ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา
-หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร-
บนโลกนี้ มีน้อยคนนักที่เห็นความตายเป็นสิ่งสวยงาม
หลังจากได้เดินดูภาพวาดใน Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi นิทรรศการรวมภาพวาดของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร เราแอบคิดในใจว่าท่านหญิงฯ คงไม่ใช่คนส่วนมากที่ชิงชังความตายเป็นแน่ ไม่อย่างนั้นความเป็นและความตายจะอบอวลอยู่ในผลงานส่วนใหญ่ได้อย่างไร
“ในหลายๆ รูปเราจะเห็นว่ามี Beauty and Ugliness หรือความเป็นและความตายอยู่ในภาพเดียวกัน เช่น รูปนี้ที่คนตายหันกลับมามองว่าชีวิตตอนที่ยังไม่ตายเป็นยังไง หรือชีวิตหน้าของฉันจะเป็นยังไง”
หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ชวนให้เราดูภาพโครงกระดูกนั่งส่องกระจกที่ปรากฏเงาสะท้อนของหญิงสาวผู้เต็มไปด้วยชีวิต หนึ่งในภาพที่เล่าสไตล์ของท่านหญิงมารศีฯ มากที่สุด
“ภาพของท่านมี harmony หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความตายก็ไม่มีการเกิด มีการเกิดก็ต้องมีความตาย เป็นปรัชญาของชีวิต”
แต่กว่าจะมีภาพเขียนที่เล่าเรื่องชีวิตและความตายอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว จุดเริ่มต้นของเรื่องราวอาจต้องย้อนไปเกือบหนึ่งทศวรรษ
เจ้าหญิงไทยผู้เติบโตในต่างแดน
หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธ์ุ บริพัตร ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2474 ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้ครอบครัวของท่านหญิงต้องโยกย้ายไปอยู่ที่เกาะชวาและประเทศอังกฤษ ก่อนชีวิตจะพัดพาให้ท่านหญิงฯ ต้องโยกย้ายอีกหลายต่อหลายครา
ไม่กี่ปีให้หลัง ท่านหญิงฯ ย้ายกลับมาเมืองไทยอีกครั้งเพื่อเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อจบมัธยม ท่านหญิงฯ ได้ศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนได้ปริญญาเอกสาขาวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน กรุงปารีส และปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน
หลังจบการศึกษา ท่านหญิงฯ ทรงเป็นอาจารย์วิชาศิลปะโลกตะวันออกไกลอยู่ที่นั่นช่วงหนึ่ง และกลับมาเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกช่วงหนึ่ง ก่อนแต่งงานกับศาสตรจารย์ชาวฝรั่งเศส ลงหลักปักฐานครั้งสุดท้ายที่เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2556
โลกทั้งใบที่ชายขอบโลก
“ท่านมีชีวิตที่เมืองไทยในฐานะเจ้าหญิง ไปอยู่ที่นั่นก็เป็นคนธรรมดา Annot เป็นเมืองที่เหมือนเกือบอยู่นอกโลก ด้วยตัวเมืองก็เป็นเมืองเล็กๆ ส่วนบ้านของท่านก็อยู่นอกเมืองอีกที ที่นั่น ท่านสร้างชีวิตของท่านด้วยสิ่งต่างๆ ที่ทรงโปรด เช่น สัตว์ นก สุนัข ทำกับข้าว ฟังเพลง เล่นเปียโน ทำสวน มีชีวิตเป็นตัวของท่านเองที่นั่นอยู่ 40 กว่าปี เราจึงถือว่า Annot เป็นจุดสำคัญในชีวิตท่าน”
ก่อนยุคที่ความเป็นและความตายจะอิงแอบแนบชิดกันในงานของท่านหญิงมารศี สัตว์และมนุษย์ต่างก็ร่วมเฟรมกันอย่างสนิทสนมกลมเกลียวมาก่อน เช่นเดียวกับภาพที่ตำหนักที่เมือง Annot ในความทรงจำของคนใกล้ชิด
ทุกๆ วัน หมาและแมวจะพากันมานั่งรายล้อมระหว่างท่านกำลังทำงาน มีนกแก้วตัวจิ๋วเกาะบนไหล่ ระหว่างที่นกอีกหลายตัวกระพือปีกอย่างเสรีตามจังหวะเพลงคลาสสิกจากเครื่องเล่นไวนิล และโบยบินผ่านกลุ่มควันบุหรี่คละคลุ้งที่ท่านมักสูบและขยี้ให้ดับในแก้วล้างพู่กันใกล้มือ
“ถ้าได้ลองมองดูรูปภาพของท่าน แน่นอนว่าจะมีเรื่องของสัตว์ที่อยู่ในบ้านของท่าน ท่านทรงเลี้ยงสุนัข แมว มีกรงนกในสตูดิโอของท่าน เราจะเห็นหลายภาพที่มีลำตัวเป็นคน หน้าเป็นสัตว์ หรือสัตว์แต่งงานกับคน เป็น harmony ระหว่างคนกับสัตว์ ผมว่าท่านมองโลกได้กว้าง เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของทุกสรรพสิ่ง”
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้รวมไปถึงความเป็นตะวันตกและตะวันออกที่หลอมรวมในภาพวาด เช่น ภาพ Noah’s Ark ที่เล่าตำนานเรือโนอาห์ของศาสนาคริสต์ที่บรรทุกสัตว์ชนิดต่างๆ พร้อมๆ กับการเติมลิงสามตัวในท่าปิดตา ปิดหู ปิดปาก อันเป็นแนวคำสอนของพุทธศาสนาลงไปในภาพด้วย หรือเอาเข้าจริง ความน่าเกลียด ความเสื่อมสลายของร่างกายที่ปรากฏในภาพก็เป็นแนวคิดของความไม่จีรังยั่งยืนในพุทธศาสนาเช่นกัน
ขณะที่ในหลายภาพ โลกศิลปะกับวรรณคดีก็หลอมรวมกันเมื่อท่านหญิงฯ หยิบเอาเรื่องราวจากตำนานปรัมปรามาตีความเป็นภาพในแบบของตัวเอง
พร้อมๆ กับที่ท่านหญิงค่อยๆ ปรับตัวกับชีวิตในเมือง Annot ความเป็นศิลปินก็ค่อยๆ เบ่งบาน เริ่มจากการหัดสเกตช์ภาพวัตถุใกล้ตัว เช่น ก้อนหินในลำธารหลังบ้าน (บางวันก้อนหินเหล่านั้นก็ถูกเก็บมาระบายสีเป็นของแต่งบ้านแทน) ตามมาด้วยการหัดจัดวางวัตถุ กระทั่งท่านมีผลงานเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ในยุคหลัง
และในช่วงหลังๆ นี้เอง ที่ความเป็นและความตายเวียนมาบรรจบในผลงาน
เปิดเปลือยความเป็นและมองเห็นความตาย
อาจเป็นเพราะวัยที่เพิ่มขึ้น เพราะการโยกย้ายหลากหลายครา การสูญเสียคนรักและสัตว์เลี้ยง หรืออาจด้วยเหตุผลใดก็ตาม ภาพในยุคหลังของท่านหญิงมารศีฯ นั้นเต็มไปด้วยความเป็นและความตายอย่างแยกกันไม่ออก
ภาพวาดเหล่านี้คล้ายการพินิจพิจารณาความตายให้รอบด้าน เพราะในขณะที่บางภาพ เช่น Le Mur (The Wall) สะท้อนอาณาจักรของคนเป็นและคนตายที่ถูกแบ่งแยกด้วยกำแพงหนาและมีโครงกระดูกกำลังยื้อยุดร่างคนเป็นให้ข้ามฝั่งไปยังดินแดนของความตาย ภาพ La Mort aux dents กลับเป็นใบหน้าหญิงสาวครึ่งโครงกระดูกที่คล้ายจะสะท้อนความเป็นและความตายที่ซ้อนทับกันในตัวของพวกเราทุกคน
หรือบางครั้ง ความตายกลับหลบซ่อนอยู่ในเบื้องหลัง เช่น ภาพ Le Mariage mystique du Prince Noui-Noui à Vellara ภาพเจ้าชายหมาเซนต์เบอร์นาร์ดตัวโตในพิธีอภิเษกสมรสสุดอลังการ ซึ่งมีที่มาจากการที่เจ้า Noui-Noui สัตว์เลี้ยงของท่านหญิงฯ ตายลงก่อนท่านจะจัดงานแต่งงานให้มันพอดิบพอดี ความสูญเสียนั้นนำมาสู่ภาพวาดมาสเตอร์พีซขนาดใหญ่ชิ้นสุดท้ายที่ท่านหญิงวาดเสร็จสมบูรณ์
เมื่อโลกในภาพวาดและชีวิตจริงคู่ขนานกันไปเช่นนี้ หญิงสาวที่ปรากฏตัวในแทบทุกรูปจึงไม่อาจเป็นใครไปได้นอกจากตัวท่านหญิงมารศีฯ เอง
“เราจะเห็นว่าทุกรูปของท่านหญิงจะมีตัวท่านเองอยู่ในนั้น แต่งตัวเหมือนท่านหญิงทุกอย่าง” ม.ร.ว.ชิษณุสรรเล่าถึงหญิงสาวที่ปรากฏในแทบทุกรูป ทำให้คิดไปว่าแม้ภาพวาดของท่านหญิงฯ จะจัดอยู่ในกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ หรือภาพวาดเหนือจริง แต่เรื่องราวทั้งหมดในภาพนั้นไม่อาจหลีกหนีความจริงไปได้เลย
แต่นอกเหนือจากเบื้องหลังของบางภาพวาดที่ท่านหญิงเล่าให้คนสนิทฟังแล้ว ภาพส่วนใหญ่ก็เปิดพื้นที่ให้เราตีความ โดยเฉพาะในวันที่ท่านหญิงได้จากไปแล้วเช่นทุกวันนี้
“นอกจากคำพูดบางอย่าง ท่านก็ไม่ได้มีบันทึกอะไรเกี่ยวกับเรื่องความเป็นและความตาย แต่มันบันทึกในภาพ เราดูภาพเราก็เห็น การอธิบายภาพก็แล้วแต่คนดู สองคนดูรูปภาพเดียวกันก็อาจจะมีความรู้สึก การตีความไม่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเราดูแล้วภาพมีผลกระทบต่อตัวเรายังไง ไม่มีผิด-ถูก ไม่มีการบอกว่าฉันวาดรูปนี้เพื่ออะไร ฉันวาดรูปนี้ก็เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกของฉัน แล้วเธอมาดูรูป ความรู้สึกของเธอเป็นยังไง เธอได้อะไรจากรูปเหล่านี้”
นิทรรศการ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เวลา 09:00-18:30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
ภาพ มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงสุขุมพันธุ์ บริพัตร
อ้างอิง Steve, M. 2553. Marsi. พิมพ์ครั้งที่ 1. ประเทศไทย: มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร