ไอติม พริษฐ์ กับประชาธิปไตยที่ไม่มีวันละลาย

Highlights

  • ไอติม–พริษฐ์ วัชรสินธุ นิยามชีวิตส่วนใหญ่ๆ ของเขาว่าเป็น 'นักการเมืองอิสระ' เขาเรียนและทำงานเกี่ยวกับด้านนี้มาตลอดชีวิตเพราะความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาที่ซ้อนทับกันได้ในประเทศนี้แก้ได้ด้วยการเมือง
  • ถึงจะคิดแบบนั้น แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อน ไอติมลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาเป็นที่พูดถึงในหลายๆ แง่ ตั้งแต่เรื่องอุดมการณ์ไปจนถึงการแพ้เลือกตั้ง แต่สุดท้ายเขาบอกเราว่าประสบการณ์ครั้งนั้นคือบทเรียนชั้นดีที่ทำให้เขาได้เติบโตและเรียนรู้อะไรบางอย่าง
  • สุดท้าย ไอติมเชื่อว่ากับเวลาที่เหลือ เขาต้องต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาคิดว่าถูกต้อง และใช่, อุดมการณ์นั้นมีชื่อว่า 'ประชาธิปไตย'

ผลงานหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวในตอนนี้ของ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ มีชื่อว่า WHY SO DEMOCRACY  

ประชาธิปไตยมีดีอะไร

ในฐานะนักเขียน–หนังสือเล่มนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านคำถามย่อย 26 ข้อ พร้อมบทความเขียนตอบที่ใส่ทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของ ไอติม อย่างแยบคาย ตั้งแต่คำถามที่ว่า เราควรรักชาติไหม? ไปจนถึงคำถามอย่าง ถ้าประชาธิปไตยทำประเทศพัง ทำไมยังควรเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่?

ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่–หนังสือเล่มนี้มีทัศนะของ ไอติม ต่อประชาธิปไตยในหลายแง่มุม แม้เขาไม่ได้วิพากษ์ความเชื่อตัวเองอย่างหมดเปลือก อย่างน้อยตัวอักษรใน WHY SO DEMOCRACY ก็ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเขาได้เป็นอย่างดี

แต่หลังจากอ่านจบ กลับมีสิ่งที่ผมสงสัยมากไปกว่านั้น นั่นคือภายใต้เนื้อหาเกือบ 300 หน้าและถ้อยคำวิชาการที่เขาเลือกใช้

ไอติม ‘รู้สึก’ อย่างไรกันแน่?

เขารู้สึกอย่างไร–ที่ตลอดชีวิต 27 ปีที่ผ่านมา ไอติม ผู้สนใจในการเมืองตั้งแต่เด็กกลับต้องเห็นการเมืองในประเทศมีแต่ถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ แทบไม่ต่างอะไรจากวันเวลาที่เขาเติบโตมา

เขารู้สึกอย่างไร–กับการทำตามฝันลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปีที่แล้ว แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้และต้องเดินออกจากพรรคเนื่องจากพรรคตัดสินใจร่วมรัฐบาลที่เขาลงความเห็นว่า ‘ไม่ถูกต้อง’ 

และเขารู้สึกอย่างไร–กับอุดมการณ์และคนรุ่นใหม่ที่ถูกท้าทายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เราพบกันในบ่ายวันหนึ่งท่ามกลางวันเวลาที่การเมืองเต็มไปด้วยการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ บทสนทนาที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต บางคำถามเป็นคำถามใหม่ แต่บางคำถามก็เป็นคำถามเดิมที่ผมหวังว่าคราวนี้ ไอติม จะอธิบายกับผมทั้งในแง่มุมของข้อเท็จจริงและความรู้สึก

‘ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’

ผมขอใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตยให้ ไอติม ได้ตอบคำถามดังกล่าวอีกครั้งด้วยตัวตนและเรื่องราวชีวิตต่อจากนี้

ไอติม

1

การเมืองสิ้นหวังถึงขนาดเราต้องเล่นมุกเกี่ยวกับมัน

แดดร้อนยามบ่ายทำให้ผมต้องนัดพบไอติมที่ร้านกาแฟ

จากที่ตกลงกันตอนแรก เราจะนั่งพูดคุยกันที่นี่ก่อน และเมื่อแสงอาทิตย์ปรานีกว่านี้ ผมตั้งใจย้ายวงสนทนาไปที่สวนใกล้ๆ เพื่อคุยเรื่องการเมืองท่ามกลางผู้คนที่ผ่านไปมา

“ผมชอบนะ ปกติไม่ค่อยได้ไปสวนเท่าไหร่” หลังจากกล่าวทักทายกันและอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นวันนี้ ไอติมบอกผมพร้อมรอยยิ้ม

“ไม่กังวลที่จะคุยเรื่องการเมืองในที่สาธารณะใช่ไหม” ผมสอบถามเขา ก่อนได้รับการส่ายหน้าปฏิเสธเป็นคำตอบ

“น่าเสียดายมากที่หลายคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ ไม่ควรต้องมีใครกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองหรือการโดนจับในการพูดความคิดของตัวเอง ไม่ว่าความคิดนั้นถูกหรือผิด ไม่ว่าคิดมานานแล้วหรือเพิ่งคิดได้ และผมว่าสิ่งนี้สะท้อนปัญหานะ นี่เป็นอุปสรรคให้หลายคนมองว่าการเมืองไม่ตอบโจทย์ชีวิตเพราะเขาไม่ได้พูด แต่สุดท้ายผมก็เข้าใจแหละว่าทำไม ทุกวันนี้สังคมไม่ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ทุกคนพูดความคิดของตัวเองได้ขนาดนั้น”

ถ้าดูจากความดังของเสียงในการอธิบายเรื่องนี้ในร้านที่คนพลุกพล่าน เหมือนไอติมอยู่ตรงข้ามกับความกังวลนี้โดยสิ้นเชิง

“แล้วคุณคิดอย่างไรกับการพูดเรื่องการเมืองในโซเชียลมีเดียและมีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘พิซซ่าไหม’ หรือ ‘อยากกินอะไร เดี๋ยวซื้อไปให้’” 

“ผมสลดใจทุกครั้ง เป็นตลกร้ายที่ถ้ามองผิวเผินอาจเป็นมุกที่คนเล่นกัน แต่ถ้ามองลึกลงไป การที่คนทำแบบนี้สะท้อนถึงปัญหาที่มีอยู่จริง มันสิ้นหวังถึงขนาดที่เราต้องเล่นมุกเกี่ยวกับมันเพราะเราแก้ไขไม่ได้ เราคาดการณ์กันไปแล้วว่าการที่คนออกมาพูดความคิดตัวเองต้องติดคุก นั่นเจ็บปวดมากนะ เพราะสำหรับผม เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย”

ในช่วงเวลาที่เราสนทนากัน ในที่ที่ไม่ไกลออกไปเท่าใดนัก เพิ่งปรากฏข่าวการจับกุมกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง แม้การชุมนุมครั้งนั้นไม่ได้ยืดเยื้อและถ้อยคำต่างๆ ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น แต่ผลลัพธ์คือการที่ผู้ชุมนุมบางคนถูกหิ้วตัวระหว่างอยู่กับลูกสาว หรือบางคนถูกจับกุมระหว่างใช้เวลากับพ่อแม่

เหมือนหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศนี้ช่างเปราะบางเสียเหลือเกิน

ไอติม

“ผมเติบโตมาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยม ความเป็นประชาธิปไตยที่นั่นสมบูรณ์แล้ว แม้กระทั่งในห้องเรียน ครูสามารถพูดเรื่องการเมืองกับนักเรียนได้ นักเรียนเห็นต่างก็ไม่เป็นไร เขาสามารถถกเถียงกันบนเนื้อหา เสร็จปุ๊บก็ยังสามารถกลับมาเป็นครูและลูกศิษย์ได้เหมือนเดิม สิ่งนี้ผมว่าแตกต่างกับประเทศไทยอยู่มาก หรืออย่างหัวข้อที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นเรียกร้องทางการเมืองไทยในตอนนี้ ที่นั่นเขาเอามาพูดกันก่อนแล้วเพราะเขามองว่าในเมื่อบางอย่างล้าสมัยและไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางที่ดีที่สุดคือการเอามาพูดคุยและออกแบบใหม่

“อย่าไปมองว่าความเห็นต่างคือการทะเลาะหรือปะทะกันเลย คนสองคนเห็นต่างกันในจุดหนึ่งได้ แต่เราต้องไม่ขยายความว่าคนที่เห็นต่างหรือโต้แย้งคือศัตรู ความต่างคือสิ่งสร้างสรรค์และสวยงาม มันเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์ให้เกิดพัฒนาการในความรู้ของมนุษย์ แต่ถ้าคุณไม่เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง เราคงอยู่กับความเชื่อที่ผิดเหมือนเดิม”

“การเติบโตมาในที่ที่ประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างประเทศอังกฤษทำให้คุณสนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษหรือเปล่า” ผมทวนถามตามที่เข้าใจ แต่เป็นอีกครั้งที่ไอติมส่ายหน้าปฏิเสธก่อนตอบ

“ผมสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงประถมฯ แล้ว”

2

ถ้าจะเปลี่ยนประเทศ ต้องเปลี่ยนที่การเมือง

ความทรงจำแรกทางการเมืองของเด็กชายพริษฐ์ วัชรสินธุ คือป้ายหาเสียง

สำหรับเขา การเมืองที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในวันหนึ่งตอนอายุ 13 ปี ระหว่างนั่งรถไปโรงเรียนไอติมสังเกตเห็นป้ายหาเสียงของผู้ลงสมัคร ส.ส.อย่างกรณ์ จาติกวณิชและดนุพร ปุณณกันต์ จากเขตสาทร กับ หม่อมหลวงอภิมงคล โสณกุล และพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ จากเขตสีลมอยู่ทุกวัน (“ผมจำได้ขนาดนั้น”–เขาว่า)

จนวันหนึ่ง ไอติมก็เอ่ยปากถามผู้ปกครอง

“ป้ายนี้คืออะไรครับ คนเหล่านี้เป็นใคร”

“นี่คือคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง” พ่อแม่ตอบเขาแบบนั้น และคำตอบนี้เองที่จุดไฟบางอย่างในตัวไอติม

“ตั้งแต่เด็กแล้วที่ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าหลายคน ถึงเรียนได้คะแนนดี สอบชิงทุนไปเรียนที่อังกฤษได้ ในมุมหนึ่งผมดีใจ แต่อีกมุมหนึ่งผมก็รู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะความโชคดีที่ผมสามารถขยันได้ ผมสามารถทุ่มเทให้กับการเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้มีภาระหน้าที่นอกเหนือจากนั้น ต่างกับเด็กบางคนที่คะแนนอาจไม่ดีแต่ผมเห็นว่าเขาไม่ได้ขี้เกียจเลย เขาแค่ไม่มีโอกาสขยันเพราะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปหารายได้ดูแลครอบครัว นั่นคือความแปลกประหลาดที่ทำให้ผมตั้งคำถามว่าทำไมคุณภาพชีวิตคนถึงต่างกันได้ขนาดนี้ และยิ่งโตขึ้น ผมยิ่งเห็นปัญหาแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากไปเรียนที่อังกฤษ ผมยิ่งเห็นปัญหาของเมืองไทยมากกว่าเดิม

“ที่อังกฤษ พ่อแม่สามารถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้านได้ ผู้คนสามารถไปโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ สาเหตุเพราะพวกเขารู้สึกว่าส่งไปที่ไหน คุณภาพของโรงเรียนและโรงพยาบาลทั่วประเทศก็คล้ายๆ กัน เกิดที่ไหน ก็เรียนที่นั่น ทำงานที่นั่น ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายที่ต้องย้ายไปเมืองใหญ่ หรืออย่างการที่ประเทศไทยต้องพยายามทำงานแทบตายเพื่อมีเงินซื้อรถขับ แต่ที่อังกฤษ คนที่รายได้สูงส่วนใหญ่ก็ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพราะสะดวกสบายกว่า ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับเรามาก มันทำให้ผมเริ่มตั้งคำถาม แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ผมเห็นความเป็นไปได้ด้วย

“ถ้าอยู่ประเทศไทยอย่างเดียว ผมอาจรู้สึกว่า ‘ก็เป็นแบบนี้แหละ เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก’ แต่การใช้ชีวิตที่อังกฤษและเห็นว่าเขาทำได้ มันยืนยันกับผมว่าเรื่องนี้เป็นไปได้จริงแต่แค่ยังไม่เกิดขึ้นกับเรา และในเมื่อผมเข้าใจว่าถ้าอยากเปลี่ยนประเทศต้องเปลี่ยนที่การเมือง ผมจึงไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในคณะเกี่ยวกับการเมืองเพื่อเข้าใจตรงนี้มากขึ้น”

“ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องนี้ เพราะถ้าว่ากันตามจริง เด็กหลายคนคงสนใจเรื่องอื่นต่างจากคุณ” 

“คงมาจากความเป็น perfectionist ของผมด้วย ผมชอบเรียนเลขตั้งแต่เด็ก ชอบแกะสมการ เพราะผมชอบความรู้สึกเวลาแก้ปัญหาได้ และพอเห็นประเทศเป็นแบบนี้ ผมว่านี่ไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ถึงแม้ห้องผมโอเคแต่ถ้าที่อื่นในบ้านแย่ ผมก็อยากหาค่า X ของประเทศนี้ให้ได้และแก้ไขมัน”

คณะปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คือก้าวต่อไปที่ไอติมเลือก ที่นั่นเขาได้เล่าเรียนศึกษาศาสตร์ความรู้อย่างที่หวัง แต่ไอติมบอกกับผมว่าสิ่งที่ทำให้เขาชัดเจนในตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนสักเท่าไหร่ แต่เป็นการลงเลือกตั้งสมาคมนักศึกษาที่มีชื่อว่า Oxford Union มากกว่า

“ในปีแรกที่มหาวิทยาลัยผมลงเลือกตั้งและได้รับเป็นคณะกรรมการล่าง ปีที่สองได้เป็นคณะกรรมการบน ปีที่สามได้เป็นเหรัญญิก และปีที่สี่ผมได้เป็นประธาน ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้ผมเรียนรู้อะไรเยอะมาก เพราะในแต่ละครั้ง ผมต้องวิเคราะห์ มองหาโอกาสผ่านศักยภาพขององค์กร ฟอร์มทีมเลือกตั้งและทำตามนโยบายที่พูดออกไปให้ได้ ในมุมหนึ่งนี่จึงเป็นเหมือนการฝึกทำงานการเมืองในสนามจริง”

“มีเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษไหมที่ย้ำความตั้งใจว่าคุณจะทำงานด้านนี้ต่อไปแน่ๆ” 

“ตอนที่ลงเลือกตั้งเป็นประธาน นั่นเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญมากเพราะถ้าได้รับเลือก ผมต้องหยุดพักการเรียนไปหนึ่งปีเพื่อทำงานนี้ มันเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย จุดนั้นบีบบังคับให้ผมต้องตัดสินใจว่าประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่าหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่เราอยากทำต่อไปไหม ผมได้ถามตัวเองเยอะ แต่สุดท้ายก็ตอบตัวเองได้ว่าคุ้ม”

“ขอพูดตามตรงได้ไหม” ผมขออนุญาตเขาเพื่อถามสิ่งที่ตัวเองรู้สึกและสงสัย

“เท่าที่ฟังมาทั้งหมด ทำไมชีวิตคุณดีจัง แต่ละก้าวดูลงตัวไปหมด ไม่มีจุดไหนที่สะดุดบ้างเลยหรือ”

เป็นครั้งแรกในการสนทนาที่ไอติมหัวเราะเบาๆ ก่อนตอบ

“ทุกอย่างไม่ได้สวยหรูหรอกครับ”

ไอติม

3

ทำงานการเมือง จิตคุณต้องแข็ง

Oxford Union คือองค์กรนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในมหาวิทยาลัยโดยนักศึกษาที่เป็นคณะกรรมการบริหารทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง องค์กรแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วเพราะคนรุ่นใหม่ในเวลานั้นไม่สามารถพูดหลายๆ ประเด็นในที่สาธารณะได้ พวกเขาจึงสร้างชมรมลับขึ้นมาในผับเพื่อดีเบตกันในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ Oxford Union ยังคงยึดหลักการเดิม ในแต่ละปีพวกเขาจะหยิบประเด็นในสังคมมาโต้วาทีกันโดยเชิญวิทยากรภายนอกเข้าร่วมด้วย 

“ปีที่เป็นประธาน ตอนนั้นผมตั้งญัตติขึ้นมาว่า ‘เราควรภูมิใจในความรักชาติของตัวเองไหม?’ สำหรับฝ่ายที่ภูมิใจ ผมตัดสินใจเชิญ Tommy Robinson นักเคลื่อนไหวหัวหน้ากลุ่ม English Defence League เขาเป็นคนที่ค่อนข้างมีความคิดรุนแรง เหยียดสีผิวและศาสนาโดยการปราศรัยที่ไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริง พูดง่ายๆ ว่าเขาเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ ความคิดเขาขัดกับผมด้วยซ้ำเพราะผมก็เป็นคนต่างชาติที่ไปเรียนที่อังกฤษ แต่ที่ตัดสินใจเชิญไม่ใช่เพราะยกย่องเห็นด้วย ผมแค่อยากให้เกิดการพูดคุยกันกับอีกฝ่ายและหักล้างกันด้วยเหตุผล ซึ่งกลายเป็นว่าพอประกาศออกไป ผมโดนต่อต้านเยอะมาก มีจดหมายข่มขู่ว่าถ้าจัดจะมีคนมาประท้วง สุดท้ายหลังจากคุยกับทางมหาวิทยาลัย งานก็ต้องล่มไป 

“หรืออย่างอีกเหตุการณ์หนึ่ง อันนี้ผมไม่ได้โดนเอง แต่เป็นเพื่อนผมที่ทำงานใน Oxford Union โดนกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน และโดยส่วนตัว ผมก็เห็นว่าชีวิตของคนที่โดนล่วงละเมิดทางเพศโดนทำลายขนาดไหน พวกเขาควรได้รับการปกป้องและคุ้มครองมากกว่านี้ แต่ครั้งนั้นที่เพื่อนผมเจอ เขาโดนตำรวจลากไปจากห้อง มีข่าวลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอสืบสวนเสร็จ ปรากฏว่าไม่มีหลักฐาน อีกฝ่ายให้การในตอนจบว่าเรื่องทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งหมดคือการใส่ร้ายที่เหมือนมีแรงจูงใจจากการแข่งขันเลือกตั้งสมาคม แต่ราคาที่เพื่อนผมต้องจ่ายคือต้องลาออกจากสมาคม โดนพักการเรียน เป็นโรคซึมเศร้า และงานที่เคยได้ก็ถูกยกเลิก มันคือความโหดร้าย ความน่าเกลียดและสกปรกของสิ่งที่เรียกว่าการเมือง”

“เห็นตัวอย่างขนาดนี้ บางคนอาจรู้สึกแขยง แต่ทำไมคุณถึงยังคงอยากทำงานการเมืองต่อ มีจุดไหนที่คุณลังเลบ้างไหม” ผมถามให้ไอติมนึกย้อน 

“ไม่เลยนะ ไม่ได้ทำให้ผมลังเลเลย เพราะผมรู้ว่าถ้าทำงานการเมือง จิตคุณต้องแข็ง นักการเมืองมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก ดังนั้นสมควรที่คุณโดนตรวจสอบอย่างเข้มข้น สมควรที่คุณถูกตั้งคำถามในทุกความเห็น สมควรที่คุณโดนตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์ในทุกๆ การกระทำ เพราะหน้าที่ของคุณส่งผลต่อคนเป็นล้านๆ คน นี่ไม่ใช่อาชีพที่สบายอยู่แล้ว”

ท้ายที่สุดหลังจากหมดวาระในตำแหน่งที่ Oxford Union ไอติมกลับมาเรียนต่อปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา เป็นที่หนึ่งของรุ่น แม้อายุน้อย แต่ด้วยประสบการณ์ ความรู้และความตั้งใจในเวลานั้น ดูเหมือนเขาพร้อมลงสนามทางการเมืองอย่างที่ปูพรมไว้ แต่กลายเป็นว่าในความเป็นจริง เขาเปลี่ยนใจเข้าทำงานในบริษัทที่ปรึกษา ไม่ได้เริ่มต้นในเส้นทางที่วางแผนไว้แต่แรก

ไม่ใช่ไม่อยาก แต่ไอติมบอกผมว่าแท้จริงแล้วเขาเจ็บปวดกับเรื่องนี้มากกว่าใคร

“ไฟแรงมาก จบมาก็อยากทำงานเลย แต่ความเป็นจริงคือตอนนั้นประเทศไทยเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2557 พอดี มันน่าเจ็บใจทั้งในแง่ของประเทศนี้และตัวผมเอง เพราะก่อนหน้านั้นระหว่างเรียนผมติดตามข่าวการเมืองในประเทศอยู่ตลอด และผมผิดหวังในรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์มาก 

“การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมตอนกลางคืนของรัฐบาลเป็นการกระทำที่ผมไม่เห็นด้วย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้เห็นพลังสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน พลังของประชาชนในการชุมนุมทำให้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรมต้องถูกพับลงไป แต่กลายเป็นว่าพอเรื่องจบ การชุมนุมกลับไม่จบ มันเลยเถิดโดยพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปมีส่วนร่วม แทนที่เราจะกลับมาอยู่ในกติกาและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คนส่วนหนึ่งกลับบอยคอตการเลือกตั้งจนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

“สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดคือในช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ผมไม่อยู่ไทยเพราะเรียนอยู่ที่อังกฤษ แต่จริงๆ แล้วตอนนั้นผมอยู่ไทยนะ เป็นช่วงว่าง 4-5 เดือนก่อนเปิดเทอมพอดี ที่สำคัญคือบ้านผมอยู่แถวๆ เดียวกับที่ชุมนุมเลย ผมเดินผ่านทุกวันแต่ไม่เข้าร่วม เพราะผมไม่เห็นด้วยในการทำให้ประชาธิปไตยไม่เติบโต ดังนั้นพอเรียนจบ ผมรู้ว่าถ้าทำงานการเมืองก็ต้องหาพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ แต่ในเวลานั้นพูดตรงๆ คือไม่มีพรรคไหนที่ผมรู้สึกต่อติดเลย พรรคหนึ่งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่เป็นธรรม อีกพรรคก็บอยคอตเลือกตั้ง ผมขอไปทำงานอื่นเพื่อเก็บประสบการณ์ดีกว่า รอสักวันหนึ่งที่หาพรรคที่ตรงกันเจอแล้วค่อยกลับไป”

และในความเป็นจริง ไอติมแทบไม่ต้องรอนาน แค่ 2 ปีเขาก็เปิดประตูบานแรกในเส้นทางการเมืองของตัวเองแล้ว

แต่กลายเป็นว่าการตัดสินใจครั้งนั้นกลับตามมาด้วยคำถามจากคนทั้งประเทศ

4

ถ้าเปลี่ยนพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็เปลี่ยนประเทศได้

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไอติมประกาศกับสื่อมวลชนว่าเขาจะลงสนามทางการเมืองครั้งแรกในนามของพรรคประชาธิปัตย์ 

ใช่, พรรคเดียวกันกับที่เขาเล่าให้ฟังว่าผิดหวังและไม่เห็นด้วยนั่นแหละ

แน่นอนว่าหลายเสียงสงสัยในตัวไอติมทันที ทั้งจากการที่เขาเป็นหลานของหัวหน้าพรรคอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่เขาก็เบื่อตอบเรื่องนี้เต็มที) และการที่เขาประกาศตัวว่ายึดมั่นในประชาธิปไตยแต่ดันมาอยู่ในพรรคที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีเพิ่งละเลยความเป็นประชาธิปไตยมาหมาดๆ

ในตอนนั้น คำที่เขามักใช้อธิบายกับสื่อคืออุดมการณ์ของพรรคที่ยึดมั่นในระบบเสรีนิยมนั้นตรงกับตน ถึงไม่เห็นด้วยกับบางอย่างที่พรรคทำก่อนหน้า แต่ไอติมเชื่อว่าตัวเองสามารถเข้าไปมีบทบาทและแสดงข้อคิดเห็นในพรรคได้

“ทั้งๆ ที่คุณรู้และรู้สึกว่าพรรคเคยเลือกเดินไปในทางที่คุณผิดหวัง ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วม มันไม่ย้อนแย้งเกินไปหรือ คุณอาจกลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เข้าไปช่วยผลิตซ้ำหรือเปล่า” ถึงเป็นคำถามซ้ำที่เคยตอบแล้ว แต่ผมตัดสินใจถามอีกครั้งเพราะอยากฟังจากปากเขาเอง

“ผมมี 3 เหตุผล

“หนึ่ง–สถานการณ์ตอนนั้น ผมคิดว่าประชาธิปัตย์กำลังขยับเข้าไปสู่แนวทางที่ผมอยากเห็นมากขึ้น กลุ่มคนที่สนับสนุนการชุมนุมและบอยคอตการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดออกไปอยู่พรรคอื่นแล้ว ผมมองเห็นโอกาสตรงนี้เลยเข้ามา ซึ่งเข้าใจว่าคนตั้งคำถามแน่ แต่ผมน้อมรับนะ ผมจะตอบกลับด้วยความเชื่ออย่างใจจริงว่าถ้าผมเข้าไปเปลี่ยนประชาธิปัตย์ได้ ผมก็เปลี่ยนประเทศได้ เพราะที่นี่เหมือนภาพจำลองของประเทศไทย พรรคมีวิวัฒนาการมาหลายสิบปี หลากหลายความคิดรวมอยู่ในพรรคเดียว นี่เป็นสนามจำลองให้ผมได้โน้มน้าวคนที่เห็นต่างด้วยเหตุผล และโดยส่วนตัวผมว่าตัวเองพูดชัดมาตลอด ผมให้เกียรติคนอื่นในพรรคแต่ผมแสดงความเห็นอยู่เสมอว่าไม่เห็นด้วยกับบางอย่างที่พรรคทำ 

“สอง–พอโลกหมุนเปลี่ยนเร็วขึ้น ผมว่าช่วงเวลานี้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่เสนอความคิดและแสดงออกมามากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าแวดวงไหนเสียงของคนรุ่นใหม่ถูกรับฟังมากขึ้น ผมเลยเห็นว่านี่เป็นโอกาสและจังหวะให้เราได้เข้าไปเสนอนโยบายได้จริงๆ

“และสาม–ผมว่าการเติบโตของประชาธิปไตยในประเทศนี้กำลังถอยหลังลงเรื่อยๆ จุดที่ชัดที่สุดคือการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคำถามพ่วงท้ายเกี่ยวกับ ส.ว. 250 คนนั้นคาใจผมมาก


 ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี’


ประโยคเหล่านั้นขัดกับหลักประชาธิปไตยสากลมากนะ การใช้คำว่า ‘เห็นชอบหรือไม่’ มันมีความอคติในตัวอยู่แล้ว เขาไม่ใช้ Yes-No Question แบบนี้ ทั่วโลกใช้คำถามที่เป็นกลาง แต่นี่ชี้นำไปหมด หรือแม้กระทั่งคนต่อต้านก็ยังถูกดำเนินคดี ผมเลยรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แล้ว ผมอยากเข้ามาทำอะไรให้ดีขึ้นบ้าง”

ไม่นานหลังจากเข้าร่วมพรรค ในวัย 26 ปีไอติมได้รับการคัดเลือกเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตบางกะปิ – วังทองหลาง เขาได้ทำงานการเมืองอย่างเข้มข้นเหมือนที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งการมีป้ายหาเสียงในชื่อตัวเอง (และถูกมือมืดกรีดภายในคืนเดียว) การขึ้นปราศรัยด้วยโทรโข่งเพื่อเสนอนโยบายและขอโอกาสทำงานจากประชาชน ไปจนถึงการพบปะผู้คนในชุมชนเพื่อหาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน สื่อมวลชนในตอนนั้นต่างพร้อมใจกันนิยามเขาว่า ‘นักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง’

“งานเป็นอย่างที่คิดไว้เลย ทำได้เรื่อยๆ แพสชั่นมาเต็ม งานหนักไม่บ่น เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่พักเพราะความทุกข์ของประชาชนไม่มีวันหยุด งานหนักนะครับ แต่พอเป็นงานที่อยากทำมันก็มีแรง”

“มีอะไรที่คุณได้เรียนรู้เพิ่มจากประสบการณ์ตรงนั้นไหม”

“อาจไม่ใช่คำตอบที่น่าประหลาดใจ แต่ผมว่าตัวเองเห็นปัญหาลึกซึ้งมากขึ้น ก่อนหน้านี้ผมอาจเห็นปัญหาบนหน้ากระดาษที่แยกกันแต่ละแผ่น แต่พอเข้าไปเจอประชาชนจริงๆ ผมได้เห็นว่าหลายปัญหานั้นสัมพันธ์กัน มันซ้อนทับกันจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อีกอย่างคือผมได้เห็นคนทั้งสองขั้ว ขั้วแรกคือคนที่ฝากความหวังไว้กับนักการเมือง เขารู้สึกจริงๆ ว่านักการเมืองช่วยเขาได้ เขาจะเล่าทุกปัญหาให้ฟังอย่างละเอียด แต่ในอีกขั้วหนึ่ง ผมก็ได้เห็นคนที่หมดหวังกับนักการเมือง เวลาเข้าหา เขามักบอกว่า ‘มาอีกแล้ว เลือกมาคงไม่ต่างกัน ทำอะไรไม่ได้หรอก’ พอได้ยินทั้งสองขั้วแบบนี้ ผมเลยยิ่งอยากแก้ปัญหาให้ได้ 

“ดังนั้นในวันที่แพ้ ผมถึงเศร้าและผิดหวังมาก”

5

อุดมการณ์เปลี่ยนได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเพราะผลประโยชน์ ประชาชนดูออก

เช้าวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ไอติมตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิต

ก่อนหน้าไม่กี่วัน เป็นปกติที่สื่อจะทำโพลล์เพื่อเช็กคะแนนความนิยมและคาดเดาผลการเลือกตั้งล่วงหน้า ผลปรากฏว่าแทบทุกสื่อยกให้ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ คือตัวเต็งในเขตนี้ แต่ไอติมเล่าให้ผมฟังว่าเขาเองก็แอบทำโพลล์ของตัวเองเช่นกันเพราะไม่เชื่อโพลล์ในสื่อหลัก ผลออกมาคือมีความเป็นได้ที่ผลจะออกมาตรงข้าม 

หลังจากไปที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียงของตัวเอง ไอติมและทีมงานนัดรวมพลกันในห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระดาษขาวแปะอยู่เต็มผนัง 4 ด้าน ที่นี่คือศูนย์รับข้อมูล ถ้ามีคะแนนเข้ามาจากแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ทีมงานของไอติมจะเขียนใส่กระดาษเพื่อลุ้นผลกันสดๆ 

ซึ่งรอไม่นาน ผลคะแนนก็เริ่มหลั่งไหล

แต่กลายเป็นว่ายิ่งเขียนนับคะแนน น้ำตาของทีมงานทุกคนก็เริ่มเอ่อ

ผ่านไปแค่ไม่กี่หน่วย ไอติมก็บอกกับทุกคนว่า ‘พอแล้ว ไม่ต้องจดแล้ว ผมรู้ผลแล้ว’

“ตอนเริ่มต้นวัน ผมและทีมงานคิดเหมือนกันว่าที่ผ่านมาเราทำเต็มที่แล้ว ดังนั้นมันเต็มไปด้วยความหวัง แต่พอผลออกมาเป็นแบบนั้น แน่นอนว่าผมผิดหวัง ทีมผมก็ผิดหวังเพราะพวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตามมาทำงานกับผมเพราะเชื่อว่าจะได้เข้าไปในสภา เรามีไฟและไอเดียเยอะมากที่อยากทำ แต่กลายเป็นว่าเราเป็นแค่ตัวสำรองที่ไม่ได้ถูกส่งลงสนาม

“ผมน้อมรับในการตัดสินใจของประชาชน แต่อย่างทุกวันนี้เวลาเห็นการทำงานของ ส.ส. ผมยังรู้สึกกับตัวเองอยู่ตลอดว่าอยากอยู่ตรงนั้น ผมและทีมน่าจะทำอะไรหลายๆ อย่างได้ อย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำงานข้างนอกกับทำงานในสภา ผลมันต่างกันมาก ผมถึงเสียดายที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างที่หลายคนหวังได้ และอย่างที่คุยกันก่อนหน้า ชีวิตที่ผ่านมาผมแทบไม่เคยเสียใจกับอาชีพการงานมาก่อน พอเจอเรื่องนี้เข้าไปผมถึงผิดหวังมาก

“แต่ที่ผิดหวังกว่าคือไม่นานหลังจากนั้น”

ไอติม

หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง เกิดสุญญากาศเป็นเวลาเดือนกว่าในการนับคะแนนของส่วนกลาง ระหว่างนั้น ไอติมเล่าให้ฟังว่าภายในพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประชุมกันเพื่อกำหนดทิศทาง สมาชิกพรรคแต่ละคนต่างทยอยออกมาแสดงความเห็นว่าควรเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์หรือไม่ ในครั้งนั้นไอติมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่แสดงออกชัดเจนและรุนแรงว่าไม่เข้าร่วม 

“ผมพยายามสู้จนหยดสุดท้าย สิ่งที่ผมบอกในที่ประชุมพรรควันนั้นคือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องก็ต้องไม่เอาพลเอกประยุทธ์ เพราะที่ผ่านมา คสช.หรือพรรคพลังประชารัฐทำสิ่งที่เลวร้าย เราควรยึดสิ่งชอบธรรมมากกว่า หรือต่อให้ไม่อยากร่วมฝ่ายค้านกับพรรคอื่น ผมก็พยายามเสนอทางออกว่าเราเป็นฝ่ายค้านอิสระก็ได้ ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผลสุดท้ายคือมีการโหวตและคนที่มีความเห็นให้ไม่เข้าร่วมมีจำนวนแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นก่อนวันประกาศกับสื่อ เหมือนผมก็ค่อนข้างรู้ผลก่อนแล้วแหละ”

เช้าวันที่ 5 มิถุนายน ไอติมพาตัวเองมาอยู่ที่ร้านกาแฟใกล้กับที่ตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ในมือเขาถือจดหมายลาออกที่บรรจงเขียนอยู่ค่อนคืน เขาเล่าให้ผมฟังด้วยเสียงนิ่งเรียบแต่แฝงนัยว่านี่เป็นจดหมายที่เขาเขียนด้วยความเจ็บปวดและไม่อยากใช้เลย แต่เมื่อถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงอย่างชัดเจนว่าเข้าร่วมรัฐบาล เขาจำต้องออกจากร้านเพื่อเรียกแท็กซี่เข้าไปที่ทำการพรรคทันที

และเหมือนโชคชะตาเล่นตลก คนขับแท็กซี่จำเขาได้

“เอาไงครับคุณไอติม”

“ครับ พรุ่งนี้คงเห็นข่าว”

เช้าวันรุ่งขึ้น ในเพจเฟซบุ๊กของไอติมได้โพสต์ข้อความชี้แจงเรื่องการลาออกไว้อย่างที่เขาบอก ใจความที่เขาเขียนนั้นชัดเจนเหมือนกับที่เขาพูด เขาไม่สามารถเดินไปกับพรรคที่อุดมการณ์ต่างกับตัวเอง แม้ยังเคารพผู้ใหญ่ในพรรค แต่เขาขอเดินออกมาเพื่อรักษาอุดมการณ์ ตัวตนและสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศนี้

“ผมเป็นคนเซนซิทีฟกว่าที่หลายคนคิดนะ ครั้งนั้นผมพังอยู่เหมือนกัน จากที่คิดว่าสามารถอยู่กับพรรคเพื่อทำงานเป็นฝ่ายค้านได้ แต่สุดท้ายต้องออกมา มันเสียศูนย์ แต่ถ้าย้อนกลับไปมอง ผมว่าเรื่องทั้งหมดทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น ความล้มเหลวทำให้ผมได้หลายบทเรียนมายกระดับตัวเอง ที่สำคัญคือการตอกย้ำในความเชื่อและอุดมการณ์ แม้เรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลต่อผมขนาดไหน แต่ข้างในผมไม่ได้สั่นคลอนเลย ผมยังคงเชื่อในการเมืองเหมือนเดิม”

“ทำไมการยืนหยัดในความคิดของตัวเองจึงสำคัญ ทำไมคุณถึงไม่ใช้เหตุผลเหมือนนักการเมืองบางคนว่า ‘อุดมการณ์มันเปลี่ยนกันได้’”

“อุดมการณ์เปลี่ยนได้นะครับ แต่ต้องมีเหตุและผลในการเปลี่ยน ถ้าคุณเปลี่ยนเพราะได้ผ่านประสบการณ์บางอย่างมาและประมวลข้อเท็จจริงแล้ว ผมว่าคุณมีความเชื่อแบบใหม่ได้ แต่ถ้าคุณเปลี่ยนเพราะผลประโยชน์หรือเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล ผมว่าประชาชนดูออก”

สิ้นประโยคนั้น ผมเริ่มสังเกตว่าจากแดดจ้ายามบ่าย แสงอาทิตย์ด้านนอกร้านเริ่มเบาบาง อากาศเริ่มเป็นใจ เข็มนาฬิกาบอกเวลา 5 โมงเย็นคล้ายได้เวลาอันสมควร

“เดี๋ยวไปคุยกันต่อที่สวนไหม ผมเตรียมเสื่อมาด้วย”

“ได้ครับ แต่ไม่ต้องใช้เสื่อหรอก นั่งบนพื้นหญ้าก็ได้” 

ไอติม

6

ทุกอุดมการณ์สมควรถูกตั้งคำถาม แม้กระทั่งประชาธิปไตย

สวนสาธารณะในวันนี้มีผู้คนพลุกพล่านตามที่คาดการณ์ไว้

เราเลือกนั่งบนสโลปพื้นหญ้าริมสระกลางสวน ไม่ไกลจากเรามีทั้งคู่รักที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ และครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกที่กำลังลิ้มรสอาหารที่เตรียมมาจากบ้าน ไกลออกไปรอบสวนมีนักวิ่งหลายคนกำลังเร่งลงน้ำหนักเท้า ตัดภาพไปที่นอกรั้วสวน ร้านรถเข็นที่ขายอาหารและน้ำดื่มกระจายตัวกันอยู่ พ่อค้าแม่ค้าแต่ละร้านล้วนร้องเรียกเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้าไปอุดหนุน

“ถ้าให้นิยามอุดมการณ์ตัวเอง คุณพอสรุปให้ฟังสั้นๆ ได้ไหม” ท่ามกลางเสียงพูดคุยรอบด้าน ผมถามไอติมถึงจุดยืนของเขาตอนนี้

“ถ้าเอาภาพรวมใหญ่ที่สุด ผมอยากสร้างสังคมไทยที่เป็นแบบ Meritocracy” อาจเพราะผมทำหน้าสงสัย ไอติมจึงอธิบายต่อทันที “มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและแทงใจเหมือนกันที่พจนานุกรมไทยไม่มีคำนี้ แต่ถ้าอธิบายคร่าวๆ Meritocracy คือสังคมที่ทุกคนได้รับโอกาสในการประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่าทุกคนได้รับโอกาสบนพื้นฐานความสามารถและความขยันเท่านั้น ไม่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ฐานะ ครอบครัว”

“สังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ” ผมทวนตามที่เข้าใจ

“ผมแบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบที่มีความยุติธรรม คือในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกันเป๊ะ ใครขยันก็ได้มากกว่า แต่อีกแบบคือความเหลื่อมล้ำที่ไม่ยุติธรรม อย่างหลังนี่แหละที่ผมอยากให้หายไป เพราะปัญหาในสังคมไทยส่วนใหญ่มาจากเรื่องนี้ทั้งนั้น และผมเคยสรุปออกมาเป็น 8 ปัจจัยเรียงเป็นตัวอักษรว่า THAILAND ด้วย

“T คือ Technology ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม, H คือ Health ทำอย่างไรทุกคนถึงได้รับการบริการทางสุขภาพเท่ากัน, A คือ Affluent ทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย, I คือ Identity ทำอย่างไรให้คนต่างเพศต่างศาสนามีสิทธิเท่าทียมกัน, L คือ Learning ทำอย่างไรให้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในแต่ละจังหวัดไม่แตกต่างกัน, A คือ Area ทำอย่างไรให้โอกาสในแต่ละพื้นที่หลากหลาย ไม่ใช่รวมอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ จังหวัดเดียว, N คือ Natural Resource ทำอย่างไรให้เราไม่เพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อมและส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เฟื่องฟูแก่รุ่นต่อไป และสุดท้าย D .. “

ราวกับใครสักคนกำหนด ตอนนั้นนาฬิกาบอกเวลา 6 โมงตรง เสียงตามสายของสวนสาธารณะเริ่มขับขานเพลงประจำวันในช่วงเวลานี้ แต่บทสนทนาของเรายังคงดำเนินต่อ

“D คือ Democracy หรือคุณจะบอกว่าเป็น Dictatorship ก็ได้นะ”

“ถ้ามีคนเห็นต่างและตั้งคำถามกับคุณว่า ‘ทำไมประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว’ คุณจะตอบรับยังไง”

“ผมว่าบททดสอบว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตยแค่ไหน มันถูกทดสอบเมื่อคุณเจอคนเห็นต่างนั่นแหละ สำหรับผม ทุกอุดมการณ์สมควรถูกตั้งคำถามแม้กระทั่งประชาธิปไตย เพราะการที่เราตั้งคำถาม มันทำให้เราต่อสู้ได้อย่างมั่นใจและเหมาะสม ดังนั้นถ้ามีคนมาถามจริงๆ ผมคงใช้เหตุผลโน้มน้าวเขา 2 ข้อ ข้อแรกคือผลลัพธ์ ประชาธิปไตยเป็นกลไกการตัดสินใจที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความคิดเห็นทุกคน อีกข้อคือความชอบธรรมในการตัดสินใจ ประชาธิปไตยเคารพในความเสมอภาคและกติกา ไม่ใช่ยอมรับให้ผู้รู้ดีคนหนึ่งมาตัดสินใจแทนทุกคน

“ส่วนกับคำพูดที่ว่า ‘นี่ไง บ้านเมืองไม่สงบเพราะเป็นประชาธิปไตย’ ในมุมมองผมนะ ประชาธิปไตยควบคู่กับการเห็นต่างอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนเห็นต่างสามารถออกมาพูดได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ทุกคนในประเทศคิดเหมือนกัน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าทุกความแตกต่างคือบ้านเมืองที่ไม่สงบหรือทะเลาะกัน ผมเองชอบแยกคำว่าสงบและสันติภาพออกจากกัน ถ้าอยากให้สงบ แค่เอาปืนไปจ่อหัวทุกคนว่าห้ามพูด บ้านเมืองก็สงบแล้ว แต่ถ้าอยากได้สันติภาพ ผมว่านี่เป็นความสงบที่ชอบธรรม มันดีกว่ามากเพราะคนสามารถอยู่ร่วมกันโดยคงไว้ซึ่งสิทธิในการแสดงความเห็น โต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนถ้าเปรียบประเทศเป็นครอบครัว ผมก็ไม่ได้อยากอยู่ในบ้านที่กินข้าวกันแล้วทุกคนเงียบ แต่ผมอยากอยู่ในบ้านที่ทุกคนคิดต่างกันได้ ถกเถียงกันได้และหาวิธีตัดสินใจร่วมกันได้โดยที่ไม่มีใครต้องออกจากบ้านไป

“อย่างตอนที่ผมออกจากพรรค เคยมีคุณป้าคนหนึ่งโทรมาหาผม เป็นใครก็ไม่รู้ เขาหาเบอร์ผมมาได้ยังไงก็ไม่ทราบ แต่คุณป้าถามผมว่า ‘ไอติมไม่รักชาติแล้วเหรอลูก’ ครั้งนั้นผมคุยกับเขานานเลย ผมพยายามอธิบายกับป้าว่าเราอาจรักชาติเหมือนกันก็ได้ แค่ต่างกันตรงทิศทางของชาติที่เราอยากเห็น ผมใช้วิธีถามว่า ‘ทำไม’ ไปเรื่อยๆ เพื่อหาความต่างระหว่างผมกับเขา สุดท้ายผมเจอจากการที่ป้าบอกว่า ‘กติกาไม่เป็นกลางไม่เป็นไร ตราบใดที่ทักษิณไม่กลับมา’ นี่แหละคือจุดตัด เพราะสำหรับผม ผมติดกับเรื่องนี้เพราะผมเชื่อในการต่อสู้บนกติกาที่เป็นกลาง ตอนนั้นแหละที่ผมสบายใจวางสาย”

“แล้วสรุปคุณป้าเปลี่ยนความคิดไหม” 

“ไม่ ป้าบอกว่า ‘เพื่อชาติบ้านเมือง ขอเอาทักษิณออกไปให้ได้ก่อน’ ผมก็โอเค จบ วางสาย ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งป้าจะเห็นแนวทางของผม”

7

อย่างน้อยตอนตาย ประเทศนี้ควรดีขึ้น

ราตรีกำลังใกล้เข้ามาแล้ว

จากสีฟ้าสดใส ตอนนี้ท้องฟ้าค่อยๆ ย้อมตัวเองกลายเป็นสีส้ม ผู้คนรอบๆ เริ่มทยอยออกจากสวน ท่ามกลางเสียงนกกลับรังที่ดังระงมผ่านบรรยากาศฉ่ำชื้น 

หลังจากฟังคำบอกเล่าของเขาทั้งหมด ผมชวนไอติมคุยในหัวข้อสุดท้ายก่อนตะวันลับขอบฟ้า

“เรายังมีหวังใช่ไหมในการเห็นประเทศนี้ดีขึ้น”

“ผมมีความหวัง ยิ่งถ้ามองปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ ผมยิ่งมีความหวัง

“ตอนนี้เรามีพลังของคนรุ่นใหม่ที่อยากนำพาสังคมไปข้างหน้า พวกเขาอยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น สวนทางกับความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่พวกเขารับรู้และอยากเห็นมันลดลง ผมเลยมองสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเหมือนเกมชักเย่อ ตอนนี้พลังของคนรุ่นใหม่กำลังดึงฝั่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แต่อีกฝั่งกลับมีกฎหมายบางอย่างหรือคนบางคนที่รั้งพวกเขาไว้ ซึ่งการพยายามดึงกลับแบบนี้ คนรุ่นใหม่มีแต่ตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผมว่าอีกฝั่งก็ต้องปรับเปลี่ยนได้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดจุดแตกหักและเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เพราะถ้าคุณยังยืนยันในกติกาที่ไม่สอดรับกับโลก หรือถ้าคุณยังพยายามไปดูถูกความคิดพวกเขาว่าถูกชี้นำ การทำแบบนั้นถือว่าพลาดมาก เชือกจะยิ่งถูกดึงแรงขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุด มันจะขาด

“ช่วงหลังๆ เวลาผมสื่อสารอะไร ผมไม่ห่วงคนรุ่นใหม่เลย ผมรู้ว่าพวกเขามีความคิดเป็นของตัวเอง ดังนั้นถ้ามีโอกาส ผมจะพยายามสื่อสารกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากกว่า ผมพยายามทำให้เขาเห็นว่าถึงคุณจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่นำเสนอ แต่คุณลองมองข้ามไปฟังถึงแก่นแท้ของเขา คุณจะพบว่าความคิดเขาล้วนถูกกลั่นกรองด้วยเหตุผลและชุดข้อมูลที่เขาเจอ เขาอยากมีส่วนร่วมกับสังคมนี้ ดังนั้นอย่าไปปิดกั้นครับ พยายามเข้าใจเนื้อหาสาระของเขาดีกว่า คำพูดบางอย่างที่เขาใช้อาจไม่สุภาพบ้าง แต่ผมอยากให้ลองนึกภาพว่าถ้ามีเพื่อนบ้านคุณไฟไหม้แล้วเขามาตะโกนขอความช่วยเหลือ คุณจะเพ่งเล็งเขาหรือเปล่าว่าทำไมเพื่อนบ้านใช้คำรุนแรง ผมว่าเรื่องนี้เหมือนกันเลย 

“เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่ บ้านที่เขาอยู่กำลังไฟไหม้ และถ้าเขาไม่ทำอะไร เขาไม่เห็นอนาคตของตัวเองแล้ว”

ไม่กี่วันหลังจากที่เราพูดคุยกัน กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาได้ออกกำหนดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง ไอติมบอกผมว่าถ้าประเด็นในการชุมนุมตรงกับอุดมการณ์ของเขา ไม่ว่าครั้งไหนเขาจะร่วมด้วยแน่นอน ถึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่รู้จุดจบและไม่ได้เกิดผลทันที แต่ไอติมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาอันสั้นแน่ ฟันเฟืองทุกอย่างต้องช่วยกันหมุนไปสู่ภาพใหญ่แม้ยังไม่รู้ผลลัพธ์ปลายทาง

“คุณเคยคิดถึงกรณีเลวร้ายที่สุดบ้างไหม ถ้าในชั่วชีวิตคุณ ประเทศไทยไม่เจอประชาธิปไตยจริงๆ คุณจะรู้สึกยังไง ชีวิตจะไร้ความหมายหรือเปล่า” ก่อนจากกัน ผมถามคำถามสุดท้ายกับเขา

“ผมไม่เคยคิดถึงกรณีนั้นเลย อาจเพราะผมรู้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา ผมเลยไม่กังวล แต่ก็เพราะเหตุนั้นด้วยที่พาผมมาทำงานการเมืองตั้งแต่อายุเท่านี้ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนไม่ได้หรอก ชั่วชีวิตหนึ่งยังไม่รู้ว่าพอหรือเปล่าเลย ดังนั้นผมต้องเริ่มให้เร็วที่สุด เพราะความฝันของผมในฐานะนักการเมืองคือการทำให้โลกดีขึ้น ถ้าเทียบระหว่างวันที่ผมตายกับวันที่ผมเกิดมา 

“ผมเกิดในปี 2535 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พอผม 5 ขวบ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่อาจจะดีและใกล้เคียงกับคำว่าประชาธิปไตยที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้น เรากลับถอยลงมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เกือบ 30 ปีแล้ว ผมไม่รู้หรอกว่าผมเหลือเวลาบนโลกอีกกี่ปี แต่ความฝันผมคือตอนที่ตาย อย่างน้อยผมอยากเห็นประเทศไทยดีกว่าปี 2540 เราต้องไปให้ไกลกว่านั้นได้แล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ ด้วยวัยเท่านี้ นี่ไม่ใช่เวลาถอดใจ ถึงผ่านไปอีกสิบปีก็ไม่ใช่เวลายอมแพ้ เพราะมันไม่ได้แปลว่าเราไม่สำเร็จ เราต้องพยายามให้ดีที่สุดจนถึงวินาทีสุดท้าย 

“สำหรับผม สิ่งที่แย่กว่าการแพ้เลือกตั้งและพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลคือการเข้าสภาไปแล้วทำอะไรไม่ได้ มันเสียเวลา เสียแรงและเสียดายคะแนนประชาชน ดังนั้นผมว่านั่นแหละคือหน้าที่ของผมในเวลาที่เหลือ ในเมื่อยังกำหนดชะตาไม่ได้ ผมต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอเผื่อวันหนึ่งที่โอกาสเข้ามา ผมจะได้ทำเต็มที่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ผมถือว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้และนักการเมืองในสภาสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ 

“ผมแค่อยากทำให้โลกนี้มันดีขึ้นแม้สักนิดก็พอ”

แสงอาทิตย์จากไปแล้ว ความมืดเข้ามาทักทายและส่งสัญญาณให้เราจบบทสนทนาลงตรงนั้น ในหลายชั่วโมงต่อจากนี้ กลางคืนคงจองจำให้คนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ความไม่รู้และความกลัวอาจมาพร้อมกับความมืดที่บดบังบางสิ่งจนทำให้การรับรู้ในบางอย่างผิดเพี้ยน

แต่เหมือนกับคืนก่อนหน้าและคืนถัดไป

อีกไม่นานหรอก เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เช้า

ไอติม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!