เลยเหรอ รัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดขึ้น มันสามารถเอาผิดย้อนหลังได้ด้วยเหรอ ของแบบนี้มันต้องมีอะไรซ่อนอยู่ ต้องมีอะไรที่มากกว่าที่เราเคยรู้”

เพื่อตอบข้อสงสัยทั้งหมด เธอใช้ประโยชน์จากยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มรุ่งเรืองลงมือค้นข้อมูลตามเว็บบอร์ดต่างๆ ด้วยตัวเอง ทั้งพันทิป ประชาทอล์ก และฟ้าเดียวกัน จากคำถามแรกไปสู่คำถามที่สอง ไปจนถึงคำถามต่อไปไม่มีสิ้นสุด

“แต่ก่อนเราติดตามแค่ข่าวบันเทิง ข่าวดารา จำโปรแกรมหนังได้ แต่หลังจากนั้นเราเลิกอ่านทั้งหมดแล้วมาอ่านเรื่องการเมืองเลย ซึ่งมันทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไป เราตัดสินคนน้อยลงและหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ได้”

2

“ช่วงปี 2009 เราเริ่มเล่นเฟซบุ๊กก็แอดเป็นเพื่อนกับนักการเมืองฝั่งไทยรักไทย แอดเฟซบุ๊กคุณทักษิณด้วยเพราะตอนนั้นคนไทยยังเล่นไม่เยอะ พอติดตามนักการเมืองมากเข้า คอมเมนต์กันมากขึ้น เราก็เริ่มมีคนรู้จักในแวดวงคนที่สนใจการเมืองจนรวมกลุ่มกันแล้วสร้างเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา”  

จากคนคอยติดตามข่าวสารและการชุมนุม บทบาทของณัฏฐิกาก็เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายสนับสนุนผ่านเพจการเมือง ตั้งแต่ก่อนจะเกิดชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในปี 2553 

ถ้ายุคนั้นตีนตบ ร่ม หมวก ป้ายผ้าข้อความต่างๆ คืออุปกรณ์ยอดนิยมที่ใครหลายคนพกติดตัวไปร่วมชุมนุม แต่ณัฏฐิกามีมากกว่านั้น เธอต้องแบกโน้ตบุ๊กส่วนตัวไปกางที่ม็อบ เสียบแอร์การ์ดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เข้าไปสัมภาษณ์แกนนำแบบสั้นๆ มาเขียนลงเพจ และอัพเดตสถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอด

“ช่วงนั้นแอ็กทีฟในเพจการเมืองหลายเพจ กลายเป็นงานอดิเรกเราไปเลย กลางวันไปทำงาน กลางคืนกลับบ้านมาสิ่งแรกที่ทำคือเปิดคอมพิวเตอร์ อ่านข่าวการเมือง และเขียนโพสต์ลงเพจ หรือไม่ก็ไปม็อบ”

ช่วงแรกณัฏฐิกาใช้ชื่อจริงและภาพตัวเองเปิดตัวว่าเป็นคนเสื้อแดง แต่เมื่อปี 2553 เกิดเสียงปืนดังสนั่นกลบทุกเสียงที่ออกมาเรียกร้องการเมือง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอตัดสินใจซ่อนตัวตนตัวเองทั้งหมดเพื่อให้ปลอดภัยต่อการเคลื่อนไหวเพจต่างๆ 

“มีเพจหนึ่งที่เราทำขึ้นร่วมกับเพื่อนคนเสื้อแดงชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ชื่อว่า Red Intellegence ทำเพื่อแก้ไขมุมมองต่อคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอก ไม่มีการศึกษา โง่ จน เจ็บ เราจึงตั้งใจนำเสนอว่าเขาไม่ได้โง่นะ ที่เขามาเรียกร้องเพราะเขามีมุมมองในบางเรื่องที่รัฐควรต้องฟัง และเราก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐแบบไม่หยาบคาย” 

ต่อมาเธอก็ได้ทำเพจที่มีคาแร็กเตอร์เสียดสี ล้อเลียนฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามอย่าง ‘ประชาธิปัตย์ชื่อเดียวล่มจมทั้งประเทศ’ โดยมีคอนเทนต์และกราฟิกตอบโต้ฝ่ายค้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

“แต่เราไม่ได้ทำเพื่อซัพพอร์ตยิ่งลักษณ์หรือทักษิณนะ ยอมรับว่าเราอาจจะเคยชื่นชมเขา แต่ถึงจุดหนึ่งที่เราอยู่ในเส้นทางนี้มานาน เราก็มองเห็นว่าคนเราทุกคนมันก็เป็นสีเทา และเลิกยึดติดกับตัวบุคคลไปในที่สุด” 

การต่อสู้ของสองฝั่งความคิดดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดช่วงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหญิง ปี 2556 ณัฏฐิกาลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ด้านมาร์เก็ตติ้ง และได้ช่วยทำเพจให้กับจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) จนกระทั่งเกิดรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จตุพรถูกจับตัวไป ณัฏฐิกาอยู่ตรงถนนอักษะถูกชวนให้ไปร่วมต่อต้านรัฐประหารที่หอศิลป์ร่วมกับคนอื่นๆ

“เสร็จแล้วก็กลับบ้านมาเปิดทีวี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติม เราเลยตัดสินใจเปิดเพจอีก ใช้ชื่อว่า ‘เรารักพลเอกประยุทธ’ จัดให้อยู่ในหมวดคอมเมดี้ เพราะตั้งใจทำภาพและคอนเทนต์ล้อเลียน ซึ่งในความคิดตอนนั้นก็คิดว่ามันปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ได้เปิดเผยตัวตน 

 “กระทั่งเราถูกจับนั่นแหละ ถึงได้รู้ว่ามันไม่ปลอดภัย”

3

เช้าวันหนึ่งที่ควรจะเป็นวันธรรมดาในชีวิตของณัฏฐิกาและแม่ กลับกลายเป็นเช้าที่ไม่คาดคิดในชีวิต เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งตรงเข้ามาจับกุมลูกสาวคนกลางของบ้านออกไปยังค่ายทหาร ก่อนวันต่อมาจะเดินทางไปยังกองปราบฯ ถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 และ 112 เพียงเพราะการสร้างเพจทางการเมือง และต้องเข้าไปใช้ชีวิตใต้กรอบของกรงขังในที่สุด

“วันที่เขาแจ้งข้อกล่าวหา 112 เราอยู่ในคุก มีตำรวจจากกองปราบเอาใบมาให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา เราอ่านแล้วก็ถามกลับไปว่า สิ่งนี้มันฟ้องได้จริงเหรอ แต่เขาตอบเรามาว่า เขาก็ไม่ทราบหรอก เพราะทหารสั่งให้เขามาทำอีกที ซึ่งเราก็รู้เลย และตัดสินใจไม่เซ็น”

ณัฏฐิกายอมรับว่าระยะเวลา 2 เดือน เป็นช่วงความทรงจำที่เลวร้ายในชีวิต แม่คอยรอเข้าไปเยี่ยมเธอเกือบทุกวัน ความทรมานจากสภาพที่เป็นอยู่ และการเห็นคนรักต้องเสียใจทำให้เธอรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้

“ความคิดเรื่องที่จะลี้ภัยมันมีอยู่ตลอดเลยนะตั้งแต่อยู่ในคุก แต่เราไม่มีข้อมูล ไม่เคยรู้ขั้นตอน ไม่มีความรู้เลย พอออกจากคุกมา แม้จะไม่มีงานทำ แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้ลำบาก เพราะครอบครัวดูแลได้”

“แต่พอมารับรู้ว่าการที่เราติดคุกมันกระทบถึงคนในครอบครัว โดยเฉพาะแม่ซึ่งก็แก่แล้วต้องมานั่งกลุ้มใจ เขาตรอมใจ ไม่กินข้าว เราเลยรู้สึกว่าติดคุกไม่ได้แล้วนะ ถ้าเกิดเราติดคุก แม่เราไม่รอดแน่เลย ทำยังไงดี” 

แม้จะได้รับการประกันตัวมาแล้ว แต่การว่าความยังดำเนินกันต่อไปภายใต้ศาลทหาร ตลอดเวลาต่อสู้คดี ณัฏฐิกาคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายด้าน อย่างเช่นการฟ้องด้วยหลักฐานที่มาจากรูปเพียงรูปเดียว และคำพูดที่ว่าคดีนี้ ‘ผู้ใหญ่สั่งมา’ ทำให้เธอมองไม่เห็นว่าโอกาสชนะคดีจะเกิดขึ้นได้

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

“ขณะเดียวกัน หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่าน เรามองแล้วว่า ประเทศไทยไม่มีอนาคตจะเดินไปข้างหน้าแล้ว เลยรู้สึกว่าต้องหาทางออกนอกประเทศ”

ก่อนเริ่มกระบวนการลี้ภัย เธอใช้เวลาครึ่งปีในการเยียวยาจิตใจแม่และตัวเอง ด้วยการเดินทางไปเที่ยว ไหว้พระในสถานที่ต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจบอกคนที่เธอรักที่สุดว่าจะไม่ใช้ชีวิตในบ้านเกิดอีกต่อไป

“บอกแม่ว่ายังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน แต่สัญญาว่าจะไปที่ที่ดีๆ จะไม่แค่หนีไปเฉยๆ แล้วตกระกำลำบาก สัญญาทุกอย่างว่าชีวิตต่อจากนี้จะไม่ทำอะไรให้เขาร้องไห้อีกแล้ว” เธอเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนกลืนความทรงจำแสนเจ็บปวดที่ผุดขึ้นในใจออกไปพร้อมกับน้ำตา 

“เรารู้สึกว่ามันบาป” เธอค่อยๆ กลับมาพูดอีกครั้ง “ทำสิ่งที่เขาทุกข์ใจที่สุดในชีวิต เราเป็นลูกที่โคตรบาปเลย แต่ก็บอกเขาวันนั้นว่ายังไงจะได้เจอกันอีก แม่ก็มีโอกาสที่จะบินไปหานะ หรือไม่เราก็คุยกันผ่านไลน์ทุกวันได้ มันดีกว่าคุยผ่านลูกกรง”

“ไอ้ความรู้สึกที่คุยผ่านลูกกรงมันเป็นอะไรที่ trauma ในใจทั้งเราและแม่อยู่ตลอดเวลา 15 นาทีของการคุยโทรศัพท์ แม่จะต้องพยายามเข้มแข็งทุกครั้ง ในขณะที่เราเข้มแข็งไม่ไหว เพราะฉะนั้นทำยังไงก็ได้ที่มันจะไม่มีวันย้อนกลับไปโมเมนต์นั้นได้อีก นั่นน่ะคือสิ่งที่ดีที่สุด”

นอกจากแม่ ช่วงแรกมีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าเธอตัดสินใจลี้ภัย ในฐานะนักเคลื่อนไหวที่มีคดีความมั่นคงติดตัวอยู่ เธออยากทำให้ทุกอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด

“ก่อนออกมา เราเตรียมทุกอย่างให้พร้อม ขอพาสปอร์ตใหม่ ขอวีซ่าท่องเที่ยวไปอเมริกา ขออนุญาตศาลออกนอกประเทศ”

“แล้วไม่ใช่แค่เตรียมเอกสารต่างๆ แต่เตรียมตัวเตรียมใจด้วย เลือกแต่ของที่จำเป็นไป ทุกอย่างในชีวิตที่เหลืออยู่มา 40 กว่าปีต้องทิ้งหมด ใช้เวลา 1 เดือนเคลียร์ทุกอย่างในบ้านเพื่อเหลือกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ แล้วเราก็มานั่งปลง ชีวิตทั้งชีวิตนะ เหลือกระเป๋าใบเดียวเอง ชีวิตคนมันก็เท่านี้แหละ ไม่เป็นไร เกิดอะไรขึ้นข้างหน้าไม่รู้ ช่างมัน แต่เราต้องรอดให้ได้กับของแค่นี้” 

นอกเหนือจากนั้น เธอตระเวนไปพบเจอคนรู้จักเหมือนเป็นการร่ำลาครั้งสุดท้าย แม้กระทั่งกิจกรรมที่เคยทำอย่างขับรถกลับบ้านหรือเอนกายลงบนเตียงนอน เธอก็บอกตัวเองว่าคงจะไม่ได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้อีก 

“เราไม่รู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเราไม่ได้แค่ไปเที่ยว ไปเรียนต่อ แต่เราไปเพื่อเปลี่ยนชีวิต เพราะฉะนั้นโอกาสการกลับมามันอาจจะไม่มีเลย”

4

อเมริกาไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียวในการลี้ภัยของณัฏฐิกา เธอมีประเทศในใจอยู่อีก 2 ที่ซึ่งมีชื่อเสียงในการเปิดรับความหลากหลายของเชื้อชาติและผู้ลี้ภัย นั่นคือแคนาดาและฝรั่งเศส

“ประเด็นคือเราไม่รู้จักใครในแคนาดา ส่วนฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่เราต้องไปเรียนภาษาใหม่ แต่ที่อเมริกาเรายังรู้จักพี่จอม (จอม เพชรประดับ) และที่นี่หางานทำได้เลย ตอนนั้นคิดตื้นๆ ง่ายๆ ว่าอยู่อเมริกาคงไม่ลำบาก แม้ว่าจะต้องใช้เวลายื่นเอกสารลี้ภัยนาน” 

วันแรกที่เท้าเหยียบดินแดนแห่งเสรีภาพ เธอเลือกไปอยู่กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์คนหนึ่งในลอสแอนเจลิส ก่อนจะหางานทำในร้านอาหารไทย และหาทางยื่นเอกสารเพื่อขอลี้ภัยให้สำเร็จ โดยได้รับการแนะนำทนายลูกครึ่งไทย-อเมริกันจากวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยดำเนินการเอกสารให้

“แต่เรื่องไม่คาดคิดและผิดแผนคือเรามีปัญหากับเพื่อนคนนี้ เขาไม่ทำงาน แต่ใช้ชีวิตด้วยการให้เราจ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่ารถเมล์ จ่ายค่าอาหารให้ มันไม่ได้ เรามาด้วยเงินที่จำกัด แล้วเอาเรื่องที่เราจะลี้ภัยไปขอความช่วยเหลือทางการเงินกับคนอื่น ซึ่งเราแอบรู้มาก็ช็อกมาก เราไม่เคยขอเงินใครเพื่อที่จะมาเริ่มต้นชีวิตแบบนี้ สุดท้ายก็คิดว่าอยู่ไม่ได้”

ณัฏฐิกาตัดสินใจย้ายมาอยู่ซานฟรานซิสโกตามคำแนะนำของคนรู้จัก ในขณะเดียวกันก็ติดต่อกับทนายคนเดิมเพราะตั้งใจจะเดินทางไป-กลับลอสแอนเจลิสเพื่อยื่นเรื่อง แต่ทนายอยากให้เธอดำเนินการต่อที่ซานฟรานซิสโกเลย โดยเขาช่วยแนะนำทนายที่รู้จักให้

ระหว่างรอยื่นเรื่อง ภายใน 6 เดือนเธอจะได้ใบอนุญาตทำงาน แต่เนื่องจากไม่สามารถรอเวลาได้ ณัฏฐิกาจึงตัดสินใจทำงานอย่างผิดกฎหมายในร้านอาหารไทยก่อน 

“แต่ที่แน่ๆ คือถ้าได้ใบอนุญาตทำงาน เราอยากย้ายไปทำงานอื่น พูดตรงๆ ร้านอาหารไทยไม่ใช่คำตอบ เราต้องหาสิ่งที่ดีขึ้นให้กับชีวิต” 

หลังจากได้ใบอนุญาตทำงานตามที่หวัง ณัฏฐิกาตัดสินใจเข้าเว็บไซต์หางาน สมัครทำงานพาร์ตไทม์หลายที่ในช่วงเวลา 3 ปีก่อนเธอจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ทำให้เธอเรียนรู้ความเป็นคนอเมริกันจากการเจอผู้คนต่างเชื้อชาติมากขึ้น

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

“สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ในอเมริกาคือ ความหลากหลายที่ไม่ได้มีแค่คนขาว หรือแบล็กอเมริกัน แต่คนอเมริกันมีทุกเชื้อชาติ แล้วมันก็สะท้อนออกมาจากหลายอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ในชั้นวางสินค้าซูเปอร์มาเก็ต มีของจากหลากหลายเชื้อชาติให้เลือก” 

“เราก็เลยไม่ได้รู้สึกลำบากในการปรับตัวเท่าไหร่ ลองนึกภาพว่าเราไปอยู่ในที่ที่เป็นได้แค่สิ่งเดียว แล้วเราต้องพยายามปรับตัวเองให้เป็นสิ่งนั้น มันจะยาก แต่พอมาอยู่ที่นี่เราก็เป็นตัวของเรานี่แหละ สิ่งที่ต้องทำคือไม่ว่าคุณจะเป็นใครจากไหน จะแตกต่างยังไงก็แล้วแต่ คุณต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นั่นแหละ มันทำให้ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้”

มากไปกว่าเรื่องความหลากหลาย สิ่งที่เธอได้รับมากที่สุด แบบที่ประเทศบ้านเกิดให้ไม่ได้ คือเสรีภาพในชีวิต ซึ่งนี่คือข้อสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจออกมาอยู่ที่นี่ 

“อย่างภาพเล็ก อยู่ที่ทำงานเรามีเสรีภาพพูดทุกอย่างกับเจ้านายได้เลย เขารับฟังเรา ทุกเสียงมีความหมาย โอเค สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้มีเสียงที่มีความหมายขนาดไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก แต่อย่างน้อยที่สุด เสียงที่เราพูดออกไปมันมีการตอบรับในทุกครั้ง”

“ส่วนภาพใหญ่ เวลาอเมริกาจะออกกฎหมาย หรือกฎบังคับอะไรก็แล้วแต่ เขาจะไม่ทำอะไรที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนเลย แล้ววิถีของอเมริกันบังคับไม่ได้ด้วย ถ้ามีคือคนออกมาประท้วง คนอเมริกันชินกับการที่มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่”

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

อีกเรื่องที่เธอยกตัวอย่างให้เห็นความเป็นไปของเสรีภาพในสังคมอเมริกัน คือเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งเธอใช้ชีวิตในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ทำให้เห็นสองฟากฝั่งความคิดที่ต่างกัน แต่พูดคุยและอยู่ร่วมกันได้ในสังคม

“ไม่ว่าคุณจะคิดยังไง เขาก็จะพูดเลยว่าเขาซัพพอร์ตคนนั้น แต่ทุกอย่างเขาจะอธิบายด้วยเหตุผล มีครั้งหนึ่งเราไปกินข้าวบ้านเพื่อนกับแฟน เพื่อนเรามีแฟนเป็นคนอเมริกันเหมือนกัน กลายเป็นว่าคนอเมริกัน 2 คนมาเจอกัน โดยที่ไม่ได้รู้มาก่อนว่าตัวเองสนับสนุนคนละพรรค เขาก็พูดเรื่องการเมืองขึ้นมา แลกเปลี่ยน ถกเถียงด้วยหลักการและประเด็นกันดุเดือดมาก แต่เขาไม่โกรธกันนะ”

“แต่ถ้าเป็นคนไทยจะไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง เพราะกลัวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์หรืองาน เราเองในอดีตที่บอกคนอื่นว่าเป็นเสื้อแดง ก็โดนเพื่อนพูดลับหลังว่าหัวรุนแรง คนอเมริกันไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในความคิด ทำไมล่ะ ในเมื่อเราไม่พอใจสิ่งเหล่านี้ เราสามารถพูดออกมาได้ คนอเมริกันที่รู้จักกัน พอเขารู้เรื่องของเรา เขาบอกเลยว่า ‘ยูกล้าหาญมากเลยนะ’ เขานับถือในสิ่งที่เราทำ”

พูดได้ว่าในฐานะปัจเจก เธอซึมซับและใช้เสรีภาพที่ได้รับอย่างเต็มที่ แต่ในภาพใหญ่ ณัฏฐิกาไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปยังเขตแดนนั้นอีกแล้ว โดยเฉพาะการพูดเรื่องเสรีภาพในไทย เธอยอมรับว่าเข็ดหลาบกับความทรงจำเลวร้ายที่เจอ และเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวที่ไทย“แต่ถามว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะยุ่งเรื่องการเมืองที่ไทยไหม ก็ทำอยู่ดี เพราะทุกวันนี้ก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปไม่ผิดเลย แต่พอเรามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ก็ไม่อยากให้ครอบครัวไม่สบายใจอีก”

5

ปรากฏการณ์ทะลุเพดานและเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแค่หน้าประวัติศาสตร์ไทยไปตลอดกาล แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างแดนด้วย ณัฏฐิกาในฐานะคนเสื้อแดงที่เคยลงมือทำมาก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อไฟเติมพลังในอุดมการณ์ของเธอไม่น้อย

“ตอนน้องๆ ออกมาพูดเรื่องนี้ เราน้ำตาไหลอย่างบอกไม่ถูก มันมีกำลังใจ มีความหวังนะ แต่เราก็ไม่ได้อยากลงมือทำอะไร จนแฟนถามว่ายูไม่คิดอยากจะทำสิ่งที่ยูเคยทำในเมืองไทยที่นี่เหรอ ยูไม่รู้เหรอว่าอเมริกามันเป็นเมืองแห่งเสรีภาพ มันมี freedom of speech ที่นี่ทำอะไรก็ได้ เราก็ยืนยันว่าไม่เอา เราเหนื่อยมากจริงๆ”

“แต่พอเห็นการต่อสู้ของพวกเขาแล้วมันเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า พวกเขาสู้แบบคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย ประเทศมันไม่ดีจนกระทั่งต้องทำให้มันเปลี่ยน แล้วเขาลุกขึ้นมาทำขนาดนี้ เราอยู่ที่นี่ปลอดภัยกว่าตั้งเยอะ เราจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ เราจะมานั่งคิดว่าฉันไม่ได้อยู่เรือลำเดียวกับพวกเธอแล้ว ฉันไม่เกี่ยวแล้ว มันก็ดูเห็นแก่ตัวเกินไปหรือเปล่า 

“ยิ่งอุดมการณ์มันอยู่ในสายเลือดตลอด เราอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้น ยังไงเราก็เป็นคนไทย ยังรักแผ่นดินเกิดเสมอ คนอาจจะบอกว่าเราเป็นพวกชังชาติ แต่ฉันว่าฉันไม่ได้รักชาติน้อยกว่าพวกคุณหรอก”

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

บวกรวมกับคนไทยในอเมริกาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เธอจึงตัดสินใจออกมาร่วมทำงานกับคนรุ่นใหม่ในอเมริกา ก่อตั้งกลุ่ม Thai Rights Now องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเมืองไทยให้คนอเมริกันได้รับรู้ปัญหา พร้อมกับสนับสนุนการเคลื่อนไหวในไทยด้วย

“พอได้คุยกับน้องๆ ที่มาทำงานร่วมกันหลายคน ทำให้รู้เลยว่าสิ่งที่อานนท์ เพนกวิน รุ้ง ได้กระทำมาทั้งหมดในปีที่แล้วมันเปลี่ยนความคิดคนได้หลายคน แล้วมันคุ้มค่ามากๆ กับการอุทิศตนของพวกเขา”

“แม้บางคนที่อยู่นี่ไม่ได้คิดอยากจะกลับไปอยู่ไทย แต่ก็อยากทำ ให้คนอเมริกันได้รับรู้ว่าเมืองไทยไม่ได้มีแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่มีเรื่องการเมืองด้วย บางครั้งเสียงของพวกเรามันอาจจะดังไม่พอที่จะพูดออกไป ถ้าเกิดว่ามีเสียงของคนอเมริกันช่วยทำให้มันดังมากขึ้น มันอาจจะไปถึงผู้มีอำนาจ หรืออะไรที่สามารถ take action บางอย่างกลับไปที่ประเทศไทยได้”

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์


พวกเขาจัดการชุมนุมอยู่หลายครั้ง บางทีก็เข้าร่วมขบวนกับชาติอื่นๆ ที่พบเจอปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน อย่างเช่นกลุ่มพันธมิตรชานม 

“แรกๆ เราศึกษากฎของการจัดชุมนุม ได้รู้ว่าถ้าเกิดมีคนมาร่วมไม่เยอะขนาดที่จะสร้างความเดือดร้อน หรือว่าจะต้องปิดถนนก็ไม่ต้องขออนุญาตอะไรเลย อยากจะจัดตรงไหนก็ตั้งไปเลย คุณอยากจะยืนชูป้ายประท้วงตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าเกิดคนเยอะจนต้องปิดถนน เขาก็จะส่งตำรวจมาดูแลความปลอดภัยให้กับทุกๆ ฝ่าย ไม่ได้มาเพื่อมาคอนโทรลคุณ”

6

ผ่านมาเกือบปี กับการกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 3 ปี แม้เจ้าตัวจะยอมรับว่าครั้งนี้มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมาย แต่หลายครั้งสถานการณ์ในไทยก็ทำให้เธอเหนื่อยและท้อ อยากจะวางมือจากการทำงาน แต่เธอก็ยืนยันว่าในท้ายที่สุดเธอก็ทำไม่ได้อยู่ดี 

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

“มันหยุดไม่ได้หรอก แม้บางช่วงจะทำมากทำน้อยต่างกันไป แต่สิ่งเหล่านี้มันคงอยู่กับเราไปตลอดชีวิต” 

นักเคลื่อนไหวในวัย 48 ปี ยืนยันหนักแน่นว่าทั้งหมดที่ทำไม่ใช่เพราะอยากกลับบ้านอีกครั้ง เพราะต่อให้มีการส่งจดหมายขอให้กลับ เธอก็คงไม่กลับอยู่ดี 

การเลือกมาใช้ชีวิตในดินแดนเสรีภาพของอเมริกากลายเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว 

“ถามว่าไม่คิดถึงเมืองไทยเหรอ เราคิดถึงสถานที่สวยๆ ที่เราไปเที่ยว คิดถึงเพื่อนๆ ที่อยู่เมืองไทย คิดถึงครอบครัว อยากกลับไปนอนกอดแม่ที่เมืองไทย มันก็คิดถึงสิ่งเหล่านั้น แต่พอคิดถึงการใช้ชีวิตแล้วไม่อยากกลับไป เพราะอยู่ที่นี่มันเป็นชีวิตใหม่จริงๆ แล้วก็ไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจแบบนี้

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์

“แต่ก็ยืนยันว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกสเตปในชีวิตที่เดินมา เวลาเหนื่อย เจอปัญหา ท้อ ต้องคอยบอกตัวเองว่าอดทนนะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป สู้ไปสิ อยู่อเมริกามันต้องคอยช่วยเหลือดูแลตัวเองตลอดเวลา ไม่สามารถยกหูโทรศัพท์ให้ครอบครัวให้ญาติมาช่วยได้ จนมาเจอกับแฟนที่คอยดูแลสนับสนุนเรา บอกได้เลยว่ามาอยู่ที่นี่มันเริ่มต้นชีวิตใหม่จริงๆ จากไม่เคยมีความรักอยู่ไทย มาที่นี่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในชีวิต เราค่อยๆ กลับมาเป็นตัวเอง มันทำให้มีพลังที่จะสู้ พอมองย้อนกลับไป เราเชื่อว่ามาถูกที่แล้ว

“เพราะเสรีภาพมันสำคัญกับเราที่สุด และจะไม่มีวันให้ใครพรากมันไปจากเราอีกแล้ว”

AUTHOR