หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนทำงานในเมืองที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ก็คงเลือกจะหลีกหนีความเป็นอัมพาตของการจราจรบนท้องถนน ด้วยการหันไปพึ่งพิงการเดินทางบนรางลอยฟ้า หรือเดินทางลงรางใต้ดิน แต่ยังมีอีกระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็วไม่แพ้กัน แถมผ่านตั้งแต่ชานเมืองย่านบางกะปิ ทะลุใจกลางกรุงไปจนถึงย่านเมืองเก่าที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง ‘เรือโดยสารคลองแสนแสบ’ ซึ่งเป็นทางออกของใครหลายคนผู้อยากหนีจากท้องถนนอันแออัดราวปลากระป๋อง ใครหลายคนที่ว่ารวมถึงเราด้วยเช่นกัน ไม่นานมานี้ เราได้ทดลองเป็นผู้โดยสารประจำของเรือแสนแสบเป็นเวลาเกือบสองเดือน เมื่อเบื่อจะจับจ้องวิวข้างทางที่ถูกกั้นด้วยผ้าใบขุ่นๆ ตลอดการนั่งเรือเกือบสุดสายเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงทั้งเช้าเย็น เราจึงละสายตาไปมองวิถีชีวิต วิธีการทำงานของเหล่า ‘กระเป๋าเรือ’ แทน
วันแล้ววันเล่าที่เห็นพวกเขาเดินบนกราบเรือแคบๆ และเก็บเงินไปพร้อมกัน ไหนจะการก้าวเท้าอย่างรู้จังหวะและพันเชือกเส้นหนายึดเรือไว้เมื่อเทียบท่า แม้หลายคนจะมองว่าการเดินทางด้วยเรือโดยสารคลองแสนแสบนั้นสุดแสนลำบากที่ต้องรับมือกลิ่นอันตลบอบอวล คอยระวังทั้งน้ำกระเด็นใส่ หรือระวังตกน้ำเสียเอง แต่สำหรับพวกเขาผู้เป็นกระเป๋าเรือแล้วต้องพบกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ในการต้องทำงานพร้อมรับมือน้ำ แดด และกลิ่นเหล่านี้ทุกวัน พวกเขาต้องมีสกิลที่ซ่อนเร้นเป็นพิเศษมากกว่าการเป็นเพียงคนคอยเก็บเงินบนเรือแน่นอน
เป็นนักว่ายน้ำ
หนึ่งความสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้เป็นอันดับต้นๆ สำหรับการใช้บริการณเรือคลองแสนแสบก็คือ การพลัดตกน้ำ ความเสี่ยงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้โดยสารเพียงฝ่ายเดียว แม้ผู้ที่ทำงานจนชำนาญอย่างกระเป๋าเรือก็เสี่ยงไม่แพ้กันเลย
‘ว่ายน้ำเป็น’ จึงเป็นคุณสมบัติแรกเริ่มที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน หากจะประกอบอาชีพนี้ ก็ต้องว่ายน้ำได้จริงๆ ไม่ใช่การบอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น เพราะมีการสอบว่ายน้ำที่ท่าเรือวัดศรีบุญเรืองข้างออฟฟิศครอบครัวขนส่งกันเดี๋ยวนั้นเลย
เพราะการทำงานของกระเป๋าเรือนั้นก็มีส่วนที่เสี่ยงเกิดอันตรายเหมือนกัน อย่างการเดินบนกราบเรือแสนแคบ พร้อมเก็บเงินไปด้วยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งเรือแล่นไปด้วยความเร็วสูงยิ่งต้องทรงตัวให้ดี ไม่เช่นนั้นก็อาจพลัดตกน้ำได้ รวมถึงการก้าวขึ้นท่าเรือตามจังหวะเรือ จังหวะคลื่นที่โคลงเคลงไปมาก็ทำให้สุ่มเสี่ยงพลัดตกน้ำเช่นกัน
นอกจากจะดูแลผู้โดยสารแล้ว พวกเขาก็ต้องดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กัน การว่ายน้ำเป็นจึงเป็นพื้นฐานความปลอดภัยที่ดีในระดับหนึ่งเลย อย่างน้อยถ้าพลาดตกเรือก็ไม่จมน้ำก็แล้วกันเนอะ
เป็นนักเพาะกล้าม
หากผ่านการทดสอบว่ายน้ำมาแล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงทดลองงานเป็นเวลา 3 วัน แม้แต่กระเป๋าเรือก็มีช่วงทดลองงานไม่ต่างจากบริษัทเลยนะเนี่ย
โดยวันแรกจะได้เป็นนักสังเกตการณ์คอยจับตาดูการทำงานของรุ่นพี่ ไม่ว่าจะคอยเก็บเงิน ดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ซึ่งจะเน้นไปที่การสังเกตท่วงท่าการเกี่ยวเชือกผูกเรือเมื่อเทียบท่าเป็นหลักมากหน่อย เพราะเป็นส่วนที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ก่อนจะนำเรือเทียบท่าได้ต้องคอยดูจังหวะเรือ จังหวะคลื่น จังหวะตัวเอง เพื่อพร้อมก้าวไปพันเชือกยึดกับเสาที่ท่าเรือไว้ให้มั่น
ตวัด เกี่ยว พันสัก 4-5 รอบ ใช้ความไวและความแข็งแรงของกำลังแขนกำลังขาพอสมควรที่จะยึดเรือที่บรรจุคนจำนวนมากให้อยู่ชิดท่าเรือ และให้ผู้โดยสารก้าวขึ้นลงได้อย่างปลอดภัยที่สุด ทำซ้ำๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเช่นนั้นเรื่อยไป
อีกทั้งเมื่อเรือเริ่มแล่นออก กระเป๋าเรือก็ต้องเปลี่ยนหน้าที่ยึดเรือมาเก็บเงินด้วยวิถีการเดินบนกราบเรือ มือหนึ่งเก็บเงิน มือหนึ่งคล้องเชือกบนลำเรือไว้ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยในการทรงตัวไม่ให้ตกเรือ เรียกว่ากำลังแขนที่แข็งแกร่งและร่างกายที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กระเป๋าเรือเลย
เป็นสาย (รหัส) ลับ
หลังจากวันแรกเป็นนักสังเกตการณ์ วันต่อมาจะได้เป็นนักปฏิบัติ ได้ลองตวัด พันเชือกกับเสาท่าเรือจริงๆ จนพอรู้จังหวะ รู้ท่วงท่า วันที่สามจะได้ฝึกการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งนอกจากจะต้องเรียนรู้จากรุ่นพี่กระเป๋าเรือและจดจำราคาให้ได้ทั้งหมดแล้ว จะมีการสอบเล็กๆ เรื่องราคาค่าโดยสารอีกด้วย หากผ่านก็สามารถเป็นกระเป๋าเรือได้อย่างสมบูรณ์
หากคุณเป็นผู้โดยสารขาจรก็คงต้องการบอกชื่อท่าที่ขึ้นและลงแก่กระเป๋าเรือเพื่อให้คิดราคาได้ถูกตามระยะ แต่บางครั้งถ้าคุณได้ลองใช้บริการเรือก็อาจจะสังเกตว่าบางคนแทบไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันสักคำ เพียงชูนิ้วพร้อมยื่นเงินก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว!
รหัสไม่ลับซึ่งเป็นอันรู้กันระหว่างขาประจำกับกระเป๋าเรือนั้นมีดังนี้ ชู 1 นิ้ว หมายถึง 11 บาท ชู 3 นิ้ว หมายถึง 13 บาท ถ้าชูนิ้วโป้งและนิ้วชี้ทำเป็นเลขเจ็ดนั่นแปลว่า 17 บาท และสุดท้ายหากชู 4 นิ้วก็เท่ากับ 19 บาทนั่นเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องตะโกนแข่งกับเครื่องยนต์สุดดัง ก็ใช้ความเงียบนี่แหละสื่อสารกันแทนซะเลย
หากจำเป็นจะต้องสื่อสารกับผู้โดยสารตอนเก็บเงิน เราก็อดสงสัยไม่ได้เหมือนกันว่าพวกเขาจะได้ยินกันได้อย่างไร พี่อนุสรณ์ กระเป๋าเรือคนหนึ่งบอกว่า “นอกจากสัญลักษณ์แล้ว บางทีก็อ่านปากไปด้วย” คราวหน้าคราวหลังหากไม่อยากตะโกนสู้เครื่องยนต์สุดดังก็ลองชูนิ้วตามราคากันดูได้ ไม่ต้องพูดมากให้เจ็บคอ หรือถ้าคุณเป็นนักสู้ผู้ไม่เคยยอมแพ้ก็ออกเสียงให้ดังฟังชัดกันไปเลย
เป็นคนในเครื่องแบบ
ทดลองงานผ่านแล้ว สอบผ่านแล้ว ขั้นต่อไปก็เริ่มงานได้ พวกเขาต้องมีเสื้อสีน้ำเงินสกรีนโลโก้ครอบครัวขนส่งไว้เป็นชุดประจำการทำงาน และต้องมีกระเป๋าประจำตัวด้วย
ซึ่งถ้าลองสังเกตให้ดี กระเป๋าสะพายข้างของแต่ละคนที่ใช้เก็บตั๋ว เก็บเงิน จะมีจำนวนช่องเล็กช่องน้อยเต็มไปหมด ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะใส่เหรียญ ใส่แบงก์ ใส่ตั๋ว ช่องไหนก็ได้ตามถนัด โดยทั่วไปจะนิยมซื้อแบบที่เย็บจากผ้าใบกันน้ำ เพราะตลอดการทำงานก็เสี่ยงต่อการเปียกน้ำเสมอ หากตั๋วเปียกจนหยิบติดกันไปสองใบสามใบพวกเขาก็ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินส่วนเกินนั้นเองด้วย
เสื้อชูชีพสีส้มสดใส เป็นสิ่งที่ต้องสวมตลอดเวลาการทำงานตามกฎเหล็กของครอบครัวขนส่งเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน แม้จะผ่านการทดสอบว่ายน้ำมา แต่กันไว้ก็ดีกว่าแก้จริงไหม
หมวกกันกระแทกสุดทน หมวกพลาสติกสุดแกร่งนี้ไม่ได้ใส่เอาเท่ เอาคูล แต่ใส่เพื่อป้องกันศีรษะกระแทกกับท้องสะพาน จะปล่อยให้หัวชนปูนแข็งๆ ไม่น่าจะสนุกใช่ไหมล่ะ
รองเท้าตามใจฉัน เราจะสังเกตเห็นว่าบ้างก็ใส่รองเท้าแตะตราช้างดาวสุดอึด รองเท้ารัดส้นกันน้ำ ไปจนถึงรองเท้าผ้าใบที่อาจไม่ค่อยนิยมนักเพราะอยู่กับน้ำตลอดทั้งวัน เรียกว่ารองเท้าแบบไหนก็ได้ที่ถนัดและคล่องตัว มีดอกยางมากพอที่จะไม่ทำให้ลื่นเป็นพอ
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว แม้ว่าเธอไม่เคยเป็นอะไรกับฉันเลย
เรือโดยสารคลองแสนแสบเริ่มออกให้บริการตั้งแต่เวลา 5.30 น. หากวันไหนเรือใครถูกจัดคิวเป็นลำแรกของวัน กระเป๋าเรือก็ต้องตื่นเช้ากันหน่อย จากนั้นก็ต้องเซ็นชื่อ เบิกตั๋วและเหรียญไว้สำหรับทอนเงิน นั่งรอตามคิวที่นายท่าจดไว้ ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 5.30-10.00 น. เรือจะวิ่งจากท่าเรือวัดศรีบุญเรืองอย่างน้อยลำละ 2-3 เที่ยว กระเป๋าเรือจึงจะได้พักกินข้าวเช้า โดยรวมแล้วเรือแต่ละลำจะวิ่งประมาณ 5-6 เที่ยวต่อวัน พวกเขาทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำเช่นนี้ทุกวัน
ตามคำร่ำลือจากใครหลายคนถึงความแสบซ่าของเรือคลองแสนแสบ ทั้งกลิ่นเอย น้ำคลองกระเด็นใส่เอย ความปลอดภัยเอย อาจทำให้หลายคนไม่กล้าและไม่ค่อยชอบการนั่งเรือคลองแสนแสบนัก แต่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างพวกเขาก็เชื่อว่าตนเองได้ทำหน้าที่บริการอย่างเต็มความสามารถที่สุดแล้ว
หากกลัวที่จะเปียกขอให้รู้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ข้อแนะนำที่พอช่วยได้คือดึงผ้าใบกันน้ำสุดแรง หากกลัวที่จะตกน้ำก็ตั้งมั่นเหยียบกราบเรือ ดูจังหวะเรือ จับเชือก ก้าวขาไปพร้อมกัน หากไม่รู้ว่าถึงสถานีที่จะลงเมื่อไหร่ก็บอกพวกเขาให้บอกเมื่อใกล้ถึงได้เสมอ
“เป็นกระเป๋าเรือแสนแสบต้องนึกถึงทุกอย่างเลย ทั้งความปลอดภัยของผู้ใช้และตัวเราเอง ทุกอย่างต้องปลอดภัย ทั้งเราและเขา เราทำงานก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน” พี่นุ่นทิ้งท้ายกับเราถึงสิ่งที่ต้องนึกถึงเสมอก่อนจะโบกมือลาและวิ่งขึ้นเรือไปทำหน้าที่ของเธอต่อไป
ตลอดสองเดือนที่พบกันแทบทุกวัน เรามองเห็นพวกเขาเป็นมากกว่าแค่พนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร สกิลอันเหลือล้นของพวกเขาทำให้เห็นได้ชัดว่าอาชีพนี้ไม่ใช่ใครก็จะเป็นได้ง่ายๆ แต่ต้องเป็นนักว่ายน้ำที่แข็งแกร่ง ตกคลองแล้วจะไม่จมหายไป เป็นคนร่างกายแข็งแรงเพราะได้ออกกำลังแขนกำลังขาสม่ำเสมอ เป็นนักสื่อสารที่ใช้ประสาทสัมผัสร่างกายหลายส่วนในการเก็บเงิน เป็นคนในชุดยูนิฟอร์มสุดคูลในแบบของตัวเอง พวกเขาเป็นในหลายสิ่งอย่าง ก็เพื่อพร้อมที่จะเป็นคนเก็บเงิน และดูแลผู้โดยสารในทุกๆ วัน
ขอบคุณข้อมูลจากพี่กระเป๋าเรือโดยสารคลองแสนแสบ พี่นุ่น พี่สุพรรณ พี่อนุสรณ์ และคนอื่นๆ 🙂