‘แด่ใครก็ตามที่รู้สึกว่าไม่มีใครสังเกตเห็น’ คุยเรื่องหัวใจของนักเล่านิทานกับ Mike Curato

Highlights

  • Mike Curato คือศิลปินที่เขียนหนังสือนิทานเด็กชื่อดัง Little Elliot, BIG CITY หนังสือที่เล่าเรื่องช้างน้อยลายจุดที่มีชีวิตเปลี่ยวเหงาในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก
  • หนังสือเด็กของคูราโต้มักเล่าเรื่องความรู้สึกที่ซับซ้อน อย่างความต้องการได้รับการยอมรับ ความหมายของครอบครัว ไปจนถึงความหมายของชีวิต
  • คูราโต้อยากให้หนังสือของเขาทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าถูกมองเห็น มีใครสักคนเข้าใจ เพื่อให้พวกเขามีพลังพอที่จะก้าวผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ด้วยตัวเอง เรื่องราวในหนังสือไม่ใช่แค่สอนพวกเขา แต่ยังช่วยปลอบประโลมจิตใจด้วย
  • เขาอยากใช้หนังสือเพื่อบอกให้คนอ่านรับรู้ว่าทุกคนเป็นคนสำคัญ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่วัยเกือบ 30 ปีอย่างฉันรู้สึกสั่นสะเทือนในใจ

น่าแปลกที่มันไม่ใช่วรรณกรรมเล่มหนาหรือนวนิยายที่ซับซ้อนอะไร แต่เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กที่มีเนื้อเรื่องเรียบง่าย บทบรรยายแสนสั้น พร้อมภาพประกอบอุ่นละมุน 

หน้าแรกของหนังสือเขียนไว้ว่า ‘แด่ใครก็ตามที่รู้สึกว่าไม่มีใครสังเกตเห็น’

 

มันคือเรื่องราวของลูกช้างลายจุดที่มีชื่อว่า Elliot ผู้อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก สำหรับลูกช้างตัวจิ๋วการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ช่างยากเย็น เมื่อเอลเลียตอยากซื้อคัพเค้ก ของหวานที่ชอบที่สุด เขาก็ทำไม่ได้เพราะตัวที่เล็กจนคนขายมองไม่เห็น 

แล้ววันหนึ่งเอลเลียตได้พบหนูขาวตัวจิ๋วยิ่งกว่าเขาซึ่งกำลังเจอปัญหาที่ใหญ่กว่า เจ้าหนูขาวหยิบอาหารไม่ถึงเพราะตัวเล็กเกินไป 

“ฉันช่วยได้นะ” เอลเลียตตอบ 

ทันทีที่ได้หยิบพิซซ่าให้หนูขาว เอลเลียตก็รู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นช้างที่สูงที่สุดในโลก 

วันต่อมา เอลเลียตกับเจ้าหนูก็ไปซื้อคัพเค้กด้วยกัน และในที่สุดเอลเลียตก็ได้คัพเค้ก 

และบางอย่างที่ดีกว่านั้นอีก

ที่หน้าปกหนังสือมีตัวอักษรตัวใหญ่เขียนว่า ‘Little Elliot, BIG CITY by Mike Curato’

เมื่อลองค้นหาเพิ่มเติมจึงพบว่าคูราโต้คือนักเขียนและนักวาดหนังสือเด็กชื่อดัง หนังสือเล่มแรกในชีวิตเขาคือเล่มที่ฉันเพิ่งอ่านจบไปเล่มนี้ที่ได้ทั้งรางวัลและคำชื่นชมมากมาย ได้รับการแปลไปแล้ว 12 ภาษาทั่วโลก และเรื่องราวของช้างลายจุดยังมีหนังสือเป็นซีรีส์ต่อยอดออกมาอีก 4 เล่ม

 

แม้จะเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แต่ทุกเล่มล้วนบอกเล่าความรู้สึกที่ซับซ้อน อย่างความต้องการได้รับการยอมรับ ความหมายของครอบครัว ไปจนถึงความหมายของชีวิต นอกจากนั้นคูราโต้ยังได้วาดภาพประกอบให้หนังสือสำหรับเด็กอีกหลายเล่ม อย่างเช่น Worm Loves Worm ที่พูดถึงความรักของเพศเดียวกัน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาฉันได้สัมภาษณ์นักเล่าเรื่องจากนิวยอร์กคนนี้ผ่านทางวิดีโอคอล เนื่องในวาระที่เขากำลังจะมาร่วมเสวนาในเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ 

บทสนทนาที่เราคุยกันทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้อ่านนิทานว่าด้วยชีวิตและความคิดของคูราโต้ แม้นี่จะเป็นคำพูดของคนแปลกหน้าจากอีกซีกโลก แต่มันก็ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นและมีพลังอย่างประหลาด

และต่อจากนี้คือหัวใจของนักเล่านิทานที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนาของเรา

photo credit: Dylan Osborne

คุณเคยบอกว่าการทำหนังสือเด็กเป็นความฝันของคุณเสมอ ช่วยเล่าความพิเศษของหนังสือเด็กให้ฟังหน่อยได้ไหม

ตอนที่ผมอยู่มหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่นักศึกษาทุกคนกำลังค้นหาว่าจะโฟกัสการทำงานศิลปะไปในทิศทางไหน ช่วงนั้นผมดูงานภาพประกอบหลากหลายมาก แล้วผมก็พบว่างานส่วนใหญ่ที่ชอบมักเป็นภาพประกอบหนังสือเด็ก ในหนังสือเหล่านั้นผมพบเศษเสี้ยวของวัยเด็กหลบซ่อนอยู่ การอ่านเลยเป็นเหมือนการได้รื้อฟื้นความทรงจำเหล่านั้นกลับขึ้นมา ผมรู้สึกสั่นสะเทือนและบางครั้งถึงกับร้องไห้ให้กับเรื่องราวเหล่านั้น

ผมคิดว่าหนังสือที่ดีจะบอกเล่าความจริงบางอย่างที่เป็นเรื่องสากลในจักรวาล ซึ่งหนังสือภาพสำหรับเด็กพิเศษมากเพราะเป็นสิ่งที่ทุกช่วงวัยเข้าถึงได้และรับรู้ประสบการณ์นั้นได้เหมือนกัน

คุณเคยพูดว่าศิลปะคือสิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ แสดงความรู้สึกออกมา แล้วตัวคุณในตอนเด็กแสดงความรู้สึกอะไรออกมาบ้างผ่านงานศิลปะ 

การวาดรูปเป็นความสนใจโดยธรรมชาติของผมมาตั้งแต่เด็กๆ มันคือความนึกคิดของผมตั้งแต่จำความได้ ผมวาดรูปบนกระดาษปูโต๊ะในร้านอาหาร และมักมีสีเทียนหรือปากกามาร์กเกอร์ติดตัวเสมอ สำหรับผมมันคือวิธีที่ใช้แสดงออกความเป็นตัวเอง 

มีครั้งหนึ่งตอนอายุ 4 ขวบ พ่อแม่ส่งผมไปเข้าทีมบาสเกตบอล ตอนนั้นผมไม่อยากเล่นเลย ผมอารมณ์เสียมากและร้องไห้ พ่อแม่เลยถามว่า “งั้นลูกอยากทำอะไรล่ะ” ผมตอบว่า “ผมอยากทำงานศิลปะ” 

ในตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ากำลังสื่อสารอารมณ์อะไรออกไปเหมือนกัน รู้แค่ว่ามันเป็นสิ่งที่ผมชอบทำเท่านั้น แต่ตอนนี้ผมคิดว่าหนังสือของผมสะท้อนความรู้สึกในวัยเด็กออกมา อย่างเรื่องราวของความเหงา ความกลัว หรือความรู้สึกที่ว่าเราตัวเล็กมากๆ

 

ความรู้สึกในอดีตเหล่านี้เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังสือเล่มแรกของคุณ Little Elliot, BIG CITY

ใช่แล้ว จำได้เลยว่าตอนเป็นเด็ก วันหนึ่งแม่ให้ผมรีบไปซื้ออาหารมาให้ที่บ้าน ผมต่อคิวเพื่อจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ ซึ่งเคาน์เตอร์ในร้านนั้นสูงมาก ส่วนผมก็ตัวเล็กมาก คนขายจึงมองไม่เห็น ลูกค้าหลายคนแซงคิวผมไป พวกเขาคงไม่คิดว่าผมสำคัญพอหรือไม่ควรมายืนอยู่ตรงนี้ ในตอนนั้นผมพยายามมากเพื่อซื้ออาหารให้ครอบครัว แล้วในที่สุดก็มีลูกค้าในแถวคนหนึ่งมองเห็นและช่วยผมไว้

ถ้าคุณจำได้ในหนังสือก็มีฉากที่เอลเลียตซื้อคัพเค้กจากร้านไม่ได้เพราะเขาตัวเล็กเกินไป ใช่ นั่นคือตัวผมเองตอนเด็ก (หัวเราะ) มันคือความทรงจำที่ยังติดอยู่กับผมมาจนถึงตอนนี้ และนี่คือตัวอย่างของเรื่องที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าไม่ได้สำคัญอะไร เพราะสุดท้ายก็มีคนมาช่วยไม่ใช่เหรอ แต่สำหรับผมในเวลานั้นมันเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากๆ ผมคิดว่าผมคงไม่มีทางตัวโตกว่านี้ แล้วอย่างนี้จะมีใครมองเห็นผมไหม 

ผมเชื่อว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นกับเราในวัยเด็ก ไม่ว่าเราจะเติบโตจากที่ไหน มีพื้นฐานยังไง เราต่างเคยเจอประสบการณ์ที่รู้สึกว่าไม่มีใครมองเห็น ไม่มีพลัง และไม่สลักสำคัญ แม้ว่าทุกวันนี้คุณกับผม เราต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เราก็ยังต้องพบเจอความรู้สึกแบบนี้อยู่ โดยเฉพาะโลกที่เราอยู่กันทุกวันนี้ที่บางครั้งก็เกินการควบคุมของเรา และบางครั้งมันก็ทำให้เรารู้สึกหลงทางและตัวเล็กเหลือเกิน

 

แล้วคาแร็กเตอร์เอลเลียตล่ะ คุณได้แรงบันดาลใจเรื่องเจ้าช้างลายจุดมาจากไหน 

คุณรอผมแป๊บหนึ่งได้ไหม (เดินไปหยิบของจากชั้นวางของในห้อง) นี่คือตุ๊กตาช้างที่คุณยายให้ผมตอนยังเป็นทารก และพอผมโตขึ้นมานิดหน่อยก็มีแอนิเมชั่นเรื่อง Rudolph the Red-Nosed Reindeer ที่มีตัวละครที่เป็นช้างสีขาวลายจุดสีแดง 

เอลเลียตเป็นเหมือนส่วนผสมของช้างสองตัวนี้ พวกเขาทำให้ผมย้อนนึกถึงวัยเด็กของตัวเองได้เสมอ เอลเลียตเกิดมาจากตอนที่ผมคิดว่าตัวละครสำหรับหนังสือเด็กที่ดีจะเป็นยังไงนะ แล้วผมก็เริ่มต้นวาดช้างลายจุดเล่นๆ ในสมุดสเกตช์ ผมวาดเล่นแบบนี้มาหลายปีเพื่อเก็บไว้ดูเองเท่านั้นแหละ 

แปลว่าเอลเลียตเกิดขึ้นมานานก่อนที่คุณจะเริ่มต้นเขียนหนังสือเหรอ

ใช่แล้ว ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหนังสือขึ้นมาจริงๆ ตอนเรียนจบปริญญาผมอยากเป็นคนทำหนังสือเด็ก ผมลองเสนองานไปหลายสำนักพิมพ์ แต่ก็หางานด้านนี้ไม่ได้ ผมเลยต้องทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์เพื่อหาเลี้ยงชีพ และตั้งใจทำงานกราฟิกอยู่หลายปี

ในการออกแบบกราฟิก เราทำงานเพื่อเล่าเรื่องของลูกค้า ทุกอย่างที่เราทำจะเป็นงานเพื่อลูกค้า แล้ววันหนึ่งผมก็นึกขึ้นได้ว่าผมทำงานจนลืมสร้างงานศิลปะเพื่อตัวเอง ผมอยากบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองบ้าง (หัวเราะเขินๆ) ผมเลยเริ่มต้นจากการกลับมาดูสเกตช์เก่าๆ แล้วก็ได้พบกับเอลเลียตอีกครั้ง ผมอยากสร้างเรื่องราวและตอนจบให้กับเขา การทำงานนี้เหมือนได้พาผมย้อนกลับไปมีความสุขเหมือนวัยเด็ก ช่วงเวลาที่รู้สึกตื่นเต้นเพราะจะได้สร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา 

ตอนนั้นผมไปติดต่อร้านคัพเค้กร้านโปรดเพื่อจัดแสดงภาพวาดชุดนี้ แล้วผลตอบรับจากโชว์ก็ดีพอสมควรเลย ในช่วงนั้นผมไปเข้าร่วมกิจกรรมอ่านหนังสือโดยเอา Little Elliot, BIG CITY ของผมไปอ่านให้เด็กๆ ฟัง แล้วหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานวันนั้นที่ทำงานในธุรกิจหนังสือก็แนะนำให้ผมเอาหนังสือเล่มนี้ไปโชว์ที่งาน SCBWI (The Society of Children’s Book Writers and Illustrators) ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นงานประชุมเกี่ยวกับหนังสือเด็กที่ใหญ่มากและมีกิจกรรมประกวดพอร์ตโฟลิโอสำหรับนักวาดหน้าใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ามีอาร์ตไดเรกเตอร์และบรรณาธิการสำนักพิมพ์มากมายมาร่วมงานนี้ ผมเลยไปแม้การเข้าร่วมจะราคาแพงไม่น้อยเลย แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้รู้จักผู้คนในวงการและทำความฝันนี้ให้เกิดขึ้นจริงสักที 

ภาพทั้งหมดที่ผมเพิ่งวาดเพื่อแสดงในร้านคัพเค้กกลายเป็นพอร์ตของผม และสุดท้ายผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับรางวัลที่ 1 หลังประกาศผลผมกลายเป็นจุดสนใจทันที ทุกคนเอาแต่ถามถึงเอลเลียต และนั่นทำให้ผมได้เซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์และมีหนังสือเด็กเป็นของตัวเองจริงๆ

หนังสือที่คุณทำมักบอกเล่าความรู้สึกที่ซับซ้อน เช่น ความเหงา การโหยหาการยอมรับ หรือแม้กระทั่งความหมายของชีวิต คุณคิดว่าทำไมเด็กเล็กๆ ถึงควรเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในวัยเพียงแค่นี้ล่ะ

ผมคิดว่ามีเหตุผลอยู่ 2 ข้อ

เหตุผลแรกคือ ตอนที่เราเป็นเด็กเล็กๆ สมองของเราจะเหมือนฟองน้ำที่เรียนรู้อะไรง่ายและเร็วกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่มาก และข้อสอง เพราะทุกประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้พบล้วนเป็นครั้งแรก และบางครั้งประสบการณ์เหล่านั้นก็น่ากลัวและท่วมท้นจนทำให้เขาสับสน บางสิ่งที่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราอาจเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาก็ได้ 

อย่างเวลาเด็กน้อยคนหนึ่งสะดุดล้ม เขาที่ไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดมาก่อนก็จะตกใจและกรีดร้อง เพราะเขาไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาที่จิตใจบอบช้ำมาก ถ้าเป็นผู้ใหญ่แบบคุณกับผม เราจะบอกเด็กว่า “โอ๋ ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวอีกไม่กี่นาทีเธอจะดีขึ้น แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย” แม้เราจะรู้กันเองในใจว่าชีวิตยังมีเรื่องเลวร้ายให้พบเจออีกมาก หนูน้อย (หัวเราะ) 

ในช่วงเวลานั้นเรากำลังพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว มันเลยสำคัญมากที่เด็กๆ จะรู้สึกว่าพวกเขาถูกมองเห็น รู้สึกว่ามีใครสักคนเข้าใจ เพื่อให้พวกเขามีพลังพอที่จะก้าวผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ด้วยตัวเอง ผมเลยคิดว่ามันช่วยได้มากเลยเวลาใครสักคนมาบอกเราว่า “ไม่เป็นไรนะ มันโอเค คุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้” ซึ่งหนังสือนิทานทำหน้าที่นี้ได้ เรื่องราวในหนังสือไม่ใช่แค่สอนพวกเขา แต่ยังช่วยปลอบประโลมจิตใจด้วย

แต่การให้กำลังใจและปลอบประโลมแบบนี้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ก็บอกเด็กๆ ได้เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้หนังสือภาพสำหรับเด็กแตกต่างออกไปคืออะไร

ผมคิดว่านั่นคือความสวยงามของหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านรับรู้ประสบการณ์ได้จากภายใน เมื่อเด็กๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวและภาพเข้าด้วยกันมันจะกลายเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังมาก เทียบกับเมื่อมีใครสักคนบอกสิ่งเดียวกันมันก็อาจจะมีพลัง แต่ผมคิดว่าคงไม่เท่ากัน เหมือนกับว่าภาพและเรื่องราวเหล่านั้นได้กลายเป็นประสบการณ์ของพวกเขาขึ้นมาจริงๆ

สำหรับผมเองก็มีนิทานหลายเรื่องที่ยังอยู่ในใจมาจนถึงตอนนี้ บางครั้งตอนเป็นเด็กเราอาจยังไม่เข้าใจมันทั้งหมด แต่พอเป็นผู้ใหญ่เราจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นว่าแม้เรื่องราวเหล่านั้นจะเรียบง่ายแต่ก็มีความหมายที่ยิ่งใหญ่

 

คุณฟังดูเป็นคนที่รักเด็กๆ และห่วงใยความรู้สึกของพวกเขามากๆ มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า 

ผมคิดว่าในตัวผู้ใหญ่ทุกคนต่างมีตัวตนวัยเด็กซ่อนอยู่ และในตัวผมเองก็เหมือนกัน เวลาที่เราย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองวัยเด็กมันจะมีความรู้สึกไม่มั่นคงบางอย่าง มีบาดแผลหรือความเจ็บปวดที่ยังเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผู้ใหญ่ควรจะจำความรู้สึกเหล่านั้นได้ว่าเป็นยังไง 

และเมื่อมีคำถามว่าถ้ากลับไปพูดกับตัวเองในวัยเด็กได้เราจะบอกอะไร การพยายามตอบคำถามนี้จึงเป็นเหมือนการได้ดูแลใจตัวเอง ณ ปัจจุบันด้วย เหมือนเรากำลังรักษาบาดแผลเหล่านั้น ทำให้เด็กคนนั้นรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยหรือมีคุณค่า 

มันไม่ใช่ว่าตอนเด็กผมมีช่วงเวลาที่เลวร้ายหรือไม่มีใครรักหรอกนะ แต่ผมคิดว่าเราต่างเคยมีประสบการณ์ระหว่างการเติบโตที่สร้างบาดแผลให้ทั้งนั้น การเขียนหนังสือสำหรับเด็กของผมเลยไม่ใช่แค่การทำเพื่อเด็กๆ อย่างเดียว แต่ยังเป็นการกลับไปดูแลเด็กน้อยของผมในเวลาเดียวกันด้วย 

หนังสือของคุณบอกเล่าความรู้สึกเจ็บปวดที่ซ้บซ้อนของเด็กๆ ออกมาได้อย่างเรียบง่ายและอบอุ่นมาก คุณมีวิธีการทำงานยังไง มีเทคนิคอะไรบ้าง

อย่างที่ผมได้บอกไปเลย ข้อแรกคือการลองคิดว่าถ้ากลับไปบอกตัวเองในวัยเด็กได้เราจะบอกอะไร แต่เหนือไปกว่านั้นสิ่งที่ผมจะแนะนำได้คือการดึงความรู้สึกไม่มั่นคง อ่อนแอ ในเวลานั้นออกมา ซึ่งมันเป็นขั้นตอนที่ emotional มาก ให้เราลองย้อนกลับไปในสถานที่หรือช่วงเวลาที่เจ็บปวด หวาดกลัว หรือความรู้สึกอะไรก็ตามที่เราอยากบอกเล่า ความรู้สึกซึ่งแม้ตัวเราในปัจจุบันก็ยังกลัวที่จะกลับไปอีกครั้ง 

ผมเคยสอนในเวิร์กช็อปและพูดให้นักเขียนหนังสือเด็กฟังว่า “ถ้าเราเองยังไม่รู้สึกกับเรื่องของตัวเอง ก็จะไม่มีใครรู้สึกกับมันเช่นกัน” ถ้าเราอยากจะเชื่อมต่ออารมณ์ความรู้สึกกับผู้อ่าน สิ่งที่เราจะเล่าเลยต้องมาจากด้านที่อ่อนโยนเปราะบางในใจ 

 

คุณคิดและตั้งใจทำหนังสือขนาดนี้ เป้าหมายสูงสุดที่คุณอยากไปถึงคืออะไร

ผมอยากจะถ่ายทอดเรื่องสำคัญออกมา ในโลกทุนนิยมใบนี้เราผลิตสินค้าผิวเผินออกมามากมาย การทำหนังสือสักเล่มเราต้องตัดต้นไม้ ใช้พลังงานในการพิมพ์และการขนส่งมันไปทั่วโลก ผมคิดว่าอย่างน้อยมันต้องมีความหมายบางอย่างใช่ไหม ผมอยากทำงานที่สร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก ไม่ได้อยากสร้างสิ่งที่สุดท้ายแล้วจะถูกฝังกลบในบ่อขยะ เพียงเพื่อให้ได้เงินทำสิ่งเดิมต่อไปเรื่อยๆ

ใช่ ผมคิดว่าเป้าหมายของผมทุกวันนี้คือการถ่ายทอดเรื่องสำคัญออกไปนี่แหละ 

 

คำว่า ‘เรื่องสำคัญ’ ของคุณหมายถึงอะไร ช่วยอธิบายเพิ่มได้ไหม 

ผมอยากจะทำหนังสือที่ผู้อ่านรู้สึกว่ามีใครบางคนเข้าใจพวกเขาอยู่ แม้ผมจะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม ผมคิดว่ามีผู้คนมากมายในโลกที่รู้สึกว่าไม่มีใครมองเห็น พวกเขาเลยคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ และถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ เราจะไม่ให้อะไรคืนกับโลก เราจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรอีกแล้ว 

แต่เมื่อเราเจอใครบางคนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน มันจะทรงพลังมากเพราะทำให้เรามีความหวัง ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว มีคนที่ผ่านมันไปได้และฉันก็จะผ่านมันไปได้เช่นกัน และนี่คือความหมายของหนังสือที่บอกเล่าสิ่งสำคัญ 

ผมอยากให้คนอ่านรู้ว่าพวกเขาทุกคนเป็นคนสำคัญ 

ถ้าวันหนึ่งเด็กๆ ที่อ่านหนังสือของคุณโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ คุณคาดหวังให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องอันตรายนะที่จะคาดหวังจากเด็กๆ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเขาอยากเป็นอะไรและเราควรให้อิสระแก่เขา ผมแค่หวังว่านักอ่านตัวน้อยๆ ของผมจะเติบโตขึ้นพร้อมมอบความรักมาสู่โลกใบนี้ล่ะมั้ง ไม่ว่าพวกเขาจะทำอาชีพอะไร อยู่ที่ไหน แต่งงานกับใคร ผมหวังว่าพวกเขาจะเป็นคนที่รักและเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ก็พอแล้ว

AUTHOR