post-thesis กับการเติบโตแบบไม่อะไรกับใครเพราะ “วงการแฟชั่นไทยมันอิกนอแรนต์”

เมื่อปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้เห็นงานแฟชั่นที่หยิบเอาชุดนักเรียนไทยมาคิดใหม่ทำใหม่ จนกลายเป็นดีไซน์แปลกตาที่ใครเห็นเป็นต้องรู้สึกสนุกไปด้วย มาถึงตอนนี้แบรนด์ post-thesis ยังคงชวนให้ตั้งคำถามกับกรอบอำนาจนิยมของชุดนักเรียนไทย และยังพยายามเติบโตต่อไปให้ได้ด้วยแรงกำลังของตัวเอง 

ตามชื่อนั่นล่ะ post-thesis ต่อยอดจากโปรเจกต์จบของ นะโม—ติณห์ ตันโสภณ นักศึกษาแฟชั่น ม.กรุงเทพ ผู้เรียนจบมาแล้วก็อยากทำต่อให้มันจริงจัง เขาเริ่มปั้นแบรนด์นับจากนั้น เคยถึงกับเผชิญคำถามว่าเขาจะเอายังไงกันแน่เกี่ยวกับชุดนักเรียน จะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก? และคำตอบของเขาก็ยิ่งชัดเจนขึ้นตามกาลเวลา 

เผชิญคำถามเรื่องจุดยืนว่ายากแล้ว การพาแบรนด์ไปต่อในโลกทุนนิยมอาจยากกว่า และนะโมเลือกดำเนินการทั้งหมดด้วยตัวเอง ออกแบบเอง ควบคุมการผลิตเอง โปรโมตเอง ขายเอง ไม่มีสต็อกของ แต่รับตัดตามออร์เดอร์ ทั้งหมดนี้เพราะเขาไม่ต้องการเอาแบรนด์ไปผูกติดกับใคร หรือกระทั่งกับวงการแฟชั่นไทย และเหตุผลของเขาก็เกี่ยวกับการเมือง

—แน่นอน อะไรๆ ก็เกี่ยวกับการเมืองไปซะหมด แล้วเรื่องราวของแบรนด์แฟชั่นเล็กๆ แบรนด์หนึ่งจะเกี่ยวกันแบบไหน ยังไง อ่านกัน

ผ่านการออกสื่อรัวๆ มาเกือบปีแล้ว อยากให้อัพเดตเกี่ยวกับ post-thesis ณ เวลานี้สักหน่อย

ตอนนี้ก็ยังเป็นแบรนด์ที่ทำคนเดียว เรารับทำตามออร์เดอร์ ก็มีทั้งคนที่ซื้อไปไว้เอง เช่ายืม แล้วก็เอาไปใช้ในงานโปรดักชั่นต่างๆ เราพยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองจริงๆ ถึงจะเป็นงานที่ไป collab กับแบรนด์อื่นๆ อย่างเช่นวาโก้ ลูกค้าก็ให้โอกาสเราได้ควบคุมส่วนงานของเราแทบทุกอย่าง หลายงานนอกจากออกแบบแล้วเรายังได้ทำงานสไตลิ่งด้วย ซึ่งมันดีมากๆ 

คุณเคยเจอคำถามเกี่ยวกับชุดนักเรียนว่าจะเอายังไงกันแน่ ตอนนั้นคุณตอบว่ายังไง

ใช่ เราเคยส่งงานไปประกวดในเวทีหนึ่ง แล้วกรรมการคนหนึ่งเขามองว่าเราคิดแง่ลบกับชุดนักเรียนเกินไป แล้วเขาก็ถามว่าเราจะเอายังไงกันแน่ อยากให้ยกเลิกไปเลย หรือแค่อยากให้ปรับเปลี่ยน ตอนนั้นเราก็ฟังเขาแล้วไม่ได้ตอบอะไรไป แต่เรามีคำตอบของเรา

ตอนรีเสิร์ชเราเจอทั้งประเทศที่ไม่มีชุดนักเรียนเลยแล้วก็เจอประเทศที่ก็ยังมีชุดนักเรียนอยู่แต่มันไม่ใช่กฎข้อบังคับของรัฐ และเราเห็นด้วยกับแบบนั้น เรารู้สึกว่าชุดนักเรียนมีได้ แต่ต้องไม่ใช่การบังคับหรือยัดเยียด แต่ในบ้านเรา ชุดนักเรียนกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจนิยม มันกลายเป็นเครื่องมือที่กดคนเอาไว้ด้วยคำว่ากฎระเบียบ 

ที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่น ที่ชุดนักเรียนของเขามันกลายเป็นสิ่งอื่นได้ ชุดนักเรียนเขายืดหยุ่น ลื่นไหล เราจะเห็นชุดนักเรียนถูกนำไปต่อยอดในงานสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ ชุดนักเรียนอาจจะไปอยู่ในอนิเมะ ไปอยู่ในวงไอดอล ไปอยู่ในซับคัลเจอร์บางอย่าง นั่นเพราะเขาไม่ได้ยึดติดว่ามันต้องศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาเลย 

สำหรับคุณ ชุดที่จะใส่ไปโรงเรียนควรเป็นแบบไหน

มันควรเป็นอะไรก็ได้ เราว่าชุดที่จะใส่ไปเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กสามารถ explore ตัวเองผ่านการแต่งตัวได้ อาจจะมีคนที่ชอบใส่ยูนิฟอร์มเพื่อ represent อะไรบางอย่างที่เขาต้องการ มันก็ควรเป็นทางเลือกของเขา หรือเขาอยากใส่ชุดอื่นใดก็ย่อมได้ การจำกัดกรอบว่าแต่งตัวได้แค่แบบนี้ๆ มันคือการปิดกั้นการเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านเลยด้วยซ้ำ

เรามองว่าการแต่งกายคือศาสตร์แห่งการพรีเซนต์ตัวเองและเราสามารถเรียนรู้จากมันได้ มันคือการใช้ความคิด ว่าเราจะเลือกตัวไหน ใส่กับอะไร สีอะไร แต่ดูเหมือนโรงเรียนจะปิดกั้นเด็กจากแฟชั่นไปโดยปริยาย เด็กจะใส่เสื้อกันหนาวดาบพิฆาตอสูรก็ยังมีครูมาห้ามเลย ทั้งที่การแต่งกายมันต้องสนุกได้สิ แล้วมันไม่ได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาเลย เด็กๆ ที่ได้ใส่อะไรแบบที่ชอบน่าจะมีความสุขกับการเรียนมากขึ้นด้วยซ้ำ

ปัญหาของชุดนักเรียนไทยตอนนี้คืออะไร

ที่สุดแล้วมันคือความศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ ชุดนักเรียนมาพร้อมกับการห้ามเด็กทำโน่นทำนี่ อย่างเช่นเรื่องการมีเซ็กซ์ เราว่าการมีเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แม้กระทั่งถ้าเด็กจะมีเซ็กซ์กันเราก็ไปพุ่งประเด็นว่าเด็กต้องพ้นขีดอายุเท่านี้ก่อนถึงจะมีเซ็กซ์ได้ แทนที่จะสอนกันเรื่องการป้องกันหรือเรื่อง consent ที่มันสำคัญจริงๆ

เรื่องชุดก็เช่นกัน คุณจะมีเซ็กซ์ในชุดไหนมันผิดตรงไหน คนจะเงี่ยนกับอะไรก็ได้ กับชุดแบบไหนก็ได้ ตราบใดที่มันอยู่บนพื้นฐานเรื่อง consent หรือถ้าชุดนักเรียนไปอยู่ใน porn มันก็จะเป็นประเด็นที่ลึกไปกว่านั้นอีก เพราะพอเรามองว่าเด็กที่ยังไม่พ้นอายุเท่านี้ๆ ห้ามมีเซ็กซ์ มันเลยกลายเป็นกรอบที่ถูกนำไปทลายในหนังโป๊ มันเลยกลายเป็น sex object เพราะแบบนั้น เพราะภาพจำเดิมๆ ของมัน

ถ้าสามารถรีดีไซน์ชุดนักเรียนให้นักเรียนทั้งประเทศ คุณจะดีไซน์ยังไง

ถ้าพูดถึงชุดแบบพื้นฐานเลย เราจะมองมันเป็น life wear ก็ต้องดูตั้งแต่รูปทรง เนื้อผ้า จนถึงวิธีการใส่ ว่ามันเหมาะกับฤดูกาลบ้านเราไหม ใส่สบายไหม จำเป็นไหมที่ต้องใส่เข้าไปในกางเกงหรือกระโปรง แล้วจะยาวหรือสั้นดี หรือกระทั่งมันต้องจำกัดขนาดนั้นไหม อย่างตอนออกแบบงานใน post-thesis เราก็เปลี่ยนกระโปรงให้เป็นกางเกง ให้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้นแล้วเพศไหนก็ใส่ได้ หรือถ้ามีคนที่ชอบรูปลักษณ์ของกระโปรงแต่อยากเคลื่อนไหวสะดวกๆ เราก็มีออปชั่นเป็นกางเกงกระโปรงให้ด้วย 

ที่สำคัญคือมันต้องไม่ปรับแค่ชุดนักเรียน แต่ต้องปรับกิจวัตรของนักเรียนด้วย เพราะต่อให้เสื้อผ้าใส่สบายแค่ไหนแต่ถ้ายังต้องยืนเข้าแถวกลางแดดมันก็ร้อนจะเป็นลมอยู่ดี แล้วกว่าจะได้เริ่มเรียนจริงๆ ก็ต้องมาตรวจเล็บ ตรวจผม ตรวจความเรียบร้อย เท่านี้มันก็บั่นทอนพลังที่จะเรียนรู้ไปส่วนหนึ่งแล้ว มันเลยต้องปรับกันทั้งระบบ มันไม่ควรต้องให้เด็กไปทรมานสิ เขาไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนรู้ 

สำหรับแบรนด์ post-thesis คุณคิดจะต่อยอดไปในทางไหน มองที่ทางของตัวเองในวงการแฟชั่นไทยยังไงบ้าง

ก็ยังคงจะทำคนเดียวไปก่อน เอาจริงๆ เราถือว่าตัวเองเป็นแบรนด์ outcast นะ เรากล้าพูดเลยว่าเราไม่อยากไปยุ่งกับวงการแฟชั่นเท่าไหร่ เพราะมันเน่า ปิดกั้นความคิดคน จะเอาแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในความคิดพวกเขา แต่เรื่องมนุษยธรรม เรื่องสังคม เขาไม่เอาเลย เพราะเขามองว่ามันแตะไม่ได้ กลายเป็นว่าเดี๋ยวจะมีใครโมโหหรือเปล่า 

คือมันมีแหละ คนในวงการแฟชั่นที่พูดเรื่องการเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่ก็คือคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าคนที่มีอำนาจจริงๆ ในวงการ เรายังไม่เห็นใครที่ออกมาพูดเลย ทั้งที่คนแฟชั่นมักจะพูดเรื่องเสรีภาพ ความขบถต่างๆ หรือไปเชียร์การเมืองต่างประเทศต่างๆ นานา Black Lives Matter เอย Asian Lives Matter เอย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราล่ะ? คือดัดจริตน่ะ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่อยากไปอยู่ในวงการแฟชั่น

ทั้งที่มันก็เหมือนชุดนักเรียนนี่แหละ เรื่องอำนาจมันต้องแตะต้องได้สิ ถ้าเราอยากจะพัฒนาจริงๆ เราควรเปิดกว้างในด้านการวิพากษ์วิจารณ์

วงการแฟชั่นไทยในสายตาคุณเป็นแบบไหน

สำหรับบางสื่อแฟชั่นแล้วกัน บางทีความสวยๆ งามๆ ของเขาก็จะเท่ากับ ‘ความเป็นไทย’ ไปโดยปริยาย ก็จะไปแห่แหนกันเรื่องผ้าไทย เอานางแบบไปยืนกับนาข้าว นั่งเรือคลองแสนแสบ ไปถ่ายโรงลิเก ก็เข้าใจแหละว่าเขาอยากเล่าเรื่องอะไร แต่มันคลิเช่มาก และสุดท้ายแล้วกลับให้ความสำคัญกับ youth น้อยมาก 

แฟชั่นของเราคือ youth เราให้ความสำคัญกับความเยาว์วัย ไม่ใช่ในแง่อายุนะ แต่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างในน่ะ เราว่า youth มันสามารถรณรงค์ได้ทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว เราเชื่อนะว่าเด็กรุ่นใหม่จะมาพัฒนาวงการ แต่ถ้าคนที่มีความคิดเก่าๆ ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เข้ามามันก็ยาก แม้แต่สิ่งที่เราอยากพูดเรื่องนี้มันก็ยาก เพราะส่วนใหญ่เขาก็มีความเกรงใจกัน มันเป็นเรื่องของคอนเนกชั่น

แน่นอนว่าวงการแฟชั่นมันก็ผูกพันอยู่กับทุนนิยม และบนสุดของทุนนิยมคืออะไรล่ะ แล้วมันก็มีคนที่อยากเข้าไปเพื่อจะไต่ขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้สนใจว่าเขาจะสื่อสารประเด็นอะไรผ่านแฟชั่นของเขา แต่เขาสนใจแค่อยากจะอยู่ในสังคมที่อีลีตมากขึ้น ได้แสงมากขึ้นรึเปล่า 

เพราะงั้นเราแค่อยู่ในโซนของเราก็ดีแล้ว ดีกว่าไปอยู่ในวงการแล้วมาถูกจำกัดว่าอันนี้พูดไม่ได้นะ อันนี้แตะไม่ได้นะ มันก็ย้อนแย้งทุกครั้งเวลาคุณพูดว่าอยากพัฒนา อยากไปไกลกว่านี้ 

อะไรที่ทำให้วงการแฟชั่นไทยเปลี่ยนได้ยาก

เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ยังต้องพึ่งคนมีเงิน สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องทำสิ่งที่ตอบโจทย์คนที่จะสนับสนุนเขา ทั้งที่จริงเราต้องพิเคราะห์อีกเยอะ ว่าเราจะพูดอะไรในแฟชั่นของเรา เพราะทุกอย่างมันคือการเมืองทั้งหมดนั่นแหละ มันไม่พูดไม่ได้ และส่วนหนึ่งคนที่เสพงานก็ต้องทำความเข้าใจวิธีคิดของงานด้วย 

สมมติวันหนึ่งเราทำแฟชั่นที่เล่าเรื่องรถเมล์ในบ้านเรา ก็อาจจะมีคนมา ว้าววว นี่แหละเอกลักษณ์ไทยที่ถูกต่อยอด มันสวยงาม ทั่วโลกจดจำ แต่ไม่ใช่สิ รถเมล์บ้านเรา ณ เวลานี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาภูมิอกภูมิใจ แต่มันควรถูกพัฒนาต่างหาก มันคือสิ่งที่สะท้อนความล้าหลังของคมนาคมบ้านเรา ส่วนหนึ่งเราเลยมองว่าแฟชั่นของเราควรมาพร้อมกับคำอธิบาย เพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิด

แต่กลับกัน อย่างชุดเราเองก็เคยมีคนที่บอกว่าชอบมาก ชอบชุดเรามาก มันกวนๆ ดี แต่พอได้มาฟังแนวคิดของเรากลับกลายเป็นว่าไม่ชอบแล้ว เพราะเรามองชุดนักเรียนในแง่ลบแล้วเราก็แตะการเมือง อ้าว ชุดนักเรียนมันอยู่ในระบบการศึกษา มันก็การเมืองอยู่แล้ว จะมาเอาแค่ความกวนๆ สนุกๆ แต่ไม่มองลึกๆ ข้างในกันเลยเหรอ 

เราว่าแฟชั่นมันควรต้องคิดในเชิงลึก จะฉาบฉวยไม่ได้ ชุดที่เราเห็นมันมีพงศาวดารของมัน มันยาวมากถ้าจะเล่าว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตยังไง เราคิดยังไง เลยถ่ายทอดออกมาแบบนี้ เราไม่ได้แค่เห็นผีเสื้อแล้วก็ทำเป็นรูปผีเสื้อ แต่มันผ่านการคิดต่างๆ นานา แล้วค่อยมาลดทอนให้มันเข้าใจง่าย 

รู้สึกยังไงเวลามีคนที่เคยชอบงานเรา แล้วกลับกลายเป็นไม่ได้ชอบแล้วเพราะสิ่งที่เราสื่อสารออกไป

ก็เคยมีบางคนที่แชร์เรารัวๆ จนกระทั่งเราโพสต์สนับสนุนนักเรียนเลว เขาก็หายๆ ไป (หัวเราะ) แฟชั่นบ้านเราเนี่ยอะไรที่กวนๆ สนุกๆ จะไฮป์กันมาก แต่พอเป็นเรื่องการเมืองปุ๊บจะไม่แตะเลย เขาก็อาจจะพูดว่า “มันก็เป็นสิทธิของชั้นมั้ยที่จะไม่พูดเรื่องการเมือง ไหนว่ารณรงค์เรื่องเสรีภาพ” แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ ถ้าคุณมีกะจิตกะใจพอ ถ้าคุณมีความใส่ใจมนุษย์มากพอ มีความเป็นคนมากพอ คุณจะเห็นว่าทำไมเราต้องพูดเรื่องการเมือง ต้องสื่อสารเรื่องการเมือง 

บ้านเรามันอาจจะดีอยู่แล้วสำหรับคนที่มีพริวิเลจ แต่คนที่เขาไม่ได้มีพริวิเลจกำลังต่อสู้อยู่ ดังนั้นการที่คุณเมินเขา คุณก็เป็นอิกนอแรนต์ และมันก็มีผลของมันที่คุณต้องรับไป แล้วคุณก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วยนะ ว่าทำไมคุณสนใจการเมืองต่างประเทศ แต่ไม่สนใจการเมืองบ้านเรา? 

แฟชั่นบ้านเรามันเป็นแบบนี้ เพราะคนที่อาวุโสสุดเป็นแบบนี้ อีกใจหนึ่งหลายคนเขาก็อาจจะกลัวเสียงาน เพราะถ้าเขาลองได้พึ่งพาคนตรงนั้นแล้ว ถ้าคุณขัดใจเขาคุณก็โดน บางคนก็ไม่อยากจะแลก ซึ่งเราว่าไม่ใจเลยอะ 

อะไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ในวงการกล้าพูด

ตราบใดที่เขายังต้องพึ่งคอนเนกชั่น หรือยังต้องพึ่งพาใครอยู่ มันก็ยาก เราว่ามันเป็นเรื่องการพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่ ขณะที่หลายคนได้ดีเพราะการทนอยู่กับการไม่เปลี่ยนแปลง กับระบบที่มันกดขี่ บางคนอาจจะมีไอดอลที่เขาเชิดหน้าชูตาได้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าก่อนจะไปอยู่จุดนั้นเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องสยบยอมกับอะไรมาบ้าง 

มองว่าอีก 10 ปีจะเปลี่ยนไหม

ถ้าไม่มีทายาทอสูรมาสืบต่อ มันก็คงจะเปลี่ยนแหละ 

ถ้าสมมติ post-thesis เป็นแบรนด์ที่ใช้เงินจากภาษีประชาชน จะทำตัวอย่างไร

เราเคยพูดกับเพื่อนว่าการรับเงินจากภาษีประชาชนมันเหมือนคุณขายวิญญาณ ดังนั้นคุณก็ควรต้องไถ่บาป ก็ต้องดูว่าคนที่เสียภาษีเขาเดือดร้อนเรื่องอะไรล่ะ แล้วคุณจะไถ่บาปยังไง มันไม่ใช่เงินที่คุณควรภูมิใจขนาดนั้น มันเหมือนคุณยืมเงินประชาชนมาใช้ ดังนั้นคุณควรต้องสร้างประโยชน์กลับคืนไปให้กับคนที่ให้เงินคุณด้วย คนที่รับเงินจากรัฐบาลมันควรมีความคิดแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องบริจาคให้โน่นนี่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่มันอยู่ในผลงาน อยู่ในสิ่งที่คุณสื่อสารก็ย่อมได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย