The Third Murder : หนังฆาตกรรมของโคเรเอดะที่สะท้อนความเก็บกดในสังคมญี่ปุ่น

Director: Hirokazu Koreeda
Region: Japan
Genre: Legal Thriller

ถ้าคุณเป็นแฟนพันธ์ุแท้หนังญี่ปุ่น ชื่อของผู้กำกับ ฮิโรคาสึ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) ไม่ใช่ชื่อใหม่ แถมยังเป็นชื่อที่คอหนังคุ้นเคยกันดีโดยเฉพาะคนไทย ส่วนหนึ่งน่าจะรู้จักเขาจากฝีมือการกำกับหนังเรื่อง Nobody Knows (2004) ผลงานสร้างชื่อของโคเรเอดะ ที่ถ่ายทอดภาพชีวิตกลุ่มเด็ก 4 คน ผู้ถูกแม่ทอดทิ้งให้ใช้ชีวิตตามมีตามเกิดในห้องเช่า นอกจากหนังจะสะท้อนภาพที่น่าหดหู่และบีบเค้นหัวใจผู้ชมได้เป็นอย่างดี ยูยะ ยะกิระ นักแสดงนำยังแจ้งเกิดเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเอเชียได้อย่างงดงาม

ถ้ามองผลงานที่ผ่านมาของโคเรเอดะ เรามักคุ้นเคยกับหนังครอบครัวอุ่นๆ ที่มีตัวละครซ่อนปมลึกๆ ไว้ในใจ ไม่ว่าจะเป็น Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015) หรือ After the Storm (2016)

มาถึงปีนี้ โคเรเอดะไม่ปล่อยให้แฟนหนังรอนาน ทว่าการกลับมาครั้งนี้ในเรื่อง The Third Murder กลับเป็นหนังแนวฆาตกรรมสืบสวน ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าแล้วเผาเจ้าของโรงงานอาหารกระป๋องบริเวณริมแม่น้ำรกร้าง โดยมี มิสึมิ (รับบทโดย โคจิ ยาคุโช) เป็นผู้ต้องหาที่เต็มใจสารภาพว่าตัวเองเป็นคนลงมือ จึงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในที่สุด

คดีนี้ทำให้ ชิเงโมริ (รับบทโดย มาสะฮารุ ฟุคุยามะ) หัวหน้าทีมทนายความฝ่ายผู้ต้องหา ต้องเข้ามาเป็นตัวแทนต่อสู้และช่วยเหลือเพื่อสิทธิของมิสึมิ โดยชิเงโมริทำหน้าที่คอยสืบสาวและเก็บข้อมูลจากเบาะแสต่างๆ เรื่องคงง่ายหากผู้ต้องหาให้ความร่วมมือและสารภาพอย่างซื่อตรง แต่เขากลับเปลี่ยนคำให้การไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำเบาะแสที่พบยังมีร่องรอยความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะคำให้การของ ซากิเอะ (รับบทโดย ซึสึ ฮิโรเสะ) ลูกสาวของเหยื่อผู้เสียชีวิต ที่อาจเข้ามาทำให้สถานการณ์พลิกผัน

ว่ากันตามตรง The Third Murder ยังเป็นหนังที่โคเรเอดะรักษามาตรฐานของตัวเองได้อย่างคงเส้นคงวา เอกลักษณ์ของเขายังปรากฏในหนังชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าที่สมจริง เชื่องช้า นิ่งเนิบ และมีตัวละครซับซ้อน เก็บงำความรู้สึก และประหยัดถ้อยคำ แต่ข้อแตกต่างคืองานชิ้นล่าสุดนี้ขยับออกมาจากเรื่องครอบครัวสู่เรื่องนอกบ้าน หรือพูดง่ายๆ คือการก้าวจากหน่วยย่อยของสถาบันสังคมขั้นพื้นฐาน มาสู่สถาบันการเมืองการปกครอง ซึ่งโคเรเอดะถ่ายทอดผ่านอาชีพทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ และนักโทษ ซึ่งตลอดทั้งเรื่องล้วนมีประเด็นที่หนักหน่วง และขมขื่นไม่น้อย แต่ถึงหนังจะเดินทางสู่พื้นที่ใหม่ โคเรเอดะก็ไม่ลืมที่จะสอดแทรกปัญหาครอบครัวที่ทำให้ฐานชีวิตของคนคนหนึ่งผุพังจนเกินเยียวยา นำมาสู่ความเก็บกดและใช้การฆ่าเพื่อตอบสนองอารมณ์ และถ่มถุยให้ชีวิตที่ถูกกดให้ต่ำจนหมดความเชื่อมั่นในตัวเอง

การเดินเรื่องของหนังนำทางให้คนดูสับสนงงงวยและหลงทางไปพร้อมๆ กับทนายความหนุ่ม เราจึงตกอยู่ในสภาวะค้างเติ่งอยู่หลายขณะ และหนังพร้อมจะหยิบยื่นบททดสอบให้เราค้นหาจนจบเรื่องชนิดหน้าชา ซึ่งประเด็นหลักที่โคเรเอดะพูด คือการว่ายวนอยู่กับการตรวจสอบความไว้เนื้อเชื่อใจ และช่องว่างของความสัมพันธ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง

มุมมองที่คนดูต้องติดตามตลอดทั้งเรื่องส่วนใหญ่เป็นมุมมองของชิเงโมริ ทนายความของมิสึมิ ซึ่งทำให้เราพบว่าแม้เขายิ่งค้นหาหลักฐานจนรู้ต้นสายปลายเหตุ แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้เขายิ่งหลงทาง เหมือนกับว่ายิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจ

ชิเงโมริจึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ถูกทดสอบว่าเขาเลือกจะเชื่อข้อมูลชุดไหนที่ได้รับมา ชั่งน้ำหนักตัดสินใจตลอดว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ และสุดท้ายความจริงที่จริงแท้มาตรฐานคืออะไร และจะเลือกเพราะอารมณ์หรือเหตุผล

ประเด็นอีกอย่างที่น่าขบคิดและถกเถียงกันอีกคือกระบวนการยุติธรรมนั้นเที่ยงธรรมจริงหรือเปล่า เพราะจากเหตุการณ์ในเรื่องที่ทนายฝั่งผู้เสียหายและผู้พิพากษาต่างพยายามตัดสินให้มิสุมิเป็นคนชั่วช้า สมควรได้รับโทษ และถูกละเลยความเป็นมนุษย์แบบเหมารวม จนเราต้องกลับมาถามตัวเองซ้ำๆ ว่าถ้าเราเป็นนักโทษ เราจะได้รับความเป็นธรรมไหม

งานด้านฉากและภาพ โคเรเอดะใช้พื้นที่ในห้องเยี่ยมนักโทษที่มีกระจกใสกั้น และช่องที่เจาะให้คนทั้งสองฝั่งพอคุยกันได้ ห้องขังสีอ่อนแคบๆ ห้องพักหรือบ้านที่มืดครึ้ม ห้องประชุม สำนักงาน โรงงานอาหารกระป๋อง ศาลที่ใช้ว่าความ และพื้นที่รกร้างริมน้ำที่เกิดการฆาตกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิดชวนอึดอัดและย้ำชัดถึงความโดดเดี่ยวและความกดดันของตัวละคร ซึ่งแม้จะอยู่ในสถานที่ที่มีคนมากมายอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่ แต่ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและเปล่าดายในจิตใจ บางฉากผู้กำกับเลือกใช้ภาพบางอย่างเพื่อสื่อความหมายของเหตุการณ์ ทับซ้อนระหว่างความจริงกับความลวง คนดูอย่างเราจึงต้องเป็นผู้ตัดสินด้วยตัวเอง (ซึ่งจะแน่ใจได้ยังไงว่าจริงหรือไม่จริง)

แนวทางของ The Third Murder จึงค่อนข้างเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และมีรสชาติแปลกใหม่สำหรับคนดูหลายคน เพราะโคเรเอดะหันมาเล่าเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนที่ดำดิ่งลงไปในจิตใจแสนซับซ้อนของตัวละคร เราจึงยกให้ The Third Murder เป็นพื้นที่ใหม่ที่น่าสนใจและท้าทายทั้งตัวโคเรเอดะเองรวมถึงคนดู ที่แม้รสชาติจะไม่ค่อยถูกปากเรานัก แต่นี่เป็นอีกหนึ่งงานที่น่าประทับใจของโคเรเอดะอยู่ดี

ข้อแนะนำก่อนชม The Third Murder

ถ้าใครคิดว่าจะมาดูชิลล์ๆ เพื่อผ่อนคลาย คุณอาจคิดผิด เพราะหนังต้องอาศัยการจดจ่อ มีสมาธิกับประโยคที่ตัวละครพูด และการกระทำของตัวละคร เพราะมีมิติที่ต้องคิดตามมากกว่าเหตุการณ์ที่เห็นในระดับพื้นผิว อาทิ ภาพแฝงสัญลักษณ์ บทสนทนาแฝงโลกทัศน์และปรัชญาชีวิต ดังนั้นก่อนมาชม ขอแนะนำให้นอนหลับให้เพียงพอ เพราะไม่อย่างนั้นอาจผล็อยหลับไปเหมือนที่ผู้ชมรอบสื่อหลายๆ คนเป็น

ภาพ IMDb

AUTHOR