คุยกับผู้กำกับ ‘ชั้นหนึ่ง’ สารคดีชีวิตเด็ก ป.1 ที่ตั้งคำถามว่าการศึกษาไทยมีได้ระบบเดียว?

ชั้นหนึ่ง

ชีวิตสมัยเรียนของคุณเป็นยังไง? 

จำการสอบครั้งแรกในชีวิตได้ไหม?

ในช่วงเวลานั้นคุณมีความสุขหรือเปล่า?

เชื่อว่าทุกคนบนโลกโซเชียลต้องเคยเห็นภาพ คลิป หรือข่าวที่เกี่ยวกับระบบการศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้งในสัปดาห์  ไม่ว่าจะเป็นข่าวนักเรียน ม.ปลายที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงสอบ ไปจนถึงข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตายทั้งที่เพิ่งเรียนจบ ตลอดเส้นทางการศึกษาที่ผู้ใหญ่ทุกคนพูดตรงกันว่าถูกคิดมาเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็ก ทำไมจึงมีเด็กบางคนที่เจ็บปวดเพราะการศึกษา?

คำถามเดียวกันนี้เกิดขึ้นข้างในหัวใจของพ่อแม่ฝึกหัดและคุณครูผู้อยู่ปลายทางของระบบการศึกษาอย่าง ครูยุ้ย–ผศ. ดร. โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ ครูเต้ย–ดร. พีรชัย เกิดสินธุ์ ทั้งสองเป็นอาจารย์สาขาวิชาภาพยนตร์ผู้คลุกคลีอยู่ในระบบการศึกษาและได้เห็นผลสืบเนื่องจากระบบการศึกษาที่มีต่อสุขภาพกายและใจเด็กๆ นิสิตนักศึกษามาเนิ่นนาน

ชั้นหนึ่ง

เพื่อตอบคำถามนี้ครูทั้งสองจึงออกเดินทางเพื่อศึกษา ค้นคว้า และหาคำตอบในห้องเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ ในฐานะหมุดหมายแรกของระบบการศึกษาภาคบังคับ จนได้พบกับช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเด็กปฐมวัยและการศึกษาชั้นประถม ทุกภาพที่ได้เห็น ทุกเรื่องที่ได้ฟัง และทุกเสียงที่ได้ยิน ถูกถ่ายทอดอย่างประณีตลงในผลงานภาพยนตร์สารคดี ชั้นหนึ่ง (First Grade)  ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการผลิตจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดภาพบรรยากาศของห้องเรียนชั้น ป.1 ในหลากโรงเรียน หลายพื้นที่การศึกษา พร้อมมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อระบบการเรียนการสอนในประเทศไทย วันนี้เราตัดสินใจต่อสายตรงผ่านจอที่คุ้นเคยเพื่อพูดคุยกับคุณครูทั้งสอง ไม่น่าเชื่อว่านอกจากจะได้ฟังมุมมองและแนวคิดที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังสารคดีแล้ว เรายังได้เติมพลังจากรอยยิ้มสดใสของเด็กที่ระบบการศึกษาเรียกเขาว่า ‘ปฐมวัย’ อีกด้วย

ชั้นหนึ่ง

ทำไม ‘ปฐมวัย’ จึงเป็นช่วงการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในชีวิต

ครูยุ้ย : ปฐมวัย หรือ ช่วงชีวิตใน 0-8 ปีแรก คือช่วงที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคน เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ เริ่มทำความรู้จักกับโลกและเรียนรู้ตัวตนของตัวเอง ในช่วงวัยนี้สมองส่วนหน้าจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่ก่อนจะค่อยๆ ลดความสามารถในการพัฒนาลงหลังก้าวพ้นวันเกิดปีที่ 8 ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีอยู่อย่างจำกัดของเด็กทุกคน ดังนั้นพวกเขาควรได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมบูรณาการและพัฒนาทักษะของตัวเองอย่างรอบด้านไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของร่างกาย การจัดการอารมณ์ การปรับตัวเข้ากับสังคม และการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา

แล้วทำไมสารคดีเรื่อง ชั้นหนึ่ง ต้องเลือกพูดในประเด็นของการศึกษา ‘ปฐมวัย’

ครูยุ้ย : เพราะจริงๆ ตอนนี้ระบบการศึกษาสำหรับเด็กวัย 7-8 ปี หรือ ป.1 ของประเทศเรายังมีช่องว่างที่ไม่เชื่อมต่อกัน เด็กที่จริงๆ แล้วยังอยู่ในช่วงปฐมวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมบูรณาการ ผสมการละเล่นเข้ากับการเรียนกลับต้องปรับเปลี่ยนตัวให้เหมาะกับการศึกษาระดับประถมศึกษาภาคบังคับที่มุ่งเน้นในการฝึกฝนวินัยและทักษะทางวิชาการล้วนๆ อย่างการต้องอ่านให้ออกและเขียนให้ได้ 

ครูเต้ย : การผลักให้เด็กเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาทั้งที่ยังไม่พร้อม อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในการเรียนรู้ของเด็กและส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะสำคัญที่เด็กต้องมีและต้องใช้เพื่อเอาตัวรอดในอนาคต 

ครูยุ้ย : แต่ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้จะไม่ถูกพูดถึงเลย ที่ผ่านมามีนักวิชาการและผู้ปกครองส่วนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวให้ทางโรงเรียนต่างๆ เลิกใช้วิธีรับสมัครนักเรียน ป.1 ด้วยวิธีการสอบและเปลี่ยนให้คัดเลือกเด็กจากการประเมินด้วยวิธีการสังเกตหรือจากปัจจัยภายนอกแทน แต่เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผ่านลุล่วงยังไม่มีการประกาศบังคับใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ การสอบเพื่อเข้าเรียน ป.1 ในหลายโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจึงยังเกิดขึ้น เมื่อโรงเรียนเปิดประตูต้อนรับเด็กที่ทำคะแนนเยอะๆ ได้เท่านั้น ความคาดหวังและความเครียดก็ย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน การผลักความเครียดไปสู่ตัวเด็กปฐมวัยจึงยังมีอยู่

แปลว่าแนวคิดการศึกษาแบบ One Size Fit All หรือการศึกษาแบบเดียวไม่เหมาะกับเด็ก

ครูเต้ย : การมุ่งวัดความสามารถของเด็กด้วยตัวเลขหรือคะแนนทางวิชาการ เป็นหลักการที่เราอาจพูดได้ว่าเป็นหลักการแบบ One Size Fit All คือเป็นการประเมินเด็กด้วยเกณฑ์มาตรฐานเพียงเกณฑ์เดียว ซึ่งระบบการศึกษาในประเทศไทยมุ่งไปทางนี้ ถ้าคุณได้คะแนนดีคุณคือเด็กที่เก่ง คือคนที่มีความสามารถ 

ในความเป็นจริงแล้วเด็กทุกคนล้วนมีข้อจำกัด มีความถนัดและความสามารถที่แตกต่างกัน หลายครั้งเด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการมักถูกกดทับด้วยคำว่า ‘ไม่เก่ง’ การศึกษากลายเป็นการกดดันเด็กที่ไม่เก่งวิชาการออกจากระบบการศึกษามากกว่าส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้ค้นหาแนวทางที่สามารถประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง 

ครูยุ้ย : เราไม่ได้ต่อต้านการประเมินเด็กนะ เพียงแต่ต้องใช้อย่างถูกวิธีและไม่เอาแรงกดดันไปบีบให้เด็กต้องพยายามเป็นที่ 1 ตลอดเวลา ตามทฤษฎีแล้วเด็กทุกคนล้วนมีความอัจฉริยะในแบบของตัวเอง ดังนั้นหากจะประเมินเราควรประเมินด้วยมาตรวัดที่ต่างกันไปตามความถนัดของพวกเขาด้วย

ถ้าการประเมินเด็กจากคะแนนด้านวิชาการไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน คิดว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังเชื่อในวิธีการนี้

ครูเต้ย : ส่วนหนึ่งเรามองว่าระบบการแข่งขันที่วัดผลกันด้วยเกรดถูกสร้างมาเพื่อซัพพอร์ตฝั่งผู้ใหญ่อยู่เหมือนกัน เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกสอบได้ที่ 1 เป็นนักเรียนชั้นหนึ่ง และได้เรียนในโรงเรียนชั้นหนึ่ง และเพื่อเป้าหมายนั้นเด็กๆ จึงต้องถูกประเมินด้วยการสอบและเกรดด้านวิชาการอย่างเข้มข้น ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าเพื่ออนาคตที่ดีของเด็ก แต่การผลักดันเด็กๆ ให้เดินหน้าบนเส้นทางนี้อาจสร้างบาดแผลให้เขาทั้งทางกายและทางใจอย่างที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง

ครูยุ้ย : ที่จริงความตั้งใจดีของพ่อแม่ไม่ผิดนะ แต่อันตราย เพราะหากความตั้งใจดีนั้นตั้งอยู่บนความคิดเห็นและเหตุผลของผู้ใหญ่โดยไม่ฟังเสียงของเด็ก การศึกษานี้ก็จะถูกสร้างเพื่อความพึงพอใจของผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ในหนังเรื่องนี้เราจึงได้ยินความคิดเห็นของผู้ใหญ่มากกว่าเสียงของเด็ก เพราะพ่อแม่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ที่แปรผันตามธรรมชาติและความถนัดของลูก หรือที่เรียกกันว่า child-centered แต่สุดท้ายผู้ใหญ่ทุกคนก็อดไม่ได้ที่จะยึดเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลัก 

ครูเต้ย : ฉากที่เราบรรจงใส่เข้าไปในหนังเลยก็คือฉากปีนต้นไม้ เพื่อสื่อสารว่าเด็กควรมีโอกาสได้ลองผิดลองถูก พิจารณา และประมวลผลด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่หลายคนห้ามเด็กปีนต้นไม้เพราะกลัวอันตราย มากกว่าการเชื่อใจว่าเด็กจะสามารถเอาตัวรอดและเรียนรู้ทักษะใหม่ บ่อยครั้งเราลืมไปว่าเราสามารถให้เขาปีนต้นไม้อย่างอิสระ โดยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เฝ้ามองที่ดี อยู่ใกล้ในระยะปลอดภัยพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ แต่ไม่ใกล้เกินจนกลายเป็นการชี้นำและขัดขวางการเรียนรู้

ในฐานะผู้ใหญ่ ครู และพ่อแม่ อยากพูดอะไรผ่านหนังเรื่องนี้

ครูยุ้ย : คำว่าชั้นหนึ่งมันมีหลายนัย ชั้นหนึ่งในมุมมองของผู้ใหญ่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ชั้นหนึ่งในระบบการศึกษาอาจหมายถึง ป.1 ก้าวแรกของการศึกษาภาคบังคับ ในอีกความหมายชั้นหนึ่งคือคุณค่าหรือเกรดที่เรามอบให้กับเด็กที่เป็นเลิศด้านวิชาการ แต่ถึงจะมีความคิดเห็นลักษณะนี้เนื้อหาที่ปรากฏในหนังก็จะต้องถูกเล่าโดยไม่ตัดสินและไม่ชี้นำใคร หนังทำหน้าที่ได้เพียงแค่โยนคำถามและความคิดเห็นที่หลากหลายให้คนดูเลือกวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตัวเองเท่านั้น

ครูเต้ย : ครึ่งแรกคุณจะได้เห็นโลกการเรียนรู้ในอุดมคติของเด็กปฐมวัย เด็กในห้องเรียนมีอายุใกล้เคียงกัน การเรียนการสอนที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงพัฒนาการและธรรมชาติของเด็กควรมีหน้าตายังไง ในขณะที่ครึ่งหลังหนังจะพาออกไปสำรวจทั่วประเทศทั้งในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ

เราพยายามเลือกโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันอยากสุดขั้วเพื่อให้คนดูได้เห็นแง่มุม วิธีคิด และข้อจำกัดที่หลากหลาย หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าการเรียนรู้วิธีไหนดีที่สุด เพียงแต่อยากสะท้อนให้เห็นปัญหาที่มีอยู่ อะไรที่ไม่สามารถทำได้ตามอุดมคติ และชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่าปัจจุบันระบบที่เราใช้หรือการสอนในลักษณะเดียวที่ยึดเกณฑ์จากส่วนกลางมันเวิร์กกับเด็กทุกคนจริงหรือ

สุดท้ายแล้วอะไรคือทางออกของระบบการศึกษาปฐมวัย

ครูยุ้ย : เราเพิ่งเป็นพ่อแม่ฝึกหัดได้ไม่นาน กำลังตกอยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับลูกเหมือนกัน ในความคิดเห็นของเรา การศึกษาที่ดีควรเป็นการศึกษาที่ปรับวิธีให้เหมาะกับเด็ก กลับไปที่ประเด็นว่าตัวเด็กต้องการอะไรอย่างแท้จริง

ครูเต้ย : สำหรับปัญหาเรื่องระบบการศึกษาที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย แม้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ข้ามคืนในปัจจุบัน แต่เรายังมองว่ามันสามารถค่อยๆ ปรับและหาทางออกร่วมกันได้

ไม่ว่าโรงเรียนจะมีวิธีสอนแบบไหน หากครูและผู้ปกครองร่วมมือกันและมีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กเราก็จะสามารถผลักดันพวกเขาให้มีความเป็นนักเรียนมืออาชีพได้ ส่งเสริมให้เขามีโอกาสที่จะโตไปเป็นคนที่อยากเรียนรู้ตลอดชีวิต เตรียมให้เขารู้จักตั้งคำถามและถอดบทเรียนจากปัญหาที่ตัวเองไม่เคยเจอได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดในโลกอนาคต

‘ชั้นหนึ่ง’ ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาทีเล่าปัญหาในระบบการศึกษาปฐมวัยได้รอบจริงเหรอ

ครูยุ้ย : เรื่องระบบการศึกษามีประเด็นที่หลากหลายและกว้างมากเกินกว่าจะหยิบมาพูดทั้งหมดภายในหนังสารคดีแค่เรื่องเดียว ในการทำงานเราจึงตัดสินใจจะถ่ายภาพยนตร์ 2 เรื่องไปพร้อมๆ กัน โดยพยายามหยิบเอาประเด็นสำคัญมาย่อยและนำเสนอเท่าที่หนังเรื่องหนึ่งจะทำได้ 

เรื่องแรก ‘ชั้นหนึ่ง’ จะเป็นการเปิดเผยความคิดเห็นของผู้ใหญ่หลายคนที่มีต่อระบบการศึกษาปฐมวัย ส่วนเรื่องที่ 2 ที่จะเผยแพร่ในอนาคต เราจะพาคนดูไปมองโลกการศึกษาปฐมวัยผ่านสายตาของเด็ก ป.1 จริงๆ บ้าง และตอนนี้เราก็ยังมีแผนจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ที่สามารถเล่าผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากระบบการศึกษาปฐมวัยที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ในเด็ก ม.ปลายเหมือนกัน

ในฐานะคนทำหนัง ครูทั้งสองคาดหวังอะไรจากการเผยแพร่สารคดีเรื่องนี้

ครูยุ้ย : เราอยากให้พ่อแม่ที่ดูแลลูกปฐมวัยหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ที่สำคัญคือเราอยากให้คนที่ทำงานในระบบการศึกษาเห็นปัญหา เราไม่ได้กำลังชี้นำว่าระบบไหนดีที่สุด เราแค่อยากส่งเสียงให้ถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือคนที่กำลังทำงานในระบบการศึกษาให้กลับมาสนใจคำว่า child-centered อย่างแท้จริง สร้างการเรียนการสอนหรือแนวทางการศึกษาที่โฟกัสกับธรรมชาติของเด็ก ความต้องการและความแตกต่างกันของเด็กทุกคน ไม่ปล่อยปละหรือทอดทิ้งเด็กคนไหนเอาไว้ข้างหลัง

ครูเต้ย : ไม่ว่าคุณจะคิดแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการศึกษายังไงในอนาคต ไม่ว่าปัญหานั้นจะแก้ยากหรือซับซ้อนแค่ไหน ก็อยากให้ใส่ใจและใช้เด็กเป็นตัวตั้งเสมอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน