มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม : สังคมที่ความหลากหลายกลายเป็นสิ่งที่รัฐเกลียดชัง

Highlights

  • มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม’ คือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของคนสามัญธรรมดาที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญ
  • เล่มนี้พาเราไปรู้จักกับสังคมเกาหลีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านเรื่องสั้น 7 เรื่องคัดสรรจากนิตยสาร Koreana นิตยสารรายสามเดือนที่ครอบคลุมเนื้อหาอันหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น และวรรณกรรมเกาหลี
  • ภายใต้ความไม่เชื่อมต่อกันของแต่ละเรื่องสั้น แต่เรื่องราวทั้ง 7 คล้ายจะเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด

ประจวบเหมาะว่าวันที่ผมได้รับหนังสือเล่มนี้ อุณหภูมิประเทศไทยเริ่มลดลงต่ำ และแม้ว่าท้องฟ้าในวันนั้นจะโล่งโปร่งสวนทางกับอารมณ์หน่วงๆ ซึมๆ ของเรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่องในเล่ม ทว่านั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกขณะอ่านมีในเมษายน ซอลในกรกฎาคมสุขสว่างขึ้นแต่อย่างใด

อย่าเพิ่งคิดว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะมืดหม่นขนาดนั้น เพียงแต่เพราะเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถึงพร้อมต่อการดึงดูดให้นักอ่านคนหนึ่ง ได้หลงลืมอากาศดีๆ ตรงหน้า และอันตรธานหายไปสู่พื้นที่อื่น จมหายไปในโลกใบอื่น ที่เผอิญว่าโลกใบอื่นที่ว่าคือ ประเทศเกาหลีใต้

ด้วยความที่ไว้วางใจรสนิยมการเลือกหนังสือของไจไจบุ๊คส์เป็นทุนเดิม การกลับมาอีกครั้งของสำนักพิมพ์นี้พร้อมหนังสือเล่มใหม่ในรอบปี จึงอดไม่ได้ที่จะคาดหวัง เพราะหลังจากที่พวกเขาเคยพาเราไปตั้งคำถามกับความเป็นไปได้หลังความตายมาแล้วใน Sum: สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย สัมผัสความวิปริตเยียบเย็นของผู้คนในเมืองเล็กๆ ของญี่ปุ่นผ่าน Revenge หรือกระทั่งแนะนำให้เราได้รู้จักกับเหล่าแม่ๆ ที่คลอดลูกเป็นสิงสาราสัตว์ใน With Animal

มาคราวนี้ไจไจบุ๊คส์ได้พาเราไปรู้จักกับสังคมเกาหลีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านเรื่องสั้น 7 เรื่องที่พวกเขาคัดสรรจาก Koreana นิตยสารรายสามเดือนที่ครอบคลุมเนื้อหาอันหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น และวรรณกรรมเกาหลี

ทั้งนี้ ชื่อของหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงชื่อหนึ่งของเรื่องสั้นที่ปรากฏในเล่ม โดยที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่คัดสรรมาก็ล้วนมาจากนักเขียนต่างคน เรื่องสั้นทั้ง 7 ไม่ได้ข้องเกี่ยวกัน และต่างก็บอกเล่าชีวิตของตัวละครที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่กระจัดกระจายกันไป ทว่าภายใต้ความไม่เชื่อมต่อกันของแต่ละเรื่องสั้น ผมกลับรู้สึกว่าเรื่องราวทั้ง 7 คล้ายจะเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด

แน่นอนว่าเรื่องสั้นทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในเกาหลี แต่พ้นไปจากจุดนี้ ประเด็นที่เป็นจุดร่วมของ มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม คือเรื่องราวชีวิตของคนสามัญธรรมดาที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญ ในเรื่องสั้นหนึ่งเราอ่านเรื่องราวของเพื่อนสนิทคู่หนึ่งที่เกิดนึกครึ้มอยากแต่งชุดทหารไปกินเหล้า ในเรื่องสั้นอีกเรื่องเราได้รู้จักกับนักศึกษาสาวที่เป็นกังวลเสียเหลือเกินกับการต้องเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อในแต่ละที หรือกระทั่งการได้เฝ้ามองการทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของสตรีเกาหลีวัยกลางคนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักแสดงภาพยนตร์ พูดให้ชัดขึ้นคือ เรื่องสั้นเกือบทั้งหมดให้ความสนใจกับฉากชีวิตประจำวันและกิจกรรมสามัญธรรมดา

จะยกเว้นก็แต่เรื่องเมื่อเคียวเห่าเรื่องสั้นแรกของเล่มที่อาจไม่สอดคล้องกับเรื่องสั้นอื่นๆ อย่างชัดเจนนัก เพราะท้องเรื่องของมันคือเกาหลีสมัยอดีต

โดยส่วนตัว ‘ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่นคือเรื่องสั้นที่ประทับใจที่สุดในเล่ม มันเล่าเรื่องของพนักงานออฟฟิศหนุ่มธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ดันนัดเดตกับสาวในวันที่โซลเป็นเจ้าภาพจัดงานสุดยอดผู้นำโลก G20 แต่แล้วเดตง่ายๆ ก็กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นเมื่ออยู่ๆ สาวเจ้าก็โทรมาบอกเขาว่าติดงานด่วน ขอเลื่อนนัดเป็นวันอื่นได้ไหม

แต่ด้วยความที่จองร้านอาหารหรูไปแล้ว ชายหนุ่มเลยดึงดันขอให้เธอมาให้ได้ โดยไม่รู้เลยว่า ในระหว่างที่รอหญิงสาวอยู่นั้น เขาต้องเผชิญเหตุการณ์ข้าศึกบุกครั้งใหญ่ ซึ่งข้าศึกที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ทหารเกาหลีเหนือหรือนักฆ่าจากประเทศไหน แต่คือข้าศึกที่บุกมาจากลำไส้ พูดง่ายๆ คือ อุจจาระนั่นแหละครับ

ผมขอนุญาตไม่เล่าว่าเกิลส์เจเนอเรชั่นกับสถานการณ์ข้าศึกบุกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังไง บอกได้แค่ว่าแสบสันและกวนตีนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือฉันไปร้านสะดวกซื้อที่เล่าเรื่องของหญิงสาววัยมหาลัยซึ่งมีหอพักอยู่ใกล้ๆ กับมินิมาร์ตสามร้าน ชีวิตของเธอก็ไม่ต่างกับวัยรุ่นทั่วๆ ไปที่พึ่งพิงร้านสะดวกซื้อเป็นดั่งคำตอบสุดท้ายในทุกๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะหิว โทรศัพท์แบตฯ หมด หรือประจำเดือนมา ขอเพียงแค่ก้าวเข้าร้านสะดวกซื้อ สารพัดความวุ่นวายในชีวิตก็คล้ายจะมีทางออกขึ้นมา ปัญหาดันอยู่ที่ว่า การเข้ามินิมาร์ตของหญิงสาวคนนี้กลับไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างที่ควรจะเป็นน่ะสิ เพราะในมินิมาร์ตร้านหนึ่งก็ดันมีพนักงานขี้เต๊าะที่คอยแต่จะละลาบละล้วงข้อมูลส่วนตัว พอเปลี่ยนไปอีกร้าน เจ๊เจ้าของร้านก็มีหน้าตาบูดบึ้งไม่เป็นมิตรเสียอีก สุดท้ายเลยเหลือมินิมาร์ตอยู่ร้านเดียวที่พอจะเข้าได้

แต่ทีนี้พอเข้าร้านสะดวกซื้อเดิมซ้ำๆ หญิงสาวก็เริ่มหวาดระแวงว่า ผ่านการเจอกันทุกๆ วันระหว่างเธอกับพนักงานแคชเชียร์ของร้าน สินค้าชิ้นต่างๆ ที่ซื้อจะเท่ากับเป็นการเปิดเผยพฤติกรรมและวิถีชีวิตส่วนตัวเกินไปหรือเปล่า

เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องที่ยกมานี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจในแง่ที่มันสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม

ใน ‘ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่น’ ชายหนุ่มไม่เพียงจะมีฐานะเป็นแรงงานตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ซึ่งกิจกรรมหลังเลิกงานผูกติดมากับมูลค่า การจองร้านอาหารเองก็มีมูลค่า (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเวลา) เช่นนี้แล้วเงื่อนไขจริงๆ ที่ทำให้ชายหนุ่มรบเร้าจะให้หญิงสาวมาให้ได้จึงไม่ใช่อารมณ์ ความรู้สึก หรือเพราะเขาอยากเจอหญิงสาว แต่อยู่ภายใต้ตรรกะของการคำนวณทุนและมูลค่าที่ต้องสูญเสียไปถ้าหากการนัดเดตครั้งนี้ล้มเหลว

ในส่วนของฉันไปร้านสะดวกซื้อหากลองพิจารณาพื้นที่ของเรื่องสั้นนี้ที่ดำเนินผ่านกิจวัตรซ้ำๆ ของตัวเอก นั่นคือการเข้ามินิมาร์ต คำถามที่น่าสนใจอาจเป็นว่า ทำไมการเข้าไปใช้บริการพื้นที่เดิมซ้ำๆ ถึงไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กันได้ ทำไมเราถึงไม่รู้สึกเชื่อใจพนักงานมินิมาร์ตที่พบเจอกันทุกวัน หรือมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้การพัฒนาความสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองจึงเป็นเรื่องยาก ผมคิดว่าการจะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นต้องพึ่งพาบริบทที่รัดกุมพอ เพียงแต่หากว่ากันอย่างหลวมๆ เงื่อนไขของชีวิตสมัยใหม่คือการปฏิสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็ว และหละหลวม โดยเฉพาะในพื้นที่อย่างมินิมาร์ตที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านสะดวกซื้อ

สะดวกที่มีความหมายว่า ง่าย สะดวก และคล่องแคล่ว หากลองทาบบริบทของความเป็นเมืองเข้าไป เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่มินิมาร์ตจะตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนเมืองที่เร่งรีบเท่านั้น แต่พื้นที่แห่งนี้ยังจำกัดลักษณะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อคนขายให้สั้นกระชับ และเสียเวลาน้อยที่สุด

การติดป้ายราคาสินค้าคือการที่เราไม่ต้องคอยถามราคากับพนักงาน หรือการออกแบบจุดชำระเงินเป็นซองเล็กๆ ไว้สำหรับต่อแถวก็คือการจัดระเบียบพฤติกรรมของคนซื้อให้เรียบร้อยและควบคุมได้ง่ายที่สุด ความรวดเร็วในมินิมาร์ตยังถูกกำกับอยู่ด้วยตรรกะของการสะสมทุน นั่นคือทำอย่างไรให้ได้เงินเร็วที่สุดภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ด้วยเหตุนี้ ปฏิสัมพันธ์ในร้านสะดวกซื้อระหว่างผู้ซื้อผู้ขายจึงไม่อาจพัฒนาไปสู่ความสนิทสนมได้ นั่นเพราะในความคิดของทุน ความสนิทสนมจะเท่ากับการเสียเวลา ซึ่งการเสียเวลาก็เท่ากับการสะสมทุนได้น้อยลง

มินิมาร์ตจึงเป็นพื้นที่ของการซื้อขายอย่างแปลกแยกและเร่งรีบ นั่นเพราะพฤติกรรมเช่นนี้จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับนายทุนนั่นเอง

หนึ่งประเด็นร่วมของเรื่องสั้นต่างๆ ใน มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม คือการแสดงให้เห็นถึงมิติทางการเมืองที่มีอิทธิพลกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ในตอนทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่น’ แผนเดตของพนักงานออฟฟิศหนุ่มไม่เพียงจะได้รับผลกระทบจากงาน G20 แต่เรื่องสั้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นโครงสร้างของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้การประชุมสุดยอดผู้นำที่แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นหน้าตาของประเทศ แต่กับคนตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ชีวิตประจำวันของพวกเขาที่อาจเคยมีแบบแผนชัดเจนกลับต้องปรับเปลี่ยน และวุ่นวายขึ้นชั่วคราวโดยที่รัฐบาลเองก็ไม่เคยตระหนักสนใจ

เสียงของประชาชนไม่เคยจะส่งถึงรัฐบาล แต่แม้ว่าเรื่องเศร้านี้จะมีฉากหลังเป็นเกาหลีใต้ หากความคล้ายคลึงกันนี้กลับคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วโลก

หรือในเรื่องสั้นโรงแรมพลาซ่าที่เล่าถึงชีวิตของชายวัยกลางคนกับภรรยาที่ใช้เวลาในวันหยุดไปกับการพักผ่อนในโรงแรมกลางเมือง วันหยุดที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างน่าเบื่อหน่าย ทว่าเรื่องสั้นนี้กลับเปิดเผยเรื่องราวในวัยหนุ่มของชายคนนี้ว่า ครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยเป็นนักศึกษาประท้วงขับไล่รัฐบาล ประโยคหนึ่งในเรื่องสั้นนี้ที่กล่าวว่าถ้าพวกเราอายุมากขึ้น เราจะเป็นเหมือนคนพวกนั้นไหมนะ คนที่สุดท้ายลงเอยกลายเป็นเพียงผู้ชมที่ได้แต่มองมาอย่างนิ่งๆ แล้วพูดว่า ฉันเองก็เคยเข้าร่วมประท้วงเมื่อสมัยก่อน ตอนที่ยังไม่รู้ประสีประสาสะท้อนความเป็นไปของชีวิตภายใต้สังคมทุนนิยมได้เป็นอย่างดี นั่นคือการที่ตัวตนและความมุ่งมั่นในช่วงอายุหนึ่งจะค่อยๆ ถูกกลืนกินผ่านเวลาที่ผันไป เปลี่ยนแปลงตัวเขาให้เป็นแรงงานไร้ชีวิต ไร้ความรู้สึกนึกคิด และไร้หัวจิตหัวใจ

การพูดอย่างนี้อาจฟังดูสุดโต่งอยู่บ้าง แต่หากลองคิดว่าผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเรา หรือกระทั่งตัวเราเองในทุกวันนี้ก็อาจมีส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่ไม่ต่างอะไรจากชายวัยกลางคนผู้นี้ ครั้งหนึ่งเราอาจเคยขบถ โกรธเกรี้ยว และต่อต้านระบบอย่างเต็มที่ ทว่าถึงที่สุดแล้ว สังคมสมัยใหม่ก็จะทุบตีตัวตนนั้นของเราจนแตกร้าวล่มสลาย

มีในเมษายน ซอลในกรกฎาคม จึงคือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ภายใต้ฉากชีวิตของตัวละครที่แสนธรรมดาสามัญ กลับคือความเป็นไปของชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่เคยง่าย

สังคมที่สีสันของมนุษย์กลับคือความจืดชืดซังกะตาย สังคมที่ความหลากหลายกลายเป็นสิ่งที่รัฐเกลียดชัง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่