“ฉันแค่ต้องการจะล้มล้างระบอบที่ไม่เป็นธรรม” คุยกับ Ma Thida นักเขียนชาวเมียนมาผู้ติดคุกเพราะต้านเผด็จการ

Highlights

  • Ma Thida คือนักเขียนนักต่อสู้ชาวเมียนมาที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อปี 1993 ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเป็นอันตรายต่อความสงบของชาติ
  • หลังเป็นอิสระเมื่อปี 1999 เธอยังคงเคลื่อนไหวด้วยความเชื่ออันแรงกล้าแม้เมียนมาทุกวันนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศประชาธิปไตย แต่เธอยังเห็นมรดกที่เผด็จการทหารทิ้งไว้ในสังคมเมียนมาปัจจุบัน
  • เธอก่อตั้ง PEN Myanmar ในปี 2013 จัดกิจกรรมมากมายเพื่อสื่อสารในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก และล่าสุดเธอกำลังจะมาร่วมเสวนาในงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์

ปี 1993 Ma Thida ถูกคุมขังในเรือนจำย่างกุ้ง

หากคุณสงสัยถึงสาเหตุ ถ้าถามรัฐบาลเมียนมา ณ ตอนนั้น คำตอบที่ได้ปรากฏชัดอยู่ในส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่ว่า ‘เป็นอันตรายต่อความสงบของชาติ’ แต่ถ้าถามผู้ถูกคุมขัง เธอบอกกับผมว่า “ฉันแค่ต้องการจะล้มล้างระบอบที่ไม่เป็นธรรม”

เผด็จการทหารคือระบอบที่ไม่เป็นธรรมที่เธอต่อต้าน

6 ปีให้หลัง Ma Thida ถูกปล่อยตัวในปี 1999 แต่เพราะเมียนมายังคงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการภารกิจการต่อต้านของเธอจึงยังต้องดำเนินต่อ กว่าสามสิบปีที่ Ma Thida ขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างไม่ลดละ เธอพูดติดตลกระหว่างการพูดคุยว่า “ใครจะไปนึกว่าระบอบแย่ๆ นั่นจะอยู่นานถึงเพียงนี้” ในความหมายที่ว่า แม้เมียนมาทุกวันนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศประชาธิปไตย หากมรดกที่เผด็จการทหารทิ้งไว้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสังคมเมียนมาปัจจุบัน

ถึงตรงนี้คุณอาจมองภาพ Ma Thida เป็นนักกิจกรรมเลือดร้อน แต่ผมขอบอกว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นศัลยแพทย์มาก่อน ชอบอ่านวรรณกรรมและรักการเขียนเรื่องสั้นเป็นชีวิตจิตใจ เธอยิ้มเก่ง สงบเย็น หัวเราะง่าย เรานัดสนทนากันเนื่องในวาระที่เธอคือหนึ่งในผู้ที่จะมาร่วมเสวนาในงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ 

ด้วยความแตกต่างทางเวลาที่ห่างกันเพียงครึ่งชั่วโมงระหว่างเมียนมากับไทย การนัดแนะสัมภาษณ์ผ่าน Skype จึงเป็นเรื่องง่าย ย่างกุ้งกับที่ที่ผมอยู่ไม่ได้ห่างไกลกันขนาดนั้น

บรรยากาศของเมียนมาในวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร พูดได้ไหมว่าคุณเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการเซนเซอร์โดยรัฐ

ใช่ ฉันเกิดในปี 1966 การเซนเซอร์โดยรัฐเริ่มต้นขึ้นในปี 1962 ส่วนฉันเกิดในปี 1966 มันเป็นช่วงเวลาที่ยาก เพราะการเซนเซอร์เป็นไปอย่างหนักหน่วงมาก เช่นเรามีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายในเมียนมา แต่เรากลับมีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเรียนรู้เรื่องราวของกันและกัน หรือการที่ชาวเมียนมาในตอนนั้นไม่มีไอเดียเลยว่าข้างนอกประเทศจริงๆ เป็นอย่างไร แล้วเมียนมาเองก็ไม่ได้มีแค่การเซนเซอร์อย่างเดียว แต่ยังมีโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ (propaganda) มีสื่อที่เป็นของรัฐซึ่งคอยกำหนดความคิดของผู้คนผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ

ด้วยเหตุนี้เราเลยไม่มีความรู้ในเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยแต่เรากลับได้เห็นข่าวสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เพราะนั่นคือสิ่งที่รัฐต้องการให้เห็น มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะเข้าใจว่าอะไรคือประชาธิปไตย ฉันมักจะพูดอยู่เสมอว่า คนเมียนมาถูกทำให้ตาบอดทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งบอดจากการเซนเซอร์ ส่วนอีกข้างก็บอดเพราะโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

แต่เป็นโชคดีของฉันที่คุณปู่ท่านเป็นหนอนหนังสือ ท่านอ่านหนังสือเยอะมากทั้งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา ฉันเลยมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากมายจากตู้หนังสือของท่านผ่านการอ่านหนังสือและวรรณกรรมนี่แหละที่ทำให้ฉันเพิ่มพูนความรู้ไปพร้อมๆ กับความสามารถที่พอจะวิเคราะห์สภาพสังคมรอบๆ ตัวได้

 

แล้วทำไมถึงคุณตัดสินใจจะเรียนหมอแทนที่จะเลือกศึกษาด้านวรรณกรรมล่ะ

ถึงตอนเด็กๆ ฉันจะอ่านหนังสือเยอะแต่ฉันอยากจะเป็นหมอมาโดยตลอดเพราะฉันคิดว่าการเป็นหมอจะช่วยผู้คนได้ ฉันรักอาชีพหมอนะ แม้ว่าในชีวิตจริงฉันจะประสบความสำเร็จจากการเขียนมากกว่าก็เถอะ (หัวเราะ) ฉันมองว่าศัลยแพทย์ไม่สามารถทำงานลำพังได้แต่ต้องทำงานเป็นทีม ในขณะที่นักเขียนมักจะทำงานคนเดียว ซึ่งถ้าถามฉันฉันชอบทำงานเป็นทีมมากกว่า ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าฉันจะไม่ได้เป็นหมอแล้วแต่ฉันก็ยังคิดถึงอาชีพนี้นะ

แต่จริงๆ แล้วฉันไม่ได้คิดว่าการเขียนเป็นงานที่สันโดษหรอก เพราะไม่ว่าจะเป็นคำที่เราเลือกใช้หรือประโยคที่เราเลือกเขียนก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงสังคมรอบๆ ตัวเรา การเขียนลำพังคนเดียวไม่ได้แปลว่างานของเราจะต้องโดดเดี่ยว

 

คุณหันมาสนใจการเมืองได้อย่างไร

ในขณะที่ฉันยังเป็นหมอฉันมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความเจ็บปวดและทุกข์ทนจากผู้ป่วยหลายๆ คนของฉันผ่านการรับรู้บาดแผลต่างๆ ในสังคม ฉันจึงเริ่มเข้าใจถึงปัญหาของประเทศนี้ ผู้ป่วยของฉันหลายคนไม่ได้อาศัยอยู่ในย่างกุ้ง บ้างก็มาจากชาติพันธ์อื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป หลังจากที่ฉันได้รับฟังเรื่องราวมากมายจากพวกเขาถึงจุดหนึ่งฉันจึงรู้สึกว่าต้องสะท้อนบาดแผลและความทุกข์ทนนี้ออกไปผ่านการเขียน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันเขียนเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง เรื่องสั้นที่ล้วนแต่พูดถึงคนอื่นไม่ใช่ตัวฉัน

ในฐานะหมอเรารู้วิธีที่จะรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันเรื่องสั้นของฉันก็เขียนขึ้นภายใต้ฐานคิดนี้ คือไม่ใช่เขียนแค่เพื่อบรรยายว่าโรคคืออะไรหรือสาเหตุของความทุกข์ทนในมนุษย์คนหนึ่งๆ แต่เขียนเพื่อนำเสนอทางออกที่จะช่วยให้สังคมหายจากอาการป่วยไข้ ทว่าถึงที่สุดแล้วการเป็นหมอกับนักเขียนก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฉันจึงต้องเป็นนักกิจกรรมพร้อมๆ กันไปด้วย

เอาเข้าจริงความเกี่ยวข้องระหว่างฉันกับการเมืองเป็นเรื่องบังเอิญอยู่เหมือนกันนะ ด้วยความที่ฉันอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญทั่วโลกหลายเล่ม ฉันพบว่าพวกเขาล้วนเคยผ่านการปฏิวัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ฉันเลยเฝ้ารอโอกาสที่สักวันจะได้เข้าร่วมเหตุการณ์ทางการเมืองบ้าง ในปีสุดท้ายที่ฉันกำลังจะเรียนจบเผอิญว่าเกิดเหตุการณ์ ‘การก่อการกำเริบ 8888’ แล้วเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นทำไมฉันจะไม่เข้าร่วมล่ะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก ฉันเองก็อยากจะมีส่วนร่วมในการล้มล้างระบอบที่ไม่เป็นธรรม เพียงแต่ปัญหาคือระบอบที่ไม่เป็นธรรมกลับยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ฉันเลยต้องผูกมัดตัวเองเข้ากับการปฏิวัติยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ถึงทุกวันนี้ก็ 30 ปี แล้ว แต่ฉันก็ไม่มีความคิดจะเกษียณตัวเองออกจากการเปลี่ยนแปลงสังคมหรอกนะ

 

สองปีก่อนบนเวที TEDxYangoon คุณพูดว่าคนเมียนมาอาศัยอยู่ในโลกเสมือน (virtual world) ช่วยอธิบายประเด็นนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม

ฉันคิดว่าการขาดแคลนข้อมูลคือโรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโรคหนึ่งของเมียนมา เพราะข้อมูลข่าวสารแทบจะทั้งหมดถ้าไม่ถูกบิดเบือนก็ถูกแบน คนเมียนมาไม่มีสิทธิรู้เลยว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแม้เราจะเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกจริงๆ แต่สำหรับฉันมันฟังดูเหมือนโลกเสมือนมากกว่าเราไม่รู้ว่า ‘ความเป็นจริง’ คืออะไร ยิ่งพอไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั้งเรื่องของอดีตและปัจจุบันเราเลยไม่สามารถที่จะคิดไปถึงอนาคตได้ ไม่มีอะไรเชื่อถือได้เลยสำหรับเรา

การขาดแคลนข้อมูลทำให้คนเมียนมาไม่อาจตัดสินใจได้ แม้ว่าเรามีโอกาสที่จะเลือกแต่เราก็เลือกที่จะไม่เลือก ถึงขนาดมีคำพูดว่าระหว่างเลือกคิดกับเลือกตาย คนเมียนมาขอเลือกตายดีกว่า เราพิการทางความคิด เพราะฉะนั้นการจะสร้างความคิดในแบบของเราหรือเสนอความคิดเห็นในแบบของเราจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมียนมาเพราะเราไม่เคยได้รับโอกาสนี้ การศึกษาไม่เคยสร้างปัญญา การเซนเซอร์มีแต่จะพันธนาการเราให้มืดบอด แล้วไหนจะมีโฆษณาชวนเชื่อของรัฐที่คอยกล่อมเกลาประชาชนอีกล่ะ

 

แม้กระทั่งกับรัฐบาลปัจจุบันคุณก็ไม่เห็นว่าประเด็นเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปเลยเหรอ

เล็กน้อยนะ แต่ไม่ใช่แค่เพราะรัฐบาลปัจจุบันหรอกแต่เป็นเทคโนโลยีมากกว่า เมื่อก่อนแค่ส่งอีเมลฉบับเดียวเรายังต้องใช้ proxy แต่ทุกวันนี้เรามีเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์แล้ว พอมีแพลตฟอร์มเหล่านี้แหละคนเมียนมาถึงได้เรียนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศและนอกประเทศของเรา

 

คุณคิดว่ายุคสมัยแห่งการเซนเซอร์ในอดีตได้สร้างมรดกอะไรให้กับสังคมเมียนมาในปัจจุบันบ้าง

ผลกระทบจากการเซนเซอร์นั้นเลวร้ายมาก เป็นเพราะการเซนเซอร์นี่แหละที่หลายๆ ปัญหาขาดวาระที่จะถูกพูดถึง เช่นประเด็นการยึดที่ดินหรือประเด็นการใช้ความรุนแรงของกองทัพ ถึงแม้ว่าการเซนเซอร์จะหยุดไปแล้วในปัจจุบันแต่คนเมียนมาก็ไม่เคยจะฉุกคิดว่าประเด็นต่างๆ นี้ควรจะถูกเขียนถึงผ่านคำพูดพวกเขา แม้กระทั่งนักเขียนดังๆ หลายคนก็ไม่เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะถูกสะท้อนผ่านนิยายของพวกเขา ฉันคิดว่าความเป็นไปเช่นนี้คือรูปแบบหนึ่งอันแนบเนียนของการเซนเซอร์ที่ยังตกค้างอยู่

 

ถ้าอย่างนั้นทุกวันนี้คนเมียนมายังมองสื่อว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอยู่ไหม

มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปนะ เพียงแต่เมื่อผู้คนคุ้นเคยกับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐมาก่อนถึงแม้ว่าจะไม่ชอบแต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันยังมีเส้นทางอื่นๆ อยู่อีก

พูดได้ไหมว่าฟิกชั่นคือเส้นทางหนึ่งของการเขียนถึงความจริง

ใช่ ฉันคิดอย่างนั้น เพราะฟิกชั่นและวรรณกรรมนี่แหละที่ต่อสู้กับการเซนเซอร์มาโดยตลอด บทกวีก็เช่นกัน ฉันมองว่างานเขียนเหล่านี้คือพื้นที่ที่ดีมากๆ ในการสะท้อนถึงสภาพความเป็นจริง

ฉันคิดว่านักเขียนเมียนมารุ่นใหม่เขียนเรื่องราวว่าด้วยความเป็นไปของสังคมในลักษณะที่ลึกขึ้นจากมุมมองของพวกเขา นี่เป็นเรื่องที่ดีมากๆ สำหรับพวกเรา และถึงแม้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้วิพากษ์รัฐบาลทหารโดยตรงแต่มันก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาในสังคมปัจจุบัน อีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีคือเริ่มจะมีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้มาจากเมืองใหญ่ๆ เพิ่มมากขึ้น

 

แปลว่ามีนักเขียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยมากขึ้น

ใช่

 

ทราบมาว่าคุณเป็นผู้ก่อตั้ง PEN Myanmar ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า PEN Myanmar ก่อตั้งขึ้นได้ยังไง แล้วจัดกิจกรรมอะไรบ้าง

ฉันได้รู้จัก PEN International ครั้งแรกในปี 1990 พอฉันถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ (1999) ฉันก็พยายามติดต่อกับ PEN ทันที เพียงแต่เมียนมาในช่วงนั้นยังไม่สามารถก่อตั้งองค์กรใดๆ ได้ มีแค่สมาคมนักเขียนกับสมาคมสื่อมวลชนอยู่อย่างละที่ ซึ่งล้วนเป็นของรัฐ ในปี 2013 เมื่อรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายเสรีภาพในการสมาคม ฉันถึงได้ลองติดต่อ PEN International อีกครั้งและเราก็ได้จัดตั้ง PEN Myanmar ในที่สุด

PEN International ก่อตั้งขึ้นในปี 1921 ถึงทุกวันนี้ก็เกือบจะร้อยปี มีสมาชิกทั่วโลกแล้วกว่า 60 ประเทศ รูปแบบองค์กร PEN ก็คล้ายสมาพันธ์ คือแต่ละศูนย์จะมีอิสระในตนเองและเราก็จะแชร์ข่าวสารและกิจกรรมระหว่างกัน โดยหัวใจสำคัญของ PEN อยู่ที่เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หลังจากที่ PEN Myanmar จัดตั้งขึ้นในปี 2013 เราได้จัดกิจกรรมขึ้นมามากมาย ทั้งจัดประกวดแข่งขันการเขียนเพื่อเสรีภาพ กิจกรรมเฝ้าระวังการทำงานสื่อและ hate speech รวมถึงจัดเวิร์กช็อปในประเด็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออก ในส่วนของกิจกรรมที่เรากำลังทำกันอยู่ในขณะนี้คือการฝึกฝนประเด็นเสรีภาพให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยผ่านเวิร์กช็อปชื่อ ‘Literature for Everyone’ เวิร์กช็อปนี้จัดขึ้นเพราะเราตระหนักว่าในกิจกรรมที่ผ่านๆ มาเราไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พูดนัก จะเป็นไปในลักษณะของเลกเชอร์จากวิทยากรเพียงฝั่งเดียวมากกว่า Literature for Everyone เลยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านเรื่องสั้นหรือบทกวีที่เขียนให้กับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ฟังโดยที่เราก็จะสนับสนุนให้ผู้ฟังได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เพิ่งได้ฟัง นี่คือหนึ่งในวิธีที่เราจะได้ฝึกฝนสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งพวกเขาก็มีความสุขมากนะ นั่นเพราะพื้นที่นี้ทำให้เสียงของพวกเขาได้ถูกรับฟังโดยคนอื่น

 

หรือจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าคนเมียนมาพูดไม่ได้แต่เพราะไม่มีพื้นที่ที่จะสื่อสารในสิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึกออกมามากกว่า

จริงนะ ทุกๆ คนต่างพยายามที่จะพูดกับใครสักคน แต่ใครเหล่านั้นกลับไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ที่จะฝึกฝนการแสดงออกทางความคิด

 

แต่พอเป็นเมียนมาเสรีภาพการแสดงออกก็ซับซ้อนอยู่เหมือนกันนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ในประเทศ คุณมองประเด็นนี้เป็นความท้าทายหนึ่งของ Pen Myanmar ไหม

ถูกต้องเลย ด้วยเหตุนี้เราเลยพยายามจะผลักดันประเด็น ‘สิทธิทางภาษา’ เราพยายามที่จะติดต่อกับกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ เรียนรู้วรรณกรรมและวัฒนธรรมของพวกเขา เราพยายามกระตุ้นให้พวกเขาจัดกิจกรรมคล้ายๆ PEN Myanmar เหมือนกัน แต่มันยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐเองยังไม่ให้การสนับสนุนเรามากนัก แต่เราก็ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิทางภาษามาก เพราะนั่นคือเสรีภาพทางการแสดงออกของพวกเขา

 

โดยการสนับสนุนให้พวกเขาเขียนในภาษาของพวกเขาเองด้วยไหม

ใช่ เราสนับสนุนให้พวกเขาเขียนผ่านภาษาของตัวเอง โดยที่เราก็หวังว่าหากมีทุนเพียงพอเราก็อยากจะแปลเรื่องราวของพวกเขานะ

 

คุณคิดว่าวรรณกรรมสามารถช่วยทำให้สังคมดีขึ้นได้ไหม

วรรณกรรมสามารถสะท้อนหัวใจของสังคมได้ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลและตัวเลข แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกและประสบการณ์ วรรณกรรมจึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศ บาดแผลของสังคมคืออะไร เพื่อที่เราจะได้วินิจฉัยความป่วยไข้เหล่านั้น ฉันคิดว่าวรรณกรรมไม่เพียงแต่จะช่วยให้สังคมเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งผ่านความรักและความเมตตาระหว่างกันด้วย สำหรับฉันแล้ววรรณกรรมจึงไม่ใช่แค่การวินิจฉัยโรคในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเยียวยารักษาโรคภัยนั้นๆ ให้กับสังคมด้วย

ดูรายละเอียดงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ เพิ่มเติมได้ที่ web.neilsonhayslibrary.com
และเฟซบุ๊กเพจ Neilson Hays Library

AUTHOR