‘Midnight Madness’ ช็อกโกแลตดริงก์ของคู่รักที่จับความคลั่งไคล้อันข้นคลั่กมาไว้ในขวดสีดำเข้ม

Highlights

  • Midnight Madness คือช็อกโกแลต ready-to-drink ที่เกิดจากความคลั่งไคล้ในการดื่มช็อกโกแลตของคู่รัก โดยเปิดหน้าร้านขนาดย่อมปักหลักในซอยรามคำแหง 112 ขายแบบ grab & go และ delivery
  • ช็อกโกแลตดริงก์ของ Midnight Madness มีเบสเป็นดาร์กช็อกโกแลตแท้ที่นำเข้าจากหลายประเทศ รสซิกเนเจอร์เบลนด์จากช็อกโกแลตถึง 4 แหล่งปลูกด้วยกัน อีกทั้งมีรสชาติที่ผสมผสานเข้ากับผลไม้พูเร
  • ขวดบรรจุสีดำทึบเข้มที่ใช้ นอกจากดูเท่แล้ว ยังมีคุณสมบัติในการรักษาคุณภาพช็อกโกแลตและความเย็น 
  • ลูกค้าหน้าใหม่ที่ไปถึงร้าน ประสบการณ์แรกที่จะได้รับคือการเชื้อเชิญเข้าสู่พิธีกรรมภาคไม่บังคับ แต่น้อยคนนักจะปฏิเสธได้ นั่นคือการเทสต์ช็อกโกแลตไล่เรียงไปทุกรสชาติก่อนเลือกซื้อ

บทสนทนาต่อไปนี้เกิดจากพลังของการบอกต่อของเพื่อนในโซเชียลมีเดีย เขาแนะนำช็อกโกแลต ready-to-drink เจ้าหนึ่ง ขวดสีดำทึบ มองไม่เห็นเนื้อเห็นน้ำ เห็นแต่ฉลากเรียบตาที่ดูเท่ ดูแพง ‘เข้มข้นมาก’ ‘โคตรลงตัว’ ตามเขาว่า และฉันคือหนึ่งในคนที่ถูกป้ายยา 

ฉันตัดสินใจไปเยือน Midnight Madness ถึงที่ แต่ขอให้ทุกคนลืมภาพโรงงานขนาดใหญ่โต เลิกคิดถึงกำลังผลิตที่อาศัยคนหลักสิบหลักร้อย ขวดบรรจุไหลมาตามสายพานไปได้เลย ที่นี่ไม่มีแม้กระทั่งเครื่องจักรติดสติกเกอร์ แม้ฉลากของทุกขวดจะแปะมาเนี้ยบและเป๊ะราวตั้งค่าไว้      

Midnight Madness ไม่ได้ตั้งต้นจากแผนธุรกิจที่สลับซับซ้อนไปกว่าความรักในการดื่มช็อกโกแลตของคู่รัก โน้ต–นัฏกร บุญมาเลิศ และ ฟาริส–อัศวิน ซาบารา ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำแบรนด์ช็อกโกแลตพร้อมดื่ม เปิดหน้าร้านขนาดย่อมปักหลักในซอยรามคำแหง 112 ขายแบบ grab & go และ delivery ทั้งร้านรันด้วยคนสองคน และก็แค่สองคนที่สร้างสรรค์ช็อกโกแลตดริงก์ในทุกรสชาติขึ้นมา

แล้วใครว่าธุรกิจไซส์มินิที่ทำกันเอง ขายกันเอง จะผลิตสินค้าที่พรีเมียมทั้งคุณภาพและหน้าตาไม่ได้    

โน้ตเกริ่นว่า “เราคุยกันมานานว่าน่าจะทำอะไรด้วยกันสักอย่างที่เกี่ยวกับช็อกโกแลต ฟาริสก็พูดชื่อหนึ่งขึ้นมาว่า Midnight Madness มั้ย เฮ้ย! ชอบ แต่ก็เป็นความฝันที่เก็บอยู่ในลิ้นชัก โดยไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะได้ดึงมันออกมาใช้”

กระทั่งวันเปิดลิ้นชัก ‘Midnight Madness’ ก็ได้กลายเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตดริงก์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในกลุ่มช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ ณ ขณะนี้

 

ความคลั่งไคล้ช็อกโกแลตในระดับข้นคลั่ก

บอกว่า ‘ชอบ’ ยังเบาไป ความรู้สึกที่โน้ตและฟาริสมีต่อช็อกโกแลตดริงก์นั้นข้นคลั่กในระดับ ‘คลั่งไคล้’   

“โน้ตชอบช็อกโกแลตมาตั้งแต่เด็กแล้ว” เธอเริ่มเล่า “โดนพ่อปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว ทุกวันเกิด พ่อจะซื้อช็อกโกแลตบอกซ์เซตให้เป็นของขวัญ เราก็รู้สึกตื่นเต้น รอให้ถึงวันเกิดเพื่อที่จะได้ช็อกโกแลตกล่องใหญ่ๆ และเป็นอย่างนี้มาตลอด จนโตก็ติดนิสัย ไปเที่ยวที่ไหนแล้วเจอช็อกโกแลตแปลกๆ หรือคราฟต์ช็อกโกแลตกล่องสวยๆ ก็จะซื้อ แต่ในแง่ของช็อกโกแลตที่เป็นเครื่องดื่ม โน้ตได้มาจากคนนี้” โน้ตผายมือไปยังชายหนุ่มที่นั่งใกล้

“ผมทำงานสายครีเอทีฟและแบรนด์ดิ้งให้กับสินค้าและองค์กรต่างๆ มาก่อน การทำงานครีเอทีฟมีความเครียดสูง แล้วผมไม่ดื่มกาแฟเลย แต่พอทำงาน เครียด นอนดึก เราก็ต้องหาอะไรที่เราดื่มแล้วรู้สึกแฮปปี้ ผ่อนคลาย ซึ่งก็คือช็อกโกแลตเย็นนี่ล่ะ ไปคาเฟ่ ผมก็สั่งแต่ช็อกโกแลตอย่างเดียวเลย”

เขาและโน้ตเป็นสายคาเฟ่ฮอปเปอร์ แต่เป็นคาเฟ่ฮอปเปอร์ประเภทชอบชิม ชอบวิเคราะห์ สองคนดื่มช็อกโกแลตเย็นมาโชกโชน จึงอย่าหวังว่าจะหลอกกันได้   

“เราชอบกินช็อกโกแลตกันทั้งคู่ สั่งสมการกินช็อกโกแลตมาสมควร ถ้าในเมนูมีเครื่องดื่มช็อกโกแลตเย็น แต่เขาเอาผงโกโก้มาชงให้เรากิน ก็ไม่ใช่แล้ว ซึ่งร้านส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น คนไปคาเฟ่ สั่งช็อกโกแลตเย็น สั่งโกโก้เย็น ร้านนี้อร่อย ร้านนี้ไม่อร่อย ก็จบแค่นั้น แต่โกโก้ก็เหมือนกาแฟ มีหลายแหล่งปลูก มีเทสต์โน้ตที่ต่างกัน แต่ช็อกโกแลตดริงก์ในบ้านเรามีความวาไรตี้น้อย แต่ที่ต่างประเทศ เขาจะบอกแหล่งที่มาของช็อกโกแลตเลย ทำให้เราสนุกกับการดื่ม” 

“หรือบางที่เขาก็ใช้ช็อกโกแลตดีนะ แต่รู้สึกว่าเขาใช้วัตถุดิบไม่คุ้มค่า” โน้ตกล่าวในมุมของตนบ้าง “คือช็อกโกแลตดีจริง แต่จางมากเลย อาจด้วยเรื่องต้นทุน ก็เลยคิดว่างั้นเราเอาช็อกโกแลตมาทำเป็นเครื่องดื่ม ทำแบบจริงจัง ทำช็อกโกแลตดริงก์ที่คุณภาพดีๆ ไปเลยดีไหม”

 

ดื่มช็อกโกแลตจากหลายแหล่งปลูกในขวดเดียว 

ช็อกโกแลตดริงก์ของ Midnight Madness มีเบสเป็นดาร์กช็อกโกแลตแท้ที่นำเข้าจากหลายประเทศ บรรจุอยู่ในขวดขนาดพกพา ในยุคสมัยที่คาเฟ่ผุดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง ฟาริสบอกว่าช็อกโกแลตพร้อมดื่มคือสนามที่พวกเขาพอจะมีกำลังลงเล่นได้ ขณะที่โน้ตเองก็มีพื้นฐานด้านเบเกอรีอยู่เดิมที และแม้พวกเขาจะไม่ใช่ช็อกโกแลตเมกเกอร์ในสาย bean to bar แต่ก็รู้ว่าช็อกโกแลตแบบไหนคือดี อย่างไหนคือใช่

“อย่างช็อกโกแลตบงบงมีรสชาตินั่นนี่ มีไส้ แต่เป็นการแยกองค์ประกอบ คือเป็นดาร์กช็อกฯ ข้างในมีไส้ แล้วถ้าเป็นน้ำล่ะ เราจะเอาการผสมผสานตรงนี้มาใช้ในรูปเครื่องดื่มบ้างได้ไหม” โน้ตพาเราย้อนไปยังจุดตั้งต้นในการครีเอตรสชาติที่ลงเอยด้วยการเบลนด์ช็อกโกแลตในหลายสายพันธุ์และจากหลากแหล่งที่มา

“การดีไซน์รสชาติกับการคัดเลือกแหล่งปลูกมาคู่กัน” ฟาริสขยายความ “เราตั้งต้นจากรสซิกเนเจอร์ก่อน ถ้าเปรียบเป็นคน พระเอกของงานนี้คือใคร หน้าตา บุคลิกเป็นยังไง ซึ่งถ้าเป็นช็อกโกแลต รสชาตินี้ต้องเป็นตัวแทนของร้านเรา จึงได้รส Midnight Madness ที่มีชื่อเดียวกับแบรนด์ เพื่อนำเสนอให้รู้ว่านี่คือรสชาติช็อกโกแลตเย็นในแบบที่เราชอบ แล้วเราก็เลือกว่าจะใช้ช็อกโกแลตที่มีเทสต์โน้ตแบบดีเราดีไซน์จากที่ไหน” 

“ในที่สุดเราต้องใช้ช็อกโกแลตถึง 4 ตัว ถึงออกมาเป็นรสชาติแบบที่เราต้องการ” โน้ตลงรายละเอียด “คือใช้ช็อกโกแลตแบรนด์ฝรั่งเศสเป็นตัวยืนพื้น แต่แหล่งปลูกอยู่ในแอฟริกาใต้” 

ช็อกโกแลตอีก 3 แหล่งที่มาในรสซิกเนเจอร์ เธอขอเก็บเป็นซีเครตไว้ แล้วขยับมาเล่าถึงอีกรสชาติที่ได้จากการเบลนด์ช็อกโกแลตต่างถิ่นที่ คือ Femme Fatale

“ตัวนี้ใช้ช็อกโกแลตจากเวสต์แอฟริกาและเวเนซุเอลล่า ช็อกโกแลตเวเนฯ เป็น single origin มีเทสต์โน้ตของดินและมะกอกดำ แต่ก็มีความฟรุตตี้ในตัวเอง ส่วนช็อกโกแลตจากเวสต์แอฟริกาผ่านกระบวนการหมักให้รสโกโก้เข้มชัดขึ้น และผ่านการเบลนด์มาแล้ว พอมิกซ์กับราสป์เบอร์รีแล้วมันเข้ากันมาก”

ราสป์เบอร์รีนำมาทำให้เป็นพูเร (puree) แล้วมิกซ์เข้ากับช็อกโกแลตอีกที เช่นเดียวกับรส Before Sunrise ที่นำเทสต์ของผลไม้มาผสมผสาน ฟาริสอธิบายถึงช็อกโกแลตดริงก์ที่เขานำชื่อภาพยนตร์ในดวงใจมาตั้งเป็นชื่อรสชาติ

“ย้อนกลับไปตรงที่พอเราได้รสชาติแรกที่เป็นซิกเนเจอร์แล้ว เราก็ดีไซน์ต่อไปว่าแล้วผองเพื่อนต้องเป็นยังไง ถ้า Midnight Madness คือพระเอกที่ดื่มแล้วพริ้มเลย ก็ต้องมีรสที่เป็นตัวแทนของความสดชื่นไหม เลยคิดไปถึงรสซีตรัส งั้นใส่ยูซุมั้ย กาแฟยูซุค่อนข้างเป็นเทรนด์ แต่ยังไม่เห็นที่เอามาเบลนด์กับช็อกโกแลตดริงก์ ตัวนี้เราใช้ช็อกโกแลต single origin จากประเทศแทนซาเนีย มีรสเปรี้ยวปลาย มี acid สูง ซึ่งเข้ากับยูซุได้ดี”

ต่อให้เป็นรสที่ใช้ช็อกโกแลต single origin และจากแหล่งปลูกเดียว ก็ไม่วายแอบเบลนด์ลูกเล่นอื่นลงไปด้วย Before Sunrise เป็นรสชาติที่ฉันดื่มแล้วรู้สึกเซอร์ไพรส์ ขณะที่จมูกหอมและลิ้นรับรสของยูซุแจ่มชัด แต่กลับไม่ขโมยซีนความดาร์กของช็อกโกแลตแม้แต่น้อย

 

ช็อกโกแลตแบบนี้ โกโก้แบบไหน เอาให้เคลียร์

โลกของช็อกโกแลตซับซ้อนไม่น้อยหน้ากาแฟ ใต้ร่มของคำว่าช็อกโกแลตแยกย่อยไปเป็นดาร์กช็อกโกแลต มิลก์ช็อกโกแลต และไวต์ช็อกโกแลต ใต้ดาร์กฯ ยังมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ความขมเข้ม (ใครที่กำลังคิ้วขมวดกับเรื่องนี้ คลี่คลายได้ด้วยการหา a day ฉบับคราฟต์ช็อกโกแลตมาอ่าน) และหากเป็นหน้าใหม่ในวงการช็อกโกแลตดริงก์ก็อาจสับสนงงงวยระหว่าง ‘ช็อกโกแลต’ และ ‘โกโก้’ เข้าไปอีก นี่คือเหตุผลที่ Midnight Madness พ่วงโกโก้ดริงก์เข้ามาด้วย เอาให้เคลียร์ชัดถึงความแตกต่าง 

“เราใช้ทั้งดาร์กช็อกโกแลตและโกโก้พาวเดอร์” โน้ตอธิบาย “แต่ตอนนี้สูตรทุกตัวของที่ร้านเบสมาจากดาร์กช็อกโกแลต เวลาคุยกับลูกค้า เราจะใช้คำว่าช็อกโกแลตดริงก์ แต่ถ้าอธิบายลงไปอีก เราเป็นเครื่องดื่มที่มีทั้งช็อกโกแลตและโกโก้ เพราะคิดเผื่อไปถึงคนที่เขาชอบฟีลของการดื่มโกโก้มากกว่าดื่มช็อกโกแลตด้วย ซึ่งช็อกโกแลตและโกโก้พาวเดอร์ เมื่อเอามาทำเป็นเครื่องดื่ม ก็มีความต่างชัดเจน ช็อกโกแลตมีความนุ่มและมันในเนื้อสัมผัสมากกว่า

“เราแยกกลุ่มลูกค้าได้ง่ายมาก เรามีตัว Dark Sky ที่เป็นเพียวร์โกโก้พาวเดอร์ ถ้าลูกค้าชอบตัวนี้ นั่นคือเขาชอบดื่มโกโก้ ไม่ได้ชอบช็อกโกแลตที่เป็นน้ำ แต่ถ้าลูกค้าชอบ Midnight Madness คือกลุ่มที่ชอบดื่มช็อกโกแลตเย็น ชอบความนวลความนุ่ม แต่โกโก้พาวเดอร์ที่ดี เทสต์ของความเป็นช็อกโกแลตก็ค่อนข้างสูงเหมือนกัน เราก็เลยเลือกใช้นม non-fat ใน Dark Sky เพื่อให้ชัดเลยว่าถ้าเป็นโกโก้พาวเดอร์ เนื้อสัมผัสจะเบา แต่รสโกโก้จะชัด”

แต่มีช็อกโกแลตดริงก์อยู่หนึ่งตัวที่เลือกใช้นม non-fat มาเบลนด์ คือรสชาติที่ชื่อ The Beast เป็นการเบลนด์กันของดาร์กช็อกโกแลตจากมาดากัสการ์และจากอีกหลายแหล่งปลูกในทวีปแอฟริกา ด้วยใช้ดาร์กช็อกโกแลตถึง 85% ทำให้ได้สัมผัสที่ข้นและรสที่เข้มลึกที่สุดในบรรดาช็อกโกแลตดริงก์ของ Midnight Madness ทั้งหมด ซึ่งก็ทำออกมาได้ดาร์กสะใจ ขณะที่นม non-fat จะช่วยให้ไม่เลี่ยนเกินดื่ม และหากดื่มเทียบ Dark Sky กับ The Beast แล้ว จะรู้สึกได้ถึงบอดี้ที่แตกต่างระหว่างโกโก้พาวเดอร์และช็อกโกแลตชัดเจน 

“แต่โกโก้ก็ไม่ได้มีแค่แบบที่เราคุ้นเคย ยังมีแบล็กโกโก้อีก แบล็กโกโก้ก็คือโกโก้พาวเดอร์นี่ล่ะ แต่ผ่านโพรเซสที่ทำให้ความเป็นด่างสูงกว่า จึงเป็นสีดำสนิท มีรสเฝื่อน ขมปลาย ออกคั่วๆ อารมณ์คล้ายโฮจิฉะ เราเอาแบล็กโกโก้มาเบลนด์กับน้ำผึ้งป่าออร์แกนิก เป็นรสที่ชื่อ Apollo ซึ่งเป็นตัวดั้งเดิมของเรา น้ำผึ้งให้ความหอมและช่วยให้แบล็กโกโก้ดื่มง่ายขึ้น แล้วเราก็ทำตัว Apollo Duet แตกออกมา อยากให้ลูกค้ารู้ว่าแบล็กโกโก้ที่ไม่มีน้ำผึ้งเป็นยังไง แต่ด้วยตัวแบล็คโกโก้เพียวร์ๆ ก็เฝื่อนไป เลยเอามาเบลนด์กับบราวน์โกโก้ แต่ก็ไม่ทิ้งเทสต์แบล็กโกโก้ไปซะทีเดียว

“ทั้งหมดทั้งมวล เราพยายามทำให้ง่ายเพื่อที่จะนำเสนอรสชาติของวัตถุดิบแท้ๆ เราไม่ได้ใช้นมข้นหรือนมข้นจืด เรามีแค่ช็อกโกแลต นม น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายออร์แกนิกไม่ขัดสี ผลไม้พูเร องค์ประกอบมีแค่นี้ เพราะอยากพรีเซนต์รสชาติของช็อกโกแลตหรือโกโก้พาวเดอร์ให้มากที่สุด”

 

ช็อกโกแลตในขวดสีดำ ลึกลับ ยั่วยวน และชวนลุ้น

‘ทำไมต้องขวดสีดำ’ ฉันถาม ด้วยคุ้นตากับเครื่องดื่มส่วนใหญ่ในตลาดที่ดีไซน์ขวดบรรจุแบบเน้นโชว์น้ำให้เห็นกันจะจะ แต่ Midnight Madness กลับทำตรงข้าม

“เพราะมันเท่” ฟาริสตอบตรงไปตรงมา แต่ก็ไม่ใช่ความเท่ที่ยกขึ้นมาลอยๆ “ตอนที่บอกเพื่อนว่าเราจะทำช็อกโกแลตเย็นขาย ไม่มีใครเก็ตกับเราเลยนะ เพื่อนถามว่าจะทำน้ำขวดขายเหรอ จะเป็นธุรกิจที่เลี้ยงเราได้เหรอ จนเปิดร้านช่วงแรกๆ ก็มีคนมาพูดภาษามาร์เก็ตติ้งกับเรา เรื่องหลัก 4P เราก็ 4P อะไร แต่สำหรับผม เรามีแค่ 2P คือ P-Purpose กับ P-Product” เล่าถึงตรงนี้ โน้ตเอ่ยเพิ่มเข้ามาอีก P คือ P-Passion

ฟาริสเล่าต่อไปว่า “แล้วทำไมเราต้องทำช็อกโกแลตพร้อมดื่มเป็นขวดขาย ทำไมเราไม่ชงหน้าร้านเป็นแก้วๆ เพราะรู้สึกว่าการจะได้ดื่มช็อกโกแลตดีๆ สักแก้วต้องใช้เวลานาน เพราะช็อกโกแลตเป็นเรื่องของอุณหภูมิ เป็นเรื่องของโพรเซส กว่าที่เขาจะวอร์มช็อกโกแลต กว่าเอามา melt กว่าจะเบลนด์กับนม ถ้าเขาไม่ได้ใช้แค่ผงชงมาให้เรานะ เลยรู้สึกว่าช็อกโกแลตควรต้องมีเหมือนกาแฟสิ ต้องมีช็อกโกแลตที่ถือเดินไปดื่มที่ไหนก็ได้ เปิดตู้เย็น หยิบดื่มเลยก็ได้ เราเลยตั้งคอนเซปต์ขึ้นมาว่า Drink your favorite chocolate taste anywhere anytime. ช็อกโกแลตของเราจึงเป็นขวด  

“อีกเหตุผลคือผมย้อนคิดถึงสมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียล ทำไมร้านรุ่นพ่อแม่ถึงอยู่ได้ เพราะปากต่อปากไง ร้านนี้อร่อย ไปลองสิ เราไม่ได้อยากแค่ อ๋อ เห็นจากหน้าฟีด อะ ไปสักทีหนึ่งซิ แล้วก็จบกันไป แต่เราอยากให้คนพูดถึงโปรดักต์ของเรา คนที่ทำของกินก็ต้องมั่นใจว่าของเราอร่อยใช่ไหม แต่ถ้าเขายังไม่ได้กิน ก็ไม่มีใครมารู้กับเราหรอก เราเลยต้องทำแพ็กเกจจิ้งที่วางลงไปแล้วคนหันมามอง”

พวกเขาทำสำเร็จ อย่างน้อยขวดสีดำ เข้ม ทึบ มืดสนิท ก็ทำงานกับฉันอย่างมาก ความไม่รู้ชวนให้จินตนาการถึงเครื่องดื่มที่ซ่อนอยู่ภายใน การไม่เห็นทำให้อยากเปิดฝาขวดแล้วรีบเทช็อกโกแลตออกมาดื่มไวๆ สีดำสร้างความรู้สึกถึงความลึกลับ ยั่วยวน และชวนลุ้น 

“อีกประโยชน์คือขวดลักษณะนี้มีความหนาซึ่งช่วยเก็บความเย็นได้ในระดับนึง” โน้ตเสริม “และเครื่องดื่มที่อยู่ในขวดทึบจะรักษาคุณภาพได้ดี เราดีไซน์สูตรที่เบลนด์กับชาเขียวไว้ การเก็บชาเขียวที่ดีก็คือใส่ในภาชนะทึบแสง เป็นอีกข้อหนึ่งที่เราเห็นประโยชน์ของขวดดำ ไม่ใช่แค่เท่”

ส่วน label ก็สามารถอธิบายได้ในทุกเส้นสาย จากการออกแบบของ KAPI (กะปิ–ปิยนาฎ ต้นมาลี) นักวาดภาพประกอบ ฟาริสเล่าว่า “เราเป็นเพื่อนกับกะปิ ผมก็บอกคอนเซปต์ไปว่าโปรดักต์ของเราเป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่มนะ ขวดเป็นสี่เหลี่ยม เขาก็แยกองค์ประกอบว่าพร้อมดื่มต้องมีอะไรบ้าง กรอบสี่เหลี่ยมก็ตีให้เป็นขวด คำว่า Midnight Madness เป็นตัวแทนของน้ำ เส้นที่ตรงลงมาสื่อถึงหลอด พอมาประกอบร่างกันก็กลายเป็นโลโก้นี้ เออ มันใช่ ไม่เยอะไม่น้อยเกินไป”

 

พิธีกรรมภาคไม่บังคับแต่ไม่อาจปฏิเสธ

หากคุณเป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่ไปถึงร้าน ประสบการณ์แรกที่คุณจะได้รับคือการเชื้อเชิญเข้าสู่พิธีกรรมภาคไม่บังคับ แต่น้อยคนนักจะปฏิเสธได้ นั่นคือการเทสต์ช็อกโกแลตเย็นไล่เรียงไปทุกรสชาติก่อนเลือกซื้อ ซึ่งบางรสที่คุณชิมอาจเป็นประสบการณ์ใหม่เอี่ยมของลิ้นก็ได้

ฟาริสบอกว่าเรื่องนี้เป็นเหมือนความบังเอิญที่โชคดี “ตั้งต้นเลย เราไม่ได้ตั้งใจให้มีพิธีกรรมขนาดนี้ เราแค่ตั้งใจให้ลูกค้าได้ชิมก่อน พอเราทำออกมาหลายรส ลูกค้าอาจนึกรสชาติไม่ออก เลยอยากให้เขาได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รสชาติที่ชอบที่สุดกลับไปจริงๆ ก็มีเพจไปรีวิวบอกว่าร้านเราเป็นบาร์เทสต์ติ้งคล้ายโอมากาเสะเลย พิธีกรรมนี้จึงกลายเป็นภาพจำและเป็นกิมมิกของร้านโดยปริยาย”  

โน้ตขยายกระบวนการให้ฟังว่า “ลูกค้าที่เพิ่งมาครั้งแรก ถ้าเขาไม่รีบ สะดวกที่จะเทสต์ เราอยากทำเทสติ้งให้ทุกคน แต่ถ้าให้เลือกชิมเลย เขาอาจเลือกกลับไปกลับมา ซึ่งจะไม่ได้รสชาติอย่างที่ควรเป็น งั้นเราดีไซน์การทำเทสติ้งขึ้นมาเลยแล้วกัน จะได้เรียงรสชาติให้ไม่กวนกัน ถ้าเห็นลูกค้าถือแก้วกาแฟเข้ามา ก็จะขอให้เขาเคี้ยวแครกเกอร์จืดหรือดื่มน้ำเปล่าก่อน และระหว่างที่เราชิมช็อกโกแลต ชิมเยอะๆ ลิ้นเราจะเกิดความปร่า การดื่มน้ำเปล่าหรือเคี้ยวแครกเกอร์จืดๆ จะช่วยเคลียร์ลิ้นให้กลับมารับรสชาติได้เหมือนเดิม มีเหมือนกันนะ ลูกค้าที่มาแล้วไม่ขอชิมตัวยูซุกับราสป์เบอร์รี เราก็บอก ชิมก่อนนิดหนึ่ง ชิมแล้วไม่ซื้อไม่เป็นไร อยากให้ลองอะไรใหม่ๆ ดู”

“แต่พอชิมแล้ว เขาเอานะ” ฟาริสเล่าบทสรุป “คือเขามีเพอร์เซปชั่นไปก่อนหน้าแล้วว่าต้องเปรี้ยว แต่จริงๆ มันโอเค ส่วนคนที่เป็นช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ที่กินมาเยอะแล้ว ส่วนใหญ่จะชอบตัวที่เราผสมผลไม้พูเร เพราะเขารู้สึกว่าแปลกดีและสนุกกับอะไรใหม่ๆ”   

ในสถานการณ์ที่เราต้องเว้นระยะห่างต่อกัน โน้ตและฟาริสฝากบอกถึงลูกค้าว่าจำเป็นต้องมีการจำกัดจำนวนคนในแต่ละรอบเทสต์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการ social distancing อีกทั้งข้อจำกัดของพื้นที่ร้านที่ไม่ได้กว้างขวางนัก แต่อย่างไรก็ตาม ฟาริสบอกว่านี่คือขนาดธุรกิจที่พอเหมาะพอมือของเขาสองคน ณ เวลานี้แล้ว 

“ผมชอบฟีลที่ไปญี่ปุ่นแล้วไปเจอร้านที่เขาขายอะไรสักอย่างแค่อย่างเดียว เช่นขายคานาเล่ ขายชา เปิดร้านในหมู่บ้าน ในชุมชน เป็นสแตนด์อะโลน การขายเพียงอย่างเดียวทำให้คนนึกถึงเขาว่าสิ่งนี้ต้องเจ้านี้ เราเลยอยากได้ฟีลว่าถ้าคนอยากดื่มช็อกโกแลต ต้องนึกถึงเรา เลยไม่ได้คิดว่าต้องมีร้านในเมือง ซึ่งต้องขอบคุณลูกค้าของเรานะ มีคนที่ขับรถมาจากราชบุรีเพื่อมาซื้อช็อกโกแลตของเรา มีลูกค้าที่บอกว่าช็อกโกแลตของเราไม่ต่างจากช็อกโกแลตดีๆ ที่เขาดื่มที่ฝรั่งเศสเลย ภูมิใจแล้ว ร้านของเราเล็กแค่นี้ แต่เราสามารถสื่อสารสิ่งที่เราตั้งใจได้” 

โน้ตเห็นว่าการทำร้านในสเกลนี้ ข้อดีหนึ่งคือผู้ผลิตไม่ต้องแบกต้นทุนที่หนักเกินไป ข้อดีที่ตามมาคือลูกค้าก็ไม่ต้องจ่ายในราคาที่สูงเกินควร แถมทั้งคู่ยังลงแรงลงมือทำทุกอย่างกันเองได้ “พูดได้เต็มปากเลยว่าช็อกโกแลตทุกขวด โน้ตทำเองกับมือ”  

ฟาริสกล่าวต่อจากคนรัก “เรียกว่าเป็นงานแฮนด์เมดจริงๆ เราชอบความโฮมมี่แบบนี้ แต่ผมก็อยากทำให้เราเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ เราไม่ได้อยากให้เพอร์เซปชั่นของคนมองว่าเป็นเครื่องดื่มขวดชงขาย แต่เราจะสร้างแบรนด์ Midnight Madness ขึ้นมา ลูกค้าบอกว่าวิดีโอที่ฉายในร้าน เราต้องจ้างโปรดักชั่นแพงแน่เลย ความจริงคือเราทำกันเอง มีเพื่อนฝูงมาช่วย ถ่ายกันหลังร้านง่ายๆ”

“เคยมีคนถามว่าเรามีเครื่องติดสติกเกอร์เหรอ นี่ค่ะ…” โน้ตหันมองคนข้างๆ “ทุกขวดคือฝีมือของคนนี้” 

‘คือเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้างของตัวเองใช่ไหม’ ฉันแซว ซึ่งฟาริสก็บอกว่านี่คืออีกหนึ่งความโชคดี “โชคดีที่เราดีไซน์การทำงานมาแบบนี้ ไม่อย่างนั้นเราคงผ่านสถานการณ์โควิดไม่ได้แน่”

ย้อนกลับมาที่สินค้าของพวกเขาอีกครั้ง ฉันโยนคำถามเบาๆ ให้ ‘หากจะดื่ม Midnight Madness ตอนมิดไนต์ จะแนะนำรสไหน’ 

โน้ตชิงตอบก่อน “แนะนำรส Midnight Madness นี่ล่ะ เพราะเป็นรสชาติแบบที่เราอยากนำเสนอที่สุด ถ้าดื่มก่อนเข้านอน แนะนำให้วอร์มดื่มเป็นช็อกโกแลตอุ่นๆ วิธีคือเทใส่แก้ว เอาเข้าไมโครเวฟ ใช้ไฟต่ำ อุ่น 30 วินาที เอาออกมาคน แล้วดูว่าได้ความอุ่นอย่างที่ต้องการหรือยัง ไม่แนะนำให้อุ่นยาวทีเดียว ช็อกโกแลตจะเสียเทกซ์เจอร์ กับอีกอย่างที่ยุ่งยากนิดหนึ่งแต่ก็ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่ดี คือการเอาไปตุ๋นบนหม้อน้ำ การดื่มช็อกโกแลตอุ่นๆ ก่อนนอนเป็นความฟินอย่างหนึ่งเลย แต่ถ้ากำลังนั่งทำงานดึกๆ เพลีย เหนื่อย แนะนำให้ดื่มแบบเย็น เพื่อรีเฟรชขึ้นมา”  

“ส่วนผมแนะนำ Femme Fatale” ถึงคราวฟาริสตอบ “คำว่า Femme Fatale คือคาแร็กเตอร์ของผู้หญิงสวยที่ซ่อนความแสบความร้ายไว้ นี่คือรสที่เราดีไซน์มาแล้วว่าต้องเป็นความเซ็กซี่ เย้ายวน คือถ้าจะดื่มตอนเที่ยงคืนน่ะ ต้องเป็นความเซ็กซี่เย้ายวนอย่างที่เราตั้งใจ และคุณสมบัติของช็อกโกแลตก็ช่วยให้เรามีเอเนอร์จี้ด้านบวกด้วย”

หลังพิธีกรรมเทสติ้ง ฉันกวาดมาครบรสที่ชอบ และช่วยไม่ได้จริงๆ หากคุณรู้สึกว่าถูกป้ายยาเข้าให้บ้างแล้ว เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้

Midnight Madness

address :  215/26 ซ.รามคำแหง 112 เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ
tel. : 088 882 0014
hours : เปิดทุกวัน เว้นวันศุกร์ 9:30-18:00 น.
facebook : Midnight Madness

  

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย