มาโมรุ โฮโซดะ : ผู้กำกับที่มองเห็นความมหัศจรรย์ของเด็กและการมีชีวิตอยู่ในวันนี้

Highlights

  • มาโมรุ โฮโซดะ ผู้กำกับแอนิเมชั่นชาวญี่ปุ่น มักหยิบประเด็นเรื่องครอบครัวและเด็กมาใส่ในผลงานเสมอ ตั้งแต่ The Girl Who Leapt Through Time, Summer Wars, Wolf Children, The Boy and The Beast และเรื่องล่าสุด Mirai ที่เล่าเรื่องพี่น้องซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลูกๆ ของเขา
  • การมองโลกด้วยสายตาเด็กที่ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ สิ่งนี้ทำให้โฮโซดะเลือกใช้วิธีการแฟนตาซีมาเล่าในแอนิเมชั่นให้สนุกและน่าสนใจขึ้น
  • Mirai บอกว่าเราแต่ละคนล้วนเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์เล็กๆ ในอดีตที่คนในครอบครัวตัดสินใจกันมา และเราเองก็จะมีส่วนกำหนดอนาคตของครอบครัวเราต่อไป
  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่นมักนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว นอกจากผลงานของมาโมรุ โฮโซดะ ยังมีผลงานของฮิโรคาซุ โคเรเอดะ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าเรื่องครอบครัวกำลังเป็นประเด็นที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าและอยู่ในระหว่างรอยต่อว่าจะอยู่กันอย่างดั้งเดิมหรือปรับเปลี่ยนสู่สมัยใหม่

เรารู้จัก มาโมรุ โฮโซดะ ครั้งแรกจากผลงานภาพยนตร์แอนิเมชั่น The Girl Who Leapt Through Time ที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กสาวที่มีพลังพิเศษ สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ จำได้ว่าหลังดูจบ แม้จะไม่มีคนแสดงจริงๆ แต่แอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำปฏิกิริยาต่อหัวใจและมีผลต่อความเชื่อบางอย่างของเรา จนเรายกให้เรื่องนี้เป็นแอนิเมชั่นที่เรารักที่สุด และปวารณาตัวเองเป็นแฟนของโฮโซดะทันที

ถ้าใครติดตามผลงานอื่นๆ ของโฮโซดะหลังจากนั้น ตั้งแต่ Summer Wars, Wolf Children, The Boy and The Beast (2 เรื่องหลังผลิตในนามสตูดิโอส่วนตัวของเขาที่ชื่อว่า Studio Chizu) คงรู้ว่าเขาเป็นผู้กำกับที่มักหยิบประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว และเล่าเรื่องราวธรรมดาของชีวิตมนุษย์ให้น่าสนใจผ่านมุมมองแฟนตาซีให้น่าสนุก ที่สำคัญ หนังของโฮโซดะมีแง่คิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตส่งมาถึงคนดูได้ทุกช่วงวัย



Mirai แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของเขาที่กำลังเข้าโรงฉายในไทยอยู่ตอนนี้ก็ยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและสมาชิกในครอบครัวที่โฮโซดะถนัดมือ ถึงจะฟังดูซ้ำและซ้ำ แต่หลังจากดูจบ คุณพ่อลูกสองคนนี้ก็ยังสามารถหามุมมองใหม่ๆ มาเล่าเรื่องธรรมดานี้ออกมาให้พิเศษและกินใจได้อีกครั้ง

และหลังจากได้พูดคุยกัน สิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังมาก่อนคือ แอนิเมชั่นของเขายังสะท้อนไปถึงปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัยได้เหมือนกัน

“หลายคนมักบอกว่าผลงานของผมเกี่ยวกับครอบครัวซะส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ผมสนใจและอยากเล่าคือกระบวนการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตและเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใหญ่มากกว่า มันต้องผ่านอะไรบ้างถึงจะทำให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้” โฮโซดะตอบคำถามแรกที่เราสงสัยมานาน “แต่พออยากจะเขียนถึงเรื่องเด็ก ก็ต้องเขียนถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็กซึ่งก็คือครอบครัวไปโดยปริยาย”

เขายกตัวอย่างเรื่องที่เด็กทุกคนน่าจะเคยผ่านมาให้เราฟังอย่างตอนหัดขี่จักรยานสองล้อเป็นครั้งแรก ที่เขาสังเกตเห็นจากลูกชายคนโตของเขาเองและหยิบมันมาใส่ในเรื่อง Mirai นี้ด้วย

“อยู่ดีๆ จากเด็กคนหนึ่งที่ทำอะไรไม่ได้ วันดีคืนดีเขาก็ทำได้ขึ้นมา ผมว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่น่ามหัศจรรย์มาก ผู้ใหญ่เราที่คิดอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรามักจะทำไม่ได้ อยากจะไดเอต แต่ก็เผลอใจกินขนมตลอด แต่เด็กกลับมีพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเยอะมาก”

คำตอบของเขาทำให้เราย้อนกลับไปคิดถึงวันที่ขี่จักรยานสองล้อได้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นมันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่มากในสายตาของเด็กคนหนึ่งจริงๆ นั่นแหละ

“ถ้ามองโลกด้วยสายตาผู้ใหญ่ เราก็จะมองอย่างที่มันเป็นตามความจริง เป็นสังคมมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีภาระหน้าที่และปัญหาต้องแก้ แต่เด็กจะมองโลกรอบตัวเขาต่างไปจากเรา เขาจะมองเห็นอะไรที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย อย่างในเรื่องที่คุนจังขี่จักรยานสองล้อไม่ได้ วันดีคืนดีเขาก็ขี่ได้ขึ้นมา ผมสงสัยว่าแล้วอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งขี่จักรยานได้ เขาอาจจะหายตัวไปอีกโลกหนึ่งแล้วไปเจอใครสอนให้เขาขี่เป็น ซึ่งในความจริงมันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว” นี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงใส่เรื่องราวแฟนตาซีมาช่วยในการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กๆ ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่เสมอ

ใน Mirai คุนจัง เด็กชายอายุ 4 ขวบเพิ่งได้ต้อนรับน้องสาวตัวเล็ก มิไร เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว เขาได้รู้จักบทบาทการเป็นพี่ชายครั้งแรกที่อาจไม่ได้ถูกตามใจเหมือนตอนเป็นลูกคนเดียวมาตลอด แต่เมื่อเขาเดินผ่านสวนเวทย์มนตร์ในบ้านของตัวเอง เขาจะได้เดินทางข้ามเวลาไปพบกับน้องสาวในวัยมัธยม คุณแม่ตอนที่ยังเด็กๆ คุณปู่ทวดที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลก หรือแม้แต่สุนัขที่พ่อแม่เลี้ยงมา พอคุนจังได้เห็นด้านต่างๆ ของสมาชิกแต่ละคนก็ทำให้เขาเข้าใจความหมายของการเป็นพี่ เป็นลูก และผูกพันกับครอบครัวมากขึ้น

เราว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลายเรื่องจะพูดถึงครอบครัว ผลงานของโฮโซดะทำให้เรานึกถึงงานของฮิโรคาซุ โคเรเอดะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นอีกคนที่มีผลงานน่าจดจำมากมาย Shoplifters ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของโคเรเอดะที่เพิ่งได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ก็มีเนื้อหาว่าด้วยมุมมองของคำว่า ‘ครอบครัว’ ในบริบทของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัย และหากย้อนไปดูงานของโคเรเอดะทั้งหมดก็พบว่ามีประเด็นหลักว่าด้วยเรื่องครอบครัวอย่างเข้มข้นจริงจัง ทั้ง After the Storm, Like Father, Like Son หรือผลงานคลาสสิกของเขาอย่าง Nobody Knows

สิ่งนี้สะท้อนถึงปรากฏการณ์อะไรที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นตอนนี้หรือเปล่า? เราสงสัย

“ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้วของสังคมญี่ปุ่น ตอนนี้รูปแบบการอยู่ร่วมกันของครอบครัวญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไป จากแต่ก่อนที่เป็นแบบแผนว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ ที่ถูกสร้างมาหลายร้อยปีกำลังเปลี่ยนไป มีทั้งคนที่อยากลองอยู่ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองสบายขึ้น กับคนที่ยังต้องการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ไว้  ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและคนญี่ปุ่นเองก็ไม่รู้ว่าควรเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนดี” โฮโซดะยกตัวอย่างเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนแต่ละคนเริ่มเป็นปัจเจกมากขึ้น เล่นอะไรกับคนที่ตัวเองไม่รู้จักในอินเทอร์เน็ตแต่ไม่สนใจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ส่งมาถึงเรื่องวิธีการเลี้ยงดูลูกด้วย

“คนรุ่นผมได้รับการเลี้ยงดูมาอีกแบบหนึ่ง แต่ลูกของเราควรจะได้รับการเลี้ยงดูแบบเดียวกันไหม ก็ยังไม่มีใครมาตั้งรูปแบบที่ทุกคนควรจะตาม หรืออย่างเรื่องเด็กก็เป็นปัญหาว่าเสียงดัง ในญี่ปุ่น ถ้าใครอยากจะสร้างโรงเรียนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรีตรงไหน ก็มักถูกต่อต้านว่าเด็กเสียงดัง ไม่อยากให้สร้าง มีปัญหาตรงนี้เยอะมาก”

“ผมคิดว่าที่ผู้กำกับหลายคนหยิบปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเล่าในภาพยนตร์ ก็น่าจะอยากเอาปัญหาตรงนี้มาให้ทุกคนโฟกัสดูและลองคิดว่าเราจะแก้ไขยังไงกันดี ผมเองคิดอย่างนี้และคิดว่าผู้กำกับคนอื่นน่าจะมีความคิดตรงนี้อยู่บ้างเหมือนกัน” โฮโซดะบอกกับเรา

นอกจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ชวนให้เราลองคิดว่าสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร อีกเมสเสจที่ถูกเล่าในช่วงท้ายของ Mirai และเราชอบมากๆ คือตอนที่คุนจังและมิไรได้รู้ว่าตัวเขาเองอยู่ใน ‘จุด’ ไหนของประวัติศาสตร์ครอบครัว เราแต่ละคนล้วนเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์เล็กๆ ในอดีต อาจเป็นเหตุบังเอิญหรือการตัดสินใจของคนในครอบครัวที่ทำให้เราได้อยู่ในจุดใดจุดหนึ่งของเวลาในตอนนี้ และสิ่งนี้จะเป็นผลต่อเนื่องต่อไปในอนาคต หรือ ‘มิไร’ เช่นกัน

“ผมอยากให้ผู้ชมดูแล้วคิดถึงตัวเอง คิดถึงครอบครัว ว่าก่อนที่จะมีตัวเราในวันนี้ มันต้องมีเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยไหนเกิดขึ้นมา อาจเป็นเรื่องบังเอิญจนเกิดเป็นตัวเรา และตัวเราเองก็จะเชื่อมต่อไปถึงอนาคตอีกว่าครอบครัวของเราจะเป็นอย่างไร”

แม้ว่าเราจะเป็นแค่คนเล็กๆ ครอบครัวเล็กๆ จุดเล็กๆ จุดหนึ่ง แต่เราก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่ยาวนาน และการที่เราได้มาอยู่ตรงนี้มันก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์เหมือนกัน

เป็นความมหัศจรรย์ที่ชีวิตมอบให้กับเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!