เพราะศิลปะต้องโตไปพร้อมประชาชน : บทสนทนาระหว่าง 6 ตุลาฯ ถึงศิลปะปลดแอก

ศิลปะคืออะไร 

ปัญหาโลกแตกใกล้เคียงกับคำถามที่ว่าความรักคืออะไร เพราะต่างคนต่างนิยามความหมายในแบบที่ตัวเองเชื่อ นั่นจึงไม่วายทำให้เกิดข้อครหาต่างๆ นานาเมื่อมีคนสร้างสรรค์ศิลปะบางรูปแบบที่ดันขัดหูขัดตาหรือขัดใจ ไม่ตรงกับความหมายของศิลปะที่เรานิยาม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานศิลปะที่ประกาศโต้งๆ ว่าพวกเขาทำงานศิลปะเพื่อเคลื่อนไหวและต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง–ที่ต้องเผชิญคำครหา และสารพัดคำวิจารณ์เสมอมา

“ศิลปะต้องไม่เกี่ยวกับการเมืองสิวะ”

“แบบนี้ไม่สวยเลย ใช้เท้าเขี่ยก็ได้ ไม่ใช่ศิลปะหรอก”

“ศิลปะต้องเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง” 

“ศิลปะจะมาอยู่กลางถนนได้ยังไง”

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก คือกลุ่มคนที่ต้องรับคำวิจารณ์เหล่านี้ เพราะพวกเขาประกาศชัดว่ารวมตัวกันเพื่อใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตย ช่วงปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นผลงานของพวกเขาปรากฏตัวอยู่ทั้งในโลกออนไลน์และพื้นที่ชุมนุมอยู่เสมอ

ในขณะที่ ‘สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย’ ศิลปินและนักเขียนที่ทำงานศิลปะมาเกือบ 50 ปี เขาคืออดีตนักศึกษาเพาะช่างที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองในหลากหลายประเด็นตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 

จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 สินธุ์สวัสดิ์รับทำหน้าที่ผู้ประสานงาน แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาศิลปะหลายสถาบันและคนในวงการโฆษณาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง

หากตอนนี้มีศิลปะปลดแอก ย้อนกลับไปราว 40 กว่าปีก่อนก็มีแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยที่ใช้ศิลปะสื่อสารและขับเคลื่อนทางการเมืองโดยแนวร่วมศิลปินฯ ทำหน้าที่ออกแบบโปสเตอร์ประกาศข่าว หรือเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุม รวมถึงนำสารทางการเมืองมาแปลงเป็นภาพเพื่อให้คนได้เสพสุนทรียะการเมืองผ่านงานศิลปะ

จากวันนั้นถึงวันนี้ สินธุ์สวัสดิ์ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์งานว่าด้วยสังคมการเมืองมาอย่างสม่ำเสมอ

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ประมวลสินธุ์ ยอดบางเตย

เราอาจพูดถึงศิลปะในแบบที่เราเชื่อได้บ่อยๆ แต่คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้ฟังคนทำงานศิลปะรุ่นใหม่กับรุ่นใหญ่คุยกันเรื่องศิลปะในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีกลิ่นอายของการต่อต้านรัฐอย่างดุเดือด และฟากรัฐก็ตอบโต้อย่างเข้มข้น 

บางอย่างอาจคล้ายช่วงตุลาคม พ.ศ. 2516 – ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่บางสิ่งก็อาจต่างอย่างสิ้นเชิง

เนื้อหาต่อจากนี้คือบทบันทึกการสนทนา 2 ชั่วโมงเต็ม ของคนสองรุ่นที่ทำงานศิลปะเพื่อขับเคลื่อนสังคมการเมืองในแบบที่พวกเขาเชื่อ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย อาจก่นด่าเป็นระยะ หรือสบถได้เต็มที่ 

หลังอ่านจบนิยามศิลปะของคุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป แต่ระหว่างบรรทัดเหล่านี้คุณอาจเห็นศิลปะในมุมที่หลากหลายกว่าที่เคย

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ: ประมวลสินธุ์ ยอดบางเตย

ศิลปะปลดแอก : คนในยุคพี่สินธุ์มองศิลปะกับการต่อสู้ทางการเมืองยังไง ต่างจากตอนนี้มากไหม

สินธุ์สวัสดิ์ : ในยุคนั้นก็ไม่ต่างจากปัจจุบันมาก แต่รูปแบบและวิธีการของงานศิลปะปัจจุบันอาจจะพัฒนาไปได้ไกลมากกว่า บริบท ณ ตอนนั้นก็เอื้ออยู่แล้ว นักร้องยุคนั้นอย่างเดอะบีเทิลส์ ก็พูดเรื่องสังคมการเมือง หรือห้องภาพสุวรรณที่เป็นห้องภาพเจ้าแรกที่สั่งเครื่องพิมพ์โปสเตอร์เข้ามาในเมืองไทย ก็มีอิทธิพลกับขบวนการนักศึกษามาก ทีแรกเขาก็ทำโปสเตอร์ดารา แต่พวกเราก็เอาพัฒนาการตรงนี้มาทำเป็นโปสเตอร์การเมืองอีกที เพื่อสื่อสารกับคนทั่วไป

คนสมัยก่อนก็มีแต่วิทยุเอเอ็ม หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ขาว-ดำในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เราเลยต้องเผยแพร่ผ่านโปสเตอร์ โดยเราต้องทำให้รู้สึกร่วมสมัยมากๆ ให้คนเข้าถึงงานโปสเตอร์ของเรา

จริงๆ คล้ายปัจจุบันนะไม่ใช่คนทั้งหมดจะรับได้กับความคิดก้าวหน้า อย่างเพื่อนในห้องเรียนทั้งหมดก็มีความคิดแตกต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนคิดเหมือนกันหมด

ศิลปะปลดแอก : นอกจากวิธีการทำงานศิลปะแล้วพี่สินธุ์เห็นความต่างระหว่างศิลปินยุคนั้นกับยุคนี้ไหม

สินธุ์สวัสดิ์ : ยุคผมเราไม่ใช้คำว่าศิลปิน คำว่าศิลปินเหมือนเป็นการแบ่งแยกว่าใครใช่หรือไม่ใช่ ทั้งที่บางคนเขาอาจเรียกตัวเองว่าเป็นช่างเขียน เขียนรูปแล้วไม่ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปิน ในขณะที่บางคนบอกว่าตัวเองเป็นศิลปิน แต่ลงมือสร้างงานจริงน้อยมาก แค่ได้รับการอวยและยกย่องกันเองในหมู่แวดวงเท่านั้นเอง

ผมว่าทุกวันนี้ใครจะมาเป็นศิลปินก็ได้ ขอแค่มีความคิด มีเรื่องที่อยากเล่า ใครๆ ก็ทำได้หมด ตอนนี้มันเปิดกว้างและรูปแบบวิธีการหลากหลายกว่า ศิลปะยุคนี้จึงจับต้องได้มากกว่าสมัยก่อนที่ยังเชื่อว่าศิลปะเป็นของสูง

ในยุคนั้นกระบวนการทำให้เป็นศิลปินมีกลุ่มอยู่ การประกวดบางอย่างถ้าไม่ใช่สายศิลปากร อย่าว่าแต่ได้รางวัลเลย เข้ารอบยังไม่ได้เข้าเลย สายอื่นก็ตกรอบกันหมด ท้ายที่สุดถึงมีการประท้วงไม่ส่งงานเข้าประกวด

แต่ปัจจุบันความหมายของคำว่าศิลปินหรือแม้แต่ศิลปินแห่งชาติมันตกไปตั้งนานแล้ว คนรุ่นนี้เขาอาจมองว่านี่ก็แค่กลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน คนรุ่นใหม่เขามีพื้นที่ให้แสดงออกและสื่อสารต่างออกไปจากคุณค่าเดิม 

ศิลปะ 6 ตุลา

ศิลปะปลดแอก : เหมือนว่าในอดีต ศิลปะต้องได้การรับรองจากบางกลุ่มหรือบางสถาบันแต่ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นแล้วใช่ไหม

สินธุ์สวัสดิ์ : ทุกวันนี้ผมเห็นงานศิลปะดีๆ มากมาย โดยคนทำงานที่ไม่เคยซ้ำหน้าเลย แสดงว่าความรับรู้และความเท่าเทียมกันในการสร้างงานศิลปะกว้างขึ้น ถึงได้เกิดผู้คนเหล่านี้ขึ้นมา 

ศิลปะไม่ต้องไปยึดอีกแล้วว่าใครศิลปินใครไม่ศิลปิน ทุกคนสามารถสร้างงานศิลปะ ผมว่ามันน่าชื่นชมที่บางคนทำได้แหลมคมและออกมาดีมากๆ ไม่ใช่แค่คนสองคนแต่มีเยอะมาก ผมรู้สึกอิ่มไปกับสิ่งเหล่านี้

ผมมองว่าศิลปะต้องเกี่ยวพันกับชีวิต ผู้คน ถ้าศิลปะเล่าเรื่องชีวิตประชาชน เวลาคนเขามาดูศิลปะก็จะเข้าใจศิลปะมากขึ้น งานศิลปะมันถึงเติบโตไปพร้อมกับประชาชน

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก : เห็นด้วยกับที่พี่สินธุ์พูดมากๆ ทุกวันนี้บางทีเราแค่เปิดกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ทุกคนก็ปล่อยงานตัวเองออกมา โดยที่บางคนไม่ต้องเรียนสายตรงทางศิลปะด้วยซ้ำ แพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่แทนองค์กรศิลปะไปแล้ว

แล้วก็เห็นด้วยที่ว่าความหมายของศิลปะและศิลปินในทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว หน้าที่ศิลปินก็เปลี่ยน และศิลปินเองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถาบันศิลปะ ศิลปะไม่จำเป็นต้องถูกผลิตขึ้นจากคนที่อยู่ในสถาบันไม่กี่แห่งอีกต่อไป ศิลปะเป็นเรื่องของมวลชนมากกว่า 

สินธุ์สวัสดิ์ : แพลตฟอร์มออนไลน์ยิ่งทำให้สื่อสารได้สะดวกและกว้างขวางขึ้น เหมือนข้อมูลนั่นแหละ สมัยก่อนกว่าเราจะไปห้องสมุด หาหนังสือสักเล่มเพื่อหาข้อมูลสักหนึ่งวรรค ปัจจุบันง่ายกว่านั้นมาก การทำงานศิลปะก็เช่นกัน ศิลปะเผยแพร่ได้ง่ายขึ้นบนโลกออนไลน์

ยิ่งค่านิยมแบบเมื่อก่อนที่ต้องไปรอดูงานศิลปะวันเปิดตัว แล้วผลงานนั้นก็ต้องอยู่บนหิ้งแตะต้องไม่ได้ มันไม่มีแล้ว ต้องทำยังไงให้งานศิลปะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายที่สุดและมากที่สุดต่างหาก 

ศิลปะปลดแอก : เรารู้สึกว่าการเมืองและสังคมมันอยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว เราเลยไม่ได้แยกว่าศิลปะต้องรับใช้สังคมการเมือง แต่มันเป็นแค่อีกเรื่องธรรมดาสามัญที่เราจะต้องพูดเรื่องนี้ เพราะนี่คือชีวิตเรา ถ้าคนทำงานศิลปะไม่พูดเรื่องปัจจุบัน แล้วเราจะพูดเรื่องอะไร 

สินธุ์สวัสดิ์ : ต่อจากนี้ไปศิลปะจะเป็นเรื่องความคิด เรื่องสิ่งที่คนทำงานอยากเล่าอย่างเดียว ฝีมืออาจเป็นเรื่องรอง สถาบันทางศิลปะจะเป็นเพียงสถานที่ฝึกฝนฝีไม้ลายมือ ส่วนความคิดนั่นแหละที่จะทำให้คนทำศิลปะแต่ละคนมีผลงานแตกต่างกัน

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก : แต่อย่างหนึ่งที่มาพร้อมการสื่อสารได้สะดวกและกว้างขวางขึ้น คือเสียงวิจารณ์และการถกเถียงกัน เช่นในช่วงปีสองปีมานี้เราจะต้องมานั่งเถียงกันเองตลอดว่าอันนี้เป็นศิลปะทำได้ อันนี้ไม่ศิลปะเลยอย่าทำ ในยุคพี่สินธุ์มีอะไรแบบนี้หรือเปล่า

สินธุ์สวัสดิ์ : มีครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่โดนเต็มที่เลย (หัวเราะ) อย่างตอนนั้นเราจัดงานติดคัตเอาต์ศิลปะว่าด้วยการต่อสู้ทางการเมืองบนถนนราชดำเนิน ซึ่งถือเป็นการจัดได้ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เลยนะ เพราะหลังจากนั้นเขาออกกฎระเบียบของเกาะรัตนโกสินทร์ ห้ามมีภาพกลางถนนนอกจากภาพกษัตริย์เท่านั้น 

ที่นี้ภาพคัตเอาต์การเมืองของคนอื่นๆ ก็ว่าด้วยการต่อสู้ แต่ของผมดันเป็นภาพอื่น ในภาพมีอนุสาวรีย์ มีธงชาติ รวมๆ คือต้องอาศัยการตีความ งานผมก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานศิลปะที่ไม่ปฏิวัติ ไม่เพื่อชีวิต ดูแล้วไม่เห็นลุกขึ้นสู้เลย ต้องเป็นงานที่เห็นการต่อสู้ มีอาวุธ ฮึกเหิมสิ 

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ทีมงาน 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง

แต่ตอนผมเอางานไปติดตั้ง คนก็ชอบ ชาวบ้านเขาก็ลงมาดูนะ มันแปลกตา เพราะดูแล้วมันต้องคิดต่อ ในขณะที่อันอื่นมันดูแล้วจบเลย จริงๆ ไม่ใช่แค่งานนี้แต่ทุกเวทีมีเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่ต้องเถียงกัน ต้องยืนยันจุดยืน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาวิธีโน้มน้าวเพื่อนฝูงหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราไปด้วยว่าทำไมเราถึงยืนยันว่าจะนำเสนอสิ่งนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ขบวนการฝ่ายประชาชนเป็นอย่างนี้มาตลอด เพราะนี่คือการเปิดกว้าง เราไม่ได้มีกฎที่บังคับให้ทุกคนต้องทำเหมือนๆ กัน

ศิลปะปลดแอก : ถ้าตอนนี้ศิลปินและคนที่ออกมาต่อสู้ รัฐจัดการด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วในยุคพี่สินธุ์ล่ะ รัฐเลือกจัดการงานศิลปะที่ออกมาต่อต้านยังไงบ้าง

สินธุ์สวัสดิ์ : ตอนนั้นรัฐไม่ละเมียดละไมเท่านี้นะ วิธีที่รัฐจัดการก็ให้คนขี่มอเตอร์ไซค์มาขว้างระเบิดใส่พวกเราเลย เราไม่เคยเจอกระสุนยาง เราเจอกระสุนจริง ระเบิดจริง 

ผมจำได้ว่าตอนที่นักศึกษารามคำแหงเดินขบวนมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อไล่จอมพลประภาส ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 ฝ่ายตรงข้ามโจมตีด้วยระเบิด กว่าจะเข้ามาถึงประตูธรรมศาสตร์กันได้ นักศึกษาตายกันเป็นกอง มันคือตายจริง พิการจริง รัฐใช้ความรุนแรงกวาดล้างแบบโจ่งแจ้ง 

แม้กระทั่งฝ่ายที่ทำหน้าที่ออกไปตระเวนติดโปสเตอร์ เป็นที่รู้กันว่าเราต้องไปเป็นกลุ่ม เพราะถ้าไม่ไปเป็นกลุ่มจะมีคนดักทำร้าย จนการต้องเจอความรุนแรงเป็นเรื่องปกติของเวลานั้น และทุกคนเตรียมใจไว้เลยว่าเราอาจตายได้ทุกเมื่อ

ศิลปะปลดแอก : เราพึ่งพาตำรวจไม่ได้เลยเหรอ

สินธุ์สวัสดิ์ : พึ่งไม่ได้หรอก ตำรวจก็เหมือนปัจจุบันนี่แหละ ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐ ดังนั้นในขบวนการเราก็ต้องพึ่งพากันเอง ต้องตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่เป็นรูปเป็นร่างกันขึ้นมา โดยมีโรงเรียนช่างกลพระราม 6 เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ 

โรงเรียนนี้คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนในเมือง เวลามีระเบิดทีนักเรียนช่างกลพระราม 6 ก็ตายกันเป็นเบือ มันยิงระเบิดเข้าใส่ในโรงเรียน ดังนั้นเวลาสู้เขาสู้กันจริงๆ

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ประมวลสินธุ์ ยอดบางเตย

ศิลปะปลดแอก : ถ้าอย่างนั้นพี่สินธุ์มองว่าการต่อสู้ของคนรุ่นนี้ควรต้องสู้ในแบบนั้นหรือเปล่า

สินธุ์สวัสดิ์ : สิ่งที่การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ก้าวหน้ากว่าการต่อสู้ตอนนั้นคือการต่อสู้เปิดเผย ประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อที่รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ประกาศบนเวทีนี่แหละที่ผมคิดว่าคือความสำเร็จ 

สมัยนั้นถึงเราจะสู้กันแลกชีวิตถึงขนาดนั้นแล้ว แต่เราพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้แต่ข้างหลังเวที ไม่สามารถวิจารณ์เจ้าอย่างเปิดเผยบนเวทีไฮด์ปาร์คได้ พูดกันใต้ดิน วิเคราะห์กันใต้ดินเท่านั้น

ผมยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าอย่างที่ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นในชีวิตนี้ หลังจากขบวนการนักศึกษาล้มเหลวลง ผมไม่รู้เลยว่ามันจะไปทางไหนต่อในระยะยาว แต่จุดนี้คือส่วนสำคัญมาก

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก : ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญกับคนรุ่นพี่สินธุ์ขนาดนี้ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่บางคนอาจมองสิ่งนี้ว่าเป็นเรื่องเฉยๆ เพราะพวกเขาโตมากับการสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เกือบทุกสิ่ง

สินธุ์สวัสดิ์ : ปีที่แล้ววันที่ 19 กันยายน (พ.ศ. 2563) ที่ไปชุมนุมบุกยึดธรรมศาสตร์ เพื่อนฝูงผมที่ไม่ได้เจอกันมานานแล้ว เรานัดเจอกัน และกอดกันด้วยความดีใจ เราร้องห่มร้องไห้เลยนะ มันคือความรู้สึกว่าถ้าเราตายก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว 

การวิพากษ์วิจารณ์สื่อสารเรื่องสถาบันฯ อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ แล้วคนจำนวนมากรับได้ ทำให้เรารู้สึกว่าตอนนี้ไปไกลกว่าการต่อสู้ของรุ่นเรามากแล้ว ผมว่าตรงนี้คือส่วนสำคัญมาก เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้คนรุ่นผมรู้ว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัว และกล้าที่จะเปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา

ถ้าย้อนกลับไปในช่วงการเคลื่อนไหวเดือนตุลา เราไม่พูดเรื่องนี้เปิดเผย ไม่ใช่แค่นักศึกษา แม้แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์วิทยุเสียงตามสายในป่าก็จะพูดแค่ขุนศึก ศักดินา แล้วจบที่ศักดินา ไม่เคยมีใครออกมาพูดเป็นรูปธรรมว่าศักดินาคือใคร ชื่ออะไร รายละเอียดเป็นอย่างไร แต่ขนาดตอนนั้นเราพูดถึงแค่ศักดินา ขบวนการก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว ดังนั้นตรงนี้แหละที่เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนคนที่ออกมาสนับสนุนยังน้อยกว่ารุ่นผมมาก ขนาดตอนนั้นออกมาเยอะขนาดนั้นยังไม่พอเลย เพราะฉะนั้นเวลาใครบอกว่ามันจะจบในรุ่นเรา ผมจะนึกอยู่ในใจว่าไม่ง่าย

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ: ประมวลสินธุ์ ยอดบางเตย

ศิลปะปลดแอก : ในมุมพี่สินธุ์ที่สู้มาตลอดจนถึงตอนนี้ ทำไมพี่ถึงมองว่านี่คือการต่อสู้ระยะยาว ไม่ใช่การจบในรุ่นเราอย่างที่หลายคนมอง

สินธุ์สวัสดิ์ : ตอนผมฟังบทกวีของ วิสา คัญทัพ ท่อนที่ว่า ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ผมเชื่อนะว่า เอาวะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ฟ้าสว่าง ไม่เราก็มันต้องชนะ แต่ตอนนี้ผมว่านั่นมันไม่ใช่ชีวิตจริง เพราะชีวิตจริงซับซ้อนและมีหลายปัจจัยกว่านั้น 

ไม่เฉพาะประเทศเราด้วย แม้แต่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์การปฏิวัติที่ประชาชนเคยชนะ บางทีอำนาจมันก็วนกลับมาอยู่ดี เป็นวงจรเดิมๆ บางทีเราเห็นนะว่าบางประเทศเขาอุตส่าห์สู้แล้วชนะไปตั้งไกลแล้ว เขายังถอยหลังมาได้ เพราะไม่ได้มีแค่ประชาชนที่สู้ ฝั่งอำนาจเขาก็สู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการต่อสู้จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาว ไม่มีการชนะรวดเดียวจบ

การจะสู้ระยะยาวได้เราเลยต้องยอมรับให้ได้ก่อน จะชนะได้ความพร้อมของคนทั้งประเทศต้องตื่นตัวกว่านี้ แต่ถามว่าตอนนี้เราทำได้ไหมล่ะ ถ้ายังไม่ได้ จะทำยังไงต่อ ก็ต้องยอมรับแล้วค่อยๆ หาทาง

การรื้อโครงสร้างใหญ่ๆ ต้องใช้เวลา ตอนนี้คุณอยากรื้อสถาบันเดียวยังรื้อไม่ได้เลย แต่ถ้าจะชนะคุณต้องรื้อทุกสถาบัน แล้วคุณคิดว่าวันเดียวคุณรื้อได้ไหม ดังนั้นต้องพยายามทำความเข้าใจความเป็นจริงไปพร้อมๆ กับการต่อสู้ หรือถ้าคุณรับไม่ได้ว่าการต่อสู้จะยืดเยื้อ คำถามคือคุณจะหยุดสู้เหรอ ถ้าไม่หยุด ก็ต้องสู้ต่อ มีแค่นี้

ยิ่งตอนนี้ฝั่งอำนาจเขาแข็งแกร่งกว่าเดิมอีก เมื่อก่อนเขายังมีแตกแยกกัน แต่ตอนนี้เขาเป็นเอกภาพมาก ยิ่งต้องใช้เวลา ผมว่าไม่มีทางที่ออกไปประท้วงวันเดียว สร้างงานศิลปะวันเดียวแล้วฝ่ายอำนาจวางปืนยื่นอำนาจให้ประชาชน 

สำหรับผมการที่คนรุ่นนี้พูดถึงสถาบันตรงไปตรงมา และเปิดเผยได้ ผมว่านี่คือความสำเร็จแล้วเมื่อมองจากรุ่นผม แต่ถ้าจะให้ไปไกลกว่านี้จะทำยังไง ก็ต้องคิดกันต่อ

ผมเองก็อยากให้ชนะวันนี้พรุ่งนี้เลยเหมือนกัน แต่มันไม่ง่าย ดังนั้นมันต้องกลับมายอมรับความจริง แล้วมาหาขั้นตอนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ผมเองก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก : ฟังดูเป็นการต่อสู้ระยะยาว แล้วพี่สินธุ์เคยรู้สึกท้อบ้างไหม 

สินธุ์สวัสดิ์ : ท้อถึงขั้นว่าไม่เอาแล้ว จะหยุดทำ ไม่มีนะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน พอป่าแตกเราก็ต้องออกมาดิ้นรน เพื่อทำงานศิลปะของเราต่อไป แล้วก็ยังทำมาถึงทุกวันนี้ 

อาจเพราะผมไม่เคยคิดว่าต้องเจริญรุ่งเรืองหรือประสบความสำเร็จอะไร คิดแค่ว่าความสุขของชีวิตเราคือได้ทำงานศิลปะ ทำงานสังคมการเมืองที่เราถนัดในวิธีการของเรา เราเลยไม่เคยรู้สึกว่าท้อ เรามีแต่ดีใจที่มีคนรุ่นใหม่มาร่วมกันมากขึ้น 

ศิลปะ 6 ตุลา
ภาพ : ศิลปะปลดแอก

ศิลปะปลดแอก : พี่สินธุ์มีอะไรอยากแชร์กับคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ บ้าง หรืออะไรที่เราเคยทำแล้วรู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่านี้นะ ถ้าเราเลือกทำอีกแบบ

สินธุ์สวัสดิ์ : บางเรื่องมันไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว เพียงแต่บางครั้งเรากลับมาทบทวน เราก็คิดนะว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ แต่มันก็เป็นเพียงการคาดคะเน เราก็ไม่มีทางรู้จริงๆ หรอกว่าถ้าเราไม่ทำแบบนั้น ไปทำแบบอื่นมันจะดีกว่าจริงไหม 

อย่างครั้งหนึ่งเราเคยนัดชุมนุม เพราะประเด็นมันใหญ่มาก แต่คนมาร่วมน้อย แป้ก แต่เราก็หยุดไม่ได้ ฝนก็ตก แต่เราก็ยังดื้อ ยังยืนยันข้อเรียกร้องแล้วก็ยื่นคำขาดกับรัฐบาลว่าให้รีบดำเนินการไม่งั้นเราจะเคลื่อนพลใหญ่ 

ตอนนั้นศิลปินก็มาช่วยกันหมด ตัดสินใจเอาไม้ไผ่ที่ทำคัตเอาต์เหลาให้แหลมเตรียมว่าถ้าต้องปะทะเราจะใช้สิ่งนี้สู้กับตำรวจ ปรากฏว่าคืนนั้นสถานการณ์คลี่คลาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง แต่พอเราได้กลับมาทบทวนว่าถ้าคืนนั้นเราเคลื่อนขบวน เราเหมือนเอาประชาชนไปเป็นเป้าให้โดนทำร้าย มันจะออกมาแย่เลย ดังนั้นความรุ่มร้อนของวัยหนุ่มสาวจึงเป็นทั้งข้อดีและข้ออ่อน ที่ดีคือเราไม่กลัวตาย ไม่กลัวความยากลำบาก ดีในหลายสถานการณ์ แต่มันทำให้เราไม่รอบคอบในบางสถานการณ์ มันหยุดกันไม่อยู่ 

บางทีมีคนปาระเบิด เราคิดว่าเราจับคนที่ปาระเบิดได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ คนปาตัวจริงไปไหนแล้วไม่รู้ เราดันไปซ้อมตัวปลอมจนสะบักสะบอม พอเอาไปส่งโรงพักตำรวจก็หัวเราะ เพราะเขารู้ว่านี่ไม่ใช่คนที่ให้มาปาใส่ 

สิ่งเหล่านี้คือเป็นบทเรียนทั้งนั้น ซึ่งเราผ่านมาได้แล้วเราถึงรู้ แต่จะให้อยู่ๆ เราไปบอกคนรุ่นนี้ว่าอะไรดีไม่ดีไม่ได้หรอก 

ผมเล่าสู่กันฟังได้ แต่ในแง่รูปธรรมทุกเหตุการณ์ต่างกัน ผมบอกไม่ได้หรอกว่าทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ อย่าทำงานศิลปะแบบนี้ อย่าเคลื่อนไหวแบบนี้ มันคนละสภาวะแล้ว เราเติบโตกันคนละแบบ สิ่งที่กดทับเราอยู่ก็ไม่เหมือนกัน ผมว่าคนรุ่นผมไม่ได้มีสิทธิอะไรไปตัดสิน 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย