หากพูดถึง มารีญา พูลเลิศลาภ หรือ มาเรีย ลินน์ เอียเรียน คุณจะนึกถึงเธอในบทบาทไหน
เด็กสาวที่เข้าวงการเดินแบบตั้งแต่อายุ 13 ปี นักร้องเจ้าของเพลงฮิตที่มีวลีเด็ดอย่าง ‘บุ๋ง บุ๋ง’ และ ‘เก็บโต๊ะก่อนนะ’ นางงามจักรวาลเจ้าของตำแหน่ง Miss Universe Thailand 2017 ผู้ได้เข้ารอบชิง 5 คนสุดท้ายของเวที Miss Universe ในปีเดียวกัน ‘ประชาชน’ คนหนึ่งที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานจากประเทศที่อาศัยอยู่ หรือ ‘มนุษย์’ ทั่วไปที่ต่อสู้เพื่อ ‘เพื่อนมนุษย์’ ด้วยกัน อย่างที่เห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเธอเดินหน้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในนาม SOS Earth และในช่วงเวลาเดียวกันเธอเริ่มออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งยังร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เพื่อถามหาความเป็นธรรมให้ประชาชนในสถานการณ์บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม
“ความไม่ยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมัน มันก็จะเกิดขึ้นตลอด ทุกคนเลือกได้ว่าจะปล่อยผ่านหรือจะทำอะไรสักอย่าง สำหรับเราเราเชื่อว่าควรทำอะไรสักอย่าง” มารีญาบอกเราก่อนหน้าการชุมนุมดังกล่าวเพียง 5 วัน และการไปร่วมชุมนุมครั้งนั้นก็เป็นการยืนยันความเชื่อของเธอ
น่าสนใจว่ามุมมองความคิดต่อสถานการณ์บ้านเมืองของมารีญาเป็นเช่นไร เธอจึงกล้าออกมาแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวถูกยกเลิกงานหรือได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงกว่านั้น
มากกว่าสถานการณ์บ้านเมือง ภายใต้มงกุฎของนางงามจักรวาลเธอมีจักรวาลเล็กๆ น้อยๆ อะไรบ้างที่หลอมรวมเป็นจักรวาลมารีญาผู้กล้าแสดงออกในวันนี้ ต่อไปนี้คือจักรวาลทั้งหมดในชีวิตของมารีญา พูลเลิศลาภ ที่อยากชวนทุกคนไปค้นหา
จักรวาลยามเด็ก
หลายคนมองว่าคุณเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็นมาก ตอนเด็กๆ คุณเป็นคนยังไง
ตอนยังอยู่เวียดนามเราเป็นคนกล้ามาก กล้าแสดง กล้าพูด จำได้ว่าทุกครั้งที่พ่อแม่พาเราไปทานอาหารกับผู้ใหญ่ เราจะเป็นคนเอนเตอร์เทน ชวนทุกคนคุยนู่นนี่นั่นได้ ไม่รู้สึกอาย จนอายุ 8 ขวบเรากลับมาอยู่ไทย อยู่ดีๆ ก็เริ่มคิดว่าคนอื่นจะคิดยังไง เริ่มกลัวและอายมากขึ้น เริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์หรือนิตยสาร ทำให้เราเริ่มเก็บตัว ไม่อยากให้คนเห็นความเก้งก้างของเรา พลอยทำให้ความกล้าพูดของเราน้อยลงไปด้วย
แสดงว่าคุณเริ่มไม่กล้าแสดงออกตอนย้ายกลับมาอยู่ไทย
ใช่เลย (นิ่งคิด) ตอนอยู่เวียดนามเรารู้สึกมีอิสระมากกว่า แต่พอกลับมาอยู่ไทยมันเหมือนมีอะไรสักอย่างคุมเราจนเราไม่กล้าไปหมดเลย
แล้วมารีญาที่กล้าแสดงออกเริ่มกลับมาตอนไหน
เราเริ่มกลับมากล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นช่วง ม.ต้น เพราะเราตั้งใจเรียนมากจึงรู้ข้อมูลต่างๆ และกล้าตอบครู กล้าเถียงคนอื่นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งที่ใช่ต้องเป็นแบบไหน แต่เรายังอายเรื่องรูปร่างที่เก้งก้างอยู่นะ เวลาโดนทักเรื่องหุ่นว่า “อากาศข้างบนเป็นยังไงบ้าง” ถึงภายนอกเราจะหัวเราะแต่ภายในเราไม่โอเคเลย
ตอนเริ่มเป็นนางแบบคุณยังอายเรื่องรูปร่างอยู่ไหม
เรายังอายเรื่องหุ่นอยู่แต่ก็พยายามสร้างความมั่นใจให้ตัวเองตลอด จนตอนนี้ไม่แคร์และยอมรับได้แล้วว่าเราเป็นคนตัวสูงและผอม สิ่งที่เราต้องทำคือหาวิธีทำให้ตัวเองรู้สึกแข็งแรงขึ้น อาจใช้เวลาแต่ต้องหาวิธีนั้นให้ได้ หาข้อดีของมันแล้วโฟกัสที่จุดนั้น
แต่ถ้าไม่อยากปรับหรือปรับไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปปรับนะ เราคิดว่าบางวันเราก็ยอมรับเรื่องแบบนี้ได้ง่าย บางวันก็ยาก ความมั่นใจของเรามันขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ช่วงเวลาและความรู้
นอกจากการเป็นนางแบบ เห็นว่าตอนเด็กๆ คุณยังทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย
ใช่ เราทำกิจกรรมเยอะมาก เคยเรียนทั้งเปียโน วาดรูป ว่ายน้ำ เทนนิส และเทควันโด กิจกรรมเหล่านี้มีทั้งที่เราอยากเรียนเองและแม่ให้เรียน
เราว่าเราโชคดีมากที่พ่อแม่บอกว่าอยากทำอะไรก็ทำ มีคำพูดหนึ่งที่พ่อบอกเราตั้งแต่เด็กว่า “Have no regrets and you only regret the things you don’t do.” ตอนนั้นเราไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่ยิ่งโตแล้วยิ่งรู้สึกว่าใช่เลย อยากทำอะไรก็ทำ อยากเข้าใจอะไรก็ต้องศึกษาให้เต็มที่แล้วไปลอง เราจะผิดหวังถ้าไม่ได้ทำหรือไม่ได้พูด ถ้าเราทำแล้วไม่เวิร์ก
ก็ไม่เป็นไรเพราะเราได้ลองแล้ว
การลองทำกิจกรรมเยอะๆ คือการค้นหาตัวเองหรือเปล่า
แน่นอน บางทีเราไม่รู้ตัวเลยว่ากิจกรรมหรือสิ่งที่กำลังทำคือการค้นหาตัวตนของเรา บางทีเลยรู้สึกไม่ดีเท่าไหร่ที่บางคนบอกว่าเราต้องเลือก เพราะเราคิดว่าคนคนหนึ่งทำได้หลายอย่าง การโฟกัสแค่หนึ่งอย่างนั้นดีเพราะได้ทุ่มเทกับมันเต็มที่ แต่เราก็สามารถทำอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันได้ ถ้าต้องเลือกสิ่งที่อยากทำเพียงหนึ่งอย่าง เราเลือกไม่ได้จริงๆ
แล้วตอนนี้คุณตามหาตัวตนของคุณเจอแล้วหรือยัง
คิดว่าเจอแล้วในระดับหนึ่ง แต่เรายังเดินต่อไปข้างหน้าเพราะเราสร้างตัวตนขึ้นใหม่ตลอดเวลา ตัวตนของเราเป็นอะไรที่ไม่สิ้นสุดจนกว่าเราจะตาย
จักรวาลวงการบันเทิง
คุณมาทำงานในวงการบันเทิงได้ยังไง
ตอนนั้นเราอายุ 13 เป็นช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่ไปเรียนเทควันโด แล้วมีคนขอถ่ายรูปเราส่งไปให้แฟนที่อยู่ในวงการดู เขาเลยชวนมาแคสต์งานเดินแบบของ Bangkok Fashion Week จากนั้นเราก็ได้เดินแบบมาเรื่อยๆ แต่ช่วงนั้นเราไม่ได้สนใจเรื่องแฟชั่นเลย แค่คิดว่าเป็นการลองอะไรใหม่ๆ เท่านั้น
ต่อมาเราได้มีโอกาสไปถ่ายมิวสิกวิดีโอให้วง Lemon Soup ของค่ายสมอลล์รูม พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) เจ้าของค่ายเลยชวนไปเทสต์เสียงและทำเพลงด้วยกัน
การเป็นนักร้องคือตัวตนของคุณแล้วหรือยัง
ถ้าพูดถึงการเป็นนักร้อง เราชอบร้องเพลงแต่เราไม่ชอบเป็นนักร้อง เพราะการเป็นนักร้องทำให้เรารู้สึกเครียดและกดดันมาก เราต้องเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจเพื่อเอนเตอร์เทนคนดู ต้องบอกเขาว่าเรามีอะไรมาแสดงบ้าง แต่เราอยากอยู่หลังเวทีมากกว่า เลยได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ชอบอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำเป็นอาชีพได้ หรือตอนนั้นเราอาจยังไม่พร้อมก็ไม่รู้นะ เพราะพออัลบั้มออกก็ไปเรียนต่อเลย เราไม่ได้อยู่โปรโมตและลองแบบจริงจัง คิดว่าถ้าอยู่ต่ออาจได้ฝึกจนเริ่มชินมากขึ้น ถ้ามีเวลาสร้างผลงานเพลงในแบบของตัวเองเราอาจกลับมาร้องเพลงอีกก็ได้
แล้วงานในวงการบันเทิงทั่วไปใช่ตัวตนของคุณแล้วหรือยัง
ณ ตอนนี้รู้สึกว่าใช่ ถ้าเราไปในทางที่ถูกต้อง เพราะวงการบันเทิงเป็นช่องทางที่ดีในการสื่อสารบางอย่าง คนในวงการบันเทิงมีผลต่อแฟนคลับและคนทั่วไปมากๆ เราจึงระวังตลอดเวลาว่าเราสวมใส่อะไร ต้องดูว่าทำจากอะไร ส่งเสริมการล่าสัตว์ไหม และเราไม่ค่อยรับงานขายสินค้าฟาสต์แฟชั่นแบบเมื่อก่อนแล้ว
เหมือนคุณคิดว่า beauty privilege ของคนในวงการมีผลต่อสังคมไทย
ใช่เลย เราว่าคนในวงการควรมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลต่างๆ ที่สื่อสารออกไป เพราะคนในสังคมจะให้ความสนใจกับพวกเรามาก ถ้ายกตัวอย่างเราจะยกละครไทยที่ยังคงสื่อสารเรื่องผิดๆ ออกสู่สังคม เช่น ฉากผู้หญิงตบตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย เราแค่สงสัยว่าทำไมไม่คุยกับแฟนเขาเอง ทำไมถึงไปทะเลาะกับคนอื่น
เราอยากให้คนในวงการเลิกรับบทแบบนี้ แต่เข้าใจว่าหลายคนไม่ได้อยู่ในจุดที่เลือกรับงานได้เพราะเขาต้องทำเพื่อรายได้ แต่ถ้าทุกคนเลิกรับบทพร้อมกันคนที่มีอำนาจควบคุมบทจะยอมเปลี่ยน
เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอม เราเคยปฏิเสธบทที่ต้องทำงานใต้ผู้ชาย ต้องเรียกเขาว่านาย แล้วยังต้องไปตบตีกับผู้หญิงคนอื่นอีก เราไม่รู้ว่าเรามีสิทธิบอกว่าอะไรถูกอะไรผิดไหม แต่เราว่าบทแบบนี้มันไม่ดีต่อสังคมและแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังต้องปรับอีกหลายอย่างมาก
แสดงว่าคนมีชื่อเสียงควรมีส่วนร่วมกับประเด็นต่างๆ ในสังคม
แน่นอน เราเชื่อว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นของตัวเอง และยังเชื่อว่าความคิดเห็นของคนในวงการสำคัญต่อสังคม จึงอยากให้ศิลปินไทยกล้ามากขึ้นและพยายามมองว่านี่คือทางเดินของเขา อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยเพราะทุกคนมีเวลาเป็นของตัวเองและต้องเจอกับตัวเองถึงจะเข้าใจ เราไม่สามารถบังคับใครได้
แต่เราเข้าใจนะว่าทำไมศิลปินไทยถึงไม่กล้าออกมาพูด เพราะเราออกมาพูดประเด็นการเมืองก็โดนยกเลิกงาน ตอนนั้นได้แต่คิดว่าทำไมแบรนด์เลือกอยู่ฝั่งที่ผิด ฝั่งที่พูดไม่จริง ฝั่งที่กำลังสร้างอะไรลบๆ
สุดท้ายแล้ว เราต้องถามตัวเองว่าเราอยู่บนโลกใบนี้เพื่ออะไร สำหรับเราเราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง ไม่ได้อยู่เพื่อให้คนมาซื้อของตามเรา ให้คนมาใช้ของหรือทำเหมือนเรา แต่เราอยากสร้างคอมมิวนิตี้ที่เรา สังคม และสิ่งแวดล้อมจะอยู่ร่วมกันได้ แต่เราก็ไม่อยากบอกให้ใครทำอะไร ใครอยากทำตามเราก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือเรา
จักรวาลนางงาม
ตอนนั้นคุณคิดอะไรถึงตัดสินใจประกวด Miss Universe Thailand
ช่วงนั้นเราเรียนปริญญาโทใกล้จบแล้วอยากเปลี่ยนอาชีพ อยากเก็บสิ่งที่เราเคยทำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เราไม่อยากกลับไปเป็นนางแบบทั่วไปที่ต้องเสนอขายสิ่งของให้คนมาซื้อ แต่เราอยากทำอะไรที่จะอิมแพกต์สังคมมากที่สุด การเป็นนางงามซึ่งทุกคนเข้าใจว่าต้องช่วยสังคมจึงน่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่เราจะใช้ทักษะการเดินแบบที่มีมาผสมกับสิ่งที่เราอยากทำได้
อีกอย่างเราควรพูดในที่สาธารณะได้ถ้าเราอยากเปลี่ยนสังคม แต่เรากลับกลัวสิ่งนั้นมากจนมือสั่นและพูดไม่ออกอยู่หลายครั้ง การประกวดนางงามที่ต้องพูดกับคนจำนวนมากในที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องท้าทายที่น่าจะช่วยฝึกเราได้ เลยคิดว่าน่าจะต้องลองงานนี้
คุณคิดว่านางงามมีเสียงที่ดังกว่าคนอื่น
แน่นอนอยู่แล้ว ความคิดแรกของเราคือเราทำเพื่อสังคมด้วยช่องทางของตัวเองได้แต่อาจไม่ได้เกิดอิมแพกต์ในวงกว้างเท่านางงาม ซึ่งจริงแบบที่คิดไว้เพราะการเป็นนางงามทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น คนสนใจสิ่งที่เราพูดและสิ่งที่เราทำจนชวนเราไปทำงานด้านต่างๆ ครั้งหนึ่งเคยพูดเรื่องคุณแม่วัยใสแล้ว UNFPA (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ) ก็ติดต่อให้เราไปร่วมงานเลย แต่เมื่อได้พื้นที่ตรงนั้นแล้วเราก็พยายามสร้างพื้นที่ของตัวเองต่อ เเละเริ่มกลับมาทำสิ่งที่เราต้องการทำบ้าง
คุณต้องแลกอะไรในชีวิตบ้างเพื่อให้ได้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงสังคม
แลกความเป็นส่วนตัว ทั้งๆ ที่เราเป็นคนต้องการความเป็นส่วนตัวมาก จนช่วงแรกเรารู้สึกเศร้าและหดหู่เพราะเหมือนถูกจับตามองตลอดเวลา เช่น สังคมมีภาพจำว่านางงามต้องแต่งตัว แต่เราเป็นคนไม่ชอบแต่งตัว บางคนเห็นเราเขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย นี่ไม่ใช่นางงาม แต่เราเพิ่งคิดได้เมื่อต้นปีนี้เองว่าเราเป็นของเราแบบนี้ ถ้าคนอื่นไม่โอเคก็เรื่องของเขาแล้ว ตอนนี้เราเลยไม่แคร์ว่าคนจะมองยังไงถ้าเราใส่รองเท้าขาดๆ ไปไหนมาไหน (หัวเราะ) เพราะนี่คือตัวตนของเรา
เหมือนคุณต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา
ใช่ โดยเฉพาะเรื่องคำพูด แต่เป็นการระมัดระวังในทางที่ดีนะ เราต้องคิดก่อนพูด ไม่พูดด้วยอารมณ์ เพราะบางเรื่องมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น ถ้าพูดออกไปโดยไม่หาข้อมูลให้ดี คนที่ติดตามเราก็จะรู้แบบผิดๆ ไปด้วย
เราระวังเรื่องคำหยาบที่สุด เราจะไม่ใช้คำหยาบสื่อสารความคิดของเราเลยเพราะมันอาจลดความน่าเชื่อถือ แต่บางทีเราก็อยากใช้กับประเด็นแรงๆ นะ เช่น What the fuck! (หัวเราะ) มันเป็นอะไรที่อะไรวะจริงๆ แต่สุดท้ายเราก็หาวิธีอื่นที่สามารถสื่อความหมายนี้ได้เหมือนกัน
คุณมักเรียกร้องสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิเหนือเรือนร่างของผู้หญิง แล้วคุณไม่คิดว่าการประกวดนางงามเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงเหรอ
เราว่ามันเป็นเพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้น เรามองว่าการประกวดนางงามจะลดทอนคุณค่าผู้หญิงหรือไม่นั้นขึ้นกับกองประกวดว่าต้องการผู้หญิงแบบไหน ถ้าต้องการแบบเดิมๆ เราก็คิดว่ามันสร้างกรอบให้ผู้หญิงนะ แต่ใน Miss Universe 2017 ที่ Miss South Africa ได้ตำแหน่ง ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมของนางงามและผู้หญิงทั่วโลกเลย เพราะเป็นนางงามจักรวาลผิวดำคนแรกๆ แสดงให้เห็นว่ากองประกวดเริ่มเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น
อีกอย่างเราว่ามันขึ้นอยู่กับคนที่ได้ตำแหน่งด้วยว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไรออกไปและพยายามเปิดวงสนทนาให้ผู้หญิงในสังคมยังไงบ้าง จากสองประเด็นนี้เราจึงคิดว่าการประกวดสมัยนี้ส่งเสริมผู้หญิงให้พร้อมสู้กับสิ่งที่บีบพวกเธอได้ อย่างน้อยกลุ่มผู้เข้าประกวดก็ได้ทำตามเป้าหมายที่อยากทำ
คุณพยายามเปิดวงสนทนาที่ว่ายังไงบ้าง
เราไม่เคยบอกใครว่าต้องทำอะไร เราแค่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรู้สึกดีกับตัวเองก่อนถึงจะเป็นตัวอย่างได้โดยเฉพาะช่วงนี้ สิ่งที่เราทำลงไปคือตัวเรา เราไม่ได้พูดไม่ดีกับคนอื่น แค่เวลาใครทำอะไรที่เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้องต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจะบอกเขา เช่น ถ้ามีคนจอดรถยนต์ทิ้งไว้แต่ยังติดเครื่องอยู่ เราจะเป็นคนที่เคาะกระจกแล้วบอกเขาว่า พี่คะ มีคนอยู่ตรงนี้เต็มไปหมดเลย ช่วยดับเครื่องหน่อยได้ไหม ไม่จำเป็นต้องไปสู้กับเขา แค่บอกดีๆ บางคนเขาไม่รู้จริงๆ แต่ถ้าเขายังทำตามใจก็อีกเรื่องหนึ่ง
จักรวาลเพื่อสังคม
ที่บอกว่าประกวดนางงามเพราะอยากทำเพื่อสังคม คุณอยากทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า
ตั้งแต่จำความได้วันเกิดทุกปีแม่จะพาเราไปมูลนิธิดวงประทีปที่เป็นองค์กรช่วยเหลือเด็กและผู้ยากไร้ และโรงเรียนทุกโรงเรียนของเราก็ให้ความสำคัญกับ community service มาก สอนให้เราทำสิ่งต่างๆ ตอบแทนสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่รอบข้าง เพราะสิ่งเหล่านั้นมีผลต่อเราจึงต้องทำอะไรตอบแทนด้วย เราเลยคิดว่าการทำเพื่อสังคมเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่ควรจะทำ
คุณคิดว่าทุกคนควรทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม
เราอยู่ในสังคม การไม่คิดจะทำเลยมันก็ผิดธรรมชาติ แต่การทำเพื่อสังคมไม่ได้เจาะจงว่าต้องดีต่อสังคมเท่านั้น เราทำเพื่อตัวเองก็ได้ ทำเพื่อครอบครัวก็ได้ แต่ต้องระลึกเสมอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และควรรู้ว่าผลของสิ่งที่ทำคืออะไร ถ้าส่งผลเสียต่อสังคมก็ไม่โอเคแน่นอน
ถ้าคุณชอบทำเพื่อสังคม ทำไมถึงเรียนปริญญาตรีด้านธุรกิจและปริญญาโทด้านการตลาด
เพราะครูเศรษฐศาสตร์กับธุรกิจตอนมัธยมสอนสนุกมาก มีเรื่องให้คุยและถกกันในทางที่ดีตลอด อีกอย่างคือครอบครัวเรามาทางธุรกิจ ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่ามันอาจอยู่ในสายเลือดเลยไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ที่เนเธอร์แลนด์ แต่พอไปเรียนจริงๆ กลับรู้สึกว่าเราเลือกผิด
ทำไมถึงรู้สึกว่าเลือกผิด
พอคิดดูดีๆ แล้ว เราชอบด้านฟิสิกส์และจิตวิทยามากกว่าเลยเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาดเพราะคิดว่ามันเกี่ยวกับจิตวิทยามากขึ้นโดยไม่ต้องเริ่มใหม่มาก แต่ก็คิดว่าเลือกผิดอีกแล้วเพราะเราไม่ได้อยากเข้าไปทำงานบริษัทแล้วพยายามทำให้คนซื้อของของเขามากขึ้น
แต่สุดท้ายคุณก็ได้ทำงานด้านจิตวิทยาจากงานวิจัยเกี่ยวกับคนในคุก
ใช่ เป็นช่วงก่อนไปเรียนต่อ ตอนนั้นเราอยากช่วยกลุ่มคนในคุก เราสนใจว่าทำไมเขาต้องเข้าไปอยู่ในนั้น และวัตถุประสงค์ของคุกคืออะไร เรากลับมามองคุกที่ไทยเพราะรู้มาว่าที่นี่โหดมากและจัดการไม่ดี ได้รู้ว่าคุกไทยให้คนที่มีคดีฆาตกรรมอยู่ร่วมกับคนที่มีคดีลักทรัพย์ อย่างนั้นจะแบ่งข้อมูลกันยังไง พอออกมาเขาจะไม่แย่กว่าเดิมเหรอ แล้วก็เป็นอย่างที่เราคิดจริงๆ นั่นคือ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ออกจากคุกต้องกลับเข้าไปใหม่ เราเลยพยายามดูว่ามีอะไรที่ช่วยสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เขาได้บ้าง เช่น การสอนมวยไทย ศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ทางเรือนจำก็จัดกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น
เรารู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สังคมไม่แคร์และผลักไสให้พวกเขาอยู่อย่างทรมาน เพราะทุกคนไม่คิดว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเช่นเดียวกัน หลายคนมองว่าให้คนเหล่านี้อยู่สบายกว่าได้ยังไงในเมื่อพวกเขาไม่ได้จ่ายภาษี แต่เราว่าคนคุกเขาไม่มีสิทธิหลายอย่างและไม่มีทางเลือกอะไรเลย ลองคิดดูว่าถ้าให้เขาอยู่ในกล่อง เขาจะออกมาเป็นคนยังไง จะดีกว่าไหมถ้ามีอะไรที่สร้างสรรค์ให้เขาฝึกทำ เราว่าสร้างคนดีดีกว่าสร้างคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานนะ
คุณเชื่อเรื่องความเท่าเทียม
ความเท่าเทียมสำคัญแต่ความเสมอภาคก็สำคัญด้วย ทุกคนเก่งคนละด้าน เกิดมาคนละระดับ เราว่าคนบางกลุ่มอาจต้องได้รับการช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น
แล้วนอกจากงานพัฒนามนุษย์ เห็นว่าตอนนี้คุณกำลังสนใจงานพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ใช่ เรากำลังทำ SOS Earth ร่วมกับ co-founder ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตอนแรกที่ทำเราเริ่มจากกิจกรรมที่พาน้องๆ ไปเรียนรู้ระบบนิเวศในป่าเพราะอยากให้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น แต่หลังจากนั้นเราก็หันมาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งที่ทำเองและทำร่วมกับน้องหลิง (นันทิชา โอเจริญชัย) จาก Climate Strike Thailand พวกเราพูดถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนเข้าใจว่าทำไมต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทุกคนรู้ว่าเขาทำอะไรให้โลกได้บ้าง ทำเพื่ออะไร หรือทำไปทำไม เขาก็จะทำ เราเลยอยากให้คนเข้าใจมากขึ้น
ทำไมอยู่ๆ ถึงหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
เราใกล้ชิดธรรมชาติตั้งแต่เด็กๆ เพราะพ่อพาเข้าป่า ดำน้ำ หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตลอด แต่ตอนนั้นยังไม่รู้สึกรักธรรมชาติแค่รู้สึกสนุก หรือบางครั้งก็คิดว่าลำบากเวลาต้องออกไปที่ต่างๆ
แต่หลังจากไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศซึ่งทำให้เราได้ไปอยู่ในที่ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เราจึงรู้สึกถึงพลังของธรรมชาติและเริ่มเข้าใจว่าทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เช่น มลพิษในเมืองย่อมมีผลต่อระบบนิเวศในป่า หรือแม้กระทั่งน้ำที่สะอาดจนดื่มจากก๊อกได้ก็สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติกับคนเชื่อมโยงกัน ถ้ารอบข้างแย่ เราก็แย่ เลยคิดว่าเราต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแล้ว
นอกจากเชื่อในพลังของธรรมชาติแล้ว คุณเชื่อในอะไรอีกบ้าง
ไม่รู้ว่าใช้คำว่า ‘เชื่อ’ ได้ไหม แต่เรารู้สึกถึงพลังของมนุษย์ ตอนแรกเราคิดว่าการทำงานกับคนมันยากมาก เราเลยหันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้ไม่ต้องยุ่งกับคนมากมาย (หัวเราะ) แต่ว่ายิ่งทำก็ยิ่งเข้าใจว่าจริงๆ แล้วคนเป็นพลังสำคัญของสังคมที่ทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น คนทำให้สิ่งแวดล้อมเสียได้แต่ก็ทำให้ดีขึ้นได้ด้วย
แล้วคุณทนได้ไหมถ้าไม่ได้ทำเพื่อสังคม
เราว่าเป้าหมายสูงสุดของทุกคนคือการมีความสุข แต่ความสุขของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน สำหรับเราเราไม่สามารถมีความสุขได้ถ้ารู้ว่าคนรอบข้างไม่มีความสุข
จักรวาลมนุษยธรรม
ตอนนี้คุณรู้สึกยังไงบ้างที่คำตอบของคุณบนเวที Miss Universe 2017 ที่ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดคือการเคลื่อนไหวโดยเยาวชน กำลังเป็นเรื่องจริง
เราเคยบอกแล้ว ทำไมไม่ฟัง (หัวเราะ) ที่ตอนนั้นตอบไปแบบนั้นเพราะเรากำลังศึกษาเรื่องประชากรในแต่ละประเทศ พบว่าเมื่อคนมีการศึกษามากขึ้นก็จะมีลูกช้าลง จะมีช่วงหนึ่งเสมอที่คนแก่มีจำนวนเยอะและเด็กมีจำนวนน้อย เลยคิดว่าน่าจะส่งผลอะไรสักอย่างต่ออนาคต แล้วเราคิดว่าเยาวชนคือความหวังและเป็นกลุ่มที่แคร์ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ตอนนั้นเลยตอบว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่
เด็กรุ่นใหม่ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ จริงๆ คิดว่าไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่ด้วยซ้ำแต่เป็นคนสมัยนี้เกือบทุกคน เพราะเขาไม่ได้ออกมาพูดอย่างเดียวแต่เขามีเหตุผล มีวิธีสร้าง และมีวิธีแสดงความคิดให้ออกมาเหมือนศิลปะ
ไม่นานมานี้มีเด็กคนหนึ่งไปนั่งแถวสยาม ใส่ชุดนักเรียนไทยพร้อมแขวนป้ายที่เขียนว่า ฉันกำลังไว้ทรงผมผิด กรุณาช่วยตัดและสอนฉันหน่อย เรารู้สึกว่ามันคือวิธีที่ไม่ได้ลบหลู่หรือทำให้ใครเดือดร้อนแต่เขาแค่แสดงให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คุณอยากจะร่วมตัดผมเขาไหมหรือจะปล่อยให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เรารู้สึกว่านี่แหละคือการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ สิ่งที่พวกเขาทำเป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับไปทบทวนและฝึกฝนตัวเองเหมือนกัน
ทำไมความคิดสร้างสรรค์ถึงสำคัญกับการแสดงออก
เพราะทำให้เราได้เปิดกรอบบางอย่าง เป็นการสื่อสารที่ให้คนคิดต่อเองโดยไม่ได้บอกตรงๆ
มองย้อนกลับไป คุณตอนวัยรุ่นเป็นยังไงบ้างเมื่อเทียบกับวัยรุ่นสมัยนี้
ตอนนั้นเราไม่ได้แคร์เรื่องสังคมและการเมืองมาก ขนาดตอนเราอยู่ ม.6 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง เราเพียงรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นแต่ไม่ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพราะเราไม่ได้ศึกษาเรื่องนั้น พอเห็นเด็กสมัยนี้ใส่ใจเรื่องสังคมและการเมืองมากขึ้นเราก็ดีใจ เพราะการเมืองมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน การที่เขาออกมาเคลื่อนไหวหมายความว่าเขาแคร์สิทธิและอนาคตของเขา ถ้าเขาไม่แคร์เขาก็ไม่ออกมาพูด ไม่ออกมาขับเคลื่อนอะไร
คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวและการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในช่วงนี้สะท้อนอะไร
เราว่าที่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะพยายามจะเดินไปข้างหน้าแต่ระบบยังไม่คืบหน้าไปไหน พวกเขาเลยอึดอัดและต้องการการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ถ้าพยายามเก็บเอาไว้เราน่าจะอยู่ไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี
Change can be good. Change is a nice thing. Change is available.
แล้วการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
เราว่ามันเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่นะ การที่น้องๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นทำให้คนเริ่มคิดและเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมถึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผล ถ้าคนในสังคมไม่ถามคำถาม เขาอาจไม่แคร์ แต่เราเชื่อว่าคนที่แคร์เขาจะถาม เขาจะรู้ และเขาจะรู้สึกว่า เฮ้ย มีคนอื่นที่รู้สึกเหมือนเรา
การที่คนออกมาพูดสิ่งที่คิด แสดงสิ่งที่รู้สึก มันทำให้คนที่รู้สึกแบบเดียวกันกล้าออกมาทำอะไรบางอย่าง
ในฐานะที่คุณเติบโตในหลายประเทศ คุณคิดว่าแต่ละประเทศให้ค่าสิทธิพื้นฐานของประชาชนแตกต่างกันมากไหม
ต่างกันมาก เรื่องสิทธิเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนสวีเดนให้ความสำคัญ ทุกคนต้องรู้จักสิทธิของตัวเองเพื่อทำตัวให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคม ถ้าเราไม่รู้สิทธิเราอาจไม่รู้ว่าเราก็เป็นพลเมืองที่ดีได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าสิทธิที่มีอยู่ไม่รอบคอบพอ เราต้องพยายามคุยกับคนที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพราะมันเป็นเรื่องที่คุยกันได้ เหมือนได้เลือกอาหารที่จะกิน เรารู้ว่าเราไม่ชอบอะไรแต่ก็พยายามทำให้ตัวเองพอใจมากที่สุด ถ้าปรุงได้ก็ปรุง ปรุงไม่ได้ก็หาวิธีอื่น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ทุกคนจะได้สิทธิเรียนฟรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เรื่องนี้สำคัญมากเพราะเมื่อทุกคนมีการศึกษาพวกเขาก็จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองและทำหน้าที่ตามที่ตนถนัด รัฐบาลไม่สามารถบอกหรือบังคับให้ใครทำอะไรได้ ขณะที่นักเรียนไทยโดนกดและไม่สามารถถามคำถามอะไรได้เลย เรียกว่าต้องอยู่ในกรอบมากๆ
สิทธิทางการศึกษาคือสิทธิหนึ่งที่คุณให้ความสำคัญ
ใช่ แต่ไม่ใช่แค่การศึกษาอย่างเดียวและไม่ใช่การศึกษาระบบเก่าที่ให้คนไปทำงานในระบบแรงงาน แต่เป็นการศึกษาแบบใหม่ที่ลื่นไหลซึ่งมีการสอน spiritual reality เพราะถ้าสอนเด็กๆ แค่การศึกษาแต่ไม่สอน spiritual reality เขาจะเป็น evil genius แต่ถ้าเราสอนเรื่องนั้นด้วยเขาจะเข้าใจธรรมชาติและตัวเองมากขึ้น
แสดงว่าการเติบโตในครอบครัวไทย-สวีเดนส่งผลต่อมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพของคุณพอสมควร
แน่นอน ตอนเด็กเรารู้สึกว่าเราไม่เข้ากับที่ไหนเลย ตรงนี้ก็ไม่ใช่ ตรงนั้นก็ไม่ใช่ ตอนนั้นค่อนข้างเศร้า แต่ยิ่งโตยิ่งรู้สึกดีเพราะจริงๆ แล้วเราเข้าได้กับทุกที่ เราว่าตัวเองเป็นคนไทยแต่ความคิดออกแนวตะวันตกนิดหนึ่ง
นอกจากสิทธิทางการศึกษาคุณคิดว่าสิทธิพื้นฐานที่คนไทยกำลังถูกลิดรอนมากที่สุดในตอนนี้คืออะไร
ทุกคนแค่อยากมีสิทธิที่จะพูดความคิดของเขา แล้วยิ่งมีการศึกษามากขึ้นคนยิ่งเข้าใจมากขึ้น มีโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนรับรู้เรื่องต่างๆ เร็วขึ้น คนก็ต้องมีคำถามอยู่แล้ว คำถามคือ ทำไมเราถึงถามไม่ได้ ทำไมเราไม่ได้คำตอบจากคนที่ควรจะตอบเรา ทั้งๆ ที่ประเทศอยู่ได้เพราะทุกคน ไม่ใช่แค่เพราะรัฐบาลไม่กี่คน
เราปิดหูกันอยู่ได้ยังไงถ้าอยากเดินไปข้างหน้า เราต้องรับฟังทุกความเห็น แม้กระทั่งความเห็นที่อาจไม่เข้ากับความคิดของตัวเองก็ต้องฟังว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น เมื่อเข้าใจเราจะเดินต่อไปได้ ถ้าเราไม่เข้าใจก็เหมือนเราเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ
หลายคนบอกว่าคุณกล้ามากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงนี้
ตอนนั้นมีกระแส Black Lives Matter พอดีกับที่ในไทยมีแฮชแท็ก #SaveWanchalerm เราเลยไปสืบดูว่าใครกำลังป่วนอะไรหรือเปล่า วันแรกผ่านไปไม่มีสื่อไทยไหนเขียนถึงเรื่องนี้ วันที่สองก็ยังไม่มี วันที่สามก็ยังคงเงียบอยู่ เราเลยเริ่มสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงเหรอ แล้วทำไมเงียบขนาดนี้
จริงๆ ตอนแรกเรากลัวนะ แต่ก็คิดว่าถ้าสิ่งที่เราทำและพูดคือสิ่งที่ถูกต้องเราจะกลัวไปทำไม เราไม่อยากตกอยู่ภายใต้ความกลัวนั้น เพราะมันเป็นคำถามที่เราอยากรู้และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้เลยตัดสินใจเขียนออกไป ซึ่งเราดีใจมากที่ได้เขียนออกไปแบบนั้น แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมมาตอบเราคนเดียว ทำไมถึงไม่ไปตอบประชาชนที่กำลังถามและประท้วงอยู่
แล้วแม่เห็นด้วยกับการแสดงความเห็นของคุณไหม
แม่ไม่ได้ว่า แม่ได้ยินจากเพื่อนๆ ของเขาเลยมาถามเราว่าเกิดอะไรขึ้น พอเล่าให้ฟังเขาก็บอกว่าโอเค เป็นตรรกะที่ดี เพราะถ้ามันเกิดขึ้นกับเราเราก็อยากให้คนอื่นถามคำถามนี้เหมือนกัน
มีคนมาเตือนคุณบ้างไหม
มีหลายคนมาเตือนจนเรานอนไม่หลับเลย แต่เราก็กลับมาถามตัวเองเหมือนเดิมว่าทำไมถึงกลัว ทำไมเรายังอยู่ในยุคที่ต้องกลัวการตั้งคำถาม แปลว่ามันมีอะไรสักอย่างที่ผิดปกติหรือเปล่า
เราไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความกลัว
ใช่ การใช้ชีวิตด้วยความกลัวมันน่ารำคาญมาก มันทำให้ชีวิตเรายาก และเป็นกำแพงกีดกั้นให้เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ เลยคิดว่าถ้าเรากลัวอะไรก็ควรพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ปีนี้เป็นปีที่เรากำลังผจญกับความกลัวของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงความคิดเห็น เช่น เรากลัวความสูงมากเลยตัดสินใจไปปีนเขา พอไปปีนแล้วเรารู้สึกถึงพลังของตัวเองเลย เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าเราทำได้ เราเอาความกลัวนั้นออกไปได้
แล้วคนที่กำลังกลัวควรก้าวข้ามความกลัวต่างๆ ยังไง
ถ้ารู้สึกอะไรอยู่เราน่าจะไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น สมัยนี้มีโซเชียลมีเดียที่สามารถหาคนที่คิดแบบเราได้ เราสามารถไปเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดแล้วใช้เวลากับมันเพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์และถูกต้อง
เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง แล้วจะเข้าใจว่าเราสามารถก้าวข้ามความกลัวด้วยวิธีไหนได้บ้าง เพราะถ้าเรากลัวแสดงว่าเราอยากทำอะไรสักอย่างแต่ไม่กล้า เราก็ต้องหาช่องทางเพื่อเลิกกลัวให้ได้
คุณพูดในฐานะคนคนหนึ่งหรือในฐานะนางงาม
เราพูดในฐานะคนคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ทั้งตัวเราและทุกๆ คน