Gimbocha ร้านชาของคุณยาย ที่มีสองหนุ่มสาวรุ่นใหม่อยู่เบื้องหลัง

Gimbocha ชากิมบ้อ ในการกินดื่ม รสชาติคือเรื่องหลักที่ฉันแสวงหา แต่บ่อยครั้งที่พบว่าการมีบางอย่างประกอบร่วมเข้าไปนั้นช่วยให้การกินดื่มนั้นๆ พิเศษยิ่งขึ้น เช่นบรรยากาศ สถานที่ ไม่ก็สตอรี แพ็กเกจจิ้ง หรือสิ่งเล็กน้อยที่แสดงถึงความใส่ใจของคนทำ กลายเป็นยิ่งอิน ยิ่งเอนจอย ยิ่งทัชใจ

Gimbocha หรือ ชากิมบ้อ ที่มาพร้อมโลโก้ ‘คุณยายชงชา’ เข้าข่ายที่ว่ามาทั้งหมด 

แบรนด์ชาน้องใหม่ย่านหนองแขมแห่งนี้ถูกใจฉันตั้งแต่รสชาติ ไปจนฉลากน่ารักที่แปะบนแก้วบนขวด และสิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้สึกว่า ชาเจ้านี้เขาช่างใส่ใจลูกค้าดีจัง

แต่ขอเฉลยก่อนเลยว่า ภายใต้ภาพคุณยายชงชาหน้าตาใจดี และชื่อแบรนด์ ‘กิมบ้อ’ ซึ่งตั้งตามนามราชินีแห่งสวรรค์ของชาวจีน คือหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลัง บอส–นภัสรพี พุทธรัตน์ ชายหนุ่มที่พูดได้เต็มปากว่าช่างเนิร์ดเรื่องชา และ ต้นน้ำ–วารีช กิจบูรณะ หญิงสาวผู้สร้างคาแร็กเตอร์คุณยายให้กลายเป็นภาพจำของแบรนด์ กระทั่งลูกค้าหลายคนหลงเข้าใจว่ามีคุณยายมีตัวตน ยืนชงชาอยู่ในร้านจริงๆ

gimbocha
gimbocha

ย้อนความกลับไป การทำแบรนด์ชาไม่เคยอยู่ในหัวของบอสและต้นน้ำ ทั้งคู่คือบัณฑิตหมาดๆ ที่เพิ่งเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์มาในเวลาไล่เลี่ยกัน และเป็นช่วงเดียวกับที่โควิด-19 ระบาดในเมืองไทย ตลาดงานภาพยนตร์ที่ทั้งคู่ร่ำเรียนมาหยุดชะงัก บอสซึ่งเรียนจบมาก่อนจึงหันมองสิ่งที่ตนมีอยู่ เขาเล่าย่นย่อว่าคุณพ่อชื่นชอบการดื่มชาและสนใจในธุรกิจค้าส่งใบชา หากเขาต้องเข้าไปคลุกวงในกับธุรกิจนี้ ก็ขอทำแบรนด์ชาให้ออกมาตรงตามที่ใจชอบ 

บอสชวนต้นน้ำเข้าสู่วงการชาด้วยกัน ค่อยๆ ทำความรู้จักใบชาแต่ละชนิด รีเสิร์ชข้อมูล ทัวร์ชิมชาทั่วเยาวราช ลองผิดลองถูก แตกธุรกิจออกมาเป็นคาเฟ่ชา และทำแบรนด์ให้ทันสมัยขึ้น 

นี่คือประตูบานแรกของวัยรุ่นสองคนที่แทบไม่มีความรู้เรื่องชามาก่อนเลยแม้แต่น้อย

ชาทุกตัวมีที่มา มีนิทาน มีตำนาน มีเรื่องเล่า

“โลกของชามีรายละเอียดที่ผู้ขายต้องรู้เยอะมากครับ”

ฉันเห็นด้วยกับที่บอสกล่าว คำว่า ‘ชา’ นั้นเปรียบได้กับจักรวาลขนาดย่อม มีหลายชนิด หลากสายพันธุ์ แตกสายไปหลายกลิ่น แยกย่อยไปมากรส ราวไม่มีที่สิ้นสุด

“ชาคล้ายกับกาแฟ มันมีหลักแหล่ง แต่ข้อมูลกลับมีไม่มากโดยเฉพาะในภาษาไทย จุดนี้เลยทำให้เราคิดว่าถ้าสามารถประกอบความรู้เหล่านี้ขึ้นมาแล้วถ่ายทอดให้ง่ายขึ้น การดื่มชาก็จะกลายเป็นเรื่องสนุก ที่ไม่ใช่แค่ว่าเราได้ดื่มชา แต่มันเท่ากับว่าเราได้เสพเรื่องราวไปด้วย ซึ่งลูกค้าแต่ละกลุ่มก็สนใจเรื่องชาต่างกันไป” มีหลายครั้งที่ลูกค้าไม่เข้าใจเมื่อเขาพยายามอธิบายถึงกระบวนการออกซิเดชั่นหรือการหมักชา บอสจึงค่อยๆ เรียนรู้กระบวนท่าใหม่ๆ ในการเล่าเรื่อง

“เป้าหมายของผมคือทำยังไงให้คนเข้าถึงชาได้ง่าย ผมมักจะเริ่มจากสตอรี เช่น ชาเขียวหลงจิ่งคือชาที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,200 ปี มีเทสต์โน้ตนัตตี้-ฟรุตตี้ ขณะที่ชาแดงเจิ้งซานเสียวจ่งคือชาแดงตัวแรกของโลก ถ้าอยากจะลองชาแดง ต้องตัวนี้ที่เป็นต้นกำเนิด” 

gimbocha

“แต่พอเรายิ่งหาอ่านก็ยิ่งรู้ว่าชาไม่ได้จบแค่ตรงนั้นตรงนี้ ชาตัวหนึ่งมีนิทานของมันด้วยซ้ำ และแต่ละมณฑลก็มีเรื่องเล่าของชาไม่เหมือนกัน แม้ไม่ใช่เรื่องที่พิสูจน์ได้ แต่เวลาเราได้ดื่มชาตัวนั้น เราจะรู้สึกสนุกขึ้นเมื่อเรารู้เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลัง” บอสว่า

ยกตัวอย่างนิทานชาเขียวหลงจิ่ง ที่ต้นน้ำวาดเป็นการ์ตูนสี่ช่องเล่าง่ายๆ แปะไว้บนผนังร้าน ตำนานเล่าว่าเทวดากำลังชื่นชมความงามของจอกมังกรเงินอยู่บนสวรรค์ แต่ดันทำจอกชาตกลงมายังโลก จอกชากลายเป็นต้นกำเนิดบ่อน้ำหลงจิ่ง ซึ่งแปลว่าบ่อมังกร ให้คนในหมู่บ้านได้ใช้น้ำจากบ่อนี้ปลูกชา 

นี่ไง ฟังแล้วน่าจะเข้าใจง่ายกว่าคำว่าออกซิเดชั่นเห็นๆ

“หรืออย่างชาไต้หวันนางงาม” ต้นน้ำยกตัวอย่างบ้าง “มีสตอรีว่าเป็นชาที่เคยถูกเสิร์ฟให้ควีนวิกตอเรียดื่ม แล้วพระองค์ประทับใจในความนุ่มและอาฟเตอร์เทสต์ที่ยาวนาน เลยตั้งชื่อให้ชาตัวนี้ว่า Oriental Beauty Oolong Tea” ด้วยสตอรีเช่นนี้ ทำให้มีลูกค้าหลายคนที่ตัดสินใจลองสั่งมาชิมเพื่อลิ้มรสชาติเดียวกับที่ควีนวิกตอเรียเคยดื่ม

จะดื่มอะไรดี ชาร้อน ชาเย็น ชาเบลนด์ ชานม ชาใส

เมนูชาส่วนใหญ่ของร้านถูกตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมาด้วยการใช้ชื่อของชนิดชานั้นๆ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบร้อน แบบเย็น และมีทั้งชานม ชาใส มีทั้งชงจากชาชนิดเดียว และที่เบลนด์ขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดกลิ่นและรสที่ซับซ้อน 

แต่ก่อนจะมีเมนูชามากมายเช่นนี้ พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเสิร์ฟแต่ชาร้อนด้วยวิธีชงแบบกงฟูฉา (วิถีการชงชาร้อนของชาวจีน) แบบเพียวๆ

“ช่วงแรกผมโดนครอบงำด้วยเสน่ห์ของชาร้อน เพราะมันทำให้เราได้เสพทุกอย่างตั้งแต่เริ่มเปิดฝา ดมกลิ่น รินน้ำร้อนลวกหนึ่งครั้งเพื่อสัมผัสว่าอโรม่าเป็นแบบไหน นี่คือสิ่งที่อยากให้ลูกค้าได้สัมผัส ชากิมบ้อจึงเริ่มต้นด้วยการขายชาร้อนอย่างเดียว 

“แต่ด้วยความที่เราเริ่มเปิดร้านในช่วงเดือนเมษาฯ ลูกค้ามาจากอากาศร้อนๆ เข้าร้านมา มีเมนูเย็นไหม โอเค ขายแต่ชาร้อนไม่ตอบโจทย์แน่” แต่ถึงอย่างนั้นบอสกับต้นน้ำก็ตั้งใจแต่ต้นว่าพวกเขาจะไม่ขายชาเย็นเหมือนกับร้านชาอื่นๆ ที่มีในตลาด เน้นชูความหลากหลายของชาที่ร้านนี้มีมากว่า 50 ชนิด แถมแต่ละชนิดยังมีคาแร็กเตอร์และเรื่องราวที่แตกต่างกันไป

“พอมาคิดดีๆ เราคิดว่าถ้าจะขายแค่ชาร้อนอย่างเดียว คงทำให้ลูกค้าหลายคนเสียโอกาสที่จะได้เข้าถึงความหลากหลายในโลกของชา ซึ่งมีมากกว่าที่เราเห็นในตลาดปัจจุบัน” ต้นน้ำช่วยขยายไอเดีย 

“เราเลยหยิบชาแต่ละตัวมาทดลองทำเป็นเมนูเย็นแล้วตั้งชื่อเมนูตามชื่อชา เพื่อให้คนได้รู้จักตัวชาที่ได้ดื่มด้วย เช่นชาต้าหงเผาบราวน์ชูการ์ อยากให้ดื่มแล้วสัมผัสได้ถึงกลิ่นสโมคที่เกิดจากการคั่วไฟอุณหภูมิสูง แต่เป็นชาเย็นนะ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าดื่มง่ายแน่นอน” 

gimbocha

มากไปกว่าชาเย็น พวกเขายังเล็งเห็นพื้นที่ในตลาดชานม ที่ชากิมบ้อสามารถหยิบคาแร็กเตอร์ของชาชนิดต่างๆ ในร้านมาเบลนด์เข้าหากันเพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆ โดยไม่ละทิ้งรสชาติดั้งเดิมของชา

“เราลองชิมชาทุกตัวแล้วคัดออกมา โดยแยกว่าตัวนี้บอดี้ดี ตัวนี้กลิ่นดี จากนั้นจึงเริ่มเบลนด์ทีละสูตร อย่างชานม Kandy ลงตัวที่ส่วนผสม 4 อย่าง โดยสูตรนี้เราตั้งใจชูความเข้มข้น ดื่มแล้วได้รสชาเต็มๆ จึงต้องใช้ชาที่บอดี้แน่นๆ อย่างชาซีลอนเป็นเบส ข้อดีคือซีลอนมีกลิ่นหอมหวานอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้หอมหวานกว่านี้โดยไม่ต้องแต่งกลิ่น ดังนั้นเราจึงเอาพุทราจีนเข้ามาช่วย”

ไอเดียการเบลนด์ชาเช่นนี้เกิดจากหลักคิดที่ว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าที่ไม่เคยดื่มชา หรือรู้จักชาเพียงผิวเผิน เข้าหาชาของพวกเขาได้ง่ายขึ้น

“เราพยายามเบลนด์โดยกำหนดให้มีส่วนประกอบอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่ลูกค้ารู้จักแน่นอน เช่น ชาอู่หลงน้ำผึ้ง เขาต้องนึกออกแน่ๆ ว่าน้ำผึ้งรสชาติประมาณไหน หรืออย่างชาต้าหงเผา ถ้าเราพูดว่าชากลิ่นสโมคเขาอาจจะไม่คุ้น แต่พอบอกว่ามีบราวน์ชูการ์ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจ”

gimbocha

การจับคู่ชากับวัตถุดิบต่างๆ ในแบบของบอสนั้นมีทั้งแบบที่ใช้หลักการ แบบที่ใช้ความชอบ และแบบที่อาศัยความนึกสนุก เช่น ชาเก๊กฮวยคาโมมายล์ เป็นการจับคู่ของฤทธิ์ชาที่ให้ความเย็นและผ่อนคลาย หรือ ชาผูเอ่อร์เก๊กฮวย มีกลิ่นหอมในทิศทางเดียวกัน สำหรับใครที่นึกไม่ออก ผูเอ่อร์คือชาที่มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร เราจึงมักเห็นชาตัวนี้ในร้านอาหารจีนแนวติ่มซำ ที่สำคัญคือมีกลิ่นและรส earthy จึงเข้ากันได้ดีกับกลิ่นหอมหวานของเก๊กฮวย 

ขณะที่ ชาสามก๊ก นั้นเบลนด์ขึ้นจากคุณสมบัติที่แตกต่าง คือใช้ชาเอิร์ลเกรย์เป็นเบส เติมความคอนทราสต์ด้วยลำไย เลม่อนแห้ง และกลิ่นตะไคร้ บอสนิยามว่าเป็นชาที่สวนทางกันแต่ก็น่าตื่นเต้น 

“ผมพยายามสร้างชาที่คนชิมแล้วต้องถอยแก้วออกมาดูว่านี่ชาอะไรเนี่ย ซึ่งเราเองก็สนุกด้วย ลูกค้าก็สนุกด้วย”

gimbocha

บอสและต้นน้ำไม่หยุดอยู่แค่การดื่ม แต่ขยายไปสู่ของกินแกล้มระหว่างจิบชา หมั่นโถวย่างเนยเกิดจากการพลิกหมั่นโถวขาวนุ่มทั่วไปให้มีเทกซ์เจอร์กรอบนอกนุ่มในเหมือนขนมปังปิ้ง จิ้มกับนมข้นหวานและสังขยาใบเตย รวมถึงไอเดียออกสินค้าตัวใหม่ในช่วงวันสำคัญ โดยมีขนมไหว้พระจันทร์เวอร์ชั่นแป้งโมจิเป็นความพยายามครั้งแรก 

ที่ต้องใช้คำว่า ‘ความพยายาม’ เพราะขนมไหว้พระจันทร์ (หรือหมั่นโถวเองก็เถอะ) เป็นเรื่องใหม่ของคนทั้งคู่ไม่ต่างจากชา พวกเขาออกตามหาสูตรเอง ทดลองเอง ล้มเหลวและสำเร็จด้วยตัวเอง กระทั่งขนมไหว้พระจันทร์แป้งโมจิไส้แปลกใหม่ลายน่ารักกลายเป็นสินค้าออร์เดอร์ล้นของร้าน 

“ไอเดียนี้มาจากความที่เราไม่ชอบกินขนมไหว้พระจันทร์แบบอบ ซึ่งมีไส้คลาสสิกคือพวกทุเรียนไข่เค็ม ขณะเดียวกันเราก็ชอบกินโมจิ ดังนั้นจึงอยากลองนำแป้งโมจิมารวมกับไส้อย่างอื่นที่เราชอบ ของแบบนี้บางทีต้องอาศัยจังหวะและเกาะไปกับกระแสในตลาด แต่พอขายได้เราก็หายเหนื่อย อย่างน้อยก็ภูมิใจว่าเราทำขนมไหว้พระจันทร์ในแบบที่เราชอบได้แล้ว”

“คือทำยังไงก็ได้ ให้เราชอบสิ่งที่เราขายด้วย” ต้นน้ำสรุปกระชับ

gimbocha

คาแร็กเตอร์คุณยายที่ปรากฏในทุกส่วนของแบรนด์

หากว่าด้วยเรื่องชา กลิ่นและรสเป็นสิ่งที่ต้องมาลำดับแรก ทว่าอีกอย่างที่ฉันแพ้ให้แก่ Gimbocha คือความน่ารักของแพ็กเกจจิ้ง อันที่จริงชาเจ้านี้เขาก็ใส่ในแก้วในขวดธรรมดา แต่ดูสติ๊กเกอร์ที่แปะลงไปเสียก่อน ภาพวาดคุณยายรินชาฝีมือของต้นน้ำ พร้อมบทสนทนาระหว่างยาย-หลาน แถมระบุคำเรียกหลานเป็นชื่อของเรานั้นก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่าชาแก้วนี้หรือขวดนี้ คุณยายชงให้เราโดยเฉพาะจริงๆ 

“แบรนด์นี้เริ่มต้นจากคนสองเจนฯ นั่นคือผมกับคุณพ่อ ส่วนชื่อแบรนด์นั้นคุณพ่อชิงตั้งไปก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อเราต้องใช้ชื่อนี้เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ชาของเราเฟรนด์ลี่และเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป เลยคุยกับต้นน้ำและเกิดเป็นไอเดียคาแร็กเตอร์คุณยายที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นห่วงเป็นใยหลานๆ” บอสเล่าย้อนกลับไป ก่อนที่ต้นน้ำจะเสริมต่อ

“เวลาพูดถึงเรื่องชา คนส่วนใหญ่มักนึกถึงคนแก่ที่ดื่มชาร้อน เราเลยคิดว่าถ้าให้คุณยายที่เป็นเหมือนคนในครอบครัวมาพูดเรื่องชาให้หลานฟัง ก็คงจะรู้สึกน่าฟังกว่าการพูดโดยสเปเชียลลิสต์ด้านชาที่เราไม่สนิทด้วย

“ในแง่การออกแบบ เราจึงตั้งใจให้หน้าตาและบุคลิกคุณยายมินิมอลที่สุด ในส่วนของโลโก้จึงจำเป็นต้องตัดทอนให้น้อย จำง่าย เพราะต่อให้ลูกค้ายังจำชื่อร้านไม่ได้ แต่เขาต้องจำหน้าคุณยายได้” โดยงานนี้ต้นน้ำเลือกใช้ลายเส้นให้มีความเป็นพู่กันจีน ทั้งบนโลโก้และสติ๊กเกอร์บนแพ็กเกจจิ้งที่เธอวาดเป็นคอมิก

“เพราะเราไม่กล้าลงทุนสกรีนแก้ว เลยคิดปรินต์สติ๊กเกอร์กันเอง แล้วพอตั้งโจทย์ว่าจะทำยังไงให้เข้าถึงคนง่าย ก็เลยตั้งใจทำเป็นการ์ตูนช่องสั้นๆ มีบทสนทนาให้อ่านเป็นคุณยายคุยกับหลาน ซึ่งแทนด้วยชื่อลูกค้าแต่ละคน” บอสอธิบายก่อนที่ต้นน้ำจะช่วยขยาย

“ซึ่งมันเวิร์กมากเลยนะคะ มีลูกค้าหลายคนบอกว่าร้านใส่ใจมาก เขียนชื่อให้ทุกแก้ว ทำให้ลูกค้ารู้สึกดี อ่านแล้วรู้สึกเหมือนแก้วนี้คุยกับเราจริงๆ มาจากคุณยายจริงๆ อบอุ่น และเห็นถึงความตั้งใจทำ และคิดด้วยว่าอยากให้ลูกค้าได้รับไปแล้วอยากถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียล เลยใช้สติ๊กเกอร์ให้คุ้มที่สุด”

gimbocha

คุณยายไม่ได้มาเพื่อเป็นแค่โลโก้หรือรินชาอยู่บนสติ๊กเกอร์ แต่บุคลิกผู้สูงวัยที่เป็นมิตรใกล้ชิดลูกหลานยังถูกคีปไว้ในทุกการสื่อสารของแบรนด์ ปรากฏตัวในเพจ ในอินสตาแกรมร้าน หรือในการตอบข้อความ 

“เราพิมพ์ตอบลูกค้าด้วยคาแร็กตอร์คุณยายเลยนะ (หัวเราะ) แต่เป็นคุณยายที่พูดด้วยนำ้เสียงวัยรุ่นนิดหนึ่ง คือเป็นคนแก่ที่เท่ ถึงจะดื่มชาและเรียกลูกค้าว่าหลาน แต่ก็ยังพูดภาษาเดียวกับวัยรุ่น บางครั้งเราก็มีลูกค้าทักมาในเพจแล้วบอก คุณยายคะ หลานอยากสั่งชา” ต้นน้ำเล่าติดตลก 

“กลายเป็นลูกค้าก็มา role play กับเราด้วย” บอสต่อประโยค “ผมคิดว่าถ้าเราพาคุณยายไปมีตัวตนอยู่ในโซเชียลของเราได้ ลูกค้าจะรู้สึกสนิทกับเรา อย่างน้อยเขาคุยกับเรา เขาไม่ได้คุยกับแบรนด์ที่ชื่อ Gimbocha แต่เขารู้สึกว่าได้คุยกับคุณยาย คือความเป็นคุณยายมันเชื่อมโยงกับหลายคนได้ เป็นคาแร็กเตอร์ที่มีทั้ง fact และความขี้เล่นได้ มีสตอรีที่ไว้ให้หลานสนุก เลยคิดว่านี่ล่ะที่น่าจะลิงก์กับคนวัยเราได้ แต่ก็ไม่ทิ้งคนเจนฯ คุณพ่อผมด้วย”

gimbocha

การเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ในช่วงปีที่ยากลำบาก

ช่วงสองปีที่ผ่านเป็นปีที่ยากสำหรับใครหลายคน แล้วยิ่งเป็นการลงทุนลงเงินทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ฉันคนหนึ่งล่ะที่ไม่กล้า

“เป็นความโชคดีที่คุณพ่อเตรียมเงินทุนหมุนเวียนเอาไว้ ก่อนหน้าเปิดร้าน ผมถามพ่อว่าเราจะเปิดกันตอนไหน ทีแรกเขาก็คิดว่าสิ้นปีล่ะมั้ง แต่พอเจอโควิด ทุกคนกลับมาอยู่บ้าน เลยตัดสินใจว่าถ้างั้นเปิดเลยดีกว่า” บอสเล่าย้อนไปก่อนอธิบายต่อ

“ลูกค้าของเราเป็นคนโลคอล เราจะอยู่ได้ก็เพราะคนในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ เพราะไม่เหมือนกับเราไปเปิดในเมืองที่คนพลุกพล่าน ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องโฟกัสคือจะทำยังไงให้คนรู้จัก เป็นช่วงสร้าง awareness ในความเงียบ นี่คือเรื่องยาก” 

ขณะที่ต้นน้ำนั้นมีความฝันอยากมีคาเฟ่เล็กๆ ของตัวเองเป็นทุนเดิม และการลงสนามจริงในครั้งนี้ได้มอบสายตาใหม่แก่เธอหลายด้าน “การเริ่มธุรกิจในยุคสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ได้นะ พอเราคำนวณว่าถ้าทำเดลิเวอรีอย่างเดียวโดยไม่มีหน้าร้าน กำไรของเราจะดีกว่านี้ก็ได้”

“คือเรามีซอฟต์สกิลอะไรเราโชว์ออฟก่อนได้เลย” บอสช่วยเสริม “เพราะเรามีพื้นที่ มีฟรีมีเดีย สิ่งที่ทำให้เราขายได้จริงๆ คือครีเอทีฟ ยิ่งเจนฯ หลังจากเรายิ่งจำเป็น เพราะแบรนด์ทุกแบรนด์ต้องมี storytelling”

gimbocha

ตลอดบทสนทนา ฉันสังเกตว่ามีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ทั้งคู่ย้ำมาตลอดคือ คนทำต้องมีความชอบและความสนุกในเรื่องที่ทำด้วย

“ผมเลยพยายามทำแบรนด์นี้ให้อยู่ในแนวทางที่เราชอบให้ได้” บอสย้ำชัด “นั่นเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผมเลยนะ เพราะถ้าจำเป็นต้องทำสิ่งนี้โดยที่เราไม่ชอบ เราจะไม่มีทางมีความสุขและคงอยู่ไม่ได้เลย อย่างที่บอกว่าตอนแรกชีวิตผมห่างจากชามาก ดังนั้นก็เลยทำแบรนด์มาเพื่อย่นระยะห่างระหว่างเรากับชา” 

“พอเข้ามาสัมผัสกับชา เรารู้สึกว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่ประกอบการพูดคุยที่ดี เวลาเพื่อนมาร้านหรือเวลาที่ไม่มีลูกค้าแล้วนั่งคุยกับพี่บอสเราก็รินชาดื่มไปด้วยตลอด ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าคุยสนุกขึ้นมาก อย่างการชงชาแบบกงฟูฉา เราก็ไม่อยากให้มองว่าต้องเป็นพิธีการ เพราะมันเรียบง่ายกว่านั้น และใครๆ ก็ทำได้”

“เราไม่อยากทำให้ชาเป็นของขึ้นหิ้งครับ” บอสปิดท้าย เป็นประโยคที่ทัชใจฉันอย่างจังอีกครั้ง


Gimbocha

address : 28/1 โครงการสิริ อเวนิว ถนนมาเจริญ หนองแขม กรุงเทพฯ 

hours : เปิดทุกวัน 09:00-21:00 น. (หรือตามมาตรการของรัฐในช่วงสถานการณ์โควิด19)

Facebook & Instagram : Gimbocha

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย