Jess Markt โค้ชวีลแชร์บาสเกตบอลผู้เชื่อว่ากีฬาเปลี่ยนชีวิตผู้พิการในพื้นที่สงครามได้

Highlights

  • Jess Markt คือที่ปรึกษาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ด้าน Disabilities, Sport and Inclusion และโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงอัฟกานิสถาน
  • เขาเริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชโปรแกรมวีลแชร์บาสเกตบอลจากการตอบรับอีเมลที่ส่งมาจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2009 และทำงานร่วมกับ ICRC จนตอนนี้นักกีฬาทีมชาติอัฟกานิสถานทั้งชายและหญิงประสบความสำเร็จทั้งในแง่การแข่งขันและชีวิต นอกจากนี้เจสยังนำโปรแกรมกีฬาไปสร้างความมั่นใจให้กับผู้พิการในประเทศอื่นๆ ให้เห็นคุณค่าและมีความสุขกับชีวิตตัวเองมากขึ้น
  • หลังจากทุ่มเททำงานตรงนี้มาสิบปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเจสคว้ารางวัล Humanitarian Hero Award 2019 ซึ่งมอบให้บุคคลที่มีความโดดเด่นในแง่การทำงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาชุมชน
  • เขามีความฝันว่าวันหนึ่งจะได้เห็นสังคมที่เท่าเทียมและได้รับโอกาสแบบเดียวกัน ผู้พิการไม่ถูกจำกัดสิทธิหรือลิดรอนศักยภาพความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ฉันยังจำความตื่นเต้นนั้นได้ดี ภาพของนักกีฬาที่ใช้พลังแขนบังคับรถเข็นและโยนลูกบาสลงห่วงตาข่าย พร้อมกับเสียงเชียร์ดังตลอดการแข่งขันกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลชิงแชมป์เอเชีย-โอเชียเนีย รอบคัดเลือกพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ในวันที่ 2 ธันวาคม ที่ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก เมืองพัทยา

วันนั้นมีนักกีฬาจากหลายชาติตบเท้าเข้าร่วมการแข่งขันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือทีมชาติอัฟกานิสถาน ประเทศที่นับว่าเป็นพื้นที่สงคราม การสู้รบ และความขัดแย้ง อันดับต้นๆ ของโลก

นักกีฬาในทีมหลายคนล้วนเป็นเหยื่อสงครามภายในประเทศที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือสวัสดิการจากรัฐ ทั้งยังเคยรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการในครอบครัวและสังคม จนกระทั่งได้รู้จักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล และชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยนไป

บุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการวีลแชร์บาสเกตบอลในอัฟกานิสถานคือ Jess Markt ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ด้าน Disabilities, Sport and Inclusion และโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงอัฟกานิสถาน

ฉันใช้เวลาช่วงก่อนการแข่งขันพูดคุยถึงเส้นทางการเดินทางอันแสนยาวไกลของเขา ซึ่งไม่ใช่แค่ระยะทางกว่าหมื่นแสนกิโลเมตรที่เขาดั้นด้นไปทำงานตามประเทศต่างๆ แต่ยังรวมถึงระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ทุ่มเททำงานตรงนี้จนผลิดอกออกผล

1

เดิมทีเจสอาศัยอยู่ในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นนักกีฬากรีฑาดาวรุ่ง ก่อนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่ออายุ 19 ปี ส่งผลให้เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงอกลงมา เขารู้สึกหมดหวังกับเส้นทางด้านกีฬาของตัวเอง หลังจากเหตุการณ์นั้นเจสต้องปรับตัวกับการใช้รถเข็นและพักรักษาตัวอยู่นานถึง 3 ปีกว่าจะกลับไปเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย ทว่าเขาก็ยังรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปอยู่ดี จนกระทั่งได้ไปลองเล่นบาสเกตบอลกับสมาคมวีลแชร์บาสเกตบอลท้องถิ่น และค้นพบว่ามันมีส่วนช่วยเขามากทั้งทางร่างกายกับจิตใจ เขาจึงหันมาทุ่มเทให้เจ้าลูกกลมๆ สีส้มนี้

9 ปีต่อมาในปี 2009 ขณะที่เจสเล่นวีลแชร์บาสเกตบอลให้กับทีมของสมาคมฯ เขาได้รับอีเมลจากทีมวีลแชร์บาสเกตบอลที่เพิ่งก่อตั้งในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถานซึ่งอยากได้โค้ชที่มีประสบการณ์มาสอนพวกเขาให้รู้จักกีฬาประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากพวกเขาเพิ่งรู้จักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลได้ไม่นาน

แม้ไม่เคยเป็นโค้ชมาก่อน ไม่เคยเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในภาวะสงคราม และแทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศอัฟกานิสถาน แต่เจสมองว่านี่คือโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต

“ตอนได้รับอีเมลผมมีความรู้สึกแรกเหมือนคนอื่นๆ ว่าอัฟกานิสถานน่ากลัวมาก โดยเฉพาะในช่วงปีนั้นที่ผมอยู่อเมริกา แต่ผมลองคิดถึงมันอยู่หลายวัน ก่อนหน้าที่จะพิการผมเป็นนักกีฬามาก่อน แต่มาเดินไม่ได้เพราะประสบอุบัติเหตุ แล้วผมก็ค้นพบว่ากีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลมีส่วนช่วยฟื้นฟูผมให้กลับไปเป็นตัวเองอีกครั้ง ได้กลับไปเล่นกีฬา และมีสภาพแวดล้อมการแข่งขันร่วมกับทีม

“ผมเห็นภาพกลุ่มผู้พิการที่เป็นผู้ชายในอีเมล พวกเขาดูไม่ค่อยมีความสุข ก้มหน้า ไม่มีรอยยิ้มเลย นั่นทำให้ผมจินตนาการได้ว่าการเป็นผู้พิการในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานต้องเป็นชีวิตที่ยากมากแน่ๆ และถ้าผมไม่คว้าโอกาสสอนพวกเขาเอาไว้ไม่แน่ว่าอาจจะไม่มีใครทำเลย เพราะทุกคนคงคิดเหมือนที่ผมคิดว่า บ้าแน่ๆ ถ้าตัดสินใจไปอัฟกานิสถาน ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้ทำอะไรสำคัญขนาดนี้ แม้จะดูบ้ามากก็ตาม แต่ผมจะหาทางทำให้สำเร็จและกลับมาที่อเมริกา”

ในช่วงปี 2011 เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ICRC องค์กรที่จัดตั้งศูนย์กายภาพบำบัดในประเทศอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ประสบภาวะสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งพวกเขามีความสนใจในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือฟื้นฟูร่างกายผู้พิการ ทั้งสองจึงร่วมงานกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา

2

โปรแกรมวีลแชร์บาสเกตบอลในอัฟกานิสถานค่อยๆ เติบโตขึ้นจากผู้เล่นจำนวน 30 คน เป็น 600 คน และมีผู้เล่นหญิงกว่า 150 คน ทั้งยังมีการจัดตั้งสหพันธ์ทีมวีลแชร์บาสเกตบอลชายใน 10 จังหวัดกับทีมผู้เล่นหญิงอีก 4 จังหวัด เพื่อร่วมเข้าแข่งขันชิงแชมป์ระดับชาติ 2 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาทีมชาติทั้งชายและหญิง เพื่อเป็นตัวแทนเดินทางไปแข่งขันต่างประเทศ เรียกว่ามาไกลมากจากจุดเริ่มต้น

“มันคือประสบการณ์ที่ผมไม่คาดฝันมาก่อนเพราะทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสิบปี ซึ่งฟังดูอาจเป็นเวลาที่ยาวนาน แต่สำหรับการพัฒนาโปรแกรมวีลแชร์บาสเกตบอลให้สำเร็จได้ในระดับสากลตามธรรมดาแล้วต้องใช้เวลานานกว่านั้น ทีมอัฟกานิสถานได้ไปแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่น ไทย และอิตาลี ในช่วงแรกเริ่มผมโฟกัสแค่การโค้ชเพื่อสอนพื้นฐานพวกเขามากกว่า ไม่ได้มีความฝันยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นเลย แต่หลังจากสอนพวกเขาได้หนึ่งสัปดาห์ผมก็รู้ว่าสามารถสอนพวกเขาได้มากกว่านั้น และพวกเขาสามารถเรียนรู้วิธีการเล่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจริงจัง

“นั่นทำให้ผมมีแพลนกลับมาพัฒนาการเล่นกีฬาประเภทนี้อย่างต่อเนื่องในอัฟกานิสถาน ในแต่ละปีวิสัยทัศน์ของผมก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น น่าจะตอนปีที่ 2-3 นี่แหละที่พวกเราเริ่มคิดถึงเรื่องทีมชาติ และไม่กี่ปีหลังจากนั้นพวกเราก็ไปแข่งขันตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

“ตอนนี้อัฟกานิสถานมีโปรแกรมวีลแชร์บาสเกตบอลมา 10 ปี และได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่นที่มีโปรแกรมนี้มา 30-40 ปี แสดงให้เห็นเลยว่าพวกเขามีใจรักกีฬาอยู่แล้ว แต่กีฬาหลายชนิดไม่สามารถเล่นได้ในประเทศ โดยเฉพาะผู้พิการที่แทบไม่ได้เล่นกีฬาเลย นี่จึงเป็นโอกาสดี เพราะแค่คุณให้โอกาสเล็กๆ เพียงครั้งเดียว พวกเขาก็พร้อมกระโจนใส่และทำมันไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม”

นอกจากทีมวีลแชร์บาสเกตบอลชายที่ประสบความสำเร็จจนติดอันอับสูงๆ ในหลายการแข่งขันแล้ว หลักไมล์สำคัญที่ถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของเจสและวงการกีฬาชนิดนี้ของอัฟกานิสถานคือ ทีมวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงทีมแรกของประเทศ

ในปี 2012 ขณะที่ลีกการแข่งขันวีลแชร์บาสเกตบอลชายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับผู้หญิงแล้วยังไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าครอบครัวหรือแม้แต่ตัวผู้หญิงจะเปิดรับความคิดนี้ได้ขนาดไหน ช่วงแรกแทบไม่มีนักกีฬาหญิงอยู่ในประเทศเลย และยิ่งยากเป็นทวีคูณเมื่อพูดถึงสังคมผู้พิการ

แต่ถึงกระนั้นยังมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ อาสาเข้ามาเรียนรู้กีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีคนนอกมองเห็นพวกเธอฝึกซ้อมกีฬา ด้วยเหตุผลที่เกรงว่าพวกเธอหรือครอบครัวจะโดนสังคมพิพากษาที่ทำสิ่งที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานสังคม

พวกเขาตกลงใช้วิธีการตั้งฉากล้อมรอบสนามเพื่อป้องกันสายตาจากคนอื่น เจสแทบไม่เชื่อว่าตัวเองจะได้สอนนักกีฬาหญิงในประเทศนี้ หลังจากนั้น 1 ปีพวกเธอมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากพอ จึงตัดสินใจบอกเขาให้เอาฉากกั้นลง เพราะอยากให้คนทั่วไปได้เห็นเวลาพวกเธอเล่นกีฬา และหวังว่าผู้หญิงและเด็กสาวผู้พิการที่ได้เห็นกีฬาชนิดนี้จะอยากมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

“จากเมื่อก่อนที่ไม่มีใครสนใจ ตอนนี้พวกเธอออกทีวีตลอดเวลา แข่งทัวร์นาเมนต์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และไม่ได้คิดมากกับเรื่องพวกนี้อีกต่อไป เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับตัวพวกเธอเองได้เปลี่ยนไปหมดแล้วจากช่วงปีแรก เหมือนกับกลุ่มผู้เล่นชายที่เคยถูกจำกัดบทบาทในสังคม ตอนนี้พวกเขาคือนักกีฬา พวกเขาทำอะไรก็ได้ พวกเขาภูมิใจและสมควรที่จะได้ทำอะไรที่เคยฝันว่าอยากทำ และอยากให้คนอื่นตระหนักถึงความฝันของพวกเขาเช่นเดียวกัน”

นอกจากนี้เจสยังสานต่อความตั้งใจนี้ด้วยการพัฒนาลีกวีลแชร์บาสเกตบอลสำหรับผู้พิการในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีความท้าทาย เช่น ซูดานใต้ ซีเรีย ปาเลสไตน์ และโคลอมเบีย เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเขาไม่ใช่แค่การสอนกีฬาให้กับผู้พิการ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้พวกเขาตั้งแต่ตอนตัดสินใจเดินทางไปที่อัฟกานิสถาน

“ผมอยากทำให้พวกเขารู้ว่าพวกเขามีความสามารถมากกว่าที่เคยได้ยินจากคำคนอื่น ดังนั้นผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เห็นใครสักคนนั่งวีลแชร์และเดินทางจากอีกครึ่งโลกอย่างอเมริกาไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานน่าจะทำให้เขาคิดว่าตัวเองก็ทำอะไรได้มากกว่าที่มีคนบอกให้ทำได้เช่นกัน นั่นคือไอเดียลางๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะได้จากโปรแกรมนี้”

ทว่าเมื่อเจสฝึกสอนและกลับไปที่นั่นทุกๆ ปี เขาก็เห็นพัฒนาการของนักกีฬาที่เข้มแข็งขึ้น จากที่เคยเอาแต่ก้มหน้าหลบตาพวกเขากลับนั่งตัวตรง มีความมั่นใจ และกล้าสวมเสื้อแขนสั้นเพื่อโชว์กล้ามเนื้อ เพราะภูมิใจในร่างกายตัวเอง

“พัฒนาการนี้เกิดขึ้นกับนักกีฬาทุกประเทศที่เราทำงานด้วย ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดจากการเล่นกีฬาคือมันได้ให้แสงแห่งความหวังกับพวกเขาและยังให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นนักกีฬาด้วย บางคนเกิดแพสชั่นและตัดสินใจว่าอยากเป็นนักกีฬาที่เก่งจนได้มาแข่งทัวร์นาเมนต์ในตอนนี้ ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ชอบกีฬาและอยากลองเล่นดู แต่จริงๆ แล้วพวกเขาชอบศิลปะ คอมพิวเตอร์ หรือดนตรี ซึ่งการเล่นกีฬาจะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่าตัวเองทำสิ่งนี้ได้ไม่ต่างจากคนอื่น เพราะถ้าฉันเล่นบาสได้ ฉันเห็นผู้ร่วมทีมคนอื่นทำได้ดี ฉันเองก็น่าจะประสบความสำเร็จกับพาร์ตอื่นๆ ของชีวิตที่ฉันมีแพสชั่นได้เหมือนกัน”

3

จากที่ฟังเขาเล่าหลายประเทศที่เจสเดินทางไปทำงานล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งนั้น ฉันตั้งข้อสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เขาเลือกไปยังสถานที่เหล่านั้นทั้งๆ ที่อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

โค้ชวัย 40 เล่าว่าตนรู้สึกปลอดภัยเสมอเมื่อเดินทางร่วมกับ ICRC ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย แม้มีบางครั้งที่สัมผัสได้ถึงสถานการณ์อันตราย แต่ก็ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่ตกเป็นเป้ามาก่อน

“ตอนนี้ความท้าทายในอัฟกานิสถานคือเราไม่สามารถคาดเดาถึงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น คุณอาจเจอระเบิดพลีชีพตรงไหน เวลาไหนก็ได้ ระหว่างที่ขับรถข้ามเมืองผมไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นตอนนั้น หรืออีก 2 บล็อก หรืออีก 5 กิโลเมตรถัดไป ความรู้สึกลึกๆ ในใจเราจะบอกให้มองไปรอบๆ และหวังว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทว่าท้ายที่สุดแล้วคุณก็จะชินกับมันไปเอง เพราะถ้ามัวแต่คิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลาคุณจะประสาทเสีย เพราะเอาแต่กลัวว่าสิ่งร้ายๆ จะเกิดขึ้น”

จากประสบการณ์การได้ไปพำนักและลงพื้นที่จริงเหล่านี้นี่เองทำให้เจสพบเห็นความเป็นอยู่ทั่วไปและทราบถึงข้อมูลประเด็นอื่นๆ ของสังคมผู้พิการในประเทศนั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากรัฐ การดูแลรักษาพยาบาล การให้โอกาส หรือการศึกษา

เขาเล่าว่าสถานการณ์ของผู้พิการในหลายๆ ประเทศยังไม่ดีขึ้นนัก ยกตัวอย่างซูดานใต้ที่มีปัญหาความขัดแย้งกันเองในพื้นที่ เมื่อเปิดฉากใช้อาวุธโจมตีกันผู้พิการมักเป็นฝ่ายถูกทอดทิ้งเสมอ แม้จะมีกฎประกาศจาก UN เรื่องการปกป้องไม่ให้ผู้พิการตกเป็นเหยื่อในสงครามแล้วก็ตาม

ด้วยความที่ทำงานตรงนี้มาเป็นเวลากว่าสิบปีและสถานการณ์เรื่องสิทธิผู้พิการก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ทำให้เจสยังมุ่งมั่นและพยายามส่งเสริมเรื่องกีฬามีอยู่ 2 เหตุผลหลักๆ

“หนึ่งคือความต้องการส่วนตัว ผมรู้สึกวิเศษมากที่ได้ทำงานที่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้ทำ ตอนเริ่มทำสิ่งนี้ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันจะกลายมาเป็นงานได้ ผมมีโอกาสสอนทีมวีลแชร์บาสเกตบอลครั้งหนึ่งในชีวิต มาทำงานให้ ICRC และจัดโปรแกรมนี้ให้หลายพื้นที่ทั่วโลก ผมไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสได้ทำสิ่งนี้ ซึ่งตอนนี้มันเกิดขึ้นจริงแล้ว ผมจะทำมันให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“เหตุผลที่สองคือมันเป็นการให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากในโลกนี้ ผมไม่ได้บอกว่ามีผมคนเดียวที่ทำสิ่งนี้ ที่จริงยังมีอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง อย่างโค้ชจากกัมพูชาที่นำความรู้ไปสอนประเทศอื่นๆ แต่ผมอยากสร้างความมั่นใจว่านี่จะเป็นโปรแกรมที่ยั่งยืนและไปได้ไกลถึงทุกคนเท่าที่จะสามารถทำได้ ผมจะทำอะไรก็ตามที่ทำได้เพื่อให้มันเกิดขึ้นต่อไป”

4

จากระยะเวลากว่าสิบปีที่เจสทุ่มเททำงานและมีส่วนในการเปลี่ยนชีวิตของผู้คนจำนวนมากผ่านการเป็นโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอล ทำให้เขากลายเป็นนักมนุษยธรรมผู้โดดเด่นที่แท้จริง ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเขาเพิ่งได้รับรางวัล Humanitarian Hero Award 2019 ซึ่งมอบให้บุคคลที่มีความโดดเด่นในแง่การทำงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาชุมชน

“มันน่าสนใจมากที่ผมพบว่าตัวเองได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลและเข้ารอบไฟนอลลิสต์ ถือเป็นข่าวดีมากเลยเพราะผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลจากสิ่งที่ทำอยู่ และเมื่อผมได้ยินชื่อตัวเองประกาศออกมาก็รู้สึกว่าไม่ใช่แน่ๆ เพราะอีก 3 คนที่ได้รับการเสนอชื่อก็ทำอะไรที่สุดยอดมากๆ มานานแล้ว ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับการเสนอชื่อร่วมกับพวกเขา ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

“ผู้คนที่ตัดสินให้ผมคงคิดว่าสิ่งที่ผมทำน่าจะสำคัญและมีคุณค่ามากพอ นอกจากนี้ยังสะท้อนความตั้งใจของ ICRC ที่อยากขยายโอกาสในการช่วยเหลือผู้พิการด้วย เพราะพวกเขาไม่เคยมีโปรแกรมกีฬามาก่อน พอเห็นผมเข้ามาทำโปรแกรมกีฬาในอัฟกานิสถานซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาทำมาก่อนอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้นไม่กี่ปีองค์กรก็คิดว่าควรทำโปรแกรมแบบนี้ที่ศูนย์กายภาพทุกแห่ง”

เหมือนกับที่เราเคยได้ยินกันเสมอว่า อะไรก็ตามที่เกิดจากความร่วมมือย่อมไปได้ไกลและขยายวงกว้างได้มากกว่าการทำคนเดียว ไม่ต่างกัน โปรแกรมวีลแชร์บาสเกตบอลที่เจสทำคงไม่สามารถดำเนินมาได้ถึงตอนนี้ถ้าขาดความร่วมมือจากคนอื่นๆ

“ถ้าผมทำงานคนเดียวมันคงไม่มีทางยิ่งใหญ่ขนาดนี้หรอก แต่ด้วยความที่ผมไปเป็นคนแรกและกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาว่า ICRC จะสนับสนุนจริงๆ โดยให้ผมเป็นที่ปรึกษาของโปรแกรมกีฬาในอัฟกานิสถานและหลายๆ ประเทศ มันเลยมีอิมแพกต์ระดับโลกและเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก ผมเลยคิดว่ารางวัลนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ควรได้รับคนเดียว ทว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ ตั้งแต่เพื่อนร่วมงาน นักกีฬา และตัวองค์กรด้วย ที่สนับสนุนและเห็นความสำคัญของมัน จนทำให้กลายเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้”

เจสยังบอกอีกว่าถ้าอยากให้โปรแกรมกีฬาเหล่านี้มีความยั่งยืนในประเทศใดประเทศหนึ่งจริงๆ ควรมีองค์กร หน่วยงานในประเทศ รวมถึงรัฐบาล ให้การสนับสนุนระยะยาวด้วย พร้อมกับยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่สร้างองค์กรส่วนบุคคลเพื่อกองทุนวีลแชร์บาสเกตบอลเมื่อ 5 ปีก่อน จนตอนนี้มีจำนวนนักกีฬามากกว่าอัฟกานิสถานแล้ว

“แล้วในแง่ภาพรวมสถานการณ์ของผู้พิการทั่วโลกปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนบ้างไหม” ฉันลองขยับออกมามองในมุมกว้างและตั้งคำถามถึงประเด็นความเป็นอยู่และชีวิตโดยรวมของคนกลุ่มนี้บ้าง

“แค่นิดเดียวครับ” เจสตอบแทบจะทันที “บางคนมีโอกาสมากขึ้นก็จริงแต่ไม่ใช่ทุกคน หนทางยังอีกยาวไกล ผมหมายถึงทุกประเทศเลยนะ แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วก็ตาม ในแง่การซัพพอร์ตผู้พิการยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่ ถ้าแบ่งเป็นบันได 10 ขั้น ประเทศที่เจริญแล้วสถานการณ์น่าจะขั้น 7-8 และหลายประเทศยังอยู่ที่ขั้น 0-1 แต่ตราบใดที่เราใส่ใจและพัฒนาตรงนี้อย่างน้อยๆ ทุกปี ผมคิดว่าในสิบปีนี้เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้พิการในประเทศเหล่านี้”

ก่อนถึงเวลาที่เจสจะต้องแยกตัวไปประจำการอยู่ข้างสนามแข่ง ฉันถือโอกาสถามถึงความมุ่งหวังของเขาในฐานะผู้พิการคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ทั้งในประเทศที่เจริญแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

“ผมคิดว่าสิ่งที่ผมอยากเห็นที่สุดน่าจะเป็นหนทางอีกยาวไกลมาก แต่ผมอยากเห็นสิ่งที่ผมพูดถึง นั่นคือโลกที่สังคมผู้พิการไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิหรือลิดรอนศักยภาพ ไม่ว่าคุณอาศัยอยู่ที่ไหนคุณมีโอกาสแบบเดียวกับที่พี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือใครก็ตามพึงมี ไม่ใช่แค่ด้านกีฬา การงาน การศึกษา แต่รวมไปถึงทุกอย่าง บรรทัดฐานสังคมที่กำหนดว่าถ้าคุณเป็นคนปกติแล้วอยากแต่งงานกับผู้พิการ ครอบครัวคุณจะไม่อนุญาต มลทินเหล่านี้ควรหายไป เพื่อที่ทุกคนจะได้มีโอกาสตระหนักถึงความเป็นมนุษย์เหมือนกัน”

นาฬิกาในสนามแข่งบอกเวลาพักการแข่งขัน นักกีฬาทั้งสองฝั่งเข็นวีลแชร์ไปวางกลยุทธ์กับโค้ชข้างสนาม ฉันถือโอกาสเดินออกไปข้างนอกเพื่อสูดอากาศหายใจ

ท้องฟ้ายามเย็นนั้นสวยงามกว่าที่เคย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!