Adam Johnson นักเขียนชาวอเมริกันผู้คว้ารางวัลพูลิตเซอร์จากนวนิยายว่าด้วยประเทศเกาหลีเหนือ

Highlights

  • Adam Johnson เป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่สนใจในวิถีชีวิตของชาวเหาหลีเหนือเป็นพิเศษ เขาพยายามค้นคว้าหาข้อมูลทุกวิถีทาง จนวันหนึ่งเขามีโอกาสได้สัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือตัวจริง
  • เรื่องราวของชาวเกาหลีเหนือคนนี้ทรงพลังมากๆ ถึงขนาดทำให้จอห์นสันตัดสินใจทันทีว่า ตัวละครหลักในหนังสือต้องเป็นเด็กกำพร้า และเขาก็เดินทางไปยังเกาหลีเหนือเพื่อให้เห็นภาพที่แท้จริง
  • จนออกมาเป็น The Orphan Master’s Son นวนิยายที่ทำให้เขาคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ ประจำปี 2013 ที่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าในเกาหลีเหนือ

Adam Johnson เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน แต่ The Orphan Master’s Son นวนิยายที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ ประจำปี 2013 มาได้นั้นเป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าในเกาหลีเหนือ

ก่อนที่เราจะได้สนทนากับเขา คำถามที่ผมตั้งมั่นว่าจะถามจอห์นสันคือ เป็นไปได้ยังไงที่นักเขียนอเมริกันจะถ่ายทอดสภาพความเป็นจริงของประเทศอันแสนลึกลับในอีกฟากฝั่ง แต่หลังจากที่ได้พูดคุย ผมจึงได้คำตอบว่า ใช่–มันเป็นไปได้ แม้จะต้องแลกมาด้วยกระบวนการค้นคว้าที่หนักหนาและยาวนานอยู่สักหน่อยก็ตาม

เรานัดสนทนากันผ่านช่องทางออนไลน์เนื่องในวาระที่เขาคือหนึ่งในผู้ที่จะมาร่วมเสวนาในงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ 

และนี่คือเรื่องราวของอาดัม จอห์นสัน นักเขียนชาวอเมริกันผู้บอกเล่าชีวิตอันทุกข์ยากและบอบช้ำของเด็กกำพร้าในเกาหลีเหนือ

1

ผมเติบโตที่แอริโซนา ท่ามกลางความแห้งแล้งและทะเลทราย” จอห์นสันเริ่มต้นเล่าโดยมีฉากเป็นห้องทำงานส่วนตัวที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 

ผมเป็นนักอ่านนะ แต่ผมมักจะมองว่าหนังสือน่ะต้องถูกเขียนขึ้นจากพวกคนฉลาดๆ ที่อยู่บนหอสูงมากกว่าคนธรรมดาๆ อย่างผม

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ความหลงใหลต่อเรื่องเล่าของจอห์นสันไม่ได้มีผลมาจากแค่การอ่านหนังสือ แต่เพราะผู้คนรอบๆ ตัวต่างเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด นี่เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาคุ้นเคยกับศิลปะของการเล่าเรื่องตั้งแต่เด็กๆ

ผมมีญาติที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มา เขามักเล่าเรื่องราวของสงครามให้ฟัง มีทวดที่มีประสบการณ์ในช่วง The Great Depression และท่านก็มักเล่าถึงความลำบากยากจนของชาวเมริกันในตอนนั้น ผมยังได้ฟังเรื่องพายุทอร์นาโดถล่ม น้ำท่วมครั้งใหญ่ ความหิวโหยของผู้คนในอดีต เรื่องราวเหล่านี้แหละที่ผู้คนมักจดจำและเล่าต่อ ถ้าคุณเคยอดอยาก คุณจะไม่มีทางลืมความอดอยากนั้นหรอก

 

แต่อย่างที่ว่าไว้ แม้เติบโตขึ้นท่ามกลางเรื่องเล่าแต่จอห์นสันก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นนักเขียนตั้งแต่แรก ความฝันจริงๆ ของเขาคือการเป็นวิศวกร แต่เพราะความยากของวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เขาจึงต้องลงเรียนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (creative writing) เพื่อช่วยกระตุ้นผลการเรียน

ผมลงเรียนวิชานี้เพราะหวังว่าจะได้ A แล้วผมก็ได้พบว่าวรรณกรรมมีพลังที่จะช่วยรักษาและเยียวยาชีวิตในระดับที่เกินกว่าอะไรใดๆ ในชีวิตผมจะเทียบเคียงได้ ผมไม่ได้เรียนดี แต่ผมก็รักวิชานี้ แม้ว่าการเขียนจะทำให้ผมไส้แห้งก็ตาม (หัวเราะ)”

แต่เพราะยังไม่มั่นใจว่าการเขียนเรื่องสั้นจะเพียงพอต่อการหาเลี้ยงปากท้อง จอห์นสันจึงเลือกที่จะเรียนด้านวารสารศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย

 

วารสารศาสตร์ฝึกให้ผมเขียนอย่างระมัดระวัง ชัดถ้อยชัดคำ และเคารพเดดไลน์ แต่เพราะข้อเท็จจริงใหม่ๆ มักจะโผล่ขึ้นมาท้าทายความจริงอยู่เสมอ สำหรับผม ในขณะที่หน้าที่ของนักข่าวคือการเสนอข้อเท็จจริงแล้วปล่อยให้คนอ่านตัดสิน แต่วรรณกรรมคือการไล่ตามความจริงของมนุษย์ มีความจริงบางอย่างที่สามารถถ่ายทอดได้ผ่านวรรณกรรมเท่านั้น ผมคิดว่าการเล่าเรื่องราวจากจินตนาการแต่ผู้อ่านกลับรู้สึกได้ว่ามันจริงมีคุณค่ามากนะ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมรักในวารสารศาสตร์คือ ผมมักจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอผ่านผู้คนมากมายที่ผมได้รู้จัก แม้กระทั่งในการเขียนฟิกชั่น ผมก็มักหาข้อมูลโดยการสัมภาษณ์อยู่เสมอ เพราะผมสนใจความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขา 

การเขียนฟิกชั่นทำให้ผมสามารถสร้างโลกอันเฉพาะเจาะจงขึ้นมาได้ โลกที่อัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์พิเศษและผู้คนที่น่าสนใจ ผมจะใช้จินตนาการประกอบสร้างโลกใบนี้ เขียนถึงมันกระทั่งถึงจุดที่ผมเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะเขียนต่อได้ เกาหลีเหนือคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการเขียนถึงโลกที่เราไม่รู้จัก เพราะเมื่อผมเขียนไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าคนเกาหลีเหนือกินอะไรเป็นอาหารเช้า ผมก็ต้องกลับไปสู่กระบวนการสัมภาษณ์อีกครั้ง มองหาใครสักคนที่จะให้คำตอบนี้ได้ ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดของเกาหลีเหนือทำให้ผมต้องค้นคว้าอย่างหนัก

 

2

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ใครๆ ต่างก็สนใจใคร่รู้ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้นักเขียนอเมริกันคนนี้เลือกเกาหลีเหนือเป็นฉากหลังของนวนิยาย จะไม่ง่ายกว่าหรือหากเป็นที่อื่นที่เปิดเผยกว่า จับต้องได้ และเข้าถึงง่ายกว่าประเทศเล็กๆ ที่เป็นดั่งดินแดนสนธยาแห่งนี้

ชาวอเมริกันมักจะเขียนหนังสือที่ผมเรียกว่าหน่วยอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ (Peace Corps)’ ในความหมายที่ว่าชาวอเมริกันเดินทางไปยังประเทศหนึ่งๆ เช่น แอฟริกาใต้หรือไทย พวกเขาก็จะได้รับประสบการณ์ที่แสนวิเศษจากประเทศนั้นๆ มันเปลี่ยนแปลงชีวิต แล้วพวกเขาก็อยากเขียนถึงวัฒนธรรมที่น่าทึ่งที่ได้พบพาน แต่ปัญหาคือเรื่องราวต่างๆ นี้ล้วนมีชาวอเมริกันเป็นศูนย์กลาง มันไม่ใช่เรื่องผิดนะ เพียงแต่ผมคิดว่าเรื่องราวจะน่าสนใจขึ้นมากถ้าไม่มีชาวอเมริกันอยู่ในนั้น

ผมจำได้ว่าหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับเกาหลีเหนือที่ผมอ่านคือ ‘The Aquarium of Pyongyang’ ว่าด้วยค่ายกักกันในเกาหลีเหนือ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าที่เกาหลีเหนือน่ะ การทำผิดของคนคนเดียวจะทำให้คนอื่นๆ ในครอบครัวต้องพลอยติดคุกไปด้วย ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันมีอะไรแบบนี้ในโลกด้วย หลังจากนั้นผมใช้เวลาหนึ่งปีเต็มๆ อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ 

แม้ว่าหนังสือที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือจะมีให้อ่านอยู่บ้าง แต่หนังสือเหล่านั้นถ้าไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ ก็เป็นเรื่องกองทัพ แต่ประเด็นที่จอห์นสันสนใจไม่ใช่เรื่องราวเหล่านี้แต่อย่างใด

สิ่งที่ผมสนใจคือเรื่องราวพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กๆ ในเกาหลีเหนือไปโรงเรียนกันยังไง เขากินอะไรเป็นอาหารเช้า ทิวทัศน์อะไรที่มองเห็นได้นอกหน้าต่าง หรือการเป็นพ่อในเกาหลีเหนือมันต่างออกไปไหม แต่ในช่วงเวลานั้น (.. 2004) ข้อมูลทำนองนี้หาได้ยากมาก ผมคิดนะว่าหรือจริงๆ มันไม่ควรจะหายากขนาดนี้ เพราะเรื่องราวของชาวเกาหลีเหนือสักคนที่หนีออกมาได้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ ใครๆ ก็อยากรู้ว่าการมีชีวิตอยู่ในประเทศที่คุณถูกควบคุมทางความคิดอย่างหนักหน่วงเป็นยังไง เพียงแต่พอมาลองคิดดู สำหรับชาวเกาหลีเหนือที่ต้องทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังเพื่อแลกกับการหลบหนี พวกเขาจะอยากย้อนกลับไปนึกถึงอดีตอันแสนเจ็บปวดเหรอ เป็นใครก็คงอยากจะมองไปข้างหน้าเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กันทั้งนั้น 

แม้ข้อมูลจะหาได้ยาก แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดจอห์นสันจากความสนใจที่มีต่อประเทศนี้ได้ เขายังคงพยายามค้นคว้าต่อไป กระทั่งวันหนึ่งจอห์นสันก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือตัวจริง

 

ชาวเกาหลีเหนือคนแรกที่ผมได้สัมภาษณ์เขากำพร้าพ่อแม่ เราพูดคุยกันยาวทีเดียวว่าการเป็นเด็กกำพร้าในเกาหลีเหนือเป็นยังไง ทั้งการที่ไม่มีใครคอยเลี้ยงดู การถูกเอาเปรียบ และความรู้สึกเปราะบางในชีวิต เรื่องราวของเขาทรงพลังมากๆ ถึงขนาดทำให้ผมตัดสินใจทันทีว่า ตัวละครหลักในหนังสือของผมต้องเป็นเด็กกำพร้า และผมจะต้องสร้างความชอบธรรมให้กับเรื่องนี้ให้ได้ ในฐานะนักเขียน เมื่อคุณได้รับรู้ความทุกข์ยากของใครสักคนหนึ่ง สิ่งที่คุณทำได้คือเขียนถึงมันอย่างสุดความสามารถ

จริงอยู่ที่การสัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือโดยตรงจะช่วยให้จอห์นสันได้รับรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงขึ้นของประเทศแห่งนี้ แต่ถึงที่สุดแล้วการฟังก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับการเห็นด้วยตา เพื่อเข้าใจว่าเกาหลีเหนือจริงๆ เป็นยังไง จอห์นสันจึงจำเป็นต้องไปที่นั่น การเดินทางไปเกาหลีเหนือคือกระบวนการสุดท้ายของการเก็บข้อมูล

จะว่าไปการศึกษาเรื่องเกาหลีเหนือก็คล้ายๆ กับการเป็นนักบินอวกาศนะ คุณเหม่อมองดูท้องฟ้าทุกวัน แต่ทั้งชีวิตคุณกลับไม่เคยไปเหยียบดวงดาวเหล่านั้นเลย นักวิชาการมากมายที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาหลีเหนือไม่เคยมีโอกาสไปเหยียบประเทศแห่งนั้น เพราะเนื้อหาที่เขียนทำให้พวกเขาไม่ได้รับวีซ่า แต่โชคดีว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ผมเลยไม่มีประวัติใดๆ ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือจะมองว่าเป็นศัตรู

 

ถึงอย่างนั้น กว่าที่จอห์นสันจะได้ไปเยือนเกาหลีเหนือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเล่าว่าแรกทีเดียว เขายื่นเรื่องขอไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยคิมอิลซุงในกรุงเปียงยาง แต่ถูกปฏิเสธ ต่อมาเขาพยายามยื่นเรื่องเชิญศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปียงยางให้มาเยือนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งวันหนึ่งเขาก็ได้พบกับชายอเมริกันเชื้อสายเกาหลีคนหนึ่งที่เดินทางไปเกาหลีเหนืออยู่บ่อยๆ และพอจะมีเส้นสายอยู่บ้าง โชคคล้ายจะเข้าข้างเมื่อชายคนนี้บอกว่า เขารู้ว่าจอห์นสันกำลังเขียนนวนิยายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ

เขาบอกผมว่าไม่มีใครเขียนหนังสืออย่างที่คุณกำลังเขียน ผมจะพาคุณไปที่นั่นเองชายคนนี้ยอมเสี่ยงชื่อเสียงทั้งหมดที่เขามีเพื่อแลกมาด้วยวีซ่าของผม แต่อย่างที่คุณก็คงรู้ เมื่อเราไปถึงเกาหลีเหนือ สิ่งที่รอผมอยู่คือทัวร์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

เพราะการเดินทางในเกาหลีเหนือถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด คุณเลยจะไม่ได้เห็นอะไรที่ทำให้พวกเขาดูแย่หรอก เจ้าหน้าที่ที่ร่วมเดินทางกับผมในทริปนั้นมีทั้งผู้คุม ผู้ช่วยผู้คุม คนขับรถ เจ้าหน้าที่จากบริษัทการท่องเที่ยวเกาหลีเหนือ (KITC) ที่คอยควบคุมผู้คุมอีกทอดหนึ่ง รวมถึงชายอีกคนที่อ้างว่ามาบันทึกวิดีโอให้กับทริปนี้ มันตึงเครียดมากนะ

แต่เพราะก่อนหน้าที่จะมาถึงเกาหลีเหนือ จอห์นสันได้เริ่มเขียนหนังสือไปแล้วบางส่วน เขาพอจะมีภาพร่างคร่าวๆ แล้วว่าเป้าหมายสำหรับทริปนี้คืออะไร การเดินทางมาเกาหลีเหนือครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันความถูกต้องของคำบรรยายสถานที่ต่างๆ ที่จะปรากฏอยู่ในเรื่องนั้น

 

พวกผู้คุมตื่นเต้นกันมากพอผมบอกว่าอยากจะไปดูพวกอนุสาวรีย์ หรือในฉากหนึ่งของหนังสือมีการพูดถึงสุสานวีรบุรุษของชาวเกาหลีเหนือ พอผมถามว่าไปได้ไหม พวกผู้คุมก็ชอบใจกันใหญ่ ทีนี้มันมีสวนสนุกร้างอยู่แห่งหนึ่งที่มีโรลเลอร์โคสเตอร์สนิมเขรอะ ผมรบเร้าขอให้พาไป แต่ต่อให้พยายามแค่ไหนพวกเขาก็ไม่ยอม สุดท้ายผมเลยต้องจำใจตัดสวนสนุกร้างแห่งนั้นออกจากหนังสือเพราะไม่มั่นใจว่าผมจะให้ภาพได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

อีกเรื่องคือ มีกฎที่ห้ามประชาชนเกาหลีเหนือพูดคุยกับชาวต่างชาติ ถ้าใครฝ่าฝืนจะถือเป็นอาชญากรรมโดยทันที ชาวเกาหลีเหนือที่คุณคุยด้วยได้จึงมีแค่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้คุมเท่านั้น เมื่อไปเกาหลีเหนือ คุณจึงเตรียมใจได้เลยว่าจะไม่มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์โดยเนื้อแท้กับประชาชนที่นั่นหรอก ต่อเมื่อชาวเกาหลีเหนือหลบหนีออกจากประเทศเท่านั้น คุณถึงจะคุยกับเขาได้จริงๆ ผมไปโดยไม่ได้คาดหวังอะไรเหล่านี้ หันไปให้ความสนใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น สวนสาธารณะมีหน้าตาเป็นยังไง ผมจะได้กลิ่นบนท้องถนน หรือระหว่างที่นั่งรถรอบๆ กรุงเปียงยาง ผมถามผู้คุมว่าสถานีดับเพลิงอยู่ที่ไหน เขาบอกผมว่าประเทศนี้ไม่มีไฟไหม้หรอก หรืออีกครั้งที่ผมสงสัยว่ากล่องไปรษณีย์หน้าตาเป็นยังไง แต่คำตอบที่ได้คือประเทศเรามีระบบไปรษณีย์ที่ดีที่สุดในโลก กล่องไปรษณีย์น่ะไม่มีความจำเป็นหรอก การเดินทางไปเกาหลีเหนือช่วยให้ผมได้คิดและสงสัยในสิ่งที่ผมจะไม่มีโอกาสได้คิดและสงสัยเลยถ้าไม่ไดัไปเหยียบที่นั่น

จอห์นสันเริ่มสนใจเกาหลีเหนือในปี 2004 เขาหมกมุ่นอยู่กับประเทศแห่งนี้นานกว่า 8 ปี กระทั่งในปี 2012 The Orphan Master’s Son ก็วางขายในร้านหนังสือ

ระหว่างที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ ใครๆ ก็หาว่าผมบ้า พวกเขาบอกว่าไม่มีใครจะพิมพ์นวนิยายเกาหลีเหนือของผมหรอก แต่แล้ว The Orphan Master’s Son ก็ได้ตีพิมพ์ อีกทั้งยังมีคนอ่าน

เรื่องเหลือเชื่ออีกอย่างคือ หนังสือเล่มนี้ทำให้สำนักพิมพ์ในอเมริกามองเห็นว่าพวกเขาสามารถสร้างกำไรจากเรื่องราวทำนองนี้ได้ กลายเป็นว่าหลังจากนั้นเลยมีหนังสือบันทึกความทรงจำที่เขียนโดยชาวเกาหลีเหนือจริงๆ พิมพ์ออกมาเพียบ ผมดีใจนะ เพราะนั่นเท่ากับว่าผู้อ่านสามารถเลือกได้ว่าเขาจะอ่านเกาหลีเหนือจากจินตนาการของผมหรือจากคำบอกเล่าโดยตรงของผู้คนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

คุณเคยเจอชาวเกาหลีเหนือที่อ่านหนังสือของคุณไหมผมถามกลับไปทันควัน 

มีนะ แต่แค่ไม่กี่คนหรอก อย่างคนแรกที่ผมเจอ ผมกระวนกระวายมากๆ ในทางหนึ่ง ผมตื่นเต้นที่จะได้พบกับชาวเกาหลีเหนือจริงๆ ที่ได้อ่านงานของผม แต่ก็กลัวเขาจะบอกกับผมว่าคุณรู้ไหม หนังสือของคุณน่ะไม่มีจุดไหนตรงกับความจริงเลยแต่พอเราได้พบกัน ชายคนนั้นกลับโผเข้ากอดผมทันที ก่อนจะบอกกับผมว่าตัวละครหลักของเรื่องน่ะคือชีวิตผมเลยนะคำพูดของเขาทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ” จอห์นสันเล่าด้วยรอยยิ้มกว้าง

 

3

ในปี 2013 หนึ่งปีหลังจากที่ The Orphan Master’s Son วางขาย หนังสือเล่มนี้ก็ส่งให้จอห์นสันคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ หนึ่งในรางวัลทางการเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกา

การคว้าพูลิตเซอร์มาได้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก อาจเป็นเพราะว่าในช่วงประกาศรางวัล ภรรยาของผมกำลังป่วยเป็นมะเร็ง ครอบครัวของผมเลยมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าให้ต้องกังวล จริงๆ แล้วในวันที่มีโทรศัพท์โทรมาแจ้งว่าผมได้รับรางวัล ผมยังนึกว่าต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับภรรยาผมแน่ๆ ด้วยซ้ำ

ผมจำได้ว่าคืนนั้นผมกับภรรยานั่งคุยกันว่าคุณรู้ไหม ต่อจากนี้ชีวิตของเราอาจต้องเปลี่ยนไปแต่ภรรยาผมบอกว่าฉันไม่อยากให้อะไรเปลี่ยนไป ฉันรักลูกๆ ของเรา รักบ้านที่เราอยู่ แล้วฉันก็ชอบอาชีพครูของฉัน ถ้าเราแสร้งทำเป็นว่ารางวัลนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจะได้ไหมผมเลยบอกว่าโอเค งั้นเรามาทำเหมือนกับว่าผมไม่เคยได้รางวัลนี้ก็แล้วกันแต่ถึงครอบครัวของเราจะคิดเช่นนั้น สุดท้ายแล้วก็จะมีคนอื่นๆ มาคอยย้ำเตือนผมอยู่เสมอว่า หนังสือที่ผมเขียนคว้ารางวัลพูลิตเซอร์มาได้

อย่างคุณเป็นต้น” จอห์นสันแหย่ผมด้วยอารมณ์ขัน

 

ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จอห์นสันจะกำลังซุ่มเขียนหนังสือเล่มใหม่ แต่เขายังสอนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอีกด้วย

ถึงจะได้รางวัลพูลิตเซอร์ แต่สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้คือการเขียนถึงเรื่องราวประหลาดๆ ที่ผมชื่นชอบต่อไป ผมดีใจนะที่ผู้อ่านหลายๆ คนรู้สึกสั่นสะเทือนไปกับเรื่องราวของ The Orphan Master’s Son แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มต่อๆ ไปของผมจะเชื่อมโยงกับผู้อ่านได้เหมือนเล่มนี้ พูลิตเซอร์เป็นรางวัลที่มีเกียรติมากๆ ข้อดีอีกอย่างที่รางวัลนี้มอบให้คือ ผมคิดว่านักเรียนของผมตั้งใจฟังผมมากขึ้นน่ะ (หัวเราะ)

ผมเขียนเพราะผมสงสัย แล้วผมก็หลงใหลในเรื่องราวที่สูญหายไป เรื่องราวที่ไม่มีใครเขียนถึง เกาหลีเหนือเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง หรืออย่างหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่ตอนนี้ ผมคิดว่าก็ไม่เคยเห็นนักเขียนคนไหนบนโลกนี้เขียนถึง นั่นเท่ากับว่าถ้าผมไม่เขียนถึงมัน เรื่องนี้ก็อาจจะไม่มีตัวตนอยู่เลย ผมชอบนะการได้เติมเรื่องราวใหม่ๆ ลงไปในช่องว่างแบบนี้


ดูรายละเอียดงานเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ‘Neilson Hays Bangkok Literature Festival’ เพิ่มเติมได้ที่ neilsonhayslibrary.com และเฟซบุ๊กเพจ Neilson Hays Library

AUTHOR