เผชิญหน้ามือสังหาร : ภาพยนตร์ว่าด้วยการกราดยิง

ภายในเดือนพฤษภาคม 2022 มีเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วยการกราดยิง (Mass shooting) ในสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 2 ครั้ง กล่าวคือการกราดยิงที่ซูเปอร์มาร์เก็ตย่านคนดำในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เสียชีวิต 10 ราย และการบุกยิงโรงเรียนประถมร็อบบ์ เมืองยูวัลดี รัฐเท็กซัส ที่มีเด็กนักเรียนเสียชีวิตถึง 19 รายและครูอีก 2 ราย

ข่าวประเภทนี้เราได้เห็นได้ยินกันบ่อยครั้ง จนอาจพึมพำกับตัวเองว่า “อีกแล้วเหรอ?” จากนั้นก็ใช้นิ้วเลื่อนหน้าจอไปอ่านข่าวอื่นต่อ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วความชินชาแบบนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

ตามวงจรที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อมีเหตุกราดยิง ก็จะมีข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายครอบครองปืนแบบพอเป็นพิธี แต่ในบริบทของอเมริกานั้นผู้เขียนเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะขนาดผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ยิงหมู่ยังเชื่อมั่นในการมีปืนอยู่ในมือ ทว่าอีกแง่มุมที่น่าสนใจอาจเป็นฝ่ายผู้ก่อเหตุ ทั้งสองกรณีมือปืนมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ยิ่งเมื่อได้อ่านไดอารี่ออนไลน์ของผู้ก่อเหตุที่บัฟฟาโล เขาก็ดูหวาดกลัว มีความลังเลและอ่อนแอแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ทำให้ค้างคาใจเหลือเกินว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เด็กหนุ่มทำสิ่งเลวร้ายเช่นนั้น

จากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ผู้เขียนย้อนมองไปโลกภาพยนตร์ซึ่งผลิตเรื่องราวว่าด้วยการกราดยิงไว้นับไม่ถ้วน มีทั้งแบบเล่าจากมุมมองจากเหยื่อ ผู้รอดชีวิต หรือกระทั่งมือสังหาร แม้หน้าที่ในอุดมคติของภาพยนตร์คือการสะท้อนถึงปัญหาสังคมและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ทว่าในห้วงเวลานี้เราคงต้องยอมรับว่าภาพยนตร์ล้มเหลวในการทำหน้าที่นั้น (หรืออาจเป็นมนุษย์เองที่ล้มเหลวในการเรียนรู้จากภาพยนตร์) แต่อย่างน้อยที่สุดภาพยนตร์กลุ่มนี้อาจทำให้เราเข้าใจ ตระหนัก หรือฉุกคิดอะไรได้บางอย่างถึงเหตุวิปริตวิปลาสที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างน้อยสักเพียงนิดก็ยังดี

Elephant (2003)

เจ้าของรางวัลปาล์มทองปี 2003 ที่ค่อนข้างอื้อฉาวตอนได้รางวัล เนื่องจากนักวิจารณ์มองว่าคานส์ปีนั้นมีเรื่องอื่นที่เหมาะสมกว่า (เช่น Dogville) แต่ภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็นมาสเตอร์พีซและผลงานที่ดีที่สุดของ กัส แวง แซงต์ (My Own Private Idaho และ Milk) หนังได้แรงบันดาลใจจากเหตุกราดยิงโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ปี 1999 แต่แทนที่จะเต็มไปด้วยความดราม่า การเอาชีวิตรอด หรือฉากเลือดสาด หนังกลับถ่ายทอดออกมาอย่างมินิมอลสุดๆ

แวง แซงต์ เลือกจะเล่า ‘หนึ่งวันธรรมดาๆ ของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง’ แทนที่จะเป็นหนังทริลเลอร์สุดระทึก หนังติดตามตัวละครหลายชีวิต เด็กหนุ่มที่นั่งรถมาโรงเรียนกับพ่อ แก๊งเพื่อนสาวเม้ามอย เด็กเนิร์ดในห้องสมุด ฯลฯ ซึ่งความดีงามส่วนใหญ่ต้องยกให้ผู้กำกับภาพ แฮร์ริส ซาวิเดส (เสียชีวิตเมื่อปี 2012) ที่เคลื่อนกล้องลัดเลาะไปตามอาคารของโรงเรียนอย่างลื่นไหล ประหนึ่งสายตาพระเจ้าที่สอดส่องเหล่าหนุ่มสาว

อีกจุดที่น่าสนใจคือ แวง แซงต์ เลือกจะไม่เล่าถึงแรงจูงใจของมือปืนทั้งสองคน เขาเล่าภูมิหลังอย่างเบาบาง เช่น ฉากเด็กหนุ่มนั่งดูสารคดีเกี่ยวกับฮิตเลอร์ สั่งซื้อปืนทางไปรษณีย์ หรือจูบกันขณะอาบน้ำ (มีทฤษฎีว่าความเป็นโฮโมเซ็กซวลทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก) ซึ่งก็อาจเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะแม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปเกือบยี่สิบปีแล้ว สังคมก็ยังไม่อาจเข้าใจที่มาแห่งการก่อเหตุได้อย่างถ่องแท้

Polytechnique (2009)

เราอาจมีภาพจำว่า เดอนีส์ วิลเนิฟ คือผู้กำกับหนังไซไฟฟอร์มยักษ์อย่าง Blade Runner 2049 หรือ Dune แต่ผลงานช่วงแรกของเขาในช่วงยุค 2000s จะเป็นหนังดราม่าเล็กๆ รวมถึง Polytechnique ที่อิงจากการกราดยิงมหาวิทยาลัย École Polytechnique เมืองมอนทรีออล มือปืนคือชายวัย 25 ปีที่ยิงนักศึกษาหญิงเสียชีวิตไป 14 รายด้วยเหตุผลว่าเขาเกลียดเฟมินิสต์

วิลเนิฟจงใจถ่ายหนังเป็นภาพขาวดำเนื่องจากมีฉากเกี่ยวข้องกับเลือดอยู่มาก อีกทั้งความรุนแรงไม่ใช่หัวใจของหนัง หากแต่เป็นการสำรวจถึงมนุษย์และปฏิกิริยาต่อโศกนาฏกรรม เขาเลือกเล่าผ่านมุมมองของตัวละครสามตัว ได้แก่ มือปืนและผู้รอดชีวิตสองคน จุดเด่นของหนังคือการตัดสลับไปมาระหว่างช่วงกราดยิงและเรื่องราวหลังจากนั้น มีทั้งคนที่สามารถก้าวผ่านอดีตไปได้ และคนที่ไม่อาจแบกรับมันต่อไป มันจึงเป็นหนังที่นำเสนอถึงความหวังและความสิ้นหวังไปพร้อมกัน

Tower (2016)

การสังหารหมู่มหาวิทยาลัยเท็กซัสปี 1966 อาจถือเป็นเรื่องราวสุดประหลาด มือปืนขึ้นไปบนหอคอยประจำมหาวิทยาลัย จากนั้นยิงผู้คนจากที่สูงเป็นเวลา 96 นาที ส่วน Tower เองก็เป็นหนังที่พิสดารพอกัน ผู้สร้างเลือกถ่ายทอดในแบบสารคดีผสมกับแอนิเมชั่นเทคนิค Rotoscope เนื่องจากเขาไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจำลองเหตุการณ์ขึ้นมาใหม่ ครั้นจะใช้วิธีร้อยเรียงจากฟุตเทจเหตุการณ์จริง มันก็มีวัตถุดิบไม่มากพอ (นี่คือเหตุการณ์ในยุค 60 ที่ยังไม่มีสมาร์ตโฟน)

Tower เล่าเรื่องด้วยการสัมภาษณ์หลายชีวิตที่อยู่ช่วงกราดยิง มีทั้งเหยื่อที่รอดชีวิต ฮีโร่ผู้เสี่ยงตายไปช่วยคนเจ็บ พยานรู้เห็นที่ได้แต่มองคนล้มตาย ไปจนถึงตำรวจและประชาชนที่ร่วมใจกันขึ้นหอคอยไปสังหารมือปืน ช่วงแรกที่หนังใช้วิธีให้นักแสดงมาพากย์เสียงอาจจะแปลกแปร่งอยู่บ้าง แต่ท้ายสุดหนังก็เซอร์ไพรส์ด้วยการสัมภาษณ์บุคคลจริง (ที่ยังมีชีวิตอยู่) จากแอนิเมชั่นแปรเปลี่ยนเป็นชีวิตจริง กลายเป็นประกายแสงแห่งการดำรงอยู่ต่อไป

Vox Lux (2018)

นี่อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่พูดถึงการกราดยิงโดยตรง แต่ทำให้เห็นว่ามันส่งผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างมหาศาล พาร์ทแรกของหนังเล่าถึงเด็กสาวชื่อเซเลสต์ เธอคือผู้รอดชีวิตไม่กี่คนจากการยิงหมู่ จากนั้นคลิปที่เธอร้องเพลงไว้อาลัยเพื่อนก็กลายเป็นไวรัลระดับชาติ จนมีแมวมองชักชวนเธอไปเป็นนักร้อง จากนั้นพาร์ทสองคือชีวิตของเธอในราวยี่สิบปีต่อมา พ่วงกับเหตุการณ์มากมายทั้งวินาศกรรม 9/11 และการก่อการร้ายในโครเอเชีย ซึ่งทั้งหมดโยงใยกับชีวิตของเซเลสต์อย่างเหลือเชื่อ

ต่างจากหนังเรื่องอื่นที่มักให้ประสบการณ์ในการกราดยิงเป็นบาดแผลอันยิ่งใหญ่ของตัวละคร เซเลสต์ดูเหมือนจะไม่ได้สนใจหรือลืมเรื่องนั้นไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเธอมีความเจ็บปวดอีกมากมาย โดยเฉพาะการเป็นคนแสงไฟทำให้เธอต้องผจญกับความเลวร้ายสารพัด ถึงกระนั้นเซเลสต์ก็เชิดหน้าใช้ชีวิตต่อไป ฉากไคลแม็กซ์ที่เธอร้องเพลงในคอนเสิร์ตอย่างมาดมั่น จึงชวนให้เราสงสัยว่านั่นคือตัวจริงของเธอหรือการสวมหน้ากากอันแน่นหนา 

Nitram (2021)

สร้างจากเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดของออสเตรเลียเมื่อปี 1996 ถึงกระนั้นขอสปอยล์เลยว่าฉากสังหารหมู่ปรากฏเพียงไม่กี่วินาทีในช่วงท้ายเรื่อง เรื่องราวส่วนใหญ่ของ Nitram คือการไล่เรียงให้เราเห็นว่าไนแตรม ชายผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลายมาเป็นมือปืน 35 ศพได้อย่างไร

ด้วยความยาวราวสองชั่วโมง หนังให้รายละเอียดได้อย่างหนักแน่นและน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ความผิดปกติทางการเรียนรู้ของตัวเอก ครอบครัวที่ประกอบด้วยแม่ผู้แข็งกร้าวพ่อจอมเหยาะแหยะ และเศรษฐินีวัยกลางคนที่เป็นจุดเปลี่ยนของไนแตรม พล็อตเหล่านี้ถูกสนับสนุนด้วยการแสดงชั้นดีระดับดรีมทีม (เคเล็บ แลนดรี้ โจนส์ ผู้รับบทไนแตรม ได้รางวัลนำชายจากคานส์) ปัจจัยร่วมทุกอย่างทำให้เราพอจะเข้าใจว่าเหตุใดไนแตรมถึงตัดสินใจทำเช่นนั้น แต่ก็ต้องย้ำว่าการเข้าใจเป็นคนละเรื่องกับการเห็นใจ

ด้วยความที่ Nitram ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีการปรึกษาหรือขออนุญาตญาติของผู้เสียชีวิตเลย หนังจึงถูกก่นด่าและต่อต้านในออสเตรเลียพอสมควร (เมืองที่เกิดเหตุเลือกจะฉายหนังแบบไม่โปรโมตใดๆ ทั้งสิ้น) นำมาสู่คำถามคลาสสิกว่าการสร้างภาพยนตร์กราดยิงนั้นถือเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าหรือการตอกย้ำความเจ็บปวดกันแน่ 

ภาพยนตร์เกี่ยวกับการกราดยิงหรือสังหารหมู่อื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • Bowling for Columbine (2002) : สารคดีสำรวจเหตุยิงหมู่โรงเรียนโคลัมไบน์ สัมภาษณ์บุคคลมากมายแบบถึงลูกถึงคน 
  • We Need to Talk About Kevin (2011) : ไล่เรียงชีวิตของเควินตั้งแต่เด็กจนถึงช่วงวัยรุ่นที่ก่อเหตุสังหารหมู่ และพยายามตั้งคำถามว่า ‘เด็กนรก’ มีจริงหรือไม่ 
  • Utøya: July 22 (2018) : เล่าถึงเหตุการณ์ยิงค่ายเยาวชนบนเกาะอูเตอย่าแบบเรียลไทม์และถ่ายแบบเทคเดียว
  • If Anything Happens I Love You (2020) : แอนิเมชั่นรางวัลออสการ์ ว่าด้วยพ่อแม่ที่ต้องเสียลูกไปจากเหตุกราดยิง 
  • Raising a School Shooter (2021) : สารคดีสัมภาษณ์พ่อแม่ของผู้ก่อเหตุกราดยิง

AUTHOR