พันธมิตรชานม since 2020 : จากดราม่า BL สู่ขบวนการเรียกร้องเสรีภาพแบบใหม่แบบสับ

Highlights

  • Milk Tea Alliance หรือ พันธมิตรชานม คือประเด็นที่ต่อยอดมาจากดราม่าที่เดิมทีเป็นเรื่องราวระหว่างแฟนคลับไทยและจีนของนักแสดงซีรีส์ BL ชาวไทย ก่อนจะลุกลามเป็นดราม่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีจีน-ไทยเป็นตัวละครหลัก และไต้หวันในฐานะตัวละครที่ถูกอ้างถึง
  • จากสงครามมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความร่วมมือกันจริงจัง เริ่มต้นมีแค่ไทยและไต้หวัน ก่อนที่จะลากเอาฮ่องกงเข้ามาร่วมด้วย

คอลัมน์ครั้งนี้ต้องบอกว่าเขียนยากมากสำหรับเรา เพราะเป็นประเด็นที่ไปไกลเกินกว่าหลายคนจะคาดถึง และอีกหลายคนก็มีส่วนร่วมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

เรากำลังพูดถึงประเด็น พันธมิตรชานม ที่ต่อยอดมาจากดราม่าที่เดิมทีเป็นเรื่องราวระหว่างแฟนคลับไทยและจีนของนักแสดงซีรีส์ BL ชาวไทย ก่อนที่อีก 2-3 วันถัดมาจะลุกลามเป็นดราม่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีจีน-ไทยเป็นตัวละครหลัก และไต้หวันในฐานะตัวละครที่ถูกอ้างถึงออกมามีส่วนในภายหลัง

ช่วงนั้นชาวเน็ตไทยน่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวหลายอย่างจากทางการไต้หวันที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ แค่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ทวีตอวยพรเทศกาลสงกรานต์ให้ชาวไทยเป็นภาษาไทย ทั้งที่ปกติบนไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ของเธอจะโพสเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น หรืออังกฤษเสมอ และไม่ได้มาแค่ประโยคเดียวอย่างสุขสันต์วันสงกรานต์ด้วย แต่ยาวจนเกือบครบโควตา 240 ตัวอักษร ต่อด้วยผู้ว่านครเถาหยวน เจิ้ง เหวิน-ช่าน ที่ทวีตรูปคู่กับผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ธงชัย ชาสวัสดิ์ พร้อมกับข้อความภาษาไทยเหมือนกันว่าอยากชวนเพื่อนสนิทคนนี้มาร่วมงานสงกรานต์ปีหน้าและอยากกินผัดไทย

2 ทวีตที่ว่าแม้ไม่ได้พูดถึงดราม่าดังกล่าวแม้แต่นิดเดียว แต่ใครเห็นก็รู้สึกได้ว่านักการเมืองไต้หวันโดยเฉพาะพรรค DPP ก็คงติดตามข่าวนี้อยู่เหมือนกัน

 

ไทย-ไต้หวัน พันธมิตรชานมที่เพิ่งถือกำเนิด?

ถ้าถามว่าเป็นเพราะเหตุการณ์นี้หรือเปล่าที่ทำให้รัฐบาลไต้หวันเริ่มดำเนินการกระชับความสัมพันธ์กับไทยในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การบริจาคชุด PPE 15,000 ชุดจากเมืองเถาหยวน หรือการบริจาคแมสก์ 2 แสนชิ้นจากรัฐบาลไต้หวัน ที่จริงมีข่าวออกมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนแล้วว่ารัฐบาลไต้หวันเตรียมจะบริจาคแมสก์จำนวน 1 ล้านชิ้นให้กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ที่แจ้งความต้องการต่อไต้หวัน แต่ ณ ขณะนั้นแม้ไทยจะอยู่ในกลุ่มดังกล่าว ก็ยังไม่มีชื่อของไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่แจ้งความต้องการต่อทางไต้หวัน เราเลยไม่สามารถยืนยันฟันธงลงไปได้ว่าการบริจาคครั้งนี้เป็นเพราะภายหลังไทยเกิดเปลี่ยนใจแจ้งความต้องการไปหรือเปล่า หรือทางไต้หวันตัดสินใจเพิ่มไทยเข้าไปเองเพราะเหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นแล้วบอกว่าเป็นหนึ่งในการดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่

พันธมิตรชานม

ส่วนทางเถาหยวนก็ตีความยากอีก เพราะแม้เถาหยวนเป็นเมืองที่มีแรงงานไทยอาศัยอยู่มากตั้งแต่เมื่อ 10-20 ปีก่อน จนสามารถจัดงานสงกรานต์หรือลอยกระทงได้ แต่การที่นายเจิ้งในฐานะผู้ว่านครเถาหยวนทวีตเป็นภาษาไทยก่อนหน้านั้น รวมถึงยังเสิร์ฟชาไทยและชานมไต้หวันระหว่างงานแถลงข่าวการบริจาคชุด PPE ก็ทำให้หลายคนอดเชื่อมโยงกันไม่ได้อยู่ดีว่าการบริจาคเกี่ยวข้องกับดราม่าก่อนหน้า

คิดในแง่ดี รัฐบาลของไช่ อิงเหวิน ก็แสดงออกว่าสนใจเพิ่มระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาตั้งแต่แรก ทั้งการให้ฟรีวีซ่าและเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยมาเรียนที่ไต้หวันอยู่เรื่อยๆ อีกอย่างคือไต้หวันเองก็เป็นประเทศที่รับมือโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ และพอเริ่มตั้งตัวได้ก็บริจาคเครื่องมือการแพทย์ที่สำคัญให้กับหลายประเทศทั่วโลกก่อนหน้าไทย การบริจาคในตอนนั้นก็อาจเป็นแค่สิ่งที่อยู่ในแพลนอยู่แล้ว แต่มาถูกเวลาไปหน่อย

ทีมงานของรัฐบาลไต้หวันเองก็เล่นกับกระแสบนโซเชียลมีเดียเก่งมาแต่ไหนแต่ไร แม้คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่เล่นทวิตเตอร์ แต่นักการเมืองไต้หวันหลายคนมีแอ็กเคานต์ทั้งบนเฟซบุ๊กเพื่อเอาไว้สื่อสารเป็นภาษาจีนกับชาวไต้หวัน และบนทวิตเตอร์ซึ่งส่วนใหญ่ดูเหมือนเอาไว้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือภาษาอื่นๆ กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ การจะเล่นกับกระแสบนอินเทอร์เน็ตบ้างก็ดูเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะโอกาสที่จะได้เห็นชาวเน็ตไทยออกมาช่วยเรียกร้องแทนไต้หวันขนาดนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ด้วย

 

พันธมิตรชานม

เหตุการณ์ผ่านมาหลายเดือน ใครจะไปคิดว่าดราม่าที่มีต้นกำเนิดจากวงการบันเทิงในวันนั้นจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติ จากสงครามมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความร่วมมือกันจริงจัง เริ่มต้นมีแค่ไทยและไต้หวัน ก่อนที่จะลากเอาฮ่องกงเข้ามาร่วมในฐานะที่เป็นตัวละครที่กำลังถูกกดดันจากจีนโดยตรง แล้วตามด้วยอินเดียที่มีข้อพิพาทบริเวณพรมแดนกับจีน

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดและเกิดขึ้นในไต้หวันคือกลุ่ม Taiwan Alliance for Thai Democracy ผู้จัดงานไทเปจะไม่ทน–การชุมนุมคู่ขนานจากไทเปทั้ง 2 ครั้งในวันที่ 16 สิงหาคมและ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในการชุมนุมนอกจากจะมีการปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยแล้ว ยังมีตัวแทนจากไต้หวัน ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ร่วมปราศรัยและบอกเล่าประสบการณ์จากบ้านเกิดของตัวเอง ภายใต้ความหวังเดียวกันว่าจะสามารถต่อสู้เพื่อนำสิทธิเสรีภาพกลับสู่บ้านเมืองของตัวเองและเพื่อนบ้านได้

แน่นอนว่าในงานก็มีผู้ปราศรัยบางคนกล่าวถึงพันธมิตรชานม หรือ Milk Tea Alliance ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการชุมนุมของคนหลากหลายชาติแบบนี้ขึ้นมาได้

พันธมิตรชานม

ขณะเดียวกันบนโลกออนไลน์ ในวันที่เรากำลังพิมพ์ต้นฉบับของคอลัมน์นี้อยู่ #MilkTeaAlliance ก็เต็มไปด้วยภาพเหตุการณ์จากการชุมนุมในไทยและฮ่องกง แทรกด้วยข่าวจากอินเดีย มองโกเลีย หรือแม้แต่เบลารุส ไม่ว่าจะมองด้านไหนการถือกำเนิดและทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรชานมก็น่าสนใจ และน่าจะเป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่ควรศึกษา (ถ้าตอนที่เกิดเรื่องเรายังเรียน ป.โทอยู่ ก็คงหยิบเอาเรื่องนี้ไปเสนอทำทีสิสจริงจังแล้ว)

ใครจะไปคิดว่าชานมไม่กี่แก้วจะสามารถพากลุ่มนักเคลื่อนไหวจากหลายชาติที่ดูเผินๆ น่าจะรวมตัวกันได้ยาก มารวมตัวกันได้จนกลายเป็นขบวนการเรียกร้องเสรีภาพที่ทั้งส่งเสริมและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แถมเคลื่อนไหวทั้งออนไลน์และออฟไลน์

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ