การร่วมงานแบบที่เรียกว่า collaboration มีให้เห็นเสมอในวงการสร้างสรรค์
นอกจากผู้ชมจะได้เห็นผลงานใหม่ๆ คนทำเองก็สนุกที่ได้นำความรู้จากสายที่แตกต่างมาเจอกัน ในงาน Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi นิทรรศการรวมภาพวาดของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตรก็มีการร่วมทำงานระหว่างศิลปินที่เราว่าน่าสนใจไม่แพ้ตัวนิทรรศการ
ในบ้านเราเคยมีการจัดนิทรรศการของหม่อมเจ้ามารศีฯ แล้ว 2 ครั้ง นิทรรศการครั้งล่าสุดจะจัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า วันที่ 9 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม 2561
สิ่งที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือการร่วมมือกับองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ เพราะเป้าหมายหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้คือ การพางานของท่านหญิงฯ ไปสู่ผู้ชมกลุ่มใหม่มากขึ้น แม้ผลงานของท่านจะได้รับการยอมรับมากในระดับสากล แต่มีคนไทยรู้จักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
โดยเฉพาะกับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะร่วมสมัย เป็นเรื่องน่าเสียดายที่หม่อมเจ้ามารศีฯ จะเป็นชื่อศิลปินที่ไม่มีคนรู้จัก
การร่วมมือเพื่อสร้างสิ่งใหม่จึงเกิดขึ้นในหลายทาง แบรนด์ที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร อย่างใกล้ชิด ทั้งร่วมทำงานและเป็นที่ปรึกษา คือแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อ Flynow แน่นอนว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้คือ สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ร่วมก่อตั้ง Flynow และอาณาจักรศิลปะ ช่างชุ่ย ที่เรารู้จักเป็นอย่างดี
แม้จะคุ้นเคยกับการร่วมงานข้ามสาย แต่เรายอมรับว่าการได้เห็นมูลนิธิฯ มาจับมือกับ Flynow ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายพอสมควร
แต่สำหรับสมชัย ผลงานของทั้งสองฝั่งนี้มีจิตวิญญาณที่คล้ายกัน แม้จะไม่เคยพบกันมาก่อน เขาเชื่อด้วยซ้ำว่าการได้มาร่วมกันครั้งนี้เป็นเรื่องของลิขิต
“มันแปลกว่าทำไมวิธีคิดของแบรนด์ถึงคล้ายท่านหญิงอยู่มาก ทั้งที่เวลาห่างกัน อาจจะเป็นเรื่องการนำเสนอ ท่านหญิงนำเสนอออกมาเป็นงานอาร์ต มีวิถี มีตัวตน เป็นคนที่อินเตอร์สุดๆ ผมเองเป็นคนทำเสื้อผ้า ผมอยากเห็นว่าถ้าร่วมงานนี้เราจะได้องค์ความรู้อะไรบ้าง โดยที่ไม่หวังเลยนะว่าจะได้เงินเท่าไหร่ ความดังผมไม่สนใจ มันเป็นความรู้สึกว่าการทำงานนี้จะสอนอะไรผมบ้าง” เขาเล่า
“ผมคิดว่านี่คือลิขิต มันอาจจะดูงมงายปรัมปรา แต่เมื่อคุณเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง บางครั้งเราก็ตั้งคำถามว่า เคยมาตรงนี้ได้ยังไง เคยคิดเรื่องนี้ได้ยังไง ถ้าศึกษาเรื่องทางพุทธในสายวิปัสนาเยอะๆ คุณจะรู้เลยว่า เราไม่เคยเข้าใจสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือตัวตนน่ะ การเข้าใจตัวตนโคตรมหัศจรรย์เลย
“เราไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดนะ ไม่รู้ต้องเกิดกี่ภพ กี่ชาติ กี่ยุค ผมเชื่อว่ามันมีเหตุผลว่าทำไมเราเก่งเรื่องนี้เสียขนาดนี้ล่ะ ทำไมบางเรื่องถึงโง่เสียขนาดนี้ ผมไม่ได้จบอะไรมาเลย แต่มาทำงานอาร์ต ดีไซน์ ครีเอทีฟ แฟชั่นโชว์ และออกแบบเสื้อผ้าได้ แล้วผมว่าผมทำได้ดีด้วย ผมเชื่อเรื่องอดีตชาติ หรือคำว่าประจวบเหมาะที่ได้มาเจอกัน”
เขาหยุดชั่วครู่และเล่าต่อว่าตอนทีมงานมูลนิธิติดต่อมาเขายังไม่ได้ตอบตกลงทันที เขาตัดสินใจรับทำหลังจากออกไปปั่นจักรยานทางไกลที่อยุธยาเสร็จ “ด้วยเซนส์ของเราหรือสภาวะอะไรบางอย่างบอกให้ทำ ถ้าผมทำงานนี้ดี ผมก็คงมีโอกาสได้ทำบุญอะไรบางอย่างกับท่านหญิง แล้วท่านก็มอบภารกิจนี้ให้ผม แต่ถ้าผมทำงานนี้ได้ไม่ดี มันคงเป็นบาปในใจ ลึกๆ แล้วผมมีเจตนาที่ดี อยากจะทำงานนี้” สมชัยพูดถึงตอนที่ตัดสินใจรับงานนี้แม้ตารางงานจะแน่นเอี้ยดในช่วงปลายปี
สมชัยนำแบรนด์ Flynowiii มาเป็นหัวหอกในการร่วมงานครั้งนี้ มีการนำภาพผลงานของท่านหญิงมาประยุกต์กับเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ ถ้าดูภายนอกหลายคนคงรู้สึกว่างานเสื้อผ้าก่อนหน้านี้ของแบรนด์กับงานของท่านหญิงคล้ายกันอย่างน่าประหลาดใจ
“ถ้าผมให้เซกชั่นอื่นในบริษัทดูคงไม่เก็ตนะ แต่เด็กใน Flynowiii ดูแล้วก็รักเลย เราเชื่อว่าแต่ละคนมันมีกลุ่ม มี identity เราเหมือนอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เด็กดูแล้วก็ โห ทำไมเหมือนกันจังเลย ถ้าท่านเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลก เขาคงคิดว่า Flynowiii ไปก๊อปเขามา” เขาเล่าติดตลก
แม้สมชัยจะมีภาพของความเป็นนักออกแบบ ทำงานออกแบบเสื้อผ้ามาก็มาก กับงานระดับท่านหญิง ไม่แปลกถ้าเขาจะขอออกแบบด้วยตัวเอง
แต่สมชัยบอกว่าเขารับหน้าที่เป็นเหมือนที่ปรึกษา ทั้งการออกแบบเสื้อผ้า การจัดแฟชั่นโชว์ ช่วยหาพร็อพ ทำทุกอย่างเพื่อให้งานออกมาดี นอกจากนี้เขายังเน้นเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ
สิ่งนี้เหนือกว่าการลงมาออกแบบเอง นี่คือการทำงานเพื่อส่งต่อความรู้ไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นรูปแบบที่เขาคิดว่าเหมาะสมที่สุดกับโครงการนี้
“ทีมงานเราไม่รู้ว่าท่านดังขนาดไหน มีชื่อเสียงขนาดไหน เด็กสมัยนี้มันดีอย่างคือ เมื่อรู้สึกว่าชอบเพราะความคิดความอ่านตรงกัน เขาจะชอบขุดคุ้ยที่มาที่ไปเอง”
“อดีตเราชอบคิดแย่ๆ ว่ากูต้องเป็นอาจารย์คนเดียว แต่วันนี้ผมว่าไม่ใช่แล้ว เราต้องสร้างองค์กรให้เป็น learning organization ผมจะสอนคน 3 ระดับ ระดับแรก trainee ยินดีสอนเต็มที่ 3 ปี ระดับต่อไปให้เขาทำงานได้ด้วยตัวเอง แล้วถ้าจบ 6 ปีได้เราจะให้นโยบายไปให้เขาทำงานออกมา
“ทีมของมูลนิธิอาจจะงงว่าคุณลิ้มไม่ต้องออกแบบเองเหรอ เราออกแบบเองจนไม่รู้จะไปยังไงแล้ว ออกแบบมันเป็น subset ที่เล็กมากของการจัดการองค์กร ในอดีตตอนเป็นดีไซเนอร์ เราคิดว่าออกแบบสวยๆ แล้วบริษัทจะร่ำรวยมหาศาล ไม่ใช่” เจ้าของแบรนด์ที่ทำงานออกแบบมาทั้งชีวิตเล่า
ทีมงานที่ร่วมกับสมชัยครั้งนี้รู้จักและรู้ใจกันอย่างดี ในฐานะผู้นำทีม เขาคอยแนะนำทีมออกแบบว่าทำแค่ไหนจะถึงจุดที่พอเหมาะ
“เราเชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องรู้ว่าอะไรเกินอะไรขาด ต้องอยู่ในจุดที่พอเหมาะ เมืองนอกเวลาที่เราทำเสื้อผ้า จะมีทีมที่เป็น stylist เราจ้างเขามาคอมเมนต์หรือด่าอย่างเดียวเลยนะ ว่าอันไหนมากไปหรือน้อยไป สไตล์แบบนี้เป็นยังไง แล้วค่าตัวมันก็แพงด้วย” เขาหัวเราะ
“เวลาเราให้เด็กไปทำงานแบบนี้ วิธีคิดจะเกิดจากการบ่ม เกิดพลังโดยที่ไม่ได้มีศูนย์กลางที่ตัวผม มันเกิดจากองค์ความรู้ที่เป็นองค์ความรู้ของคณะ ไม่มีอะไรดีเท่านี้อีกแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าเดี๋ยวกูไม่ได้เจิม หงุดหงิดที่บอกคนอื่นไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้กูคิด มีปัญหาแน่ จะอยากไปเพื่ออะไรน่ะ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ
“ถ้าผมจะเป็นผู้นำสักแบบหนึ่ง ก็อยากเลือกเป็นผู้นำแบบนี้ ผู้นำที่มีลูกน้องที่คิดได้ ทำได้ ให้นโยบายเสร็จแล้วมันไปทำ แล้วขอโทษ มันทำได้ดีกว่าเราอีก คุณว่ามีบุญมั้ย โคตรมีบุญเลย เราสร้างคนให้มีคนเยอะๆ เถอะ แล้วสุดท้ายเราจะดีใจมากถ้าไปอยู่ข้างหลัง มีโอกาสได้เชยชมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นซึ่งเรามีส่วนผลักดันมันขึ้นมา นี่คือวิธีทำงาน รวมถึงวิธีคิดของผมด้วย” สมชัยเล่า
ผลงานหลายชิ้นของท่านหญิงมารศีฯ มักมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับความตายในภาพเสมอ
ไม่แปลกใจเลยที่สมชัยจะรู้สึกอินกับผลงาน เพราะตัวเขาเองก็มองความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่สวยงามเช่นเดียวกัน
“ถ้าคุณไปบ้านผม คนกลัวผีอยู่ไม่ได้ คนเชื่อฮวงจุ้ยก็อยู่ไม่ได้นะ สิ่งแรกที่ผมทำในช่างชุ่ยคือ หัวกะโหลกยักษ์ คือเรามองเห็นเรื่องแบบนี้ว่าเป็นสิ่งสวยงาม”
สมชัยเล่าความคิดที่เขามีต่อความตาย ตัวเขาเองก็เคยนำความตายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการออกแบบ เราถามเขาว่าในวัยใกล้ 60 ศิลปินอย่างเขามองความตายอย่างไร
“ผมแค่วางแผนว่าจะตายยังไงให้ทุรนทุรายน้อยที่สุด อยากให้เป็นการตายที่เราพอรู้เท่าทัน ว่าที่เราเดินทางมาถึงจุดนี้ ต้องรู้หลักเหตุผลของการเกิดดับจากคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องพวกนี้เราไม่มีทางหลุดพ้น มนุษย์เกิดมาเพื่อพุ่งหาความตาย วิ่งหาความตายในรูปแบบต่างๆ กัน พูดอย่างนี้เหมือนผมจะไปเป็นอรหันต์ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ผมยังอยู่ในทางโลก แต่การเข้าใจตรงนี้จะทำให้ระดับในการดำเนินชีวิตสมดุล เข้าสู่โหมดของทางสายกลาง
“อีกไม่กี่เดือนผมก็ 60 แล้ว สมัยก่อนคนจีนจะจัดงาน ตั่วแซยิด แปลว่า อีกไม่นานก็จะตาย ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าชีวิตจะเหลือแค่ไหน อยู่ยาวแค่ไหน แต่ตอนนี้กูรู้สึกโคตรหนุ่มเลย มีแรงมากกว่าตอนอายุ 50 ยังมองสาวๆ สวยอยู่วันยังค่ำ หวังว่าถ้าเราเข้าใจชีวิต รู้จักที่จะครองตนอย่างมีศิลปะในการดำเนินชีวิต น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เรื่องอะไรที่เกิดจากเวรกรรมของเรา อันนั้นต้องน้อมรับ เพราะเรื่องราวในชีวิตเราเยอะ เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับมัน
“คำว่า อุเบกขา มันทำยาก เหมือนเรากดมันไว้ รอมันระเบิดแค่นั้นเอง แค่ต่อสู้กับความโกรธก็ยาก ฉะนั้นวิธีการต่อสู้คือการไม่ต้องทำอะไร อยู่กับมันแบบเพื่อนรัก เดี๋ยวก็หายไปเอง เพราะมันเป็นเรื่องสมมติทั้งหมด”