คำเฉลยของผู้กำกับ คือคำตอบที่คนดูหนังต้องการ…หรือไม่

ข่าวเล็กๆ (แต่สำคัญ) ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คือข่าวการค้นพบคำเฉลยของตอนจบหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey จากปากของ Stanley Kubrick เอง ในสารคดีโดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่นช่วงปี 1980 ที่ไม่เคยถูกฉายมาก่อน ที่ต้องเรียกว่าเป็นข่าวเพราะว่าตอนจบของหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey นี้ถือเป็นปริศนาธรรมที่ ‘เวรี่แอ็บสแตรกต์’ เสียจนไม่น่ามีใครสักคนที่เข้าใจมันจริงๆ ทั้งคนดูและนักวิจารณ์ต่างก็ตีความไปมากมาย เป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบมา 40-50 ปี

จริงๆ ตัวผมเองก็ไม่ได้เข้าใจตอนจบของหนังเรื่องนี้เหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ นั่นแหละครับ และสงสัยมาตลอดว่าตกลงมันคืออะไร แต่แปลกดีที่ผมไม่อ่านบทความข่าวและคำเฉลยนั้นอย่างละเอียด เพราะอีกใจนึงก็คิดว่าเราอาจไม่ได้ต้องการรู้คำตอบจากปากคูบริกสักเท่าไหร่

นั่นสิ เพราะอะไร

แม้ว่าคุณจะไม่เคยดู 2001: A Space Odyssey ไม่รู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไร คำตอบของคูบริกจะอธิบายไว้แบบไหน สิ่งน่าสนใจที่เราน่าจะคิดต่อไปคือคำถามที่ว่า จริงๆ แล้ว คนดูหนังต้องการคำตอบของปริศนาหรือฉากบางฉากจากผู้กำกับหรือไม่ หรือถ้าต้องการ พวกเขาต้องการมาก-น้อยแค่ไหน

แน่นอนว่า หลายๆ ครั้งที่คุณดูหนังเรื่องหนึ่งจบแล้วดันไม่รู้เรื่อง (ไม่ว่าจะไม่รู้เรื่องทั้งเรื่องหรือดูตอนจบไม่รู้เรื่องก็ตาม) สิ่งแรกที่คุณอาจจะอยากทำคือ เดินไปถามผู้กำกับว่า มึงต้องการอะไรจากกู! ตอนจบมันแปลว่าอะไร ฉากนั้นพระเอกทำแบบนี้ทำไม ตกลงพระเอกกับนางเอกได้กันไหม เพราะอยู่ดีๆ หนังก็ตัดจบ ฯลฯ

อันที่จริงแล้วสำหรับคนดูทั่วไป รีแอ็กชั่นนี้เป็นเรื่องปกติมากนะครับ หลายครั้งผมก็ไม่ต่างกัน คล้ายว่าที่ทนดูทนฟังมาตั้งหลายสิบนาทีก็เพราะแค่อยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วคำตอบหรือฉากจบมันเป็นอย่างไร และคำตอบหรือคำเฉลยจากผู้สร้างนั้นมักให้ความรู้สึกถึงการสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ดังนั้นพอไม่มีคำตอบให้คนดู มีเพียงแค่ความคลุมเครือบางอย่าง หรือกระทั่งไม่มีอะไรให้เลยในโมเมนต์สุดท้าย คนดูจึงรู้สึกโดนโกงทันที คนทำกลายเป็นมิจฉาชีพทางด้านการสร้างภาพยนตร์ไปในทันใด เล่าไม่จบแบบนี้ได้ไง เอาเงินคืนมาเลย

แสดงว่าการที่คนจ่ายเงินเข้ามาดูหนังเรื่องหนึ่ง พวกเขาคิดแล้วว่าจะต้องได้อะไรบางอย่างกลับไป พวกเขาต้องการดู ‘รู้เรื่อง’ เพื่อจะกลับไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้ว่าไปเจออะไรมาในหนังเรื่องนี้ พวกเขาต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด พอไม่เข้าใจก็เลยไปเล่าต่อไม่ได้ และที่สำคัญคือพอไม่เข้าใจ ไอ้ที่กะจะมาฮา มาร้องไห้คาโรงก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่โดนเอนเตอร์เทนจึงยิ่งรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าตั๋ว ลาก่อน ฉันจะกาหัวชื่อผู้กำกับคนนี้เอาไว้

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฮอลลีวูดได้สร้างคัลเจอร์ไว้กับคนดูทั่วโลกจนคนเข้าใจว่าหนังที่ดีต้องดูรู้เรื่อง ทำให้พวกเขาเข้าใจจนหัวเราะ ร้องไห้ และบันเทิงไปกับหนังได้อย่างเต็มอิ่ม และเมื่อคัลเจอร์นี้คืออุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโลกความบันเทิงให้หมุนไป บรรดาผู้สร้างหนังทั้งหลายก็ต้องดีไซน์หนังของตัวเองให้เคลียร์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าให้คนดูมีข้อสงสัยหรือต้องคิดตีความใดๆ ระหว่างดู เพราะสิ่งนั้นจะทำให้คนดูรู้สึกบันเทิงกับหนังน้อยลง แล้วหนังเรื่องนั้นจะค่อยๆ กระเด็นไปอยู่ในตะกร้าหนังไม่สนุก ซึ่งตะกร้านี้จะถูกส่งต่อไปยังสายพานหนังเจ๊งในเวลาต่อมา และนั่นไม่ใช่เรื่องดีเลยสำหรับคนทำธุรกิจบันเทิง

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดที่หนังจะถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิง เพียงแต่กระแสของหนังดูรู้เรื่องนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมหลักจนกลบมิติความบันเทิงด้านอื่นๆ ของภาพยนตร์ ความบันเทิงแบบดั้งเดิมของภาพยนตร์คือการที่กล้องสามารถบันทึกภาพความเคลื่อนไหวจากที่แห่งหนึ่งในจุดเวลาหนึ่ง แล้วขนย้ายมาฉายให้คนในอีกสถานที่หนึ่งและอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ชม มันคือการฉายประสบการณ์ที่คนถ่ายไปพบเจอมาซึ่งแสดงออกมาได้ดีกว่าการบอกเล่าปากเปล่าหรือข้อเขียน (ที่ไม่เห็นภาพ) คล้ายๆ เวลาเราไปเที่ยวแล้วเอาภาพถ่ายมาให้เพื่อนดู ถามว่าภาพถ่ายเหล่านั้นมีเรื่องราวที่ชัดเจนไหม ก็ไม่ แต่สิ่งที่มีอยู่แจ่มแจ้งแน่นอนคือ ชุดประสบการณ์ที่ผู้เสพสามารถบันเทิงไปด้วยได้เช่นกัน

หนังบางเรื่องในปัจจุบันไม่ได้ดีไซน์ให้มีเนื้อเรื่องชัดเจนมากนัก มันเป็นเพียงประสบการณ์ความคิดของผู้สร้างที่นำมาแบ่งปันให้คนดู มีทั้งที่อธิบายที่มาที่ไปได้และอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ ในส่วนของที่อธิบายไม่ได้นั้น หลายๆ ครั้งมันมีลักษณะคล้ายๆ ความฝันยามหลับของคนสร้าง เป็นจิตใต้สำนึก ไม่มีตรรกะเหตุผล หรืออาจตีความไปได้ในหลายอย่างในทางจิตวิทยา (เช่นที่ถ่ายแบบนี้มาจริงๆ แล้วอาจจะมีปมนั้นปมนี้) และหลายครั้งมันก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ซ่อนไว้ในตามสัญลักษณ์ที่ล็อกกลอนแน่นหนาภายในหนัง

ถ้าเปรียบง่ายๆ บางครั้งเราก็เห็นสเตตัสลอยๆ ของเพื่อนแล้วรู้สึกว่ามีเสน่ห์หรือรู้สึกเอนจอยที่ได้อ่าน แม้จะไม่รู้ว่ามันโพสต์ถึงใครก็ตาม (หรืออาจจะเอนจอยเพราะได้แคปไปเมาท์และดิสคัสกับเพื่อนอีกกลุ่มว่า มึงๆ เห็นเตตัสนี้ยัง มึงว่ามันเป็นอะไรวะ กลายเป็นนักวิจารณ์หนังตีความสัญลักษณ์กันโดยไม่รู้ตัว) แถมในหลายๆ ครั้งการรู้คำตอบแล้วว่าจริงๆ มันโพสต์ถึงใคร หรือเจ้าของโพสต์ออกมาเฉลยแล้วว่าหมายความว่าอะไร กลับทำให้ความสนุกลดน้อยลง ที่เราจิ้นกันมันๆ ก่อนหน้านี้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง เลิกเถียงกันค่ะ แยกย้าย รู้งี้ไม่รู้เฉลยอาจจะดีกว่า ถ้าคลุมเครือไปเรื่อยๆ นี่จะได้ถกเถียงกันทั้งชีวิตเลยนะ

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็แสดงว่าการเสพความบันเทิงจากสื่อสื่อหนึ่งนั้นมีได้หลายวิธี สนุกได้หลายแบบ ทั้งแบบรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง มีคำตอบและไม่มีคำตอบ อยู่ที่ว่าเราตั้งธงยังไงก่อนเข้าไปดูหนังเหล่านั้นมากกว่า

ในหนังเรื่องเดียวกัน ถ้าเราเข้าไปดูเพื่อหวังให้หนังบันเทิงนวดไหล่อย่างเต็มที่ เราก็อาจได้ผลลัพธ์อย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะเข้าไปแค่ดูเฉยๆ ว่ามันมีเกิดอะไรขึ้นใน 120 นาทีนั้นบ้าง เราก็ได้ผลลัพธ์อีกแบบ แบบไหนจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่าก็ไม่อาจเทียบกันได้ ขึ้นอยู่ว่าคุณต้องการอะไรมากกว่า

หนังบางเรื่องก็แค่อยากรู้คำตอบแล้วจบไป แต่หนังบางเรื่องต่อให้มีคำตอบคำเฉลยให้อ่านอยู่ตรงหน้าก็ไม่อยากเดินไปดู เพราะหลายๆ ครั้งความคลุมเครือนี่แหละบันเทิงที่สุด คำถามที่หนังตั้งไว้จะเติบโตและอยู่ให้เราคิดไปคิดมาไปอีกนาน บางทีประสิทธิภาพของภาพยนตร์จะออกฤทธิ์แรงสุดก็ตอนที่เราต้องออกแรงคิดและจินตนาการนี่แหละครับ

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา