‘งานศิลปะอยู่ใกล้ตัวเรา และสามารถจับต้องได้’
นี่คงเป็นคำสรุปรวมได้ดี หากจะพูดถึง Mantana store และแนวคิดของ กัน–มัณฑนะ อภิเดช อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของแบรนด์กระเป๋าที่สร้างสรรค์มาจากวัสดุที่ใครหลายคนเห็นว่าไร้ค่า และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีกอย่างผืนผ้าใบแคนวาสที่ใช้สรรค์สร้างงานศิลปะ
ลวดลายและเทกซ์เจอร์บนผิวกระเป๋าที่ปรากฏผ่านกระเป๋าหลากชนิดทั้งโทตแบ็ก, คลัตช์แบ็กสำหรับใส่เอกสาร ไอแพด โน้ตบุ๊ก กระเป๋าตังค์ทรงยาว และการ์ดโฮลเดอร์ คือหนึ่งในสิ่งดึงดูดสายตาที่เป็นเหตุผลให้เรารีบมาพบเจอและพูดคุยกับเขาในวันนี้
จากผืนผ้าใบสู่กระเป๋าใบเก่ง
เรานัดพบกันช่วงสายวันหนึ่ง ในสถานศึกษาที่เขาใช้เป็นทั้งที่บ่มเพาะวิชาความรู้ด้านศิลปะ สถานที่ทำงานในฐานะอาจารย์ และเป็นสถานที่ตั้งของสตูดิโอชั่วคราวของ MANTANA แบรนด์กระเป๋าที่เริ่มต้นจากปัญหาที่พบเจอตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของตัวเองและคนรอบข้าง
“ฝุ่นเยอะหน่อยนะ” กันเอ่ยขึ้นเบาๆ ขณะจัดที่ทาง เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ที่เขาใช้งานค้างไว้ให้เข้าที่
ข้าวของภายในสตูดิโอชั่วคราวบนห้องพักชั้นสองของตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บ่งบอกให้รู้ว่าเจ้าของห้องมีใจรักศิลปะมากแค่ไหน ดูได้จากเฟรมภาพขนาดกลางที่ถูกตั้งไว้ยังมุมในสุด เทียบกับปริมาณฝุ่นรอบห้องแล้วคงเดาได้ไม่ยากว่าแม้เป็นช่วงปิดเทอม อาจารย์หนุ่มอย่างเขาก็ยังคงแวะเวียนมาทำงานที่สตูดิโอแห่งนี้อยู่บ่อยๆ
“ผมใช้ที่นี่เป็นที่พักงาน ถ้าวันไหนสอนเสร็จเร็วก็จะกลับมาตัดผ้าใบเพื่อเตรียมทำเป็นกระเป๋าที่นี่” อาจารย์หนุ่มเปรยให้ฟังเรียบๆ
ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทำงานของเขาจึงเต็มไปด้วยตัวอย่างหนังหลากหลายสี ตัวอย่างผ้าใบที่ตัดเพื่อทดลอง รวมถึงเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่หลายสิบผืนวางสุมกันรอให้เจ้าของอย่างเขาหยิบใช้อีกครั้ง
“แบรนด์นี้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว แต่ความคิดที่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างกับศิลปะมันเกิดขึ้นมานานแล้ว
“เวลาจะเขียนรูปใหม่ และต้องเลาะผ้าใบออกจากเฟรม ผมมักม้วนผ้าใบเหล่านั้นเก็บไว้เนื่องจากเสียดาย เพราะราคาผ้าใบมันแพง ไหนจะค่าสี และเวลาที่ใช้วาดแต่ละรูป แต่พอเก็บมากเข้าจนเริ่มมีเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่าผ้าใบพวกนี้มันน่าจะเอาไปต่อยอดทำอะไรต่อได้อีก เพราะจริงๆ แล้วงานข้างในมันก็ดีนะ ผมเลยเริ่มจากเอางานตัวเองนี่แหละ ลองมาทำเป็นโปรดักต์สักชิ้นหนึ่ง” กันเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นไอเดีย เพราะเชื่อว่างานเพนต์ติ้งนั้นต้องดูของจริง ต้องเห็นพื้นผิว เห็น stroke ของฝีแปรง เห็นการใช้สีและการซ้อนสี ถึงจะรู้สึกและเห็นรสชาติที่แท้จริงของภาพ เขาจึงนึกถึงโปรดักต์อย่างกระเป๋า และเริ่มจากทรงยอดนิยมอย่างโทตแบ็ก เพราะนอกจากผู้ใช้งานจะได้สัมผัสกับงานศิลปะอย่างที่เขาตั้งใจแล้ว กระเป๋าเหล่านั้นยังสามารถติดตัวคนสะพายไปทุกที่ เปรียบคนใช้เป็นเสมือนหอศิลป์เคลื่อนที่
“กระเป๋า MANTANA ส่วนมากจึงเป็นทรงสี่เหลี่ยม เพราะตั้งใจอยากให้เหมือนเฟรมรูปภาพจริงๆ รวมทั้งเป็นกระเป๋าที่สามารถใช้งานได้ทั้งชายและหญิง”
จากของเหลือทิ้ง ถูกนำมาเพิ่มมูลค่า
หลังคิดทบทวนไอเดียของตัวเอง และตัดสินใจสมัครเรียนทำกระเป๋าจนได้กระเป๋าตั้งต้นมา 4 ใบ ใช้ใส่ของ ถือไปสอนหนังสือจนเพื่อนและคนใกล้ตัวเริ่มทัก เขาจึงคิดอยากทำอย่างจริงจัง เริ่มศึกษาถึงวิธีการเย็บ การเคลือบ อย่างลงลึกมากยิ่งขึ้น
“ด้วยความที่ผมเป็นอาจารย์ จึงรู้ว่าในปีหนึ่ง คณะทางด้านศิลปะจะผลิตนักศึกษาและทำผลงานศิลปะออกมาเยอะมาก ซึ่งจริงๆ แล้วนักศึกษาเหล่านั้นเขาเก่งนะ แต่เพราะมันไม่มีพื้นที่ในการโชว์ผลงาน งานพวกนั้นจึงถูกทิ้งไป นักศึกษาก็ไม่ได้ทำงานด้านนี้ต่อ
“ทุกๆ ปีตึกวิจิตรศิลป์ที่นักศึกษาใช้เรียนกันจะต้องเคลียร์ของออกให้โล่ง เดินไปหลังมหาวิทยาลัยจะเจอกองเฟรม กองผ้าใบ กองใหญ่มาก หันไปมองแล้วก็ได้แต่คิดว่าทำไมมันน่าสงสารจังวะ มันต้องทิ้งขนาดนี้เลยเหรอ”
เวลาตรวจงานนักศึกษาแต่ละครั้ง หากเห็นนักศึกษาคนไหนมีผลงานที่น่าสนใจและพอจะนำไปต่อยอดได้ อาจารย์อย่างเขาจึงไม่รีรอที่จะชักชวนถามไถ่ถึงงานเก่าเก็บที่ไม่ได้แสดงที่ไหน ให้ศิลปินเหล่านั้นมาทำกระเป๋าร่วมกัน
“การที่เขาเอาผ้าใบมาให้เราทำแทนที่จะทิ้งไว้เฉยๆ มันทำให้เขาได้รายได้ส่วนหนึ่งคืนกลับไปด้วย นักศึกษาก็จะมีรายได้และสามารถนำเงินตรงนี้ไปทำศิลปะต่อ” กันว่ายิ้มๆ โชคดีที่คนรอบตัว เพื่อน พี่น้อง และคอนเนกชั่นในแวดวงศิลปะของเขาสนับสนุน MANTANA จึงมีงานศิลปะหลากรูปแบบให้ช่างทำกระเป๋ามือใหม่อย่างเขาเลือกสรร และเกิดขึ้นเป็นแบรนด์ได้จริงอย่างที่ตั้งใจ
จากมุมมอง สู่กระบวนการทำจริง
แต่เพียงแค่มีผ้าใบเก่าเก็บจากคนรู้จักแล้วก็ใช่ว่าจะจบ เพราะกว่าจะได้กระเป๋าสักใบ ศิลปินอย่างเขาต้องนำมาจัดแจง เลือกมุมมอง ปรับรายละเอียดของภาพศิลปะให้เข้ากับแบรนด์
“ต้องดูสีที่เขาใช้ก่อนว่าสามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ บางงานอาจจะใช้เทคนิคสีพิเศษ ใช้ทินเนอร์เพื่อทำให้ได้ภาพบางอย่างในงานศิลปะ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะเมื่อนำไปทำเป็นกระเป๋าจะไม่แข็งแรง หรือบางชิ้นที่สีหนา เพราะใช้เทคนิคแบบ impasto เราก็ต้องหาวิธีเลี่ยงจุดนั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหากับฝีจักร หรือหากเพนต์ติ้งมีขนาดใหญ่มากเราก็ต้องกางดูก่อน ต้องเลือกมุมมองให้มันเหมาะกับงาน ต้องหาเพนต์ติ้งที่เมื่ออยู่บนกระเป๋า และนำไปแต่งตัวแล้วจะสวย เราก็ลองทำ ทดลองไปเรื่อยๆ
“ถามว่าตอนนี้กระเป๋าที่วางขายอยู่มันสมบูรณ์ไหม ก็ต้องบอกว่ายังไม่ใช่ตัวที่สมบูรณ์ที่สุดจริงๆ เรายังพยายามทดลองอยู่ ยังไม่มีอะไรที่ตายตัว ทั้งสูตรการเคลือบและทรงกระเป๋า แต่เราพยายามถามลูกค้าอยู่เสมอว่าใช้แล้วเป็นยังไงบ้าง ชอบตรงไหน หรืออยากให้ปรับตรงไหนหรือเปล่า พยายามเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเพื่อใช้ทำเป็นคอลเลกชั่นต่อไป”
“คอลเลกชั่นแรกที่ทดลองทำเราพยายามทำให้คนเห็นถึงความหลากหลายของเพนต์ติ้ง ว่ามันมีรูปแบบหลากหลาย มีทั้งเรียลลิสติก แอ็บสแตรกท์ กราฟิก” กันอธิบายถึงหลักการคิดคอลเลกชั่น
“พอมาคอลเลกชั่นที่ 2 เราเลยอยากลงลึกไปในรายละเอียด เลยคิดแตกออกมาจากประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยเอาลัทธิต่างๆ มาขยาย เกิดเป็นคอลเลกชั่นแอ็บสแตรกท์
“พยายามเล่นกับเทคนิคในโลกศิลปะ เพื่อที่ลูกค้าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะไปด้วยในตัว” เจ้าของแบรนด์ที่ยังมีจิตวิญญาณความเป็นอาจารย์บอกพร้อมหัวเราะ
จากหมดหวังเป็นสร้างกำลังใจ
“จริงๆ แล้วงานศิลปะทุกชิ้นมีคุณค่า ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นถูกจัดวางอยู่ตรงไหน” กันตอบอย่างตั้งใจ เมื่อเราต่อบทสนทนาว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน
“บางทีเมื่อเป็นภาพใหญ่มันอาจไม่สวย แต่พอเราตัดให้เล็กลงมันอาจจะสวยขึ้นก็ได้ เช่นเดียวกับการเรียน บางทีเด็กเพนต์ภาพออกมาได้คะแนน C+ เขาก็ฝ่อแล้ว เขาไม่มั่นใจ ส่งอาจารย์เสร็จก็ต้องทิ้งงาน แต่จริงๆ แล้วภาพนั้นมันมีบางมุมที่สวยอยู่ เป็นรูปอาจจะไม่สวย แต่พอทำเป็นกระเป๋า เอ้า ดันสวย
“งานบางสไตล์เวลาอยู่ในห้องเรียนก็มักจะไม่ได้เห็นความสำคัญ ทั้งๆ ที่งานแบบนี้มันน่าจะมีคนเห็น ในต่างประเทศมันมีงานศิลปะออกมาหลากหลายสไตล์มาก ก่อนหน้านี้ผมก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมบ้านเราถึงไม่มีงานสไตล์แบบนั้นบ้าง แต่พอมาเป็นอาจารย์ก็พบว่ามันมีอยู่ที่นักศึกษาเราเยอะเลย เขาแค่ไม่ได้ทำต่อ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุน”
นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ MANTANA พยายามให้เครดิตศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอทุกครั้งที่ลงขายสินค้า
“เวลาเราลงขายกระเป๋าเราก็จะแท็กชื่อศิลปินแนบไปด้วย เพื่อให้คนที่สนใจกระเป๋ากลับไปตามงานของศิลปินต่อได้ อย่างน้อยถ้ามีคนเห็นงานของเขาผ่านกระเป๋าและสนใจอยากออร์เดอร์งานวาดของศิลปินคนนั้นก็สามารถไปคุยกันได้เองเลย เราสนับสนุน เพราะศิลปินก็จะได้เงินจากตรงนั้นโดยตรงด้วย”
แม้ว่าสิ่งที่เขาทำดูจะเป็นการปูเส้นทางและต่อยอดให้กับวงการศิลปะ แต่ในมุมมองของมัณฑนะเอง กลับคิดว่า MANTANA ยังไม่ได้ช่วยวงการศิลปะมากขนาดนั้น
“ผมว่าตอนนี้มันเป็นเหมือนกับการลองตลาดมากกว่า เพราะเรายังทำได้น้อย และยังเป็นมือใหม่ด้วย แรกๆ เราจะกังวลว่ามันจะขายได้จริงไหม ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกประหม่าอยู่เลยว่าจะมีคนชอบ จะมีคนเอากระเป๋าของเราไปใช้หรือเปล่า
“แต่ผมดีใจมากนะเวลาได้บอกกับศิลปินเจ้าของผลงานว่า ‘เฮ้ย งานคุณขายได้แล้วนะ มีคนชอบผลงานของคุณด้วยล่ะ’ หรือ ‘เฮ้ย ทำต่อนะเว้ย’ อย่างน้อยสิ่งที่เราทดลองทำ มันก็ทำให้มีพื้นที่โชว์งานมากขึ้น มีคนเห็นในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น”
“สุดท้ายแล้วถ้าวันหนึ่งเขาป็นศิลปินดังขึ้นมาและจะไม่ทำกระเป๋ากับเราแล้ว ผมว่ามันยิ่งดีเลย เพราะอย่างน้อยเขาได้เห็นว่ามันมีช่องทางนี้ และอย่างน้อยเขาก็ยังทำงานต่อไป เราได้เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงผลักดันให้เขาทำงานต่อ มันเป็นกำลังใจสำคัญนะ การที่เราทำงานแล้วรู้ว่าผลงานเราจะได้แสดง ผลงานเราจะมีที่ไป ผลงานเราจะขายได้และมีคนชอบ มันเป็นแรงผลักดันของคนทำงานศิลปะจริงๆ”
ภาพ Mantana store