ในการดูงานศิลปะ เป็นเรื่องดีที่เราจะเข้าใจถึงตัวตนของศิลปิน
เพราะหลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่ปรากฏในงานศิลปะนั้นมีแรงขับเคลื่อนจากความคิด ความเชื่อ มุมมอง วรรณกรรมที่อ่าน เพลงที่ฟัง สิ่งแวดล้อมในการทำงาน รวมไปถึงสภาพสังคมที่ศิลปินต้องเผชิญ เช่นเดียวกับผลงานภาพเขียนของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร เจ้าหญิงไทยผู้เกิดในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจนทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง ก่อนลงหลักปักฐานเป็นศิลปินที่เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส
เพื่อให้คุณรู้จักตัวตนของหม่อมเจ้ามารศีฯ เพิ่มขึ้น นิทรรศการ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดแสดงภาพให้ผู้ชมมาเดินดูแล้วก็กลับ แต่เป็นนิทรรศการที่จะพาทุกคนย้อนยุคกลับไปอยู่ในสตูดิโอของท่านหญิงเพื่อเรียนรู้ถึงตัวตน ความเชื่อ สุนทรียศาสตร์ที่ปรากฏในงาน ไปพร้อมๆ กับการรับชมงานศิลปะ
ตลอดชีวิต ท่านหญิงมารศีฯ วาดภาพไว้มากมาย คำถามคือภาพไหนที่จะแสดงตัวตนของท่านมากที่สุด
ผศ. ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง หรืออาจารย์โจ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการเล่าให้เราฟังว่าหลักเกณฑ์คือภาพที่มีองค์ประกอบสวยงาม สื่อสารใจความได้ชัดเจน และพยายามเลือกให้ไม่ซ้ำกับภาพที่เคยจัดแสดงมาก่อน นอกจากนี้ มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ ยังร่วมมือกับ Flynow ในด้านการตกแต่งนิทรรศการ รวมทั้งต่อยอดทำคอลเลกชั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของท่านหญิงมารศีฯ และจัดแฟชั่นโชว์ในนิทรรศการ เพื่อลดช่องว่างระหว่างงานศิลปะกับผู้ชม
เพื่อให้เห็นภาพ เราขออาสาพาชมและชวนทุกคนมาทำความเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังของแต่ละห้องจากปากของภัณฑารักษ์ไปด้วยกัน
Beauty and Ugliness
พูดถึงสุนทรียภาพ เรานึกถึงอะไร
ความงาม คือคำตอบแรกที่หลายคนพูดออกมาโดยไม่ต้องคิด แต่อันที่จริง สุนทรียภาพคือการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในโลกของศิลปะและโลกความเป็นจริง นับรวมตั้งแต่ด้านสว่างไปจนถึงด้านมืด
เมื่ออาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศึกษาอย่างอาจารย์โจสมัครใจก้าวเข้ามารับบทบาทภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการครั้งนี้ เขาจึงเริ่มทำการบ้านผ่านการศึกษาวิเคราะห์ผลงานของท่านหญิงมารศีฯ อย่างละเอียด ศึกษาพระประวัติ และเลือกหยิบยกสองรสชาติขั้วตรงข้ามอย่างความงามและความน่าเกลียดที่ปรากฏขึ้นมาในผลงานของท่านหญิงมาเป็นแนวคิดหลักในการจัดแสดงผลงานครั้งนี้
“ผมพยายามคุยกับงานจิตรกรรมที่ท่านทิ้งไว้เพื่อทำความเข้าใจว่าท่านต้องการบอกอะไร ตั้งแต่งานชิ้นเริ่มต้นถึงงานชิ้นท้ายๆ งานของท่านมีทั้งความสวยงามในรายละเอียด สีสัน รูปร่างต่างๆ มีการตีความจากวรรณกรรมสู่ตัวภาพ แต่ก็ยังแฝงความน่ากลัวน่าเกลียดเอาไว้ มีโครงกระดูก ความตาย ความเสื่อมสลาย เลยได้เป็นคำว่า Beauty and Ugliness ออกมา”
เมื่อก้าวเข้ามาในห้องแรกของนิทรรศการ ฟากหนึ่งของผนังนั้นเรียงรายไปด้วยภาพวัยเยาว์ของท่านหญิงมารศีฯ ไปจนถึงภาพไลฟ์สไตล์เมื่อท่านใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส พร้อมพระปณิธานที่เขียนด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “ศิลปะ สะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา” คล้ายเป็นการแนะนำตัวท่านหญิงให้ทุกคนรู้จักแบบคร่าวๆ ก่อนจะไปรู้จักสุนทรียภาพในงานของท่านต่อไป
ห้องถัดมาคือห้องสีแดงมารูนเหมาะกับธีม Beauty เล่าถึงความงามในสายตาของท่านหญิง อย่างภาพสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะภาพสัตว์เลี้ยงของท่านเอง ภาพดอกไม้สีสันสดใส หรือภาพดอกไม้ที่รวมตัวกันเป็น silhouette ของนกแก้วก็รวมอยู่ในห้องความงามเช่นกัน
ตัดกับความสดใสในห้อง Beauty ห้อง Ugliness มีผนังโทนสีม่วงก่ำและเล่าเรื่องความน่าเกลียดทั้งหลายทั้งปวง ภาพเขียนที่แขวนบนผนังจึงเป็นภาพของมนุษย์บ้าง โครงกระดูกบ้าง หรือภาพของความตาย ความเสื่อมโทรม รูปกายที่ไม่จีรัง
นอกจากภาพวาด ในห้องนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์หนาหนัก ให้ความรู้สึกอึดอัด ทึบทึม เพื่อให้เข้ากับธีมที่ดูมืดมน ภายในตู้มีข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญในชีวิตของท่านหญิงอย่างแว่นกันแดด สร้อยคอ โน้ตดนตรี ตุ๊กตา และที่ขาดไม่ได้คือแรงบันดาลใจในการทำงานของท่านอย่างหนังสือ ตั้งแต่วรรณกรรมไปจนถึงเรื่องผีและภาพโครงกระดูกสำหรับศึกษา anatomy ด้วย ซึ่งผลลัพธ์ของแรงบันดาลใจเหล่านี้ก็คือภาพที่แขวนอยู่บนผนังรอบๆ นั่นแหละ
Chronology of Marsi and Art History
อีกมุมหนึ่งของห้องคือมุมที่อาจารย์โจภาคภูมิใจเป็นพิเศษ นั่นคือมุมที่แสดงไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของหม่อมเจ้ามารศีฯ เทียบกับประวัติศาสตร์ไทยและโลกในแผ่นเดียว
ด้วยความที่อยู่ในวงการการศึกษาศิลปะในประเทศไทยโดยตรง ปัญหาที่อาจารย์โจมองเห็นคือในขณะที่เรามีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่างลึกซึ้ง แต่เรากลับไม่ค่อยรู้จักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก อาจารย์โจจึงมองว่างานของท่านหญิงมารศีฯ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกได้
“ผมเรียนศิลปะตั้งแต่เล็ก แต่ไม่เคยเจองานหม่อมเจ้ามารศีฯ ในหนังสือเรียนเลย ผมคิดว่าเราต้องนำงานของท่านมาอยู่ในไทม์ไลน์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และกระตุ้นให้เกิดการศึกษาต่อไปอีก 200-300 ปี อย่างในฝั่งตะวันตก งานของ Leonardo da Vinci ทุกวันนี้ก็ยังมีการศึกษาวิจัยไม่จบสิ้น”
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในเชิงลึก อาจารย์โจจึงใช้ไทม์ไลน์ที่แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวทางศิลปะต่างๆ ความเคลื่อนไหวของศิลปินร่วมสมัยอย่าง Salvador Dali, Pablo Picasso เหตุการณ์สำคัญทั้งในไทยและในโลกอย่างยุคบุกเบิกศิลปะในไทยนำโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เปรียบเทียบกับชีวิตและผลงานของท่านหญิงมารศีฯ
นอกจากนี้ หากพิจารณาผลงานท่านหญิงมารศีฯ ตามไทม์ไลน์ เราก็จะเห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของท่านเช่นกัน
“เราเห็นว่าช่วงสิบปีแรก งานของท่านเป็นจะเป็นสเกตช์ศึกษาชิ้นเล็กๆ เช่น โขดหินสไตล์ตะวันออกเหมือนภาพเขียนจีน ต่อมาจึงเริ่มมีตัวภาพ มีคนเข้ามาผสม มีสีสันมากขึ้น ชิ้นใหญ่ขึ้น ในช่วงที่ท่านอายุ 40-50 ปี ภาพก็เริ่มเล่าเรื่องความตาย ความเสื่อมสลายของร่างกาย ไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งเป็นการตีความแบบพุทธจากพื้นฐานครอบครัวและการเลี้ยงดู
“พัฒนาการในงานอาจจะสอดคล้องกับชีวิตส่วนพระองค์ ด้วยความที่ท่านเป็นราชวงศ์ในยุคที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลง ท่านก็ต้องระหกระเหิน เปลี่ยนแปลงชีวิต สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันปรากฏในงาน ผมเลยบอกว่าเราควรเข้าใจถึงประวัติของท่านด้วยเพื่อเข้าใจงาน”
ไม่ใช่แค่ไทม์ไลน์ที่เป็นประโยชน์กับผู้คน แต่กระบวนการเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาอยากให้นักเรียนศิลปะได้เรียนรู้เช่นกัน
“ช่วงรีเสิร์ชครั้งแรก ผมขอมูลนิธิฯ ดูชิ้นงานจริงทั้งหมด ซึ่งมูลนิธิฯ ทำระบบการจัดเก็บดีมาก ของใช้ทุกอย่าง เสื้อผ้า แว่นตา ลิปสติก กระดาษลอกลาย กระดาษไขแผ่นเล็กแผ่นน้อยทุกชิ้นมีเลขรหัสหมดเลย นี่คือต้นแบบการจัดเก็บผลงานศิลปินที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ถ้าจัดเก็บเช่นนี้ อีก 300 ปี งานท่านหญิงก็จะยังไม่หายไป
“ผมเองก็มีการบันทึกกระบวนการทำนิทรรศการนี้ไว้ทุกวัน เพราะผมมองว่างานนี้จะเป็นต้นแบบทั้งในมิติของศิลปิน การนำเสนอ ตีความ คัดเลือกชิ้นงาน เป็นกระบวนการที่จะช่วยทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปทำงานได้”
Truth
“ในห้องสุดท้าย ผมเลือกตีความเป็นคำว่า truth หรือสัจจะ อย่างแรกคือสัจจะในการเลือกเดินทางศิลปะอย่างเต็มตัว ละทิ้งโลกวิชาการ เลิกเป็นอาจารย์เพื่อมาทำงานศิลปะ สัจจะที่สอง คือสัจจะชีวิตที่หลอมรวมปรัชญาทั้งตะวันตก ตะวันออกเข้าด้วยกัน” อาจารย์โจอธิบายคอนเซปต์ของห้องสุดท้ายให้เราฟัง
เพื่อให้เข้าใจสัจจะในการเลือกเป็นศิลปินของท่านหญิงมารศีฯ มากยิ่งขึ้น อาจารย์โจจึงดีไซน์ให้มุมหนึ่งของห้อง Truth เป็นห้องทำงานของท่านหญิงมารศีฯ ที่จำลองขึ้นมาอย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นกรงนกในมุมห้อง เปียโนและแผ่นโน้ตดนตรีที่ท่านชอบเล่นในยามว่าง อุปกรณ์วาดภาพ พู่กัน จานสี แม้กระทั่งก้นบุหรี่ของท่าน และยังมีแบบสเกตช์บนกระดาษไขที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนด้วย
“กระดาษไขเองก็มีคุณค่า ทำให้เห็นว่ากว่าจะเป็นงานจิตรกรรมที่สมบูรณ์แล้ว ศิลปินต้องมีวิธีการยังไง ท่านไม่ได้วาดบนเฟรมตั้งแต่แรก แต่ท่านวาดบนกระดาษไขเป็นส่วนๆ แล้วมาจัดองค์ประกอบว่าจะวางอะไรอยู่ตรงไหน ในแง่คนทำงานศิลปะถือว่าท่านเป็นคนละเอียดอ่อนมาก”
ฃ
อีกมุมหนึ่งของห้องฉายภาพยนตร์สารคดีสั้นกำกับโดยเชน บุนนาค ที่เล่าเรื่องชีวิตของท่านหญิงด้วยฟุตเทจเก่าจากฝรั่งเศส ผสมกับฟุตเทจใหม่ที่เขาและทีมเดินทางไปถ่ายทำถึงเมือง Annot ที่ท่านหญิงมารศีฯ เคยอาศัยอยู่ และพูดคุยกับคนที่นั่นถึงเรื่องราวของท่าน ส่วนอีกมุมเป็นส่วนของมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีของที่ระลึกจัดจำหน่าย
“เรามีมุมให้ถ่ายรูป ทำกิจกรรม แสตมป์ตรายางให้เด็กๆ มีแผ่นพับดีไซน์เหมือนหนังสือพิมพ์เก่าๆ เอามากางเป็นขนาด A3 และของที่ระลึกเราทำเป็นพวกเครื่องเขียนที่มีราคาย่อมเยา เพราะเราอยากให้เด็กเริ่มสะสมงานศิลปะผ่านสินค้าเหล่านี้ เวลาผมสอนหนังสือก็จะบอกเด็กเสมอว่า นักเรียนศิลปะต้องหัดซื้องานศิลปะ ให้สังคมไทยมีค่านิยมซื้องานศิลปะบ้าง เริ่มจากโปสต์การ์ดก็ได้”
เพราะหม่อมเจ้ามารศีฯ เป็นศิลปินหญิงในยุคที่ผู้หญิงแทบไม่มีโอกาสในการทำงานศิลปะ อีกทั้งยังมีส่วนประกอบของโลกตะวันออกและตะวันตกในคนเดียวกันทั้งจากการเติบโต การศึกษาร่ำเรียน และการใช้ชีวิตในฐานะศิลปิน ผลงานของท่านหญิงจึงมีแง่มุมอีกมากมายที่รอให้คนเข้าไปศึกษา ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจเห็นนิทรรศการที่เลือกนำเสนอผลงานและตัวตนหม่อมเจ้ามารศีฯ ในมุมอื่นก็เป็นได้
นิทรรศการ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เวลา 09:00-18:30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)