อย่าให้เพศศึกษาพาสับสน! รู้จัก Domka Spytek นักออกแบบที่เล่าเรื่องเซ็กซ์ผ่านของเล่น

เพศศึกษา

เราเรียนรู้เรื่อง ‘เซ็กซ์’ กันจากที่ไหน?

หนังโป๊, ซีรีส์, เพื่อน, แฟน, กูเกิล, ตัวเอง ฯลฯ หากถามคำถามนี้กับทุกคน เชื่อว่าคำตอบคงวนเวียนอยู่ไม่ไกลจากนี้ และเดาว่าแหล่งการเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ที่ควรจะสำคัญที่สุดอย่าง ‘ห้องเรียนวิชาเพศศึกษา’ คงถูกนึกออกเป็นคำตอบท้ายๆ

อาจเพราะการเรียนเพศศึกษาในบ้านเราที่ดูเหมือนจะเป็นการเรียนเอาฮาและใช้ไม่ได้จริง (สิ่งที่จำได้จากวิชานี้สำหรับผมมีแต่มุกลามกของเพื่อนที่ปลิวว่อนห้องและข้อสอบที่ไล่นักเรียนผู้มีอารมณ์ทางเพศไปเตะบอล) และแม้จะสอนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการมีอะไรกันอย่างปลอดภัยไปขนาดไหน แต่สุดท้ายศีลธรรมอันดีก็ดูเหมือนจะพยายามฝังหัวเราเป็นนัยๆ ว่า ‘เป็นเด็กเป็นเล็ก ไม่เอากันน่ะดีที่สุด’

 

โปแลนด์ ดินแดนที่ห้ามพูดเรื่องเพศ

โปแลนด์ก็ดูเหมือนจะมีวิชาเพศศึกษาที่ ‘อาการหนัก’ ไม่แพ้บ้านเรา เผลอๆ อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ ด้วยความที่เป็นประเทศเคร่งศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายคาทอลิก คำสอนของศาสนาหล่อหลอมให้เกิดสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกจนโปแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเรื่องราวการเหยียดเพศและเกลียดกลัวเพศหลากหลายมากเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป ถึงขนาดมีการจัด ‘เขตปลอด LGBTQ+’ ขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ

ถ้าอยากรู้ว่าการสอนเพศศึกษาในโปแลนด์เป็นเอามากขนาดไหนก็ลองอ่านย่อหน้านี้ดู

“เครื่องแต่งกายที่วาบหวิวเร้าอารมณ์อย่างกระโปรงสั้น, ชุดโชว์สะดือ, กางเกงเอวต่ำ, สายเดี่ยว, แหวกอก และเปิดหลัง คือการเชื้อเชิญและนำไปสู่อะไรที่มากกว่านั้น คุณปล่อยให้คนอื่นมองคุณว่าเป็นผู้หญิงใจง่าย…ถ้าพวกเขาล่วงเกินคุณ นั่นเป็นความผิดของคุณ ก็เพราะคุณไปยั่วเขาเอง”


นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ Zycie na maksa หรือ Life to the Max หนังสือเรียนสุขศึกษาและชีวิตวัยรุ่นของโรงเรียนในกรุงวอร์ซอซึ่งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในปี 2018 หนังสือเรียนที่สะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของร่างกายตัวเองเล่มนี้จุดกระแสให้มีการปฏิรูปการเรียนเพศศึกษาในโปแลนด์ใหม่ และบรรจุมันลงไปเป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐานของทุกโรงเรียน (ใช่ ในโปแลนด์ วิชาเพศศึกษาไม่ใช่วิชาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) รวมถึงเกิดแคมเปญ #SEXEDpl ที่ขับเคลื่อนให้การพูดเรื่องเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

ให้ดีไซน์จุดประกายเรื่องเพศ

Domka Spytek คือนักออกแบบหลากหลายศาสตร์ (multidisciplinary designer) ชาวโปแลนด์ที่เติบโตมาในสังคมอนุรักษนิยม ในสังคมที่เธอคุ้นเคย การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย การเรียนการสอนเรื่องเพศถูกเล่าผ่านเรื่องเล่าของผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงไม่เคยรู้สึกมีสิทธิเหนือร่างกายของตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงเพศที่หลากหลายกว่านั้น เกย์, เลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล, น็อน-ไบนารี ฯลฯ เพศเหล่านี้ไม่เคยมีพื้นที่แม้เพียงส่วนเสี้ยวในบทเรียนเพศศึกษา เมื่อสปายเทกได้เข้าเรียนในโรงเรียนออกแบบที่ Pedagogical University of Krakow เธอจึงนำประสบการณ์เรื่องเพศที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงในการทำงานออกแบบ

“สิ่งที่เราไม่พูดกันกลายเป็นความลับ และบ่อยครั้งความลับสร้างความอับอาย ความหวาดกลัว และมายาคติ”

คือประโยคที่สปายเทกเขียนไว้ในเว็บไซต์รวบรวมงานออกแบบของเธอ

‘ข้อเท็จจริง’ ไม่ใช่ ‘มายาคติ’ คือคอนเซปต์ของสื่อการสอนวิชาเพศศึกษาที่เธออยากเห็น วิชาเพศศึกษาไม่ควรสร้างค่านิยมความเป็นหญิงที่ต้องรักนวลสงวนตัว หรือความเป็นชายที่ต้องเข้มแข็งตลอดเวลา แต่ควรเป็นวิชาที่ทำให้ทุกคน–ไม่ว่าจะเป็นเพศใด–ได้เข้าใจร่างกายของตัวเองในทุกช่วงชีวิต และเรียนรู้ที่จะกำหนดขอบเขตให้ร่างกายตัวเอง สิ่งที่วิชาเพศศึกษาควรมอบให้ไม่ใช่ความกลัว (เช่น กลัวท้อง กลัวการทำแท้ง กลัวการติดโรค ฯลฯ จนไม่กล้าทำความรู้จักร่างกายตัวเอง) แต่คือความรู้ เพื่อเสริมพลังให้ทุกคนมีสิทธิในร่างกายตัวเองและรู้ว่าควรรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ยังไง

ero.edu คือสื่อการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาที่ออกแบบให้เปิดกว้างและไม่แบ่งแยกเพศ เป็นโปรเจกต์ออกแบบที่สปายเทกพัฒนาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปะ Konstfack ในสวีเดน

ero.edu ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ ‘ข้อควรปฏิบัติทางเพศ’ เหมือนบทเรียนเพศศึกษาทั่วไป แต่เริ่มต้นที่ความเข้าใจพื้นฐานของร่างกายผ่านอินโฟกราฟิกที่นำเสนอส่วนประกอบของอวัยวะเพศ ในประเทศที่การพูดเรื่องจู๋จิ๋มเป็นสิ่งต้องห้าม ความน่ารักของสื่อการสอนช่วยคลายบรรยากาศและทำให้เด็กๆ กล้าหยิบจับมันมากขึ้น

จากนั้นจึงไปสู่การเรียนภาคปฏิบัติที่เธอออกแบบสื่อการสอนคล้ายเกมกระดาน กติกาคือเด็กๆ ต้องช่วยกันประกอบส่วนต่างๆ ของระบบสืบพันธุ์ขึ้นมา ตรงนี้แหละที่การเล่นมีบทบาทสำคัญ เพราะในระหว่างที่เด็กๆ ได้เล่นด้วยกัน ‘บทสนทนา’ จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ “ร่างกายของฉันเป็นแบบนี้ ร่างกายของเธออาจเป็นอีกแบบ ฉันรู้สึกดีมากกับส่วนนี้ ของเธอล่ะเป็นยังไง…” บทสนทนาเรื่องเพศเป็นไปแบบสบายๆ ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ไม่ต้องทำตลกกลบเกลื่อน นี่คือสิ่งมีค่าที่สุดที่เด็กๆ จะได้ไปจากงานของเธอ

ero.edu ถูกใช้ในเวิร์กช็อปกับกลุ่มเด็ก ม.1-ม.3 กว่า 100 คนในสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากทดลองสปายเทกพบว่ามันทำให้เด็กๆ ที่นั่นเข้าใจกลไกของร่างกายและเชื่อมโยงมันเข้ากับความรู้สึกได้อย่างดี แผนการต่อไปของโปรเจกต์นี้จึงเป็นการผลิตและนำมันกลับไปทัวร์ที่โปแลนด์แดนบ้านเกิดของเธอ ซึ่งน่าจะท้าทายกว่าในสวีเดนหลายเท่า

เพศศึกษา

สปายเทกมองว่าในการขับเคลื่อนเรื่องเพศ การใช้แคมเปญรณรงค์อย่าง #SEXEDpl เพื่อสื่อสารให้คนในวงกว้างเกิดความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือภาคปฏิบัติ และ ‘การเล่น’ ก็เป็นตัวช่วยที่ดี เพราะบรรยากาศที่สนุกสนานทำให้คนกล้าที่จะมีส่วนร่วม พูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เมื่อเราอยากให้การคุยกันเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมดา ก็ทำเกมที่เอื้อให้คนได้คุยกันแบบนั้นออกมา

สปายเทกเล่าถึงกลยุทธ์เดียวกันในอีกซีกโลกอย่างอเมริกา ที่นั่นมีบอร์ดเกม The Period Game ที่จำลองการมีรอบเดือนของเด็กแรกรุ่น แต่ละช่องของกระดานคือกระบวนการของร่างกายผู้หญิงขณะมีประจำเดือนซึ่งผู้เล่นจะเรียนรู้ไปตลอดการเดินหมาก ระหว่างทางเราสามารถหงายการ์ดรับมือกับการมีประจำเดือนครั้งแรก เช่น หงายการ์ดโทรไปปรึกษาเพื่อน หงายการ์ดเปิดอกบอกพ่อแม่ ไปจนถึงหงายการ์ดใส่ผ้าอนามัยหรือถ้วยอนามัย เพื่อให้เด็กผู้หญิงวัยใกล้มีประจำเดือนได้เข้าใจวิธีรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญบอร์ดเกมนี้ไม่ได้สงวนให้ผู้หญิงอย่างเดียว แต่จะยิ่งดีเสียอีกถ้าคนต่างเพศจะได้มาเล่นด้วยกันเพื่อเข้าอกเข้าใจเพศหญิงมากขึ้น

 

เรื่องเพศแบบใหม่ที่ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้

ก่อนหน้าที่สปายเทกจะทำสื่อการสอนเด็กอย่าง ero.edu เธอเคยทำสื่อการสอนสำหรับผู้ใหญ่ในโปแลนด์ที่เติบโตมากับภาพจำเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นชายและหญิงที่ถูกหล่อหลอมจากค่านิยมของสังคม ประเภท “ผู้ชายต้องเข้มแข็งและไม่แสดงออกความรู้สึก” และ “ผู้หญิงต้องนุ่มนวลและเปราะบาง” หลายครั้งความคิดที่เรามีต่อกันคือจุดเริ่มต้นของความคาดหวังและการทำร้ายหัวใจกันอย่างที่เห็นในหนังสือเรียนเล่มที่เล่าไปตอนต้นนั่นแหละ

งานชิ้นนี้ชวนเรามาสำรวจภาพจำเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่ทุกคนถูกสังคมหล่อหลอม โดยดีไซเนอร์เริ่มต้นจากการรีเสิร์ชความคิดของคนอายุ 20-75 ปีว่าพวกเขามีภาพจำเกี่ยวกับอัตลักษณ์ นิสัย บุคลิกภาพ ฯลฯ ของเพศชายและหญิงยังไง และถ้าเปรียบอัตลักษณ์นั้นเป็นวัตถุหนึ่งชิ้นมันจะหน้าตาเป็นยังไง เช่น ฟองน้ำสีชมพูนุ่มๆ สื่อถึงความอ่อนโยนของผู้หญิง บล็อกสามเหลี่ยมที่มีตะปูตอกอยู่สื่อถึงความแข็งกร้าวของผู้ชาย หรือบล็อกเหลี่ยมๆ เรียบๆ สื่อถึงความเย็นชา ฯลฯ

จากนั้นสปายเทกก็ผลิตวัตถุแทนอัตลักษณ์เหล่านี้ออกมาจริงๆ ผู้เข้าร่วมจะได้เข้ามาสัมผัสและมีประสบการณ์กับวัสดุหลายรูปทรงหลายพื้นผิว จากนั้นทุกคนจะได้นำวัสดุต่างๆ เหล่านี้มาออกแบบ ‘totem’ แสดงถึงความเป็นชายและหญิงตามภาพจำที่สังคมกำหนด และสุดท้าย พวกเขาจะได้ลองออกแบบโทเทมที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของตัวเองอีกหนึ่งชิ้น

เซอร์ไพรส์เกิดขึ้นกับหลายคนในช่วงที่ทำชิ้นสุดท้ายนี่แหละ เพราะแทบไม่มีโทเทมของใครเลยที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มักมีชิ้นส่วนของอีกเพศเจือปน ผู้หญิงบางคนก็นิยามตัวเองด้วยบล็อกไม้ตอกตะปู ในขณะเดียวกันก็ไม่ผิดถ้าผู้ชายจะบอกว่าตัวเองมีส่วนประกอบของฟองน้ำสีชมพู เพราะอัตลักษณ์ทางเพศของเราไม่ได้ตายตัวอย่างที่สังคมบอก และที่สำคัญ เพศในโลกนี้ไม่ได้มีแค่สอง หากแต่มีความเป็นไปได้มากมายมหาศาล เช่นเดียวกับโทเทมที่มีหน้าตาแตกต่างกันไปได้เป็นพันๆ แบบ

เพศศึกษา
เพศศึกษา
เพศศึกษา

นอกจากผลลัพธ์ที่ออกมาตอนสุดท้ายจะน่ารัก น่าเอากลับไปตั้งที่บ้าน ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พูดคุยกับตัวเองระหว่างออกแบบโทเทมคือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เพราะมันคือโอกาสที่แต่ละคนจะได้ออกแบบชุดความคิดที่มีต่ออัตลักษณ์และเพศสภาพเสียใหม่ และเมื่อแต่ละคนมีมุมมองเรื่องเพศที่เปิดกว้างขึ้น การจะเปลี่ยนมุมมองเรื่องเพศของสังคมก็คงเป็นไปได้

เพราะร่างกายนี้เป็นของเราหาใช่ใครอื่น สุดท้ายแล้ววงสนทนาเรื่องเซ็กซ์ที่เปิดกว้างหรืออึดอัดคับแคบในแต่ละสังคมก็มีพื้นฐานมาจากความคิดเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ของสังคมนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ สิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง สิทธิที่เราจะพูดเรื่องนี้ได้ตราบใดที่ไม่ไปทำร้ายคนอื่น สิทธิที่จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ และสิทธิที่จะไม่ถูกล่วงเกินจากคนอื่น ไปจนถึงสิทธิที่จะเลือกวิถีทางเพศในแบบของตัวเอง 

เมื่อมองกลับมายังบ้านเรา เราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงห้องเรียนวิชาเพศศึกษาได้ด้วยการออกแบบบอร์ดเกมหรือสื่อการสอนสนุกๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจต้องเริ่มจากออกแบบประเทศให้คนเข้าใจและเชื่อในสิทธิมนุษยชนเสียก่อน

 

อ้างอิง

bbc.com

calvertjournal.com

domkaspytek.com

eroedu.eu

periodgame.com

AUTHOR