“นอกจากทำหนังแล้ว เราก็ไม่เก่งอะไรเลย”
ประโยคนี้ของ บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เรียกเสียงหัวเราะให้กับวงสนทนา
“เลี่ยนมาก” ขิม–จุฬารัตน์ หาญรุ่งโรจน์ ผู้เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนรีบสวนออกมา
แต่เขาหมายความเช่นนั้นจริงๆ เพราะ FICS อาคารสีขาวความสูง 4 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ในซอยสวัสดี สุขุมวิท 31 ห่างจาก BTS สถานีพร้อมพงษ์ในระยะเดินราวสิบนาทีนี้ เป็นอาคารที่บรรจุความเป็น ‘หนัง’ เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่หน้าตาภายนอกที่เหมือนกับโรงหนังยุคเก่า ทางเข้าที่มีตู้ถ่ายภาพเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์บางเรื่อง และดีเทลอีกมากมายภายในอาคารที่แทรกแซมด้วยสิ่งของที่เชื่อมโยงกับภาพยนตร์
เพราะคอนเซปต์ที่มาสุดทางนี้เองได้ชักชวนให้เราสนใจเดินทางไปพูดคุยกับบาสและขิม ถึงที่มาที่ไปและแนวคิดการทำคาเฟ่เนิร์ดหนังแห่งนี้
ว่าแต่ FICS มาจากไหน? เราโยนคำถามแรก
“Film Inspired Cafe and Concept Store and Community Space” บาสและขิมช่วยกันปะติดปะต่อชื่อขนาดยาวของร้าน
แหม่ แค่ชื่อก็ไม่ผิดหวังแล้ว
หนังบันดาลใจ
“เรื่องมันมีอยู่ว่า…”
บาสเริ่มประโยคนี้บนเก้าอี้ตัวเล็กๆ เคียงข้างกับขิม บนชั้น 3 ของอาคาร FICS ซึ่งเป็นชั้นที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์ภาพยนตร์จากร้าน Poster District ที่ตัวเขาเองเป็นเจ้าของ
ใช่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มเรื่องราว เราอยากเล่าก่อนว่าจริงๆ แล้ว FICS ไม่ใช่แค่ชื่อของคาเฟ่ แต่ยังเป็นชื่อเรียกอาคารที่เป็นสถานที่ตั้งของโปรดักชั่นเฮาส์ บาร์ลึกลับ และร้านขายโปสเตอร์ด้วย
เรียกได้ว่าพื้นที่ของอาคารทั้ง 4 ชั้นได้ถูกจับจองโดยแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘หนัง’ เอาไว้หมดแล้ว
“ย้อนไปตอนปี 2020 เราได้เซตอัพบาร์ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับถ่ายหนังที่ชั้น 1 ของตึกหลังนี้ แต่พอถ่ายเสร็จเราดันเสียดาย ไม่อยากทิ้ง ก็เลยคิดว่างั้นทำเป็นบาร์ไปเลยละกัน ประจวบกับในตอนนั้นออฟฟิศเก่าหมดสัญญาเช่าที่พอดี ก็ขอเช่าทั้งตึกแล้วย้ายออฟฟิศมาอยู่ที่เดียวกันด้วยเลย”
Houston Film ออฟฟิศของบาสซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ผลิตโฆษณา เอ็มวี และสื่อเคลื่อนไหวต่างๆ จึงได้ย้ายมาประจำการอยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารสีขาวที่ตั้งอยู่ในซอยสวัสดี สุขุมวิท 31 แห่งนี้
“พอย้ายมาอยู่ มันก็ยังมีหลายชั้นที่ไม่ได้ใช้งาน เราก็เลยพยายามหาประโยชน์ในมุมอื่นๆ ก็เลยไปคุยกับหุ้นส่วนว่าขอชั้น 3 ทำเป็นแกลเลอรีสำหรับขายโปสเตอร์ของร้าน Poster District ด้วย ซึ่งก็ได้กลายเป็นหน้าร้านแรกของร้านเราเลย”
“ทีนี้มันก็ยังเหลืออีก 1 ชั้น เราเลยชวนคนรอบๆ ตัวมาออกไอเดียกัน อย่างขิม จูนจูน (พัชชา พูนพิริยะ) จ๊ะจ๋า (แพรว พูนพิริยะ) และ แมน (อมร นิลเทพ) ซึ่งแต่ละคนก็มีสิ่งที่ตัวเองอยากทำ อย่างจูนเขาก็อยากทำ merchandise ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ส่วนจ๊ะจ๋าก็อยากทำร้านกาแฟ ท้ายที่สุดมันก็เลยออกมาเป็นพื้นที่ที่ผสมผสานสิ่งที่ทุกคนอยากทำเข้าไว้ด้วยกันในตึกเดียว”
ท้ายที่สุดแล้ว FICS จึงไม่ใช่แค่ชื่อของคาเฟ่แต่เป็นชื่อของอาคารที่รวมเอาธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นจากความหลงใหลในภาพยนตร์เข้าไว้ด้วยกัน ดั่งความหมายของตัว F ในชื่อที่มาจากประโยคว่า ‘Film Inspired’ หรือ ‘บันดาลใจจากภาพยนตร์’
Movies, Movies Everywhere
FICS มีกลิ่นอายของความเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่แรกเห็น ด้วยหน้าตาภายนอกของอาคารก็ทำให้ผู้ที่เดินทางมาเชื่อมโยงไปถึงโรงหนังแบบ stand alone ซึ่งเคยรุ่งเรืองในยุคหนึ่งก่อนที่โรงหนังมัลติเพลกซ์จะเข้ามาตีตลาด
บาสเล่าถึงที่มาที่ไปของหน้าตาร้านให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “สิ่งแรกที่น่าจะเป็น first impression ของหลายคนคือด้านนอกของร้าน ซึ่งเราได้หยิบเอาดีไซน์ของโรงหนังเก่าเข้ามาใช้ เช่นพวกรูปทรงของป้ายและหลอดไฟกลมๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมันตอบความต้องการของเราในฐานะของเด็กที่โตมาในยุคที่โรงหนัง stand alone รุ่งเรือง”
เมื่อเดินเข้ามาใกล้มากขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้พบคือตู้ถ่ายภาพ Photoautomat ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์ Amélie โดยมี Sculpture Bangkok แบรนด์ที่ให้บริการตู้ถ่ายภาพประเภทนี้เข้ามาช่วยดูแลการติดตั้ง จากนั้นเมื่อเข้ามาด้านในทุกคนจะได้พบกับป้ายบอกรายละเอียดของแต่ละชั้นและป้ายที่เขียนว่า “Film Lovers Are FICS People”
“พอเดินเข้ามาด้านในตึก การตกแต่งหลายๆ อย่างของร้านมันคือการเอาศิลปะแนว Art Deco มาปรับให้มันมีความโมเดิร์นมากขึ้น ภาพจำเดิมที่เรามีต่อโรงหนังที่จะต้องเป็นไม้หรือมีม่านแดงหลายๆ จุดก็ถูกถอดออกและปรับเปลี่ยนไป แต่รายละเอียดบางอย่างมันก็ยังจะคงอยู่”
รายละเอียดที่บาสว่าคือสิ่งที่ช่วยให้ที่แห่งนี้มีบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ แม้ว่าหน้าตาอาจจะไม่ใช่อย่างที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เซตให้เหมือนช่องขายตั๋ว ไฟกลมที่ห้อยลงจากเพดาน เก้าอี้โรงหนัง ผ้าม่านสีครีม (ปรับจากสีแดงเพื่อให้เข้ากับการตกแต่งของร้าน) และอีกมากมายที่บาสและทีมบรรจงใส่กันเข้ามา
“ของอย่างแรกๆ ที่คนมาร้านจะได้เห็นคือป้ายที่เขียนว่า ‘Film Lovers Are FICS People’ ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีที่มาจากโควตของ François Truffaut ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่เคยกล่าวไว้ว่า Film lovers are sick people. ซึ่งเราก็เอามาปรับให้มันเข้ากับร้าน”
เมื่อเดินต่อขึ้นมาเราจะได้พบกับขั้นบันไดและโทรทัศน์ที่เปิดฉายซีนบางซีนจากภาพยนตร์หลายๆ เรื่องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากสังเกตดูให้ดีๆ จะพบว่าทุกซีนที่กำลังฉายอยู่นั้นล้วนแต่เป็นซีนในคาเฟ่จากภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ทั้งหมด
“ชั้นพักตรงบันไดตรงนั้นเป็นเหมือนตัวเชื่อมความรู้สึกระหว่างคาเฟ่กับภาพยนตร์เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งพอคนเดินผ่านจุดนั้นขึ้นมาเขาก็จะพบกับพื้นที่ที่มีการตกแต่งเป็นบูทขายตั๋วหนัง ป้ายโรงหนังที่ถูกปรับให้มินิมอล และเมื่อผลักบานประตูเข้าไปในร้านก็จะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังทั้งหมด ทั้งโปสเตอร์ โซนคอนเซปต์สโตร์ หรือมุมเทปฉายหนัง”
รสชาติของหนังเรื่องโปรด
ทำไมต้องคาเฟ่? ในเมื่อกรุงเทพฯ อัดแน่นไปด้วยร้านประเภทนี้อยู่แล้วทั่วทุกมุมถนน
ขิม ผู้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกทุกคนที่เข้ามาที่ร้านชิงตอบก่อนบาสว่า “เราคิดว่าคาเฟ่เป็นเหมือนจุดเช็กอินแรกที่เราจะได้แนะนำตัวเองกับลูกค้า ให้เขาค่อยๆ ได้รู้จักเราโดยที่มีของให้กินไปด้วย นอกจากนี้เราคิดว่าส่วนของคาเฟ่มันเข้าใจง่ายและทุกคนรีเลตได้โดยไม่เกร็ง ซึ่งมันช่วยให้พื้นที่เนิร์ดๆ อย่างแกลเลอรีโปสเตอร์ด้านบนมีความเฟรนด์ลี่มากขึ้น”
บาสเสริมต่อว่า “จริงๆ มันเหมือนเวลาเราไปพวกพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี ซึ่งมันมักจะมีคาเฟ่เล็กๆ ตั้งอยู่ข้างหน้าให้เราได้เข้าไปซื้อเครื่องดื่ม ก่อนจะเข้าไปในโซนหลักของสถานที่นั้น”
FICS เป็นคาเฟ่ที่มีทั้งเมนูเครื่องดื่มทั่วไปตามแบบฉบับของร้านค้าประเภทนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ FICS พิเศษกว่าคาเฟ่อื่นๆ คือที่นี่จะมีเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์จากภาพยนตร์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Amélie, Lost in Translation, A Clockwork Orange, Call Me By Your Name และ Blue Is the Warmest Colour
โดยแต่ละเมนูจะถูกตั้งตามชื่อของภาพยนตร์ รวมถึงได้รับการออกแบบตั้งแต่แนวทางของรสชาติ หน้าตา และสีสัน ให้สอดคล้องไปกับรายละเอียดของหนังเรื่องนั้นๆ
ขิมเลือกเครื่องดื่มที่อยากแนะนำให้เราฟังมาสองแก้ว “แก้วแรกคือ Amélie ซึ่งแก้วนี้จะมีส่วนผสมของแยมราสเบอร์รีโฮมเมดที่เราทำเองและท็อปด้านบนด้วยกาแฟนม ซึ่งมีที่มาจากฉากที่เอมิลี่เอาราสเบอร์รีติดไว้ที่นิ้วแล้วกิน”
“อีกเมนูชื่อ Lost in Translation ซึ่งเป็นตัวที่มีแอลกอฮอล์ จะมีส่วนผสมของบ๊วยสด อุเมะชู โซดา สไปรท์ และมัตฉะ ซึ่งในหนังมันมีฉากอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นช่วงฤดูฝน หลายๆ อย่างเราเลยดึงเครื่องดื่มของคนญี่ปุ่นมา อีกทั้งเวลาเสิร์ฟเราจะเสิร์ฟมัตฉะแยกเพื่อให้ลูกค้าได้เทลงไปผสมเอง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นกิมมิกของการผสมผสาน เหมือนกับตัวละครชาวตะวันตกในหนังที่ต้องไปอาศัยอยู่ในดินแดนตะวันออก”
นอกจากนี้ก็มีอีกหลายแก้ว เช่น Call Me By Your Name ที่มีส่วนผสมของลูกพีช Blue Is the Warmest Colour เครื่องดื่มสีฟ้าเสิร์ฟร้อนล้อไปกับชื่อของหนัง สะท้อนให้เห็นว่าซิกเนเจอร์เมนูของ FICS ล้วนถูกคิดและรังสรรค์ขึ้นมาจากความหลงใหลในภาพยนตร์อย่างเข้าเส้น
จุดรวมพลของคนรักหนัง
“เราอยากขายประสบการณ์ของการได้เข้ามาในพื้นที่นี้ว่ามันเติมเต็มความรู้สึกของคนรักภาพยนตร์” บาสพูดถึงจุดประสงค์โดยรวมของการดีไซน์ FICS ให้อยู่ในธีมของภาพยนตร์
ขิมจึงช่วยเสริมต่อว่า ในความจริงแล้วลูกค้าที่เดินเข้ามาอาจจะไม่ได้มีแต่คอหนังที่เข้ามาแล้วจะ ‘เก็ต’ แนวคิดของคาเฟ่นี้ในทันที เพราะฉะนั้นการต้อนรับจึงเป็นส่วนสำคัญมาก ที่จะทำหน้าที่จูงมือลูกค้าเข้ามาในโลกของภาพยนตร์
“คาเฟ่ของเราจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์แรกของลูกค้ามาก เราเลยสนุกที่จะเข้าไปต้อนรับลูกค้าด้วยตัวเอง เพราะมันเป็นโอกาสในการเล่าให้เขาฟังว่า FICS คืออะไร มีที่มายังไง เราชอบอะไร กาแฟแต่ละแก้วของเราสร้างสรรค์มาจากไหน”
นอกจากเครื่องดื่มและขนมหวานแล้ว ในพื้นที่ของคาเฟ่จะมีมุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่วางของกระจุ๊กกระจิ๊กอย่างเสื้อยืด แก้วน้ำ จิ๊กซอว์ กระเป๋าผ้า และอีกมากมาย ซึ่งเป็นมุมของคอนเซปต์สโตร์ที่มีจูนจูนกับบาสรับหน้าที่รังสรรค์ไอเดีย ผลิต และจัดหาสินค้ามาวางจำหน่าย
“เรื่องนี้จริงๆ ต้องยกเครดิตให้กับจูนจูนเลย ตอนนั้นเขาก็เสนอมาว่าเราน่าจะทำ merchandise ที่หยิบส่วนประกอบบางอย่างจากหนังหรือคนทำหนังมาผลิตเป็นของขาย สุดท้ายเราก็เลยได้เอามันมาเขย่ารวมกับไอเดียของคาเฟ่ และจัดร้านให้อยู่ในโซนเดียวกัน” บาสเล่า
“ส่วนวิธีคิดการเลือกของมาผลิตนี่ต้องยกให้กับสาวๆ ของ FICS เลยคือ จูน จ๋า แล้วก็ขิม ซึ่งพวกเขาจะเข้าใจว่าวัยรุ่นยุคนี้ชอบอะไร โปรดักต์แบบไหนจะตรงกับสิ่งที่ทาร์เก็ตต้องการ มันก็เลยออกมาเป็นเสื้อ กระเป๋า และสิ่งของที่คนใช้ได้ง่ายๆ โดยตัวเราเองก็อาจจะช่วยเสริมในมุมของพวกการเล่นคำบนสิ่งของเหล่านั้น”
เมื่อทุกอย่างอยู่ในคอนเซปต์เดียวกัน ตั้งแต่กาแฟ โปสเตอร์ และของที่นำมาจัดจำหน่าย ทำให้ภาพของ FICS ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ความชัดเจนนี้ก็ไม่ได้ชัดเสียจนกีดกันคนที่ไม่ใช่คอหนังออกไป กลับกันบาสมองว่ามันเป็นสิ่งง่ายๆ ที่น่าจะเชื่อมโยงคนเข้าไว้ด้วยกันได้
“คนที่มาที่ร้านไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นคนหนัง แต่เราเชื่อว่าต่อให้คุณเป็นคนที่ไม่ได้ชอบดูหนัง อย่างน้อยคุณต้องมีหนังในดวงใจสักเรื่องหนึ่งแหละ ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งนี้มันสามารถทำให้คนเราเกิดความเชื่อมโยงถึงกันได้
“อย่างลูกค้าที่มาร้านเราเคยเล่าให้ฟังว่ามาถึงแล้วได้กินกาแฟ Amélie แล้วอยากกลับไปดูหนังอีกรอบ หรือบางคนที่มาดูโปสเตอร์เราแล้วมาถามว่าเรื่องนี้เรื่องอะไรเหรอ สวยจังเลย แล้วพอเราเล่าให้เขาฟัง เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่ามันน่าดูจัง เราคิดว่าองค์ประกอบทุกอย่างของเรามันเป็นเส้นทางที่จะพาคนไปสู่ความรักในภาพยนตร์”
โลกทั้งใบในกระดาษแผ่นเดียว
Poster District เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของบาสที่เกิดจากความชื่นชอบในภาพยนตร์ของเขา และเมื่อ FICS เกิดขึ้น เขาจึงได้ฤกษ์เปิดหน้าร้านของ Poster District ที่ชั้น 3 ของอาคารแห่งนี้ ซึ่งแม้จะเพิ่งได้เปิดหน้าร้านขึ้นมาจริงๆ แต่ที่มาที่ไปของร้าน Poster District สามารถย้อนกลับไปได้หลายสิบปี นับตั้งแต่เขายังเป็นเพียงนักสะสมเท่านั้น
“จริงๆ เราเริ่มสะสมโปสเตอร์ตั้งแต่ช่วงประถมปลายๆ สมัยที่ยังใบละ 30-40 บาทอยู่เลย แต่พอจบมัธยมเราก็ไม่ได้สะสมอีก จนมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปตลาดขายของเก่าที่ฝรั่งเศส และเจอร้านขายโปสเตอร์ ซึ่งมันทำให้เราย้อนความหลังไปถึงช่วงเวลาที่สะสม จากแผนนั้นก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เรากลับมาสะสมโปสเตอร์อีกครั้ง
“ส่วน Poster District เกิดขึ้นจริงๆ ตอนโควิดระบาดรอบที่สอง ซึ่งพอมันมีการล็อกดาวน์ที่เราได้มีโอกาสอยู่บ้านว่างๆ ที่นี้พอได้มองไปรอบตัวก็เห็นว่าเรามีโปสเตอร์เยอะเหมือนกันแฮะ ขายบ้างดีไหม น่าจะสร้างรายได้ตอนที่ว่างๆ ได้ด้วย”
ด้วยความที่บาสเป็นคนที่ชอบเรื่องของดีไซน์และกราฟิกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เขายิ่งถลำลึกกับการเก็บสะสมสิ่งของประเภทนี้มากขึ้น เพราะบาสเล่าว่าโปสเตอร์หนึ่งแผ่นมันเต็มไปด้วยวิธีคิดการออกแบบที่ผสมผสานกับตัวภาพยนตร์จนออกมาได้อย่างลงตัว
“นอกจากเรื่องดีไซน์แล้ว เราคิดว่าโปสเตอร์หนังมันเป็นสิ่งที่สรุปโลกทั้งใบของหนังออกมาเป็นภาพภาพเดียว ซึ่งการที่มันทำแบบนั้นได้เราคิดว่ามันเป็นศาสตร์ที่ท้าทายอย่างมาก โปสเตอร์ที่ดีมันไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่มันจำเป็นจะต้องสื่อสารบางอย่างที่สตูดิโอผู้สร้างหนังเขาต้องการ มันต้องมีข้อมูล มีฟังก์ชั่นที่กระตุ้นให้คนที่พบเห็นสนใจและอยากดูหนังเรื่องนั้น”
สำหรับบาส Poster District ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เขาได้แชร์สิ่งที่หลงใหลให้กับคนอื่น โปสเตอร์ส่วนใหญ่ในร้านมาจากหนังยุค 70s-80s ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้บาสอยากเป็นผู้กำกับ นอกจากนี้ยังมีหมวดหมู่หนังที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเขาชอบมากๆ อย่างโรแมนติกคอเมดี้
“ไล่มาได้ตั้งแต่ Four Weddings And A Funeral, Notting Hill, Music and Lyrics เราชอบหมด ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าว่าหนังกลุ่มนี้มีคนชอบเยอะ เราเลยรับมาขายด้วยในราคาที่ไม่แพงมาก ซึ่งก็หวังว่ามันจะช่วยประคับประคองยอดขายให้เราสามารถรันค่าเช่าค่าไฟค่าพนักงานของเราได้”
เป็นธรรมดาที่ธุรกิจจะมีช่วงขึ้นและช่วงลง แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน บาสย้ำกับเราว่าร้านโปสเตอร์แห่งนี้มีกฎเหล็กที่ตั้งไว้เพื่อรักษาคุณค่าของโปสเตอร์ทุกใบในร้าน นั่นคือการไม่ขายของปลอมเด็ดขาด
“บางอันเราสั่งมาแล้วเราไม่มั่นใจเราก็จะไม่ขายใบนั้นเลย ซึ่งโปสเตอร์แท้ๆ แบบออริจินัลคือโปสเตอร์ที่เขาใช้สำหรับโปรโมตหนัง เคยไปติดตามโรงหนังหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งพวกรีปรินต์เราก็จะไม่สั่งเข้า เพราะสิ่งที่ทำให้กระดาษเหล่านี้มีคุณค่าขึ้นมาคือประวัติศาสตร์ของมัน มันคือเบื้องหลังที่ถูกผลิตขึ้นมาจากทีมงานของหนังเรื่องนั้น มันมี DNA ของคนทำงานในหนังเรื่องนั้นอยู่”
Film Lovers are FICS People
สำหรับบาส ทุกวันนี้เขาควบตำแหน่งหลายบทบาท ทั้งผู้กำกับ เจ้าของโปรดักชั่นเฮาส์ เจ้าของบาร์ และล่าสุดคือเจ้าของคาเฟ่ การทำธุรกิจย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เจ้าของควรจะต้องมีทักษะเรื่องเงินๆ ทองๆ รวมถึงทักษะการบริหารเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง
แต่ “เราไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจเลย” บาสว่า
“เพราะสำหรับนักธุรกิจเม็ดเงินมาก่อนสิ่งอื่น แต่สำหรับเราเม็ดเงินมาทีหลัง งานต้องมาก่อน เราใช้วิธีคิดเหมือนกับการทำหนัง คือทำอะไรก็ได้ให้คนดูแฮปปี้ที่สุด”
แต่ไม่ได้หมายความว่า FICS คือสเปซที่เปิดเล่นๆ ตามใจอยาก ในขณะที่บาสคำนึงถึงความสุขของลูกค้าเป็นหลัก เขาก็ยังมีเพื่อนๆ ที่คล้ายเป็นโปรดิวเซอร์ คอยประนีประนอมความต้องการของผู้กำกับ บริหารเงินทุนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ และซัพพอร์ตทุกเรื่องอยู่ข้างหลัง
ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจสรุปได้ว่าไฮไลต์จริงๆ ของ FICS คงไม่ใช่เครื่องดื่มหรือขนม แต่เป็นรูปธรรมของความรักที่บาสและหุ้นส่วนมีให้กับภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่บาร์ คาเฟ่ ร้านโปสเตอร์ มุมขายสินค้าที่ช่วยกันกวักมือเรียกให้ทั้งคนที่เป็นคอหนังและคนที่ไม่ใช่คอหนังกล้าก้าวเข้ามาสัมผัสความหลงใหลของพวกเขา
FICS
hours : เปิดทุกวัน แต่คาเฟ่ ร้านโปสเตอร์ ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ และร้านคอนเซปต์สโตร์มีเวลาเปิด-ปิดไม่เหมือนกัน เช็กหรือสอบถามได้ที่เพจของร้าน
address : 245/10 ซอยสุขุมวิท 31 (เดินจากบีทีเอสอโศกหรือพร้อมพงษ์ประมาณ 13 นาที)
facebook : FICS Facebook Page