ผลงานที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของ Kobe Bryant

Highlights

  • Kobe Bryant คือนักบาสเกตบอลระดับตำนานของ NBA ผู้ล่วงลับจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกบนภูเขาเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
  • โคบี้เป็นมากกว่านักบาสทั้งในแง่การเป็นแรงบันดาลใจและแง่อาชีพ เพราะเขาเองทำงานสายอื่นที่ไม่ใช่กีฬาบาสเกตบอลเยอะพอสมควร หนึ่งในนั้นคืองานในวงการความคิดสร้างสรรค์
  • โคบี้มีส่วนช่วยกำหนดทิศทางความคิดสร้างสรรค์ของ Dear Basketball สำหรับเขามันไม่ใช่แค่แอนิเมชั่นธรรมดา แต่คือบทบันทึกการเดินทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก วัยรุ่น จนเป็นตำนาน

Kobe Bryant เป็นมากกว่านักบาส

คำอาลัยจากผู้คนนับล้านคือสิ่งยืนยันว่าเขามีอิทธิพลต่อโลกมากแค่ไหน โคบี้เป็นมากกว่านักบาสทั้งในแง่การเป็นแรงบันดาลใจและแง่อาชีพ เพราะเขาเองทำงานสายอื่นที่ไม่ใช่กีฬาบาสเกตบอลเยอะพอสมควร หนึ่งในนั้นคืองานในวงการความคิดสร้างสรรค์

โคบี้ก็เหมือนนักกีฬาที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน เขาถูกทาบทามให้เป็นพรีเซนเตอร์และส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาจากแบรนด์ระดับโลก เช่น Nike, McDonald’s, Turkish Airlines, ESPN ฯลฯ

งานบางชิ้นโคบี้มีส่วนร่วมสร้างผลงานในตำแหน่งครีเอเตอร์และโปรดิวเซอร์ ทำให้เราได้เห็นความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตำนานนักบาสเกตบอล สะท้อนปรัชญา ความมุ่งมั่น และความรัก ที่โคบี้มีต่อบาสเกตบอล กีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขามามากกว่า 20 ปี

 

Retirement Letter
DDB USA

แฟนบาสทีม Los Angeles Lakers คือคนสำคัญของโคบี้ เมื่อเขากำลังจะประกาศข่าวสำคัญ นั่นคือการเลิกเล่นกีฬาอาชีพ เขาก็มีวิธีที่จะบอกชาว Lakers Nation ในแบบของเขาเอง

โคบี้ร่วมกับเอเจนซี DDB USA เขียนจดหมายที่เรียกว่า Retirement Letter ใส่ไว้ใต้ที่นั่งในสนาม STAPLES Center ในคืนการแข่งขันวันที่ 29 พฤศจิกายน 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาตั้งใจจะประกาศข่าวการรีไทร์ แต่เดิมโคบี้อยากบอกข่าวสำคัญนี้กับแฟน Lakers ที่มาชมเกมคืนนั้นเป็นกลุ่มแรก แม้สุดท้ายข่าวการรีไทร์จะไปปรากฏในสื่อออนไลน์ก่อน แต่มันก็กระตุ้นให้แฟนๆ แห่ไปชมเกมสำคัญที่สนาม พร้อมกับได้จดหมายฉบับนี้เป็นของที่ระลึก

การเลือกบอกข่าวด้วยจดหมายในยุคออนไลน์แบบนี้เป็นวิธีที่มีเสน่ห์มาก โคบี้เป็นคนเขียนถ้อยคำบนจดหมายด้วยตัวเอง มันจึงมีมูลค่ามากสำหรับแฟน Lakers ทุกคน

 

DETAIL – From the Mind of Kobe Bryant
Granity Studios

DETAIL คืองานที่ทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจความเป็นโคบี้มากที่สุด

เบื้องหลังความสำเร็จของนักบาสเจ้าของฉายา Black Mamba คือการทุ่มเวลาศึกษาการเล่นทั้งของตัวเองและคู่แข่ง โคบี้ดูวิดีโอการแข่งย้อนหลังบ่อยมาก เขาเชื่อว่ามันเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยพัฒนาตัวเอง หลังรีไทร์โคบี้อยากแชร์ความคิดที่เขามีเมื่อดูวิดีโอการแข่งให้นักกีฬารุ่นหลังได้ศึกษาต่อ โคบี้เลยทำเป็นวิดีโอคอนเทนต์ชื่อ DETAIL ออกอากาศในช่องสตรีมมิง ESPN+ ของช่องกีฬา ESPN

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนบาสแบบฮาร์ดคอร์ เนื้อหารายการตลอด 22 นาทีก็นับว่าน่าเบื่อและเนิร์ดมาก เพราะมันไม่มีอินโทร ไม่มีช่วงพัก ไม่มีการตัดต่อที่หวือหวา มีแต่วิดีโอการเล่นและเสียงพากย์ของโคบี้ที่เล่าว่าเขาคิดยังไงต่อการเล่นแต่ละ play เหมือนโคบี้มานั่งดูกับเราด้วยจริงๆ เนื้อหาช่วงแรกจะเป็นวิดีโอวิเคราะห์การแข่งของเขาเอง หลังจากนั้นมีการทำเนื้อหาเพิ่มโดยวิเคราะห์การเล่นของนักบาสคนอื่นที่โดดเด่นในปัจจุบัน เช่น Stephen Curry, Kevin Durant, LeBron James ฯลฯ โคบี้ไม่ได้ทำเพื่อเอาแต่ติ แต่ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาจะเก่งขึ้นถ้าปรับรายละเอียดการเล่นบางจุด ซีซั่นต่อมาโคบี้ยังต่อยอดด้วยการทำสิ่งนี้กับกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยให้ Peyton Manning ควอร์เตอร์แบ็กชื่อดังมาเป็นคนพากย์

การให้นักกีฬามาวิเคราะห์การเล่นในรายการโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำรายการบนช่องโทรทัศน์มีแอร์ไทม์จำกัด ทำให้สารที่เป็นแก่นจริงๆ สื่อออกมาไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร โคบี้ใช้ข้อดีของการทำรายการบนช่องออนไลน์มาตอบ pain point จุดนี้ แม้การทำรายการด้วยรูปแบบเรียบง่าย ตัดสิ่งรบกวนออก อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการทำรายการบนช่องสตรีมมิงที่ต้องดึงความสนใจของคนดู ชิงเวลามาให้มากที่สุด แต่โคบี้เลือกวิธีนี้เพราะอยากให้ความรู้ เขาเชื่อว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ

 

The Punies – A Youth Sports Podcast Created by NBA Legend Kobe Bryant
Granity Studios

โคบี้เชื่อว่าบาสเกตบอลสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้เด็กได้ เขาเล่ามันอย่างเป็นรูปธรรมในพ็อดแคสต์ชื่อ The Punies

The Punies วางตัวเองว่าเป็นรายการพ็อดแคสต์กีฬาสำหรับเด็ก เนื้อหาจะเล่าเนื้อเรื่องกึ่งนิทานเกี่ยวกับเด็กชายชื่อ Pete ที่มักเจอเรื่องผิดหวังในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ตัวเขาไม่ยอมแพ้และลุกขึ้นใหม่ได้ทุกครั้ง แต่ละตอนก็จะสอดแทรกบทเรียนชีวิตที่โคบี้ได้จากการเล่นบาสเกตบอล เช่น ความทุ่มเท การทำงานหนัก การเสียสละ แทรกแบบเนียนๆ ไม่ยัดเยียด โคบี้ทำ The Punies ให้เหมือนดูการ์ตูนเช้าวันเสาร์ (พ็อดแคสต์ก็ออนไลน์ตอนใหม่ทุกเช้าวันเสาร์เช่นกัน) กลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กที่ชอบเล่นกีฬาอายุประมาณ 6-9 ปี รองลงมาคือพ่อแม่และโค้ชทีมกีฬาเด็กๆ ที่สามารถใช้รายการนี้สอนเด็กได้เช่นกัน

โคบี้เชื่อว่าถ้าสอนเรื่องการใช้ชีวิตควรเริ่มตั้งแต่ตอนเด็ก แต่ก็ควรเป็นการสอนที่เด็กสนุกไปกับมันด้วย วิธีนำเสนอของ The Punies ทำให้เด็กชอบและติดงอมแงม มันเป็นการนำบทเรียนชีวิตที่เขาได้จากบาสเกตบอลมาบอกต่อได้อย่างลงตัว

 

Dear Basketball
Verizon
Rogers & Cowan Los Angeles

แฟนโคบี้รู้จักแอนิเมชั่นชิ้นนี้ดีอยู่แล้ว ความเจ๋งของ Dear Basketball สำหรับเรามีอยู่ 2 ข้อ

หนึ่งคือวิสัยทัศน์ของโคบี้ที่อยากให้ Dear Basketball เป็นแอนิเมชั่น 2 มิติแบบสเกตช์วาดมือ เดิมทีมันเป็นบทกวีที่โคบี้เขียนลงในเว็บไซต์ The Players’ Tribune เนื้อหาค่อนข้างส่วนตัวและ emotional มาก การเล่าเป็นแอนิเมชั่น 2 มิติน่าจะเข้ากับเรื่องมากกว่า ความไม่เนี้ยบหรือความไม่สมบูรณ์แบบของภาพยังสะท้อนเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย

โจทย์ข้อนี้ยังถูกต่อยอดเพิ่มโดย Glen Keane นักทำแอนิเมชั่นระดับโลกที่รับงานนี้โดยท้าทายตัวเองว่าจะวาดมันด้วยดินสอและปากกาเท่านั้น Dear Basketball ใช้เวลาวาดอยู่ 9 เดือนเต็ม แต่ก็คุ้มค่าเพราะสุดท้ายมันกวาดรางวัลเวทีประกวดแอนิเมชั่นจำนวนมาก รวมถึงรางวัลออสการ์ปี 2018 สาขา Best Animated Short Film อีกด้วย

ความเจ๋งข้อสองคือ การพีอาร์งานชิ้นนี้แทบไม่ได้ใช้ความเป็นคนดังของโคบี้มาช่วยเลย ทีมงานของ Rogers & Cowan Los Angeles ที่รับผิดชอบการโปรโมต อยากส่งหนังเข้าชิงออสการ์ เลยไปศึกษาวิธีการเลือกหนังของคณะกรรมการสาขานี้ในปีก่อนๆ จนตกผลึกว่าพวกเขาควรดันหนังให้เป็นงานที่สะท้อนแพสชั่นส่วนตัวของผู้สร้างหนัง โชว์การคอลแล็บกันระหว่างโคบี้และเกล็น ให้มีความเป็นหนังอิสระมากกว่าจะเป็นงานของเซเลบ Dear Basketball เริ่มโปรโมตในสื่อที่เกี่ยวกับแอนิเมชั่นก่อนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นค่อยๆ ลงในสื่อที่ใหญ่ขึ้นอย่างระมัดระวัง จนประสบความสำเร็จในที่สุด

โคบี้มีส่วนช่วยกำหนดทิศทางความคิดสร้างสรรค์ของ Dear Basketball สำหรับเขามันไม่ใช่แค่แอนิเมชั่นธรรมดา มันคือบทบันทึกการเดินทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก วัยรุ่น จนเป็นตำนาน ที่แม้ตัวจากไปแต่ยังอยู่ในใจทุกคน

AUTHOR