‘กล่องฟ้าสาง’ นิทรรศการในกล่องบรรจุความทรงจำของนักสู้เดือนตุลาฯ ที่บอกว่าเราทุกคนยังมีหวัง

คุณรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยความรู้สึกแบบไหน?

เศร้า หดหู่ กลัว โกรธ หรือสิ้นหวังกับภาพของการต่อสู้ที่ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่ใช่เรื่องผิดหากคุณจะรู้สึกกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบบนั้น เพราะเราคงไม่มีทางลบเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ได้ แต่ถ้าคุณพอมีเวลาสักนิด ในช่วงสัปดาห์แห่งการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่กำลังจะเวียนมาครบ 45 ปี เราก็อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นใหม่ ด้วยมุมมองและความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม

‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ คืองานรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ไม่ได้บอกเล่าวิธีการเสียชีวิตของนักสู้ หรือจำนวนศพที่เรามักได้ยินได้ฟังกันจนชิน แต่กลับย้อนไปพูดถึงช่วงเวลา 3 ปีก่อนหน้า นับตั้งแต่ชัยชนะหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนถึงวันที่เสียงปืนจะดังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์–ช่วงเวลาที่ได้ชื่อว่าประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างแท้จริง 

เพราะทีมงานทุกคนเชื่อว่าช่วงเวลาเหล่านั้นคือไฟแห่งความหวัง การรวมตัวกันของเหล่านักเล่าเรื่องในแขนงต่างๆ มากกว่า 30 ชีวิตจึงเกิดขึ้น โดยมี มินนี่–เมธาวจี สาระคุณ หนึ่งในทีมผู้สร้างเว็บไซต์อินเตอร์แอ็กทีฟ Deadline Always Exists, โย–อริสา พลโยธา จาก Mob Fest ผู้จัดม็อบด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ช่วงปีที่ผ่านมา และทีมงานอีกหนึ่งชีวิตเป็นแกนนำหลักในการจัดงาน และได้ เบสท์–วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย จาก Eyedropper Fill ที่เราคุ้นเคยกันดีจากผลงานเทพประทานเพลง ในงาน Bangkok Design Week 2020 มาช่วยออกแบบ ‘กล่องฟ้าสาง’ นิทรรศการที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้จากที่บ้าน หนึ่งในไฮไลต์ของงานครั้งนี้ด้วย

“มันถึงเวลาแล้วที่เราจะพลิกมุมมองของ 6 ตุลาฯ ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น มันน่าจะเป็นมุมที่อินสไปร์การต่อสู้ให้คนยุคปัจจุบัน มันคือประวัติศาสตร์ภาคประชาชนของคนที่อยากลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งไม่เคยถูกเล่ามาก่อนเลย” มินนี่เกริ่น ก่อนเธอจะชวนเราย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของวันฟ้าสางวันนั้น

เรื่องราวของชีวิตที่ไม่เคยถูกเล่า

“จากที่เราได้ไปคุยกับคนเดือนตุลาฯ มา ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะรุนแรงขนาดนี้” โยเปิดประเด็น

นี่อาจเป็นสาเหตุให้การจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมามักโฟกัสไปที่ประเด็นอย่าง ‘how they die’ ผู้คนในยุคนั้นตายยังไง ใส่ชุดอะไร หรือโดนกระทำยังไงบ้าง แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้เรารับรู้

“แม้เวลาผ่านไป เราจะมีแหล่งข้อมูลให้เข้าถึงเยอะขึ้น ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ มากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มหาข้อมูลนอกตำราเรียนได้แล้ว แต่น่าแปลก พวกเขากลับมีความหวังน้อยลง  

“ในมุมมองของคนอินกับเหตุการณ์หรือรับรู้เรื่องนี้มาเยอะ ก็อาจจะรู้สึกว่าพี่ๆ เขาเหมือนวีรบุรุษที่สละชีวิตเลยนะ เหมือนพี่จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่คอยดูแลเพื่อนๆ ระหว่างหนีออกจากตึก กว่าพ่อแม่จะมาเจอศพก็ผ่านไปเป็นสิบๆ ปีแล้ว 

“แต่พอเรามองเขาเป็นฮีโร่ที่เสียสละ เราก็อาจจะมองตัวเองไกลจากพวกเขา ทั้งๆ ที่เราทุกคนต่างก็เป็นคนธรรมดาที่เรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกันนี่แหละ” ทีมงาน ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ สมทบ

ด้วยเหตุนี้ทีมงานทุกคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ควรถูกเล่าในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมบ้าง นั่นคือการหันไปพูดถึงมุม ‘how they live’ หรือเรื่องราวในชีวิตของพี่ๆ เดือนตุลาฯ ซึ่งน่าจะทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น และกลายเป็นแรงผลักดันให้คนในวันนี้ยังมีหวังกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตย เหมือนที่พี่ๆ ในวันนั้นไม่เคยสิ้นหวัง 

จนเป็นที่มาของชื่องาน ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’

“หลายคนอาจจะงงว่าทำไมไอ้เด็กพวกนี้มันใช้ชื่อนี้วะ แต่สิ่งที่เราอยากพูดถึงมันไม่ใช่แค่เรื่องของวันที่ 5 อย่างเดียว แต่มันคือช่วงเวลา 3 ปีแห่งความหวัง ซึ่งคนในยุคนั้นเขามีหวังจริงๆ นะ เพราะการขับเคลื่อนของพวกเขาใหญ่มากและมีทุกภาคส่วนเลย แต่ก็ดันเกิดจุดตัดคือวันที่ 5 ก่อนฟ้าสางที่มีการล้อมยิงขึ้นมาก่อน

“ประชาธิปไตยเลยเหมือนกับพระอาทิตย์ที่กำลังจะขึ้นอยู่แล้ว มันคือแสงแห่งความหวังที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่วันนั้นพี่ๆ เขากลับไม่มีโอกาสได้เห็น กระทั่งวันนี้เราก็ยังยืนมองท้องฟ้าอันดำมืดนั้นอยู่เหมือนเดิม แล้วก็ได้แต่หวังว่าเราจะได้เห็นแสงตะวันในยุคของเราสักที” 

ความทรงจำบรรจุกล่อง

เมื่อพูดถึงการใช้ชีวิต สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็นภาพและรู้สึกใกล้ชิดได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นสิ่งของที่เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของผู้คนในยุคนั้น 

โดยสิ่งของเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้ใน ‘กล่องฟ้าสาง’ กล่องเก็บความทรงจำที่ออกแบบโดยทีมงาน Eyedropper Fill ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดนิทรรศการเชิงประสบการณ์ ซึ่งถูกชักชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ด้วย แต่กว่าจะมาเป็นกล่องนี้ได้ ทีม Eyedropper Fill ก็ต้องคิดแก้ปัญหากันอยู่หลายตลบ

“ความจริงเราตั้งใจว่าจะจัดนิทรรศการที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เราก็ไม่สามารถไปจัดงานที่นั่นได้ เลยต้องตีความนิทรรศการกันใหม่หมดว่าจะทำอะไรแทนดี พอทีมเสนอไอเดียมาว่างั้นลองทำนิทรรศการที่ไปหาคนที่บ้านแทนไหม เป็นพัสดุหรือกล่องส่งไปให้คนเล่น เราก็สนใจเลย เพราะมันมีความ manual เหมือนคนยุคนั้น” เบสท์เล่า

ถึงจะมีไอเดียตั้งต้นเป็นกล่องแล้ว แต่ทีมรีเสิร์ชจาก Eyedropper Fill ก็ต้องลงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก เพื่อออกแบบกล่องที่ว่าให้น่าสนใจ และสะท้อนธีมของการใช้ชีวิตให้ได้มากที่สุด

“เราลองไปเก็บอินไซต์กับแม่ซึ่งเป็นคนยุคนั้น ว่าตอนนั้นเขาใช้ชีวิตกันยังไง จนไปเจอว่าแม่เราและคนสมัยก่อนหลายคนชอบเก็บของใส่กล่องไว้ ในนั้นจะมีรูปถ่าย มีเหรียญ หรือมีของสะสมสมัยที่เขาเป็นวัยรุ่น เราเลยคิดว่างั้นทำเป็นกล่องเก็บความทรงจำบ้างดีกว่า โดยรวบรวมของที่คนเดือนตุลาฯ ใช้กันจริงๆ มาเป็นตัวเล่าเรื่อง”

เนื้อหาหลักที่ทีม Eyedropper Fill เลือกมาเล่าจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง–เรื่องของฝ่ายต่างๆ ในม็อบ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าคนในยุคนั้นทำงานกันยังไง และแต่ละฝ่ายมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยยังไงบ้าง สอง–เรื่อง 3 ประสาน หรือการรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร และสาม–เรื่องราวเชิงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียกร้องในเดือนตุลาฯ

ย้อนเวลากลับไปในวันฟ้าสาง

“จากที่เราลองไปคุยกับคนรุ่นใหม่หลายคน เราพบว่าคนส่วนใหญ่รับข้อมูลกันจนโอเวอร์โหลดแล้ว ครั้งนี้เราเลยอยากให้คนรู้สึกมากกว่ารับรู้ เพราะถ้ากล่องนี้จะมีพลัง มันต้องทำให้คนเกิดความรู้สึกอยากกลับไปสู้ใหม่ และรู้สึกร่วมกับเรื่องราวของคนเดือนตุลาฯ จริงๆ

“เราอยากให้กล่องอิมแพกต์กับคนยุคนี้มากที่สุด กล่องมันเลยต้องมีความเป็นมนุษย์มากๆ แม้มันจะไม่มีตัวตนของมนุษย์อยู่ในนั้นเลย เราเลยเลือกหยิบ 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการสร้างประสบการณ์มาเป็นตัวตั้งคือ สิ่งของ กลิ่น และเสียง” เบสท์ว่า

ปัจจัยแรกแน่นอนเลยว่าคือ ‘สิ่งของ’ ซึ่งถือเป็นหลักฐานการต่อสู้ชิ้นสำคัญ หากเราแกะกล่องออกมาจะพบของหลากหลาย ทั้งหนังสือ ช้อน เครื่องสำอาง ถุงพยาบาล และกาวแป้งเปียก 

เพื่อให้ของทุกอย่างออกมาสมจริงมากที่สุด Eyedropper Fill จึงไปชักชวน Rackscene Collective ทีมพร็อพผู้อยู่เบื้องหลังหนังอินดี้หลายเรื่อง มาช่วยออกแบบสิ่งของและประสบการณ์ในกล่องให้เหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ยุคนั้นจริงๆ

“เราอยากให้คนได้เห็นว่าอาวุธในการต่อสู้ของคนเดือนตุลาฯ ไม่ใช่อะไรที่ทำร้ายคนได้เลย แต่มันคืออาวุธทางความคิด ซึ่งมันไม่สมควรถูกกล่าวหาว่าเป็นการต่อสู้ที่รุนแรง

“อย่างยุคนั้นจะมีฝ่ายศิลปะ คล้ายๆ กับนักวาดในยุคนี้แหละ แต่ตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก เขาก็จะใช้การแปะโปสต์เตอร์ เมื่อปรินต์โปสเตอร์ออกมาจากโรงพิมพ์แล้วก็จะมีทีมทาแป้งเปียกไปทาแป้งเปียกตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ แล้วก็มีทีมออกไปแปะโปสเตอร์ การทำงานของเขาเป็นทีมเวิร์กมาก ในกล่องเราเลยใช้ขวดแป้งเปียกเป็นตัวแทนของคนฝ่ายนี้ ซึ่งมันทำให้เด็กยุคนี้ได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวของคนยุคนั้นไปในตัวด้วย”

ปัจจัยที่สองซึ่งสำคัญไม่แพ้สิ่งของคือ ‘ประสบการณ์ร่วม’ จากของเหล่านั้น นอกจากความสมจริงของของทุกชิ้นแล้ว กล่องใบนี้ยังมีกลิ่นเก่าที่ช่วยพาเราย้อนเวลากลับไปในอดีตด้วย เพราะในเชิงวิทยาศาสตร์ กลิ่นถือเป็นตัวช่วยระลึกความทรงจำของเราได้ดีที่สุด ทีม Rackscene Collective จึงลงไปร่วมงานกับนักออกแบบกลิ่น แล้วช่วยกันสร้างกลิ่นพิเศษให้กล่องใบนี้เหมือนหลุดมาจากยุคนั้นจริงๆ

“อีกส่ิงที่เราว่าสำคัญมากก็คือเสียง เพราะสิ่งที่เราได้จากการไปสัมภาษณ์คนเดือนตุลาฯ มาไม่ใช่ข้อมูลที่หาอ่านได้จากหนังสือ แต่มันคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการต่อสู้ เราเรียกมันว่า unnecessary facts ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนั้นคนที่หนีเข้าป่าเล่าว่าเขาเกลียดหนูมากเลย แต่เพื่อเอาชีวิตรอดในป่าเขาจึงจำเป็นต้องกินหนู มันสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ในยุคนั้นก็ลำบากเหมือนกันนะ

ภาพ: 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง

“เราเลยพยายามดีไซน์เสียงไม่ให้เป็นแค่การสัมภาษณ์เฉยๆ แต่อยากให้เป็นเหมือนละครวิทยุ ซึ่งเชื่อมโยงกับคนยุคนั้นที่ชอบฟังวิทยุด้วย เราเลยชักชวน พี–วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ทำหนังไปฉายตามเทศกาลมาเยอะมาก มาช่วยกำกับเสียง เวลาที่คนสแกนเนื้อหาในกล่องก็จะเหมือนได้หลุดเข้าไปฟังละครวิทยุเรื่องหนึ่ง”

นอกจากเรื่องราวความทรงจำที่อัดแน่นยามเราเปิดกล่องฟ้าสางแล้ว กล่องใบนี้ยังมาคู่กับสูจิบัตรดีไซน์สวยที่ได้ Studio Dialogue มาช่วยออกแบบ โดยสูจิบัตรสามารถดัดแปลงไปเป็นโปสเตอร์แปะผนังบ้านได้อีก และที่สำคัญคือทุกการอุดหนุนยังเป็นการระดมทุนกลับไปช่วยโครงการบันทึก 6 ตุลาด้วย (ส่วนใครที่ซื้อไม่ทัน อดใจรออีกนิด เดี๋ยวจะมีคลิปอันบอกซ์มาให้ดูกันนะ)

กล่องฟ้าสาง

บันทึกประวัติศาสตร์เก่า ด้วยนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่

“ตอนเราฟังเรื่องราวของคนเดือนตุลาฯ มันมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับคนยุคนี้เลย เราเลยอยากให้กล่องฟ้าสางบอกทุกคนว่าเราไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่แค่พวกเรากันเองนะ มันเคยมีคนที่ทำสิ่งนี้เหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลา 3 ปีนั้นมันช่างสั้นเหลือเกิน ภาพนั้นเลยเป็นภาพที่เราอยากเห็นอีกครั้ง เพราะถ้าวันนั้นมันเกิดขึ้นได้ วันนี้มันก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน” เบสท์ออกความเห็น ก่อนทีมงานอีกคนจะขยายความต่อว่า

“ทุกคนในยุคนั้นเชื่อว่าตัวเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าเราจะเป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นกรรมกรในโรงงาน เป็นคนขายของสำหรับคนไปม็อบ หรือแม้กระทั่งเป็นเด็กเรียนที่บ้านไม่ให้ออกไปบู๊กับเพื่อนๆ พวกเขาก็ยินดีช่วยติวเด็กกิจกรรมให้สอบได้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เขาเชื่อว่าตัวเองจะทำให้ประเทศนี้ก้าวไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้”

กล่องฟ้าสาง

และเพื่อให้ภาพความหวังในวันนั้นกลับมาฉายชัดอีกครั้ง ทีมงานเลยชักชวนนักเล่าเรื่องอีกมากมายมาช่วยถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม UNMUTE PEOPLE ที่จะมาส่งต่อบทเพลงในช่วง 3 ปีทอง, กลุ่มศิลปะปลดแอกที่จะมาเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะ, หอภาพยนตร์ที่จะฉายภาพยนตร์และสารคดีพร้อมกับจัดเสวนาการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ชาวนา และแรงงานในยุคนั้น และทีมงาน Deadline Always Exists ที่มาช่วยทำเว็บไซต์อินเตอร์แอ็กทีฟให้เราร่วมกันพิมพ์ความหวังในวันนี้ เก็บไว้เปิดในวันที่เราจะได้เห็นฟ้าอันสดใสอีกครั้ง

“สิ่งที่เราทำตอนนี้ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้เรื่องราวในแง่มุมอื่นของ 6 ตุลาฯ ถูกจารึกในประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่มันคือการพูดถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชนด้วย แต่การจะเกิดสิ่งนั้นได้เราต้องเรียนรู้ที่จะมีความหวังก่อน” มินนี่ออกความเห็นก่อนที่โยจะสมทบ

กล่องฟ้าสาง

“และเอาเข้าจริงคนในยุคนั้นเขาก็ยังสู่กับเราอยู่เหมือนกันนะ คนเดือนตุลาฯ ที่เราคุยด้วยหลายคนกลายมาเป็นนักวิชาการเพื่อมาแก้ไขความรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ โดยเฉพาะ อย่างอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข มาเป็นนักวิชาการเรื่องทหาร เข้าไปสอนทหาร เพราะเขาไม่อยากให้ทหารทำแบบนั้นอีก หรืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่พยายามคืนความเป็นธรรมให้คนเดือนตุลาฯ และอีกหลายคนไปเป็นนักการเมืองเพื่อเอาความฝันที่เขาทำไม่ได้ในตอนนั้นมาทำให้เป็นจริงในวันนี้

“เราว่ามันคือแรงเสริมให้เราเห็นว่าทุกคนไม่ได้โดดเดี่ยว คนเดือนตุลาฯ ไม่ได้โดดเดี่ยว และคุณเองก็ไม่ได้โดดเดี่ยวเช่นกัน มันอาจจะมีคนที่สู้แล้วล้มหายตายจากไปบ้าง เปลี่ยนความคิดไปบ้าง แต่สุดท้ายมันจะมีคนหน้าใหม่เข้ามาเสมอ และคนหน้าเก่าก็ยังอยู่ซัพพอร์ตคนหน้าใหม่นะ เรากำลังสู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะสู้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม” 

กล่องฟ้าสาง

หากมีความหวัง ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง

เราเองคงตอบไม่ได้ว่าแสงตะวันที่ใครๆ อยากเห็นจะปรากฏขึ้นในอีกหนึ่งปี สิบปี หรืออีกหลายสิบปีข้างหน้า แต่ตราบใดที่ ‘คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย’ เหมือนอย่างที่ทีมงานทุกคนเชื่อ ความหวังนี้ก็คงเป็นจริงได้สักวัน

“เรามองว่าทุกคนในประเทศนี้เกิดมาเพื่อสู้ เพราะสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานของเราไม่ได้ดีมาตั้งแต่เกิด แต่เรากำลังสู้เพื่อมันอยู่ และการต่อสู้นี้ไม่ใช่ one shot kill ดังนั้นเราคงคาดหวังว่างานนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้หรอก เพราะเราต้องสู้กันอีกยาว

“แต่ตอนนี้คุณกำลังสร้างประวัติศาสตร์ และกำลังจะทำให้หน้าประวัติศาสตร์ไทยเปลี่ยนผ่านไปสักที เราอยากให้คุณรู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์จะจารึกไปแล้วว่าคนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” มินนี่ว่า

กล่องฟ้าสาง

แค่เหตุการณ์ในช่วงเวลา 3 ปีอันสดใสนี้ถูกส่งต่อไปสู่ผู้คนไม่ว่าจะน้อยเพียงหลักสิบหรือมากเป็นหลักหมื่น ทีมงานทุกคนก็ถือว่านี่คือความสำเร็จของพวกเขาแล้ว เพราะนั่นหมายความว่าในอนาคตเรื่องราวของคนเดือนตุลาฯ จะถูกพูดถึงในมุมที่หลากหลายและมีประโยชน์มากขึ้น

“หัวใจสำคัญคือการส่งต่อพลังบวกออกไปให้ไกลที่สุด การทำให้วันนี้ได้ไปต่อและไม่ถูกลืมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าลองไปฟังเสียงของคนรุ่นนั้น คุณจะเห็นเลยว่าเขาดีใจและมีหวังกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันมากเลยนะ

กล่องฟ้าสาง

“ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้คือสิ่งที่ภาครัฐไม่อยากให้เราจำ การสร้างทางเลือกในการจำเหตุการณ์นั้นใหม่จึงเป็นทางที่จะทำให้มันอยู่ต่อได้ เพราะบางทีเวลาเราพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมือง เราก็มักจะจำเป็นวันๆ แต่จริงๆ วันเหล่านั้นล้วนมีเหตุและผล มีปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ

“แน่นอน เราไม่ควรลืมความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมันเคยมีพลังขนาดไหน เราก็ไม่ควรลืมเหมือนกัน” เบสท์ปิดท้าย

กล่องฟ้าสาง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย